Harvkind คาเฟ่จากโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ ที่ตั้งใจสร้างคอมมูนิตี้คนรักสิ่งแวดล้อมในบางขุนเทียน

เขตบางขุนเทียน คือหนึ่งในพื้นที่สีแดงทางมลภาวะของกรุงเทพฯ เป็นที่ตั้งของโรงงานจำนวนมาก ตั้งอยู่บริเวณชายขอบของกรุงเทพฯ

แม้ว่าจะเป็นพื้นที่แห่งเดียวของเมืองใหญ่ ที่ติดอยู่กับอ่าวไทย มีป่าชายเลน และธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่ก็ไม่อาจบรรเทาปัญหามลพิษที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่เสมอ

Harvkind คือร้านคาเฟ่หนึ่งในย่านบางขุนเทียน ที่มีแนวคิดในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เริ่มต้นเปิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีจุดเริ่มต้นจากร้านเฟอร์นิเจอร์ชื่อคล้ายกัน คือ Harv โดย เชียร์-ชนน วระพงษ์สิทธิกุล ทายาทของโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ ได้เข้ามาพลิกโฉมธุรกิจใหม่ ไม่เพียงแต่เฟอร์นิเจอร์เท่านั้น แต่ยังขยายความใส่ใจไปสู่พื้นที่ชุมชนโดยรอบด้วย

ร้านแห่งนี้จึงไม่ใช่เพียงคาเฟ่ธรรมดา หากแต่เป็นการหลอมรวมกันระหว่างธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และร้านกาแฟ เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ที่เป็นมิตรทั้งกับคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกันบนพื้นที่แห่งความหลากหลายนี้

เริ่มต้นจากประสบการณ์โรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ เกือบ 40 ปี

แม้ Harvkind หากเทียบเป็นอายุคน อาจเทียบได้เพียงเด็ก 3 เดือน เนื่องจากเพิ่งเปิดตัวร้านเมื่อต้นปีนี้ แต่ประสบการณ์ทำธุรกิจไม่สามารถเรียกว่าหน้าใหม่ได้ เพราะร้านนี้ถูกต่อยอดมาจากแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่มีอายุถึง 39 ปี

เดิมทีพื้นที่แห่งนี้คือโกดังของโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ซึ่งก่อตั้งตั้งแต่ปี 1983 ในชื่อ inhome โดยรับผลิตทั้งแบบ OEM หรือการรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ต่างๆ ซึ่งลูกค้าหลักคือ Modern Trade และต่างประเทศ นอกจากนี้ยังผลิตภายใต้แบรนด์ของตัวเอง เฟอร์นิเจอร์หลักๆ คือ โต๊ะ ตู้ เตียง ของตกแต่งภายในบ้าน

จนกระทั่งระยะหลังที่จีนเริ่มเปิดประเทศ ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นและเกิดการแข่งขันราคาในตลาดเพิ่มขึ้นตาม ลูกค้าที่เคยซื้อก็เริ่มลดน้อยลง เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น เชียร์จึงตัดสินใจกลับมาดูแลเฟอร์นิเจอร์ของที่บ้าน ด้วยการใส่ไอเดียและแนวคิดการออกแบบใหม่ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในชื่อ Harv โดยมี ตาล-ณัฐฏิยา รัชตราเชนชัย เป็นทั้ง HARV Design Director และหุ้นส่วนของร้านเข้ามาช่วยดูแลส่วนการออกแบบเฟอร์นิเจอร์

“ตอนแรกเราเรียนจบด้านการเงิน แล้วไปทำงานธนาคาร 1 ปี ซึ่งตรงสายที่เราเรียนมา ต่อมาเพื่อนที่ทำ start-up ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมาชวนไปทำงานด้วยเลยลองไปดู เพราะคิดว่าน่าจะสนุกขึ้นและเอากลับมาใช้ประโยชน์ช่วยที่บ้านได้ ก็ทำที่นั่น 2 ปี จนบ้านเรารายได้เริ่มชะลอตัว เพราะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี มีการแข่งขันราคาจากจีนสูง รวมถึงค่าแรงและต้นทุนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น เราคิดว่าแค่แบรนด์ inhome อาจจะไม่พอ แล้วถ้าเราสามารถสร้างแบรนด์ที่ขายให้ลูกค้าโดยตรงเลย เขาก็จะได้เฟอร์นิเจอร์ในราคาที่ถูกขึ้น เราเองก็มีกำไรส่วนต่างมากขึ้นด้วย จึงเริ่มคิดสร้างแบรนด์ Harv” เชียร์เล่า

ชื่อแบรนด์ Harv ย่อมาจาก Harvest (เก็บเกี่ยว, ผลผลิต) มี 2 ความหมายคือ การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของโรงงานและการนำวัสดุธรรมชาติที่เรานำมาใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด เราจะเห็นได้ตั้งแต่การเลือกใช้ไม้ปาร์ติเกิลบอร์ด (Particle Board) เป็นหลัก โดยไม้นี้มาจากต้นยางของภาคใต้ที่กรีดยางจนหมดแล้วและต้องถูกโค่นลงเพื่อปลูกต้นยางใหม่ จากนั้นใช้ส่วนของลำต้นไปทำเฟอร์นิเจอร์ที่โชว์ผิวไม้จริง ส่วน ไม้ที่ HARV ใช้ คือส่วนกิ่งก้านต้นยาง ที่ถูกนำไปสับและอัดเข้าด้วยกาวที่ปลอดภัย ไม่ส่งผลเสียต่อผู้ใช้งานในระยะยาว จากนั้นใช้ส่วนของลำต้นไปทำเฟอร์นิเจอร์ที่โชว์ผิวไม้จริง ก่อนปิดผิวด้วยเมลามีนเพื่อช่วยยืดอายุการใช้งาน ทำให้ได้เฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ทนความชื้นและความร้อน ป้องกันรอยขีดข่วนและแบคทีเรีย เช็ดความสะอาดง่าย มีอายุการใช้งาน 5 – 10 ปี

เชียร์บอกว่า pain point สำหรับโรงงานเฟอร์นิเจอร์ คือแต่ละวันจะมี waste เหลือเป็นประจำ ซึ่งของเสียเหล่านี้สามารถหาวิธีเพื่อนำมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ๆ ได้ ขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างมูลค่าในธุรกิจด้วย

“ปกติผมเองก็สนใจสิ่งเเวดล้อมอยู่เเล้ว ส่วนตัวเราโตมากับโรงเรียนรุ่งอรุณที่เขาจะปลูกฝังเรื่องนี้ ก็เลยซึมซับมาตั้งแต่เด็กๆ ทั้งการแยกขยะ การอยู่กับธรรมชาติ เลยอยากทำแบรนด์ชวนให้คนเข้ามาเห็นความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน”

ด้วยความที่เป็นโรงงาน ปกติก็จะมีขี้เลื่อย กรอบ pvc เศษกระดาษต่างๆ มันไม่มีมูลค่ามากนัก เลยเห็นว่าอยากจะทำอะไรกับสิ่งเหล่านี้ให้มีคุณค่า นอกจากนี้ยังมีค่าแรงและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ waste จากการผลิตในแต่ละวันอาจจะไม่ได้เยอะมาก แต่ถ้าเป็นอาทิตย์ เป็นปี รวมๆ กันมีเยอะมาก เราเลยสร้างคุณค่าให้กับของเสียที่เหลือใช้เหล่านี้”

นอกจากการนำเศษวัสดุมา upcycling แล้ว Harv ยังมีแผนลดพลาสติกจากการห่อสินค้าที่จัดส่งด้วยการทำกระเป๋าผ้าห่อเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงวางแผนนำเฟอร์นิเจอร์ที่ลูกค้าใช้ไปแล้ว 5-10 ปี กลับมาซ่อม รับซื้อคืน นำไปบริจาค หรือแยกชิ้นส่วนเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วย

ร้านคาเฟ่ในโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์

ร้านกาแฟในชื่อ Harvkind มีความหมายว่า ‘ชาว Harv’ หรือกลุ่มคนที่มีความสนใจเดียวกันคือเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะในร้านนี้นอกจากเราจะได้เห็นเฟอร์นิเจอร์ circular economy มาใช้ตกแต่งร้านแล้ว เรายังเห็นอีกหลายๆ มุมที่ออกแบบมาเพื่อให้คนมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมในแบบของตัวเอง

“เดิมพื้นที่นี้เคยถูกใช้เป็นโกดังเก็บของหรือพื้นที่การขายล้างสต็อกจากโรงงาน แต่ด้วยความที่เป็นโชว์รูมที่อยู่ในพระราม 2 ก็ไม่ค่อยมีคนมา เราจึงใช้พื้นที่นี้มาทำเป็นคาเฟ่ จากการที่เราก็ชอบดื่มกาแฟอยู่แล้ว และมีโอกาสได้เรียนการชงกาแฟช่วงโควิด เราอยากสร้างเป็นคอมมูนิตี้ของคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน คือเรื่องสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ”

ภายในร้านนอกจากถูกตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ของแบรนด์ Harv แล้ว ยังมีกระเบื้องรีไซเคิลจากแหอวนที่นำมาขึ้นรูปเพื่อตกแต่งบริเวณเคาน์เตอร์ บรรยากาศในร้านให้ความรู้สึกโปร่ง มีแสงแดดในช่วงกลางวันเข้ามาได้เต็มที่ แต่กลับไม่รู้สึกร้อนเกินไปนัก สังเกตได้จากลูกค้าที่แวะเวียนกันมานั่งชิมกาแฟ มีทั้งแบบคุยงานจริงจังเป็นกลุ่มใหญ่ หรือนั่งเงียบๆ คนเดียวก็ไม่อึดอัด

ถัดไปอีกหน่อยคือมุม Bulk Shop หรือมุมที่ให้เราสามารถนำบรรจุภัณฑ์มาเติมผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ รวมถึงมุมแยกขยะ ที่ให้ลูกค้าได้ลองคัดแยกขยะด้วยตัวเองหลังจากที่ดื่มกาแฟและทานขนมเสร็จแล้ว “ถังแยกขยะที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนึงของเราด้วย เราอยากให้คนเริ่มตระหนักและเข้าใจว่าสามารถใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้หลายวิธี ในร้านเราจะเห็นคนถือถาดมา แล้วก็็ดูนิดนึง ก่อนพยายามแยกด้วยความเข้าใจของเขาเอง เรารู้สึกดีกว่าการที่เขาโยนๆ ทิ้งไป ตอนนี้ขยะที่แยกได้จะเป็นซองขนม ทิชชู หลอด”

คาเฟ่ที่ดีกาแฟต้องอร่อย

นอกจากจะเป็นร้านที่ตกแต่งได้สวยงามแล้ว รสชาติเครื่องดื่มและขนมก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน จุดเด่นของร้านอยู่ที่เครื่องดื่ม ขนมทานเล่น และเบเกอรี่ ที่มีทั้งแบบเพื่อสุขภาพกาย และขนมที่ไม่ได้ควบคุมน้ำตาลแต่อร่อยดีต่อสุขภาพใจ

กาแฟภายในร้านจะใช้กาเเฟไทย คั่วกลางจนถึงกลางเข้ม ซึ่งเป็นรสชาติที่คนไทยส่วนใหญ่ชื่นชอบ แต่สำหรับใครที่หลงใหลในรสชาติของกาแฟ หน้าบาร์ยังมีเมล็ดให้เลือกถึง 25 ชนิด ซึ่งให้รสชาติและ Taste Note ต่างกัน นอกจากนี้ยังสามารถเลือกการคั่วได้หลากหลาย เช่น เมล็ดไทยจากโรงคั่วไทย เมล็ดนอกจากโรงคั่วนอก ได้อีกด้วย

