‘สุสานวัดคอนเซ็ปชัญ’ ด้วยรัก ความตาย และพื้นที่สุดท้ายของชีวิต

ความตายเเละวันสุดท้ายของชีวิตเป็นหมุดหมายที่ยืนยันว่าพวกเรามีอยู่อย่างแท้จริง วาระของการหายใจเข้าเฮือกใหญ่แล้วไม่มีอีกจึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากเพียงพอแก่การเฉลิมฉลองให้ชีวิตที่พ้นผ่านไปแล้ว ด้วยพิธีกรรม ความเชื่อ วิถีปฏิบัติของผู้คนแต่ละกลุ่มหมู่ 

เพราะเมื่อมนุษย์เดินทางผ่านช่วงเวลาต่างๆ เราล้วนต้องมีเรื่องให้เฉลิมฉลองเป็นวิถีของชีวิตตั้งแต่เกิดยันเติบโต งานศพและความตายจึงคือการฉลองครั้งสุดท้าย เป็นจุดที่บอกว่าชีวิตได้ดำเนินมาอย่างครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว 

และเเม้ว่าความตายอาจคือการดับสูญไปตลอดกาล การหลงเหลือกายภาพคงเป็นเพียงสิ่งเดียวที่พอจะยึดเหนี่ยวจิตใจคนที่ยังอยู่ให้รู้สึกว่าคนที่เขารักจะมีที่ไป ได้ลาจากกันโดยที่เราจะยังพอจับต้องอะไรได้บ้าง ผ่านเถ้ากระดูกซึ่งพำนักอยู่สักที่สักแห่ง 

ครั้งนี้คอลัมน์ที่ชอบ จึงอยากชวนคุณไปเดินเล่น ที่ชอบๆ กันที่สุสานคอนเซ็ปชัญ สถานที่ฝังร่างของผู้คนในชุมชนบ้านญวนสามเสนที่ตั้งอยู่บริเวณตีนสะพานกรุงธน ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาในฝั่งพระนคร เป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มีผู้คนหลายชนชาติผสมปนเปกันอยู่ ตั้งแต่ชาวโปรตุเกสที่อพยพมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตามมาด้วยคนคริสต์ชาวเขมร ชาวญวน รวมถึงชาวจีนด้วยเช่นกัน  

วัดคอนเซ็ปชัญและสุสาน ตั้งขึ้นราวปี 1674 หรือราวๆ สมัยอยุธยาตอนปลายที่มีการพระราชทานที่ดินในบางกอกแก่ สังฆราช หลุยส์ ลาโน มาเพื่อสร้างวัดสำหรับชาวคริสต์ สถานที่แห่งนี้จึงเก่าแก่จนน่าทึ่ง ทั้งอาคารบ้านเรือนและกุฏิที่ตั้งอยู่ในสุสานยังคงฝากร่องรอยของยุคสมัยก่อนไว้ให้เห็น 

กลิ่นคลุ้งของความตายอยู่ใกล้เเค่ปลายจมูก

***ก่อนเข้าไปในสุสานจำเป็นต้องขออนุญาตกับทางเจ้าอาวาสวัดก่อนทุกครั้ง***

ทันทีที่ก้าวขาเข้าไปบนผืนดินที่อัดแน่นไปด้วยหลุมฝังศพซึ่งเบียดเสียดกันจนไม่เหลือพื้นที่ว่าง เราถูกต้อนรับโดยความเยาว์วัย เด็กน้อย 2 คนวิ่งกรูเข้ามาอย่างสดใส อาจเพราะสุสานเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน มันจึงเป็นทั้งสถานที่อันปกคลุมไปด้วยความรักและการลาจาก เพราะร่างที่อยู่ใต้ผืนดินเหล่านี้ก็เคยเป็นใครสักคนที่มีความสำคัญในบ้านสักหลังของชุมชนนี้ แต่สำหรับเด็กน้อย ที่นี่อาจเป็นสวนเด็กเล่นใกล้ฉัน เพราะสุสานเเห่งนี้อยู่ใกล้ชิดชุมชนจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงเป็นเหมือนการอนุญาตให้ผู้คนรู้จักกับความตายตั้งแต่ยังไม่รู้ประสา เด็กน้อยกับหลุมศพ ไม้กางเขน รูปปั้นพระเยซู อยู่ด้วยกันอย่างเป็นธรรมชาติ อาจจะดีที่ความตายและการลาลับแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของคนในชุมชน ใบหญ้าและดอกไม้ห่มคลุมคนที่พวกเขารักอยู่

จริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่สุสาน เเต่รวมไปถึงโบสถ์ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะยังมีความสำคัญและเป็นศูนย์รวมจิตใจให้กับผู้คน จากการที่เดินลัดเลาะในซอยเล็กๆ ของชุมชนบ้านญวนสามเสนนี้ จะเห็นได้ชัดเลยว่าศาสนาและพระเจ้ายังคงมีบทบาทในชีวิตของพวกเขา ผ่านข้าวของเครื่องใช้ รูปเคารพ บทเพลงที่ดังออกมาจากบ้านหลังเล็ก

แน่นอนว่าเมื่อกาลเวลาหมุนไปข้างหน้า ความคิดความเชื่อก่อนเก่าเริ่มซีดจางหายไปพร้อมๆ กับการปรากฏตัวของข้อมูลชุดใหม่ ความจริงเกี่ยวกับโลกชัดเเจ้งมากขึ้น เด็กน้อย 2 คนที่เข้ามาวิ่งเล่นในสุสาน อาจเติบโตไปมีความคิดความเชื่ออื่นหรืออาจจะยึดถือวิถีปฏิบัติดั้งเดิม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือสวนแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่ทำให้พวกเขาได้สบตากับความตายเป็นครั้งแรก 

เราหันไปถาม ‘น้องไบร์ท’ ผู้รับหน้าที่เป็นไกด์พาเราเดินเที่ยวในชุมชนแห่งนี้ ผู้ซึ่งเกิด วิ่งเล่น และเติบใหญ่ในสภาพแวดล้อมที่อยู่ใกล้ชิดกับสถานที่ ว่าหากตายไปจะนำศพตัวเองมาฝังที่นี่ไหม เขาตอบเพียงว่า ‘ไม่รู้’ คงเป็นหน้าที่ของคนอยู่แล้วแหละว่าจะทำอย่างไร

ความตายถึงความเยาว์

การได้มีโอกาสเข้าไปเดินลัดเลาะในสถานที่แห่งนี้ ในฐานะคนนอกชุมชนหรือนอกศาสนา สิ่งที่เราสัมผัสได้คือความเป็นกันเองของพื้นที่ ซึ่งมีความแตกต่างกับป่าช้าในความเคยชินของเราเป็นอย่างมาก เพราะสถาปัตยกรรมที่มีความเรียบง่าย ไม้กางเขนสีขาวเปรอะคราบขุ่นของกาลเวลาเรียงตัวกันอย่างสงบนิ่งบนหญ้าสีเขียวที่ถูกตัดแต่งดูแลอย่างดี หรือกระทั่งสุสานคอนโด 3 ชั้นที่ตกแต่งอย่างมีอารมณ์ขัน แตกต่างกันไปแล้วแต่ความชอบของเจ้าของ รูปปั้นพระเยซูถูกตรึงกางเขนซึ่งเป็นจุดเด่นของพื้นที่ก็โอบรับให้คนเข้าไปเดินเล่นได้ อาจเพราะไม่ได้วางท่าขึงขังน่ากลัวจนเกินไป ดอกไม้หย่อมเล็กใหญ่ ก่อมวลให้ผู้ผ่านไปผ่านมาสบายใจด้วยความชื่นมื่นของมัน สิ่งเหล่านี้ถูกโอบล้อมโดยอาคารบ้านเรือนของชาวบ้าน มีผ้าตากแขวนที่ระเบียง เสาสัญญาณโทรทัศน์ ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทำให้ดินผืนหญ้าและไม้กางเขนยังคงมีชีวิต

