Hear & Found 5 ปีในเส้นทางนักออกแบบประสบการณ์การฟังที่อยากให้เสียงเปลี่ยนแปลงความเข้าใจ

World Bank ได้เปิดเผยข้อมูลการสำรวจพบว่าชนเผ่าพื้นเมืองทั้งโลกมีรวมกันมากกว่า 300 ล้านคนซึ่งมีมากกว่าจำนวนประชากรสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศ แต่ 15% ของคนเหล่านี้ที่กระจายทั่วโลกอยู่ในระดับยากจนมากที่สุดรวมทั้งในประเทศไทย สาเหตุอันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจ กีดกัน ตีตรา จนทำให้ไม่ได้รับการยอมรับ จนเกิดเป็นปัญหาสังคมไปถึงการสูญสลายทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ เม–ศิรษา บุญมา และ รักษ์–ปานสิตา ศศิรวุฒิ พยายามอย่างสุดกำลังที่จะไม่ให้เราเดินไปสู่จุดจบเช่นนั้น ด้วยการชวนคนมาฟังให้เกิดการเข้าใจและเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมผ่านเสียงจากกลุ่มคนที่คนส่วนใหญ่ยังไม่มีโอกาสเปิดหูและค้นพบ

อาชีพนักออกแบบประสบการณ์ที่ เม และ รักษ์ ปลุกปั้นร่วมกันมาเพื่อบอกเล่าแพสชันที่อยากจะรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นอันหลากหลายของประเทศไทยให้คงไว้ ก่อนที่จะเหลือเป็นเพียงเรื่องเล่ากับก้าวต่อไปด้วยการแตกยอดเป็นแพลตฟอร์มที่อยากจะสร้างความตระหนักรู้เรื่องลิขสิทธิ์และป้องกันการเอารัดเอาเปรียบโดยเฉพาะกับศิลปินท้องถิ่น ภายใต้ชื่อ ‘Hear & Found’ 

“ตอนแรกก็ไม่คิดว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น เพียงแค่ต้องการสร้างความรู้และความเข้าใจแต่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าอิมแพ็คที่เริ่มจากความรู้และความเข้าใจมันจะเป็นอะไรได้บ้าง” 

บทสนทนาที่ทีม a day ได้ชวนสองนักออกแบบประสบการณ์การฟังเมและรักษ์มาพูดคุยทบทวนหลังร่วมกันก่อตั้งธุรกิจภายใต้ชื่อ ‘Hear & Found’ ด้วยกันมาจนเข้าสู่ปีที่ 5 ผลจากแรงกระเพื่อมนั้นของทั้งคู่กินวงกว้างเกินกว่าที่พวกเธอตั้งต้นไว้ 

แรงส่งที่ผลักให้เกิด Hear & Found

เมื่อได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์เดินทางทั่วประเทศทำให้ทั้งคู่ได้ค้นพบภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ทรงพลังและควรค่าแก่การเก็บรักษา แต่ปัญหาทางสังคมที่มาจากความไม่เข้าใจกำลังกลายเป็นปัญหาที่จะกลืนกินความหลากหลายนี้ไป องค์ความรู้ที่น่าสนใจจำนวนมากที่สอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นกำลังจะเริ่มหายไปกลายเป็นเพียงเรื่องเล่า

ในทางวิชาการให้คำนิยาม กลุ่มชาติพันธุ์ไว้ว่า เป็นกลุ่มที่มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเองคือการมีภาษา เสื้อผ้า อาหาร และรูปแบบการใช้วิถีชีวิตของตัวเอง รวมถึงปรัชญาความเชื่อเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม แต่ส่วนใหญ่ไม่ถูกนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่ การที่ทั้งคู่ขุดลึกลงไปจนพบว่าปัญหาสังคมได้ส่งผลกระทบต่อตัวปัจเจกบุคคล ถูกแสดงออกมาเป็นคำดูถูก พฤติกรรมการแบ่งแยกด้วยคำที่จำกัดความเรียกเหมารวมว่าเป็น ‘ชาวเขา’ 

การตีตราจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่เพียงส่งผลต่อชื่อเสียงภาพลักษณ์บุคคลแต่กระทบถึงโอกาสในการเป็นอยู่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการศึกษา มีอาชีพ มีรายได้ รวมถึงการมีสิทธิเท่ากับคนอื่นในประเทศ จริงๆ แล้วในประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 70 กลุ่ม รวมแล้วมีจำนวนมากกว่า 7 ล้านคน คิดเป็น 10% ของประชากรทั้งหมดของประเทศซึ่งเป็นคนที่เรามองข้ามมาตลอด

