‘บทเพลง’ ของ ‘อีสซึ่น’ หนึ่งในอัลบั้มดีที่สุดของเพลงไทย กับโศกนาฏกรรมแถวสยามสแควร์

‘บัตเตอร์ฟลาย’ เป็นทั้งชื่อกลุ่ม ชื่อแบนด์ และชื่อบริษัทที่เริ่มต้นโดย ดนู ฮันตระกูล แห่งภาคีวัดอรุณ วงดนตรีอาวองการ์ดที่ได้รับการกล่าวขานกันในหมู่นักฟังเพลงหัวก้าวหน้า ได้ชักชวนเพื่อนที่เคยเรียนธรรมศาสตร์ด้วยกันอย่าง จิรพรรณ อังศวานนท์ แห่งวงเดอะไทรแองเกิลเลก รวมทั้งสมาชิกคนอื่น เช่น สุรสีห์ อิทธิกุล และ กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา ก่อตั้งเป็นบริษัท บัตเตอร์ฟลาย ซาวด์แอนด์ฟิล์ม เซอร์วิส จำกัด เมื่อปี 2521 โปรดักชันเฮาส์ด้านดนตรีที่ไม่เคยมีมาก่อนในบ้านเรา  

จากนั้นสมาชิกภาคีวัดอรุณและเดอะไทรแองเกิลเลก ทั้งอนุวัฒน์ สืบสุวรรณ, จาตุรนต์ เอมซ์บุตร, บรูซ แกสตัน และอีกหลายคนที่ล้วนเชี่ยวชาญทางเล่นและแต่งเพลงก็ตามมาสมทบ รวมถึง อัสนี โชติกุล มือกีตาร์แห่งดิโอเรียนเต็ลฟังก์ และอดีตสมาชิกผู้ก่อตั้ง ‘อีสซึ่น’  

อัสนีกับน้องชาย–วสันต์ โชติกุล เดินทางจากเมืองเลยมาเรียนหนังสือและแสวงหาโอกาสในกรุงเทพฯ ด้วยยึดอาชีพนักดนตรีอยู่ตามร้านอาหารและคลับบาร์ โดยมี จุมพฏ ปัญญามงคล รุ่นพี่จากโรงเรียนเพาะช่างของวสันต์ทำหน้าที่เป็นมือกลอง ก่อนจะขยับขยายเป็นวงดนตรี 4-5 ชิ้นในเวลาต่อมา บรรเลงเพลงฮิตจากอีกฟากโลกในลีลาทั้งร็อกและโฟล์ก    

ชื่อวง ‘อีสซึ่น’ หรือ ‘Isn’t’ เป็นคำที่นำ ‘อีสาน’ ถิ่นกำเนิดของพี่น้องโชติกุลมาบิดให้เป็นภาษาอังกฤษ แต่ในขณะเดียวกัน ‘is not’ ก็มีความหมายปฏิเสธใกล้เคียงกับ ดิอิมพอสสิเบิล (The Impossible) วงสตริงดังที่สร้างชื่อจากเวทีประกวดไม่ต่างกันกับอีสซึ่น เพราะในขณะที่ดิอิมฯ เป็นแชมป์วงดนตรีสตริงคอมโบแห่งประเทศไทย 2 ปีซ้อน อีสซึ่นก็เป็นวงโฟล์กที่ชนะการประกวดรางวัลพระราชทานจากทีวีช่อง 4 หรือช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ในปัจจุบัน  

1 ใน 3 เพลงที่ใช้ประกวดในวันนั้นของสองพี่น้องโชติกุล คือ ‘สาวตางาม’ เพลงเก่าของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ และภายหลังชนะการประกวด วิมล จงวิไล ครูเพลงหนึ่งในกรรมการในวันนั้น ได้ชักชวนสองพี่น้อง รวมทั้งจุมพฏ ออกอัลบั้มเพลงไทยเป็นของตัวเอง อีสซึ่นจึงมี ‘ทัศนาจร ชีวิต และความรัก’ เป็นอัลบั้มแรกเมื่อปี 2519 และสาวตางามในการประกวดก็กลายมาเป็น ‘แม่สาวตางาม’ ในแทร็กที่ 2 ของหน้าแรก เป็นเพลงที่ผสานวัฒนธรรมพื้นบ้านกับเครื่องดนตรีสากลได้อย่างกลมกลืน เสียงกีตาร์กลายเป็นเสียงซึง บทเพลงเก่าถูกอีสซึ่นเรียบเรียงให้เป็นเพลงล้ำสมัยใส่ลีดกีตาร์ยาวเหยียด   

