One Two Two Coffee Bar x Pas Normal Studios : คาเฟ่และช็อปเสื้อจักรยานสุดซิ่งที่อยากเอาใจเพื่อนนักปั่นทุกสาย

Highlights

  • One Two Two Coffee Bar x Pas Normal Studios คือคาเฟ่ specialty ที่เน้นขายกาแฟแบบ single origin และช็อปชุดจักรยานแบรนด์ Pas Normal ส่งตรงมาจากโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
  • Pas Normal เลือกมาเปิด flagship store ที่กรุงเทพฯ เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะไทยเรามีจำนวนนักปั่นมากเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และเลือกชักชวน One Two Two Coffee Bar มาเป็นส่วนหนึ่งของร้านก็เพราะความยูนีค สตอรี่ที่น่าสนใจของร้าน รวมทั้ง relationship ที่ร้านมีกับกลุ่มนักปั่นชาวไทยมาอย่างยาวนาน
  • ในพาร์ตของคาเฟ่ ที่นี่จะให้ความสำคัญการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบาริสต้าและลูกค้า ตั้งแต่การช่วยเลือกเมนูที่ถูกใจ และการให้ความรู้เกี่ยวกับกาแฟ specialty
  • Pas Normal มีหัวเรือใหญ่คือ T.K.O. label designer ชื่อดังชาวเดนิช ตอนที่เขาออกแบบเสื้อจักรยาน คนในวงการแฟชั่นฮือฮามากๆ เขามองว่าเสื้อที่ Pas Normal ขายคือเสื้อชมรม ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นแบรนด์เสื้อผ้าจักรยานทั่วๆ ไป

One Two Two Coffee Bar x Pas Normal Studios คือไบค์คาเฟ่ที่เพิ่งเข้าสู่เดือนที่ 4 ของการเปิดตัวในเวิ้ง ACMEN Ekamai ในห้องสี่เหลี่ยมสีขาวสะอาดตา ด้านซ้ายมือเราจะเจอกับบาร์กาแฟ ส่วนด้านขวาเป็น flagship store จำหน่ายชุดปั่นจักรยาน และ casual wear อื่นๆ

เมื่อร้านกาแฟ specialty สัญญาติไทยมาเจอกับแบรนด์เสื้อผ้าจักรยานสุดเท่จากโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ไม่แปลกที่เราจะเห็นนักปั่นขาแรง นักปั่นสายชิล หรือคนมีไลฟ์สไตล์แวะเวียนมาที่นี่กันอย่างไม่ขาดสาย

เพื่อย้ำว่าการปั่นจักรยานตีคู่มากับการจิบคาเฟอีนจริง วันนี้ Sam Lu ผู้จัดการ Pas Normal Studio ประจำประเทศไทย และ ต่อ–เทวินทร์ ชาติสุวรรณ เจ้าของคาเฟ่ One Two Two Coffee Bar อาสาเล่าเรื่องราวเบื้องหลังของร้านที่พวกเขาร่วมกันปลูกปั้นแห่งนี้ แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสังคมจักรยาน จิบกาแฟดริปกลิ่นหอมฟุ้งรสชาติบาง เข้ารสกับบทสนทนาแรมชั่วโมงบนโต๊ะไม้ตัวยาวกลางร้าน


Pas Normal กับเบื้องหลังที่เป็นมากกว่าแบรนด์

สำหรับนักปั่นขาแรงทั้งหลายน่าจะรู้จักมักจี่แบรนด์ชุดปั่นจักรยานไฮเอนด์แบรนด์นี้ดี แต่ถ้าใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วสงสัยว่า Pas Normal คืออะไร แซมยินดีเล่าให้ฟัง