ทั้งสองคนยกตัวอย่างเด็กชาติพันธุ์ที่โดนบูลลี่ในโรงเรียนรวมถึงอคติของผู้ปกครองบางคนที่ไม่อยากให้ลูกของตัวเองเรียนร่วมกับเด็กชนเผ่า ทำให้คนชนเผ่ารุ่นใหม่จึงไม่อยากเปิดเผยตัวเอง กลายเป็นว่าพวกเขาไม่อยากจะสวมใส่ชุดชนเผ่าตัวเอง หันมาเล่นอินเทอร์เน็ต เข้าติ๊กตอกแบบคนอื่น แล้วก็ไม่ได้นำเสนอความเป็นตัวเองออกมาอีกแล้ว จึงทำให้วิถีชีวิตหลายอย่างค่อยๆ จางหายไป 

เม: “ความเข้าอกเข้าใจนี้ส่วนหนึ่งอันเนื่องมาจากคาแรกเตอร์ส่วนตัวและความเป็น LGBTQ+ ของตัวเอง ที่ลึกๆ แล้วสังคมไทยยังไม่ยอมรับ จึงคิดว่าความรู้สึกที่มองว่าการไม่อยากเป็นตัวของตัวเองนั้นมันไม่ถูกต้อง ไม่อยากให้ความรู้สึกแบบนี้ยังคงอยู่ต่อไปในสังคม จึงอยากสร้างพื้นที่ที่เราสามารถเป็นตัวเองได้เต็มที่ ภาคภูมิใจกับมันได้ จึงเกิดเป็นคำถามต่อไปว่าแล้วจะทำยังไงได้บ้างเพื่อสร้างพื้นที่นั้นขึ้นมา”

ความสามารถในด้านการทำเสียงดนตรีที่ เม มีประกอบกับ รักษ์ ที่ผ่านการทำงานด้านประชาสัมพันธ์ พอมาบวกกันจึงเกิดเป็น นักสื่อสารที่ใช้เสียงดนตรีสื่อสารเพื่อให้คนเข้าใจความหลากหลายในประเทศของเรา มุมมองที่คนทั่วไปไม่เคยได้ยินมาก่อนซึ่งเป็นมุมมองที่ทั้งคู่ได้ไปค้นพบมาด้วยตัวเอง นั่นจึงเกิดเป็น Hear & Found ขึ้นมา

จากนักจัดอีเวนต์เพื่อศิลปินท้องถิ่นสู่การเป็นนักออกแบบประสบการณ์ทางการฟัง

การทำงานของกลุ่ม Hear & Found ในช่วงเริ่มต้นนั้นเน้นไปที่การจัดงานแสดงดนตรีที่ต้องทำงานกับกลุ่มพี่ๆ ปกาเกอะญอ พอเมื่อได้ไปทำงานร่วมกัน ต้องเข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตและสิ่งที่ถูกคนเข้าใจผิดอย่างเช่น เรื่องการทำไร่หมุนเวียน ที่คนส่วนใหญ่มักมองว่าชาวเขาทำไร่เลื่อนลอย ชาวเขาเผาป่า เป็นคำถามที่ทำให้ทั้งสองคนเข้าไปพิสูจน์ความจริงด้วยการลงพื้นที่เก็บข้อมูล เมื่อพอทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปแล้วจึงกลับมาจัดอีเวนต์ที่กทม. โดยชักชวนพี่ๆ ศิลปินปกาเกอะญอมาร่วมกันช่วยกันคิดว่าพวกเขาอยากสื่อสารเรื่องอะไรเป็นพิเศษ เป้าหมายที่ต้องการคืออะไร สิ่งไหนที่พวกเราสามารถทำได้ เมื่อหาจุดลงตัวได้แล้ว ก็นำเสนอพื้นที่ที่มีให้กับพี่ๆ ใช้เพื่อเป็นการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับคนทั่วไป รวมถึงช่วยกันคิดรูปแบบวิธีการสื่อสารเพื่อสร้างประสบการณ์ต่างๆ ที่อยากให้เกิดขึ้นในงานอีเวนต์ในวันนั้น 

จากที่เมและรักษ์ได้ลงพื้นที่ทำให้พบว่า หลายๆ หมู่บ้านมีนักดนตรีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษทำให้คนในครอบครัวเล่นดนตรีเป็นกันอยู่แล้ว สามารถใช้เครื่องดนตรีของตัวเองแต่งบทเพลงขึ้นมาใหม่ซึ่งบอกเล่าเนื้อหาที่สื่อถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม การอยู่กับป่า การดูแลป่า ซึ่งก็เป็นเพลงที่ลึกซื้งกินใจ โดยพวกเขาใช้คำที่สอนกันรุ่นสู่รุ่นมาแปลงเป็นบทเพลง ปรับเปลี่ยนการนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อทำให้เด็กรุ่นใหม่จดจำได้ง่ายขึ้นผ่านการใช้ดนตรีเข้ามาช่วย นอกจากนี้ยังถ่ายทอดผ่านเป็นบทเพลงเพื่อขจัดภาพจำที่คนส่วนใหญ่เข้าใจคนกลุ่มชาติพันธุ์แบบผิดๆมาเป็นเวลานานอีกด้วย

