FLASH BOMBER กองกำลังเอเจนซีน้องใหม่ที่พร้อมจุดระเบิดวงการโฆษณาด้วยยุทธวิธีเจาะกลุ่ม Subculture

แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นเอเจนซีโฆษณาน้องใหม่ล่าสุดในประเทศไทย แต่ FLASH BOMBER มีผู้นำกองกำลังที่ชื่อว่า ระเบิด-ธนสรณ์ เจนการกิจ ซึ่งนอกจะไม่ใช่คนหน้าใหม่ในวงการแล้ว เขายังเป็นที่รู้จักดีในฐานะครีเอทีฟมือรางวัล ผู้มีผลงานเป็นที่จดจำอย่าง The Unusual Football Fields ซึ่งคว้ารางวัลใหญ่มาจาก Cannes Lions และยังเป็น 1 ใน TIME’s 25 Innovations ของปี 2016 หรือ ‘ไม่ไปไหนไป Netflix’ บิลบอร์ดที่ชวนให้คุณวนรถกลับบ้านไปดู Netflix แทนที่จะไปทนกับรถติดในช่วงปีใหม่

หลังจากคร่ำหวอดอยู่ในวงการมานาน กระทั่งตำแหน่งหลังสุดเป็น CCO ที่ CJ WORX ก็มาถึงโมเมนต์ที่เขาพบว่า คำตอบที่ใช่ของความต้องการหลายๆ อย่างในตอนนั้น คือการออกมาเปิดบริษัทของตัวเอง จึงกลายมาเป็น FLASH BOMBER เอเจนซีขนาดจิ๋วซึ่ง ณ ปัจจุบันมีทีมงานทั้งหมด 9 ชีวิต และชูจุดเด่นเรื่อง Sub-Culture Marketing

จากคนที่เคยคิดว่าอยากเป็นพนักงานออฟฟิศไปเรื่อยๆ สู่การเป็น Founder ที่กำลังสนุกกับการเรียนรู้วิถีการทำงานในอีกรูปแบบหนึ่ง a day ชวนระเบิด ธนสรณ์ คุยถึงความคิดหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเหล่านี้

โปรเจกต์ FLASH BOMBER เกิดขึ้นมาได้ยังไง

คือพอผมเป็น CCO ที่ CJ WORX มาได้สักระยะหนึ่ง ช่วงหลังๆ ก็มีเรื่องที่ได้พูดคุยปรึกษากับทางเจ้านายเยอะ คือ พี่ชาย-สหรัฐ สวัสดิ์อธิคม หนึ่งใน Founder ของ CJ WORX พอคุยกันไปคุยกันมา ก็มีการพูดคุยกันนอกจากเรื่องงานเยอะขึ้น แล้วมันมีการจุดประกายอะไรบางอย่างว่าถ้าเกิดเราทำเอง เราจะทำอะไรบ้าง 

แล้วอยู่ดีๆ จากที่ไม่เคยคิด คือจริงๆ ในอดีตผมไม่เคยคิดว่าจะเปิดบริษัทของตัวเองเลยนะ รู้สึกว่าอยากเป็นพนักงานออฟฟิศที่เงินเดือนสูงๆ ไปเรื่อยๆ แล้วพอวันนั้นก็รู้สึกว่า ถ้าเกิดเราทำเองเราจะรู้สึกยังไง เราจะทำอะไรบ้าง เราอยากจะบริหารมันยังไง อยากจะรับงานแบบไหน อยากมีทีมแบบไหน อยู่ดีๆ มันพรั่งพรูขึ้นมาในหัว แล้วก็รู้สึกว่าอยากทำ จากเดิมที่ไม่เคยคิดอยากจะทำเพราะรู้สึกว่า มันมีเรื่องที่เราจะต้องรับผิดชอบเยอะ มีเรื่องที่เราจะต้องไปเรียนรู้อะไรก็ไม่รู้ที่เราน่าจะไม่เชี่ยวชาญเลย

กลายเป็นว่ามันเหมือนอยู่ดีๆ เรื่องที่เรารู้สึกกังวล เราก็มีทางออกให้กับมัน ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าถูกหรือผิดนะ แล้วก็เลยรู้สึกว่ามันกลับตัวไม่ได้แล้วว่ะ (หัวเราะ) มันเหมือนรู้สึกว่าเราต้องไปต่อตรงนี้ ตรงนี้เป็นอีกมูฟหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีแพสชันกับมันอีกครั้งหนึ่ง 

