‘ทำไมเราถึงไม่สนิทกันเหมือนก่อน’ กลับบ้านปีใหม่ทีไร รู้สึกไม่สนิทใจเหมือนเคย ทำอย่างไรให้การพบกับเพื่อนเก่าต่อติดเหมือนเดิม

‘ทำไมเราถึงไม่สนิทกันเหมือนก่อน’ กลับบ้านปีใหม่ทีไร รู้สึกไม่สนิทใจเหมือนเคย ทำอย่างไรให้การพบกับเพื่อนเก่าต่อติดเหมือนเดิม

เมื่อถึงช่วงสิ้นปี ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องจากบ้านไปทำงานต่างจังหวัด เลือกตีตั๋วกลับบ้านตามภูมิลำเนาของแต่ละคน เพื่อไปพบปะครอบครัว หรือคนใกล้ตัว ที่ยังคงดำเนินชีวิตอยู่ในบ้านเกิด โดยเฉพาะ ‘เพื่อนฝูง’ ที่ไม่ได้รียูเนียนกันนาน ไม่ว่าจะเพื่อนสมัยเรียนหรือเพื่อนสมัยเด็ก บางคนก็คาดหวังว่าจะได้ฉลองกันสุดเหวี่ยง ในขณะที่บางคนก็วางแผนทำกิจกรรมร่วมกัน

แต่เคยรู้สึกไหมว่า บางครั้งการกลับมาพบเกลอเก่าที่ไม่ได้เจอกันนาน (บางคนทั้งปีเพิ่งได้เจอกันตอนสิ้นปีนี่แหละ) ดูเหมือนมีช่องว่างของ ‘ระยะห่าง’ ในความสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้จะไม่ได้ขยายกว้างจนเอื้อมไม่ถึง แต่ก็ต้องใช้เวลาสักพักเพื่อเชื่อมต่อกันอีกครั้ง ก่อนที่เราจะวางใจว่า ‘เออ ไอ้เนี่ยแหละเพื่อนเรา’ และจึงเริ่มแชร์ประสบการณ์ชีวิตต่อกันอีกครั้ง

เพียงแค่ระยะเวลาขวบปีที่ไม่ได้พบ บางทีก็นานเพียงพอที่จะทำให้ความสัมพันธ์หลายๆ รูปแบบกลายเป็นความเหินห่าง นั่นเพราะความเป็นหนุ่มสาวหรือผู้ใหญ่ เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายที่พร้อมจะดึงความสนใจเราจากเรื่องราวในวันวาน

หลายคนสามารถรักษามิตรภาพทางไกลได้ ในขณะที่บางคนกลับรู้สึกถึงความห่างเหิน เมื่อกลับมาพบเพื่อนเก่าอีกครั้ง ในช่วงเวลาหรือเส้นทางที่แต่ละคนต่างเติบโตกันไปคนละหนแห่งราวกับว่า เมื่ออยู่คนละที่ อัตลักษณ์ของแต่ละคนได้ถูกสร้างขึ้นใหม่เสียแล้ว 

และมันจึงกลายเป็นความผสมปนเปเล็กน้อย จากความเศร้าที่ต้องห่างจาก ‘สิ่งใหม่’ ในชีวิตปัจจุบันที่ไม่มีเรื่องของเพื่อนเก่า กับความตื่นเต้นในเรื่องของประสบการณ์ร่วมกับ ‘สิ่งเก่า’ ของเพื่อนเก่าของเราในวันวานที่ยังสวยงาม

มิตรภาพทางไกลนั้นสวยงาม แต่ก็ซับซ้อนและเสี่ยงต่อการพลัดพรากและถูกลืม ความซี้ปึ๊กในวันเดิม อาจกลายเป็นความไม่สนิทที่เพิ่มขึ้น

ก่อนที่มันจะสาย เราจะทำความเข้าใจอย่างไรดี เพื่อที่การกลับบ้านไปเจอเพื่อนเก่า จะไม่กลายเป็นความห่างเหินที่อึดอัด?

บางครั้ง ‘ความไกล’ ไม่น่ากลัวเท่า ‘ความใกล้’

หากมิตรภาพถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของความห่างไกล ความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนก็ถูกวางแผนไว้เพื่อการดำรงอยู่เช่นนี้ เราต่างรับรู้ว่าต้องอาศัยอยู่ห่างไกลจากกัน อาจจะเป็นเรื่องสถานที่ทำงาน ด้วยเหตุนี้ เราสามารถเข้าใจได้ว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะได้ใช้ทุกช่วงเวลาของชีวิตร่วมกัน แต่มันจะทำให้เรายอมรับได้ไม่มากก็น้อยว่า มิตรภาพนั้น ‘ปลอดภัย’ และยังคง ‘มี’ อยู่ 

ที่สำคัญ สิ่งนี้จะทำให้เรารับรู้ได้ว่า ไม่มีอะไรขวางกั้นมิตรภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นงาน ความสัมพันธ์ (เชิงคนรัก) เพราะเราและเพื่อนอาศัยอยู่ห่างกันอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่อาจทำลายความผูกพันที่เคยมีร่วมกันในอดีต ซึ่งจะแตกต่างจากมิตรภาพระยะใกล้ตรงที่ตัวแปรหรือปัจจัยภายนอกสามารถสร้างความเสี่ยงให้กับความสัมพันธ์ของเราได้

ความห่างไกลสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ได้พูดคุย

แน่นอนว่า เมื่อเราและเพื่อนอยู่กันคนละสถานที่ มีชีวิตอยู่ใน 2 โลกที่แยกจากกัน ประสบการณ์ที่ได้พบจึงแตกต่างกันจากบริบทรอบข้าง ในมุมหนึ่ง นั่นจึงกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่เราสามารถเอามาเล่าสู่กันฟังได้เมื่อกลับมาพบกัน การพบปะกันจึงอาจ ‘เข้มข้น’ ยิ่งกว่าเดิม ในทางตรงกันข้าม หากเราอยู่ในระยะทางที่ใกล้ชิดกัน การแบ่งปันเรื่องราวที่น่าสนใจก็อาจจะน้อยลง เพราะเราต่างได้พบเจอสิ่งที่ใกล้เคียงในชีวิตประจำวันกันอยู่แล้ว

ระยะทางขจัดความเบื่อหน่าย

อย่าลืมว่าบางครั้งการต้องอยู่ใกล้คนๆ หนึ่งตลอดเวลาสามารถเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายหรือความรำคาญต่อกันได้ โดยเฉพาะเพื่อนที่รู้ไส้รู้พุงกันอยู่แล้ว หาก ‘เพื่อน’ สองคนขึ้นไปผูกพันกันมากเกินไป ก็มีความเสี่ยงที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกัน จนอาจนำไปสู่ความอิจฉาริษยาและการทะเลาะกันเล็กๆ น้อยๆ (และอาจหนักขึ้น) แต่หากเราและเพื่อนอยู่กันคนละที่ สิ่งเหล่านี้จะถูกขจัดออกไป แน่นอนว่ามันอาจทำให้เกิดช่องว่างขึ้นบ้าง แต่ในทางหนึ่งก็แทบไม่มีความเสี่ยงที่เราและเพื่อนจะรู้สึกเบื่อหน่ายซึ่งกันและกัน

ระยะทางอาจพิสูจน์ม้า แต่ก็พิสูจน์ความสัมพันธ์ด้วยเช่นกัน

หากลองคิดดูดีๆ มิตรภาพที่เราเคยมีกับเพื่อนเก่าที่บ้าน หรือเพื่อนในวัยเด็ก มันตั้งอยู่บนความผูกพันแห่ง ‘ความสะดวกสบาย’ นั่นเพราะ เราบังเอิญอยู่ที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน และสิ่งที่เราต้องการเพื่อที่จะได้สนิทสนมกันคือผลประโยชน์ร่วมกันเล็กๆ น้อยๆ เช่น เราอยากสนิทกับเพื่อนในโรงเรียนเพราะต้องการมีพรรคพวก หรืออยากสนิทกับเพื่อนบ้านเพื่อไปเที่ยวเล่นที่บ้าน แต่ทันทีที่หลุดออกจากสภาพแวดล้อมเหล่านี้ เราอาจ ‘มองหา’ คนอื่นที่จะพูดคุยสร้างสัมพันธ์ด้วยแทนที่ มากไปกว่านั้น เราและเพื่อนอาจมองกันเป็นเพียงผลประโยชน์เพื่อจุดประสงค์บางอย่างของตนเองเท่านั้น

ถึงแม้ว่ามันคงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดในความสัมพันธ์ระยะใกล้ แต่ความเป็นจริงคือ ปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่อาจไม่มีอยู่ในมิตรภาพระยะไกล เนื่องจากความสัมพันธ์เช่นนี้ไม่มีอะไรที่ ‘สะดวกสบาย’ ถ้าไม่นับการสื่อสารผ่านโซเชียล ดังนั้น เราและเพื่อนจึงรับรู้ได้ว่า มิตรภาพที่มีนั้นมีพื้นฐานมาจากความรักใคร่ซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง ตรงกันข้ามกับความรักใคร่ที่เกิดจากเหตุการณ์แวดล้อม

เมื่อทำความเข้าใจแล้ว เราจะทำยังไงดี ที่การกลับบ้านปีใหม่ครั้งนี้ จะไม่ต้องรู้สึกห่างเหินไม่สนิทใจกับเพื่อนเก่า?

พูดคุยหรือฟังเรื่องราวของกันและกัน

วิธีที่ง่ายที่สุดที่เป็นสะพานในการเชื่อมต่อระหว่างกันคือการสื่อสารด้วยการพูดคุย อย่าลืมว่า การพูดคุยเป็นเพียงการสื่อสารด้านเดียวเท่านั้น นอกจากที่เราจะเล่าเรื่องราวให้เพื่อนฟังแล้ว การฟังด้วยความสนใจอย่างเต็มที่ จะทำให้เพื่อนรับรู้ว่า สิ่งที่พวกเขาเล่ามีความสำคัญต่อเราเช่นกัน เพราะทั้งเราและเขาก็ต่างมีเรื่องราวที่ไปประสบพบเจอ ทั้งน่าตื่นเต้น เครียด หรือเศร้า ที่อยากแชร์ การฟังโดยไม่ขัดจังหวะหรือเบี่ยงเบนจากเรื่องที่เพื่อนเล่า จะเป็นการย้ำเตือนว่าเรายังคงเป็น ‘หูที่คุ้นเคย’ ที่พร้อมรับฟังเรื่องราวของพวกเขา และเราใส่ใจช่วงเวลาที่ไม่ได้พบกัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความสนิทใจระหว่างกันด้วย

ถามไถ่กันสักหน่อย

นอกจากการตั้งใจเล่าและฟังเรื่องราวของกันและกันในช่วงที่ไม่ได้เจอกันแล้ว เคล็ดลับอีกอย่างที่จะเพิ่มความสนิทใจให้แก่กันคือการ ‘ถาม’ คำถามที่ดีนั้นมีพลังมาก เพราะการถามจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเรา ‘สนใจ’ ชีวิตของเพื่อน นอกจากนี้ การที่เราและเพื่อนอาจไม่ได้ติดตามชีวิตของกันและกันได้ตลอดเวลา คำถามที่ดีและเฉพาะเจาะจง ยังเปิดโอกาสให้เราได้รับฟังและรับรู้เกี่ยวกับเพื่อนเพิ่มเติมจากสิ่งที่เราอาจไม่ได้เห็นผ่านโซเชียลก็ได้ 

ชมกันเลย ไม่ต้องเขินอาย

บางคนอาจรู้สึกกับข้อนี้ว่า ‘อะไร จะไปชมเพื่อนมันทำไม’ แต่อย่าลืมว่า การกระทำหรือคำพูดง่ายๆ สามารถกระชับความสัมพันธ์ที่สนิทใจกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ บางครั้งแค่คำว่า ‘มึงยังเหมือนเดิมเลยนะ’ ก็ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดีได้แล้ว หรือแม้แต่ในการพูดคุยกัน หากมีคำพูดชื่นชมในสิ่งที่เพื่อนทำ เช่น ‘กูเห็นที่มึงทำในโซเชียล ดีใจที่มึงไปได้ดีนะ’ ก็สามารถแสดงให้เห็นว่าพวกเขายังคงเป็นส่วนสำคัญในชีวิตได้ แต่อย่าชมโอเวอร์เกินไปจนดูไม่เป็นธรรมชาติล่ะ

คุณภาพอาจสำคัญกว่าปริมาณ

เข้าใจได้ว่าบางคนมีเพื่อนฝูงมาก การกลับบ้านแต่ละครั้งอาจต้องนัดเพื่อนหลายคน เพื่อมาเฉลิมฉลองกัน แต่อย่าลืมว่าเพื่อนบางคนอาจชอบการปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากกว่า หรือรู้สึกไม่สบายใจในการพูดคุยในกลุ่มใหญ่ ดังนั้น การนัดเพื่อนที่เรารู้สึกสนิทใจและอยากพูดคุยด้วยจริงๆ แบบตัวต่อตัว จะทำให้ต่างฝ่ายต่างได้รับความสนใจอย่างเต็มที่ ที่สำคัญ คือสามารถพูดคุยแบบ ‘เจาะลึก’ ได้ตามต้องการโดยไม่ต้องมีสิ่งใดรบกวน

มิตรภาพทางไกลไม่ใช่เรื่องแปลก ผู้คนส่วนใหญ่ต่างประสบกับเหตุการณ์เหล่านี้ ณ จุดใดจุดหนึ่งในชีวิต ชีวิตที่ก้าวเดินไปในทิศทางใหม่ ผู้คนที่ย้ายออกไป อาชีพการงานที่พัดพามิตรภาพให้ห่างไกล แต่อย่างไรก็ตามมันยังคงอยู่ในความทรงจำ เราเพียงต้องทำความเข้าใจในทุกครั้งที่กลับไปพบ และทุกครั้งที่ต้องลาจาก ซ้ำแล้วซ้ำอีก

เหมือนในเพลง In My Life ของ The Beatles ที่พูดว่า 

There are places I’ll remember

All my life though some have changed

Some forever not for better

Some have gone and some remain

มีสถานที่หลายแห่งที่ฉันจดจำได้

ตลอดชีวิตของฉัน แม้บางแห่งจะเปลี่ยนไป

บางสิ่งอยู่ชั่วนิรันดร์ แต่ไม่ได้มีสิ่งใดดีขึ้น

บ้างจากไป บ้างยังคงอยู่

All these places had their moments

With lovers and friends I still can recall

Some are dead and some are living

In my life I’ve loved them all

สถานที่เหล่านี้ต่างมีช่วงเวลาในความทรงจำ

ทั้งคนรักหรือเพื่อนฝูง ที่ฉันยังคงจำได้

บ้างตายจาก บ้างยังมีชีวิตอยู่

ทั้งชีวิตนี้ ฉันรักพวกเขาทุกคน

กลับบ้านช่วงสิ้นปีครั้งนี้ ลองหาเวลาพบปะกับเพื่อนสนิทใจกันดูนะ

AUTHOR

ILLUSTRATOR

banana blah blah

นักวาดภาพประกอบ ที่ชอบกินอาหารสุกๆดิบๆ เป็นชีวิตจิตใจ ส่วนชีวิตนั้นก็สุกๆดิบๆไม่ต่างกัน