17 ZINE และหนังสือศิลปะที่ต้องจับจองก่อนหมด ในงาน Bangkok Art Book Fair 2017

เมื่อต้นปีเราได้ข่าวจากฟีดส์เฟซบุ๊กว่าประเทศไทยกำลังจะมีเทศกาลหนังสือศิลปะกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเราดีใจและตื่นเต้นแค่ไหนตามประสาคนที่แทบจะอยากกดจองตั๋วเครื่องบินตระเวนไปดูเทศกาลหนังสือศิลปะจากทั่วโลก เราเลยแวะไปพูดคุยกับทีมผู้จัดงานอย่าง ศุภมาศ พะหุโล จาก Bangkok Citycity Gallery และ ปิยกรณ์ ชัยวีรพันธ์เดช, พัชร ลัดดาพันธ์ 2 นักออกแบบกราฟิก มาแล้วตั้งแต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (อ่านบทสัมภาษณ์ของพวกเขาได้ที่นี่)

เวลาผ่านไปไว รู้ตัวอีกทีเทศกาล Bangkok Art Book Fair 2017 ก็พร้อมเปิดโรงอย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 7-10 กันยายน 2560 นี้ที่ Bangkok Citycity Gallery มีหรือที่เราจะพลาดตามติดไปดูว่าในงานมีอะไรสนุกๆ ที่พร้อมจะขับเคลื่อนวงการหนังสือศิลปะและหนังสือทำมือในบ้านเราบ้าง

งานนี้เราบุกไปถึงที่ แล้วจับเจ้าของบูธ คนทำซีนและคนทำงานศิลปะทั้งไทยและต่างประเทศมานั่งคุยถึงวิธีคิดและผลิตหนังสือแต่ละเล่ม คัดสรรออกมาให้ทุกคนรีบวิ่งไปจับจองเป็นเจ้าของกัน เพราะอย่างที่รู้ ซีนแต่ละเล่มผลิตมาจำนวนจำกัดมากๆ เท่านั้น อ้อ! ในงานไม่ได้มีแค่หนังสือเล่มที่เราคัดเลือกมาหรอกนะ แต่ยังมีอีกหลายเล่มให้ทุกคนออกไปลูบคลำด้วยมือตัวเอง

เอาล่ะ ได้เวลาสำรวจแล้ว!


โต๊ะหมายเลขที่ 03 : APERTURE BROUGHT ME HERE

  • in.scape โดย Wuthipol Ujathammarat

สำหรับคนชอบมองโลกผ่านเลนส์ เล่มนี้ตอบโจทย์แน่ เพราะนี่คือซีนรวมภาพถ่ายธรรมชาติโทนสีขาว-ดำ ทั้งเล่มเต็มไปด้วยเส้นสายสวยงามจากฝีมือของ ตั้ม กราฟิกดีไซเนอร์อิสระที่หลงรักงานถ่ายภาพ ล่าสุดเขาเพิ่งโยกย้ายที่อยู่จากเมลเบิร์น ออสเตรเลีย มายังบ้านเกิดที่กรุงเทพฯ ใน
in.scape ตั้มเลือกภาพถ่ายที่เขาบันทึกมาทั้งชีวิตจาก 3 เมือง อย่าง เมลเบิร์น ดูไบ และบางส่วนจากที่เที่ยวทางธรรมชาติเด็ดๆ ในไทย เราประทับใจรูปเล่มแสนเก๋สบายตาสบายใจ ใช้วิธีเข้าเล่มสุดสร้างสรรค์แบบแฟ้มงาน จัดวางหน้ากระดาษคลีนๆ ด้วยสีขาวและสีดำ ใช้การพับหน้ากระดาษเท่ๆ แบบฝรั่งเศส (French Fold) ทำให้เวลาอ่านข้อมูล ต้องแอบส่องตามร่องกระดาษแต่ละหน้าอย่างพินิจพิเคราะห์ ส่วนถ้าใครอยากรักษ์โลกเล่มนี้ไม่ทำให้ผิดหวังเพราะใช้กระดาษ Eco พิมพ์เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน

  • street stream โดย Wuthipol Ujathammarat

ซีนรวมรูปภาพเล่มที่ 2 ที่เราอยากแนะนำคือการรวมภาพแนวสตรีทจากการเดินถ่ายตามตรอกซอกซอยทั่วกรุงเทพฯ พิมพ์ออกมาอย่างเรียบง่าย บนรูปเล่มขนาดกะทัดรัด จัดวางภาพกรุงเทพฯ เล็กๆ แล้วเว้นพื้นที่ว่างขาวๆ ให้คนซื้อเอาภาพถ่ายของตัวเองมาติดเพิ่มเติมได้ตามใจชอบ หรือถ้านึกสนุกจะตัดภาพออกไปทำอะไรสนุกๆ ตั้มก็เชียร์ให้สร้างสรรค์ได้ตามใจ นอกจากคอนเซปต์ของการจัดวางจะจัดจ้านแล้ว การไม่เย็บเล่มยังเปิดโอกาสให้คนอ่านจัดเรียงหน้าเองได้ตามใจชอบเลย ถ้าอ่านแล้วสนใจอย่าลืมไปคว้ามาเก็บ

ส่วนถ้าอยากดูงานของตั้มให้เต็มอิ่ม เข้าไปดูได้ที่วาร์ปนี้จ๊ะ
tomwuthipol.com


โต๊ะหมายเลขที่ 10 : STUDIO MARKETING MATERIALS

  • AS IS โดย STUDIO MARKETING MATERIALS

นี่คือหนังสือศิลปะของนักออกแบบ เพราะใครจะทำหนังสือเกี่ยวกับการออกแบบได้ดีเท่าดีไซเนอร์จริงมั้ยล่ะ เคยมั้ย? ออกแบบกันแทบตาย แต่ลูกค้าไม่ซื้อไอเดียจนต้องพับเก็บงานลงลิ้นชักโดยฉับพลัน แต่แหม #คนรักงาน2017 อย่างสตูดิโอแห่งนี้เลยหัวใสเอาผลงานที่ตัดตกเหล่านั้นมาใส่ซองขายเก๋ๆ เอาไว้ให้ได้สะสมและใช้ดูไว้เป็นแรงบันดาลใจทำงานก็ดีไม่น้อยเลยนะ อ๋อ… ลืมบอกไปที่ใส่ซองนี้แยกผลงานเป็นแผ่นๆ แต่ไม่ได้เป็นเล่มนะ

  • AS IS TWO โดย STUDIO MARKETING MATERIALS

มีเล่มแรกยังมันไม่พอต้องมีเล่มสอง ใน AS IS TWO ในเล่มจะแบ่งเป็นเซคชันของคาแรกเตอร์ หน้าตาและชนิดของฟอนต์ ฟอร์มของศิลปะแอบสแตกที่ใช้ฟอร์มนามธรรม แถมในส่วนสุดท้ายยังมีรูปแบบการออกแบบของเหล่าสรรพสัตว์ หรือแม้แต่สิ่งของที่ล้วนสเก็ตช์มาแล้วแต่ไม่ผ่าน ทั้งนี้แต่ละหน้าจะมีข้อมูลอินไซต์โดยละเอียดเพื่ออธิบายฟอร์มที่ออกแบบขึ้นมา ว่าออกแบบตอนไหน เกิดอะไรขึ้นในช่วงการทำงานนั้น และตอบคำถามว่างานชิ้นนั้นเป็นของโปรเจกต์ไหนไว้อย่างครบถ้วนกระบวนความ