เม: “เมื่อเราได้ค้นพบสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เล็งเห็นว่าศักยภาพของดนตรีเป็นสื่อที่ทรงพลัง เพราะการจะอธิบายถึงความคิดความเชื่อที่แตกต่างกันเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดความเข้าใจกันได้ การเปิดใจเรียนรู้วิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกับเราที่ใช้ดนตรีเป็นสื่อสามารถสร้างความบันเทิงทำให้เคลิบเคลิ้มคล้อยตามทั้งยังแฝงความหมายที่ต้องตีความต่อไปใส่ไว้อีกด้วย จึงทำให้เกิดเป็นอีเวนต์ที่ออกแบบประสบการณ์ให้คนมาฟัง พร้อมทั้งให้คนเรียนรู้ความแตกต่างและจักกันมากขึ้น”

จุดเปลี่ยนที่เขย่าทิศทางการทำงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การเปลี่ยนแปลงครั้งแรกที่พวกเธอเจอคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้กิจกรรมงานบันเทิงต่างๆ โดยเฉพาะดนตรีต้องงดไปอย่างไม่มีกำหนด การปรับตัวครั้งใหญ่ทำให้ต้องหันหน้ามาจับเข่านั่งคุยกันว่านอกจากงานอีเวนต์แล้วทั้งสองคนทำอะไรกันได้อีกบ้าง รวมทั้งทักษะที่ต้องเพิ่มเติมในระหว่างช่วงเวลาหยุดพักนี้มีอะไรที่สามารถทำได้ โดยเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้กลับไปมองปัญหาที่อยากแก้ไขกันอีกครั้ง การได้ลงพื้นที่ในช่วงโควิด-19 ก็ทำให้พบกับช่องว่างของความไม่เท่าเทียมกันในสังคม 

เม: “เจเนอเรชันที่เปลี่ยนไปและการเข้ามาของดิจิทัลทำให้คนฟังเพลงกันทางสตรีมมิ่งเพลงมากขึ้น ร้านขายเทปซีดีก็อยู่ไม่ได้ โควิด-19 เป็นการเผยให้เห็นความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต (Digital Divide) ช่องว่างโลกดิจิทัลของคนที่อยู่ในโลกดิจิทัลกับ non-digital นี้เป็นส่วนที่ความสามารถที่เรามีอยู่ช่วยเติมเต็มช่องว่างนี้ได้ เพราะพื้นฐานที่เรียนมาในด้าน sound production จึงทำให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคในการทำเพลง ดนตรี ให้เป็นดิจิทัล อีกทั้งตลาดยังเปิดกว้าง จึงเริ่มปรับเปลี่ยนตัวเอง เพิ่มเติมการทำงานร่วมกับนักดนตรีในแบบที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น พัฒนาขึ้นเป็นแพลตฟอร์ม stock ดนตรีและซาวนด์ท้องถิ่นของประเทศไทยขึ้นมา”

ซึ่งจากเดิมที่การทำงานร่วมกันของทั้งคู่กับนักดนตรีท้องถิ่นจะเกิดขึ้นเฉพาะเวลาที่มีงานอีเวนต์ แต่การงดกิจกรรมบันเทิงชั่วคราวที่เกิดขึ้นนั้น จึงทำให้คิดที่จะอัดเพลงที่นักดนตรีต้องการบันทึกเพื่ออัปโหลดขึ้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เพิ่มขึ้นมา ซึ่งก่อนที่จะลงมือในขึ้นตอนต่างๆ จะเป็นการตกลงร่วมกันในเรื่องของรูปแบบที่จะผลิตออกมาและลิขสิทธิ์ของนักดนตรีที่จะถือครองไว้ ซึ่งมีผลกับการสร้างรายได้ต่อไปในอนาคต โดยทาง Hear & Found จะสามารถเข้ามาดูแลจัดการให้ในส่วนนี้ จึงกลายเป็นงานอีกก้อนที่เพิ่มขึ้นมา โดยเหล่านี้ล้วนเป็นทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเกิดจากความสามารถพิเศษเฉพาะตัวของกลุ่มนักดนตรีท้องถิ่นที่มีกันอยู่แล้ว

