พอร์ตโฟลิโอของ สุภาวิดา สุขวัฒน์
ชั้นปีที่ 4 แขนงวิชาการออกแบบสินค้าไลฟ์สไตล์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
ชื่อผลงาน GOODS LUX
อย่างที่รู้กันว่าธูปกับความเชื่อทางพิธีกรรมศาสนาเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน ไม่ว่าจะไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ บรรพบุรุษ แก้บน หรือไหว้ขอมีคู่ต่างก็ต้องมีธูปติดมือ และไม่ว่าจะไปที่ไหนก็มีธูปแทบทุกที่ แต่เคยสงสัยไหมว่าธูปเหล่านั้นไปจบที่ตรงไหน
พฤติกรรมคนไทยเกี่ยวกับธูปมีหลายรูปแบบ บางที่ต้องจุดธูปให้มีควัน เพราะเชื่อว่าส่งสารถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์รับรู้ บางที่รีบจุด รีบเป่า รีบเก็บทิ้งเพราะกลัวว่าจะไฟไหม้ ไม่ว่าอย่างไรปลายทางธูปทั้งหมดกลายเป็นเศษขยะจำนวนมากที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้
และนั่นจึงเป็นโจทย์โปรเจกต์ทีสิสให้กับ ‘เวฟ–สุภาวิดา สุขวัฒน์’ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 แขนงวิชาการออกแบบสินค้าไลฟ์สไตล์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ นำก้านธูปเหลือทิ้งมาดีไซน์เป็นผลิตภัณฑ์บนโต๊ะทำงาน โดยใช้ทุกส่วนของธูปมาพลิกแพลงให้เกิดประโยชน์สูงสุด จนเกิดเป็นผลงาน ‘GOODS LUX’
ขยะที่ยึดติดจากความเชื่อ 1 ล้านดอกต่อปี
อย่างที่รู้กันว่าปัจจุบันเทรนด์สายมูเป็นที่นิยมมากขึ้น ไม่ว่าจะไปไหนมาไหนก็เห็นคนตามรอยขอพรหรือแก้บนแทบทุกที่ นั่นจึงทำให้ธูปเป็นสินค้าใช้แล้วทิ้งที่มีความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ จนน่าตกใจ
“ด้วยความที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัด อาศัยอยู่ที่หนองคาย ผู้คนแถวนั้นเขาก็จะมีความเชื่อเรื่องพญานาคหรือพิธีกรรมทางศาสนา เราก็จะเห็นธูปมีอยู่ทุกที่ โดยเฉพาะวันสำคัญหรือวัดที่มีคนเยอะ บางทีคนไปไหว้แล้วจุดธูปยังไม่ทันได้เป่าหรืออะไรเลย เขาก็รีบเอาออกแล้วเพราะกลัวว่าไฟจะไหม้ ทำให้มีธูปเป็นเศษเหลือทิ้งเยอะมากทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ของมันจนเต็มที่เลย”
“ในปัจจุบันมีคนใช้ธูปมากกว่า 1 ล้านดอกต่อปี หมายความว่าขยะชิ้นนี้จะเหลือเยอะมากกว่า 1 ล้านดอกต่อปี ซึ่งในอนาคตประชากรก็เพิ่มขึ้น มีวัดวาอารามเพิ่มขึ้น คนนับถือศาสนาทำพิธีกรรมมากขึ้น มีสายมูเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงคนจีนที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในบ้านเรา ก็เลยคิดว่าจะมีตัวก้านธูปนี้เหลือทิ้งมากขึ้นเรื่อยๆ เราเคยถามทางวัดว่าเอาธูปไปทำอะไรต่อ บางวัดก็เอาไปใส่ต้นไม้ บางวัดก็เอาไปทิ้งใส่ถังขยะ บางวัดก็เอาไปเผาทำลาย ตอนนั้นเรารู้สึกว่าถ้ามันไม่มีประโยชน์ ถ้าจุดธูปแล้วเกิดมลพิษ งั้นเรามาเพิ่มมูลค่ามันดูไหม อย่างน้อยก็สามารถมาต่อยอดให้มันลดความอันตรายได้สักนิดก็ยังดี”
“แรกเริ่มเราก็เลยรวบรวมธูปมาจากวัดแถวบ้านและในศาลเจ้าหลีตี้เมี้ยวของงาน Bangkok Design Week ที่ทำเรื่องเกี่ยวกับธูปเหมือนกัน สารภาพว่าระหว่างทำก็แอบใจหวิวเหมือนกันว่ามาจากวัดมันจะมีอะไรตามรึเปล่า แต่สุดท้ายก็ไม่มีนะ เราอยากให้มองว่ามันคือขยะเหลือทิ้งที่เอามาสร้างเป็นสิ่งใหม่แล้วเกิดประโยชน์ เรารับธูปได้จากทุกที่ เพราะเจตนาเราคือทำยังไงก็ได้ให้ขยะมันหมด เพราะ ถ้าเรายังยึดติดกับความเชื่อมันก็ยังมีขยะเหลือทิ้งอยู่ และมองว่าผลิตภัณฑ์ของเราพ่วงมาด้วยฮวงจุ้ย พ่วงแต่สิ่งดีๆ ถ้ามันจะขลังก็ขลังด้วยสิ่งดีๆ เพราะงั้นไม่ต้องกลัวนะคะ (หัวเราะ)”
จากธูปเหลือทิ้งสู่ของใช้เอาใจสายมู
“พอรวบรวมธูปได้เยอะแล้ว สิ่งที่คิดต่อคือเราจะใช้ประโยชน์ส่วนไหนของมันได้บ้าง ตอนแรกคิดว่าจะใช้แค่ตัวก้านสีแดงของธูป เพราะมันมีเนื้อเยื่อพอจะเอาไปทำเป็นกระดาษได้ แต่เรารู้สึกว่าถ้าเอาปลายธูปที่เหลือด้านบนมาทำได้ด้วยมันก็จะไม่เกิดขยะเลย เราก็เลยศึกษาค้นคว้าต่อว่ามีวิธีไหนบ้างที่สามารถเอามาใช้ได้ทั้งหมด
“เราก็ลองถูกลองผิดหลายวิธี เอาไปทำเป็นกระดาษ ลองเอามาผสมปูนเปียก แล้วก็มีเอาไปทำเป็นปูนปั้นด้วย แต่สุดท้ายมาจบที่การใช้เครื่องอัดความร้อน ปรากฎว่ามันเวิร์ก เพราะเราใช้เครื่องจักร มันผสมด้วยตัวของมันเองได้ กระบวนการผลิตมันก็ไม่อันตราย ก็เลยได้มาเป็นตัววัสดุที่เทียบเคียงไม้อัด”
“คุณสมบัติของตัววัสดุที่เทียบเคียงไม้อัดคือมีลวดลายที่แตกต่าง ไม่ขึ้นเชื้อรา มีความแข็งแรงเหมือนไม้อัด แต่ข้อเสียของมันคือไม่ค่อยถูกกับน้ำ ก็เลยคิดว่าถ้าเอามาทำเป็นผลิตภัณฑ์บนโต๊ะทำงาน อย่างน้อยก็น่าจะเลี่ยงการโดนน้ำได้ประมาณนึง บวกกับมีความสนใจเรื่องความเชื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าถ้าทำเป็นผลิตภัณฑ์บนโต๊ะทำงานจากก้านธูปเหลือทิ้งที่แฝงหลักความเชื่อน้ำตกจำลอง เสริมความมงคลให้แก่ผู้ใช้งานก็น่าจะดี ยิ่งช่วงนี้เทรนด์สายมูกำลังเป็นที่นิยม เราก็สามารถนำไปตีตลาดหรือต่อยอดได้”
ดีไซน์เก๋และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
GOODS LUX มาจากการเล่นกับคำว่า Good luck ซึ่งแปลว่าโชคดี นำคำว่า Goods กับ Luxury มาผสมกัน เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความโชคดีและหรูหรา
ทำไมถึงต้องเป็นน้ำตกจำลอง เวฟเล่าว่าในแวดวงการทำมาค้าขายมีความเชื่อกันว่าน้ำตกจำลองจะช่วยเสริมฮวงจุ้ยด้าน โชคลาภ เงินทองไหลมาเทมา แต่ด้วยขนาดใหญ่และมีน้ำไหลอยู่ตลอดเวลา ก็อาจจะเหมาะกับการใช้งานของทุกคน เวฟจึงแก้ปัญหาโดยการออกแบบให้ฟังก์ชันการใช้งานสามารถวางของได้ และเปลี่ยนจากน้ำตกโดยใช้เส้นทองเหลืองแทน
“คอนเซปต์คือเราจะใช้แผ่นไม้สามชิ้นมาเรียงต่อกันสื่อถึงภูเขา โดยมีเส้นทองเหลืองเรียงต่อกันสื่อถึงน้ำตก เปรียบเสมือนเงินทองไหลมาเทมากักเก็บเอาไว้ตรงแอ่งน้ำ เหตุผลที่เราเลือกใช้เส้นทองเหลือง เพราะวัสดุหลักไม่ได้ใช้สารเคมีเลย อาจารย์ก็แนะนำว่าอยากให้ตัววัสดุร่วมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย และตัวทองเหลืองก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เท่ากับว่ามันจะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก 100% ที่มีความแข็งแรง ไม่ขึ้นเชื้อรา ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และมีลวดลายเฉพาะตัว”
“อีกส่วนนึงคือทองเหลืองใช้ในวงการพระเครื่องเยอะด้วย ก็อาจจะเสริมเรื่องความเชื่อไปในตัว โดยผู้ใช้งานสามารถเอาแผ่นไม้มาเรียงใส่ตามฟังชันก์การใช้งานได้ สามารถใช้วางสมุด เสียบด้ามปากกาหรือดินสอได้ตามชอบ”
“จากฟีดแบ็กที่ได้ไปจัดแสดงในงานต่างๆ คนส่วนใหญ่จะสนใจตัววัสดุของผลิตภัณฑ์เพราะมันดูแปลกใหม่ จากธูปที่เหลือทิ้งมันกลายมาเป็นชิ้นงานที่เทียบเคียงไม้อัดได้ กลายเป็นน้ำตกจำลองที่อยู่บนโต๊ะได้ มีการใช้งานได้จริง ซึ่งถ้าเรามีเครื่องมือที่สามารถอัดได้ใหญ่กว่านี้ ก็จะสามารถเอาไปทำชิ้นใหญ่ขึ้น ในอนาคตเราสามารถเอาไปเพิ่มแนวคิดอีกได้เรื่อยๆ นำไปต่อยอดทำเป็นสิ่งอื่นได้อีก”
“ถึงแม้ว่าทำเราต้องทดลองเยอะมากและต้องทำในเวลาที่มีจำกัด ทำให้บางทีทดลองมาแล้วล้มเหลวก็รู้สึกท้อ คิดว่าไปทำหัวข้ออื่นดีมั้ย แต่สุดท้ายเราก็มองว่าทำมาตั้งเยอะแล้วก็อยากเห็นมันเป็นรูปเป็นร่าง ก่อนอื่นต้องบอกว่าเราใหม่มากสำหรับโปรเจกต์นี้ แต่โชคดีที่มีอาจารย์กับรุ่นพี่คอยช่วยให้คำปรึกษาตลอด แล้วก็มีคนรอบข้างที่คอยซัพพอร์ตก็เลยผ่านมาได้”
ลองในสิ่งที่คนอื่นยังไม่ทำ
เวฟสารภาพกับเราว่าความตั้งใจแรกคืออยากเลือกวัสดุจากเหลือทิ้งแกลบมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อเห็นว่ามีคนทำเยอะแล้ว ก็รู้สึกว่าอยากต่อยอดสิ่งที่เคยยังไม่เคยมีใครทำมากกว่า เพราะอาจจะสร้างอิมแพ็กได้มากกว่า และอยากจุดประกายให้คนอื่นรู้สึกว่าสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวันก็สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าได้
“เรารู้สึกว่าถ้าใครมีความสนใจอยากทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับวัสดุเหลือทิ้งพวกนี้ก็ต้องใช้ความอดทนหน่อย การที่เราคิดเองทั้งหมดแน่นอนว่ามันอาจจะมีล้มเหลว ซึ่งอาจจะล้มเหลวหลายครั้งด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำ แต่เราก็ต้องศึกษาค้นคว้า หาคนที่จะแนะนำแนวทางได้ เราลองถูกลองผิดไปเยอะมาก จนกระทั่งทำออกมาแล้วได้ไปจัดแสดง มีคนให้ความสนใจทั้งตัววัสดุและผลัตภัณฑ์ของเราก็รู้สึกภูมิใจมาก”
ท้ายที่สุดแล้ว เวฟบอกกับเราว่าหนึ่งในวิธีที่สามารถช่วยแก้ปัญหาวัสดุเหลือทิ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือการช่วยกันสร้างคุณค่าใหม่กับนักออกแบบและสิ่งของใกล้ตัว
“ตอนนี้ในไทยมีขยะเหลือทิ้งอีกมากเลย ถ้าสิ่งนั้นมันไม่เป็นประโยชน์ เราก็เอามาทำใหม่ให้มันเกิดประโยชน์เพื่อเพิ่มมูลค่าได้
“เราอยากให้คนสนับสนุนงานดีไซน์มากขึ้น เพราะกว่าพวกเขาจะใช้ความคิดในการออกแบบให้คุณสมบัติเหมาะสมกับการใช้งานแล้ว ยังต้องทดลองวัสดุและศึกษากับสิ่งนั้นเยอะมาก ผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน เรามองว่าผลิตภัณฑ์บางอย่างมันก็สอดคล้องกับราคาที่ขายในราคาสูง เพราะต้นทุนที่เขาต้องทำมันไม่ง่ายเลย”