โต๊ะหมายเลขที่ 28 : POOP PRESS supported by RXXX Riso Print BKK

  • Japanese People in Chiangmai และ Japanese People in Bangkok โดย ณัฐนรี โกสุม

ถ้าคุณหลงรักประเทศญี่ปุ่นสุดจิตสุดใจ เราขอชูซีน 2 เล่มนี้ให้คุณ เพราะซีนขนาดเหมาะมือคู่นี้เต็มไปด้วยเรื่องราวของคนญี่ปุ่นที่มาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และ เชียงใหม่ ด้วยฝีมือศิลปินสาวรุ่นใหม่ ‘เอ็มเอ็ม’ บัณฑิตหมาดๆ จากรั้วมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร เจ้าของภาพวาดน่ารักสดใสในเพจ ‘MM.’ เธอเล่าว่าตัวเองสนอกสนใจคนและวัฒนธรรมญี่ปุ่นขนิดที่ว่าอินเข้าเส้น จนพัฒนาเป็นโปรเจกต์ส่วนตัวสมัยเรียนมหา’ลัย และต่อยอดเป็นงานภาพประกอบบทสัมภาษณ์คนญี่ปุ่นแต่ละคนว่า เขาเป็นใคร มาจากไหน มาทำอะไรในประเทศไทย โดยจัดวางอย่างเหมาะเจาะ แถมมีจุดเด่นที่ดึงดูดเรามากคือภาพวาดสไตล์ Reportage แสนเป็นเอกลักษณ์ แล้วอย่างนี้คนรักญี่ปุ่นแบบคุณจะไม่ซื้อกลับบ้านได้ไงล่ะ จริงไหม?


โต๊ะหมายเลขที่ 19 : DATA / STORYTELLING & BOOK WORKSHOP

  • HOW TO GET ALONG WITH BANGKOK โดย ธนกร เนตรจอมไพร และ ณัฐชยา จรรยาพาณิชย์

ถ้าคุณเป็นหนึ่งในแก๊งคนโกรธเมือง 2017 เราขอแนะนำซีนไอเดียสุดแสบ แต่สะท้อนปัญหากรุงเทพฯ ได้ตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝาท่ออ๊องๆ เลนจักรยานป่วยๆ แถมยังเสนอวิธีแก้ปัญหาได้ขำและเซอร์เรียลสุดๆ จากมันสมองสองนักศึกษาของ ธนกร และ ณัฐชยา ที่จับมือกันทำเป็นคู่ดูโอ้ อย่างเช่น การชวนนักปั่นพกสเปรย์สีพ่นลงไปบนทางที่อยากปั่น แล้วรอสีให้แห้ง เพียงเท่านี้คุณก็มีทางจักรยานเป็นของตัวเองแล้ว รักมาก ร้ายมาก

  • HOLY LONELY : พรชนิตว์ แย้มทรัพย์

จะเรียกว่าซีนก็ใช่ จะเรียกว่าไบเบิ้ลคนเหงาที่แท้ทรูก็ลงตัวนะ เพราะ พรชนิตว์ สาวนักศึกษาเจ้าของผลงานบอกว่า กรุงเทพฯ คือเมืองคนเหงา เราก็เลยต้องอยู่อย่างคนเหงาๆ อยู่กับความเดียวดาย…แม้ใครจะมองว่าทุกข์ แต่ฉันกลับสุขใจ ด้วยการรวบรวมสาเหตุของความเหงา ความถี่ของอาการ และวิธีรับมือกับความเหงาที่แสนจะน่ารักน่าหยิกจากคนกรุงเทพฯ 200 คน ตัวอย่างวิธีรับมือความเหงาก็มีตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับมันซะเลย กินให้หายเปลี่ยว ไปจนถึงระดับ advance อย่าง ดูหนังโป๊ คุยกับตัวเอง และ หาผัว…


โต๊ะหมายเลขที่ 23 : หายหายและหลายๆ คน

  • AFTERDEATH 101 โดย Paundz

ความตายไม่ใช่เรื่องเศร้าหรือน่ากลัว แต่เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ ถ้ารับมือได้ก็น่าสนุกไม่น้อย ยืนยันได้จากความคิดสร้างสรรค์ของ Paundz เจ้าของซีนที่คิดค้น 10 วิธีแสนสนุกว่าด้วยการเตรียมตัวก่อนตาย มีตั้งแต่เรื่องเสื้อผ้าหน้าผม วิธีบิน (อย่างวิญญาณ) วิธีเป็นคอนดักเตอร์ (กำกับเสียงหมาหอน) ท่าโพสต์ตอนตาย ฯลฯ ที่สุดแสนจะตลกร้าย ความเก๋คือแม้ว่าตัวเรื่องจะดาร์ก แต่กลับนำเสนอด้วยภาพประกอบแบบลายเส้นมินิมอล พิมพ์ด้วยสีแดงสดสีเดียวบนกระดาษขาว เข้าเล่มแบบแฟ้มส่งอาจารย์สมัยเด็ก แถมยังเล่าด้วยภาษาอังกฤษทั้งหมด เก๋แล้วยังอินเตอร์ เสียดายวันนั้นเราไม่ได้เจอเธอ

  • WT โดย เอ๋ย-ปัญจพร ไชยชมภู

ถ้าเป็นคนไม่ชอบอะไรซ้ำซากจำเจ ชอบความแปลกใหม่ ซีนที่ชื่อว่า WT เล่มนี้มอบประสบการณ์ใหม่ให้หายเบื่อแน่ เพราะเอ๋ย เจ้าของซีนได้ออกแบบวิธีการอ่านให้เป็นอะไรมากกว่าการพลิกหน้ากระดาษไปเรื่อยๆ เธอเลือกใช้คลิปบอร์ดสำนักงาน 30 อันเท่าที่หาได้มาหนีบกระดาษเรื่องสั้น ที่คละสี คละไซส์ คละขนาด บางอันก็ซ่อนสอดไส้ไว้ในซองจดหมายที่เธอสะสมไว้ หลายๆ เรื่องสั้น ถูกเล่าแบ่งด้วยการพรินท์จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์บ้าง เขียนด้วยลายมือล้วนบ้าง ผสมปนเปกันไป เดาทางไม่ถูกเลย เบื่อไม่ลงพูดตรงๆ เลย


โต๊ะหมายเลขที่ 29-30 : THE ARCHIVIST

  • = is not equal to โดย มิญชญา ชโยสัมฤทธิ์

ถ้าคุณเป็นคนรักสื่อสิ่งพิมพ์สุดขั้วหัวใจให้รีบวิ่งเข้าไปคว้าสิ่งพิมพ์ศิลปะที่ผลิตด้วยมือทุกขั้นตอนชื่อ = is not equal to (เล่มนี้เป็นภาคต่อของ is is equel) จาก มิน สาวเท่แห่งสตูดิโอสิ่งพิมพ์นาม THE ARCHIVIST ที่ใช้เทคนิค Silkscreen ในการทำงาน เล่มนี้มินเล่าภาพเปรียบเทียบกัน เพื่อให้คนอ่านเห็นว่าในภาพ 1 ภาพ เรามีวิธีการพิมพ์หลากหลายวิธีมากกว่าที่คิด

“เช่น อันนี้พิมพ์ขาวบนดำ แต่อันนี้พิมพ์ดำบนขาว เราจะมีวิธีคิดเรื่องการพิมพ์คนละแบบ หรือต้นฉบับที่เราเอามาทำแม่พิมพ์สกรีน จะมีทั้งที่วาดด้วยมือแล้วเอาไปถ่ายแม่พิมพ์เลย หรือสแกนลงคอมพิวเตอร์ แล้วก็ไปถ่ายแม่พิมพ์ก็ได้ รายละเอียดการพิมพ์เล็กๆ พวกนี้ เราต้องดูใกล้ๆ ถึงจะเห็น”

สำหรับดีไซเนอร์ คนทำงานอาร์ต และงานสื่อสิ่งพิมพ์ เราว่าคุณอินเล่มนี้แน่ๆ แต่ถ้าคุณเป็นคนนอกวงการ พอดูเล่มนี้อาจจะมองเรื่องงานพิมพ์ต่างไปจากเดิม คุณอาจเริ่มสนใจว่าสิ่งพิมพ์เล่มหนึ่งมีวิธีพิมพ์หรือเลเยอร์ที่พิมพ์ต้องพิมพ์กี่แบบ และทำให้ได้รู้ว่ากระบวนการพิมพ์มีกี่ขั้นตอนกันแน่