รักษ์: “จุดประสงค์ก็เพื่อเป็นการสร้างทางเลือกใหม่โดยเฉพาะกับครีเอเตอร์ที่ต้องหาเสียงธรรมชาติจากท้องถิ่นที่มีที่มาและเรื่องราวเบื้องหลังของเสียงเหล่านั้นนำไปประกอบคอนเทนต์ เป็นทั้งการเผยแพร่วัฒนธรรมและเรื่องราวให้กับคนที่มาฟัง อีกทั้งยังเหมาะสำหรับครีเอเตอร์ที่ต้องการเพิ่มมูลค่าให้ชิ้นงานของตัวเอง”

จูงมือคนมาฟังเพื่อเปิดประตูใจ

เมื่อเติบโตผ่านร้อนผ่านหนาวจากโควิด-19 มาได้สักพัก Hear & Found ก็ได้พบว่าต้องการทำจริงๆ คือการชวนคนฟังอย่างไม่ตัดสิน การฟังจะเป็นเครื่องมือให้คนเข้าใจมากขึ้น จึงเกิดเป็นการแบ่งลักษณะกิจกรรมแต่ละแบบออกเป็นตามกลุ่มคนที่จะชวนมาเข้าใจความหลากหลาย พอหลังจากทดลองมากขึ้นได้รับฟีดแบ็กทั้งดีและไม่ดีกลับมา จึงต้องสร้างความชัดมากขึ้นถึงจะทำให้เกิดอิมแพ็คกับคนที่มาฟังกลายเป็นการออกแบบประสบการณ์การฟังในรูปแบบต่างกัน โดยเริ่มต้นจากกลุ่มคนที่สนใจอะไรใหม่ๆ อยากรู้อยากเห็นว่าประเทศไทยมีอะไรแต่ไม่อยากลงลึกกับข้อมูล นำเสนอรูปแบบกิจกรรมที่ชวนคนเหล่านี้มาร่วมในงานประเภท sound exhibition ตัวอย่างเช่นในงาน Bangkok Design Week ที่ผ่านมา 

เม: “sound exhibition จะเป็นการเน้นประสบการณ์การฟังเสียงเพลง เสียงธรรมชาติ เสียงป่าต้นน้ำ เช่น ในงานประปาแม้นศรีของ Bangkok Design Week หรือเป็นกิจกรรมที่วัยรุ่นเสพได้ง่าย ฟังได้ ถ่ายรูปได้ มีคอนเทนต์ เป็นกลุ่มคนทั่วไปที่ยังไม่อยากมารู้ถึงข้อมูลเชิงลึก เน้นเสพสุนทรียะ ก็จะนำเสนอกิจกรรมที่เข้ากับวิถีชีวิตของพวกเขา รู้ว่าชอบเสียงน้ำก็จะนำเสนอเสียงน้ำเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย”

ทั้งนี้เมื่อคนที่ได้เข้ามาชมได้แวะหยุดอ่านคอนเทนต์ที่มีให้ประกอบไปด้วยก็จะยิ่งทำให้รับรู้ว่าเสียงน้ำที่ได้ยินนั้นมาจากป่าต้นน้ำที่พวกเธอได้ทำงานร่วมกับพี่ๆ ที่จังหวัดกาญจนบุรี สำหรับคนที่สนใจลึกซึ้ง ทาง Hear & Found ก็จะพากันไปอีกขั้นหนึ่ง เปิดหูเพื่อเปิดใจเดินไปสู่ความเข้าใจต่อไป ซึ่งก้าวต่อมาที่กลุ่มนำเสนอจะเป็นกิจกรรมหลายๆ รูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น workshop การบันทึกเสียงในบริเวณชุมชน ทำให้คนทั่วไปได้เห็นบริบทภายในแต่ละชุมชน ทำให้ได้ยิน ได้ฟังเยอะขึ้น ด้วยเครื่องมือของการชวนเรียนรู้ด้วยการอัดเสียง ซึ่งจะประหลาดใจกับศักยภาพการฟังของเรานั้นมีมากกว่าที่คิด 

สุดท้ายที่ทั้งสองคนวางลักษณะกิจกรรมไว้ก็คือการพาไปเที่ยวที่บ้าน ไปดูวิถีชีวิตในหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์จริงๆ เลยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งก็จะเป็นการกรองจนเหลือคนที่สนใจจริงๆ มาร่วมทริป ในแต่ละขั้นจะมีการหยอดเนื้อหาที่เกี่ยวข้องวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์ไว้ประกอบด้วย 

