ชะตากรรม interactive film สายพานการผลิตใหม่ของเน็ตฟลิกซ์ที่กำลังรอให้คนดูเลือกตอนจบให้

Highlights

  • หลังปล่อย Black Mirror: Bandersnatch ออกมาเมื่อ 4 เดือนก่อน ในเดือนนี้เน็ตฟลิกซ์ได้ปล่อยงาน interactive film ออกมาอีกครั้งในชื่อ You vs. Wild สารคดีแนว survival ของแบร์ กริลส์ อันโด่งดัง เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นเกม เข้ากับงานกึ่งสารคดี
  • แต่ interactive film มีแค่ 2 ชอยส์ต่อหนึ่งสถานการณ์ หนังจึงตอบสนองจินตนาการของคนดูได้ไม่เท่าทันทำให้คนดูอาจรู้สึกว่าอยากกลับไปเล่นวิดีโอเกมที่พวกเขาสามารถทำอะไรก็ได้มากกว่านี้

การปล่อยงานอย่าง Black Mirror: Bandersnatch ของเน็ตฟลิกซ์เมื่อ 4 เดือนก่อนนั้นไม่ใช่โปรเจกต์ที่มาทีเดียวแล้วจบกัน เพราะมันเป็นเหมือนจุดสตาร์ทของพวกเขาในความพยายามที่จะสร้างหนังที่คนดูสามารถเลือกเส้นทางให้ตัวละครในเรื่องได้ ตัดสินใจแทนพวกเขาได้ เพื่อจะนำไปสู่ตอนจบที่แตกต่างกันไป ตามแต่ชอยส์ที่เลือกกันมาเรื่อยๆ ระหว่างทาง

ในช่วงเวลาที่หนังเพิ่งปล่อยออกมาก็สร้างความฮือฮาได้ไม่น้อย เทคนิคใหม่ๆ และลูกเล่นใหม่ๆ มากับแบรนด์เนมของซีรีส์ที่ได้รับความนิยมอยู่แล้วในหมู่วัยรุ่น พร้อมกับการปล่อยงานในช่วงเวลาหยุดยาวปีใหม่ ย่อมทำให้กระแสของการทดลองครั้งนี้ไวรัลได้อย่างง่ายดาย แต่น่าเสียดายที่ดูเหมือนผลลัพธ์หลังจากนั้นก็อาจเป็นเพียงอีเวนต์สนุกๆ ที่มาครั้งเดียวและจบกันไป

แต่อย่างที่บอก ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร เน็ตฟลิกซ์ก็ไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะทุกอย่างเพิ่งเริ่มต้น เดือนนี้พวกเขาได้ปล่อยงานอินเทอแร็กทีฟแบบนี้ออกมาอีกครั้งในชื่อ You vs. Wild คราวนี้ไม่ใช่หนังฟิกชั่นปกติแล้ว แต่เป็นสารคดีแนว survival ของคุณแบร์ กริลส์ อันโด่งดัง ใช่แล้ว คุณสามารถตัดสินใจแทนแบร์ กริลส์ ได้ว่า เขาจะเดินผ่านธารน้ำแข็งนี้ หรือจะคลานไปแทน เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นเกม เข้ากับงานกึ่งสารคดี เรียกได้ว่าเป็นมิติใหม่มากๆ เลยทีเดียว

ผมไม่อาจทำนายได้จริงๆ ว่า งานแนวอินเทอแร็กทีฟแบบนี้จะสามารถกลายมาเป็นหนังประเภทใหม่แบบออฟฟิเชียลได้จริงหรือไม่ในอนาคต แค่รู้อย่างเดียวว่าในปัจจุบันมันน่าจะยากมากๆ ในการจะบัญญัติงานแนวนี้ให้ทุกคนสามารถยอมรับมันได้ ด้วยปัจจัยสองสามอย่าง

อย่างแรกคือการที่หนังแนวอินเทอแร็กทีฟนั้นอยู่ก้ำกึ่งระหว่างความบันเทิง พักผ่อน และการทำงาน โดยพื้นฐานแล้วคนทั่วๆ ไปคิดว่าการดูหนังคือความบันเทิง คือการนั่ง และให้ผู้กำกับและตัวหนังค่อยๆ ฟีดข้อมูลต่างๆ เข้าไปในสมองแล้วเอ็นจอยไปกับมัน หลายคนอยากให้คนทำหนังย่อยง่ายๆ มาให้ด้วยซ้ำ เพราะจะพักผ่อนทั้งที ขอแบบไม่ต้องคิดอะไรเลยได้มั้ย ป้อนเข้าดวงตาแล้วฮาเลยได้หรือเปล่า ขอแบบเล่าให้เราฟังแล้วเราซึ้งร้องไห้ทันทีเลยนะ ว่าง่ายๆ คือ โดยเบสิกนั้น (อาจจะไม่ทุกคนนะ) คนดูไม่อยากตัดสินใจแทนตัวละคร ขอเป็นผู้ชมที่ดีแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะง่ายกว่า

ข้อสองคือ สมัยก่อนที่แผ่นดีวีดีเพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใหม่ๆ หนังที่ออกแผ่นดีวีดีพยายามมี special feature ออกมาคือ alternate ending ที่จะให้คนดูกดเลือก แล้วหนังจะจบอีกแบบที่ไม่เหมือนกับในโรง แต่การที่สิ่งนี้ไม่ฮิตอาจจะเป็นเพราะว่า พอคนดูเลือกตอนจบอีกแบบแล้ว อาจจะพบว่า เออ มันไม่ดีเท่าตอนจบแบบในโรงจริงๆ (ถ้ามันดีเท่าเทียมหรือว่าดีกว่า คนทำหนังมันคงเอามาเป็นเวอร์ชั่นจริงๆ ในโรงแล้วล่ะ) หรือถึงมันจะดีกว่า แต่มันก็ไม่ใช่ตอนจบออฟฟิเชียลเท่าตอนจบในโรงอยู่ดี เป็นเพียงตอนจบในจินตนาการหนีบไว้กับแผ่นดีวีดีเท่านั้น

ด้วยหลักการนี้ ทำให้บางทีเราก็ไม่แน่ใจตัวเองเหมือนกันว่า ไอ้ตอนจบ Bandersnatch หรือ You vs. Wild ที่เรากดเลือกๆ แล้วได้มาในตอนสุดท้ายเนี่ย จะเป็นตอนจบที่โอเคมั้ย มันจะมีตอนจบที่ดีกว่านี้หรือเปล่าถ้าเราเลือกอีกชอยส์หนึ่ง แต่มันก็เหนื่อยเกินไปที่จะกลับไปนั่งดูใหม่นั่งเล่นใหม่อีกรอบเพื่อลองเลือกอีกชอยส์หนึ่งว่ะ ดูรอบเดียวก็เหนื่อยแล้ว (ยกเว้นเป็นแฟนคลับจริงๆ ก็จะเล่นหลายสิบรอบหน่อย)

ข้อสุดท้าย สิ่งที่ผู้สร้างงานแนว interactive film พยายามจะทำคือการที่เอาวิดีโอเกมเข้ามาผสมกับภาพยนตร์ ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ท้าทาย แต่การที่คนดูหนังแนวนี้เหมือนมีจอยสติกที่มีเพียงแค่สองปุ่ม คือซ้ายกับขวา ทำกับไม่ทำ ไปกับไม่ไป มันเลยกลายเป็นเกมโบราณที่ล้าหลังแบบสมัยก่อนที่ผู้เล่นโดนลิมิตให้ตัดสินใจได้ไม่กี่อย่าง เพราะเทคโนโลยีในเวลานั้นทำได้เพียงเท่านั้น แต่สมัยนี้ บรรดาวิดีโอเกมปัจจุบันนั้นแอดวานซ์สุดๆ และมอบอิสระให้กับผู้เล่นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมตัวละครในเรื่องมูฟเมนต์การเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ควบคุมได้เกือบแทบจะทุกอย่าง และผู้เล่นยังสามารถตัดสินใจได้มากมายในการดำเนินเรื่อง โดยเฉพาะบรรดาเกมออนไลน์ทั้งหลายที่แทบจะเหมือนกับชีวิตจริง

ในการเข้ามาเล่นเกมแต่ละวัน ผู้เล่นก็จะเจอสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป การตัดสินใจสำหรับตัวละครที่เราควบคุมก็จะต่างกันไปด้วยเช่นกัน จะทำอะไรนอกลู่นอกทางก็ได้ จะจีบหญิงก็ได้ จะทำตัวเลวเอาเปรียบคนในเกมก็ได้ จะฆ่าตัวตายด้วยการเลิกเล่นก็ได้ ซึ่งเมื่อเราตัดกลับมาที่พวก interactive film เรามีแค่ 2 ชอยส์ต่อหนึ่งสถานการณ์

มีผู้ชมสารคดี You vs. Wild ของแบร์ กริลส์ คนหนึ่งกล่าวแบบฮาๆ ว่า เขาอยากฆ่าแบร์ กริลส์ ให้ตายแต่ตัวหนังไม่อนุญาต เขาทำได้แค่ให้แบร์ กริลส์ เดินบนน้ำแข็งหรือคลานบนน้ำแข็งแค่นั้นจบ พอตัวหนังอยากจะอินเทอแร็กทีฟกับคนดู แต่หนังก็ตอบสนองจินตนาการของคนดูได้ไม่เท่าทันแบบนี้ ก็ทำให้คนดูอาจรู้สึกว่าอยากกลับไปเล่นวิดีโอเกมจริงๆ ที่พวกเขาสามารถทำอะไรก็ได้มากกว่านี้

ข้อจำกัดของการสร้างหนังแนว interactive film ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญของหนังแนวนี้ เราไม่สามารถให้ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ แสดงเผื่อไว้ 2,000 แบบ เพื่อให้อิสระแก่คนดูในการเลือกชอยส์ ในขณะที่เกมมันแค่ออกแบบตัวละครที่พร้อมจะทำตามทุกอย่างตามจอยสติกของเรา แม้ว่าจะไม่ได้ทุกอย่าง แต่ก็ได้หลายอย่างมากๆ หนัง interactive film จึงยังไม่สามารถเอาชนะวิดีโอเกมได้ในแง่นี้

แต่ก็ไม่แน่นะครับ หากอนาคตเราจะล้ำกันจริงๆ เราอาจจะทำสิ่งนั้นขึ้นมาได้จริงก็ได้ เราอาจจะทำให้ลีโอนาร์โดเล่นเผื่อไว้ 2,000 แบบได้จริงๆ

ผมถึงว่า ผมคงไม่กล้าทำนาย หรือไม่ได้กล้าฟันธงว่ามันจะไม่เกิด เพราะสิ่งที่เราไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น มันก็เกิดขึ้นมาหลายอย่างแล้วจริงๆ

AUTHOR