A Hundred Flowers กับความทรงจำและเรื่องเล่าของ เกงกิ คาวามูระ

น้อยมากที่เราจะเห็นนักเขียนนิยายระดับ best seller ลุกขึ้นมากำกับหนังที่สร้างจากนิยายขายดีของตัวเอง เกงกิ คาวามูระ (Genki Kawamura) กับหนังเรื่อง A Hundred Flowers คือหนึ่งในนั้น

สำหรับใครที่ไม่คุ้นหูกับชื่อของ เกงกิ คาวามูระ ถ้าบอกว่าเขาคือเจ้าของผลงานอันโด่งดังอย่าง If Cats Disappeared From The World หรือในชื่อภาษาไทยว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีแมว คงร้องอ๋อ นั่นคือนิยายเรื่องแรกของเขาที่ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์และได้รับความนิยมไม่แพ้กัน แต่กำกับโดยคนอื่น

แต่ก่อนที่จะเขียนนิยาย เกงกิ คาวามูระ มีอาชีพเป็นโปรดิวเซอร์หนัง ซึ่งผลงานในพอร์ตโฟลิโอของเขาก็ไม่ธรรมดา เช่น Your Name, Confessions, Parasyte เป็นต้น

ส่วน A Hundred Flowers คือนิยายเล่มที่ 4 และเป็นผลงานการกำกับหนังเรื่องแรกของเขา เรื่องราวของแม่ผู้เป็นอัลไซเมอร์ กับลูกชายที่ต้องค้นลึกลงไปในความทรงจำของแม่เพื่อคลี่คลายปมในชีวิตของตัวเอง นำแสดงโดย สุดะ มาซากิ (Suda Masaki) และ ฮาราดะ มิเอโกะ (Harada Mieko) ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ เกงกิ คาวามูระ ได้รับรางวัล Silver Shell For Best Director จากเทศกาลหนัง San Sebastian ที่สเปนในปีนี้ไปครองด้วย

เรามีโอกาสได้พบกับ เกงกิ คาวามูระ เนื่องจากเขามาโปรโมตหนังเรื่อง A Hundred Flowers ที่ประเทศไทย ณ ตึกสหมงคลฟิล์ม โดยคืนก่อนหน้านั้น ทีมชาติญี่ปุ่นเพิ่งเอาชนะทีมชาติสเปน ได้เข้ารอบ 16 ทีมในฟุตบอลโลก เรากล่าวแสดงความยินดีกับเขา เกงกิ คาวามูระ ออกตัวว่า เขาดูบอลถึงตี 4 หลังจากนั้นก็นอนไม่ค่อยหลับเพราะตื่นเต้น เขาเลยจะง่วงๆ นิดหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำและความคิดที่ออกมาจากปากของชายผู้เป็นทั้งนักเขียนเบสต์เซลเลอร์ เป็นทั้งโปรดิวเซอร์และผู้กำกับหนังมือรางวัลนั้น ไม่ได้ชวนง่วงแม้แต่น้อย แต่กลับทำให้เราตื่นใจไปกับหลายประเด็นที่ได้ยินแล้วช่างกระตุกต่อมคิด 

อยากรู้ว่ามันเป็นยังไงที่ได้กำกับหนังจากนิยายของตัวเอง มันมีข้อดีหรือมีข้อจำกัดยังไงบ้าง 

ตอนผมไปงานเทศกาลหนัง San Sebastian ที่สเปน และได้รางวัล best director มาด้วย ตอนนั้นกรรมการผู้ตัดสินได้บอกไว้ว่า เหตุผลที่ให้รางวัลเบสต์ไดเรกเตอร์กับผม เป็นเพราะว่าในโลกนี้เขาก็เจอแค่ไม่กี่คนที่เขียนหนังสือเอง และเอาหนังสือของตัวเองมากำกับหนังเอง ซึ่งสำหรับผม การที่เอามาทำเอง มันเหมือนกับผมได้ทำเรื่องนี้สองรอบ รอบแรกคือตอนที่เขียนหนังสือ รอบที่สองก็คือตอนที่เอาหนังสือมาถ่ายทอดผ่านหนัง ซึ่งทำให้ผมได้สังเกตเห็น ได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ในแง่มุมที่ลึกขึ้น เช่น การถ่ายแบบ one scene one cut หรือว่าความรู้สึกของตัวละคร ณ ช่วงเวลานั้นๆ จะถ่ายทอดความทรงจำยังไง เพราะว่ามันผ่านรอบแรกมาแล้ว ทำให้รอบที่สองได้มุมมองที่ลึกขึ้นกว่าเดิม 