ถ้าอยากฝากตัวเป็นแฟนคลับสตูดิโอที่มีแพสชันด้านการพิมพ์รุนแรงแบบนี้เข้าไปส่องอินสตาแกรมชื่อ
@THEARCHIVISTPROJECT นะฮะ

  • 0636 โดย ธนัชพร เดชกุญชร (Nuttal)

คนเศร้าอย่ามัว sad จนตาบวม เพราะคุณควรเก็บสายตาให้พ้นจากม่านตา เพื่อมาร้องไห้ให้กับภาพวาดแสนเศร้าโทนชมพู-ฟ้า ใน Zine ชื่อ 0636 ของธนัชพร ผู้หยิบเอาเรื่องราวความสัมพันธ์รักร้าวรานมาถ่ายทอดเป็นภาพวาดที่ทั้งหวานและหม่นเศร้าไปในคราวเดียวกัน เจ้าของซีนเล่าไอเดียเด่นว่าซีนเล่มนี้ใช้สีต่างๆ เป็นสัญลักษณ์สื่อสารอารมณ์ความรู้สึก-สีชมพูคือความสุข สีฟ้าคือความโศก ส่วนสีม่วงคือสีที่ตัวละครชายในเล่มชื่นชอบ-นอกจากจะ sad บาดจิต ภาพยังสวยบาดใจ แอบกระซิบนิดนึงว่าเล่มนี้ทำมือทั้งเล่มเลยนะ


โต๊ะหมายเลขที่ 20 : DOOR TO ASIA

  • A Fresh Pair Of Eyes โดย Ellie See (Malaysia)

เหมาะกับคนเล่นของเพราะเล่มนี้เขามีของให้เล่น นั่นก็คือ แว่นตากระดาษ สาวน้อยเจ้าของซีนนี้เธอเป็น Designer in Residence ของแก๊ง DOOR to ASIA เธอได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในโทโฮคุ พื้นที่ภัยพิบัติครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น และทำงานร่วมกับคนท้องถิ่น นี่เป็นครั้งแรกที่เธอได้ไปที่ญี่ปุ่น ความรู้สึกและมุมมองของเธอจึงเหมือนกับเด็กน้อย สดใหม่ ตื่นตาตื่นใจ และสนุกไปกับทุกๆ อย่างที่เห็น โดยบอกเล่าออกมาในรูปแบบแว่นตาที่ตัวเลนส์สามารถเป็นอะไรก็ได้ ลองพลิกๆ เล่นๆ ดูสิ!

  • BENEATH THE SURFACE โดย Ryan Len (Singapore)

ซีนสีเจ็บจากหนึ่งใน Designer in Residence ของแก๊ง DOOR to ASIAโครงการนักออกแบบในพำนัก ที่ให้นักออกแบบเอเชียแต่ละคนมาใช้เวลาในพื้นที่ใหม่เพื่อสร้างงานออกแบบที่เชื่อมโยงกับคนในพื้นที่ ซีนเล่มนี้เหมาะกับคนชอบแซะ ชอบแงะมาก เพราะว่า Ryan เจ้าของซีนและเจ้าของสตูดิโอ The Workbench เลือกเล่าและเย็บเล่มที่ถ้าพลิกผ่านๆ จะเห็นแค่เพียงภาพถ่ายในพื้นที่โทโฮคุ แต่ถ้าลองแง้มดูจะเห็นว่าเขาสอดไส้คำบรรยาย เรื่องราวไว้ในไส้!


