คุยกับ ออกแบบ-ปีเตอร์ Hunger คนหิว เกมกระหาย กับประสบการณ์ใหม่ๆ ด้านการแสดงในโลกของเชฟ

เชฟพอล (ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม) อัจฉริยะแห่งวงการอาหารไฮเอนด์ ผู้นำของ ‘Hunger’ ทีมไพรเวทเชฟอันดับหนึ่งของประเทศ ที่ผู้คนในแวดวงไฮโซต่างปรารถนาจะลิ้มลองอาหารฝีมือของเขาสักครั้งในชีวิต โดยเบื้องหลังแต่ละเมนูคือการฝึกฝนสุดโหดที่เขามอบให้กับ ออย (ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) สมาชิกใหม่ที่เพิ่งเข้ามาร่วมทีม แต่พรสวรรค์อันน่าทึ่งของออยกลับทำให้เชฟพอลค่อยๆ เผยด้านมืดของตนเองออกมา เพื่อเชื้อเชิญให้ออยรู้จักความหมายที่แท้จริงของความหิวกระหาย

นั่นคือเนื้อหาย่อๆ ของภาพยนตร์ Netflix เรื่อง Hunger คนหิว เกมกระหาย โดยผู้กำกับ โดม-สิทธิศิริ มงคลศิริ และมี คงเดช จาตุรันต์รัศมี เป็นผู้เขียนบทและ showrunner ซึ่งเริ่มสตรีมในกว่า 190 ประเทศทั่วโลก เมื่อวันเสาร์ที่ 8 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา และกำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ในขณะนี้ 

2 นักแสดงอย่างออกแบบและปีเตอร์นั้น (รวมไปถึง กรรณ สวัสดิวัฒน์ ณ อยุธยา รับบท โตน) คือคนที่ผู้กำกับสิทธิศิริ เจาะจงว่าอยากร่วมงานด้วย เพราะเชื่อในวิธีการทำงานที่จริงจังและความหิวกระหายด้านการแสดง ซึ่งผลลัพธ์จากการทำงานร่วมกันครั้งนี้คงได้ผ่านสายตาของหลายๆ คนมาแล้ว 

a day ชวนออกแบบและปีเตอร์มาเล่าถึงเรื่องราวการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ด้านการแสดงในโลกของเชฟ กับภาพยนตร์สุดเข้มข้นเรื่องนี้

ทำงานร่วมกันครั้งแรกเป็นยังไงบ้าง

ปีเตอร์: เป็นข้อดีสำหรับคนแก่ (หัวเราะ) เหมือนเราได้ดูดพลังจากคนอื่นบ้าง หมายความว่าพอเราได้ทำงานกับคนที่มีเอเนอร์จี้ มีพลังในการที่อยากจะแสดง พลังเหล่านี้มันถูกถ่ายทอดออกมานะ สำหรับผม เมื่อมีคนหนึ่งอยู่ในฉากและมีพลังแบบนี้ เราจะได้รับไปด้วย มันเลยทำให้สนุก ยิ่งเวลาเล่นกับคนที่ทำการบ้าน คนที่ต่อสู้กับมัน เราสัมผัสได้ถึงสิ่งที่มันเดือดอยู่ข้างใน ออกแบบมีคำว่า ฉันจะทำมันให้ดีที่สุดอยู่ในร่างกายตลอดเวลา เราก็เลยสนุกไปด้วย

ออกแบบ: พี่ปีเตอร์เขามีฉายานะ ทุกคนในกองจะเรียกเขาว่า นายฝรั่ง (หัวเราะ) เวลาพี่ปีเตอร์เข้าซีน เขาจะจริงจังมากๆ ​แล้วด้วยคาแรกเตอร์เขา ทุกคนจะกลัว แล้วเราก็จะพูดกันว่า อันนี้พี่เขาเข้าตัวละคร