คุณรู้สึกว่าคุณอยู่กับเรื่องนี้มากเกินไปมั้ย เพราะตอนเขียนนิยายก็ต้องใช้พลังมากอยู่แล้ว ยังต้องมาเขียนบท ยังต้องมากำกับเองอีก

ใช่ครับ ผมมีความรู้สึกมากๆ เลยว่าใช้เวลาไปกับสิ่งนี้เยอะมาก ตั้งแต่เมื่อ 7 ปีที่แล้ว จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเขียนหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ว่า คุณย่าของผมเป็นอัลไซเมอร์ แล้วลืมผม เขาทักผมว่า คุณเป็นใครคะ มันทำให้ผมคิดว่า ในหัวคุณย่าที่เป็นอัลไซเมอร์เป็นยังไง คนเป็นอัลไซเมอร์เขาบอกว่า ช่วงเวลาสองช่วงเวลาที่ไม่เชื่อมต่อกัน คือเมื่อก่อนกับปัจจุบัน หรือสถานที่คนละสถานที่ มันมาเชื่อมต่อกันในหัวเขา ซึ่งเป็นอะไรที่แปลก น่าสนใจ ผมก็มาคิดว่าจะถ่ายทอดยังไงให้คนเห็นภาพในหัว ตอนที่เขียนเรื่องนี้ก็เลยมีการศึกษาทั้งคนที่เป็นโรคความจำเสื่อม และก็ AI ด้วย มีการรีเสิร์ชเยอะมาก ซึ่งใช้เวลาไปทั้งหมด 2 ปี จนเขียนหนังสือเล่มนี้เสร็จ ก็ได้เบสต์เซลเลอร์ที่ญี่ปุ่นด้วย 

แต่ว่าจริงๆ ตอนที่หนังสือได้เบสต์เซลเลอร์ ผมไม่ได้คิดว่าจะเอาเรื่องนี้มาทำหนัง แต่ว่าระหว่างนั้น ผมได้กำกับหนังสั้นชื่อ Duality ซึ่งได้รับเลือกจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ให้อยู่ในสาย short film competition ตอนที่ทำ Duality มันมีวิธีการถ่ายทำที่แปลก ก็คือ เราถ่ายภาพก่อน เสร็จแล้วค่อยมาคิดสตอรี่ให้เข้ากับภาพที่ถ่ายมา ซึ่งหนังก็ได้รับคำชมในจุดนี้ ผมเลยมองว่า อาจจะเอาเทคนิคนี้มาถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในหัวของคนที่เป็นผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมได้ก็ได้

ทีนี้พอกลับมาดูหนังสือของตัวเอง เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่อยู่ในหัว สิ่งที่ผมเขียนออกมามันก็เลยไม่มีย่อหน้า ผมอธิบายทุกอย่างที่อยู่ในหัวยาวพรืดออกมา ผมเลยมองว่า ถ้าจะเอาหนังสือที่ไม่มีย่อหน้ามาทำเป็นหนัง หนังก็ต้องไม่มีคัต ต้องถ่ายม้วนเดียวเหมือนกัน เลยเป็นที่มาของหนึ่งซีนหนึ่งคัต คือมันค่อนข้างที่จะเป็นรูปเป็นร่างในหัวผมอยู่แล้วว่าหนังเรื่องนี้จะต้องออกมาเป็นยังไง แต่ว่าก็ได้คุณฮิราเสะ เคนทาโร (Hirase Kentaro) ซึ่งเป็นผู้ช่วยเขียนบทมา กับได้คาแรกเตอร์ของนักแสดงอย่างคุณสุดะ มาซากิ ที่ค่อนข้างมีลักษณะเด่นของตัวเอง มาช่วยคลี่คลายสิ่งที่ก่อขึ้นมาในหัวผม ที่มันอาจจะเป็นภาพในความคิดของตัวเองมากเกินไป ชัดเกินไป ให้มันได้อะไรที่แปลกใหม่มากขึ้น ทั้งหมดผมใช้เวลากับสิ่งนี้ไปประมาณ 7-8 ปีเลยทีเดียว

ความยากของการถ่าย long take คืออะไร คุณมีวิธีการจัดการมันยังไง

ลองเทกของผม ผมถ่ายยาวแบบที่ซีนหนึ่ง 10 นาทีก็มี ซึ่งหมายความว่า 10 นาทีนั้น จะไม่มีการหยุดถ่ายใหม่จนกว่าจะจบเทก ซึ่งบางครั้งถ่ายไปถึง 20 เทก ทำเอานักแสดงบ้างสตาฟฟ์บ้างอ่วมกันไปเลย รวมถึวตัวผมเองด้วย แต่ว่าเหตุผลที่ผมเลือกวิธีนี้เป็นเพราะว่า ตอนที่ผมคุยกับคุณย่าที่เป็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ผมพบว่า 3 นาทีที่คุยกับคุณย่า คุณย่าเป็นทั้งเด็กมัธยมต้น มัธยมปลาย เป็นทั้งหญิงสาว ทั้งคนแก่ เป็นทั้งคุณแม่ ทั้งคุณย่า เขาเปลี่ยนไปตลอดเวลา ตามสิ่งที่เกิดขึ้นในหัวเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากจะถ่ายทอดให้ทุกคนได้เห็น ก็เลยเลือกเป็นการถ่ายลองเทกแบบนี้ แต่ว่าก็ทำเอาทะเลาะกับนักแสดงไปหลายรอบ กว่าจะถ่ายจบก็ค่อนข้างลำบากเลยทีเดียว

อยากทราบว่าสกิลในการเขียนนิยายกับการกำกับหนัง มันมีส่วนที่เกื้อกูลซึ่งกันและกันในแง่ไหนบ้าง หรือมีสิ่งที่ต้องแยกออกจากกันยังไงบ้าง

จริงๆ แล้ว ผมทำหนังก่อน คือเป็นโปรดิวเซอร์หนังมาประมาณ 10 เรื่อง แล้วเริ่มรู้สึกเบื่อกับการทำหนัง ก็เลยไปเขียนนิยายดีกว่า นิยายเรื่องแรกก็คือ If Cats Disappeared From The World ซึ่งตอนนั้นสิ่งที่ผมคิดก็คือ เขียนสิ่งที่นักเขียนเขาจะไม่เขียนกัน แล้วก็เขียนสิ่งที่ทำเป็นหนังไม่ได้ เช่นบอกว่า หลังจากวินาทีนี้โลกนี้ไม่มีแมวแล้วนะ จะทำยังไงให้ถ่ายออกมาแล้วคนรับรู้ในหนัง มันทำไม่ได้ แต่ว่าถ้าเขียนเป็นตัวหนังสือ ก็อธิบายให้คนเข้าใจได้ ก็เลยเขียนออกมาจนกลายเป็นเบสต์เซลเลอร์ที่ญี่ปุ่น แล้วก็ได้ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยด้วย

แต่ว่าพอเขียนหนังสืออยู่ก็รู้สึกว่า เราอธิบายว่าแมวหายไปได้ แต่ว่าอธิบายเสียงเพลงหรือสีหน้าไม่ได้ ผมคิดว่าถ้าบรรทัดนี้มีเพลงขึ้นมาก็คงจะดี หรือว่าสีหน้าตัวละครที่ผมเขียนบรรยายสองสามบรรทัด จริงๆ แล้วถ้าเป็นหนังนักแสดงแค่ทำสีหน้าแค่วินาทีเดียวก็ถ่ายทอดได้แล้ว ก็เลยเป็นจุดที่พอมาทำหนัง มันทำให้ผมมองว่าดนตรี สีหน้า หรือท่าทางของนักแสดงสำคัญขนาดไหน ผมมองว่า เพราะว่าทำอีกอย่างหนึ่ง ก็เลยได้เห็นและได้รู้ความสำคัญของสกิลที่ต้องใช้ในอีกอย่างหนึ่ง 

If Cats Disappeared From The World กำกับโดยคนอื่น เทียบกับการกำกับนิยายของตัวเอง คุณรู้สึกยังไงเวลาที่เห็นนิยายของตัวเองกำกับโดยผู้กำกับคนอื่น 

จริงๆ ผมอยากให้คนอื่นกำกับมากกว่านะ เพราะว่าเราอยู่กับมันมาเยอะแล้ว พอคนอื่นกำกับ เราได้เห็นมุมมองที่เราไม่เคยเห็น หรือเราไม่ได้มีภาพแบบนี้ในหัว แต่แน่นอน มันจะมีบางจุดที่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันผิด เราไม่ได้คิดแบบนี้ คือมีแน่นอน แต่ว่าทั้งนี้ มันก็ออกมาเป็นผลงานที่ดี ซึ่งผลงานของผมตั้งแต่หนังสือเล่มแรก คือ If Cats Disappeared From The World แล้วก็เล่มต่อมา Million Dollar Man เป็นเรื่องของผู้ชายถูกลอตเตอรี่ ซึ่งเล่มนี้ไม่ได้มีตีพิมพ์ในประเทศไทย ก็ได้ผู้กำกับฝีมือดีมากำกับทั้งสองเรื่อง แต่มันก็จะมีจุดที่ผมยังรู้สึกขัด 

พอมาเรื่องนี้ การที่จะถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในหัวของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในหนึ่งซีนหนึ่งคัต คนอื่นจะทำได้แบบที่มันอยู่ในหัวผมมั้ย หรือว่าผมจะต้องรู้สึกขัดใจว่ามันไม่ใช่อีกครั้งหนึ่ง ผมเลยมองว่า ถ้าจะต้องมารู้สึกขัดใจอีก งั้นทำเองเลยดีกว่า พอทำออกมาก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดี ได้ไปงานรับรางวัลที่ยุโรป เลยรู้สึกว่ารู้งี้กำกับเองตั้งแต่แรกก็ดีแล้ว

แต่ว่าจริงๆ การที่ผมได้เป็นผู้กำกับผลงานตัวเอง มันทำให้โลกผมแคบลง ตอนที่เป็นโปรดิวเซอร์โลกมันกว้างกว่า เพราะเรามองในแง่มุมการตลาด มองในแง่คนจะชอบมั้ย ทำยังไงให้ขายได้ แต่พอมาเป็นผลงานของตัวเองและเป็นผู้กำกับเอง มันกลายเป็นว่าโลกผมแคบ เพราะผมอินกับทุกตัวละคร อินกับฉาก อินกับความคิดในหัว มันก็เลยจะแตกต่างกัน 

ผลงานต่อไปของคุณจะเป็นอะไร จะเป็นโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ หรือนักเขียนนิยาย

คำตอบก็คือทำทุกอย่างครับ ตอนนี้ถ้าเป็นงานโปรดิวเซอร์ มีหนังที่ผมทำร่วมกับผู้กำกับ ชินไค มาโกโตะ (Shinkai Makoto) ชื่อเรื่อง Suzume no tojimari แล้วก็มีของผู้กำกับ ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ (Hirokazu Kore-eda) ชื่อหนังว่า Monster กับซีรีส์ใน Netflix ด้วย ส่วนตัวหนังสือก็มีเขียนอยู่หนึ่งเรื่องเหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้ก็แพลนไว้ว่าจะกำกับเอง สิ่งที่เป็นจุดเด่น เป็นสไตล์ของผมตอนนี้ ก็คือสิ่งที่ผมทำทุกอย่างรวมกัน และก็เป็นสิ่งที่ทำให้กรรมการที่ซานเซบาสเตียนเห็นแววในตัวผมด้วย ก็เลยมองว่าหลังจากนี้ก็คงทำทุกอย่างต่อไป