ขนมหรือเบเกอรี่ในร้านส่วนใหญ่มาจากหุ้นส่วนของร้านและเพื่อนๆ ที่มีรสชาติอร่อยและเป็นสูตรเพื่อสุขภาพ หน้าเคาน์เตอร์ที่ลูกค้าจะได้เลือกเบเกอรี่ อย่างครัวซองต์ ขนมปังธัญพืช และบราวนี่ ถัดไปด้านข้างยังมีชั้นวางขนมและเครื่องดื่มแช่เย็น เช่น ชาหมักคอมบูชา (Kombucha) ไอศครีมโฮมเมดหลากรส หรือขนมขบเคี้ยว ให้โปรตีนสูง แคลอรีต่ำ และน้ำตาลน้อย โดยแต่ละชนิดมีกระบวนการทำวัตถุดิบที่คัดสรรมาอย่างดีสำหรับคนที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ

ในมุม selected shop ของร้าน ไม่ได้มีเพียงแต่ขนมเท่านั้น ยังมีผลิตภัณฑ์หลากหลายสำหรับไลฟ์สไตล์คนรักธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ทัปเปอร์แวร์ ที่สามารถนำมาใช้ใส่อาหารที่ร้านได้เลย กระถางต้นไม้รีไซเคิล หรือเครื่องหอมและยาดม ให้เลือกซื้อกันได้

ในร้าน Harvkind ยังอนุญาตให้น้องหมาเข้ามาภายในร้านได้ด้วย ในส่วน selected shop ของร้านจึงเห็นทั้งขนมของน้องหมาและทิชชูวางเรียงรายอยู่ใกล้ๆ กัน (อย่าเผลอหยิบผิดนะ) โดยเชียร์บอกว่าทุกวันนี้ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับสุนัขเหมือนคนในครอบครัวมากขึ้น จึงอยากให้ร้านนี้เป็นพื้นที่ที่ทำให้พวกเขาได้อยู่ด้วยกัน

“รู้สึกว่าสัตว์เลี้ยงก็เป็นเหมือนคนในครอบครัว ผมเองก็เลี้ยงหมา ถ้าเราพาไปไหนไม่ได้เลย มันก็รู้สึกไม่ค่อยดี เลยรู้สึกว่าอยากให้เป็นที่ที่คนพาน้องหมามาได้ ส่วนใหญ่คนที่พาหมามาข้างนอกเขาจะดูแลดีในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ก่อนเข้าร้านเราก็ให้หมาเดินสำรวจข้างนอกก่อน แต่บางครั้งก็มีอุบัติเหตุบ้าง เราก็เลยมีขนมหมา ทิชชูเปียกหมาไว้ในร้านด้วย ส่วนเรื่องเสียงรบกวน เราก็จะมีกฎการอยู่ร่วมกัน เพราะว่าลูกค้าของเราทุกคนอาจจะไม่ได้ชอบสัตว์เลี้ยงทั้งหมาทั้งแมวกันทุกคน”

หากใครชอบบรรยากาศสบายๆ เราขอแนะนำให้ลองเข้ามาในวันธรรมดาช่วงกลางวัน หรือหากชื่นชอบความมีชีวิตชีวาแบบคาเฟ่ ช่วงเช้า หรือเสาร์-อาทิตย์ ก็ทำให้คาเฟ่นี้ดูคึกคักขึ้นไม่น้อย นอกจากเข้ามาทานขนมดื่มกาแฟแล้ว ยังมีโอกาสได้ลองเดินดูเฟอร์นิเจอร์สวยๆ จาก Harv ไม่แน่ว่าอาจได้เฟอร์นิเจอร์ที่กำลังตามหาไปตกแต่งในบ้านอีกชิ้นก็ได้

Harvkind
Facebook: https://www.facebook.com/harvkind
Website: www.harvbrand.com
เวลาเปิดทำการ :  วันจันทร์-วันศุกร์ 08:00-17:00
วันเสาร์-อาทิตย์ 09:00-18:00
Loation: https://goo.gl/maps/oDULXcTkBxodppA7A
228 ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล แขวง แสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร 10150

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

Cozy Cream

ไม่ใช่โซดา อย่ามาซ่ากับพี่