ทีมแพทย์โรคหัวใจเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี นักรบผู้สร้างความหวังให้ทุกครอบครัว

ทีมแพทย์โรคหัวใจเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี นักรบผู้สร้างความหวังให้ทุกครอบครัว

ประเทศไทย มีสถานพยาบาลที่รักษาเด็กโดยเฉพาะน้อยยิ่งกว่าน้อย

หนึ่งในสถาบันที่คนรู้จักและเชื่อถือคือ ‘โรงพยาบาลเด็ก’ หรือชื่อเต็มๆ ว่า สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เชี่ยวชาญโรคและอาการที่เกี่ยวกับเด็กโดยเฉพาะ มีแพทย์เฉพาะทางพร้อมอุปกรณ์เพียบพร้อม 

แม้ว่าทุกโรงพยาบาลจะมีแผนกเด็ก แต่ถ้าผู้ป่วยเผชิญกับอาการที่ยากกว่าแพทย์ทั่วไปจะรับมือ ทุกเคสที่รอคอยความหวัง จะถูกส่งมาที่แห่งนี้

ถึงกระนั้น คนก็ยังจดจำโรงพยาบาลเด็กสลับไปมา ด้วยองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กมีเยอะมาก นั่นทำให้เวลาต้องทำโครงการเชิญชวนการรับบริจาคให้มูลนิธิโรงพยาบาลเด็กจึงเป็นเรื่องยากเย็น เพราะคนไม่รู้จัก และไม่เข้าใจว่าเงินที่มอบให้จะช่วยชีวิตเด็กได้อย่างไร

ยิ่งกับโรคหัวใจ ความผิดปกติที่ไต่อยู่บนเส้นด้ายความเป็น-ตาย การสนับสนุนแม้เพียงน้อยนิดก็มีความหมาย

ปกติเราไม่ค่อยได้เห็นคนจากโรงพยาบาลเด็กออกมาเล่าเรื่องข้างในบ่อยนัก โชคดีที่เราได้พบกับหมอซี หรือ พญ.พิมพ์ภัค ประชาศิลป์ชัย ศูนย์ความเป็นเลิศโรคหัวใจเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี อาสามาเล่าเรื่องโรงพยาบาลเด็กให้ฟัง

โรงพยาบาลคือสถานที่ที่อบอวลด้วยความหวัง ทั้งในด้านการให้และได้รับ จากฝั่งแพทย์ และคนไข้

กับสถานพยาบาลเด็ก ความหวังในที่แห่งนี้ดูจะเข้มข้นตามจิตใจของพ่อแม่ที่เป็นห่วงลูกยามเจ็บป่วย อย่างน้อยพวกเขาอุ่นใจว่าลูกอยู่ในมือของคนที่รู้จักมันดีที่สุด นักรบผู้สร้างความหวังให้กับเด็กป่วยด้วยโรคหัวใจทั่วประเทศ

1.

ถ้าแบ่งประเภทให้เข้าใจง่าย หมอที่เกี่ยวกับอาการทางหัวใจ แบ่งออกเป็นหมอโรคหัวใจเด็ก และหมอที่ผ่าตัดหัวใจได้

ในหมวดหมอผ่าตัดหัวใจ ก็จะแบ่งเป็นผ่าตัดผู้ใหญ่และเด็ก ส่วนหมอโรคหัวใจจะแบ่งออกเป็นหมอรักษาอาการธรรมดาและหมอที่สามารถสวนหัวใจได้ ข้อหลังเปรียบเสมือนการผ่าตัดเล็ก แก้ปัญหาหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด ปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถทำได้ถึงขั้นเปลี่ยนลิ้นหัวใจทางเส้นเลือด

หมอซีอยู่ในแผนกหมอสวนหัวใจ เธอโตมาในครอบครัวคุณหมอทั้งบ้าน คุณพ่อเป็นหมอผ่าตัดสมอง คุณแม่เป็นหมอหู ตา คอ จมูก คุณตาเป็นหมออายุรกรรม 

“ตอนเด็กๆ เราชอบวิ่งเล่นหลังห้องตรวจ วันไหนที่พ่ออยู่บ้านกับเรา แล้วมีเคสผ่าตัดฉุกเฉิน เราต้องตามไปด้วย ในห้องผ่าตัดก็จะมีของเล่นและสมุดระบายสีเล็กๆ อยู่ในห้อง เป็นมุมของเรา” หมอซีเล่าความหลังวัยเด็ก

เมื่อเรียนจบ ถึงคราวต้องเลือกสาขาการรักษา หมอซีเลือกโรคเกี่ยวกับหัวใจด้วยเหตุผลสองข้อ หนึ่งคือไม่อยากเลือกสาขาที่ซ้ำกับคนในบ้าน สองคือรู้สึกว่าหมอเกี่ยวกับหัวใจรักษาเพื่อช่วยชีวิตคน เห็นผลลัพธ์รวดเร็วและชัดเจนมาก

“เราอยากเป็นหมอที่รักษาโรคหนักๆ ที่สามารถช่วยชีวิตคนได้ แล้วเวลาเรารักษาหัวใจเด็ก ตอนเขามาโรงพยาบาล อาการจะแย่ หน้าเขียว เหนื่อย เดินไม่ไหว แต่พอรักษาปุ๊บกลายเป็นเด็กปากแดง (หมายถึงหายดีเป็นปกติ ระบบเลือดดี) วิ่งได้ปร๋อ

“มันเป็นปณิธาน เป็นความท้าทายของเรา”

2.

“ผู้ป่วยบางคนมานอนที่นี่แล้วเท้าเกินเตียง” หมอซีเล่าเหตุการณ์เล็กๆ ที่สะท้อนการทำงานที่นี่ได้ดี 

สมัยก่อน เด็กที่มีอาการทางหัวใจโอกาสรอดชีวิตมีไม่มาก นวัตกรรมการรักษายังไม่ดีพอ ปัจจุบันเรารักษาเก่งขึ้น ช่วยชีวิตเด็กได้มากขึ้น พวกเขาออกจากโรงพยาบาลไปใช้ชีวิตตามปกติ แต่โรคยังไม่หายไป ซ่อนตัวอยู่ในร่างกายแม้ดูจากภายนอกจะปกติดีทุกอย่าง

ที่โรงพยาบาลเด็กจึงมีวัยรุ่นและผู้ใหญ่บางส่วนที่ได้รับการรักษาหัวใจแต่เด็กต้องมาติดตามอาการในช่วงที่เป็นผู้ใหญ่ ตามกฎระเบียบโรงพยาบาลเด็กจะรักษาเฉพาะแค่เด็ก อุปกรณ์อย่างเตียงออกแบบมาใช้กับเด็ก เมื่อผู้ใหญ่ต้องมาแอดมิตจึงต้องนอนในเตียงเด็ก กลายเป็นเรื่องขำขันที่เกิดขึ้นเป็นปกติ

การรักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจคล้ายการทำแคมเปญหรือโปรเจกต์ระยะยาว ต้องทำงานเป็นทีม ระดมสมองเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดกับผู้ป่วย

ในหมวดหมอผ่าตัดหัวใจเด็ก จะแบ่งย่อยไปถึงการผ่าตัดเด็กเล็ก มีหัวใจดวงน้อยเท่ากำปั้นเด็ก การทำงานยากขึ้นหลายเท่า จำนวนหมอที่ผ่าตัดหัวใจเด็กเล็กได้มีไม่ถึง 10 คนทั่วประเทศ

จำนวนหมอไม่เพียงพอกับผู้ป่วย คือปัญหาใหญ่สุดของวงการนี้ ในการทำงานระบบทีม หมอหัวใจจะเป็นผู้วินิจฉัยอาการ เมื่อหมอไม่พอ ก็วินิจฉัยไม่ได้ รักษาไม่ได้ วางแผนในการส่งต่อผู้ป่วยไม่ได้ โอกาสที่ข่าวร้ายจะเกิดก็มีมากขึ้น

ปีหนึ่งมีหมอที่จบแล้วมาเรียนต่อหมอหัวใจเด็กทั้งประเทศไม่ถึง 10 คน การจะให้หมอที่ทำงานปัจจุบันผันตัวมาเป็นอาจารย์สอนก็ไม่ง่ายนัก ต้องผ่านกฎระเบียบพอสมควร ยังไม่นับว่าหากดูในระดับทั้งประเทศ เราควรมีหมอเฉพาะทางเกี่ยวกับหัวใจกระจายตัวไปตามหัวเมืองใหญ่ในภาคต่างๆ สถานการณ์ตอนนี้อาจมีหมอหัวใจเด็กแค่คนเดียวในจังหวัดใหญ่ ไม่ใช่สถานการณ์ที่ดีเลย

หมอซีเล่าว่า นิสัยหนึ่งของหมอที่ทำงานด้านหัวใจ โดยเฉพาะกับเด็ก คือเป็นคนมีความอดทนสูงมาก เพราะเวลาเด็กมารักษามักจะร้องไห้งอแง บ่อยครั้งก็แผดเสียงใส่ หมอต้องตั้งใจและอดทนกว่าจะฟังเสียงหัวใจครั้งหนึ่งเพื่อวินิจฉัย มือหนึ่งถืออุปกรณ์ตรวจ มือหนึ่งถือของเล่น ปากร้องเพลงเบี่ยงเบนความสนใจ เป็นเรื่องปกติสำหรับหมอโรคหัวใจเด็ก

