ประตูแห่งความไม่หวนคืนและอิสรภาพที่ไม่มีจริงในเซเนกัล

เรากะพริบตาสู้แสงอาทิตย์ที่แผดจ้า ขณะนั่งเรือโดยสารมุ่งหน้าสู่เกาะกอเร่ เกาะขนาดเล็กที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากกรุงดาการ์ เมืองหลวงของประเทศเซเนกัล

เกาะเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยบ้านสีสันน่ารักสดใสแห่งนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยองค์การยูเนสโก เมื่อ ค.ศ. 1978 ไม่ใช่ด้วยเพราะที่นี่มีสิ่งปลูกสร้างและสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ แต่เป็นอดีตอันน่าสะเทือนใจของเกาะกอเร่ เมื่อครั้งที่เกาะแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางการค้าทาสที่ใหญ่ที่สุดของแอฟริกาตะวันออกนั่นเอง

เมื่อลงจากเรือเรียบร้อยแล้ว เราเดินผ่านร้านอาหารที่เรียงรายริมชายหาดเข้ามาในเขตด้านในของตัวเกาะ จุดตรงนี้เป็นเหมือนทางเข้าเพราะมีต้นเบาบับ สัญลักษณ์ของประเทศเซเนกัลตั้งอยู่ ใครที่เคยอ่านหนังสือเจ้าชายน้อยคงรู้จักกับต้นไม้ชนิดนี้ดี เพราะในหนังสือกล่าวถึงต้นไม้นี้ที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะเติบโตอยู่บนดาวของเจ้าชายน้อย เขาจึงต้องคอยกำจัดมันออกไปอยู่เสมอ

พอล หัวหน้าทัวร์เล่าให้เราฟังว่าต้นเบาบับนั้นมีความสำคัญสำหรับชาวแอฟริกันมาก เนื่องจากทุกส่วนของต้นนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด เช่น นำใบสดมารับประทาน หรือจะนำมาเป็นส่วนผสมของอาหารประเภทต้ม ส่วนผลก็สามารถนำมาคั้นเป็นเครื่องดื่ม และนำเมล็ดมาเพาะเป็นต้นอ่อนไว้รับประทานหรือเอามาคั่วแทนกาแฟก็ได้เช่นกัน แถมมีเปลือกรอบต้นที่มีเส้นใยเหนียว สามารถเอามาทอเป็นเสื่อ แห หรือผ้าได้

เนื่องจากต้นเบาบับเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่และมีอายุยืนได้ถึง 1,000-3,000 ปี ชาวแอฟริกันจึงเชื่อกันว่าต้นเบาบับนั้นมีวิญญาณดีสถิตอยู่ เป็นต้นไม้แห่งชีวิต (tree of life) โดยทุกหมู่บ้านจะมีต้นเบาบับใหญ่อยู่ด้านหน้า คนในหมู่บ้านจะเจาะตรงกลางลำต้นไว้สำหรับเมื่อเวลามีเด็กแรกเกิดก็จะนำเด็กเข้าไปนอนอยู่ตรงนั้นเพื่อให้วิญญาณปกปักรักษาคุ้มครอง และเมื่อมีคนเสียชีวิตก็จะนำร่างเข้าไปนอนด้านในเพื่อส่งวิญญาณไปสู่โลกหน้าด้วยความสงบ

ด้วยความที่ต้นเบาบับเป็นสัญลักษณ์ของประเทศและด้วยความเชื่อเรื่องวิญญาณดีที่สถิตอยู่ภายในต้นไม้นี่เอง ที่เซเนกัลจึงมีกฎหมายห้ามโค่นต้นเบาบับ ฉะนั้นเวลาตัดถนนก็ต้องตัดอ้อมหรืออย่างสนามฟุตบอลของเกาะนี้ก็มีต้นเบาบับอยู่ตรงกลางสนาม พอลเล่าด้วยน้ำเสียงติดตลกว่ามันสนุกดีที่เห็นเด็กๆ เลี้ยงลูกฟุตบอลหลบต้นไม้ก่อนแล้วค่อยหาทางยิงประตู 

