ข่าวใหญ่ที่สร้างความคึกคักให้กับวงการรถไฟไทยที่สุดในตอนนี้ไม่ได้มีแค่การเปิดให้บริการของรถไฟขบวนใหม่ 115 คัน ที่มียอดจองเต็มล่วงหน้ายาวเหยียดเท่านั้น แต่ยังมีข่าวการเดินทางมาถึงของรถไฟมือสองชื่อ
Hamanasu จาก JR Hokkaido ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 10 คัน
รถไฟชุดนี้กำลังจะถูกดัดแปลงให้กลายเป็นรถไฟท่องเที่ยวชุดแรกของประเทศไทย โดย TCDC
เรื่องราวเป็นยังไงมายังไง อดิศร สิงหกาญจน์ วิศวกรกำกับการกองโครงการและวางแผน การรถไฟแห่งประเทศไทย จะเล่าให้เราฟัง
เมืองไทยเราเคยทำรถไฟใช้เองมาก่อนนะ
ถ้าย้อนอดีตกลับไป
โรงงานมักกะสันคือโรงงานรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เริ่มผลิตตู้รถไฟใช้เองมาตั้งแต่ปี
2510 (ผลิตได้เฉพาะตู้รถไฟ แต่ยังต้องซื้อหัวจักรที่ใช้ลาก) ช่วงแรกเราเริ่มจากการผลิตรถสินค้าอย่างรถโบกี้ตู้ใหญ่
(บตญ.) และรถโบกี้บรรทุกน้ำมันข้น (บทค.) ในช่วงปี 2517 – 2518 ก็เริ่มผลิตรถโดยสาร
และช่วงปี 2522 – 2523 ก็ผลิตรถโดยสารปรับอากาศ จนกระทั่งปี
2526 รัฐบาลก็ได้สั่งให้ยุติการสร้างรถโดยสารจากโรงงานมักกะสัน
รถโดยสารที่ผลิตโดยโรงงานมักกะสันชุดสุดท้าย จำนวน 16 คัน
เป็นรถโดยสารนอนชั้นสองปรับอากาศ สร้างขึ้นเมื่อปี 2525 รัฐบาลในขณะนั้นตัดสินใจให้ซื้อรถไฟจากต่างประเทศแทนการผลิตใช้เองเนื่องจากต้นทุนต่ำกว่า หลังจากที่เราเลิกสร้าง ประเทศศรีลังกาได้ว่าจ้างพนักเทคนิคให้เขียนแบบรถโดยสารชั้นสามให้ โดยลอกแบบของรถชั้นสามของไทยเรา แล้วก็ว่าจ้างอดีตสารวัตรที่สร้างรถไปคุมงานผลิตและสร้างรถ โดยซื้อจิ๊ก (เครื่องมือขึ้นชิ้นงาน) ไปด้วย หลังจากนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทยก็ไม่ได้ผลิตตู้รถไฟเองอีกเลย
จะมีบ้างก็แค่ดัดแปลงตู้เก่าให้กลายเป็นรถไฟสุดสวยเพื่อให้ผู้บริหารการรถไฟใช้โดยสารไปตรวจงาน
ซึ่งตู้ที่ดังที่สุดก็คือ SRT Prestige
ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ
เราซื้อรถไฟจากที่ไหนมาใช้
เมื่อก่อนเราซื้อรถไฟมือหนึ่งมาใช้
เหมือนรถไฟรุ่นล่าสุด 115 คัน ที่เราซื้อจากจีน สมัยก่อนเราซื้อจากญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลี และประเทศในยุโรป แต่ช่วงหลังปี 2538 รฟท. ขาดแคลนรถไฟอย่างมาก จึงซื้อรถไฟมือสองจากออสเตรเลียมาใช้
รุ่น Queensland ซึ่งเป็นรุ่นตู้สแตนเลส จำนวน 21 คัน ปัจจุบันยังคงใช้วิ่งอยู่เป็นรถไฟฟรี
และปี 2542 สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ประกอบกับการขาดแคลนจำนวนรถโดยสาร
ก็ขอรถไฟมือสองจาก JR West มาใช้รอบแรก
จำนวน 26 คัน เป็นรถดีเซลราง รุ่น KIHA 58 เอามาปรับปรุงประตู รีเกรดล้อแล้ววิ่ง รับการประชุมลูกเสือโลกและการแข่งขันเอเชี่ยนเกม และหลังจากนั้นในปี 2543 มีการรับรถดีเซลรางปรับอากาศอีก 28 คัน เราเอามาดัดแปลงเป็นรถโดยสารชั้นสามปรับอากาศ ในปี 2550 เราได้รับรถรุ่น Blue Train จาก JR West จำนวน 20 คัน ซึ่งเป็นรถนอนปรับอากาศรุ่นที่โด่งดังมากของญี่ปุ่น
(ในเมืองไทยรู้จักกันในชื่อรถไฟตู้นอนเตียงสองชั้น หรือ ตู้ญี่ปุ่น)
นั่นคือรถไฟมือสองรุ่นสุดท้ายที่รฟท. ได้รับจาก JR
รถไฟไทยมีวันหมดอายุ
ตอนนี้รฟท. มีรถโดยสารอายุ 95 ปี 60 ปี 50
ปี ที่ยังไม่ตัดบัญชี แต่อีก 5 ปีข้างหน้า จะมีการตัดบัญชีรถไฟชุดใหญ่
ซึ่งต้องดูนโยบายในขณะนั้นว่าจะนำรถไฟที่ตัดบัญชีแล้วไปทำอะไร ซึ่งเป็นไปได้ทั้งบริจาค
(เรากำลังจะมอบรถดีเซลรางให้กัมพูชา 4 คัน)
หรือประกาศประกวดราคา ให้ผู้ประกอบการประมูลเอาไปใช้ ซึ่งอาจจะเอาไปปรับปรุงเป็นร้านอาหาร
หรือเอาไปตกแต่งสถานที่ ถ้าไม่มีคนเสนอราคาเข้ามาก็จะตัดขายเป็นเศษเหล็ก
ดังนั้นเมื่ดตัดบัญชีตู้รถไฟออกไปจำนวนหนึ่ง เราจึงต้องการรถไฟมาทดแทน
รถไฟญี่ปุ่นก็มีวันหมดอายุ
ปี 2558
เป็นปีที่ญี่ปุ่นประกาศยกเลิกการใช้รถไฟรุ่น Blue Train เป็นจำนวนมาก JR West เลิกใช้ประมาณ 40 คัน ส่วน JR
Hokkaido เลิกใช้ราวๆ 30 – 40 คัน
ซึ่งแทบจะเป็นการปิดตำนานรถไฟตู้นอนและรถนั่งระยะยาวชุดสุดท้ายของญี่ปุ่น
เนื่องจากการพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศทำให้การเดินทางข้ามเมืองไม่ได้ใช้เวลานานขนาดต้องนอนข้ามคืนอีกแล้ว
โดยปกติแล้ว เมื่อมีการปลดระวางรถไฟ บริษัทรถไฟในญี่ปุ่นแต่ละแห่งก็จะมีวิธีจัดการรถเก่าต่างกันออกไป
JR Kyushu ขึ้นชื่อในเรื่องการนำรถไฟเก่ามาดัดแปลงให้กลายเป็นรถไฟท่องเที่ยวสุดสวย
ส่วน JR ภูมิภาคอื่นๆ ก็ต้องหาทางจัดการกำจัดรถเหล่านี้ออกไป
เพราะไม่สามารถนำมาจอดทิ้งไว้เฉยๆ ได้ เนื่องจากจะผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมลภาวะ
หากนำไปทำลายก็ต้องเสียค่าใช้จ่าย บริษัท JR ทั้งหลายจึงนิยมมอบให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา
ซึ่งจะเกิดประโยชน์กว่า
รถไฟมือสองของญี่ปุ่นเดินทางไปที่ไหน
รถไฟที่ปลดระวางแล้วของญี่ปุ่น
มักถูกส่งไปตามประเทศต่างๆ ในอาเซียน ถ้าเป็นประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย
ก็สามารถใช้งานได้เลย เพราะรางรถไฟมีความกว้าง 1.067 เมตร เท่าญี่ปุ่น แต่ถ้าเป็นประเทศไทย
เมียนมาร์ และมาเลเซีย ซึ่งรางกว้าง 1.00 เมตร ต้องนำตู้โดยสารที่ได้รับมารีเกรดล้อเพื่อให้วิ่งบนรางได้
และเนื่องจากสถานีรถไฟในญี่ปุ่นมีชานชาลาสูง ส่วนไทยชานชาลาต่ำ
เราจึงต้องดัดแปลงประตูใหม่
รวมทั้งปรับระบบปรับอากาศให้เข้ากับอุณหภูมิและความชื้นของบ้านเรา
ไทยได้รถไฟจากญี่ปุ่นมาได้ยังไง
เมื่อจะยกเลิกการใช้งานรถไฟ
บริษัท JR แต่ละแห่งไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการในพื้นที่สาธารณะ
แต่เป็นที่ทราบกันในแวดวงคนรถไฟญี่ปุ่น
บริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับรถไฟในญี่ปุ่นทราบข่าวนี้จึงส่งข่าวมายังรฟท. ว่าสนใจไหม ซึ่ง
JR West ตัดสินใจมอบรถไฟทั้งหมดที่ปลดระวางเมื่อปี 2558 ให้เมียนมาร์
ส่วนรถไฟของ JR Hokkaido ทีแรก รฟท. ลังเลว่าจะขอมาใช้ดีไหม
เนื่องจากกำลังจะได้รถไฟใหม่ 115 คัน
แต่สุดท้ายพอรัฐบาลมีนโยบายให้รฟท. ร่วมกับเอกชนพัฒนารถไฟท่องเที่ยว
รฟท. จึงตัดสินใจขอรถ 10 คัน เพื่อนำมาดัดแปลงทำรถไฟท่องเที่ยว
ประเทศไทยได้รถไฟอะไรมา
Hamanasu (ฮะนะมะสึ หรือ กุหลาบญี่ปุ่น เป็นดอกไม้ประจำเกาะฮอกไกโด)
รถไฟรุ่นนี้ผลิตเมื่อปี 1988 เป็นขบวนรถที่แล่นจากเกาะฮอกไกโดข้ามไปเกาะฮอนชู
จากสถานีซับโปโรไปสถานีอาโอโมริ
เป็นรถตู้นอนและนั่งที่เดินทางในช่วงกลางคืนถึงปลายทางในตอนเช้า ให้บริการเที่ยวสุดท้ายวันที่
21 มีนาคม 2559 เห็นรถสวยๆ แบบนี้ เราได้มาแต่ตู้โดยสารนะ
เขาไม่ได้ให้หัวลากมาด้วย
ภาพด้านนอก
ภาพ www2.jrhokkaido.co.jp
บรรยากาศภายในรถ
บรรยากาศผู้คนที่มาร่วมอำลาการเดินรถเที่ยวสุดท้าย วันที่
21 มีนาคม 2559
รถไฟท่องเที่ยวขบวนแรกในประเทศไทย
รฟท. เห็นว่ารถไฟยุคใหม่ไม่ควรทำหน้าที่ขนส่งผู้โดยสารเท่านั้น
แต่ควรทำหน้าที่สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับการเดินทางด้วย
ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบคือ มีทรัพยากรท่องเที่ยวสองข้างทางรถไฟเยอะมาก
ทั้งธรรมชาติ และอาคารเก่า ถ้าเอามาใช้เป็นจุดขายให้คนมาใช้บริการรถไฟก็น่าจะดี ที่ผ่านมารฟท.
เคยแต่นำรถโดยสารธรรมดามาใช้เป็นรถท่องเที่ยว เช่น รถไฟที่แล่นไปสถานีน้ำตก
หรือสถานีสวนสน ในช่วงวันหยุด
เพราะเราไม่เคยมีรถไฟที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในการท่องเที่ยวจริงๆ รถไฟชุดใหม่ 115 คัน
ก็ไม่ใช่ รถไฟท่องเที่ยวที่ดีต้องสร้างประสบการณ์พิเศษให้กับผู้โดยสารได้ในรูปแบบต่างๆ
รฟท. จึงตั้งใจจะปรับปรุงรถไฟ Hamanasu 10 คัน
ที่ได้รับมาจาก JR Hokkaido ให้เป็นรถไฟท่องเที่ยวชุดแรกของประเทศไทย
ใครออกแบบ
นอกจากจะเป็นรถไฟท่องเที่ยวขบวนแรกของประเทศไทยแล้ว
นี่ยังเป็นการออกแบบรถไฟด้วยนักออกแบบมืออาชีพผ่านกระบวนการออกแบบมาตรฐานครั้งแรกของไทยเช่นกัน
รถไฟ 10 คันนี้เดินทางมาถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2559
ตอนนี้จอดอยู่ที่ชุมทางศรีราชา หลังจากที่รฟท. ว่าจ้าง TCDC (ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลเหมือนกัน)
ให้เป็นที่ปรึกษาโครงการเรียบร้อย TCDC จะลงมือทำงาน 3 ส่วน
ส่วนแรก คือทำวิจัยศึกษาหาข้อมูล และศึกษาความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ ส่วนที่สอง
ออกแบบเชิงแนวคิด (Conceptual design) ว่ารถไฟขบวนนี้ควรมีลักษณะอย่างไรทั้งภายนอกและภายใน
ส่วนที่สาม การออกแบบรายละเอียด (Detailed design) ว่าจะใช้วัสดุอะไร
สีอะไร TCDC มีเวลาทำงานทั้งหมดราว 6 เดือน
จากนั้นก็จะใช้เวลาอีก 3 เดือนเพื่อประกาศประกวดราคาหาผู้รับเหมา
เมื่อได้ผู้ชนะการประกวดราคา ก็ใช้เวลาดัดแปลงอีก 180 วัน
รวมเวลาทั้งสิ้นก็อีกประมาณปีครึ่ง คนไทยก็น่าจะได้นั่งรถไฟท่องเที่ยวขบวนแรก แค่คิดก็ตื่นเต้นแล้ว!
ภาพ อดิศร สิงหกาญจน์