เม: “ยิ่งเราสามารถพาคนไปเรียนรู้และสัมผัสได้ด้วยตัวเองมากขึ้นก็จะช่วยให้มีคนได้ยินเสียงของกลุ่มชาติพันธุ์เพิ่มขึ้นจนพวกเขาสามารถเป็นเพื่อนกับพี่ๆ กลุ่มชาติพันธุ์ได้ แล้วเมื่อคนกลุ่มนี้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็จะช่วยให้ปัญหาสังคมและความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ลดลง เพราะเมื่อมีคนที่เข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น หน้าที่ของ Hear & Found เป็นการจับมือพาคนเข้ามาทำแต่ละขั้นไปเรื่อยๆ ด้วยการชวนคนมาฟังกัน การฟังเองก็มีหลายแบบ ฟังยังไงให้สนุกซึ่งนี่แหละคือหน้าที่ของพวกเรา” 

ภาวะ Burnout ที่ช่วยทบทวนจุดสมดุลให้งานที่รักและคุณภาพชีวิต

ด้วยงานที่ทั้งเมและรักษ์กำลังทำอยู่นั้นมีต้นทุนที่ต้องพูดคุยกับคนเพื่อเป็นเงินทุนมาดำเนินการต่อ แต่ก็ต้องพบกับคำถามที่บางครั้งก็ทำให้บั่นทอนจิตใจกลับมาแทน ไม่ว่าจะเป็น “สิ่งที่ทำนั้นทำไปทำไมเพราะทำไปก็ไม่มีทางรวย ไม่มีสามารถอยู่ได้ในเชิงธุรกิจ” ทั้งที่จริงๆ แล้วการเรียนรู้ความหลากหลายของประเทศไทยเป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชาติเราเอง ซึ่งเป็นรากของพวกเราด้วยกันทั้งนั้น 

เม: “ถ้าเราสามารถที่จะทำให้คนในสังคมฟังกันได้มากขึ้นและการสร้างให้เกิดการรับรู้ว่าประเทศไทยมีความหลากหลายจะเป็นอย่างไรนั่นคือสิ่งที่ Hear & Found ต้องการพิสูจน์”

สำหรับปีแรกๆ ที่ทั้งคู่ทำงานประจำควบคู่กับโปรเจกต์ที่มาจากแพสชันนี้ไปด้วยกัน ด้วยความไฟแรงจึงทำงาน 7 วันต่อเนื่อง 6-7 เดือน จนกลายเป็นว่าทำให้เกิดภาวะหมดไฟ หรือ Burnout Syndrome ซึ่งส่งผลกับสภาพจิตใจและการทำงาน สุดท้ายต้องมานั่งทบทวนเพื่อหาจุดสมดุลที่สามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจและการทำงานเพื่อสร้างสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมกัน

เม: “ซึ่งส่วนนี้แหละที่ส่วนที่ยากที่สุด ยากจริงๆ (เน้นเสียงหนักมาก) ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีสูตรหรือคำตอบสำเร็จ ที่ทำได้คือการกลับมาวัดผลหลังจากจบงาน วิธีการเติมแพสชันของทั้งคู่คือการเข้าป่าหรือไปงานอีเวนต์กับชุมชน ซึ่งช่วยเติมไฟและไอเดียใหม่ๆ ติดมือกลับมา” 

เม: “อย่างเช่นปีที่แล้วพวกเราได้ทุนมาจากสิงคโปร์เป็นการเดินทางแบบโร้ดทริป 1 เดือน กรุงเทพฯ-แม่ฮ่องสอน และ กรุงเทพ-ปัตตานี แต่ว่าระหว่างโร้ดทริปเราก็จะแวะพักบางจังหวัด ได้เจอกับคนหลายกลุ่ม หลายหมู่บ้าน หลายชุมชนใหม่ๆ เดือนนั้นทั้งที่เป็นการทำงาน แต่เรารู้สึกเหมือนได้ไปเที่ยว ไม่รู้สึกเหนื่อยเลยเพราะพอเราได้เห็น ได้ฟัง และสัมผัสกับพวกเขาก็ยิ่งเกิดความคิดที่ว่ากูต้องทำโปรเจกต์นี้แล้วว่ะ เดี๋ยวกลับไปเจอกัน” 

เส้นทางนี้ไม่โดดเดี่ยวนัก

เม: “ก็ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าในต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องของการอนุรักษ์วัฒนธรรม (Preserve Culture) พูดแค่คำนี้แล้วสามารถเข้าใจกันได้ทันที แต่พอมาพูดในประเทศไทย ก็จะเกิดการตั้งคำถาม เช่นว่า มันคืออะไร แล้วทำไมต้องอนุรักษ์ ถึงอย่างนั้นเมื่อได้มาคุยกับใครที่เข้าใจงานด้านนี้ก็ช่วยเติมเต็มแพสชัน เติมแรงให้อยากกลับมาทำงานต่อไป เหมือนเจอคนที่พูดภาษาเดียวกัน”

รักษ์: “ปัญหาเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์นี้ไม่ได้อยู่แค่ในประเทศไทย ในอเมริกาก็มีอินเดียแดง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ต่างกันมีปัญหาเช่นเดียวกันหมด พอได้ไปคุยกับพวกเขาก็คลิกกันเลย ทั้งยังบอกวิธีการแก้ไขปัญหาและแนวทางที่กำลังดำเนินอยู่ ทำให้รู้ว่าวงการนี้มันสนุกและกว้างกว่าที่คิดเหมือนกันนะ แต่พอมาอยู่ในไทยก็จะรู้สึกเหงานิดหนึ่ง พวกเราก็เลยเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้กับโปรเจกต์ต่อไป การได้พบกับคนที่เคารพและเห็นคุณค่างานที่เราทำเหล่านี้ช่วยเติมใจหรือเห็นโอกาสพัฒนาโปรเจกต์ที่เราสามารถขยายไปต่างประเทศเพื่อช่วยทำให้เสียงของพี่ๆ ศิลปินไปได้ไกลขึ้น”

ชี้แจง โปร่งใส ไม่ฉวยโอกาส

เม: “เคยมีพี่ศิลปินคนหนึ่งเล่าว่าเขาเข้ามาอัดเพลงในห้องอัดเสียงในเมืองเพื่อบันทึกเพลงของตัวเองเก็บไว้ แต่ห้องอัดเอาเพลงที่อัดเสร็จแล้วไปปั๊มแผ่นขายแล้วเอาเงินเข้าห้องอัดโดยเงินนั้นไม่ถึงมือศิลปินเลย ซึ่งศิลปินไม่เคยรับรู้ว่ามีการนำเพลงของเขาไปขาย นี่คือประสบการณ์ที่ศิลปินเขาเจอมา ซึ่งทั้งสองคนก็ยิ่งต้องสร้างความไว้วางใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นอีกเมื่อต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งใช้วิธีการชี้แจงกันก่อนทำงานร่วมงานกัน ถึงผลงานที่ผลิตขึ้นแต่ละชิ้นจะออกมารูปแบบไหน พี่ๆ ศิลปินสามารถนำไปลงในช่องยูทูปของตัวเองเพื่อโปรโมตผลงาน รวมถึงการจัดการข้อมูลศิลปินให้สามารถนำเสนอเพื่อใช้งานต่อได้ อีกทั้งยังช่วยแนะนำเรื่องเอกสารสำคัญต่างๆ เช่น ข้อตกลงของศิลปินกับห้องอัดต้องมีรายละเอียดอะไรบ้าง” 

เม: “ถ้าถามว่ามันเป็นความท้าทายมั้ย จริงๆ แล้วคือมันคืองานที่งอกขึ้นมาของทีมเรา แต่เหล่านี้ก็เพื่อช่วยซัพพอร์ตให้พี่ๆ เขามีทักษะมากขึ้น จากเดิมที่ไม่รู้สิทธิก็ได้รู้สิทธิของตัวเอง ได้รู้วิธีการจัดการลิขลิทธิ์ของตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบรวมถึงวิธีการป้องกันก่อนที่จะโดนหาผลประโยชน์ คือเราเป็นเพื่อนกัน เราไม่ได้ทำงานในฐานะค่ายเพลงกับศิลปิน ซึ่งเป็นการสร้างความไว้ใจด้วยการเปิดอกและชี้แจงกันอย่างโปร่งใส”

จับมือเครือข่ายเพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจ

สิ่งที่ทาง Hear & Found ตั้งใจทำนั้นก็เพื่อทำให้คนมีทางเลือกในการฟังมากขึ้น ถ้าสังเกตกันดีๆ ทุกวันนี้เวลาที่เราชวนเพื่อนไปเดินในงานที่มีการจัดแสดงสื่อสร้างสรรค์ต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วเป็นการเน้นแสดงงานในส่วนที่เป็น lighting installation ที่มีการจัดไฟสีสันสวยงาม เน้นการใช้ภาพวิดีโอวิชวลต่างๆ ซึ่งเหล่านั้นล้วนเป็นสื่อที่ใช้ประสาทสัมผัสทางตาทั้งหมด ความท้าทายของฟากฝั่งการทำงานด้วยเสียงอย่างที่ทั้งเมและรักษ์ทำอยู่จึงเป็นความยากที่จะต้องนำไปประกอบกับงานแสดงหลากหลายรูปแบบ