โต๊ะหมายเลขที่ 07-08 : INPAGES

  • Saigon Art Book โดย INPAGES

คนติสต์แตกมาทางนี้ เพราะนี่คือหนังสือศิลปะคอนเซปต์เก๋ๆ จากกลุ่มคนไม่แสวงผลกำไร INPAGES ที่ดำเนินการเคลื่อนไหวในประเทศเวียดนามมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว เราขอแนะนำว่าคุณไม่ควรพลาดซื้อเก็บเลยแม้แต่นิดเดียว ทุกปีคนกลุ่ม INPAGES จะพิมพ์หนังสือ 1 เล่ม เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปินเวียดนาม 5 คน ที่อยู่ในไซ่ง่อน หนังสือ Saigon Art Book เต็มไปด้วยกลเม็ดและลูกเล่นที่น่าสนใจ และการทดลองแสนท้าทาย อาทิ เทคนิคการพิมพ์ การจัดวางหน้ากระดาษ เพื่อแปรเปลี่ยนศิลปะบนพื้นที่จริงให้มาตั้งอยู่บนหนังสืออย่างสวยงาม เช่น ชุดภาพถ่ายที่ศิลปินสาวชาวเวียดนามได้เจอหนุ่มในแอพพลิเคชัน Tinder ทำให้ทั้งสองได้ออกไปท่องเที่ยวในเวียดนาม 1 เดือนเต็ม พอเปิดดูเล่มนี้ ให้ความรู้สึกราวกับว่าผู้อ่านได้เดินเข้าไปในแกลเลอรี่ที่จัดแสดงโน้ตบันทึกความรู้สึกและภาพถ่ายบันทึกความทรงจำของศิลปินเกี่ยวกับการเดินทาง นอกจากนี้ยังพยายามจำลองภาพวาด ประติมากรรม การแสดงสด และงานอื่นๆ ให้ใกล้เคียงความสมจริงมากที่สุด

  • Here are some flowers โดย INPAGES

Zine ภาพถ่ายสวยๆ ระหว่างคนกับดอกไม้ของ Dang Thanh Long นอกจากเวลากลางวันเขาจะทำงานเพื่อขับเคลื่อนกลุ่ม และ ร้านหนังสือ INPAGES ในเมืองโฮจิมินห์ ตอนกลางคืนเขายังหยิบจับกล้องมาเก็บภาพสวยๆ ทำเป็นซีนขนาดกะทัดรัดที่พับเก็บพกพาได้ง่ายๆ แล้วถ้าคิดว่านี่คือซีนรวมภาพถ่ายคนกับกับดอกไม้ธรรมดาๆ ขอบอกเลยว่าคิดผิด เพราะคนทำ Long บอกกับเราว่าแต่ละเล่ม แต่ละภาพถ่ายด้วยกล้องโพลารอยด์ล้วนๆ เพราะฉะนั้นถ้าคุณซื้อคุณจะได้เป็นเจ้าของงานทำมือฉบับลิมิเต็ดที่ไม่มีทางซ้ำใครอย่างแน่นอน

ใครอยากทำความรู้จักกลุ่ม INPAGES ให้มากขึ้นคลิกเว็บไซต์ทางการของพวกเขาได้เลย
inpages.org


โต๊ะหมายเลขที่ 33 : สำรับสำหรับไทย

  • หนังสืองานศพอาหารริมทาง โดย เชฟปริญญ์ ผลสุข

สายกินสายจกข้าวเหนียวส้มตำข้างทาง ขอให้ตามกลิ่นอาหารหอมกรุ่นออกมายังสนามหญ้าของงาน นอกจากเขาจะเสิร์ฟอาหารไทยริมทางที่โคตรอร่อย เขายังจัดทำหนังสือไว้อาลัยให้กับชีวิตของ Street Food ไทยที่กำลังจะหายไปจากบ้านเราในอนาคต เชฟจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้คล้ายกับหนังสืองานศพมีการกล่าวคำนิยมถึงผู้ตาย (นั่นก็คืออาหารริมทางนั่นเอง) ว่าพวกเขารู้สึก มีความทรงจำ หรือคิดอย่างไร และแทรกด้วยเมนูอาหารริมทาง อย่าง ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ

ไปเจอหนังสือเหล่านี้และเหล่าคนรักกลิ่นสิ่งพิมพ์กันได้ที่งาน Bangkok Art Book Fair 2017 ยังจัดถึงวันอาทิตย์ที่ 10 กันยายนนี้ ค่าเข้างาน 60 บาท/คน/วัน ยิงยาวได้ตั้งแต่บ่ายโมงถึงสามทุ่มเลยนะ

www.bangkokartbookfair.info

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR