‘ขนมปังขิง’ จากของหวานวันคริสต์มาส สู่สถาปัตยกรรมสไตล์โกธิก

เชื่อว่าช่วงคริสต์มาสแบบนี้ ไม่มีอะไรจะทำให้เราใจฟูได้เท่ากับต้นสนประดับไฟ กล่องของขวัญ คุณลุงซานตา รวมไปถึง ‘ขนมปังขิง หรือ Gingerbread’ ของหวานรูปทรงเอกลักษณ์ ไอคอนิกประจำ Christmas Dinner ที่ต้องเสิร์ฟปิดท้ายมื้อถึงจะถือว่าจบคอร์สเลี้ยงฉลอง 

แม้จะมีชื่อว่า ‘ขนมปัง’ แต่เนื้อสัมผัสและรูปร่างที่เห็น กลับมาในรูปแบบคุกกี้รูปคน แถมยังไม่มีรสชาติเผ็ดร้อนของขิงเหมือนกับชื่อเลยสักนิด นอกจากจะเป็นของหวานแล้ว เจ้าขนมปังขิงยังไปโผล่เป็นคาแรกเตอร์ในแอนิเมชันอย่างเรื่อง ‘เชร็ค’ รวมไปถึงเป็นพระเอกในเกมคลาสสิก

อย่าง ‘Cookie Run’ ยิ่งไปกว่านั้นในแวดวงของสถาปัตยกรรม ขนมปังขิงก็ถือเป็นอีกหนึ่งสไตล์การออกแบบที่ได้รับความนิยมในยุโรป รวมไปถึงประเทศไทย ที่มี ‘เรือนขนมปังขิง’ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เลยทีเดียว 

นอกจากขนมปังขิงจะสร้างความอร่อยบนโต๊ะแล้ว ยังสร้างความสวยงามในด้านศิลปะและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากมาย และเพื่อให้เข้ากับเทศกาลคริสต์มาส เราอยากพาทุกคนไปย้อนเวลา ทำความรู้จักขนมหวานมหัศจรรย์อย่าง ‘ขนมปังขิง’ ถ้าพร้อมจะเริ่มเดินทางแล้ว ก็ขึ้นไทม์แมชชีนไปด้วยกันได้เลย

เมื่อ ‘ขนม’ กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ศาสนา 

Gingerbread แม้จะแปลตรงตัวว่า ‘ขนมปังขิง’ แต่ในยุคก่อนกลับไม่ได้หมายถึงของหวานอย่าง คุกกี้รูปคนแบบที่เราเคยเห็นในปัจจุบัน แต่คือวิธีการถนอมอาหารชนิดหนึ่งที่ใช้ ‘ขิง’ เป็นส่วนประกอบนั่นเอง โดยมีการบันทึกว่าชาวอียิปต์โบราณมีขนมอบที่ใช้น้ำผึ้งเป็นสารให้ความหวาน และเสิร์ฟในพิธีศพ เช่นเดียวกันกับชาวโรมันที่มีขนมอบที่ทาหน้าด้วยน้ำผึ้งที่ชื่อว่า Panus Melitus

ย้อนกลับไปในจุดเริ่มต้นความฮอตฮิตของขนมชนิดนี้ เกิดขึ้นเพราะการเผยแพร่ศาสนาในยุคสงครามครูเสด โดยมีพระชาวอาร์มีเนียน (ประเทศอาร์มีเนีย) ที่ชื่อว่า Gregory of Nicopolis (Grégoire de Nicopolis) ได้นำสูตรขนมปังขิงของชาวอาหรับเข้ามาในยุโรปเป็นครั้งแรก และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เพราะนอกจากจะเป็นขนมที่เก็บได้นาน แถมเหมาะแก่การเอาไปแจกจ่ายให้ประชาชนแล้ว ยังสามารถทำรูปทรงเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงศาสนาคริสต์ เพื่อใช้ในการเผยแพร่ศาสนาได้อีกด้วย 

หลังจากนั้นขนมปังขิงก็ได้รับความนิยมไปทั่วยุโรป โดยเฉพาะในเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ที่มีการบัญญัติอาชีพ ‘เลบเซลเทอร์ (Lebzelter)’ หรือที่แปลว่า คนทำขนมปังขิงในทะเบียนภาษีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1370 เลยทีเดียว 

แม้ขนมปังขิงในแต่ละภูมิภาคจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามสูตรของคนในพื้นที่นั้นๆ แต่ส่วนผสมหลักยังคงเป็นขิงและน้ำผึ้งเหมือนเดิม จนกระทั่งในปลายศตวรรษที่ 19 มีการคิดค้น ‘ผงฟู’ ขึ้นมาเป็นครั้งแรกของโลก ทำให้สูตรการทำขนมปังขิงเปลี่ยนแปลงไป คือส่วนฐานของแป้งต้องฟูขึ้นกว่าต้นฉบับ จนกลายเป็นขนมปังขิงสูตรปัจจุบันที่เราคุ้นชิน 