ทั้งหมดทั้งมวลทำให้บรรยากาศของสุสานและการรับรู้เกี่ยวกับความตายไม่หดหู่จนเกินไป ทันทีที่เข้าไปข้างใน เสียงหัวเราะของเด็กน้อยแว่วมาให้ได้ยิน ไม่ใช่วิญญาณแต่เป็นคนจริงๆ ที่วิ่งเล่นราวกับไม่รู้ว่าชีวิตจะมีจุดสิ้นสุดลง แวบเเรกในความคิดรู้สึกว่าดีจังที่ได้รู้จักกับความตายตั้งแต่ยังไม่รู้ความ แต่พอนึกดีๆ ความเยาว์วัยคงทำให้เรามองโลกอีกแบบหนึ่ง รูปปั้นพระเยซูหรือไม้กางเขนคงทำงานแตกต่างออกไปทางความรู้สึกของเด็กน้อย แม้กลิ่นความตายจะอยู่ใกล้แค่ปลายจมูก แต่อาจจะต้องรอความเข้าใจและมองเห็นสักสิ่งสักอันก่อน กลิ่นนั้นถึงจะคละคลุ้ง แต่ไม่ว่าอย่างไร การมีชีวิตอยู่ด้วยสภาพเเวดล้อมที่อิงแอบแนบซบกับสิ่งเหล่านี้ก็คงจะก่อบ่มอะไรสักอย่างขึ้นมา เหมือนกับเราเองที่เดินก้าวขาเข้าไปในสุสานและเดินออกมาด้วยความรู้สึกที่ไม่เหมือนเดิมเลย

ในวันที่ผืนดินแทบไม่เพียงพอให้มนุษย์หวนย้อนกลับคืน

ศาสนาคริสต์มีความเชื่อว่ามนุษย์เกิดจากดิน เมื่อตายก็ควรกลับไปเป็นดินดังเดิม ดังนั้นการฝังร่างของคนตายจึงเป็นพิธีกรรมที่ทำกันมานาน แต่จำนวนประชากรที่เกิดขึ้นมาอาจจะไม่สัมพันธ์กับกระบวนการย่อยสลายร่างเอาเสียเลย เมื่อพื้นที่ฝังศพตามสุสานต่างๆ ลดน้อยลง ในปัจจุบันไม่อนุญาตให้ขุดหลุมใหม่มานานแล้ว เพราะมีร่างของบรรพบุรุษมาจับจองจนเต็มพื้นที่ ทางวัดจึงแก้ปัญหาด้วยการสร้างสุสานคอนโดต่อกันเป็นแนวตั้ง 3 ชั้นสูงขึ้นไป

จะว่าไปไม่ว่าจะคนเป็นหรือคนตายก็ต้องปรับตัวตามการขยับขยายจำนวนของมวลมนุษย์ หากมองไปรอบๆ อาคารบ้านเรือนของชุมชนแห่งนี้กับสุสานก็สัมพันธ์กันในแง่ของสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ใกล้ชิดติดกันแบบที่เดินออกมาจากบ้านเพียงก้าวเดียวก็หายใจรดต้นคอกันแล้ว ส่วนสุสานคอนโดเองก็ฝังใกล้ชิดกันเป็นครอบครัวเดียวกัน หากตายไปรับรองว่าไม่มีทางเหงาแน่นอน 

ระหว่างที่เดินๆ อยู่ภายในชุมชนก็รู้สึกได้ว่าสิ่งปลูกสร้างคงสร้างลักษณะความเป็นอยู่ของผู้คนไม่มากก็น้อย เพราะในทุกขณะที่เดินไปตามตรอกซอกซอย น้องไบร์ท ไกด์ของเราก็จะถูกทักทายตั้งแต่ต้นซอยไปยันท้ายซอย และชาวบ้านเองก็ออกมานั่งพูดคุยกันตามม้านั่ง ศาลา ร้านอาหารเพื่อพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด เป็นบรรยากาศที่แตกต่างจากกรุงเทพฯ ในโซนอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง

ในอนาคตหากสุสานคอนโดเต็มทาง วัดก็คงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์วิธีการกักเก็บผู้วายชนม์ด้วยหนทางอื่นๆ ความน่าสนใจอาจคืออนาคตของความเชื่อในการหวนคืนสู่ดินในศาสนาคริสต์จะวิวัฒน์ไปในทิศทางไหน เมื่อเจอกับสายธารแห่งความเปลี่ยนแปลงและเงื่อนไขของยุคสมัยที่ใหม่กว่า ก็คงไม่อาจมีใครทราบใด  

ข้อมูลอ้างอิง

วัดคอนเซ็ปชัญ : ในวันที่ไม่เหลือผืนดินให้ฝังร่าง ‘สุสานคอนโด’ จึงเป็นบ้านหลังสุดท้าย

วัดคอนเซ็ปชัญ

“สุสานวัดคอนเซ็ปชัญ” เราเห็นอะไรในท่ามกลางผู้ล่วงลับ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER