2017 ปีแห่งการท้าทายระบบเก่าครั้งยิ่งใหญ่ของโลกภาพยนตร์

เมื่อยืนอยู่ปลายขอบปี หันกลับมองย้อนไปยังโลกภาพยนตร์ในปีนี้ เราพบว่าเป็นปีที่มีเรื่องราวฮาร์ดคอร์เกิดขึ้นหลายอย่างมากมาย เป็นปีที่เหมือนภูเขาไฟลูกใหม่ที่ระอุมานานในที่สุดก็ระเบิดขึ้น แถมระเบิดขึ้นพร้อมกันหลายลูกในทุกมุมเมืองของวงการ

แมตช์หลักๆ ของปีนี้ที่อาจมีผลต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยรวม คือการตัดสินใจขึ้นหลังเสือของ Netflix ผู้เล่นรายเล็กที่ริอาจหืออือกับยักษ์ใหญ่มากมาย จากการเป็นเพียงแค่ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งจนเริ่มผลิตออริจินัลคอนเทนต์ของตัวเองในช่อง มาปีนี้โปรเจกต์ 50 ล้านที่พวกเขาปลูกปั้นขึ้นมาก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในนาม Okja และพร้อมยกระดับจากออริจินัลคอนเทนต์ในช่อง ให้กลายเป็นออริจินัลฟิล์มแบบหนังฟอร์มใหญ่พร้อมท้าชนกับหนังในโรงภาพยนตร์ทั่วไป (แต่ไม่ฉายโรง)

ถ้าทำแค่ฉายในช่องตัวเองคงไม่มีใครว่าอะไร แต่นาย Netflix ดันเอาหนังส่งเข้าไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ จนทำให้เกิดความปั่นป่วนในเรื่องนิยามของภาพยนตร์เทศกาลว่า หนังที่ไม่ยอมฉายโรงทั่วไปนั้นสามารถเข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์ปกติได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ทำไมถึงไม่ได้ทั้งๆ ที่ก็เป็นภาพยนตร์เหมือนกัน ซึ่งนำไปสู่คำถามต่างๆ อีกมากมาย เช่น นิยามคำว่าภาพยนตร์นั้นจำเป็นต้องถูกล็อกไว้ในโรงภาพยนตร์หรือไม่ ถ้าหนังที่สร้างเสร็จแต่ไม่มีโอกาสได้ฉายโรงเพราะไม่มีเงินจัดจำหน่ายจะยังถือเป็นหนังได้ไหม ถ้าหนังที่ดีมากๆ แต่ฉายให้ดูแค่ในมือถือจะยังถือเป็นหนังที่ดีรึเปล่า ถ้าเป็นหนังที่ดีทำไมมันถึงไปเข้าเทศกาลภาพยนตร์ปกติไม่ได้ หรือนี่จะเกี่ยวข้องกับการที่เจ้าของธุรกิจเก่าไม่อยากให้ธุรกิจใหม่เกิดขึ้นมาเพื่อแบ่งเค้กกำไร พวกนายอยู่ออนไลน์ก็อยู่ไป ไม่ต้องมายุ่งกับโรงออฟไลน์ หรือภาพยนตร์ที่แท้จริงก็ควรจะผูกติดกับโรงภาพยนตร์จริงๆ เพื่อให้มันได้แสดงประสิทธิภาพทั้งภาพและเสียงได้อย่างเต็มที่ และยังคงรักษาความเป็นสื่อที่รวมผู้คนเอาไว้ด้วยกัน เป็นความศักดิ์สิทธิ์ของภาพยนตร์ที่สามารถสร้างประสบการณ์ร่วมให้กับผู้คนแบบที่จอสมาร์ตทีวีและสมาร์ตโฟนให้ไม่ได้