เมื่อเดินต่ออีกนิด เราพบกับโบสถ์คริสต์เล็กๆ ซึ่งปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นสถานีตำรวจประจำเกาะกอเร่ อาคารแห่งนี้มีความสำคัญเพราะเป็นสิ่งปลูกสร้างแห่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นบนเกาะแห่งนี้โดยชาวโปรตุเกส ซึ่งเป็นชนชาติแรกที่เข้ามาครอบครองพื้นที่ ก่อนที่จะถูกยึดครองโดยชาวดัตช์ และถูกสลับเปลี่ยนมือกันไปมาอยู่หลายครั้ง สุดท้าย หลังจากเปลี่ยนมาเป็นของอังกฤษในช่วงสั้นๆ ก็ตกเป็นของฝรั่งเศสในที่สุด

สาเหตุที่ชนชาติตะวันตกต้องการครอบครองเกาะแห่งนี้ในยุคล่าอาณานิคมเป็นเพราะว่าที่นี่เป็นศูนย์กลางการค้าทาสที่ใหญ่ที่สุดของแอฟริกาตะวันออก ซึ่งทำให้เจ้าอาณานิคมสามารถคุมกิจการค้าส่งออกทาสไปยังยุโรป อเมริกา และอเมริกาใต้ ตลอดจนมีอำนาจเหนือน่านน้ำในเขตนี้ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้เกาะกอเร่จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศนั่นเอง

เมื่อเดินเข้ามาตามทางเดินภายในตัวเกาะเรื่อยๆ เราจะพบกับอนุสาวรีย์ที่เป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพ พ้นจากการเป็นทาสของชนชาติแอฟริกัน ตัวรูปปั้นเป็นชาย-หญิงที่หลุดจากการล่ามโซ่ตรวน ส่วนฐานเป็นกลองแจมบ้า เครื่องดนตรีของแอฟริกันซึ่งมีความสำคัญมากในยุคของการค้าทาส เพราะพวกเขาจะใช้การตีกลองเป็นจังหวะเพื่อส่งข่าวระหว่างบ้านทาสหนึ่งไปยังอีกบ้านหนึ่งโดยไม่ให้นายทาสรู้ ต่อมากลองแจมบ้านี้ถูกห้ามไม่ให้ใช้ในอเมริกาเพื่อป้องกันไม่ให้ทาสส่งข่าวถึงกันและกันเพื่อเตรียมการหลบหนี ทาสในอเมริกาจะถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ผ่านการร้องเพลงบอกเล่าความรู้สึกขมขื่น โศกเศร้า จนกลายมาเป็นเพลงบลูส์ในเวลาต่อมานั่นเอง

และแล้วเราก็เดินมาถึงบ้านทาส (Slave House) เพียงแห่งเดียวบนเกาะนี้ที่ถูกเก็บรักษาไว้ให้เป็นอนุสรณ์แก่คนรุ่นหลังได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การค้าทาสอันโหดร้ายในยุคล่าอาณานิคมของชนชาติตะวันตก

Slave House แห่งนี้เป็นบ้านทาสหลังแรกของโลก ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1766 โดยชาวดัตช์และเป็นบ้านทาสที่ใหญ่ที่สุดในเกาะกอเร่จากจำนวนบ้านทาสทั้งหมด 28 หลัง ที่ตีทะเบียนถูกกฎหมาย ไม่นับรวมกับบ้านทาสผิดกฎหมายอีกหลายแห่งทั่วทั้งเกาะ โดยบ้านหลังนี้เป็นจุดศูนย์กลางที่รวบรวมเอาทาสชาวแอฟริกันมาพักรอเพื่อที่จะส่งลงเรือไปยัง ‘โลกใหม่ที่เจริญกว่า’

ลักษณะของตัวบ้านเป็นอาคารสองชั้น ด้านล่างเป็นที่อยู่ของทาสโดยแบ่งเป็นห้องแยกไปตามเพศและอายุของทาส ส่วนด้านบนเป็นที่พักผ่อนของเหล่าพ่อค้าทาสที่จะเดินทางมารับทาสขึ้นเรือ

ห้องที่เราเดินเข้าไปเป็นห้องที่ใหญ่ที่สุดของชั้นหนึ่ง จุดนี้เป็นจุดแรกที่นำทาสมารวมตัวกันเพื่อทำการคัดเลือกโดยไม่แยกเพศ ไม่มีม่านกั้นใดๆ หากเป็นทาสชายที่มีน้ำหนักมากกว่า 60 กิโลกรัมก็จะถูกส่งไปอีกห้องหนึ่งเพื่อรอการส่งออก ถ้าน้ำหนักน้อยกว่านั้นก็จะโดนแยกไปเพื่อเพิ่มน้ำหนัก

สำหรับทาสหญิงราคาค่างวดจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ ยิ่งถ้าเป็นเด็กที่อายุยังน้อยก็จะยิ่งมีราคาแพงมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะถูกคัดแยกออกไปก่อนต่างหาก ส่วนทาสหญิงธรรมดาที่เหลือก็จะโดนคัดเพื่อขายในอีกราคาหนึ่ง

ขั้นตอนการตรวจอายุสำหรับเด็กๆ นั้นจะดูจากการตรวจฟัน ถ้าอายุประมาณ 4-12 ขวบ พ่อค้าทาสจะเอาไปแลกกับสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ เช่น ผ้า เครื่องเทศ และอาวุธ ฝ่ายที่รับไปก็จะเลี้ยงไว้รอให้โต เพราะหากอายุเกินกว่านั้นถือว่าเป็นทาสโตแล้ว นำไปขายอีกทอดได้

ห้องถัดมาเป็นห้องพักสำหรับทาสชาย ซึ่งซอยย่อยออกเป็นห้องเล็กๆ 5 ห้อง เราลองเข้าไปยืนในห้องดังกล่าวร่วมกับเพื่อนร่วมทริปคนอื่นๆ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้สึกอึดอัดหายใจไม่ออกเพราะเพดานของห้องต่ำมากๆ และแทบจะไม่มีแสงสว่างลอดเข้าไปภายในเลย พอลบอกกับเราว่าทาส 15-20 ต้องอยู่ด้วยกันภายในห้องๆ เดียว แถมทุกคนยังถูกล่ามไว้ด้วยตรวนเพียงเส้นเดียวเพื่อป้องกันการหลบหนี แน่ล่ะว่าไม่มีฟูกใดๆ สำหรับทาส ทุกคนต้องนอนกองรวมกันบนพื้นทั้งหมด

ห้องสำหรับทาสชาย แยกย่อยเป็นห้องเล็กๆ ทางด้านขวามือของภาพ

ในแต่ละวัน ทาสจะได้รับอาหารเพียงหนึ่งมื้อ แค่เพื่อป้องกันไม่ให้ทาสตายไปเสียก่อนการขาย และสามารถเข้าห้องน้ำที่อยู่นอกห้องได้แค่วันละหนึ่งครั้งเท่านั้น โดยจะต้องใส่ตรวนที่ข้อมือและข้อเท้าตลอดเวลา พร้อมกับต้องแบกแท่งเหล็กหนักๆ เอาไว้ด้วย ฉะนั้นในช่วงเวลาระหว่างวัน หากปวดท้องต้องการจะเข้าห้องน้ำขึ้นมาก็จำต้องปล่อยกันในห้องแบบนั้น และตกกลางคืนก็ต้องนอนไปทั้งอย่างนั้น