คุณเอาเวลาที่ไหนมาทำสิ่งเหล่านี้

จริงๆ แล้วผมว่างมากเลยนะ (หัวเราะ) ส่วนใหญ่คนเราจะหมดเวลาไปกับการคิด ถ้าคิดได้แล้วลงมือทำมันก็แป๊บเดียว สิ่งที่หลายๆ คนเสียเวลาไปคือ กว่าจะหาไอเดีย กว่าจะหาจุดที่มันใช่พบ ซึ่งการที่ผมทำงานกับครีเอเตอร์หลายๆ ท่าน ทำงานแบบนี้ตลอดเวลา มันทำให้มีสิ่งที่จุดประกายตลอดเวลา พอจุดประกายตลอดเวลา ความคิดตกตะกอน ผมไม่ต้องเสียเวลานั่งคิด ว่าต่อไปฉันจะทำอะไร หรือเรื่องนี้ประเด็นควรเป็นอะไร เพราะว่ามีสิ่งที่ทำให้ฉุกคิดตลอดเวลา ทำให้พอถึงเวลาลงมือทำ ผมก็แค่เอาสิ่งที่คิดได้ในการทำงานครั้งที่แล้ว มาทำออกมาเป็นผลงาน เพราะฉะนั้น ผมไม่ได้เสียเวลาไปกับการคิดเหมือนที่คนอื่นใช้เวลาให้ความคิดมันตกตะกอน ก็เลยรู้สึกว่าตัวเองไม่ยุ่ง 

ปกติแล้วคุณสนใจที่เล่าเรื่องแบบไหนผ่านหนังหรือว่าหนังสือของคุณมากที่สุด  

คำถามนี้เป็นคำถามที่ผมเจอบ่อย ซึ่งผมมีโอกาสได้ฉุกคิดเรื่องนี้บ่อยครั้ง จนทำให้ผมคิดได้ว่า จริงๆ อาชีพของผม สิ่งที่ต้องการถ่ายทอดจริงๆ คือ ถ้าพูดเป็นสถานการณ์ เช่น สถานีรถไฟแถวบ้านผม มีตู้ไปรษณีย์อยู่หน้าสถานี ข้างบนตู้ไปรษณีย์มีตุ๊กตาหมีอยู่ตัวหนึ่ง วันแรกที่เห็นก็คิดว่าคงมีคนลืมตุ๊กตาหมีบนตู้ไปรษณีย์ ผ่านไปวันที่สอง มันก็ยังอยู่ที่เดิม ผ่านไปวันที่สาม มันก็ยังอยู่ที่เดิม ผมก็เลยรู้สึกว่า ทุกคนที่ใช้สถานีนี้ ใช้ทางเข้าออกเดียวกับผม ต้องเห็นบ้างแหละ เห็นแต่ไม่มีใครทัก ไม่มีใครพูด ไม่มีใครหาว่าเป็นของใคร 

ดังนั้น นี่คือสิ่งที่เป็นอาชีพของผม ผมไม่ได้สร้างเรื่องราวขึ้นมาใหม่จากกลางอากาศหรือจากฝัน แต่ว่าเอาเรื่องที่ทุกคนรู้สึก ทุกคนคิด ทุกคนอาจจะไม่พอใจกับบางสิ่ง หรือเห็นบางอย่างแต่ไม่มีใครถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดหรือเป็นภาพ ผมมีหน้าที่หยิบมันขึ้นแล้วถ่ายทอด เหมือนตุ๊กตาหมีที่ผมต้องเป็นคนหยิบขึ้นมาแล้วบอกว่า นี่ของใคร แล้วให้คนรู้สึกว่า เฮ้ย คิดเหมือนกันเลย แต่แค่ไม่ได้พูด นี่คือสิ่งที่ผมจะต้องหยิบมาทำหนัง สิ่งที่ทุกคนเห็น ทุกคนติดใจ คาใจ แต่ไม่มีใครทักขึ้นมา ผมก็หยิบจุดนั้นมาถ่ายทอด 

คุณคิดว่าเรื่องที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ ในทุกๆ วันแบบนี้มันธรรมดาเกินไปมั้ยที่จะหยิบมาทำเป็นหนัง

จริงๆ แล้วสิ่งแปลกๆ มันเกิดขึ้นมากมายในชีวิตปัจจุบัน ซึ่งผมมองว่า คนที่จะเห็นความผิดปกติในความปกติของทุกๆ วัน คือคนที่จะเป็น storyteller หรือเป็นครีเอเตอร์ ส่วนคนที่ไม่เห็น หรือรู้สึกว่าวันนี้มันก็คือวันธรรมดาเหมือนทุกๆ วัน ก็คือคนที่จะเป็นคนรับชม

เพราะว่าทุกๆ วันมีสิ่งประหลาดเกิดขึ้นตลอดเวลา บางทีเราเดินๆ ไป ทำไมป้ายนี้ถึงอยู่ตรงนี้ ทำไมมีร้านโดนัทเปิดใหม่แถวบ้าน เจ้าของคิดอะไร มีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นถึงได้มาตั้งร้านตรงนี้ หรือเวลาไปเที่ยวที่ไหนแล้วมีอะไรที่มันแปลกๆ ขึ้นมา หรือยกตัวอย่างโต๊ะตัวนี้ ทำไมในสถานที่แห่งนี้ ถึงมีโต๊ะแองกรีเบิร์ดวางอยู่ข้างๆ ผม ใครไปซื้อมา ทำไมมันต้องเป็นโต๊ะแองกรีเบิร์ด ของมันหมดจริงๆ หรืออาจจะมีคนไปตามหาเพราะอยากได้มันมาก คือมันมีสตอรี่ที่เราสามารถคิดเรื่องราวต่อจากสิ่งนั้นได้ ซึ่งคนที่เห็น คนที่ต่อยอดมันได้ คือคนที่จะเป็น storyteller ส่วนคนที่รู้สึกว่ามันคือโต๊ะเฉยๆ คือคนที่จะเป็น audience เป็นคนรับชม

เปรียบเทียบง่ายๆ คือเหมือนช่างถ่ายภาพ ผมชอบดูรูปถ่ายมาก เพราะว่าช่างภาพจะสามารถถ่ายบางสิ่งบางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันคือของทั่วไป ของที่เราเห็นประจำในมุมที่ทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย เออ มันมีมุมแบบนี้ด้วย ถ่ายมุมนี้ได้ด้วย เพราะฉะนั้นตากล้องถือเป็น storyteller ที่ผมชอบมาก ซึ่งเอามาประยุกต์เป็นการทำหนังได้ 

อะไรคือสิ่งที่หล่อหลอมมุมมอง วิธีคิด ให้คุณเป็นคุณแบบทุกวันนี้ 

ก็คงเป็นความทรงจำ นั่นคือสิ่งที่สร้างมนุษย์หรือสร้างคนๆ หนึ่งขึ้นมา คนไม่ใช่รูปร่าง แต่ว่าเป็นความทรงจำ ซึ่งมันที่อยู่ว่าเราเลือกจะจำอะไร และเราจะลืมอะไรไป แล้วความคิดหรือความทรงจำของเราบิดเบือนอะไรไปบ้าง

ผมเคยคุยกับนักวิจัย AI ว่าทำไมเขาถึงสร้างเอไอขึ้นมา เขาบอกว่า เป้าหมายสูงสุดของการสร้างเอไอคือ เขาอยากสร้างมนุษย์ให้ได้ ในตอนที่คุยกัน ผมก็ได้ถามว่าการสร้างมนุษย์ของคุณคืออะไร เขาก็บอกว่า ก็คือให้เอไอจำ ให้จดจำทุกสิ่ง เช่น ถ้าจะทำเอไอหมากรุก ก็ให้จดจำหมากรุก 

แต่ว่าทีนี้ผมเลยคิดว่า ถ้าผมจะทำเอไอของศิลปินขึ้น หลังจากที่ให้เอไอจำทุกอย่างแล้ว ผมจะเลือกลบข้อมูลหนึ่งอย่าง เช่นลบสีแดงออกไปจากความทรงจำของเอไอ พอสีแดงหายไป ถ้ามีความเป็นมนุษย์ พอมันขาด มันก็ต้องพยายามเติม หาสิ่งใหม่ๆ มาเติมสิ่งที่ขาดไป หรือใช้สีแดงให้มากขึ้น เพื่อที่จะเติมเต็มความทรงจำของสีแดงที่หายไปตรงนั้น 

เพราะฉะนั้น ตัวคนคนหนึ่งถูกสร้างขึ้น ไม่ใช่แค่ความทรงจำหรือประสบการณ์อย่างเดียว สิ่งที่สร้างตัวตนคนคนนั้นขึ้นมา คือ ณ เวลานั้น คนคนนั้นขาดอะไรไป แล้วพยายามทำยังไงให้ตัวเองเติมเต็มสิ่งที่ขาดไปนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าถามผมว่า อะไรที่สร้างตัวผมในวันนี้ขึ้นมา ผมคงต้องตอบว่าเป็นสิ่งที่ผมลืมไปแล้วว่ามันคืออะไร

นี่คือประเด็นที่อยู่ในหนัง A Hundred Flowers ด้วยใช่มั้ย

ใช่ครับ เพราะว่าความทรงจำของทุกๆ คนไม่เหมือนกัน อย่างเช่นวันนี้พวกเราทั้งหมดทุกๆ คนอยู่ในห้องนี้ แต่คิดว่าภาพในหัวหรือภาพความทรงจำของแต่ละคนจะไม่เหมือนกันเลย เราเลือกที่จะจำบางสิ่งบางอย่างในมุมมองด้านของเรา เพราะฉะนั้นแม่ลูกหรือครอบครัวเดียวกัน ดูดอกไม้ไฟอันเดียวกัน ก็เลือกที่จะจำไม่เหมือนกัน บางคนจำสี จำขนาด จำว่าดูกับใคร ดังนั้นสิ่งที่น่าเศร้าของความทรงจำคือ เราไม่สามารถที่จะแชร์ความทรงจำร่วมกับใครได้ ไม่มีใครที่มีความทรงจำเหมือนเราร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกคนเลือกที่จะจำความทรงจำ ณ มุมมองขณะนั้นในมุมมองของตัวเอง ดังนั้นมันจึงเป็นความโรแมนติกของความทรงจำ เพราะเราใช้เวลาร่วมกัน แต่เราไม่สามารถแชร์ความทรงจำนั้นได้ เราจึงอยากอยู่กับคนอื่น เพื่อที่จะสร้างเวลาร่วมกันที่จะเป็นความทรงจำเพิ่มขึ้นไป เราจึงอยากเข้าใจคนอื่น อยากสื่อสารมากขึ้น เพราะเราไม่สามารถที่จะแชร์ความทรงจำในภาพที่เหมือนกันได้ 

ในประเทศไทย เราเห็นความสำเร็จของเกาหลี และเราก็คุยกันมากในประเทศเรื่อง soft power อยากรู้ว่าในญี่ปุ่น มี topic อะไรแบบนี้บ้างมั้ย ที่อาจจะไม่จำเป็นต้องมาจากการมองความสำเร็จของเกาหลีก็ได้ 

ก็คงหนีไม่พ้นกระแสเกาหลีเหมือนกัน ไม่ว่าจะละคร หนัง เพลง ทุกอย่างอะไรมาก็คือเป็นกระแสหมด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง ก็ถือว่าเป็นกระแสที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ว่าโดยส่วนตัวแล้ว อันนี้ไม่ใช่เพราะว่าผมมาที่ไทยก็เลยพูดเอาใจนะครับ แต่ว่าตอนนี้ครีเอเตอร์ไทยค่อนข้างที่จะได้รับการจับตาในตลาดโลก อย่างผมไปเจอทวิตเตอร์ของครีเอเตอร์คนไทยที่ทำมิวสิกวิดีโอ ทำทุกอย่างเองหมด แล้วก็ได้ไปคุยกับเขาเรื่องงาน โดยคุยผ่านทวิตเตอร์อย่างเดียวเลย หรือนักดนตรีไทยที่ช่วงนี้เราได้เห็นในตลาดญี่ปุ่นเยอะขึ้น จริงๆ แล้ว ผมเห็นหลายๆ อย่างที่รู้สึกว่าน่าสนใจและมีเสน่ห์ ซึ่งถ้ามีโอกาสก็อยากจะทำงานร่วมกับครีเอเตอร์ไทยครับ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