พี่ปีเตอร์เขาเก่งมาก ประสบการณ์เขาเยอะ เขาสามารถเชปปิ้งหนูได้เลย ทำให้ทุกอย่างมันไหลลื่นไปได้ แล้วเขาโฟกัสมากๆ มีซีนหนึ่ง เป็นซีนที่นั่งคุยกับพี่ปีเตอร์ ตอนพี่ปีเตอร์เล่น เขาเปลี่ยนนิดเดียวเอง นิดเดียวจริงๆ แต่ออกแบบรับรู้ได้เลยว่า มันส่งผล มันคือแอ็กชันกับรีแอ็กชัน เราก็เลยเปลี่ยนไปด้วย เราจะรู้สึกว่าเราโดนเชปปิ้งค่ะ ในการแสดง เพื่อให้เกิดภาพที่มันควรจะเป็น เขาลีดเรานิดนึง ซึ่งน่าสนใจมาก เขาเก่งมากๆ เลย เขาสามารถทำให้ทั้งภาพออกมาในภาพรวมอย่างที่ต้องการได้ เขาทำเพื่อช่วยเราด้วย เราก็เลยรู้ว่า อ๋อ วิธีคืออย่างนี้ ก็เป็นสิ่งใหม่ที่เหมือนเขาคายตะขาบให้ประมาณหนึ่ง (หัวเราะ)

โปรเจกต์หนังเรื่องนี้ต่างไปจากโปรเจกต์อื่นๆ ยังไง 

ออกแบบ: เอาจริงๆ ในหลายๆ โปรเจกต์ที่ทำค่อนข้างรับให้มันต่างเพื่อจะได้เรียนรู้พัฒนาศักยภาพในฐานะนักแสดงขึ้นไป แต่โปรเจกต์นี้มันต่างตรงที่ว่า ปกติเราจะทำแค่การบ้านตัวละคร แต่ว่าอันนี้มันมีสิ่งใหม่ที่ต้องเรียนรู้ คือการทำอาหาร แล้วเราต้องเวิร์กช็อปด้วยกันกับพี่ปีเตอร์กับพี่กรรณ (กรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา) ซึ่งต้องไปอยู่ร้านจริงๆ แล้วก็ทำจริงๆ ซึ่งการทำครั้งเดียวกับที่ร้านมันก็ไม่เพียงพอ ดังนั้นก็จะมีช่วงหนึ่งเป็นช่วงใหญ่ๆ เลยที่ทุกวันเราจะซื้อผักกลับบ้านเพื่อซ้อมหั่น คือเรื่องนี้มันเกี่ยวกับอาหาร ดังนั้นเราต้องเรียนรู้จริงๆ เพราะไม่งั้นอันตราย มันอันตรายกว่าที่คิดเยอะเลยค่ะ มันคือไฟ น้ำมัน มันคือมีด การหั่น มันมีวิธีของเขาที่เป็นโปรเซสที่เราควรเรียนรู้ไว้ หรือว่าการจับวอกที่หนักมากๆ ซึ่งตอนเรียนแรกๆ ยกไม่ได้ ทีมเลยบอกออกแบบต้องออกกำลังกายเพิ่ม มีบางวันที่ไปเสิร์ฟ fine dining จริงๆ ด้วย ยืนในร้านเพื่อเตรียมของตั้งแต่เที่ยงยันสี่ทุ่ม ในครัวมีความสนุกอีกรูปแบบหนึ่งที่เดือดมากๆ ถ้าถามว่าอะไรที่ใหม่ นี่คือใหม่ที่สุดในชีวิตเลยค่ะ 

คุณเห็นตัวเองต่างออกไปจากตอนเล่นหนังเรื่องแรกยังไงบ้าง

ออกแบบ: อย่างแรกที่ปฏิเสธไม่ได้คืออายุที่แก่ขึ้นค่ะ (หัวเราะ) จากฉลาดเกมโกงก็ 7 ปีแล้ว รู้สึกว่าภาพมันชัดขึ้นค่ะ ในฐานะนักแสดงกับสิ่งที่ทำอยู่ การอยาก explore ในบทต่างๆ ขอบคุณตัวเองที่กล้าเข้าไปเล่นในสิ่งที่รู้สึกว่าจะไม่ทำ อย่างอาหาร มันอันตราย มันไฟ หนูร้องไห้หลายรอบมาก คิ้วหนูหายไปเลยนะช่วงหนึ่ง เพราะว่าโดนไฟตอนเรียนผัดผักบุ้ง ไม่ง่ายนะคะผัดผักบุ้ง (หัวเราะ) ขอบคุณตัวเองที่กล้าลองในสิ่งใหม่ๆ ได้เรียนรู้อะไรเยอะมากๆ เลย มันไม่ใช่แค่โปรเซสการทำ แต่เราได้ฝึกฝนกับตัวเองเรื่องความอดทนมากๆ เลยค่ะ 