มันเป็นเรื่องของการอยากเติบโตขึ้นหรือแพสชันล้วนๆ

ผมรู้สึกว่าพออายุมากขึ้นเราอยากจะทำงานให้โฟกัสขึ้น คือผมไม่ได้บอกว่าผมจะทำงานให้น้อยลง หรือว่าทำงานให้เบาขึ้น แต่ผมอยากโฟกัสกับมันมากขึ้น ในแต่ละชิ้นๆ มันอาจจะดูขัดแย้ง ดูไม่เป็นอุตสาหกรรม แต่ว่ามันกลายเป็นการที่เรารู้สึกว่าอยากให้งานแต่ละชิ้นมัน represent ทีมมากขึ้น 

จุดประกายแล้วยังไงต่อ เกิดกระบวนการพูดคุยกันยังไง

คือพอเรารู้สึกอย่างนั้น ก็เลยรู้สึกว่าเราน่าจะทำอะไรบางอย่างขึ้นมา ทีนี้ตอนนั้นก็คุยกับพี่ชายว่าโซลูชันมันเป็นยังไงได้บ้าง เราอาจจะเป็นพาร์ตหนึ่งของ CJ WORX ไหมในฐานะบริษัทที่อยู่ในเครือ หรือว่าเราจะลองแยกออกมา แต่การแยกออกมาก็มีพี่ชายกับพี่จิณณ์ (จิณณ์ เผ่าประไพ) ซึ่งทั้งสองคนเป็น Founder ของ CJ WORX หุ้นอยู่ด้วย ก็เลือกโซลูชันอยู่สองอย่าง ระหว่างนั้นก็มีช่วงทดลอง ซึ่งใช้ชื่อว่า Bomber (หัวเราะ) กันอยู่ประมาณสัก 6 เดือน คือทดลองทำนี่ พี่ชายรู้นะครับ หมายถึงว่าไม่ได้แอบทำเป็นฝิ่นนะ (หัวเราะ) แต่เรารู้สึกว่าเราอยากทำเยอะกว่านี้ ยิ่งทำไปเรื่อยๆ ยิ่งรู้สึกว่า เราอยากให้เวลากับมันมากกว่านี้ แล้วพออยากให้เวลากับมันมากกว่านี้ มันแปลว่าเราอยากออกมาทำมันเต็มๆ ตัว ฟีลลิ่งเป็นแบบนั้น

ตอนทดลองนี่คือทดลองยังไง รับงานที่ต่างออกไปจาก CJ WORX

ใช่ ผมเริ่มที่จะเลือกงานที่เรียกได้ว่าอันนี้คืองานของ FLASH BOMBER ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกว่า งานแบบไหนเรียกว่างานของ FLASH BOMBER มันเป็นแค่ฟีลลิ่งของเราเฉยๆ ว่าเราอยากรับงานแบบไหนมากกว่า ตอนนั้นก็เริ่มคุยว่าเราจะทำยังไงได้บ้าง มันจะมีอะไรยังไง แล้วพอเริ่มทำ รูปแบบการทำงานของผมกับน้องๆ มันเป็นแบบ ทุกคนเป็นศูนย์กลาง ทุกคนอยากได้อะไร มันเป็นการคุยกัน ไม่ใช่สั่งลงไป เพราะฉะนั้นตอนที่เราทำงานกัน พอเราเริ่มคุยว่าเราอยากจะทำ Bomber สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทุกคนดูแอ็กทีฟมาก มันเหมือนอยู่ดีๆ ทุกคนก็รู้สึกเป็นเจ้าของโปรเจกต์ด้วยกันมากกว่าเดิม

ออกมาเปิดบริษัทเองแล้ว ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะไหม

จริงๆ ก็เหนื่อยกว่าเดิมเยอะมาก เพราะว่ามันมีฟีลลิ่งของการที่เรา represent ออฟฟิศนี้ทั้งตัวเลย หมายความว่าตั้งแต่เรื่องเล็กยันเรื่องใหญ่ เขารีเควสต์เรา ฉะนั้นผมก็จะลงไปดูเยอะขึ้น แม้แต่ต่อราคา แต่ว่ามันก็สนุก คือมันมันมาก แล้วก็รู้สึกว่าได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เยอะขึ้นมากเลย

