ในโลกที่ความวุ่นวายถาโถมเข้ามาเหมือนพายุ หลายคนจึงมองหา ‘หลุมหลบภัย’ เพื่อหลีกหนีความจริง หนึ่งในเซฟโซนยอดนิยม คงจะหนีไม่พ้นแอนิเมชันจาก Ghibli ที่เปรียบเหมือนผ้าห่มผืนบางที่โอบกอดจิตใจในวันที่เราเหนื่อยล้าจนเกินจะรับไหว
การได้ท่องโลกแฟนตาซีใน Spirited Away, เดินกางร่มเคียงคู่ไปกับ Totoro, เรียนรู้การเป็นแม่มดร่วมกับ Kiki หรือสำรวจป่าลึกลับใน Princess Mononoke ทุกเรื่องราวอันแสนมหัศจรรย์นี้ พาหัวใจรู้สึกอบอุ่นอย่างลึกซึ้ง ผ่านเวทมนตร์ฉบับ Ghibli ที่เทคโนโลยี หรือ AI หน้าไหนลอกเลียนแบบไม่ได้

ชื่อของ Ghibli Studio ไม่ได้มาจากเครื่องบินรบอิตาลีสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงลมร้อนในทะเลทรายซาฮารา ซึ่งตั้งแต่ปี 1985 จนถึงปัจจุบัน พวกเขาก็ยังคงเป็น
‘ลมลูกใหม่ในวงการอนิเมะ’ ตามที่ตั้งใจไว้ได้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าพร้อมจะตกหลุมรักเวทมนตร์ Ghibli บทนี้แล้ว ก็ตามไปร่ายคาถากันเลย
จิตวิญญาณที่สะท้อนผ่านลายเส้นวาดมือ
ลายเส้นที่ประณีต พริ้วไหว สมจริงตั้งแต่ปลายผมตัวละคร ไปจนถึงไอน้ำจากหม้อที่กำลังระอุ ทั้งหมดคือเสน่ห์ที่ไม่มีใครเหมือนของแอนิเมชันจาก Ghibli Studio
ต้องยกความดีความชอบให้กับ ‘ฮายาโอะ มิยาซากิ’ หนึ่งในผู้ก่อตั้งของ Ghibli ที่ยึดมั่นในเทคนิคการใช้ลายเส้นวาดมือ หรือ Hand-drawn animation มาตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้ง ภายใต้ความเชื่อที่ว่าการวาดมือทำให้รู้สึกถึงชีวิต และภาพที่วาดโดยคนจริงๆ ทำให้ผู้ชมรู้สึกถึง ‘จิตวิญญาณของศิลปิน’ ที่อยู่ในทุกๆ ลายเส้น

ถ้าสังเกตดูดีๆ แอนิเมชันจากค่ายนี้ ใช้เทคนิคการวาดมือแทบทั้งหมด แม้จะมีการใช้เทคโนโลยีช่วยในการลงสีบางส่วน แต่ภาพเคลื่อนไหวหลักๆ ยังคงวาดมือในทุกเฟรม โดย Ghibli Studio มีการก่อตั้ง Studio Ghibli Training Program สถานที่ฝึกนักวาดใหม่ให้เข้าใจกระบวนการแอนิเมชันแบบดั้งเดิม พวกเขาจะได้รับการฝึกฝนเทคนิค interval frames ที่ช่วยทำให้การเคลื่อนไหวลื่นไหลอย่างธรรมชาติแบบที่โมเดล 3D ทำไม่ได้
เราไม่ได้ต่อต้านคอมพิวเตอร์ แต่การใช้มันทำแอนิเมชัน
ก็เหมือนกับการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแทนที่จะทำอาหารจริง

แอนิเมชันเรื่องล่าสุดของมิยาซากิอย่าง The Boy and the Heron (2023) หรือเด็กชายกับนกกระสา ใช้การวาดมือเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเฟรมกว่า 170,000 เฟรม ทำให้ใช้เวลาในการสร้างยาวนานถึง 7 ปี ก่อนจะปรากฏบนจอให้คนทั่วโลกได้ชมภาพสุดประณีตผ่านลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์
ในวันที่เทคโนโลยี AI เข้ามาลดทอนคุณค่าของผลงานศิลปะ มิยาซากิเคยแสดงทัศนคติต่อต้าน AI อย่างชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2016 โดยเขาบอกอย่างกล้าหาญว่า “ผมดูสิ่งนี้แล้วไม่รู้สึกสนใจเลย คนที่สร้างสิ่งนี้ขึ้นมาไม่เข้าใจความเจ็บปวดเลยแม้แต่น้อย ผมรู้สึกขยะแขยงอย่างที่สุด”
ความเรียบง่ายที่สวยงาม
สารภาพมาซะดีๆ ว่าใครนั่งท้องร้องตอนดูฉากทำอาหารจากการ์ตูน Ghibli เรียกได้ว่าแทบจะเป็นลายเซ็นซิกเนเจอร์ของแอนิเมชันจากค่ายนี้ไปแล้ว ที่สามารถสร้างฉากเรียบง่ายอย่างการปรุงอาหารหน้าเตา หรือล้อมวงนั่งกินข้าวได้สวยงามละเมียดละไม จนทำให้คนดูอย่างเราละสายตาไม่ได้

วิถีชีวิตที่เรียบง่าย ค่อยเป็นค่อยไป เสมือนตัวละครกำลัง ‘ใช้ชีวิตประจำวัน’ ให้เราดู คืออีกหนึ่งเวทมนตร์ของ Ghibli ที่ทรงพลังมากกว่าฉากแอ็กชันอลังการจากเรื่องไหนๆ พวกเขาใช้เทคนิคการเว้นช่องว่างให้คนดูได้พักหายใจ และรู้สึกร่วมไปกับตัวละครที่กำลังดำเนินชีวิตของตัวเองอย่างไม่รีบร้อน

แม้โลกในจินตนาการของ Ghibli จะเต็มไปด้วยความแฟนตาซี หลุดโลก และไม่มีทางหาได้ในชีวิตจริง แต่การใส่ฉากสุดเรียบง่าย อย่างการทำอาหารเช้าหน้าเตาในเรื่อง Howl’s Moving Castle ที่ทำให้เราเห็นว่าบ้านวิเศษหลังนี้ ก็มีมุมธรรมดาเหมือนบ้านหลังอื่นๆ หรือแม้กระทั่งฉากกางร่มรอรถเมล์ของ My Neighbor Totoro ที่ใช้เสียงฝนปลอบโยนหัวใจเราให้อบอุ่น ไปจนถึงการนั่งกินข้าวปั้นธรรมดาในเรื่อง Spirited Away ก็ทำให้คนดูรู้สึกอบอุ่นหัวใจไปด้วยกันได้

ทั้งหมดคือความธรรมดาแสนพิเศษที่ชวนให้เราลองหันกลับมามองชีวิตประจำวันในโลกความจริง เพื่อค้นหา ‘ความสวยงาม’ ที่ซ่อนอยู่
ปรัชญาที่อยู่ใต้ฉากการ์ตูน
ฉากหน้าของ Ghibli อาจเป็นแอนิเมชันสีสันสดใส ดำเนินเรื่องด้วยเหล่าตัวละครที่มีพลังวิเศษ แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังความเสมือนจริงเหล่านั้น ได้แฝงปรัชญาในการใช้ชีวิตบนโลกจริงไว้อย่างเข้มข้นแทบทุกอณู
หนึ่งในแอนิเมชันที่ประสบความสำเร็จจนไปคว้ารางวัลออสการ์มาได้ก็คือ Spirited Away (2001) เรื่องราวการผจญภัยในโลกแฟนตาซีของเด็กหญิงวัย 10 ขวบ ที่ว่ากันว่าถ้าเราดูเรื่องนี้ในวัยที่ต่างกัน ก็จะได้รับสารที่ผู้กำกับตั้งใจจะสื่อต่างกันออกไปด้วย ไม่ว่าจะระบบทุนนิยมขนาดย่อมที่แฝงในโรงอาบน้ำ, ผีไร้หน้าที่สะท้อนความเหงาของคน รวมถึงความโลภที่กลายเป็นสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ ทั้งหมดกลายเป็นธีมสำคัญที่แฝงอยู่ใต้ภาพที่เหมือนฝัน

Spirited Away ไม่ใช่โลกแฟนตาซีที่พาเราหนีความจริง
แต่มันคือกระจกที่สะท้อนความจริงผ่านนัยในเรื่อง
อีกหนึ่งปรัชญาที่ซ่อนอยู่ใน Ghibli แทบทุกเรื่องคือการให้ความสำคัญกับ ‘ธรรมชาติ’ ทั้งการละเมียดละไมวาดต้นไม้ ใบหญ้าให้สวยงามเหมือนของจริง รวมถึงเนื้อหาของแต่ละเรื่องที่มักมีการเกี่ยวโยงกับธรรมชาติไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเรื่อง Princess Mononoke (1997) แอนิเมชันสร้างชื่อที่ทำให้ Ghibli Studio มีชื่อเสียง เล่าเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างป่ากับมนุษย์ เมื่อป่าในเรื่องไม่ใช่เพียงฉากหลัง แต่มันคือ ‘ตัวละคร’ ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องราว
ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังแก้ไม่หายมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

และเนื่องจาก 2 ผู้ก่อตั้งอย่าง ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) และ อิซาโอะ ทาคาฮาตะ (Isao Takahata) ต่างก็เติบโตมาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้พวกเขาต่อต้านสงครามในทุกรูปแบบ และไม่เคยเชื่อว่า ‘สงครามมีฮีโร่’
ทัศนคติที่ชัดเจนนี้ สะท้อนผ่านผลงานชิ้นสำคัญอย่าง Grave of the Fireflies (1988) ภาพยนตร์ที่ได้ชื่อว่าทำให้คนจิตตกมากที่สุดหลังดู เล่าเรื่องราวของความจริงที่เจ็บปวดในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านมุมมองของเด็กที่ไร้เดียงสา 2 คนที่กลายเป็นเหยื่อในสงครามครั้งนี้

Ghibli ไม่ใช่การ์ตูนวัยใสเหมือนที่หลายคนคิด เสน่ห์ของมันคือการสอดแทรก ‘นัย’ ที่ต้องใช้ประสบการณ์ชีวิตเป็นใบผ่านทางถึงจะเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่
เติบโตไปกับตัวละคร
‘สีเทา’ น่าจะเป็นคำจำกัดความตัวละครแบบ Ghibli ได้ดีที่สุด เพราะไม่ว่าจะตัวเอก ไปจนถึงตัวประกอบที่ออกไม่กี่ซีน ทุกตัวล้วนเป็นตัวแทนของมนุษย์ที่มีหลายมิติ ไม่มีใครเป็นคนดีสีขาว 100 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงเหล่าตัวร้ายก็ไม่มีใครเลวจนดำสนิทไปเสียหมด การเป็นพี่เลี้ยงทางบ้านที่เฝ้ามองทุกๆ ตัวละครเติบโต จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนดูรักและอินไปกับพวกเขาอย่างลึกซึ้ง
ตัวเอกของแอนิเมชันค่ายนี้ล้วนมี ‘จุดบกพร่อง’ ที่รอการแก้ไข ตัวละครที่เห็นได้ชัดสุดคือพ่อมดหนุ่มหล่ออย่าง ‘ฮาวล์’ จากเรื่อง Howl’s Moving Castle (2004) ที่ภายนอกดูเป็นพ่อมดที่เก่งกาจมากไปด้วยเสน่ห์ แต่ความจริงแล้วกับเก็บซ่อนความกลัว สับสน และไม่มั่นใจในตัวเอง ทำให้เขาเลือกที่จะไม่อยู่ฝ่ายไหนในสงคราม และซ่อนตัวเองไว้ในบ้านเคลื่อนที่แห่งนี้ จนได้เจอกับ ‘โซฟี’ หญิงสาวต้องคำสาปที่ต้องกลายเป็นหญิงชรา ความอบอุ่นของเธอเข้ามาละลายน้ำแข็งในจิตใจ ทั้งสองเรียนรู้ เข้าใจ และยอมรับกันและกันจากภายใน ไม่ใช่รูปลักษณ์ภายนอก

อีกหนึ่งเรื่องที่ตรึงใจผู้ชมไว้ได้อย่างอยู่หมัดคือ Kiki’s Delivery Service (1989) เรื่องราวของแม่มดน้อยวัย 13 ปีที่ต้องออกเดินทางไปค้นหาตัวเอง พร้อมทั้งเผชิญหน้ากับภาวะหมดไฟที่กำลังกัดกินตัวตนของเธอ ‘กีกี้’ ไม่ใช่แม่มดผู้ยิ่งใหญ่ที่กอบกู้โลก สิ่งที่ทำคือการขี่ไม้กวาดส่งของ เธอจึงเป็นตัวแทนของคนธรรมดาที่เริ่มต้นชีวิตในเมืองใหม่ เผชิญหน้ากับความไม่คุ้นเคย และอดทนกับความเหนื่อยล้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือธรรมชาติของการเติบโตที่ทุกคนต้องผ่านไปให้ได้

ไม่มีใครรู้คำตอบชีวิตทั้งหมดในวัย 13 ปี (หรือแม้แต่ 30)
ความสับสนคือส่วนหนึ่งของการหาทางไปข้างหน้า
เหล่าตัวละครที่ไม่ดีเลิศเหล่านั้น ล้วนเป็นตัวแทนของมนุษย์ทุกคนในโลกแห่งความเป็นจริง การได้เฝ้ามองตัวละครเติบโต เผชิญหน้ากับปัญหา และเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นในตอนจบ จึงเป็นเหมือนแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ให้เรากล้าที่จะลุกขึ้นมาสู้กับโลกที่โหดร้ายกันอีกสักครั้ง
เมื่อเราเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โลกที่เต็มไปด้วยสายรุ้งเมื่อตอนเด็ก อาจเต็มไปด้วยเมฆฝนมาแทนที่ ท่ามกลางสายฝนแห่งความสิ้นหวังที่เข้ามากัดกินตัวตนเราทีละน้อย ยังคงมีแอนิเมชันจาก Ghibli ที่เป็นเหมือนสถานที่เล็กๆ ให้เราได้หลบฝน พักเหนื่อย และหายใจได้ลึกๆ อีกครั้ง ความละเมียดละไมที่ใส่ใจในทุกๆ องค์ประกอบ พาให้เราเชื่อในความงดงามของโลกใบนี้อีกครั้ง นี่สินะ..เวทมนตร์ฉบับ Ghibli ที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย