ihapstudio ทีมออกแบบที่ทำงานด้วยความสุข แม้มองแค่ก้อนหินก็คิดงานออก

การทำงานในสิ่งที่ตัวเองรักและมีความสุขเป็นความฝันของใครต่อใครมาทุกยุคทุกสมัย แต่ในชีวิตจริงคำว่า ‘สุข’ ค่อยๆ ถูกกัดกร่อนจนแทบไม่เหลือ จากปัจจัยต่างๆ ในชีวิต โดยเฉพาะคนที่ทำงานเกี่ยวกับด้านความคิดสร้างสรรค์ ที่ต้องรับมือกับโจทย์สุดหินและการแก้ปัญหาระหว่างทางจากผู้คนที่เกี่ยวข้องจนบางทีงานที่ร่างขึ้นต้นไว้กับงานจบสุดท้ายออกมาเป็นคนละเรื่องกันเลย สร้างความปวดหัว (ใจ) กันมานักต่อนัก

จากความหนักหน่วงของการเป็นนักออกแบบอิสระนับตั้งแต่วันที่ ตูน-บุญฤทธิ์ อรัญกูล ผู้ก่อตั้งและ Design Director ของ ihapstudio ตัดสินใจเก็บกระเป๋าเดินทางออกจากจังหวัดเพชรบูรณ์บ้านเกิดมาสร้างเนื้อสร้างตัวที่กรุงเทพฯ เมื่อสิบสองปีก่อน จนถึงวันที่เขาทำบริษัทนี้ขึ้นมาสิ่งแรกที่เป็นหัวใจหลักของที่นี่คือ ทุกคนต้องทำงานด้วยความสุขเพราะเชื่อในกฎของแรงดึงดูดที่ว่าถ้าเราแน่วแน่ในทิศทางของตัวเองแล้ว โลกก็จะพาคนที่คิดอะไรคล้ายๆ กันให้มาเจอกัน

I am Happy = ihapstudio

Ihapstudio คือผู้ให้บริการที่ช่วยจัดการแบรนด์ดิ้งกับบริษัทหรือองค์กรที่อยากปรับภาพลักษณ์และผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ทันสมัยหรือมีความเป็นสากลมากขึ้น โดยทั้งหมดใช้ความคิดสร้างสรรค์ ประสบการณ์ และมุมมองที่ตูนสั่งสมมาตลอดหลายปี จนสามารถสร้างระบบการทำงานของทีมที่มีคุณภาพขึ้นมาได้สำเร็จโดยไม่ต้องอดหลับอดนอนแบบที่ผ่านมา ซึ่งนั่นคือคำถามสำคัญของเราว่าแล้วเขาทำอย่างไร 

“ชื่อของ ihapstudio เป็นการตัดทอนมาจากคำว่า I am happy เพราะผมอยากให้เราทำงานอย่างมีความสุขไม่ต้องมีคุณภาพชีวิตที่พังๆ” เขาเริ่มต้นเล่าถึงที่มาของบริษัท

“หลังจากที่เราตะลุยทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ ทำงานเยอะๆ หนักๆ จนร่างกายฟ้องแล้วว่าไม่ไหว ผมก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำและฟอร์มทีมของตัวเองเล็กๆ ขึ้นมา โดยใช้ความเชื่อมั่นและศรัทธาว่าถ้าเราเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนระบบการทำงานของตัวเอง เปลี่ยนวิธีการหาลูกค้า เปลี่ยนวิธีคิดต่างๆ สุดท้ายแล้วเราจะได้ลูกค้าที่เป็นคนแบบเดียวกับเรา (เป็นส่วนใหญ่) ได้เจอคนที่มีทัศนคติใกล้เคียงกัน และการทำงานก็จะเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันน้อยลงไปเอง ดังนั้นการสร้างระบบที่ใกล้ตัวที่สุดคือ ผมจะไม่ยอมให้ทีมงานต้องมาเป็นแบบผมในเมื่อก่อน ถ้าถึงเวลาเลิกงานแล้วคุณต้องหยุดทำงานแล้วกลับบ้านเลย อย่าทำงานเกินเวลา คุณเก็บของแล้วไปหาความสบายใจให้ตัวเอง ไปใช้ชีวิตของตัวเองให้มากขึ้นดีกว่า”

สิ่งที่น่าสนใจต่อมาคือ เรื่องที่เราให้เขาเล่าถึงวิธีการสร้างโปรไฟล์งานของตัวเองเพื่อให้เข้าตากลุ่มลูกค้าที่อยากให้ทำงานในสไตล์แบบที่ตัวเองเป็น

“ผมเริ่มทำงานชิ้นเล็กๆ ก่อนตอนที่ยังไม่ได้ทำบริษัท โดยสมมุติมันขึ้นมาเอง เพราะในความเป็นจริงเมื่อเราไปรับงานโปรเจกต์ของลูกค้ามา แรกๆ เราจะยังไม่ได้งานดีๆ ที่เข้าทางเราหรอก ดังนั้นต้องคิดว่าถ้าเราอยากมีผลงานที่ให้เข้าตาลูกค้าอีกระดับหนึ่ง หรืองานที่เขาเห็นแล้วต้องเข้ามาคุยกับเราแน่ๆ ก็ต้องสร้างงานสไตล์นั้นขึ้นมาเองก่อน โดยผมจะเอางานที่ตัวเองทำไปลงตามเว็บไซต์อย่าง Behance หรือเว็บที่รวมงานของดีไซเนอร์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยที่เราจะสร้างผลงานให้อยู่ในระดับเดียวกับงานของดีไซเนอร์ในนั้น เพื่อที่คนมาเห็นเขาก็จะเชื่อว่าเราสามารถทำงานแบบนั้นได้ เป็นทั้งการยกระดับฝีมือตัวเอง และการเรียกราคาเพิ่มขึ้นได้ จนมีลูกค้าเข้ามาจ้างเรามากขึ้นเรื่อยๆ ผมก็สามารถเปิดเป็นบริษัทขึ้นมาได้”

แนะนำแนวทางการสร้างผลงานให้เห็นภาพได้ไหม – แน่นอนว่าพูดมาขนาดนี้เราต้องเราขอเรียนรู้วิชาสักหน่อย

“อย่างแรกผมจะเอาความเป็นเลิศของตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่ได้เอาตัวลูกค้าเป็นตัวตั้ง” เขาพูดพร้อมกับหัวเราะอย่างอารมณ์ดี 

“สมมติว่าเราจะทำโปรเจกต์ปรับแบรนด์ดิ้งในร้านขายหมูปิ้งสักเจ้า ผมก็จะไปหาข้อมูลว่ามีงานไหนที่เอามาใช้เทียบเคียงกับความเป็นหมูปิ้งได้และยกระดับหมูปิ้งขึ้นไปได้บ้าง ก็ดูตัวอย่างแบรนด์แฮมเบอร์เกอร์ของต่างประเทศ แบรนด์ร้านสเต๊กของต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งบางอย่างเราก็ทำแบบนี้ได้ ก็คิดว่าจะทำม็อกอัปอย่างไร ภาพรวมเป็นอย่างไร แล้วก็มาจัดการกับเรื่องงานภาพ งานผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งตอนนี้มีเว็บไซต์ทำม็อกอัปที่สะดวกสบายกว่าสมัยก่อนมาก บางครั้งเราต้องลงทุนซื้อโปรดักต์ดีๆ เพื่อเอามาสร้างเป็นม็อกอัปของตัวเองขึ้นมา จากนั้นก็นำผลงานไปลงที่เว็บไซต์ต่างประเทศ พอเราลงงานบ่อยๆ ก็จะมีลูกค้าทั้งไทยและต่างชาติมาจ้างเรามากขึ้น ทุกวันนี้เราก็ยังทำแบบนี้อยู่”

แม้จะเริ่มมีชื่อเสียงและได้ความไว้วางใจอยู่แล้ว แต่การเอาผลงานไปใส่ไว้ตามเว็บไซต์ออกแบบต่างๆ ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเขาให้เหตุผลว่าตัวงานจะช่วยให้การพูดคุยกับลูกค้ายากๆ ง่ายขึ้นด้วย

“หลายๆ ครั้ง ด้วยความที่เราไม่ใช่สตูดิโอที่โด่งดังมาก ต่อให้เราแนะนำของที่ดีให้เขา ถ้าเราไม่ได้มีอะไรที่เป็นเครื่องการันตีของเรา บางครั้งลูกค้าก็จะไม่เชื่อเรา และจะทำให้งานที่ควรจะออกมาดีระดับคว้ากล่องกลับมาได้ก็ไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีสิ่งเหล่านี้เอาไว้ใช้เวลาเราอยากได้บัฟ (Buff) เพิ่มเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือกับลูกค้า เพราะบางครั้งลูกค้าก็จะไม่เห็นภาพว่าแบรนด์ของเขาจะดูอินเตอร์ขึ้นได้อย่างไร เราก็จะมีผลงานคล้ายๆ กันเปิดให้เขาดู” 

ผลงานล่าสุดที่เขายกระดับแบรนด์ดูมีความเป็นสากลคือ ทำแบรนดิ้งโรงน้ำแข็งสยามพาณิชย์ ที่เปลี่ยนภาพขององค์กรให้มีความเป็นสากลได้

“เดิมทีโลโก้ของโรงงานนี้จะมีความไทยๆ บ้านๆ ซึ่งเราสามารถปรับให้มีความเป็นสากลได้ ผมก็ลองปรับโลโก้ที่แต่เดิมเป็นรูปครอบครัวของเพนกวินจักรพรรดิ ซึ่งผมเก็บความน่ารักของเขาตรงนี้ไว้ แล้วเทียบเคียงกับแบรนด์อินเตอร์ว่าเขาใช้แนวทางอย่างไร ซึ่งแนวทางของแบรนด์โรงน้ำแข็งสยามพาณิชย์จำเป็นต้องให้ความมินิมัล เพราะเราอยากให้มีความน้อยแต่มาก มีความเฉียบ เนี้ยบ แต่บางแบรนด์ก็สามารถเยอะแบบตะโกนได้ โดยใช้อาร์ตไดเรกชันแบบยุคใหม่เข้าไปช่วยปรับ”

ความมินิมัลไม่ใช่ทุกสิ่งที่ทำให้ดูอินเตอร์ใช่ไหม – เราถามย้ำ 

“ใช่! รกแล้วเท่ก็สามารถทำได้” เขาตอบอย่างหนักแน่น

The Power of Creativity

พูดเรื่องที่มาที่ไปของ ihapstudio ต่อมาคือการเจาะเข้าไปให้รู้ถึงวิธีคิดและการสร้างไอเดียใหม่ๆ ที่เราอยากรู้ที่สุด 

“ดูละครช่องฟรีทีวีเยอะๆ ครับ” เขาตอบ 

เราถามเขาอีกรอบเพราะกลัวจะฟังผิด ละครช่องฟรีทีวีแน่ๆ ใช่ไหม ไม่ใช่ซีรีส์ในสตรีมมิงต่างประเทศแน่นะ – เขาพยักหน้า

“ผมบอกทีมเสมอว่าถ้าเราอยากเป็นนักออกแบบที่สามารถสร้างสรรค์งานที่หลากหลายได้ เราต้องสวมบทเป็นคนคนนั้นหรือแบรนด์ๆ นั้นให้ได้ ผมเป็นคนที่ชอบดูละครช่องฟรีทีวีมาก ซึ่งนักออกแบบคนอื่นคงไม่ดูอะไรแบบนี้ เขาคงไปดูอะไรที่เท่ๆ คูลๆ ฉลาดๆ กัน (หัวเราะ) แต่ลองคิดดูว่าถ้าเราไม่เสพงานแมสๆ เกิดมีลูกค้าบ้านๆ มาปรึกษาแล้วเราจะเข้าใจเขาได้อย่างไร ซึ่งจริตแบบละครไทยนั้นสามารถเอามาใช้ในงานออกแบบได้เหมือนกัน”

ยังไงนะ – เราเอามือเกาหัวเพราะสงสัยกันเลย 

“มันเป็นความสามารถของนักออกแบบที่ใครก็สามารถทำได้ เพราะมันคือหลักการของการออกแบบที่แปลงสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างแบรนด์ Muji ก็ได้ สิ่งที่เป็นนามธรรมของเขาคือความน้อย ธรรมดา ไม่มีอะไร พอถ่ายทอดออกมาเป็นภาพก็คือ คนที่อยู่ในพื้นที่โล่งๆ มีตัวหนังสือธรรมดาปรากฏขึ้นมา แต่ถ้าเป็นแบรนด์อย่าง Marimekko ก็จะมีความเป็นลายๆ ดิบๆ มีความไม่เนี้ยบผสมอยู่ ซึ่งกลายเป็นจริตหรือคำนิยามให้แบรนด์ได้”

จริตตรงกลางคืออะไร – เราให้เขาช่วยอธิบายเพิ่ม

“บางแบรนด์ต้องการการตะโกน บางแบรนด์ก็ต้องการเรื่องความยั่งยืน ดังนั้นแต่ละคนจะมีความต้องการไม่เหมือนกัน ดังนั้นสิ่งที่อยู่ตรงกลางของแต่ละแบรนด์คือการที่การออกแบบนั้นกลับมาสู่ความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของแบรนด์นั้น เช่น ถ้าเป็นแบรนด์เสื้อผ้ากีฬา ธรรมชาติของตัวมันจะต้องเป็นแบรนด์ที่ให้ความรู้สึกตื่นตัว รวดเร็ว แข็งแรง ถ้าเอาไปอิงกับเทรนด์ที่น้อยแต่มาก ใช้เส้นหนึ่งเส้นเล่าเรื่องแบรนด์ ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ความรู้สึกนี้ เมื่อเทรนด์มินิมัลหมดไป แบรนด์นี้อาจจะเป็นอะไรก็ไม่รู้ ดังนั้นธรรมชาติของแบรนด์คุณเป็นอย่างไรคุณก็ยึดสิ่งนั้นไว้”  

การสร้างสรรค์งานศิลปะไม่เคยมีทางลัด ต้องอาศัยการฝึกฝนเรียนรู้ ดังนั้นเราจึงให้เขาช่วยแนะนำวิธีคิดในการตามหาไอเดียใหม่ๆ เป็นวิทยาทาน 

“การเสพงานออกแบบจากพินเทอเรสต์ กูเกิล หรือเว็บออกแบบดีไซน์ต่างประเทศก็เป็นสิ่งที่ทำได้ เช่น ถ้าผมต้องออกแบบตัวเลข 1 การทำความรู้จักเลข 1 ได้เร็วที่สุดคือการเข้ากูเกิ้ลหรือไม่ก็พินเทอเรสต์ ผมจะพิมพ์หาเลยว่า Logo Number 1 ภาพเลข 1 ก็จะขึ้นมาเต็มไปหมด ซึ่งเราจะเห็นว่าตอนนี้เลข 1 ในโลกนี้มีแบบไหนบ้าง พอเรารู้แล้วก็หาความเป็นไปได้ว่าจะทำให้งานออกแบบเรามีความแตกต่างได้อย่างไร เราเสพเว็บออกแบบเพื่อทำให้งานออกมาไม่เหมือน และเสพเพื่อหยิบอะไรบางอย่างเอามาใช้ ส่วนสิ่งที่ทำให้งานมีเอกลักษณ์คือรสนิยมหรือความเป็นธรรมชาติของแบรนด์ที่เราจะออกแบบให้”

“ส่วนต่อมาคือเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน พาตัวเองออกไปเดินดูนกชมไม้บ้าง ดูบ้านคน ดูสิ่งที่อยู่ระแวกแถวบ้านเรา เวลาผมเดินผ่านป้ายร้านค้าแถวบ้าน ผมก็จะคิดไปด้วยว่าเราน่าจะออกแบบให้เป็นแบบนั้นแบบนี้”

เมื่อพูดถึงตรงนี้เรานึกขึ้นได้จึงบอกเขาว่าระหว่างเดินทางมาที่สตูดิโอนี้ ได้ผ่านร้านอาหารใกล้ๆ และป้ายร้านค้านั้นเขียนคำตัวโตๆ ว่า ‘แซ่บสะท้าน เผ็ดเด้าลิ้น’ จนต้องหันมองอีกรอบ ซึ่งเขาก็บอกว่าคำนี้ก็เอามาใช้เป็นวัตถุดิบในการคิดงานได้เหมือนกัน

“ไอเดียดีๆ มักจะอยู่นอกกูเกิลจริงๆ นะ ป้ายที่บอกมานั้นบางทีเราก็หยิบอะไรบางอย่างมาใส่ไว้ในงานแพ็กเกจจิ้งก็ได้ เพราะบางงานเขาก็อยากได้ความขบขันแบบไทยๆ ก็มี หรืออย่างในหนังสือ Very Thai: Everyday Popular Culture ที่เป็นงานรวมรูปถ่ายวัฒนธรรมของบ้านเราในสายตาคนต่างชาติ ก็ทำออกมาเก๋ได้ ดังนั้นการไปเดินตลาดแถวบ้านที่ไม่จำเป็นต้องเป็นตลาดที่ออกแบบสวยงามก็มีวัตถุดิบให้เราหยิบมาใช้ได้เสมอ และดูแปลกหูแปลกตาด้วย อย่างคำว่าแซ่บสะท้าน เผ็ดเด้าลิ้น คิดดีๆ สามารถทำให้ออกมาโคตรเท่ได้ด้วยนะ (หัวเราะ)”

“ส่วนตัวคิดว่าผมเป็นคนที่เชื่อมโยงทุกอย่างได้ดี (หัวเราะ) คือเราพยายามคิดทุกอย่างให้เป็นภาพให้ได้จนกลายเป็นอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เราดูละครฟรีทีวีแล้วเห็นโฆษณาขายน้ำปลาร้า สิ่งนั้นอาจจะเชื่อมโยงกับเข้าการออกแบบขวดไวน์ที่เรากำลังทำอยู่ก็ได้ หรือเดินออกไปหน้าบ้านเห็นก้อนหินที่มีรอยแตกเราก็อาจจะนึกถึงเรื่องการออกแบบให้แบรนด์ร้านขนมปังก็ได้ นี่คือการฝึกฝนและขัดเกลาของผมมาตั้งแต่เริ่มทำอาชีพนักออกแบบ”

ออกแบบความฝันและทำให้เป็นจริง

ทุกคนต่างมีความฝันแม้ว่ามันจะค่อยๆ ถูกบดขยี้ด้วยเส้นทางของชีวิตที่ไม่เคยราบรื่น ฝันของตูนเองไม่ต่างกับใครอีกหลายคนที่อยากประสบความสำเร็จได้ขึ้นไปยืนอยู่บนเวทีนักออกแบบใหญ่ๆ และรับรางวัลอะไรสักอย่าง แต่วันนี้ความฝันของเขากะทัดรัดลงแต่แข็งแรงขึ้นจนเข้าใกล้ความจริงเรื่อยๆ แล้ว

“ตอนนี้ฝันในวันนั้นไม่อยู่แล้วครับ แต่เป็นสิ่งที่เราอยากทำงานดีๆ ออกมาให้กับลูกค้ามากกว่า โดยที่เราและลูกค้าต่างก็มีความสุขที่ได้ทำงานด้วยกัน และถ้างานนั้นได้รางวัลกลับมาด้วยก็เป็นเรื่องที่ดี ความฝันยังเป็นแรงขับเคลื่อนให้ผมได้อยู่เหมือนเดิม เพียงแค่ฝันในตอนนี้ไม่ได้หวือหวาแบบเมื่อก่อน ฝันของผมถูกปรับจูนให้เข้ากับบุคลิกและวัยของผมเสียมากกว่า ดังนั้นอีกหมุดหมายที่ผมอยากทำคือการแบ่งปันความรู้ให้กับคนอื่นๆ ดังนั้นผมก็มักจะขอเข้าไปบรรยายให้กับบริษัทหรือที่ปรึกษาธุรกิจที่รู้จัก รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ต้องการความรู้เรื่องการดีไซน์ การสร้างแบรนด์ ซึ่งหลายๆ ครั้งผมก็จะขอไปบรรยายฟรีๆ เลย ขอแค่ให้เขามีเวลาให้ เพราะผมเป็นคนที่ไม่ได้เรียนมาทางสายนักออกแบบโดยตรง ดังนั้นจึงรู้ว่าเส้นทางของการเป็นนักออกแบบนั้นยาก”

อย่างไรก็ตามใช่ว่าความฝันในวัยเยาว์ของเขานั้นจะหดหายไปเสียหมด เพราะล่าสุด ihapstudio ก็ถูกคัดเลือกจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ให้เป็นหนึ่งใน 60 แบรนด์ ของนักออกแบบไทยรุ่นใหม่ในโครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ปี 2566 หรือ Designers’ Room / Talent Thai & Creative Studio Promotion 2023 ซึ่งมีแนวคิดในการส่งเสริมนักออกแบบไทยรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพให้สามารถพัฒนาธุรกิจและปรับตัวเพื่อตอบสนองกับความต้องการของตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย ihapstudio อยู่ในหมวดของนักออกแบบกลุ่มธุรกิจบริการออกแบบ Creative Studio

“การได้คัดเลือกเข้าร่วมโครงการนี้ช่วยให้สิ่งที่ผมอยากทำมีพลังเพิ่มขึ้น เพราะผมเป็นแค่เด็กบ้านนอกคนหนึ่งที่เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เรียนหนังสือก็ไม่จบ เริ่มงานด้วยการเป็นเด็กเสิร์ฟร้านส้มตำ ได้เงินเดือน 800 บาท ต่อมาก็ไปทำงาน AE ขายรูปในสตูดิโอถ่ายรูปที่สยามสแควร์ แล้วก็ฝึกฝนตัวเอง หัดเรียนรู้โปรแกรมวาดภาพและแต่งภาพ แล้วก็ค่อยๆ ผลักดันตัวเองขึ้นมาเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ได้ทำงานในเอเจนซีโฆษณา ดังนั้นผมอยากเอาประสบการณ์ทั้งหมดของตัวเองมาช่วยให้น้องๆ นักออกแบบได้เรียนรู้และสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับการทำงานเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยหรือลำบากอย่างที่เราเห็นๆ กันมาตลอด”

เมื่อเรียนรู้วิธีการคิดแบบนักออกแบบมืออาชีพมาพอหอมปากหอมคอแล้ว สุดท้ายเราจึงให้เขาฝากอะไรบางอย่างในฐานะรุ่นพี่นักออกแบบสู่รุ่นน้องที่กำลังจะออกไปโบยบินเผชิญโลก

“ผมอยากบอกว่าอย่าให้ความฝันของเราฝ่อไปตามสิ่งรอบข้างที่คอยกดดันเรา เพราะมันจะกดดันเราแน่ๆ เก็บความฝันที่มีความเป็นเด็กของตัวเองไว้แล้วใช้วิธีจัดการแบบมืออาชีพ เพื่อทำความฝันของเราให้เป็นจริงขึ้นมา” 

หวังว่าการพูดคุยครั้งนี้จะจุดประกายความฝันของหลายๆ คนให้ลุกโชน และหาหนทางให้ตัวเองได้พบเจอกับการทำงานที่ตัวเองมีความสุขได้ในอนาคต

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream