‘คิดมากไปทำไมอีก 100 ปีก็ตายกันหมดแล้ว’ หนังสือเพื่อนสนิทของคนอ่อนไหวระดับสูงที่บอกว่า เป็นคนเซนซิทีฟง่ายก็ไม่ใช่เรื่องแย่!

ลองสำรวจตัวเองกันสักนิด

คุณเป็นคนอ่อนไหวระดับสูงหรือไม่ ?

– เป็นคนเจ้าน้ำตากับทุกสิ่งสะเทือนใจและตกใจเก่ง เช่น ดูหนังเจอฉากน้องหมาตายจะร้องไห้หนักมากเป็นพิเศษ หรือเจอฉากฆาตกรรมเลือดสาดแล้วรู้สึกเจ็บปวดแทน ประหนึ่งเหมือนเราเป็นตัวละครนั้นๆ

– เป็นนักจดจำรายละเอียดของทุกสิ่งอย่างละเอียดยิบ เช่น หากคนที่คุยด้วยขมวดคิ้วใส่ คุณก็จะเริ่มรู้สึกกังวลแล้วว่า เขาไม่พอใจที่คุยกับเราใช่ไหม หรือจำได้ว่าคนนี้ไม่ชอบกินเผ็ด ก็จะพาไปร้านอาหารที่คนนั้นกินได้ โดยที่เขาไม่รู้ตัว

– โลกส่วนตัวสูงมาก ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียวและอยู่ในที่เงียบๆ ไม่อยากสุงสิงกับใคร

– เป็นคนคิดมากและคิดย้ำวนเป็นวงกลมไม่จบสิ้น เช่น กังวลว่าคู่บทสนทนาจะรู้สึกไม่พอใจกับสิ่งที่เราพูดไหม ซึ่งสามารถเครียดได้ทั้งวัน (หรือหลายวัน)

ถ้าคุณมีนิสัยในพฤติกรรมดังกล่าว อาจจะเข้าข่ายอาการที่เรียกว่า ‘บุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูง’ หรือ ‘Highly Sensitive Person: HSP’ คนทั่วไปอาจจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘คนเซนซิทีฟ’ (Sensitive) หรือคนอ่อนไหวง่ายต่อการเปลี่ยนแปลงการรับรู้และอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นอย่างรวดเร็ว

สารภาพว่าเราพึ่งมารู้จักอาการ HSP จากหนังสือ ‘คิดมากไปทำไมอีก 100 ปีก็ตายกันหมดแล้ว’ จากผู้เขียน ‘นาโอะเนียน’ (Naonyan) จากสำนักพิมพ์วีเลิร์น (WeLearn) อ่านชื่อหนังสือตอนแรกนึกว่า ต้องพูดถึงคำปลอบประโลมที่ทำให้คนไม่คิดมากในชีวิตแน่เลย เหมือนกับประโยคหนึ่งที่เคยได้ยินผ่านหูว่า ‘ชีวิตจะคิดมากทำไม เดี๋ยวก็ตายแล้ว’

เมื่อได้เปิดอ่านหนังสือไปสักพัก ก็พอจะเข้าใจที่มาที่ไปของชื่อหนังสือเล่มนี้ มันมีเบื้องหลังมาจากนิสัยของคน HSP นั่นคือ การใส่ใจกับทุกสิ่งจนเก็บมาคิดมากในทุกประเด็น ซึ่งบางคนอาจจะมองเป็น ‘คนเยอะ’ เพราะมีเงื่อนไขหลายอย่างในการเข้าสังคมร่วมกัน เช่น ไม่ชอบเสียงดัง ชอบอยู่คนเดียว ประหม่าเวลาอยู่กับคนหมู่มาก หรืออ่อนไหวง่ายกับคำพูดเชิงลบ รวมถึงเป็นคนวิตกกังวลมากเกินไป

อย่างไรก็ตามนิสัยของทุกคนต่างมีความหลากหลาย และไม่มีสิ่งไหนสามารถวัดถูกผิดเพียงด้านเดียวเสมอไป ซึ่งหนังสือเล่มนี้ต้องการพาทุกคนไปทำความเข้าใจบุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูง ก็เป็นหนึ่งในนิสัยของมนุษย์ที่ใครๆ ในสมัยนี้ก็อาจจะเป็นได้ และสอนให้เรารู้ว่า การเป็นคนละเอียดอ่อนมากก็ไม่ใช่สิ่งที่แย่ในการใช้ชีวิต บางทีการคิดมากของพวกเขาก็มีเหตุผลและมุมที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน

โลกความคิดคน HSP

ส่วนตัวเราชอบหนังสือเล่มนี้ ที่เล่าเรื่องคล้ายไดอารีของคนที่เป็น ​HSP ผ่านตัวการ์ตูนน้องกระต่ายสุดน่ารัก ที่เป็นตัวแทนคนอ่อนไหวง่ายว่าพวกเขานึกคิดและรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน มันให้ความรู้สึกเหมือนเพื่อนที่เข้าใจคนหัวอกเดียวกัน และแอบแนะนำวิธีรับมือง่ายๆ เวลาเจอปัญหาต่างๆ ที่ไม่สบายใจเช่น ‘คุยกับคนที่บริษัทไม่เก่ง’

“เราเป็นคนมีปัญหาด้านการสื่อสาร พอเริ่มทำงานได้ประมาณ 3 เดือน เราก็แทบจะคุยกับใครไม่ได้อีกต่อไป ยิ่งเป็นการคุยเล่นก็ยิ่งไม่ถนัดเข้าไปใหญ่ ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะเข้าไปร่วมวงสนทนากับคนอื่นอย่างไร ถ้าเข้าไปแล้วทุกคนหมดสนุกขึ้นมาละ พอคิดแบบนั้นเราก็ไม่กล้าคุยกับใครในบริษัทเลย”

“แม้แต่ตอนประชุม เราก็ไม่รู้ว่าจังหวะไหนควรจะพูดหรือเงียบ เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนมืดมนเอามากๆ ต่างจากคนสดใสและพูดเก่งที่ทำให้บรรยากาศสนทนาครื้นเครง”

หากใครมีความรู้สึกอย่างข้างต้น หนังสือก็แนะนำว่า การพูดไม่เก่งไม่ใช่ปมด้อยของตัวเอง ความเป็นจริงถ้าเราไม่รู้จะคุยอะไร ก็ไม่จำเป็นต้องฝืนคุยตามคนอื่น แต่เราสามารถเป็น ‘ผู้ฟังที่ดี’ ก็ได้ ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวก็สำคัญเช่นกันในการสนทนา เพราะสำหรับบางคนแล้ว มันอาจทำให้เราดูเป็นคนสุขุม หรือเขารู้สึกสบายใจที่ได้ระบายให้ฟัง

อีกหนึ่งสถานการณ์ที่พบเห็นได้บ่อยสำหรับคนคิดมากขั้นสุด นั่นคือ ‘กลัวคนอื่นเข้าใจสิ่งที่อยากสื่อผิด’ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นหลากหลาย ทั้งคอมเมนต์ด้านบวกและด้านลบ แต่ถ้าหากวันหนึ่งเราเจอกับคอมเมนต์ที่ทำให้ปวดใจ นั้นก็อาจทำให้เราเก็บไปคิดจนเครียดมากได้เหมือนกัน

“เมื่อเราโพสต์ว่า ตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าและพยายามหาสิ่งที่ทำ จนได้มาเป็นฟรีแลนซ์ ปรากฏว่ามีคนตอบมาว่า ‘นี่อวดหรอ’ เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าทำไมเขาถึงตีความว่านี่เป็นการโอ้อวด เราที่เป็นคนอ่อนไหวง่าย พอเจอแบบนี้เลยรู้สึกผิดที่ทำให้เขาคิดแบบนั้น จึงขอโทษและลบโพสต์นั้นไป ในขณะเดียวกันก็รู้สึกสมเพชตัวเองว่า ทำไมเราต้องขอโทษด้วย”

ด้วยความคิดมากและแคร์ความรู้สึกของคนอื่น จึงทำให้ชาว HSP รู้สึกเครียดกับทุกสิ่งรอบตัวจนลืมนึกถึงใจตัวเอง เพราะกังวลว่า เขาจะไม่ชอบในสิ่งที่เป็นเรา อย่างไรก็ตามเราทุกคนไม่สามารถไปหักห้ามความคิดหรือจิตใจของผู้อื่นได้ รวมถึงการจะให้ทุกคนชอบในสิ่งที่เป็นเราหรือเข้าใจในทิศทางเดียวกันทั้งหมดก็เป็นไปไม่ได้อยู่ดี หากมีใครมาต่อว่าคุณในทางที่ไม่ดี ก็อย่าได้ไม่เก็บมาใส่ใจ แล้วเป็นตัวเองให้มากที่สุดก็เพียงพอแล้ว

เสน่ห์ของความละเอียดอ่อน

นอกจากหนังสือจะอธิบายความหมายและอาการของ HSP เป็น ‘คนละเอียดอ่อนระดับสูง’ ด้วยความคิดและการกระทำที่ใส่ใจกับทุกดีเทล บางคนอาจจะมองว่าเป็นข้อเสียในการทำงาน หากมองอีกมุมหนึ่ง ‘ความละเอียดอ่อน’ นั้นก็มีข้อดีในตัวมันเองเช่นกัน

1. นักใส่ใจอันดับหนึ่ง – ในสายตาของชาว HSP ชอบสังเกตสิ่งเล็กๆ น้อยๆ และให้ความสำคัญกับสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ เช่น คนนี้ชอบอ่านหนังสือ เขาก็จะซื้อหนังสือที่ชอบมาให้อ่าน หรือคนนั้นไม่ชอบฟังเรื่องผี ก็จะพยายามไม่พูดถึงเรื่องหลอนๆ เพราะรู้ว่าเขาฟังแล้วจะวิตกกังวลแน่นอน ดังนั้นชาว HSP จะเป็นพวกแอบมองอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ ไม่แสดงออกก็จริง แต่ซัพพอร์ตอยู่เงียบๆ นะ

2. นักเชี่ยวชาญเฉพาะทาง – ด้วยความที่เป็นคนละเอียดอ่อนระดับสูง จึงทำให้โฟกัสกับบางเรื่องที่สนใจมากเป็นพิเศษ เลยทำให้ชาว HSP เป็นคนเชี่ยวชาญในเรื่องที่สนใจเก่ง เช่น ชื่นชอบการถ่ายภาพก็จะจริงจังกับการถ่ายรูป หรือชอบวาดรูปก็จะตั้งใจทำผลงานให้สุดทางในด้านหนึ่ง

3. แคร์คำพูดไม่ทำร้ายใคร – ความเป็นจริงแล้วชาว HSP มักจะอ่อนไหวกับคำพูดเชิงลบเป็นพิเศษ ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ค่อยอยากส่งต่อพลังลบให้กับคนอื่น เหมือนกับตัวเองที่รู้สึกไม่ดีกับกับคำพูดเหล่านั้น จึงทำให้พวกเขาเป็นคนคิดก่อนพูดและแคร์จิตใจคู่บทสนทนามากๆ 

ไม่ต้องคิดมาก ถ้าเป็น HSP

สิ่งที่ชอบในหนังสือเป็นพิเศษ คือการบอกผู้อ่านว่า การที่เราจะเป็นคนคิดมากกับทุกสิ่ง ใส่ใจและใส่ความรู้สึกในทุกรายละเอียดไม่ใช่สิ่งที่แย่ แม้ว่าบางคนอาจจะมองว่าความละเอียดอ่อนนั้นมีข้อด้อยในบางเหตุการณ์ อย่างไรก็ตามทุกสิ่งต่างก็มีข้อดีในแบบตัวเอง

สิ่งสำคัญของชาว HSP คือ การสร้างความสมดุลทางความรู้สึกให้กับตัวเองและอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างมีความสุข เราสามารถแคร์คนอื่นได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมแคร์ตัวเองเช่นเดียวกัน

“แม้ว่าการสังเกตเห็นอะไรมากมายจะทำให้เหนื่อยอยู่บ่อยๆ
แต่การสังเกตเห็นนี่แหละ ที่ทำให้เราได้เจอความประทับใจใหม่ๆ
พอคิดแบบนี้การเป็น HSP ก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้นก็ได้นะ”

AUTHOR