หรือสุดท้าย ทั้งหมดนี้คือการเล่นเกมของ Netflix การเบลอเส้นระหว่างหนังจอเล็กกับหนังจอใหญ่เป็นแค่เหตุผลหลอกที่จะทำให้ตัวเองสามารถฉกฉวยความศักดิ์สิทธิ์ของการเป็นหนังโรงจากเทศกาลหนังนานาชาติที่ทั่วโลกให้ความสนใจเพื่อเอาไปใช้โปรโมตและเพิ่มมูลค่าให้กับหนังจอเล็กของตัวเองเฉยๆ (พูดง่ายๆ คือหาทางเข้าไปฉายคานส์ เพื่อชุบตัวและจะได้เอามาโฆษณาว่ามีหนังคานส์ (ที่สร้างโดยพวกเราเอง) มาฉายให้ท่านได้ดูที่บ้านแบบเอ็กซ์คลูซีฟแล้วนะ)

ด้านฝั่งหนังโรงภาพยนตร์ก็ไม่ได้ยอม Netflix ง่ายๆ ในเมื่อตัวเล็กตามจี้ติดตูดมาขนาดนี้แล้ว ฝั่งโรงก็ต้องพยายามอัพเดตตัวเองด้วยการไปพัฒนาเทคโนโลยีหนัง 3D และ 4D กันมากมายอย่างที่ท่านจะได้เห็นในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะทำสำเร็จได้อย่างที่ตั้งใจเอาไว้ กลับกลายเป็นว่าเทรนด์ดันหักเหไปทาง IMAX 2D มากกว่า ค่ายหนังเริ่มปล่อยให้ผู้กำกับทำหนังระบบ 70 มม. ออกมามากขึ้น (แม้ว่าจะไม่เยอะ) แต่ก็ค่อยๆ เริ่มกลายเป็นเทรนด์ขึ้นมาในหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งคริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมที่เห็นเด่นชัด ผ่านหนังอย่าง Dunkirk ที่สร้างมาเพื่อโชว์ประสิทธิภาพของหนังในโรงภาพยนตร์โดยเฉพาะ ตัวหนังแทบจะไม่มีเนื้อเรื่องอะไรชัดเจน เพราะมันถูกสร้างมาเพื่อให้ผู้คนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ได้นั่งเสพความใหญ่ของภาพ ความเกรี้ยวกราดของเสียง อันเป็นสิ่งที่ทำให้เราเรียกการชม Dunkirk ว่าเป็น ‘ประสบการณ์’ ได้จริงๆ และแน่นอนว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ในโรงภาพยนตร์เท่านั้น

ปีนี้จึงเป็นปีแห่งการสู้รบกันระหว่างฝั่งสตรีมมิ่งและฝั่งโรงภาพยนตร์โดยแท้จริง หลังจากการเตรียมตัวกันมาตั้งแต่ปี 2015 – 2016 ก็มาระเบิดพร้อมกันในปีนี้ แต่ทั้งหมดนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ของการเริ่มต้นเท่านั้น เพราะใครจะอยู่ใครจะไป ต้องดูกันต่อในปี 2018 บวกไปอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะหลังจากการระเบิดพลังของ Netflix ด้วย Okja นั้นก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะมายึดพื้นที่หนังโรงได้ ส่วนทางด้าน Dunkirk เองก็อาจจะเป็นปรากฏการณ์ใหญ่ แต่ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง มันก็จะเป็นเพียงแค่พลุลูกหนึ่งที่อาจทำให้คนตื่นตัวเรื่องการดูหนังในโรงภาพยนตร์แบบชั่วครั้งชั่วคราว

ในขณะเดียวกันบรรดาค่ายหนังต่างๆ ถึงจะต่อต้าน Netflix ขนาดไหน พวกเขาก็มีทีท่าว่าจะลงไปเล่นเกมเดียวกับ Netflix ด้วยเช่นกัน (มึงมาตีกับกู กูก็มายึดมึงเลย) ไม่ว่าจะเป็นการที่ดิสนีย์ถอนหนังออกจาก Netflix ทั้งหมดเพื่อที่จะเอาไปสร้างระบบสตรีมมิ่งของตัวเองในปี 2019 และยิ่งดิสนีย์เพิ่งซื้อ 21st Century Fox มาด้วย คราวนี้เขาจะมีหนังในมือเยอะมากๆ ไม่ว่าจะทั้ง Star Wars หรือโซนมาร์เวลทั้งหลาย ว่าง่ายๆ คือมีหนังยึดไปครึ่งโลกแล้ว

ในขณะที่ Netflix ก็มีแพลนว่าจะซื้อหนังเข้าช่องตัวเองน้อยลง (ก็คงต้องเป็นแบบนั้น เพราะเกิดค่ายหนังอื่นๆ มายึดหนังคืน ก็ซวยกันอีก) และพวกเขาก็วางแผนสร้างออริจินัลฟิล์มถึง 80 เรื่องในปีหน้า ซึ่งในหลายเรื่องเหล่านั้น มีหนังงบ 100 ล้านของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ (Martin Scorsese) ที่ชื่อ The Irishman ซึ่งพาสามหน่ออย่าง โรเบิร์ต เดอ นีโร (Robert De Niro) อัล ปาชิโน (Al Pacino) และโจ เพสซี่ (Joe Pesci) มาเจอกันอีกครั้ง และแว่วว่าจะมีการทำหนังให้เดอนีโรกลับมาเป็นหนุ่มอีกครั้ง คล้ายๆ กับที่เราได้เห็นแครี่ ฟิชเชอร์ (Carrie Fisher) เป็นสาวอีกรอบใน Rogue One: A Star Wars Story ว่าง่ายๆ นี่คือการท้าชนหนังโรงอีกรอบของเจ้าสตรีมมิ่งขาใหญ่ทีมนี้โดยการสร้างงานที่ใหญ่มากไปเลย แต่เพื่อเอาไปลงจอเล็ก ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่รู้กันว่าค้านกับนโยบายในใจของมาร์ติน สกอร์เซซี่เพียงไร เพราะสกอร์เซซี่ยืนยันให้คนรักหนังเห็นความสำคัญของการดูหนังในโรงภาพยนตร์มาโดยตลอด แต่การที่เขาได้รับโอกาสจาก Netflix ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกับตัวเขา เพราะ Netflix ให้อิสระในการสร้างหนังอย่างมากมายแก่ผู้กำกับมากกว่าสตูดิโออื่นๆ

แม้ว่าจะต่อสู้กันมาหลายปีและยังไม่เห็นผลแพ้-ชนะกัน แต่รับรองว่าปีหน้าและปีถัดไปน่าจะเห็นเค้าลางของการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะต่างฝ่ายต่างเอาจริงและเล่นใหญ่กว่าเดิม สิ่งนี้จะพัฒนาไปพร้อมกับการเติบโตของสายเล็กสายน้อยอย่างหนังอินเตอร์แอคทีฟหรือหนัง VR ที่ยังดูมีทีท่าว่าจะเวิร์กยากกับคนดูทั่วโลกที่ยังเห็นภาพยนตร์เป็นเครื่องมือสร้างความบันเทิงโดยที่ตัวเองไม่ต้องทำอะไรมากมาย แค่นั่งดูเฉยๆ ฉันไม่ขอหันไปมองอะไร ขี้เกียจมีอิสระ แต่ก็ไม่แน่ว่าหากมันพัฒนาจนถึงจุดหนึ่ง มันอาจจะเป็นคลื่นลูกใหม่สำหรับการชมภาพยนตร์…ที่ก็คงจะกลับมาถกเถียงกันใหม่อีกรอบ (อีกแล้ว) ว่านี่เรียกว่าภาพยนตร์หรือเปล่า หรือเป็นเพียงแค่เกมแนวใหม่

แน่นอนที่สุดว่าคนกำไรคือผู้ชมทุกคน ข้อดีของสงครามนี้มีอยู่อย่างเดียวคือ เราจะได้เห็นความคิดสร้างสรรค์สุดขีดออกมาอีกนับไม่ถ้วน เพราะโมงยามแห่งครีเอทีฟที่แจ๋วที่สุดคือช่วงเวลาที่มนุษย์ต้องเอาตัวรอดนี่แหละครับ

สวัสดีปีใหม่ล่วงหน้า ขอให้ยังได้พบกันในปีหน้า แล้วมาดูกันว่าเรามีอะไรใหม่ๆ ให้ดูที่โรงภาพยนตร์และหน้าจอมือถืออีกไหม และอะไรที่ว่านั่น เราจะเรียกว่าภาพยนตร์หรือเปล่า

ภาพ livekindly.co, ltrbxd.com, movieweb.com
ภาพประกอบ พนิดา มีเดช

AUTHOR