ตั้งแต่กระแส Hallyu พุ่งแรงในปลายยุค 90s พลังของ K-Pop ยังคงทำให้คนฟังหลายคนเป็นติ่งอย่างเต็มใจ และทำให้แฟนคลับทั่วโลกหลงรักวัฒนธรรมเกาหลีอย่างเหนียวแน่นจนถึงทุกวันนี้
คนที่ติดตามพัฒนาการของเคป๊อปน่าจะเห็นการยกระดับของอุตสาหกรรมดนตรีเกาหลีอยู่เสมอ จากส่วนผสมต้นแบบของโลกตะวันตกโดยเฉพาะฝั่งอเมริกัน ถูกพลิกแพลงเป็นเคป๊อปที่โดดเด่น นอกจากจะดึงดูดคนฟังจากทั่วโลก ปัจจุบันผลงานของพวกเขากลายเป็นแม่เหล็กดูดศิลปินบิ๊กเนมจากโลกตะวันตกให้เข้ามาร่วมงานกันล้นหลาม ทั้ง Nicki Minaj, Dua Lipa, Years & Years หรือแม้แต่ Skrillex
องค์ประกอบความสำเร็จและความน่าประทับใจของเคป๊อปที่มองข้ามไปไม่ได้คือการแสดงสด ไม่ใช่แค่เทคนิคการดีไซน์แสงและควันบนเวทีคอนเสิร์ตที่อลังการ ก้าวสำคัญที่น่าจับตามากคือการนำเทคโนโลยี ‘โฮโลแกรม’ มาใช้บนเวที โดยการฉายภาพวงไอดอลแสดงสดบนเวทีด้วยโฮโลแกรม ราวกับว่าศิลปินเหล่านี้ปรากฏตัวต่อหน้าผู้ชมนับร้อยนับพันจริงๆ
เบื้องหลังภาพโฮโลแกรมที่แสดงเทคโนโลยีล้ำหน้า คำตอบสำคัญที่เราต้องการหาคือ นวัตกรรมนี้เข้ามาช่วยสนับสนุนวัฒนธรรมเกาหลีให้แข็งแรงขึ้นยังไง และส่งผลอะไรกับผู้ชมการแสดงสดของไอดอลเกาหลี ในฐานะเครื่องมือด้านวัฒนธรรมที่คนเกาหลีคิดค้น ลงทุนและทำการบ้านมาอย่างหนัก
เริ่มจากภาครัฐด้วยการดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว และกระทรวง ICT ที่ต้องการยกระดับให้โชว์สดๆ ของศิลปินเกาหลีเต็มไปด้วยสีสันที่น่าตื่นตะลึงกว่าเดิม
เทคโนโลยีโฮโลแกรมสร้างภาพ 3 มิติโดยใช้คุณสมบัติคลื่นรบกวนและการหักเหคลื่นแสง ในปี 2015 มีเพียง MIT ในสหรัฐอเมริกา และสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น (NICT) ที่พัฒนาเทคโนโลยีโฮโลแกรมทำให้ผู้ใช้รับชมภาพได้จากมุมมอง 20 องศา ทว่าสถาบันค้นคว้าวิจัยสัญชาติเกาหลีอย่าง Electronics and Telecommunications Research Institute หรือ ETRI ทำสิ่งที่เหนือกว่านั้น
โดยทีมนักวิจัยเกาหลีกล่าวว่าเทคโนโลยีโฮโลแกรมที่แท้จริงใช้การหักเหของคลื่นแสงไม่เหมือนโฮโลแกรมที่ใช้ในการแสดงภาพสามมิติทั่วไป เทคโนโลยีทั่วไปจะสร้างภาพ 3 มิติโดยใช้ภาพ 2D ที่แขวนอยู่บนหน้าจอในอากาศทำให้ไม่สามารถสร้างภาพ 3 มิติที่ดูแตกต่างจากมุมที่ต่างกัน แต่เทคโนโลยีของ ETRI ใช้การรบกวนและการหักเหของคลื่นแสงจากแหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์ที่สร้างภาพสามมิติแบบ 360 องศา ดังนั้นภาพ 3D จากโฮโลแกรมแบบฉบับเกาหลีจะทำให้ผู้ใช้สามารถมองเห็นภาพที่ฉายได้จากทุกมุมมอง
เทคโนโลยีการแสดงภาพที่ว่านี้เรียกว่า Tabletop Holographic Display ซึ่งทีมวิจัยเกาหลีประสบความสำเร็จด้านการผลิตภาพโฮโลแกรม 5 สีและวิดีโอที่สามารถดูได้จากทุกทิศทางพร้อมๆ กันเมื่อยกขึ้นเหนือพื้น 0.5 เซนติเมตร แสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางเทคโนโลยีที่เหนือกว่าประเทศอื่นของเกาหลีใต้
ความน่าสนใจของการนำโฮโลแกรมมาใช้ในอุตสาหกรรมดนตรีเคป๊อป โดยทั่วไปแล้วไอดอลเกาหลีมีตารางงานทัวร์คอนเสิร์ตและการโชว์ตัวที่แน่นเอี๊ยด เวลาในการปรากฏตัวในสถานที่ต่างๆ จึงจำกัด เทคโนโลยีนี้เข้ามาตอบสนองความต้องการแฟนคลับที่มีอยู่จำนวนมากทั่วโลก อย่างแรกคือช่วยประหยัดเวลา ผู้ชมอย่างเราๆ ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ในสถานที่จริง ยิ่งไปกว่านั้นคือการวางแผนให้มีการแสดงเสมือนจริงของบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปไปพร้อมกันทั่วโลกในอนาคต รวมไปถึงการเผยแพร่ภาพการชุบชีวิตศิลปินที่ลาลับโลกนี้ไปแล้วให้ฟื้นคืนอีกครั้งได้อีกด้วย
ไม่ใช่แค่ภาครัฐที่พยายามพัฒนา แต่ภาคเอกชนอย่าง SM Entertainment และ YG Entertainment บริษัทเพลงชั้นนำของประเทศก็พยายามผลักดันยุคสามมิติในธุรกิจดนตรีของตัวเองด้วย ทางฝั่งของค่าย SM ได้ลงทุนเปิด SMTOWN THEATRE มาตั้งแต่ปี 2013 และเปิดให้แฟนๆ ตีตั๋วเข้าชมวงเคป๊อปในค่ายอย่าง Girls’ Generation, Super Junior หรือ Exo ส่วนฝั่งค่าย YG เปิดพิพิธภัณฑ์ PLAY K-POP บนเกาะเชจู ในปี 2015
ฝั่งของ SM อาจโดดเด่นในแง่ของการแสดงคอนเสิร์ตโดยตรง แต่ความน่าสนใจของ YG คือการหยิบเอาโฮโลแกรมมานำเสนอในพิพิธภัณฑ์ได้อย่างน่าสนใจ เพราะ PLAY K-POP เน้นการตอบโต้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับการจัดแสดงโฮโลแกรมอย่างแท้จริง
เริ่มตั้งแต่พาร์ตประวัติศาสตร์การเต้นในสังคมเกาหลี ที่จะถ่ายหน้าผู้ชมไปแมตช์กับไอดอลเคป๊อป
และส่วนที่เป็นไฮไลต์อย่างการนั่งข้างโฮโลแกรมนักร้องคนโปรดอย่าง G-DRAGON หรือ PSY
ลองแต่งตัวเป็นไอดอลเกาหลี ลองเข้าห้องซ้อมเต้นและเข้าห้องบันทึกเสียงเพลงฮิตไปกับโฮโลแกรมไอดอลอย่างวง BIGBANG หรือ AOA ราวกับว่าไปร้องเพลงกับนักร้องเหล่านี้จริงๆ รวมไปถึงห้องแสดงสด live hologram show ที่ฉายโฮโลแกรมเสมือนจริง เต็มไปด้วยเอฟเฟกต์ เช่น ควัน กลุ่มดวงดาว หรือสิ่งที่น่าเซอร์ไพรส์อย่างการที่เหล่าไอดอลโฮโลแกรมอาจเรียกผู้ชมขึ้นไปยืนบนเวทีกับวงด้วย
“d’strict เป็นบริษัทแม่ของเราที่ตั้งอยู่ในโซล เป็นผู้ก่อตั้งและใช้เทคโนโลยีโฮโลแกรมใน PLAY K-POP พวกเขาเป็นคนวางแผน ออกแบบ พัฒนาไอเดียและเนื้อหาทั้งหมดมาใช้ในมิวเซียม” Kim Yun-Kwan ผู้บริหารระดับสูงของ PLAY K-POP เล่าให้เราฟังถึงเบื้องหลังของพิพิธภัณฑ์
d’strict เป็นบริษัทที่เป็นที่รู้จักมากในเกาหลี โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีสื่อใหม่ อย่างโฮโลแกรม, VR, AR, projection mapping, VFX และอีกหลายๆ เทคโนโลยี ขั้นตอนการทำงานของ PLAY K-POP ประกอบไปด้วยการคัดสรรศิลปิน คัดสรรเพลง วางแผนคอนเสิร์ตโฮโลแกรม ถ่ายทำการแสดงสดในระบบกรีนสกรีน (chroma key background) นำวิดีโอไปตัดต่อและใช้ CG จนจบกระบวนการด้านภาพ แล้วนำไปสู่การตั้งค่าเพื่อใช้กับฮาร์ดแวร์ของมิวเซียม
ความสำเร็จและจำนวนยอดของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้มาจากภาคเอกชนอย่าง YG หรือ d’strict เพียงอย่างเดียว แต่รัฐบาลเกาหลียังยื่นมือเข้ามาช่วยสนับสนุนเรื่องเงินทุนด้านเทคโนโลยีต่างๆ ด้วย
นอกจากการจัดแสดงเนื้อหาและกิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมของ PLAY K-POP เราถาม Yun-Kwan ว่าภาพไอดอลจากโฮโลแกรมจะทดแทนการได้พบไอดอลจริงได้หรือไม่ เขาตอบเราว่า “ภาพของเหล่าไอดอลเคป๊อปเหมือนจริงมาก ราวกับว่าพวกเขามายืนอยู่ตรงข้ามผู้เข้าชม” เหมือนเป็นคำพูดเกินจริงแต่เขาบอกเราว่ามันยากที่จะแยกถึงความแตกต่างระหว่างโฮโลแกรมกับคนจริงๆ
แม้ว่า YG Entertainment จะเป็นผู้ลงทุนสร้าง PLAY K-POP ทว่าไม่ได้มีพรมแดนของศิลปินที่คัดสรรเข้ามาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ เราคิดว่านี่คือความพยายามสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพราะหากภาพรวมวงการเติบโต ทุกบริษัทต่างก็ได้รับประโยชน์ร่วมกัน
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นตัวอย่างของการใช้โฮโลแกรมที่สะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยีกำลังเข้ามาจัดการระยะห่างของแฟนเคป๊อปทั่วโลกให้อยู่ในระยะที่ใกล้กันมากขึ้น เพราะบางครั้งพวกเขาอาจจองตั๋วไม่ทัน ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อเข้าชมคอนเสิร์ตจริงอาจแพงมากเกินไป หรือในบางประเทศยังไม่มีทัวร์คอนเสิร์ตจากไอดอลเกาหลีเข้าไปแสดง ดังนั้นการเดินทางและจองตั๋วเข้าชมในมิวเซียมหรือฮอลล์ที่แสดงสดด้วยโฮโลแกรมอาจควบคุมเวลาและค่าใช้จ่ายได้มากกว่า
ในปัจจุบันมิวเซียมเคป๊อปที่ใช้เทคโนโลยีโฮโลแกรมจัดแสดง ไม่ได้ตั้งแค่ในแดนกิมจิเท่านั้น แต่ยังขยายสาขาไปยังประเทศจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ยิ่งไปกว่านั้นทั้งภาครัฐและเอกชนเกาหลียังวางแผนจะจัดแสดงโฮโลแกรมของศิลปินทั้งในประเทศและต่างประเทศ กระจายการแสดงไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น สวนสนุก และมิวเซียมต่างๆ ทั่วโลกด้วย
ถึงเทคโนโลยีโฮโลแกรมจะถูกพัฒนาและก้าวมาได้ไกลมากแค่ไหน แต่ Yun-Kwan ได้บอกถึงข้อจำกัดของมันกับเราว่า “จุดด้อยของโฮโลแกรมคือเราสามารถใช้งานมันได้แค่ในที่มืด เราใช้ beam projector หลายๆ ตัวสำหรับการฉายภาพ เท่าที่ผ่านการพัฒนามา เทคโนโลยีโฮโลแกรมต้องอาศัยการฉายแสงในที่มืดมาโดยตลอด”
นอกจากอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศเกาหลีใต้ โฮโลแกรมถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการแสดงละครเวที อย่างในฉากที่ท้าทายนักแสดงอาจสามารถต่อสู้กับมังกรตัวมหึมาบนเวทีได้อย่างสมจริง นอกจากนี้ในอนาคตพวกเขายังเตรียมพัฒนา นำมันมาฉายภาพยนตร์และละคร รวมไปถึงการใช้โฮโลแกรมในการสื่อสารจากที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่อย่างที่เราเคยเห็นในหนังฮอลลีวูด
ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทำนายว่าโฮโลแกรมจะเป็นสิ่งใหญ่สิ่งใหม่ของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี แต่ก็ยังต้องพัฒนาอีกมาก แม้ว่าจะยังมีข้อจำกัดที่ต้องพัฒนากันอีกยาวไกล ผู้บริหารหนุ่มแห่ง PLAY K-POP สำทับกับเราว่า “สิ่งที่เรากำลังทำคือการสร้างเทคโนโลยีที่ทั้งสนุกและง่ายต่อชาวต่างชาติให้พวกเขาเอนจอยกับวัฒนธรรมเกาหลีได้มากที่สุด”