ตอนที่บอกว่า รู้สึกว่าไม่อยากออกมาเปิดบริษัทเองเมื่อก่อน อยากเป็นพนักงานไปเรื่อยๆ เพราะเรารู้สึกกังวลว่าจะต้องไปแบกอะไรบ้าง แต่พอออกมาทำเอง ความรู้สึกมันเปลี่ยนไปอีกอย่างหนึ่ง อยู่ดีๆ ก็รู้สึกว่ามีอิสระมาก อิสระที่เราจะทำอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งมันมีสิ่งหนึ่งที่ผมเพิ่งเรียนรู้จากการออกมาเปิดเป็นเอเจนซีขนาดจิ๋วก็คือว่า เมื่อก่อนเวลาเราอยากจะทำงานให้ลูกค้าแล้วเราต้องใช้ Strategic Planner เราต้องใช้คนของออฟฟิศ เพราะมันเป็นแผนกหนึ่งในออฟฟิศ เวลาเราอยากใช้ Media Planner เราก็ต้องใช้คนของออฟฟิศ แต่เวลาเราใช้ผู้กำกับ ทำไมเอเจนซีถึงไม่มีผู้กำกับอยู่ข้างใน เพราะว่าผู้กำกับแต่ละคนไม่ได้เหมาะกับทุกงาน แล้วผมค้นพบว่า ตอนนี้ผมสามารถใช้แพลนเนอร์คนไหนก็ได้ ที่เหมาะกับงานนั้นๆ เพื่อวางแพลนให้เรา มันเหมือนกับว่าเราโฟกัสกับงานมากขึ้น และหาเพื่อนร่วมชะตากรรมได้เยอะขึ้น (หัวเราะ) มันก็สนุกขึ้นนะ แต่ก็เหนื่อยขึ้นด้วย เพราะว่าเราจะต้องเลือกทุกช็อตเลย 

FLASH BOMBER ทำงานแบบไหน รับงานแบบไหนบอกที่ว่าเป็น Subculture มาร์เก็ตติ้ง

มันเริ่มมาจากพออยู่มานาน เราก็เห็นว่าคงไม่มี ‘พี่เบิร์ด’ อีกต่อไป คือไม่มีอะไรอย่างเดียวที่จะเข้ากับทุกอย่าง เลยรู้สึกว่าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องอายุ ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะแบ่งทาร์เก็ตตามอายุ เราจะแบ่งทาร์เก็ตตามเงินที่เขามี แต่จริงๆ แล้ว ณ วันนี้ มันเป็นเรื่องของความสนใจ ที่ยกตัวอย่างพี่เบิร์ด (ธงไชย แมคอินไตย์) เพราะว่าพี่เบิร์ดคือคนรักทั้งประเทศหรือว่ารู้จักทั้งประเทศ แต่วันนี้มันมีคนที่ไม่รู้จักคนๆ หนึ่งเลย กับอีกคนหนึ่งที่รู้จักคนๆ นี้มาก หรือมันมีสินค้าที่เหมาะกับคนกลุ่มหนึ่งมากๆ แต่ในขณะเดียวกันคนอีกกลุ่มไม่รู้จักเลย

หรือว่าสินค้าตัวเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น มือถือสักรุ่น มันมีโหมดที่เหมาะกับคนกลุ่มนี้มากๆ ด้วยเหตุผลนี้ กับอีกโหมดที่เหมาะกับคนอีกกลุ่มมากๆ ด้วยอีกเหตุผล สมมติผมยกตัวอย่างเร็วๆ โหมด Macro ถ้าเราเอาไปคุยกับช่างภาพ ก็อาจจะเป็นช่างภาพดอกไม้ก็ได้ แต่โหมด Macro ถ้าเราวิ่งไป Subculture พระเครื่อง ก็คงน่าสนใจดีนะ ทำไมไม่มีใครขายมือถือโหมด Macro กับชมรมพระเครื่องบ้าง ผมว่าตรงนี้เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ลูกค้ายังไม่ได้ทำ 

จุดขายคือคุณพยายามชี้ให้ลูกค้าเห็นว่ามันมีช่องแบบนี้

ใช่ๆ และทุกๆ ครั้งที่รับบรีฟ เราจะได้ยินคำว่าทาร์เก็ต ทุกครั้งที่เราได้ทาร์เก็ตมา มันเป็นความสนุกอย่างหนึ่งในอาชีพนี้ของผมเลยนะ ว่าเหมือนเราได้เจอคนใหม่ๆ ในขณะเดียวกัน ลูกค้าให้คนใหม่ๆ มากับเรา เราก็มีรูมในการแนะนำคนใหม่ๆ ให้ลูกค้าได้เหมือนกัน อันนี้คือความสนุกที่ผมว่ากึ่งหนึ่งเราคือพาร์ตเนอร์ที่พาลูกค้าไปสู่ตลาดใหม่ๆ หรือเป็นกลุ่มหนึ่งที่ลูกค้าต้องการเราเพื่อเข้าไปรู้จักคนใหม่ๆ เช่น สมมติลูกค้าบางเจ้าสนใจทาร์เก็ตกลุ่มนี้เพราะมี Potential แต่ไม่รู้จะคุยกับเขายังไง อันนั้นคือหน้าที่เรา