“Pas Normal มีผู้ก่อตั้งทั้งหมดสามคน ซึ่งหัวเรือใหญ่ก็คือ Karl-Oskar Olsen หรือในวงการแฟชั่นจะรู้จักเขาในนาม T.K.O. เขาเป็น label designer ชาวเดนิชที่ดังมากๆ ซึ่งตอนแรกสามคนนี้อยากทำเสื้อทีมที่ใส่กันเอง สักพักก็มีนักปั่นขาแรงเข้ามาร่วมทีมเยอะขึ้น คนนอกอยากได้เสื้อของ Pas Normal มากขึ้นด้วยเพราะชื่อเสียงของ T.K.O ทั้งสามเลยตกลงกันว่าทำเสื้อผ้าออกมาขายจริงจังเลยดีกว่า จริงๆ Pas Normal เป็นชมรม เสื้อผ้าที่คนซื้อก็คือเสื้อผ้าชมรม เราไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นแบรนด์เสื้อผ้าทั่วไป”

เวลาที่เราซื้อเสื้อผ้าจาก Pas Normal หนึ่งตัว เราจะได้ membership ของชมรมโดยอัตโนมัติ ที่น่ารักคือไม่ว่าจะออกทริปจักรยานที่ประเทศไหน เราจะมีเครือข่ายเพื่อนนักปั่นรับหน้าที่เป็นเจ้าบ้านที่คอยให้คำแนะนำและพาออกทริปเสมอ อย่างในประเทศไทย แซมก็คือหนึ่งในผู้รับหน้าที่เจ้าบ้านพานักปั่นจากทั่วโลกไปออกทริป ซึ่งปัจจุบันชมรมนี้มีสมาชิกกระจายตัวทั่วโลกมากกว่าสามพันคน

อีกหนึ่งจุดยืนที่แข็งแกร่งของ Pas Normal คือการใช้เนื้อผ้าคุณภาพพรีเมียมและแพงที่สุดจากประเทศอิตาลี ทอด้วยเทคนิคพิเศษที่ทำให้เสื้อสามารถระบายความร้อนได้ดี คัตติ้งที่ต้องสวมใส่แล้วพอดีและแนบชิดไปกับตัว และที่สำคัญสินค้าของพวกเขาไม่ตกรุ่นเร็ว เพราะ Pas Normal ตั้งใจออกสินค้าเพียงหนึ่งคอลเลกชั่นต่อปีเท่านั้น

จุดเริ่มต้นของ One Two Two Coffee Bar x Pas Normal Studios

“ปกติช็อปของ Pas Normal ทั่วโลกต้องถือคอนเซปต์เปิดคู่กับร้านกาแฟเสมอ อย่างที่โคเปนเฮเกน เราเปิดคู่กับคาเฟ่ที่ชื่อว่า Cranks & Coffee หรือที่ปารีสเราใช้ชื่อคาเฟ่ว่า Steel Cyclewear & Coffeeshop เวลาที่แบรนด์อยากจะเปิดช็อปที่เมืองไหน เราจะมองหาคาเฟ่ที่มีความยูนีก มีสตอรี่ที่น่าสนใจ และที่สำคัญคือมี relationship กับผู้คนและนักปั่นจักรยานด้วย” แซมเล่า

ประเทศไทยมีจำนวนนักปั่นมากที่สุดเป็นอันดับที่สามของประเทศในทวีปเอเชีย ราวกับเป็นเซนเตอร์ของนักปั่นจักรยานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเหตุนี้ทางแบรนด์ชุดปั่นจักรยานสัญชาติเดนมาร์กจึงเลือกปักหมุดมาเปิด flagship store ที่กรุงเทพฯ เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในโซนนี้

“ก่อนที่ช็อปนี้จะเกิดขึ้น ผมกับทีมงานเสนอรายชื่อคาเฟ่กว่า 20 แห่งไปให้ที่สำนักงานใหญ่ ซึ่งคาเฟ่ของพี่ต่อมีความแตกต่างจากคาเฟ่อื่นๆ ตรงที่เขามี relationship กับกลุ่มนักปั่นจักรยานค่อนข้างหลากหลาย รวมทั้งสตอรี่ที่สืบเนื่องจากร้านต๊อดติ ร้านกาแฟของคุณพ่อเขาด้วย ทางนู้นเขาก็เห็นว่าเราน่าจะทำงานด้วยกันได้ การจับมือระหว่าง One Two Two และ Pas Normal เลยเป็นอะไรที่พิเศษมากสำหรับพวกเรา”

ย้อนดูการเดินทางจากร้านกาแฟของพ่อสู่ร้านกาแฟของลูก

คอกาแฟสดรุ่นเก๋าหลายคนน่าจะคุ้นชื่อร้าน ‘ต๊อดติ’ ร้านกาแฟขวัญใจชาวสวนหลวง ร.9 และคนรักสุขภาพที่ออกกำลังกายแถวนั้นเป็นประจำ One Two Two Coffee Bar ก็คือคาเฟ่ที่ต่อ ทายาทเจ้าของร้านต๊อดติที่ตั้งใจแตกไลน์ธุรกิจ specialty coffee cafe เอาใจความชื่นชอบกาแฟของตัวเอง

ย้อนกลับไป 15 ปีก่อน คุณพ่อของต่อสนใจคาเฟ่ในประเทศแคนาดา พลางคิดว่าธุรกิจกาแฟสดน่าจะพอมีที่ทางในบ้านเรา แต่การเอาวัฒนธรรมกาแฟแบบฝรั่งเป๊ะๆ มาใช้กับคนกินกาแฟในเมืองไทยคงเป็นการตัดสินใจที่ผิดเพี้ยนไปนิด

“คาแร็กเตอร์กาแฟที่คนไทยชอบคือหนีไม่พ้นกาแฟคั่วเข้ม ใส่นมข้น รสหวานมัน ที่ร้านเลยยึดสิ่งนี้เป็นหลักอยู่ ถ้าคนไทยกินกาแฟแบบฝรั่งปุ๊บ เขาจะรู้สึกว่ามันจืดๆ โดยส่วนตัวผมเชื่อว่ามันไม่มีอะไรถูกผิดนะครับ เพราะวัฒนธรรมการกินกาแฟของคนไทยเราเริ่มมาจากตรงนั้นจริง ที่ร้านต๊อดติก็เลยเสิร์ฟเมนูเอสเพรสโซเย็น หรือกาแฟใส่นมข้น เอาใจลูกค้าหรือคนมีอายุที่ยังคงชอบกินกาแฟรสเข้มหวานมันอยู่

“ที่ One Two Two Coffee Bar ต่างจากต๊อดติตรงที่เราคั่วเมล็ดแยกกัน ที่ร้านคุณพ่อจะเน้นคั่วเข้ม แต่เราจะเน้นคั่วอ่อน ใช้เมล็ดกาแฟ specialty แบบ single origin ลูกค้าบางคนไม่เข้าใจว่าทำไมกาแฟถึงเปรี้ยว เวลาเราขายก็เหมือนให้ความรู้พวกเขาไปด้วย ค่อยๆ พาเขารู้จักโลกของกาแฟ specialty มากขึ้น” เจ้าของคาเฟ่เล่าพร้อมรอยยิ้ม

‘ร้านกาแฟสดที่คนไทยทุกคนเข้าถึงได้’ คือคอนเซปต์ที่ต่อหยิบยืมจากร้านของคุณพ่อมาใช้กับคาเฟ่ของตัวเอง ที่น่าสนใจคือที่ร้านไม่มีเมนูกาแฟที่เป็นซิกเนเจอร์ชนิดที่ว่าใครมาก็ต้องสั่ง แต่บาริสต้าจะซักถามว่าเราอยากกินกาแฟรสไหน และช่วยแนะนำเมนูว่าเครื่องดื่มตัวไหนเหมาะกับเรา เขาถือว่าการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบาริสต้าและลูกค้าเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของร้าน

โดยส่วนตัวเราชอบกาแฟรสเปรี้ยว บาริสต้าสาวสวยของร้านแนะนำให้เราลองเมล็ดจากแทนซาเนียที่เจ้าของร้านลงมือคั่วเอง รสชาติทำให้นึกถึงผลไม้อย่างราสเบอร์รี แม้ว่าจะกินเป็นกาแฟนม รสเปรี้ยวของตัวกาแฟก็ยังเด่นชัด นอกจากนี้ที่ร้านยังมีเครื่องดื่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่กาแฟ รวมทั้งขนมอบสดใหม่หน้าตาน่าทานให้บริการด้วย

กาแฟ + จักรยาน = ไลฟ์สไตล์

แซมและต่อ ทั้งคู่คือนักปั่นที่เอนจอยกับการดื่มกาแฟ สำหรับพวกเขาการได้กาแฟอร่อยสักแก้วเปรียบเหมือนการเติมพลังงานดีๆ ไม่ว่าทริปจักรยานทริปไหนเขามักนัดเจอชาวแก๊งที่คาเฟ่ แวะเติมกาแฟก่อนออกเดินทางหรือแวะพักยกระหว่างทางเสมอ

“เวลาที่ผมไปปั่นจักรยานที่ยุโรป ในประเทศที่เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมจักรยานอย่างสเปน อิตาลี ฝรั่งเศส จักรยานกับกาแฟเป็นสิ่งที่คู่กันมานาน นักปั่นที่นู่นเขามองแค่ว่ากาแฟเอสเพรสโซหนึ่งแก้วมีคาเฟอีนที่ทำให้พวกเขามีแรงปั่นจักรยาน แค่นั้น ไม่ได้มองว่ามันมีความสุนทรีย์อะไร

“แต่ปัจจุบันนักปั่นในเอเชียโดยเฉพาะคนเกาหลี ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งไทย เราเปลี่ยนวัฒนธรรมนั้น เราแอดวานซ์กว่าคนยุโรปด้วยการเปลี่ยนการปั่นจักรยานและการกินกาแฟให้เป็นไลฟ์สไตล์ เรากินกาแฟเพื่อ socialize กับผู้คน ซึ่งสังคมจักรยานเมืองนอกค่อนข้างสนใจปรากฏการณ์นี้

“กลายเป็นว่าคนยุโรปต้องตามคนเอเชียแล้ว แม้ว่าแบรนด์จักรยานต่างๆ เป็นของเขาจริง อย่างตัว Pas Normal เองก็หยิบไอเดียทำการตลาดมาจากไลฟ์สไตล์คนเอเชีย สังเกตง่ายๆ ไม่ว่าเราจะปั่นไปกินกาแฟที่ไหน อย่างน้อยก็ต้องมีภาพสวยๆ ที่ลงไอจีได้” แซมเล่าปนหัวเราะ

นอกจากนักปั่นแต่ละชนชาติจะมองกาแฟต่างกันแล้ว การที่คนเอเชียเอาสินค้าเกี่ยวกับจักรยานของพวกเขาไปลงในโซเชียลมีเดีย ถ่ายรูปในคาเฟ่สวยๆ ช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้แบรนด์ของพวกเขาดูดีขึ้น คืออีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่คนยุโรปยอมรับว่าคนเอเชียเป็นผู้พลิกวงการจักรยาน

“สองสามปีก่อน คนยุโรปมองว่าจักรยานเป็น old sport แต่ปีนี้ดีขึ้นมาได้เพราะสื่อโซเชียลมีเดียที่พวกเขารับจากคนเอเชียดึงดูดให้วัยรุ่นเลือกปั่นจักรยานกันมากขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ออสเตรเลียกับสเปนเริ่มมองเห็นว่าจักรยานไม่ใช่แค่กีฬา แต่มันคือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ทำให้พวกเขาดูดี ดูหล่อได้ อย่างปีนี้ก็เริ่มเห็นภาพคนหนุ่มสาวรวมกลุ่มมาเชียร์การแข่งขันจักรยาน tour de france กันแล้ว”

ประสบการณ์บนเบาะจักรยานกว่า 12 ปีของแซมคงพอยืนยันได้ว่า วัฒนธรรมการกินกาแฟอยู่คู่กับเหล่านักปั่นขาแรงมาอย่างยาวนาน แม้วันนี้คุณค่าของมันจะเปลี่ยนไปเพราะการใช้โซเชียลมีเดียก็ตามแต่ ‘คาเฟอีน’ จะยังคงเป็นสิ่งที่ชุบชูใจของนักปั่นทุกยุคทุกสมัยอยู่ดี


One Two Two Coffee Bar x Pas Normal Studios
address : ACMEN Ekamai ถนนเอกมัย (ก่อนถึง เอกมัย ซ.15)
hours : เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 8:00-18:00 น.
facebook : One Two Two Coffee Bar x Pas Normal Studios

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!