แม้จะหนัก เหนื่อย แต่ความสุขที่ได้รับกลับมาประเมินค่าไม่ได้ 

ตัวแทนคุณหมอหัวใจเล่าว่า ความสัมพันธ์ระหว่างหมอหัวใจกับเด็กจะแน่นแฟ้นมากเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งเพราะหมอต้องรักษาเด็กตั้งแต่วัยทารก จนโตเป็นเด็กอ่านออกเขียนได้ เรียกชื่อคุณหมอได้ เด็กหลายคนรู้ว่าเขาวิ่งเล่นเหมือนเด็กทั่วไปได้เพราะหมอ รักและผูกพัน พวกเขาเลยชอบส่งของขวัญมาให้ในโอกาสพิเศษ มีตั้งแต่วาดรูปมาให้ ครอบครัวฝากผักผลไม้ของดีประจำจังหวัดมาเยี่ยมเยียน

“มีคนหนึ่ง โตถึงชั้นประถม เขาเอาเหรียญกีฬาสีมาฝาก บอกว่า เขาเล่นกีฬาได้ ชนะได้เพราะเรา ก่อนหน้านั้นเขาวิ่งไม่ได้นะ” หมอซีพูดจบพร้อมน้ำตาคลอเบ้า 

“มันทำให้เรารู้สึกว่า จะหนักยังไงมันก็มีเรื่องราวเหล่านี้ ที่ทำให้เรายังพร้อมทำงานหนักอยู่”

เรื่องราวของหมอและคนไข้น่าชื่นชมยินดี แต่อีกเรื่องที่น่าคิดเหมือนกันคือ ทำอย่างไรเราถึงจะมีจำนวนหมอเยอะกว่านี้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการช่วยชีวิตเด็กมากขึ้น

3.

ปัญหาหนึ่งเมื่อมีองค์กรทำโครงการรับบริจาค คือคนมักเคลือบแคลงสงสัยว่าปลายทางของงาน เงินเหล่านั้นจะช่วยเหลือคนอย่างไร

หมอซีอธิบายว่า เมื่อเราบริจาคกับมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก จะมีการสอบถามว่าอยากให้เข้ากองทุนไหนเป็นพิเศษ แต่ละกองทุนจะแบ่งตามความต้องการเฉพาะเจาะจงของแต่ละแผนก 

กับเคสของแผนกหัวใจ งบประมาณส่วนนี้จะจัดสรรเป็นรายปี ระหว่างทางหากเกิดปัญหาเฉพาะหน้า เช่นอุปกรณ์ชำรุด จะมีการพิจารณาตามความด่วน หากจำเป็นต้องใช้ งบประมาณมาไม่ทัน กรณีนี้ทีมงานก็จะทำเรื่องขอเงินจากมูลนิธิมาใช้

ในกรณีที่คนไข้เข้ามารักษาขั้นพื้นฐาน จ่ายยามาตรฐาน ค่าใช้จ่ายจะมีการครอบคลุมจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือผ่านโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค แต่ถ้าต้องใช้ยาพิเศษซึ่งมักมีราคาแพง มูลนิธิโรงพยาบาลเด็กก็จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้

“หลักการของเราคือ งานไหนที่เป็นเบสิกพื้นฐาน เราจะไม่กวนมูลนิธิ เพราะความต้องการความช่วยเหลือมาจากทุกส่วน ไม่ใช่เฉพาะโรคหัวใจอย่างเดียว ต้องใช้เงินอย่างระมัดระวัง หนึ่งคือเราก็กลัวบาป (หัวเราะ) สองคือเราคิดว่าต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แม้เราคัดเลือกขนาดนี้แล้ว บางช่วงเงินสนับสนุนก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากโรงพยาบาลเด็กรับเด็กจากทั่วประเทศ มีโรงพยาบาลเด็กอยู่ที่เดียว ยากที่จะเพียงพอ” หมอซีเล่า

การรักษาที่ครอบคลุมถ้วนหน้า ไม่ขาดแคลน คือความฝันของคนทำงานสาธารณสุข และรวมถึงประชาชนทั่วประเทศ แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น การเดินทางยังอีกยาวไกล เรื่องราวของคุณหมอหัวใจบอกเราว่า การช่วยเหลือด้วยการบริจาคไม่ใช่เรื่องเลวร้าย อย่างน้อยมันเป็นการช่วยเหลือที่ชัดเจน ได้ผลลัพธ์รวดเร็วจับต้องได้ 

เมื่อเราสนับสนุนกันและกัน ร่วมกันทำงานเป็นทีม ช่วยเหลืออย่างเห็นอกเห็นใจ ความฝันที่จะสร้างความหวังทางสาธารณสุขให้คนทั้งประเทศคงเป็นจริงได้ในไม่ช้า 

มูลนิธิโรงพยาบาลเด็กเพิ่งเปิดตัวแคมเปญ ‘หนึ่งหัวใจ สู่ชีวิตใหม่’ เชิญชวนบริจาคเพื่อช่วยเด็กทารกแรกเกิดจากโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดรุนแรงซับซ้อน สามารถบริจาคผ่านระบบ E-donation ได้เลย

ติดต่อหรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.childrenhospitalfoundation.or.th/

AUTHOR