เม: “ทุกครั้งหลังจากจัดงานไปแล้วก็จะได้รับฟีดแบ็กกลับมาว่าไม่เคยคิดถึงเรื่องเสียงมาก่อน ไม่รู้ว่าหูเราใหญ่ได้ถึงขนาดนี้เลยเหรอ พอไปเวิร์กช็อปทุกคนจะรู้ว่าหูเราใหญ่นะ หูของเราเป็นประสาทสัมผัสที่มีศักยภาพที่สามารถจับเสียงได้เยอะมาก แต่เราไม่ค่อยได้ใช้ หรือบางทีเราเลือกที่จะเอาอะไรมาอุดหู เพื่อเลือกที่จะฟังแค่สิ่งที่เราอยากฟัง หรือว่าการอุดหูที่เปิดดังมากไปก็จะทำลายหูได้ด้วย พอคนกลับมาคิดเรื่องนี้ทำให้เห็นว่ามันยังมีประสาทสัมผัสอื่นๆ อยู่ด้วยนะมันคือ sight and sound ก็ทำให้คนได้เห็นทักษะและรู้จักศักยภาพของตัวเองมากขึ้น”

ยกตัวอย่างงานที่จัดขึ้นบริเวณประปาแม้นศรี ซึ่งส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week แท็งก์น้ำที่เป็นตัวโครงสร้างตั้งตระหง่านสวยงามด้วยการจัดแสดงแสงของน้ำเข้าไป ในการออกแบบเสียงต้องคิดทั้งในเชิงเทคนิคและอารมณ์ ในทางเทคนิคคือการจัดวางลำโพงตรงไหน ใช้ลำโพงอะไรเพื่อทำให้สเปซที่จัดแสดงได้เสียงที่เต็มอิ่ม การออกแบบเสียงในส่วนทางเดินเชื่อมต่อระหว่างแท็งก์น้ำให้เป็นแบบ ดัง-เบา-ดัง เพื่ออยากให้หยุดก่อนไปฟังเสียงอีกฝากหนึ่ง เหล่านี้ล้วนผ่านการคิดมาแล้ว 

อันต่อมาที่ต้องออกแบบคือในส่วนของอารมณ์ เนื่องจากที่ตั้งของประปาแม้นศรีมีบริเวณพื้นที่ใหญ่และวังเวงเนื่องจากเป็นพื้นที่ปิด ส่วนบริเวณสี่แยกไฟแดงใกล้ๆ กันนี้มักมีเสียงรถเบรกเป็นระยะๆ เหล่านี้อาจทำให้ผู้ชมที่มาสัมผัสถึงบรรยากาศที่เป็นอันตราย ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่นักออกแบบประสบการณ์ทางการฟังต้องคิดกันต่อว่าจะทำยังไงให้คนที่มาชมงานรู้สึกไม่เคอะเขินและสร้างให้เกิดพื้นที่ที่อยู่แล้วสบายใจ อีกทั้งต้องไม่ลืมทำให้สอดรับไปกับงานดีไซเนอร์แสงสีที่จะนำไปประกอบกันด้วย สำหรับคนที่ไปชมนิทรรศการ ถ้าแวะที่ร้านกาแฟจะจับสังเกตความแตกต่างของแท็งก์น้ำด้านนี้ที่มีโจทย์เพื่อให้คนที่มานั่งร้านกาแฟแล้วไม่เบื่อ รวมทั้งยังต้องเลือกเสียงน้ำทำให้รู้สึกสงบเพื่อทำให้เข้ากับการจัดแสดงหลักอีกด้วย 

การวัดผลที่ตัวเงินไม่สามารถสร้างได้

เมื่อจบแต่ละงานที่ Hear & Found ได้มีส่วนร่วมและให้แบบสอบถามกับผู้ชมพบว่าผลการประเมินกว่า 80% ของคนที่มางานเกิดเข้าใจในวัฒนธรรมที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้หลังจบงานไปแล้วหลายคนได้กลายเป็นลูกค้าของชุมชนเพราะรับรู้ว่าที่ท้องถิ่นนี้มีผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกขาย เป็นการได้ผลประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่ายทั้งช่วยให้ชุมชนมีรายได้ ส่วนผู้ซื้อก็ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีกลับไป ยิ่งไปกว่านั้นคนที่ร่วมกิจกรรมหลายคนยังขอกลับมาช่วยทำงานเป็นอาสาสมัครเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับชุมชนบอกเล่าสิ่งที่ได้พบมาให้กับคนใกล้ตัวฟัง ซึ่งในตอนแรกทั้งสองคนก็ไม่คิดว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น เพียงแค่ต้องการสร้างความรู้และความเข้าใจ แต่ไม่ได้รู้มาก่อนว่าอิมแพ็คที่เริ่มจากความรู้และความเข้าใจมันจะต่อยอดเป็นอะไรกลับสู่ชุมชนได้บ้าง 

