Homicide: New York & Los Angeles : ‘ไกลบ้าน’ เวอร์ชันฆาตกรรม

โพลจัดอันดับประเภท ‘ประเทศปลอดภัยที่สุดในโลก’ มีให้เราเห็นอยู่เสมอ ไม่ว่าในแง่ผู้อยู่อาศัยหรือสำหรับนักท่องเที่ยว ประเทศที่อยู่อันดับต้นๆ เสมอมักเป็นประเทศแถบแสกนดิเนเวีย ฝั่งเอเชียก็เห็นญี่ปุ่นกับสิงคโปร์อยู่เนืองๆ แต่แทบไม่เคยมีสหรัฐอเมริกาอยู่ในท็อป 10 อย่างที่เรารับทราบว่าประเทศนี้มีทั้งข่าวการกราดยิง, การจี้ปล้น (โดยเฉพาะทุบรถนักท่องเที่ยว) และปัญหาคนไร้บ้านที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

แต่จะบอกว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศอันตรายก็ดูเหมารวมไปหน่อย หากดูสถิติแล้วแต่ละรัฐแต่ละเมืองมีอัตราอาชญากรรมต่างกันไป อย่างตัวผู้เขียนเคยไปแค่นิวยอร์ก เพื่อนๆ เตือนว่านี่คือเมืองที่ ‘โหด’ เป็นอันดับต้นๆ เอาเข้าจริงผู้เขียนไม่เจอเรื่องหวาดเสียวอย่างใด แต่รู้สึกได้ว่าบางย่านต้องระวังตัวเป็นพิเศษ หรือตอนที่เล่าว่าไปขึ้นซับเวย์ตอนตีหนึ่ง (รถไฟที่นั่นเปิด 24 ชั่วโมง) เพื่อนที่ใช้ชีวิตอยู่นิวยอร์กก็บอกว่าบ้าหรือเปล่า เขาอยู่มาเป็นสิบปียังไม่กล้าขึ้นตอนดึกเลย

ปีนี้ Netflix มีซีรีส์ชื่อ Homicide ที่เล่าถึงคดีฆาตกรรมตามเมืองใหญ่ในสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าซีซันแรกต้องเป็นนิวยอร์ก (ในชื่อ Homicide: New York ออนแอร์เมื่อมีนาคม 2024) มีทั้งหมด 5 ตอน 5 คดี โดยผู้สร้างซีรีส์คือ ดิก วูล์ฟ เจ้าของแฟรนไชส์ Law & Order ซีรีส์ตำรวจที่ออนแอร์มาตั้งแต่ปี 1990 หากคราวนี้มันไม่ใช่เรื่องแต่ง แต่เป็นการสำรวจถึงคดีที่เกิดขึ้นจริง

ปกติซีรีส์แนวอาชญากรรมใน Netflix มักเน้นเล่าถึงฆาตกรต่อเนื่องหรือเหยื่อ ส่วนจุดเด่นของ Homicide คือการเล่าผ่านมุมมองตำรวจ แถมยังเป็นตำรวจแผนกฆาตกรรมฝีมือเก๋าที่ส่วนใหญ่เกษียณไปแล้ว นั่นแปลว่าพวกเขาทำอาชีพนี้มาราว 30-40 ปี นอกจากความเฉียบขาดในการสืบสวนแล้ว ตำรวจแต่ละคนมีบุคลิกต่างกันไป ทั้งสุขุม เจ้าเล่ห์ โผงผาง มีอารมณ์ขัน เว็บไซต์ reddit ถึงขั้นถกเถียงกันทำนองว่า “ไม่ชอบตำรวจคนนี้เลย ทำไมเขาเล่าเรื่องคดีไป ยิ้มไป” แต่ก็มีคนมาโต้ว่า “ดูให้จบสิ คุณจะรู้ว่าที่จริงแล้วเขาแคร์ผู้เสียหายมากนะ”

Homicide นั้นแทบไม่มีฉากตื่นเต้นแบบการดวลปืนหรือไล่ล่าผู้ร้าย แต่เน้นให้เห็น ‘กระบวนการ’ จริงๆ ที่ตำรวจต้องทำ ตั้งแต่สืบพยาน หาหลักฐาน ค้นข้อมูล เตรียมเอกสารเพื่อส่งให้อัยการฟ้อง ส่วนที่น่าสนใจมากคือมีตำรวจบางนายที่มีชื่อเสียงด้านการทำ Presentation แบบปังๆ (เช่น การทำรูปประกอบ ใช้แผนภูมิอธิบาย) เพื่อโน้มน้าวให้อัยการส่งฟ้อง รวมไปถึงการชักจูงคณะลูกขุนในชั้นศาลด้วย

แต่ใช่ว่า Homicide จะเป็นซีรีส์แข็งทื่อ น่าเบื่อ ในอีกด้านก็เปิดเผยให้เห็นถึงความรู้สึกส่วนตัวของเหล่าตำรวจ บางคนร้องไห้ตอนเล่าย้อนถึงความสะเทือนใจของคดี ส่วนอีกคนบอกว่า “ทุกคดีที่ผ่านมามันก็ค่อยๆ กัดกินจิตวิญญาณของเรา” ดังนั้นเลยมีคนไม่ขอไปต่อ เลิกอาชีพตำรวจกลางคัน แต่บางคนที่เกษียณไปสักพักกลับซึมเศร้า ขอกลับมาช่วยงาน น่าสนใจดีที่โปรดิวเซอร์ของซีรีส์ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “คุณจะอ่านเรื่องคดีพวกนี้จากวิกิพีเดียก็ได้ แต่คุณจะไม่ได้ด้านที่เป็นมนุษย์จากมัน”

คดีใน Homicide: New York มีอยู่สองตอนที่ผู้เขียนรู้สึกว่ากระทบใจเป็นเป็นพิเศษ หนึ่ง-เรื่องของแม่บ้านผิวดำที่หายตัวไปอย่างลึกลับในอาคารสำนึกงาน เมื่อสุดท้ายมีหลายประเด็นที่เป็นปริศนาไม่คลี่คลาย มันน่าคับข้องใจและอึดอัดแทนญาติผู้เสียหาย และสอง-คดีนักข่มขืนต่อเนื่องที่เน้นเหยื่อเป็นผู้หญิงผิวดำ เป็นคดีน่าขนลุกเพราะคนร้ายลงมือต่อเนื่องหลายปี มีเหยื่อหลายราย และใช้เวลากว่าสามสิบปีกว่าจะได้บทสรุป (ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้าน DNA)

ส่วนซีซันสอง Homicide: Los Angeles (ออนแอร์กรกฎาคม 2024) โฟกัสไปที่เมืองลอสแอนเจลิส ด้วยความเป็นที่ตั้งของฮอลลีวูด คดีในซีซันนี้จึงมีหลายตอนเกี่ยวข้องกับคนมีชื่อเสียง อย่างตอนแรกก็เล่นเบอร์ใหญ่อย่าง ฟิล สเปคเตอร์ โปรดิวเซอร์ผู้เคยร่วมงานกับทั้ง The Beatles, Ramones และลีโอนาร์ด โคเฮน แต่เขากลับต้องสงสัยว่าใช้ปืนยิงหญิงสาวคนหนึ่งจนถึงแก่ความตาย แน่นอนว่าเมื่อเป็นคนดัง ก็ย่อมมีเงินจ้างทนายเก่งกาจ ทำให้ตำรวจต้องทำงานหนักขึ้น

Homicide ยังทำให้เห็นว่าแต่ละเมืองมีลักษณะต่างกันออกไป อย่างนิวยอร์กตำรวจจะแบ่งเป็นสองหน่วยคือแมนฮัตตันเหนือกับใต้ ซึ่งมีความสัมพันธ์ทั้งแบบร่วมมือ แข่งขัน ไปจนถึงขัดแย้งกัน ส่วนในลอสแอนเจลิส หลังจากมีคดีของ โอเจ ซิมป์สัน (นักอเมริกันฟุตบอลชื่อดังที่ต้องสงสัยว่าฆ่าภรรยาตัวเอง แต่ทีมทนายยอดฝีมือสามารถโน้มน้าวคณะลูกขุนให้ตัดสินว่าเขาไม่มีความผิด) อัยการของลอสแอนเจลิสก็ไม่ค่อยอยากส่งฟ้องคนดังนักเพราะเสี่ยงจะเผชิญกับดรามาหนัก ฝ่ายตำรวจเลยยิ่งต้องทำสำนวนคดีให้รัดกุมอย่างที่สุด

ด้วยความที่ลอสแอนเจลิสมีคนรวยอาศัยอยู่มาก ก็ย่อมมีบางคนย่อมได้ประโยชน์จากการที่พวกเขา ‘หายตัว’ ไป สองตอนสุดท้ายของ Homicide: Los Angeles เลยมีธีมว่าด้วยคดีคนหาย ซึ่งเป็นเรื่องน่าสะเทือนใจสำหรับคนรอบข้าง อย่างที่มีคำกล่าวว่าการรู้ว่าคนรักของเราตายไปมันยังดีกว่าการสาบสูญอย่างไร้ร่องรอย คดีเหล่านี้ยิ่งน่ากลัวเมื่อผู้อยู่เบื้องหลังอาจเป็นคนใกล้ชิด หรือในฝั่งของตำรวจก็ต้องเผชิญความยากลำบากในกรณีที่ไม่สามารถหาศพของคนที่หายไปได้ เพราะนั่นคือการขาดหลักฐานชิ้นสำคัญที่สุด

บางคนอาจตั้งแง่ว่าซีรีส์ Homicide อาจจะดูอวยตำรวจไปสักหน่อย แน่นอนว่าตำรวจก็มีทั้งดีและไม่ดี ภาพยนตร์เกี่ยวกับตำรวจฉ้อฉลมีเยอะแยะไป ตำรวจหลายคนในซีรีส์นี้ไม่ได้บอกว่าพวกเขาเป็นคนดี บางคนนั่งไล่ข้อเสียของตัวเองเป็นข้อๆ แต่ทุกคนล้วนพูดตรงกันว่าพวกตั้งใจทำงานนี้ แม้ว่ามันจะนำมาซึ่งความเจ็บปวดมากมาย ดังนั้นข้อสำคัญของ Homicide คงเป็นการทำให้เราเห็นตำรวจในหลายมิติ โดยเฉพาะว่าพวกเขาก็มีความรู้สึก มีมุมที่อ่อนไหวอ่อนแอ อย่างที่ตำรวจคนหนึ่งพูดไว้ว่า “ผมเป็นคนที่เชื่อในกฎหมายอย่างสุดหัวใจนะครับ แต่กฎหมายกลายเป็นเรื่องซับซ้อนเพราะมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง และเมื่อมนุษย์เข้ามาเกี่ยวมันก็จะมีเรื่องอารมณ์ความรู้สึกด้วย”  

AUTHOR