คุณเอาความเชี่ยวชาญนี้มาจากไหน องค์ประกอบอะไรที่ทำให้เกิดมุมมองนี้ขึ้นมาได้ 

ผมว่าอันดับแรกสังคมแล้วก็ความหลากหลายของคนของเรา คืออย่างที่ผมบอกว่าน้องๆ ที่ทำงานด้วยกัน คาแรกเตอร์ไม่เหมือนกันเลย แล้วทุกคนมีสิ่งที่ชอบไม่เหมือนกัน ตั้งแต่ทำงานกันมา ผมมักจะบอกว่าให้ทุกคนไม่ต้องเป็นคนอื่น แต่เอาสิ่งที่ตัวเองเป็นให้มันเด่นขึ้นมาอีกสัก…จริงๆ แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเด่นกว่าทุกคนแล้ว อันนี้ก็จำมาจาก อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน น่ะนะ (หัวเราะ) แต่ว่าผมเชื่ออย่างนั้นจริงๆ คือมันเป็นวิธีคิดแบบศิลปิน ไม่ใช่ว่าผมเป็นศิลปินนะ แต่หมายถึงว่าเมื่อคุณเป็นศิลปิน เราอยากรู้จักผลงานของคุณ ไม่ใช่เพราะคุณเหมือนคนอื่น เราเรียนรู้ผลงานของคุณจากการที่คุณไม่เหมือนคนอื่น เพราะฉะนั้นในเมื่อคุณไม่เหมือนคนอื่น ยิ่งคุณโชว์ความเป็นตัวเองมากเท่าไหร่มันจะยิ่งแตกต่างจากคนอื่น แล้วมันจะแหลมออกมาจาก Average

เพราะฉะนั้น การที่ผมมีน้องๆ ที่ไม่เหมือนกันเลย แล้วทุกคนก็เปล่งประกายสิ่งที่ตัวเองมี มันทำให้เบสิกเลยคือ เราเข้าใจ Subculture ของน้องๆ ทุกคน แล้วความคิดนี้ มันยังทำให้เราเรียนรู้ที่จะเข้าใจ Subculture อื่นๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งตอนนี้ลูกค้าที่เข้ามาก็คือลูกค้าที่อยากได้การเข้าถึง การนำแบรนด์ไปให้ถูก Subculture ลูกค้าเห็นแล้วก็เข้ามาว่า อยากจะให้แบรนด์เข้าไปสู่คนกลุ่มนี้  

ที่นี่อยู่กันแบบไหน คุณบริหารทีม บริหารคนยังไง

เป็นน้องคนละพ่อแม่ (หัวเราะ) เหมือนเป็นญาติ เราก็คงเป็นคนกลุ่มหนึ่งมั้งที่ยังสนุกกับการทำงาน กับคนที่เรารู้สึกว่าเป็นครอบครัวเราได้ หมายถึงในแง่ความรู้สึก (หัวเราะ) แล้วก็บริหารด้วยวิธีแบบนี้ คือก็มีคำพูดนะเรื่องบริษัทที่บอกว่าอยู่กันแบบครอบครัว มีมีมมีอะไร ทีนี้สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้คือ มันไม่ได้ใช้สิ่งที่เรียกว่าความสนิทหรือความไว้ใจมาเอาเปรียบกัน มันกลับเกรงใจกันมากกว่าเดิม

ผมโชคดีที่มีคนกลุ่มนี้ เพราะว่าเรามีเข็มทิศอยู่อันหนึ่ง เข็มทิศที่ผมไม่ได้เป็นคนชี้ แต่ว่าทุกคนชี้ มีหลายครั้งที่ผมหลุดนอกทางแล้วน้องๆ มันตบกลับมา แล้วมันเกิดขึ้นกับทุกคน มีหลายครั้งที่ผมพลาดเรื่องเงิน แล้วน้องบอกว่า “พี่ ไม่ได้นะ” มีหลายครั้งที่ผมพลาดเรื่องไอเดีย แล้วน้องบอกว่า “พี่ต้องกลับมาตรงนี้” มีหลายครั้งที่เราลง execute มากไป แล้วก็มีคนคอยตบเข้ามา เพราะฉะนั้นมันเป็นการตั้งเข็มทิศโดยทุกคนช่วยกันวิ่งไป

การที่ผมรับฟังน้องได้ เพราะเรามีสิ่งที่เรียกว่าความเมกเซนส์ร่วมกันมั้งครับ เพราะถ้าถึงจุดที่ผมรู้สึกว่าคอมเมนต์นี้ไม่เมกเซนส์ ผมก็อาจจะไม่ได้ทำตาม คนอื่นอาจจะบอกว่าเป็นผู้นำ แต่ผมมองตัวเองเป็นคนช่วยประสานมากกว่า คือประคับประคอง ซัพพอร์ต ให้ไปในทางเดียวกัน เพราะเราเชื่อในตัวแต่ละคน หลายๆ อย่าง ผมว่าน้องๆ หลายๆ คน มันจะมีจุดที่เก่งกว่าผมแน่ๆ และก็มีจุดที่ผมเก่งกว่ามันแน่ๆ อันนี้เป็นปกติของมนุษย์

ครีเอทีฟโฆษณายุคนี้ยังทำงานหนักแบบที่เราได้ยินกันเมื่อก่อนอยู่ไหม

ผมว่าใช่และไม่ใช่ ผมเชื่อใน Work-Life Balance มากๆ ผมเชื่อว่างานครีเอทีฟต้องพัก เราถึงจะสร้างสรรค์อะไรออกมาได้ ถามว่าครีเอทีฟยังต้องทำงานหนักขนาดนั้นอยู่ไหม ตอบแบบนี้ดีกว่า ผมว่าทุกคนไม่ใช่แค่ครีเอทีฟ ก็ต้องใส่ให้มันสุดตามแพสชันที่เขามี จริงๆ หลายอาชีพก็ทำงานหนักไม่แพ้กัน อยู่ที่แพสชัน และก็ผมเชื่อว่าลูกค้า พาร์ตเนอร์ มีส่วนในการผลักดันแพสชันนั้น

ผมว่าทุกคนอาจจะเคยเจอลูกค้าที่รู้สึกว่า เชี่ยเอ๊ย มา! กูจะทำให้ยับเลย หมายถึงเจอลูกค้าที่รู้สึกว่า กูพร้อมจะทุ่มทุกอย่างให้เขา หรือว่าเจอพาร์ตเนอร์ที่ช่วยกันไปแบบสุดๆ พี่อยากได้อะไร ไป! มีแต่เสริมกัน ผมว่าอันนั้นคือสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่างานไม่หนัก

และจริงๆ Work-Life Balance อีกอันสำหรับผม มันไม่ใช่แค่เรานะที่เราจะบริหารเวลาของตัวเอง มันคือทีมด้วย ที่ทำให้เกิด Work-Life Balance เพราะว่าวันที่บางคนหย่อนลง อีกคนหนึ่งวิ่งขึ้นมารันแทน มันถึงจะเป็นจุดที่ไม่มีใคร burnout บางทีเราก็ใส่สุดจริงๆ แต่แม่งไม่เหนื่อย บางทีเราใส่น้อยมากๆ แต่เราเหนื่อย มันอยู่ที่บริบทรายล้อม การที่เรารู้สึกไม่โอเค มันคือจุดที่เรารู้สึกว่าเราเลือกไม่ได้มากกว่า เพราะฉะนั้นผมรู้สึกว่าเรายังทำงานกันหนักอยู่ แต่แค่ว่ามัน burnout กันจุดไหนมากกว่า

มีอีกเรื่องน่าสนใจ คืออินไซด์ของคนรุ่นเรา เราจะมีความฝัน เราอยากได้ตามความฝัน แล้วเราก็วิ่งไปถึงความฝัน และพอถึงความฝันแล้ว ก็จะเหมือนแบบ เฮ! ถึงแล้ว แต่ว่าน้องๆ เขาบียอนด์กว่านั้น เขาไม่ใช่แค่ความฝัน แต่มันคือโกล แล้วโกลนั้นไกลมาก เช่น เปลี่ยนโลกหรือว่าทำให้โลกดีขึ้น เรายังวิ่งตามความฝันอยู่เลย แต่เขาสร้างโกลแล้ว เพราะฉะนั้นผมก็เลยไม่แน่ใจว่า จริงๆ แล้วสำหรับน้องๆ เขาอาจจะทำงานหนักกว่าเราด้วยซ้ำ 