ทุกครั้งที่เล่นหนังเรื่องใหม่อยากใช้คำว่า เราได้สะสมประสบการณ์ค่ะ เราได้ก้าวข้ามผ่านกำแพงที่เราไม่เคยก้าว เพราะว่าแต่ละเรื่องมันมีโปรเซสมีสิ่งที่ยากของตัวมันเอง ไม่ว่าจะเป็นทางอารมณ์ ทางบอดี้ หรือทางการกระทำบางอย่าง ซึ่งออกแบบไม่ค่อยรับเรื่องที่มันคล้ายกัน เพราะว่าอยากลองสิ่งใหม่ๆ ในฐานะนักแสดงด้วย ก็ขอบคุณตัวเองที่ตัดสินใจที่จะรอในการทำอะไรบางอย่าง และก็กล้าที่จะทำ เพราะว่าเราค่อยๆ สะสมทุกๆ อย่างเข้ามาและเราก็ได้พัฒนาต่อไปในคาแรกเตอร์ต่อๆ ไปด้วย 

การทำงานกับ Netflix มีมาตรฐานหรือว่ามีอะไรที่ต่างออกไปจากการทำงานกับกองถ่ายไทย 

ปีเตอร์: สำหรับผม ต่างแน่นอน ต่างด้วยความจริงจังในการจะทำมันให้ดี มันจะถูกแบ่งแยกการทำงานเพื่อสนับสนุนให้ชิ้นงานออกมาดีที่สุด ทุกคนชัดเจนว่าตรงนี้ทำอะไร และมีเวลาให้ทำ หมายความว่า เราจะถ่ายเดือนโน้น เรามีเวลา 3 เดือนก่อนหน้านี้ มันจริงจังไปหมด ผมว่าเขาสนับสนุนให้การทำงานในทุกแผนกทำออกมาได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลาหรือว่าวิธีเตรียมตัว ซึ่งสิ่งนั้นมันเอื้อให้นักแสดงทำงานได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม พอทำงานกับที่นี่ก็เห็นสิ่งนี้ แต่ว่าผมไม่ค่อยได้คิดเชิงเปรียบเทียบว่า มันต้องถูกปรับไปทำในกองถ่ายของไทยไหม เพราะว่ามันคนละเงื่อนไข ผมรู้สึกว่าที่ Netflix ก็มีเงื่อนไขของเขา เขาเลยทำแบบนี้ได้แน่นอน เช่น เงื่อนไขในงบประมาณ สำหรับผมเปรียบเทียบกันได้ยาก

ออกแบบ: การได้ทำงานกัน Netflix รู้สึกเหมือนได้ เช็คลิสต์ค่ะ ในฐานะนักแสดง การทำงานกับค่ายยักษ์ใหญ่เป็นสิ่งที่ใฝ่ฝัน อาจจะมาช้ามาเร็ว แต่ว่าดีใจที่ได้ร่วมงานมากๆ มีความรู้สึกเหมือนถูกหวย (หัวเราะ)

หนูว่าหนูได้เรียนรู้อะไรจาก Netflix เยอะมาก อย่างแรกเลยที่ต่างออกไป ต้องยอมรับว่าเรื่องเวลา ถ้าบอกว่า 12 ชั่วโมงคือ 12 ชั่วโมงจริงๆ ไม่ 12 ชั่วโมงหลอก ไม่มีเกิน เป๊ะ ไม่เกินแม้แต่นาทีเดียว ทุกคิวที่ถ่าย ไม่ว่ากองจะเดือดแค่ไหน พี่โดมคือ 12 ชั่วโมงจริงๆ แล้วเขาก็จัดแจง ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ซึ่งตอนถ่ายค่อนข้างยากมากๆ เราต้องยอมรับ เพราะว่ามันคือช่วงโควิด มันก็จะมีบางทีนักแสดงติดโควิด กองก็ต้องจัดการว่าทำยังไงดี เปลี่ยนถ่ายอะไรได้ไหม เรื่องการเซฟนักแสดง หรือการเคารพสิ่งต่างๆ ซึ่งเขาให้ความสำคัญมากกว่าปกติ เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าอันนี้ใหม่จริงๆ แล้วรู้สึกว่าชอบมากๆ ในการทำงานกับ Netflix

ถ้าเป็นกองไทย ที่ได้ยินจากหลายๆ กองมา ตอนนี้รู้สึกว่าหลายคนก็เริ่มอิงตาม Netflix เหมือนกัน เพราะว่าสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าตัวนักแสดง พี่ทีมไฟ หรือทุกคนที่ทำงานในกองเดียวกัน เขาควรได้พัก ไม่ใช่เกิน 16 ชั่วโมงแล้วก็ต้องไปกองต่อไป ซึ่งทุกคนเขามีคิวงาน การเลตไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น กลับทำให้ทุกอย่างแย่ลง แม้แต่ mental health สุขภาพนักแสดง หรือการใช้เสียง การร้องไห้ของนักแสดง มันมีผลไปหมดเลย 

การทำงานร่วมกับผู้กำกับ โดม-สิทธิศิริ มงคลศิริ และผู้เขียนบท/show runner คงเดช จาตุรันต์รัศมี

ปีเตอร์: ได้ทำงานกับพี่โดมครั้งแรก ส่วนตัวผมชอบแกมากในแง่ความจริงจัง ความเอาจริงในการจะทำสักฉากหนึ่งออกมา และก็ความคิดสร้างสรรค์ ไม่รู้สิ ผมรู้สึกว่าอาจจะมีบางอย่างคล้ายๆ กันมั้ง ในแง่ของการทำทุกอย่างค่อนข้างเดือด แล้วพี่โดมเป็นคนที่มีอะไรที่อยากได้ก็ต้องทำให้ได้ ในความรู้สึกผมนะ ไม่หลบ ไม่เลี้ยว ถ้าสิ่งที่ถูกเขียนมามันควรจะทำให้ได้มันก็ต้องทำให้ได้ ซึ่งอันนี้ผมชอบมาก เพราะผมเชื่อในสิ่งคล้ายๆ กันว่าถ้ามันถูกเขียนออกมาแล้ว มันต้องทำได้สิ 

ส่วนพี่คงเดชก็ได้เจอกันเป็นครั้งแรกเหมือนกัน ในฐานะคนเขียนบท ก็จะคอยให้ข้อมูลในเชิงอีกด้านหนึ่ง เหมือนเสริมกัน เราก็นั่งคุยกันสามสี่คน ในหลายๆ ฉากที่เขียนออกมามันก็ไม่ได้ล็อกว่าจะต้องออกมาเป็นแบบนั้น เป็นการคุยกันระหว่างนักแสดงกับผู้เขียนบทและผู้กำกับร่วมกันว่า เรามีความคิดเห็นแบบนี้ มันก็จะเหมือนได้ปรึกษากัน ได้มีแง่มุมใหม่ๆ ออกมา พี่คงเดชก็จะเป็นคนคอยให้คำแนะนำ หรือให้แง่คิดในตัวละคร ว่ามันมีมุมอื่นหรือเปล่าที่ซ่อนอยู่ในนั้น ซึ่งก็ช่วยทำให้เราเข้าใจตัวละครมากขึ้น 

ออกแบบ: โอ๊ย ดุเดือดมากเลยค่ะ ออกแบบเคยเจอพี่โดมตอนประมาณอายุ 15-16 เพราะว่าถ่ายโฆษณาเครื่องสำอางตัวหนึ่ง และก็ได้เจอกับพี่เอ็มด้วย (สุรศักด์ วงษ์ไทย – ผู้ช่วยผู้กำกับ) แล้วตอนนี้พี่โดมมาเป็นอีกเวอร์ชันหนึ่งที่ซอฟต์ลง ใจเย็นลง แต่ยังหนักแน่นและยังเวรี่โฟกัสกับจออยู่ ว่าอยากได้ภาพอย่างนี้ๆ พี่เอ็มก็จะคอยมาช่วยซัพพอร์ต ซึ่งหนูรู้สึกว่าพี่โดมทำงานง่ายเพราะค่อนข้างเคลียร์ทุกอย่างมาก่อนทำงานแล้ว เขามีช็อตที่เขาอยากได้ เขามีมุมกล้องที่เขาอยากได้ เขาเคลียร์มากไม่ว่าเรื่องฟุตที่เขาต้องการหรือเรื่องอารมณ์ตัวละคร หรือถ้ามีอะไรเพิ่มเติม พี่โดมก็จะขอ อันนี้ explore นะ ออกแบบลองเป็นตัวละครแบบที่อยากลองเป็นเลย

ส่วนพี่คงเดชก็จะมาช่วยทำให้ทุกอย่างมันกลมมากขึ้น เป็นภาพที่ตัวละครจะไม่ไปแค่ทิศทางเดียว เหมือนเลเยอร์ถูกซอยให้มากขึ้น พี่คงเดชใจเย็นมากๆ และประนีประนอมมากๆ ผมว่าอันนี้ไปอย่างนี้ก็น่าจะดีนะครับ (หัวเราะ) เขาก็จะมีเสริม แต่ว่าจะไม่ค่อยเข้ามายุ่งเรื่องกำกับเท่าไหร่ หนูเคยเจอพี่คงเดชจากตอนเรื่อง Faces of Ann แล้ว 

คุณได้เรียนรู้อะไรในการเล่นหนังโปรเจกต์นี้บ้าง 

ปีเตอร์: ได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก เพราะมันมีหลายแง่มุมจริงๆ และก็ทำให้รู้เลยว่า การทำหนังอาหารยากมาก รู้แจ้งเลย ว่าเวลาเห็นหนังอื่นๆ ที่ทำเกี่ยวกับอาหาร รู้เลยว่ามันจะยากขนาดไหน เพราะไปเห็นเบื้องหลังแล้ว โอ้โห กว่าจะได้ แล้วยิ่งเป็นพี่โดม มันต้องเป็นของจริง หมายความว่าของที่อยู่บนจาน มันต้องถูกทำโดยเชฟออกมาจริงๆ แล้วมันก็ต้องดูดีจริงๆ แต่ละเมนูที่เราเห็นในหนังมันก็จะมีกรรมวิธี แล้วยิ่งถ่ายหนัง ก็จะมีทีมเชฟอยู่ห้องนี้ ทีมถ่ายอยู่ห้องนี้ แล้วเดี๋ยวเชฟก็ต้องทำมา มันจะวุ่นวาย ทำให้ผมไม่อยากกำกับหนังอาหารนะ (หัวเราะ) เพราะผมรู้สึกว่ามันยาก และมันต้องใช้ความเข้าใจทั้งของตัวนักแสดงด้วย ของเชฟที่จะมาร่วมกับเราด้วย ต้องสัมพันธ์ไปหมด จะถ่ายแบบนี้นะเชฟ เชฟก็ต้องหาวิธีทำไงวะ เดี๋ยวจะเอามาถ่ายได้ มันเลยวุ่นวายไปหมด นัวเนียไปหมด แต่ว่าก็ถูกออกแบบมาแล้วว่ามันจะเกิดสิ่งนี้ขึ้น 

พอเล่นเป็นเชฟมันก็ไม่เหมือนอาชีพอื่นๆ ใดๆ เพราะมันเป็นอาชีพเฉพาะมาก ในการทำการแสดงด้วย ในฐานะนักแสดง เวลาบทที่เราเล่นมันเป็นอาชีพที่เราไม่เคย มันก็จะรู้สึกตื่นเต้นโดยอัตโนมัติ และทีมงานก็จริงจัง หมายความว่า มันต้องมีไปเวิร์กช็อป ไปเรียน ไปทำความเข้าใจกับรูปแบบของเชฟประเภทนี้ ว่าเชฟที่เป็นไพรเวตเชฟ หรือว่าเป็นเชฟส่วนตัวไม่ได้มีหน้าร้านจริงๆ มันเป็นยังไง ตรงนั้นก็น่าสนใจ และเอาจริงๆ ผมไม่เคยกินเชฟแบบนี้เลยมั้ง แล้วพี่โดมก็พาไปทาน ถึงทำให้รู้ว่าไอ้โลกแบบนี้มันก่อตัวแบบนี้นะ และก็ไปในครัวของเชฟคนนั้นจริงๆ ก็เหมือนเปิดโลกในมุมที่เราไม่เคยเห็น เราไม่เคยสนใจว่าโลกของเชฟเป็นยังไง พอเราได้เห็นได้รู้มากขึ้น มุมมองในการมองอาหารก็เปลี่ยนไป เวลาเราไปกินร้าน เราก็จะรู้ว่ามันไม่ได้ง่ายอย่างที่เราเห็นอยู่ที่ในจาน กว่าจะเตรียมอันนั้น กว่าจะเตรียมน้ำราดอันนี้ วิธีมองคนทำอาหารที่เราทานก็เปลี่ยนไปเลย และก็ดูสนุกมากขึ้น 

เวลาคุณแสดงหนังเรื่องหนึ่งคุณต้องเป็นตัวละครนั้นตลอดเวลาไหมระหว่างที่อยู่ในโปรเจกต์

ปีเตอร์: ด้วยอายุ ด้วยการทำงานที่ทำมานานพอสมควร ผมว่าผมบริหารจัดการมันได้ดีขึ้นนะ ในแง่ความเครียดที่ตกค้าง คือเวลาทำงานเราจะตั้งใจอยู่แล้วแหละ แต่บางทีความตั้งใจนั้นก็ย้อนมากดดันตัวเอง เป็นธรรมดา ถ้าเราจัดการกับระเบียบวิธีคิดของตัวเองไม่ค่อยดี พอเราจริงจังมากมันก็จะเครียด พอเครียด สำหรับผมตอนหลังผมก็มาเจอว่า มันไม่ส่งผลดีกับอะไรเลย กับการแสดงด้วย ก็เลยค่อยๆ ปรับ มีวิธีคิดที่จริงจังเหมือนเดิม แต่ไม่ต้องเครียดขนาดนั้น และก็สนุกมากขึ้น

และจากความเครียดที่คาดหวังว่าจะต้องทำให้ได้ดี มันพัฒนาไปอีกนิดหนึ่ง ตรงที่มันกลายเป็นการจะตื้นเต้นมากหรือตื่นเต้นน้อย ซึ่งสำหรับผมส่วนตัว ความตื่นเต้นเป็นเรื่องดี ไปออกกองวันนี้ตื่นเต้นมากหน่อย เพราะว่าอันนี้ยากจังเลยวะ แต่ผมชอบเวลาไปแล้วตื่นเต้น ชอบมากกว่าเวลาเข้าไปในฉากแล้วเฉยๆ อันนี้พอจะเข้าฉากแล้วหัวใจเต้นตุบๆๆ ผมว่าอันนั้นเป็นสิ่งดี แต่พอแอ็กชันมันก็จะลงไปเองนะ แต่มันเป็นความรู้สึกที่ดีออก 

วิถีของอาชีพนักแสดงในปัจจุบันมีความยากขึ้นกว่าแต่ก่อนยังไงบ้าง 

ปีเตอร์: ผมว่ามันเหมือนทุกอาชีพที่เราหยุดไม่ได้ เดี๋ยวนี้ทุกคนมีวิธีหาความรู้ในการทำงานด้านการแสดงมหาศาล ในฐานะนักแสดง ถ้าเราเริ่มหยุดหรือไม่พัฒนาวิธีคิด วิธีการแสดง มันก็เหมือนจะไปต่อไม่ได้ เพราะตอนนี้ผมรู้สึกว่า วิธีแสดงของทั้งไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือของทั่วๆ ไปทั้งโลกมันพัฒนาขึ้น สมจริงสมจังมากขึ้น มีสไตล์ชัดเจนของแต่ละคนมากขึ้น เพราะฉะนั้นยากขึ้นทุกวันเลยในการเป็นนักแสดง

แล้วตอนนี้ช่องทางในการทำการแสดงมันมากขึ้นแบบมหาศาล ช่องเองและอื่นๆ มันเยอะมาก ทำให้เราก็จะเห็นคนอื่นที่พัฒนาตัวเองขึ้นมาเยอะมากขึ้น เราก็ต้องเหมือนพัฒนาตัวเองไปด้วยว่า รูปแบบของการแสดงมันไปถึงไหนแล้ว มันมีวิธีคิดวิธีนำเสนอแปลกๆ เยอะมาก เช่น ผู้กำกับบางคนก็ไม่ได้สนใจในเทคนิค แต่สนใจในความสมจริงของตัวละคร ลองสิ สดไปเลย ซึ่งถ้าเราไปยึดติดกับวิธีเดิม ว่าต้องมีบล็อกกิ้งอย่างนี้ๆ มันก็จะไม่ตอบโจทย์ ผู้กำกับบางท่านที่ชอบอะไรแบบนั้น ทำให้เราต้องศึกษารอบๆ ตัวอยู่ตลอดเวลา หยุดไม่ได้ หยุดก็จะไม่สามารถตอบสนองผู้กำกับที่อาจจะมีวิธีคิดที่ใหม่ แตกต่างจากที่เราเคยรู้จักมาก็ได้ เหมือนต้องเตรียมตัวให้พร้อมตลอดเวลา ตอนนี้ผมว่ามันกว้างมากขึ้นและจะทำให้ดีก็ยากมากขึ้น 

คุณมีวิธีพัฒนาตัวเองยังไงบ้าง

ออกแบบ: เอาจริงๆ ก็มีแอบเรียนเพิ่ม​ ศึกษาศาสตร์การแสดงเพิ่มเติม และก็มีทำสมาธิ สุดท้ายขาดไม่ได้เลยคือ ถ้านักแสดงไม่มีสมาธิมากพอ มันจะหลุด หลังๆ ก็เลยจะทำสมาธิมากขึ้น รีแลกซ์ตัวเอง เล่นโยคะ เพื่อเปิดร่างกาย เหมือนนักร้องที่ต้องวอร์มเสียง นักแสดงใช้ร่างกาย บางทีเราอาจจะต้องโปรเจกต์เสียงมากขึ้น อย่างเมื่อก่อนตอนเล่นฉลาดเกมโกงต้องไปเรียนเรื่องเสียง เพราะว่าออกแบบชอบพูดในลำคอ แล้วพูดเร็ว มันจะมีสละบางตัวที่พูดไม่ชัด เพราะวางลิ้นผิด ก็ต้องเรียนเพิ่มก็มี

นักแสดงในปัจจุบันต้องแอคทีฟบนโซเชียลกันพอสมควร คุณมองเรื่องนี้ยังไง และมีวิธีจัดการยังไง

ออกแบบ: ออกแบบเข้าใจ เพราะว่าเราก็เป็นนักแสดงคนหนึ่งที่ทำอะไรแบบนั้นเหมือนกันในบางครั้ง แต่ว่าหลังๆ เรารู้สึกว่าชีวิตมันสั้น ทำอะไรก็ตามที่มีความสุข ทำไปเลย ถ้าไม่อยากทำก็แค่ไม่ต้องทำ คนเรามีสติและตระหนักรู้มากพอว่าเราทำอะไรอยู่ เราต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร ของออกแบบคือไม่ได้บังคับตัวเองเพื่อทำ เป็นคนที่ไม่สามารถ เอาล่ะ วันนี้ฉันต้องไปทำคอนเทนต์ ทำไม่ได้ และก็จะฝืนมากๆ ดังนั้นจะทำเมื่อไปเที่ยวก็ถ่ายรูปซะหน่อยแล้วกัน จะเป็นเวย์นั้นมากกว่า เราเป็นคนแบบนี้ อย่างพรีเซนเตอร์หนูยังต้องใช้จริงๆ เลย ไม่งั้นหนูพูดไมได้ (หัวเราะ) เป็นคนโกหกได้ไม่เนียน 

คุณวาดภาพตัวเองในสเต็ปต่อไปไว้ยังไง  

ออกแบบ: ในฐานะนักแสดงก็อยากทำงานกับต่างประเทศ เคยได้ทำแล้ว ทำกับประเทศจีน แต่มันไม่ถูกออกมาสักที เพราะว่าด้วยคัลเจอร์เขา การฉายทางแพลตฟอร์มหรือว่าการออกโรง มันต้องต่อคิวนานมากๆ แล้วก็มีเรื่องหลายๆ อย่างเกิดขึ้นด้วย ก็เลยถ้าได้เช็กลิสต์เพิ่มก็คงดี ก็คือการออกไปสู่โลกภายนอก เอาจริงๆ ออกแบบรู้สึกว่าเมื่อถึงเวลามันจะมาค่ะ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