ของหวานไฮคลาสในงานรื่นเริง 

หลังจากสงครามครูเสดสิ้นสุดลง หน้าที่ของขนมปังขิง จากที่เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ความเชื่อ ก็แปรเปลี่ยนเป็นของหวานที่ไว้เลี้ยงฉลองในงานรื่นเริง เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการทำขนมปังขิงนั้นมีราคาที่สูง และต้องใช้เครื่องเทศหายากจากแดนไกล ทำให้ประชาชนมักจะอบกินเฉพาะในวาระพิเศษเท่านั้น 

หนึ่งในวาระพิเศษที่หมายถึงคือ ‘งานเฟสติวัล’ หรือ ‘งานแฟร์’ โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 1900 งาน Grimsby Fair ซึ่งมีธรรมเนียมที่รู้กันคือ ผู้ที่ได้กินขนมปังขิงจากงานนี้จะได้รับความโชคดี โดยความน่าสนใจคือ ขนมปังขิงในยุคนี้มีการเปลี่ยนรูปทรงที่ไม่ใช่แค่สัญลักษณ์ทางศาสนา แต่มีการทำแม่พิมพ์เป็นรูปต่างๆ ตั้งแต่รูปพื้นฐานอย่างหัวใจ ไปจนถึงรูปกษัตริย์ พร้อมตกแต่งด้วยทองคำเปลวเพิ่มความหรูหรา 

ส่วนคำถามที่หลายคนสงสัยมาตั้งแต่ต้นว่า ขนมปังขิงรูปคนที่เราคุ้นเคยมาจากไหน? คำตอบคือเป็นเพราะความครีเอทีฟของ ควีนอลิซาเบธที่ 1’ (Queen Elizabeth I) แห่งอังกฤษ ที่ต้องการเสิร์ฟขนมปังขิงในงานเลี้ยงคริสต์มาสสำหรับพระราชอาคันตุกะหรือแขกคนสำคัญ พระองค์จึงปรับโฉมขนมปังขิงให้แกลมสมฐานะ โดยการทำเป็นรูปคนเหมือนกับแขกที่มาในงาน มีการตกแต่งด้วยน้ำตาลไอซิ่ง และที่ขาดไม่ได้คือริบบิ้นที่อยู่ตรงคอ เสมือนชุดสูทของแขกที่มาร่วมงาน และนี่เป็นครั้งแรกที่ Gingerbread Man ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างเป็นทางการ 

หลังจากขนมปังขิงรูปคนถูกเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ก็ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำโต๊ะอาหารวันคริสต์มาสไปโดยปริยาย โดยในนอร์ธไรดิง รัฐยอร์กเชียร์ มีการละเล่นที่น่ารักของเด็กๆ ในช่วงคริสต์มาส คือการทำขนมปังขิง พร้อมกับร้องเพลงไปตามบ้านต่างๆ เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความสุขนี้

“A little bit of pepper cake

A little bit of cheese,

A cup of cold water

And a penny if you please.”

– Carol Singing Cake

ไม่ใช่แค่ขนม แต่เป็นเครื่องแสดงฐานะ

หากเปรียบเทียบว่าในงานปาร์ตี้ขนาดของเพชรบนคออาจใช้วัดความหรูหราของผู้สวมใส่ เช่นเดียวกันกับการเสิร์ฟขนมปังขิงบนโต๊ะอาหารวันคริสต์มาส ยิ่งเจ้าบ้านเสิร์ฟขนมปังขิงมากแค่ไหน ก็ยิ่งแสดงถึงความมั่งคั่งของเจ้าของบ้านมากแค่นั้น 

ย้อนกลับไปในช่วงที่เครื่องเทศมีราคาสูงและหายาก โดยเฉพาะหญ้าฝรั่น ดังนั้นเมนูของหวานชนิดนี้ จึงถูกใช้เป็นเครื่องแสดงฐานะชั้นดี ที่เจ้าบ้านไม่ต้องตะโกนอวดรวยให้คนอื่นหมั่นไส้ เพราะแค่เสิร์ฟขนมปังขิง โรยเครื่องเทศเยอะๆ แบบจุใจ แค่นี้เหล่าแขกผู้มางานก็รู้แล้วว่าคุณของจริง! 

นอกจากขนมปังขิงจะกลายเป็นเมนูเข้าสังคมแล้ว อีกหนึ่งประโยชน์ที่ไม่น่าเชื่อของขนมมหัศจรรย์ชนิดนี้ คือ บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย เนื่องจากส่วนผสมหลักอย่างขิง มีสารซิงเจอโรน (Zingerone) ที่ช่วยต้านแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย จากหลักฐานมีการบันทึกว่าในยุคควีนอลิซาเบธ ขนมปังขิงได้รับยกย่องว่าเป็น ‘เค้กหรือแป้งชนิดหนึ่งที่ทำขึ้นเพื่อให้สบายท้อง’

นี่จึงอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่คนมักนิยมเสิร์ฟขนมปังขิงปิดท้ายมื้ออาหารในวันคริสต์มาส เพื่อช่วยให้ทุกคนสบายท้อง และเตรียมพร้อมสำหรับกิจกรรมแกะของขวัญต่อไป 

บ้านขนมปังขิง กลิ่นอายของความประณีตในสไตล์โกธิก

ใครที่เคยผ่านไปแถวเสาชิงช้า น่าจะพอคุ้นหน้าคุ้นตากับคาเฟ่กึ่งพิพิธภัณฑ์ที่ชื่อว่า ‘บ้านขนมปังขิง’ ที่ไม่ได้มีขนมปังขิงขายเหมือนอย่างชื่อ แต่มาจากสไตล์การออกแบบสถาปัตยกรรมแนว 

‘บ้านขนมปังขิง’ (Gingerbread House) ที่โดดเด่นด้วยลายไม้แกะสลักสุดประณีต แต่อะไรทำให้ของหวานในวันคริสต์มาส กลายเป็นสไตล์การออกแบบบ้านไปได้? 

จุดพลิกผันเกิดขึ้นในประเทศเยอรมนี ยุคศตวรรษที่ 16 เมื่อความสนุกในวันคริสต์มาสมาพร้อมกิจกรรมรอบโต๊ะอาหาร และหนึ่งในนั้นก็คือการต่อขนมปังขิงให้กลายเป็นบ้าน แต่สิ่งที่ทำให้การละเล่นนี้ขยายไปในวงกว้าง มาจากนิทานเรื่อง ‘ฮันเซลและเกรเทล’ (1812) เทพนิยายเยอรมันจากฝีมือของ 2 พี่น้องตระกูลกริมม์ โดยมีสถานที่หลักของเรื่องเป็นบ้านขนมปังขิงที่ประดับตกแต่งด้วยลูกกวาดนานาชนิด และในที่สุดกลายเป็น ‘วัตถุดิบ’ ในการสร้างบ้านจำลองของเหล่าเด็กๆ

เมื่อมาถึงในศตวรรษที่ 18 มีการนำขนมปังขิงไปใช้เรียกสไตล์การออกแบบสถาปัตยกรรมแนวคาร์เพนเตอร์โกธิกที่มีความละเอียดอ่อน ใช้การฉลุ แกะสลักหน้าจั่ว ซึ่งหงิกงอแต่ก็ประณีตเหมือนขนมปังขิง โดยสไตล์นี้ได้รับความนิยมอย่างมากในยุควิกตอเรียน (ค.ศ. 1837 – 1901) ของประเทศอังกฤษ 

ไม่ใช่แค่ตะวันตกเท่านั้น แต่ประเทศไทยเราเอง ก็มีการรับเอาสถาปัตยกรรมแบบบ้านขนมปังขิงเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 4 ยุคที่ชาวสยามกำลังตื่นตากับความเจริญของต่างประเทศ และบ้านทรงขนมปังขิงก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เรานำเข้ามา โดยมีสถานที่สำคัญที่หลงเหลือเป็นหลักฐานในปัจจุบัน ได้แก่ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต พระตำหนักเพ็ชร ไปจนถึงบ้านขนมปังขิง ที่เสาชิงช้า ที่ตอนนี้แปรสภาพกลายเป็นคาเฟ่เก๋ๆ ให้เรานั่งจิบกาแฟชมเมืองเก่า

การเดินทางของขนมปังขิง เริ่มต้นจากเมืองเล็กๆ ในอียิปต์ ข้ามน้ำข้ามทะเล ผ่านสงครามครูเสด ผ่านงานรื่นเริงนับร้อย ผ่านการโดนเปลี่ยนรูปร่างหลายต่อหลายครั้ง จนกลายเป็นมนุษย์ขนมปังขิงติดโบในวันคริสต์มาส และยังแตกแขนงออกเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมสุดประณีต ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีความสร้างสรรค์ของมนุษย์ ที่เนรมิตของหวานธรรมดาให้กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่น่าเหลือเชื่อแบบนี้ ว่าแล้วก็อย่าลืมฉลองวันคริสต์มาสด้วยขนมปังขิงร้อนๆ สักชิ้นกันดูนะ

AUTHOR