ทั้งความแออัดยัดเยียดและปราศจากสุขอนามัยที่ดี หากมีทาสป่วยขึ้นมาก็จะมีวิธีการจัดการเพื่อไม่ให้เกิดโรคติดต่อ นั่นคือการจับทาสคนดังกล่าวไปถ่วงน้ำ ฉะนั้นเกาะกอเร่จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘Shark Island’

สำหรับทาสชายที่น้ำหนักไม่ถึง 60 กิโลกรัม ไม่สามารถส่งขึ้นเรือไปขายได้ก็จะถูกแยกไปรวมอยู่อีกห้องหนึ่งเพื่อเพิ่มน้ำหนักตัวภายในเวลาสามเดือน พวกเขาได้รับอาหารวันละมื้อเช่นเดียวกัน แต่จะโดนบังคับให้กินอาหารในปริมาณที่มาก เมื่อถึงเวลาก็จะถูกจับชั่งน้ำหนักใหม่ ถ้าถึงเกณฑ์ก็โดนส่งไปขายต่อ หากยังไม่ถึงอีกก็จะถูกขายให้ไปเป็นคนรับใช้ หรือทำหน้าที่คุมทาสอื่นๆ อีกที เพราะนายทาสมักต้องการคนที่สามารถสื่อสารกับทาสเข้าใจได้ทันทีในกรณีที่เกิดเหตุต่างๆ

อีกด้านหนึ่งของอาคารจะเป็นห้องสำหรับเด็กสาวบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นห้องที่มีห้องน้ำอยู่ในตัว สภาพไม่ค่อยแออัดเท่าไหร่นักเพราะอยู่ติดทะเล ทางเดินด้านหน้าถูกทำเป็นช่องให้คนภายนอกมองเข้ามาเห็นได้ เด็กสาวเหล่านี้เป็นทาสที่มีราคาแพงที่สุด ขายดีที่สุด สาเหตุที่ห้องนี้มีห้องน้ำก็เพราะนายทาสต้องการให้เด็กๆ เนื้อตัวสะอาดอยู่เสมอ พร้อมสำหรับการ ‘ต้อนรับแขก’ ที่ก็คือเหล่าพ่อค้าทาสนั่นเอง

พ่อค้าทาสที่เข้ามาพักที่ห้องด้านบนสามารถเดินลงมาเลือกเด็กสาวเหล่านี้ไปร่วมหลับนอนได้ตามอำเภอใจ หากเด็กสาวเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาก็จะถูกส่งออกไปจากบ้านทาสเพื่อคลอดและเลี้ยงดูลูกต่อไป เธอได้รับอิสรภาพเนื่องจากให้กำเนิดลูกที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขของคนขาวมาไถ่ตัว และลูกของเธอจะไม่ตกเป็นทาสอีก แต่จะกลายเป็นคนที่ได้รับเอกสิทธิ์พิเศษเพราะถือว่าครึ่งหนึ่งเป็นคนขาว พวกเขาจะสามารถซื้อขาย ครอบครอง ตลอดจนตั้งบ้านทาสของตัวเองได้ และมีชื่อเรียกว่าเป็นซินยอร์และซินยอร์ริน่า ยกตัวอย่างเช่น โจเซฟีน เดอ โบอาร์แน ยอดรักของนโปเลียนก็เป็นซินยอร์ริน่าเช่นกัน สำหรับชะตากรรมของเด็กสาวที่ไม่ได้ตั้งครรภ์จะถูกนับว่าเป็นทาสหญิงที่ไม่บริสุทธิ์ และจะถูกแยกตัวไปอีกห้องหนึ่งเพื่อรอการขายให้ไปเป็นทาสในบ้านของซินยอร์และซินยอร์ริน่า

เมื่อทาสทำผิดหรือทะเลาะเบาะแว้งทำร้ายร่างกายระหว่างกันจะถูกลงโทษโดยการขังอยู่ในห้องสำหรับลงโทษ ซึ่งมี 2 แบบ คือห้องตามภาพด้านบนที่มีการเปิดเป็นช่องให้อากาศเข้า ทั้งนี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความมีมนุษยธรรมและให้อิสรภาพแก่ทาส เพราะแม้ว่าจะถูกคุมขังแต่ก็ยังมีอากาศและแสงสว่างเข้ามา ซึ่งนับว่าเป็นความเมตตากรุณาของนายทาสแล้ว แต่เวลาขังจริงๆ ก็ไม่ได้ขังเดี่ยวทีละคนแต่จับขังรวมกันทั้งหมด เน้นปริมาณเป็นหลัก เพราะทาสจะถูกจับยัดเข้าไปห้องเล็กๆ นี้รวมกันเยอะ ๆ จนกว่าจะปิดประตูกรงได้ถึงจะพอ การลงโทษในลักษณะนี้จะทำแค่วันเดียวเท่านั้นเพื่อไม่ให้ทาสเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ

หากทาสทำผิดร้ายแรงถึงขั้นคิดหนี จะถูกส่งไปที่ห้องขังเดี่ยวที่ไม่มีประตูหน้าต่าง ทุกอย่างปิดทึบหมด และเป็นจุดที่ชื้นที่สุดในตัวอาคาร โดยทาสจะถูกขังลืมไว้ ไม่ให้น้ำและอาหาร พอใกล้หมดลมหายใจก็จะถูกลากออกมาให้ทาสคนอื่นๆ เห็นเป็นเยี่ยงอย่าง จากนั้นก็จะถูกจับไปถ่วงน้ำ

The Door of No Return

ตรงจุดนี้เป็นทางออกเพียงทางเดียวสำหรับทาส ซึ่งเป็นประตูไปสู่ทะเล หากโดนจับถ่วงน้ำก็ต้องโยนผ่านตรงนี้ รวมไปถึงเมื่อจะถูกนำไปขาย ทาสทุกคนจะถูกล่ามตรวนเข้าด้วยกันและเดินเรียงหนึ่งไปตามไม้กระดานเล็กๆ เพื่อขึ้นไปที่เรือ หลายคนเลือกที่จะกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย ยอมจบชีวิตของตัวเองที่นี่ดีกว่าเป็นทาสต่อไปชั่วชีวิต ซึ่งนายทาสจะยิงทาสคนนั้นเพื่อไม่ให้ลากทาสคนอื่นๆ จมน้ำตามไปด้วย และหากคิดที่จะว่ายน้ำหนีก็ไม่พ้นตกเป็นเหยื่อของฉลาม

ด้วยเหตุนี้จึงเรียกประตูนี้ว่า ‘The Door Of No Return’ หรือประตูแห่งความไม่หวนคืน หมายความว่าเมื่อทาสคนใดที่เดินออกจากประตูไปก็จะไม่มีโอกาสได้เดินกลับเข้ามาอีก ไม่ว่าจะออกไปแบบที่ยังมีชีวิตอยู่หรือว่าสิ้นลมหายใจแล้ว

เมื่อเดินขึ้นมาชั้นบนของตัวอาคารที่ได้รับการปรับเปลี่ยนจากห้องพักรับรองของพ่อค้าทาสให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม มีการจัดแสดงอาวุธปืนและโซ่ตรวนต่างๆ ที่ใช้ในบ้านทาสแห่งนี้ และมีแผนภาพอธิบายให้ความรู้เกี่ยวกับการค้าทาสในแอฟริกาตะวันออก

พอลเล่าให้ฟังว่า เมื่อโปรตุเกสและฮอลแลนด์ (เนเธอร์แลนด์ในขณะนั้น) เข้ามายังแอฟริกาในแถบนี้ก็เริ่มมีการค้าทาสกับชนเผ่าเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ริมฝั่งทะเลโดยเป็นการแลกเปลี่ยนคนกับอาวุธ ดีบุก เหล้า หรือการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนให้ เช่น เหล็กหนึ่งแท่งแทนทาส 20 คน

การค้าทาสเริ่มจริงจังมากขึ้นหลังจากที่อังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามาครอบครองดินแดนแถบนี้ โดยอังกฤษเริ่มจากการส่งมิชชันนารีเข้าไปตามหมู่บ้านที่อยู่ริมฝั่งทะเล นัยว่ามาเพื่อพัฒนาและเผยแพร่ศาสนาก่อนแล้วจึงส่งทหารเข้าไปกวาดต้อนผู้คนในภายหลัง

ส่วนฝรั่งเศสนั้นพัฒนาไปอีกขั้นเพราะไม่ใช้กำลังของตัวเองในการเข้ายึดหมู่บ้านและเกณฑ์คนมา แต่ใช้วิธียุให้เกิดสงครามระหว่างชนเผ่าแทน โดยให้อาวุธแก่ชนเผ่าหนึ่งเข้าไปรบเพื่อจับเชลยมา ถ้าไม่ทำตามเผ่านั้นก็โดนจับไปเป็นทาสเสียเอง ทำให้สงครามเริ่มรุกคืบเข้าไปในตัวทวีปมากขึ้น การกวาดต้อนคนก็มากขึ้นไปตามลำดับ

จากภาพแสดงให้เห็นจำนวนของชาวแอฟริกันโดยประมาณที่ถูกส่งไปเป็นทาสในยุโรป อเมริกา และอเมริกาใต้ ซึ่งประมาณ 300,000 คนถูกส่งไปยุโรป ประมาณ 500,000 คนไปที่อเมริกา 4,000,000-5,000,000 คนไปเป็นทาสอยู่แถบแคริเบียน และประมาณ 5,000,000 คนเป็นทาสอยู่ที่อเมริกาใต้เนื่องจากขาดแคลนทาสพื้นเมืองชาวอินเดียนแดง

ตัวเลขดังกล่าวนี้คือจำนวนที่เรือไปถึงจุดหมายปลายทางได้สำเร็จ ไม่รวมเรือจำนวนมากที่ล่มกลางมหาสมุทรเพราะโดนพายุหรือเรือที่ทาสยึดเรือสำเร็จแต่ฆ่าลูกเรือไปหมดจึงอดตายลอยอยู่กลางมหาสมุทร ตลอดจนจำนวนดังกล่าวนี้ไม่รวมถึงเกาะอื่นๆ ทางตะวันตกที่ส่งออกทาสเช่นกัน อย่างเกาะแซนซิบาร์ในแทนซาเนีย เกาะมาดากัสการ์ เกาะโมกาดิซูในโซมาเลีย ซึ่งส่วนมากเป็นทาสที่ถูกส่งไปขายในตะวันออกกลาง

พอลจบการบรรยายของเขาเกี่ยวกับบ้านทาสแห่งนี้ไว้เพียงเท่านั้น และเปิดโอกาสให้ทุกคนเดินเข้าไปเก็บภาพตามจุดต่างๆ รอบอาคาร เหมือนจะรู้ใจว่าเราทุกคน ณ ขณะนั้นต่างต้องการช่วงเวลาเงียบๆ สำหรับการครุ่นคิด รวมถึงไปถึงนั่งมองผิวน้ำที่เป็นประกายระยิบระยับพร้อมกับถอนหายใจออกมายาวๆ เพื่อหวังว่าจะช่วยให้ความรู้สึกแน่นหนักในใจสลายไปพร้อมกับสายลม

การได้รับฟังเรื่องราวความโหดร้ายของมนุษย์ที่กระทำต่อกันแค่เพียงเพราะความต่างทางชาติพันธุ์เป็นเรื่องที่น่าหดหู่ใจมาก แต่ในขณะเดียวกันสถานที่แห่งนี้ได้จารึกสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับคนรุ่นหลังในการสร้างความเข้าใจต่อปัญหาการเหยียดสีผิว รวมไปถึงปัญหาในการยอมรับและให้เกียรติผู้อื่น ตลอดจนปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเท่าเทียมกันในสิทธิของการเป็นมนุษย์ การได้รับรู้ประวัติศาสตร์เหล่านี้ผ่านสถานที่จริงมันให้อะไรในความรู้สึกของเราได้มากกว่าแค่การได้เรียนรู้ผ่านตัวหนังสือมากนัก ดีใจที่ยังคงมีการอนุรักษ์พื้นที่เหล่านี้ไว้แม้จะเป็นการระลึกถึงความเจ็บปวดในอดีตที่สาหัสมากก็ตามที มิใช่การลบทุกอย่างทิ้งไปแล้วแสร้งว่าไม่เคยมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น 

บนเกาะกอเร่ยังมีจุดที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น จุดชมวิวด้านบนของเกาะที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นฐานทัพเรือเก่าของฝรั่งเศส ซึ่งปืนใหญ่ที่เคยใช้งานเพียงครั้งเดียวช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยกลุ่มฝรั่งเศสที่นิยมนาซีที่ยิงเรือพาณิชย์ของอังกฤษจมไม่ไกลจากเกาะเท่าไหร่นัก

เมื่อฝรั่งเศสถอนกำลังออกไปและไม่อยากให้เซเนกัลครอบครองปืนใหญ่ที่มีอานุภาพสูง จึงปิดระบบทั้งหมดและตัดปลายกระบอกปืนออกไปเพื่อให้วิถีของกระสุนเพี้ยน ปืนใหญ่ดังกล่าวนี้จึงกลายมาเป็นอนุสรณ์เกี่ยวกับการครอบครองเกาะของฝรั่งเศสนั่นเอง

ร้านขายภาพเพนต์ด้วยทรายจากธรรมชาติ กาวที่ใช้ทำมาจากต้นเบาบับ และการลงสีนั้นก็ตามจินตนาการของศิลปินจะพาไป แต่ต้องเริ่มจากทรายสีเข้มก่อนเสมอ

คุณเจ้าของร้านอธิบายเกี่ยวกับวิธีการเลือกทรายและขั้นตอนการเพนต์ภาพ

ก่อนที่จะโบกมือลาเซเนกัล เรามาแวะที่อนุสาวรีย์ Monument De La Renaissance Africaine ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองดาร์กา อนุสาวรีย์ขนาดใหญ่แห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพและการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของแอฟริกา ตัวรูปปั้นนั้นทำด้วยทองแดงสูง 52 เมตร ซึ่งเป็นรูปปั้นที่มีขนาดสูงที่สุดในทวีป สร้างขึ้นในปี 2006 และสร้างเสร็จสมบูรณ์เปิดให้เข้าชมได้ในปี 2010

ทั้งหมดนี้คือบันทึกการเดินทางของเราตลอดหนึ่งวันในดาร์กา เซเนกัล ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกที่หลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงประทับอยู่ในใจของเราก็คือความคิดที่ว่าประวัติศาสตร์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นในอดีตไม่อาจถูกลบหรือเปลี่ยนแปลงได้ แต่ความเชื่อและการลงมือทำในสิ่งที่ถูกต้องจะสามารถหมุนโลกนี้ให้เคลื่อนไปในทิศทางที่ดีกว่าเดิม

ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร มีสีผิวแบบไหน มีความคิดความเชื่อแบบใด ทุกคนล้วนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันทั้งสิ้น มีน้ำตา มีรอยยิ้ม มีความเจ็บปวด มีความสุขใจได้เหมือนๆ กัน การที่คนเราสามารถเลือกเชื่อ เลือกใช้ชีวิตสุขทุกข์เต็มที่อย่างที่ใจปรารถนาได้เท่าๆ กับผู้อื่น โดยปราศจากความกังวล เกรงกลัว หรือต้องหลบๆ ซ่อนๆ จากการโดนทำร้าย

เราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘อิสรภาพ’

#BlackLivesMatter

ด้วยรัก…จากทะเลทราย

AUTHOR