ทุกวันนี้คนโฆษณายังถือว่าเป็นคนคูลๆ อยู่ไหม

(หัวเราะ) ผมใช้คำนี้ดีกว่า ตอนเด็กๆ ที่ผมสนใจโฆษณา ผมไม่แน่ใจว่าผมมองพี่ๆ เขาคูลหรือเท่หรือเปล่านะ แต่ผมมองว่าวงการนี้มันสนุกจังเลย ถ้าถามผมใช้คำว่าเซ็กซี่ดีกว่า วงการนี้มันเซ็กซี่จัง กลับมาตอบคำถามว่าวันนี้ยังเป็นแบบนั้นหรือเปล่า ผมว่าน่าสนใจว่าผมจะตอบแทนใคร หมายถึงว่าผมตอบแทนน้องๆ หรือผมตอบแทนตัวเอง ถ้าตอบแทนตัวเองผมรู้สึกว่า มันยังมีที่ที่เท่ ที่ที่คูล แล้วก็ที่ที่เซ็กซี่อยู่ ในวงการโฆษณานะครับ แต่มันก็มีบางส่วนที่รู้สึกว่าไม่เท่ ไม่คูล ไม่ได้หมายถึงเอเจนซีไหนนะ (หัวเราะ) แต่หมายถึงว่ามันอาจจะเป็นคำตอบแบบคนมีอายุก็ได้มั้งว่ามันไม่ได้มีคำตอบเดียว 

เออ อันนี้น่าสนใจตรงที่ว่า เวลาน้องๆ ทุกคนมาฝึกงานกับผม ผมจะบอกเสมอว่า ถ้าฝึกงานกับเราแล้วชอบ ไม่ได้แปลว่าเอ็งชอบงานโฆษณานะ หรือว่าถ้าฝึกงานกับเราแล้วไม่ชอบ ก็ไม่ได้แปลว่าเอ็งไม่ได้ชอบงานโฆษณานะ เพราะว่าที่ที่หนึ่งมันเป็นเหมือนโรงเรียนๆ หนึ่ง มันมีบทเรียนแบบหนึ่ง มันมีคัลเจอร์แต่ละที่ที่แตกต่างกันไป ต้องลองไปอยู่ในแต่ละที่ ยิ่งวันนี้มันยิ่งโชว์ว่า เราไม่สามารถตอบได้ว่าวงการโฆษณายังเท่อยู่หรือเปล่าหรือไม่เท่แล้วหรือเปล่า เพราะมันมีคนกลุ่มที่คิดว่าเท่ และคนกลุ่มที่คิดว่าไม่เท่อยู่

ถ้าให้แชร์หรือถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานกับน้องๆ อะไรคือสิ่งที่คุณอยากบอกเล่าและเน้นย้ำ

ถ้าแชร์จากตัวเรา ผมรู้สึกว่าคุณต้องมีสุขภาพจิตที่ดี (หัวเราะ) อันนี้สำคัญ ไม่ได้หมายความว่ามึงอย่าบ้านะครับ แต่หมายถึง ผมเชื่อว่าวงการนี้ ซึ่งอันนี้เราเรียนรู้มาจากพี่ๆ คือวงการโฆษณามันรีดพลังจากเราเยอะ แต่ว่าสุขภาพจิตที่ดีไม่ได้หมายถึงว่า อย่าเครียดเกินไปหรืออะไรนะ ถ้าพูดว่าแพสชันมันก็อาจจะดูเชย แต่ฟีลลิ่งคือแค่อยากให้รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เราว่าปัญหาหลายๆ อย่างคือบางทีเราไม่รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ แล้วก็เลยทำให้ทุกคนงงไปหมด เพราะว่าน้องๆ วันนี้อาจจะต้องการความชัดเจนมากกว่าเมื่อก่อน คืออยากรู้ว่าเราทำอะไรอยู่ ไปเพื่ออะไร แล้วมันมีประโยชน์อะไรต่อใครยังไง 

บางครั้งถ้าเกิดบางคนตอบคำถามต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้ ก็จะรู้สึกว่ากูทำอะไรอยู่วะ พยายามตอบคำถามพวกนั้นให้ได้ ว่าทำไมเราอยู่ดึกคืนนี้ เพื่ออะไร แล้วเห็นประโยชน์กับมันไหม หรือว่าเราแม่งแก้งานตรงนี้ไปเพื่ออะไรวะ ผมว่าหาคำตอบได้ก็จะสบายใจ ดูเบามากเลยนะใช้คำว่าสบายใจ แต่จริงๆ ถ้าหาคำตอบได้มันจะเคลียร์ชีวิตได้เยอะเลย  

คุณเป็น Founder เปิดบริษัทของตัวเอง โดยส่วนตัวคิดว่าตอนนี้ตัวเองมาถึงสเตจไหนของชีวิต ประสบความสำเร็จแล้วหรือเปล่า