นอกจากนั้น เพลงจากอัลบั้มแรกที่ได้รับการกล่าวขานจนตกทอดมาถึงผู้ฟังรุ่นต่อมายังมีอีกหลายเพลง เช่น ‘ทัศนาจร’ ที่นำเพลงของดิอิมฯ มาเรียบเรียงใหม่ ‘ชีวิตกับความหวัง’ เพลงให้กำลังใจที่เริ่มต้นด้วยเสียงพูดของวสันต์ ‘วิญญาณในภาพถ่าย’ และ ‘หนึ่งมิตรชิดใกล้’ เพลงเก่าของครูวิมล และน่าจะเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดจากอัลบั้มแรก แต่นอกจากแม่สาวตางาม เพลงส่วนใหญ่จากอัลบั้มนี้มักไม่มีดนตรีซับซ้อน ใช้เพียงเสียงกีตาร์อะคูสติกเป็นพระเอกตามสไตล์โฟล์ก หลายเพลงจึงถูกนำไปใช้ร้องเล่นกันในหมู่เพื่อนยามเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งมักมีใครลงทุนแบกกีตาร์ไปด้วย อันเป็นวัฒนธรรมของหนุ่มสาวในยุคนั้น และเหมือนจะฉายเป็นภาพอยู่บนปกด้วย เพราะเป็นรูปสามสมาชิกกำลังเดินแบกกีตาร์อยู่ข้างโบกี้รถไฟ เพียงแต่ในเนื้อหาจากบางเพลง คนหนุ่มกับกีตาร์ คงไม่ได้สื่อถึงการท่องเที่ยวเสียทีเดียว อย่างเช่นในเนื้อเพลง ‘สามเกลอพเนจร’ จากหน้า 2 การเดินทางยังเป็นการแสวงหาโอกาสให้กับชีวิตด้วย 

“…ไม่เคยนึกท้อ ไม่ย่องานใด แผ่นดินมิไร้แหล่งงาน” หรือ “…เกิดเป็นคนอดทนพอ ไม่เคยท้อต่อสิ่งใด” และ “…เที่ยวผจญทุกแคว้นไทย ท่องเที่ยวไปตามวิสัยชายพเนจร” คือบางท่อนที่สะท้อนออกมาแบบนั้น  

หลังจากอัลบั้มแรก ชีวิตนักดนตรีของทั้งหมดยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง พวกเขายังเล่นที่ไนต์คลับเดิมเหมือนทุกคืน ไม่มีใครใส่ใจว่าเพลงของวงดังหรือไม่ แต่หลังจากอัลบั้มแรกยังคงมีนายทุนอยากให้อีสซึ่นทำอัลบั้มออกมาอีก นับตั้งแต่ปี 2520-2524 อีสซึ่นจึงมีอัลบั้มตามมาปีละชุด หลายเพลงยังนำทำนองเพลงฝรั่ง ทั้งวงโฟล์กไปจนถึงร็อกมาดัดแปลงใส่เนื้อไทย จากนั้นอัสนีก็ขอแยกออกไป เพราะได้รับการชักชวนจาก เรวัต พุทธินันทน์ ให้ไปเป็นมือกีตาร์ของดิโอเรียนเต็ลฟังก์  

นับแต่นั้นอีสซึ่นก็ไม่มีอัลบั้มออกมาอีก ส่วนอัสนีในเวลาต่อมา จากดิโอเรียนเต็ลฟังก์ก็กลายมาเป็นหนึ่งในทีมบัตเตอร์ฟลาย นอกจากทำเพลงโฆษณา เขายังร่วมกับบัตเตอร์ฟลายทำอัลบั้มออกมาอีกหลายชุด ทั้งในนามบัตเตอร์ฟลายที่เป็นอัลบั้มเพลงสากลแต่งเองและนำเพลงเดอะบีเทิลส์มาบรรเลง (2525-2526) อัลบั้มซาวด์แทร็กประกอบหนังเพลงรีเมกอย่าง ‘เงิน เงิน เงิน’ (2526) ผลงานยุคแรกของเอ็กซ์วายแซดอย่าง ‘คิดไม่ออก’ (2525) เป็นต้น  

แต่ในช่วงที่วงการเพลงไทยกำลังเปลี่ยนผ่านจากเพลงลูกกรุงมาเป็นเพลงสตริง และมีวงดังในเวลานั้นอย่างแกรนด์เอ็กซ์เพิ่งทำยอดขายเทประดับหลักล้านเป็นครั้งแรก ในปี 2525 บัตเตอร์ฟลายกลับทำอัลบั้ม ‘เรามาร้องเพลงกัน’ ออกมาในนาม ‘เรวัติ พุทธินันทน์ กับคีตกวี’ อัลบั้มโปรเกรสซีฟที่ลุ่มลึกด้วยเนื้อหาจากปรัชญากับศาสนา เหมือนเป็นอัลบั้ม ‘ปล่อยของ’ กันเต็มที่ แทบไม่มีเพลงใดพอจะเป็นเพลงฮิตหรือฟังง่าย เพราะบัตเตอร์ฟลายตั้งใจทำเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์ ทั้งโปรดักชันเฮาส์และโรงเรียนดนตรีศศิลิยะของ ดนู ฮันตระกูล ที่มี จิรพรรณ อังศวานนท์ เป็นครูใหญ่  

และหลังจากออกไปสั่งสมประสบการณ์มาพอสมควร ในปี 2527 อัสนี โชติกุล ก็กลับมาร่วมกับน้องชายและอีสซึ่นอีกครั้ง แต่ไม่ใช่ในฐานะสมาชิก หากเป็นโปรดิวเซอร์ ตำแหน่งที่เพิ่งจะใช้เรียกกันในยุคนั้น ซึ่งก็มีต้นตอมาจากทีมบัตเตอร์ฟลายอีกเช่นกัน โดยเริ่มจากอัสนีกับสมาชิกคนอื่นของบัตเตอร์ฟลาย ต้องการนำบทเพลงไทยที่พวกเขาแต่งกันไว้มารวมกันเพื่อทำอัลบั้มออกมาสักชุด และในขณะนั้น สมาชิกของอีสซึ่นต่างเป็นนักเรียนของศศิลิยะอยู่พอดี ทั้งหมดจึงถูกเลือกมาทำหน้าที่ถ่ายทอดบทเพลงเหล่านี้ โดยใช้เวลาอัดอยู่เพียง 10 วันก็ออกมาเป็นอัลบั้ม ‘โดยกลุ่มบัตเตอร์ฟลาย’ ที่ฟังง่าย เข้าถึงผู้คนได้มากกว่าในนามคีตกวี ส่วนอีสซึ่นก็เป็นการปฏิวัติตัวเองครั้งสำคัญ   

‘บทเพลง’ ในปี 2527 ถูกวางจำหน่ายแบบเงียบเชียบ มีดีเจวิทยุไม่กี่รายการนำมาเปิด ผิดจากอัลบั้มทั้งหมดก่อนหน้าของอีสซึ่น ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกเสียงที่ควบคุมโดย กฤษณ์ และ อุกฤษณ์ พลางกูร ซาวนด์ของเครื่องแต่ละชิ้นเต็มวง-สมบูรณ์ยิ่งขึ้น หมดกลิ่นเพลงโฟล์กเพียวๆ ที่ออกจะดิบ เป็นโฟล์กร็อกที่มีทางดนตรีซับซ้อนขึ้น และยังคงใช้กีตาร์ 2 ตัวบรรเลงนำ แต่เพิ่มเปียโนกับซาวนด์สังเคราะห์จากซินธิไซเซอร์ ซาวนด์ใหม่แห่งยุคสมัยเข้าไปเต็มที่     

ไตเติลแทร็กคือเพลงแรกจากหน้าแรกของเทปคาสเซ็ตเปิดด้วยจังหวะโจ๊ะ กระทุ้งด้วยเบสกับเสียงสับกีตาร์อะคูสติก ส่วนเนื้อเพลงก็ร้องว่า…”ไม่พูดไม่พร่ำจะทำเป็นเพลง ร้องเล่นบรรเลง ครื้นเครงกันไป” และยืนยันว่า “บทเพลงนี้  ไม่มีความหมาย เล่นกันตามสบาย สบายกันเอง” แถมบางช่วงยังร้องไม่เป็นภาษา แต่มีทำนองราวกับเสียงจากพิธีเฉลิมฉลองของชนเผ่าอะไรสักอย่างว่า “โฮะเฮะโฮะ…โฮะเฮะโฮะ โห”  

และใน ‘ขอมอบบทเพลง’ เพลงแรกจากหน้า 2 เนื้อหาก็ยังคงแสดงความสรรเสริญให้กับเสียงเพลงแต่นุ่มนวลยิ่งขึ้น เป็นเพลงที่กล่าวถึงอานุภาพของบทเพลงที่สามารถทำให้เราซึมซับความรู้สึกมากมายจากการถ่ายทอดออกมาด้วยท่วงทำนองและเนื้อหาต่างๆ จากสรรพเสียง   

“เรามาร้อง ร้องเพลงสวยงาม ด้วยถ้อยคำหวาน หวานจนซึ้งใจ เพิ่มรอยยิ้ม ยิ้มพาชื่นใจ แล้วล่องลอยไป ไปกับเสียงเพลง” ท่อนแรกจากเนื้อเพลงของจิรพรรณเขียนเอาไว้ ก่อนจะรำพันถึงบทเพลงต่างๆ ทั้งเพลงรัก เพลงที่พูดถึงคืนวันซาบซึ้งใจ เพลงที่เล่าถึงความหลัง เพลงแห่งความอาลัย ซึ่งต่างสามารถปลดปล่อยอารมณ์ของเราให้ไปไหนๆ ได้กับเสียงเพลง  

บทเพลงเกือบทั้งหมดในอัลบั้มนี้ก็เหมือนจะทำหน้าที่แบบนั้น ไม่มีการเฉพาะเจาะจงว่าเป็นเพลงของใคร จากเหตุการณ์แบบใด แต่ละเพลงบันดาลให้เป็นไปจากเนื้อหาที่ถูกเขียนขึ้นจากมุมต่างๆ ของความรู้สึกในความสัมพันธ์ ทุกเพลงแทบไม่มีคำว่า ‘ฉัน’ หรือ ‘เธอ’ ส่วนชื่อแต่ละแทร็กก็ล้วนเป็นนามธรรม เช่น ‘ใจ’ ‘ความรัก’ ‘คิดถึง’ หรือคนรักก็ยังถูกรวมเรียกว่า ‘ผู้หญิงเอย’ หรือเปรียบเปรยเป็น ‘แม่นางมะพร้าวอ่อน’  

แต่ก็มีอยู่เพลงหนึ่งที่นำเพลงพื้นบ้านมาดัดแปลงเป็นเพลงไทยสากล แบบที่เคยสร้างชื่ออย่างแม่สาวตางาม ในอัลบั้มนี้สามารถรับรู้ได้จาก ‘เจ้าโต’ เพลงเดียวในอัลบั้มที่มีทั้งตัวละคร จุดพลิกผัน และฉากหลังระบุชัดผิดจากทุกแทร็ก    

สยามสแควร์เคยเป็นชื่อและอยู่ในเนื้อเพลงของอีสซึ่น จากอัลบั้ม ‘The Isn’t 78’ (2521) โดยใช้ชื่อว่า ‘พบกันหน้าสยามสแควร์’ คำร้อง-ทำนองโดย ธนิฐ ธนโกเศศ แหล่งนัดพบและชอปปิ้งของวัยรุ่นหนุ่มสาวมาตั้งแต่สมัยนั้น ส่วนเนื้อหาของเพลงทำนองสนุก พรรณนาถึงการนัดหมายของชายหนุ่มกับหญิงสาว ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ในเจ้าโตซึ่งเรียบเรียงโดย จาตุรนต์ เอมซ์บุตร และเขียนเนื้อโดย เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ เล่าเรื่องของกระเป๋ารถเมล์ที่มีชื่อเดียวกับชื่อเพลง และบัตเตอร์ฟลายก็ตั้งใจให้เป็นเพลงเด่นหรือ ‘เพลงโปรโมต’ ในอัลบั้มนี้  

เนื้อเพลงที่ใช้ลีลาเหมือนเพลงฉ่อยร้องเล่าถึงความรักของหนุ่มกระเป๋ารถเมล์ร้อนกับกระเป๋ารถเมล์แอร์สายปอ.8 รถเมล์หรูที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน เพราะราคาแพงกว่ารถเมล์ และในกรณีนี้ก็คือสาวกระเป๋ารถแอร์ชื่อ ‘น้อย’ ดอกฟ้าของเจ้าโตที่บังเอิญเจอกันบนท้องถนน เพราะต่างวิ่งรถเส้นเดียวกัน คือ ‘ท่าช้าง-ปากน้ำ’ และจากการให้แลกเศษตังค์กับสาวเจ้าไปคราวนั้น ก็ทำให้… “เจ้าโตเฝ้าเพ้อชะเง้อหา รถแอร์ทุกคันที่ผ่านมา เพราะหวังพบพาเจ้าหน้ามล” แบบในเนื้อเพลงที่ขับร้องโดยมือกลองอย่างจุมพฏ ก่อนจะจบลงตรงแถวหน้าโรงหนังลิโด้ หนึ่งในอดีตโรงแฝดสามของสยามสแควร์ เมื่อเจ้าโตได้เจอรถ ปอ.8 คันนั้นอีกครั้ง มันก็บอกลูกพี่ให้ช่วยแซงขึ้นไปจนสองคนได้พบกัน แล้ว ‘ยืนบันไดคุยกันไปสุขใจจัง’  

แต่ชีวิตในเมืองหลวง ไกลจากเมืองเลยต้นกำเนิดของอีสซึ่น หรือหนึ่งใน ‘แคว้นไทย’ ของ ‘ชายพเนจร’ ในเพลง ‘สามเกลอพเนจร’ จากอัลบั้มแรก เมืองนี้ไม่เพียงแต่สามารถเป็นแหล่งทำกิน แต่ยังมีอันตรายอยู่รอบตัว ในวันนั้นจึงเป็นครั้งสุดท้ายที่กระเป๋ารถเมล์ได้พบกับหญิงคนรัก ทั้งคู่ถูกพรากด้วยความตายที่เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายและกะทันหัน 

แม้จะถูกค่อนขอดว่านำ ‘Hotel California’ ของดิอีเกิลส์มาดัดแปลง แต่เจ้าโตก็เป็นเพลงจากอัลบั้มนี้ที่น่าจะมีคนรู้จักกันมากที่สุด และใน ‘ตามน้ำ’ อัลบั้มล่าสุดของอีสซึ่นเมื่อปี 2555 นอกจาก ‘ขอมอบบทเพลง’ จากอัลบั้มนี้ จุมพฏกับสมาชิกในปัจจุบันยังนำเพลงนี้มาบันทึกกันใหม่ ยืนยันว่ามันเป็นเพลงที่มีความหมายสำหรับอีสซึ่น  

แต่สำหรับผู้ฟัง เมื่อผ่านเวลามาถึงปัจจุบัน และหยิบแผ่นเสียงหรือเทปจากวันนั้นมาเปิด ทุกแทร็กจาก ‘บทเพลง’ ของอีสซึ่น ไม่ใช่แค่อัลบั้มที่ดีในยุคสมัยของมัน แต่สำหรับทุกคนผู้มีโสตสัมผัสสามารถเข้าถึงความงามของบทเพลง  

อัลบั้มนี้คือหนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดของเพลงไทย เท่าที่เคยมีใครพยายามพัฒนาศิลปะแขนงนี้ในบ้านเรา   

AUTHOR