เม: “พอได้ทำมาเรื่อยๆ อิมแพ็คของความเข้าใจมันคือการที่เพื่อนๆ เราช่วยเป็นกระบอกเสียงให้พวกเขาหรือมีอาสาสมัครจากอเมริกาอีเมลมาขอร่วมแจมกับโปรเจกต์ชุมชนในเชียงใหม่ อยากเป็นส่วนหนึ่งเพื่อช่วยส่งเสียงของกลุ่มชาติพันธุ์ หรือเพื่อนๆ หลายคนก็ช่วยให้คำปรึกษาชี้ให้เห็นมุมมองใหม่ๆ จนสุดท้ายกลายมาเป็นเพื่อนกัน ความร่วมมือเหล่านี้มันไปไกลเหนือกว่าตัวเลขที่เป็นตัวเงินที่ได้กลับตามมา” 

อนาคตของนักออกแบบประสบการณ์ทางการฟัง

จุดมุ่งหมายต่อไปของกลุ่ม Hear & Found คือการนำเสียงที่เก็บรวบรวมเหล่านี้เข้าไปได้อยู่ในธุรกิจโรงแรม สปา เพื่อเป็นการขยายการเข้าถึงเพราะเสียงจากศิลปินท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์หรือเสียงธรรมชาติที่สะสมไว้จากการเดินทางที่มีคุณสมบัติและย่านความถี่ที่สามารถใช้ฮีลคนได้ ซึ่งนำมาใช้กับกลุ่มธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ wellness เป็นลู่ทางต่อยอดในเชิงธุรกิจและเป็นการทำให้คนได้มาดื่มด่ำกับบรรยากาศของท้องถิ่นอีกทาง

เมื่อเพิ่มประสบการณ์ด้านเสียงใส่เข้าไปในสถานที่เท่ากับว่าเรื่องราวเหล่านี้จะอยู่ได้นานขึ้น คนก็จะรับรู้ได้มากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้เมื่อเอาเสียงไปทำงานร่วมกับพื้นที่ ต้องมีการให้รายละเอียดเรื่องราวเบื้องหลังซึ่งเป็นที่มาของเสียงไปประกอบ เช่น ตื่นนอนด้วยเสียงไก่ขันที่มีเฉพาะในหมู่บ้านชาวมูเซอ จ.แม่ฮ่องสอน เหล่านี้ยังเป็นการซัพพอร์ตจากโรงแรมที่แบ่งปันรายได้ไปสู่ชุมชนด้วยอีกทาง 

เม: “พอทำงานในด้านนี้มากขึ้น ได้ไปบ้านกลุ่มมานิ บ้านคนลาฮู บ้านคนมูเซอ บ้านปะกาเกอะญอ คนหลายกลุ่มเหล่านี้ทำให้เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยอย่างไม่รู้ตัว ได้รู้ว่ายุคนี้มีการเดินทางเข้ามาที่นี่เพราะอะไร หรือช่วงเวลาที่ได้ศึกษาดนตรีอีสาน หมอลำ ก็ทำให้ได้เห็นว่ามีทหารจี.ไอ. (G.I.) ย่อมาจาก Government Issue ทำให้เกิดวิทยุ เกิดอินโนเวชันด้านเทคโนโลยีที่เป็นรากฐานของวงการดนตรีในประเทศไทย เหล่านี้มันมากกว่าข้อมูลในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ที่เราถูกสอนกันมา ทำให้เราได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ผ่านชีวิตของคนจริงๆ กลายเป็นบทเรียนของเราออกมาเป็นหนังสือที่มาจากคนตัวเล็กๆ ซึ่งแพลตฟอร์มที่พวกเราทำอยู่นี้แหละจะเป็นคลังสะสมข้อมูลเก่าของทางเสียงที่คนรุ่นใหม่สามารถมาใช้เรียนรู้เรื่องราวหรือคนท้องถิ่น”

ซึ่งสิ่งที่ Hear & Found กำลังทำคือการทำให้ความยากและไกลตัว ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เพื่อนำเสนอในมุมที่คนรุ่นใหม่เข้าใจได้ รุ่นพ่อรุ่นแม่ก็มารู้จักได้เหมือนกัน มันสามารถกลายเป็นคอมมูนิตี้ของคนที่จะมาแชร์ประสบการณ์เรื่องราวความเป็นท้องถิ่นบ้านฉันบ้านเธอ เพราะเมื่อเราคุยกันได้มากขึ้นก็เชื่อว่าสังคมมันจะเคารพในความหลากหลาย แล้ววัฒนธรรมมันก็จะคงอยู่ต่อได้ไปในที่สุด ซึ่งเหล่านี้ล้วนเริ่มจากการฟัง 

ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ


ขอขอบคุณสถานที่ร้าน FIX Coffee

AUTHOR