ความรู้สึกผมตอนนี้นะ ตอนผมเริ่มทำงานโฆษณาใหม่ๆ ผมจะมีไอพอดอันใหญ่ๆ 20 กิ๊กอยู่อันหนึ่ง แล้วก็จะมีโฟลเดอร์เพลงที่ชื่อว่า build build (หัวเราะ) ตอนนั้นคือฟีลลิ่งว่า ‘เข้ามาอีกดิๆ ช่วยจัดชุดใหญ่ๆ มากกว่านี้ให้หน่อยสิ’ เป็นเพลงของก้านคอคลับมั้ง แค่จะบอกว่าฟีลลิ่งตอนนี้ การที่มีบริษัทสำหรับผมมันเหมือนเพิ่งเริ่มต้นเอง หมายถึงว่าเหมือนผมกลับไปเป็นครีเอทีฟใหม่อีกครั้งหนึ่งเลย มันเหมือนผมรีเซ็ตใหม่จริงๆ ทุกอย่างเลยนะ คือเราเป็นน้องใหม่มากในวงการนี้ ทั้งตัวออฟฟิศ ตำแหน่งที่ผมอยู่ คือผมเป็นแค่ Founder น้องใหม่ เอเจนซีผมก็เป็นเอเจนซีน้องใหม่ Latest Agency in Thailand มันเหมือนคนที่เพิ่งเข้ามาเป็นครีเอทีฟ ณ วันแรกเลย ความรู้สึกเป็นแบบนั้นจริงๆ 

แล้วก็ถ้าพูดในมุมธุรกิจ มันก็เหมือนเราเพิ่งเริ่มเก็บเงิน คือความรู้สึกตอนนี้แม่ง First Jobber เลย เดี๋ยวกูจะเริ่มเก็บเงินแล้วนะ เริ่มสร้างพอร์ต ทุกอย่างใหม่หมดเลย 

กลัวความล้มเหลวไหม

คำว่าความล้มเหลว มันมีเลเวลของมัน หมายถึงว่าความล้มเหลวของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนถึงตรงนี้คือล้มเหลวแล้ว แต่ของผมมันอาจจะอยู่ต่ำมากก็ได้ คนอื่นอาจจะมองว่าผมล้มเหลวแล้วนะ แต่ผมอาจจะรู้สึกว่ายังไม่ใช่จุดล้มเหลวหรอก ถ้าตอบคำถามว่ากลัวไหม ก็คงตอบว่าไม่กลัว ผมเชื่อว่าเราจะดีได้

ตอนนี้บริหารเวลาชีวิตยังไงบ้าง

เวลาเรารู้สึกว่าเราบริหารเวลาไม่ได้ เพราะว่าเรารู้สึกมีของบางอย่างที่เราอยากทำ แล้วเราต้องไปทำอีกอย่าง ตอบแบบนี้ก่อนนะ 

ถามว่าบริหารเวลายังไง ถ้าบอกว่าเวลาช่วงนี้ของผม มันอยู่กับออฟฟิศ ไม่ได้แปลว่าผมทุกข์นะ เพราะว่าผมใช้เวลาไปกับสิ่งที่ผมอยากทำ หมายถึงว่าเรามีปัญหาก็ต่อเมื่อ เราอยากไปทำอันนี้แต่เราไม่ได้ไปทำ แต่ตอนนี้ ผมอยากทำอันนี้ แล้วผมมีเวลา 24 ชั่วโมงเลยเพื่อทำมัน ก็ถือว่าสนุกอยู่ แล้วก็รู้สึกว่าโชคดีที่ออฟฟิศอยู่ใกล้บ้านมาก เสาร์-อาทิตย์ผมก็มาอยู่ออฟฟิศ แต่ออฟฟิศเราคุยกันว่า จันทร์กับศุกร์เราจะ Work From Home อังคาร พุธ พฤหัส เราถึงจะมาเจอกัน แต่จริงๆ ก็ไม่ฟิกซ์หรอก เพราะบางทีถ้าไม่มีอะไรมากก็ Work From Home ได้ หรือว่าถ้ามันมีงานวันจันทร์ทุกคนก็มากัน ก็แล้วแต่ แต่ผมก็จะแสตนด์บายที่ออฟฟิศ เพราะว่าผมชิล หมายถึงว่ามันมีเรื่องที่เราอยากมาเคลียร์ให้มันเสร็จ 

การถ่ายภาพสตรีทเป็นโมเมนต์ที่มีความหมายกับคุณยังไง

สตรีททำให้ผมค้นพบว่า ผมคือตัวเองตอนเด็กที่แม่งแค่มีเงินเดือน (หัวเราะ) คือผมชอบถ่ายรูปตั้งแต่เด็ก เพราะว่าพี่ชายผมถ่าย พี่ชายชื่อปืน พี่ปืน น้องระเบิด อันนี้ชื่อพ่อแม่ตั้งเลย คือพี่ชายชอบถ่ายรูป แล้วเราก็เห็นพี่เป็นไอดอล เขาถ่ายรูปเราก็ถ่ายตาม ตอนแรกมีแค่นี้เลย แล้วพอเริ่มถ่ายรูป แล้วเราก็ด้วยความที่ไม่ได้ออกเงินเอง ขอเงินพ่อแม่ ก็ถ่ายเละเทะ ถ่ายมั่วซั่ว แบบถ่ายรูปชู 2 นิ้วแล้วก็บอกว่า รูป 2 นิ้ว เป็นมุขรูป 2 นิ้วติดบัตร เอากล้องไปถ่ายเทียน เข้าไปใกล้ๆ แล้วสักพักก็ได้กลิ่นไหม้ผมตัวเอง แล้วมันเป็นรูปที่ติงต๊องมาก หรือถ่ายอะไรบังหน้าคน โดยที่ไม่คิดว่ามันมีความหมายอะไรเลยตั้งแต่เด็ก 

จนวันหนึ่งมาเจอสิ่งที่เรียกว่า รูป Street Photo พอดูแล้วก็ เฮ้ย เราเก็ตสิ่งนี้ ผมก็เลยเริ่มไปถ่ายแบบนี้ แล้วก็ค้นพบว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่เขาชอบงานแบบนี้ หมายถึงว่าเขายอมรับงานของผม ที่ภาพแบบนี้ บังหัวบ้างอะไรบ้าง เลยทำให้รู้สึกว่า มันเป็นงานที่เราไม่ได้พยายามจะไปเป็น แต่ว่ามันเป็นงานที่เราใช้วิธีตั้งแต่เราเด็กๆ แล้วมันทำให้เราเข้าใจว่า อ๋อ เราก็เป็นแค่ไอ้เด็กคนนั้นที่โตขึ้น มันกลับมาจุดที่เรารู้สึกว่า ทุกคนกลับไปดูว่าตัวเองเป็นอะไร แล้วแค่เบ่งบานตรงนั้น มากกว่าที่จะไปกลบจุดด้อย

นอกจากไปถ่ายภาพสตรีทแล้ว มีวิธีไหนที่ทำให้คุณพรั่งพรูไอเดียออกมาได้อีกบ้าง นอกจากการดู Referrence เยอะๆ

มี 2 วิธีใหญ่ๆ ที่เรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก เอาอย่างนี้ เล่าให้ฟังดีกว่า เคยทำงานกับคนที่เป็นดีเจ เขาบอกว่าเขาต้องอ่านหนังสือ หรืออ่านหรือดูอะไรก็ได้ เพราะเขาต้องพูดเยอะมาก หน้าที่เขาคือพูด เพราะฉะนั้นหน้าที่เขาคือ เหมือนเติมอะไรก็ได้ การ์ตูนหรืออะไรก็ได้เพื่อเอาไปพูดเยอะๆ อันนี้คือสิ่งที่หนึ่ง ถ้าเรียกว่าเป็นสเตจก็คือก่อนอื่นต้องหาทุกอย่างเข้าตัวก่อน 

และผมเชื่อว่าการพักในจังหวะที่ถูกมันทำให้ของบางอย่างออกมา เหมือนที่เขาบอกว่าความคิดสร้างสรรค์มักจะออกมาตอน 3B อาบน้ำ (Bath) นั่งรถบัส (Bus) และกำลังนอนอยู่บนเตียง (Bed) เพราะมันเป็นโมเมนต์ที่เราพักผ่อน แต่ก่อนที่จะพักผ่อน เราต้องอัดทุกอย่างลงไปให้ได้ก่อนนะ เพื่อนผู้กำกับคนหนึ่งเคยบอกว่า เรื่องนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์ 

ผมอาจจะผิดก็ได้ แต่ผมไม่ได้เชื่อในการประชุม 4 ชั่วโมง เพื่องานหนึ่งชิ้น ผมเชื่อในการทำงานแบบ Lean มากๆ หมายถึงว่าตัดทุกอย่าง จริงๆ แล้วเวลาประชุมนานๆ ไม่มีประโยชน์เลยนะ แต่ว่าถ้าทุกคนมาคมๆ แล้วมาโยนกันปุ๊ป ดูว่าอะไรได้ และถ้ามันไม่ได้ แยกย้าย ไปทำอย่างอื่น พอเราทำอย่างนี้มันทำให้ทุกคนมีเวลาที่จะไปหาอะไรใส่หัว แล้วก็มาอ้วกด้วยกัน (หัวเราะ) มาบ้วนลงในที่เดียวกัน การทำงานแบบ Lean คือการทำงานที่เราใช้กันที่นี่ แล้วมีประโยชน์มาก 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