ผ่านการเวิร์กฟรอมโฮม ล็อกดาวน์ที่ไม่ล็อกดาวน์ และปิดเมืองแน่นหนาสลับไปมากว่า 2 ปี ถ้าจะละไว้ไม่พูดถึงความเลวร้ายของโรคระบาด สภาพเศรษฐกิจ และการบริหารประเทศ (ที่จริงๆ ก็ละได้ลำบาก) เรื่องถัดมาที่ทุกคนน่าจะต้องเผชิญพอๆ กันคือภาวะชีวิตเฉา ใจแฟบ สมองขึ้นสนิม และความเปราะบางด้านความสัมพันธ์
หากโควิดทำให้เราเห็นปัญหาที่หมักหมมอยู่ในระบบการบริหารจัดการของภาครัฐ อีกสิ่งที่เราน่าจะเห็นชัดพอกันคือปัญหาความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว

แม้จะอยู่ด้วยกันมาทั้งชีวิต แต่การอยู่บ้านเดียวกันแบบติดแหง็ก ยากที่จะหนีออกไปไหนก็ทำให้ปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรม ยัดไว้ในลิ้นชัก หรือซ่อนไว้ใต้เตียง ถูกแผ่หลาออกมาให้ต้องเผชิญหน้า
เรื่องเล็กยิบย่อยอย่างล้างส้อมไม่สะอาด ตากผ้าไม่เป็นระเบียบ เปิดดูคลิปเสียงดัง หรือชอบแกล้งให้หมาเห่า (จนเสียงเข้าไมค์ตอนประชุม) มักกลายเป็นประเด็นที่ก่อการทะเลาะเบาะแว้งในบางบ้าน และเกิดเป็นสงครามประสาทเงียบงันในบางห้อง ทั้งที่ต้นเหตุล้วนมาจากเรื่องนิดเดียวทั้งนั้น
อย่าดูเบาหรือด้อยค่าเรื่องนิดเดียวเหล่านี้ เพราะเราต่างรู้ดีว่ามันใหญ่โตแค่ไหน
เรื่องบ่นจุกจิกเล็กๆ น้อยๆ รวมกันตลอดชีวิตมีค่าเท่ากับ “ฉันทำอะไรก็ไม่เคยถูกใจเธอ”
หากทำอะไรไม่เกรงใจกันซ้ำๆ รวมกันตลอดชีวิตมีค่าเท่ากับ “เธอไม่เคยเห็นหัวฉัน”
ถ้าไม่เคยได้รับในสิ่งที่ต้องการรวมกันตลอดชีวิตมีค่าเท่ากับ “ฉันไม่มีค่าเลยสำหรับเธอใช่ไหม”
เมื่อถูกหมางเมินทำเป็นไม่มีปัญหารวมกันตลอดชีวิตมีค่าเท่ากับ “เธอมันขี้ขลาด ไม่กล้ายอมรับความจริง”
ไม่ว่าจะเคยบอกรักกันบ่อยๆ หรือมักจะละไว้ในฐานที่เข้าใจ เราก็ไม่อาจปฏิเสธความรักที่มีต่อกันของคนในครอบครัวได้เต็มปากเต็มคำนักหรอก และสำหรับฉัน ปัญหาความสัมพันธ์ที่มีเงื่อนสำคัญเป็นความรักนี้ มันช่างเจ็บปวดเหลือเกิน

เราต่างเติบโตมาเจอสารพัดปัญหาความสัมพันธ์ คุณครูใจร้าย เพื่อนร่วมงานท็อกซิก เจ้านายเอาแต่ใจ เจ้าหน้าที่รัฐบ้าอำนาจ ฯลฯ แต่เมื่อได้ก่นด่า บ่นระบาย หรือผ่านพ้นปัญหานั้นๆ ไป เรามักจะเอาใจออกห่างจากความเจ็บปวดได้โดยง่าย คำอธิบายเรียบง่ายคือเพราะใจของเราไม่ได้อยู่กับพวกเขา
แต่กับคนในครอบครัว กับบุพการี กับพี่น้อง กับญาติสนิท กับสามีหรือภรรยาที่เราฝากหัวใจเอาไว้ กระบวนการหยิบกลับมาคืนที่เดิมมันกลับยากเย็น

ทุกครั้งที่ตระหนักถึงความเจ็บปวดหนักหน่วงนี้ในครอบครัว ฉันมักหลับตาฝันกลางวันว่ามันจะดำเนินไปเหมือนละครส่งเสริมความรักในครอบครัวสักเรื่อง ปัญหาทุกอย่างถูกเล่าด้วยภาพแฟลชแบ็ก แล้วเฉลยว่าเป็นเพียงความเข้าใจผิดและความบังเอิญผิดที่ผิดทาง อาจมีซีนอารมณ์เอ่ยปากทุ่มเถียง พร่ำบอกความในใจ น้ำตาของทุกฝ่ายรินไหล ก่อนที่จะมีเหตุการณ์บางอย่างมาคลี่คลาย อาจเป็นตัวร้ายกลับใจ อาจเป็นจดหมายที่เขียนทิ้งไว้ อาจเป็นใครสักคนลดทิฐิและเริ่มเข้าอกเข้าใจ แล้วทุกอย่างก็สวยงาม พระเอกนางเอกปรับความเข้าใจ พ่อแม่ยอมรับว่าเข้มงวดเกินไป หรือพี่น้องกลับมากอดกันกลมเกลียวเหมือนรูปถ่ายในอัลบั้มครอบครัว ไม่มีอีกแล้วความเจ็บปวดเก่าๆ ไม่มีอีกแล้วแผลที่ถูกกดทับซ้ำซาก โลกหลังความเข้าอกเข้าใจมันช่างงดงามปีติ
แล้วฉันก็ลืมตาเพื่อพบว่ามันยังคงอยู่ และทำได้เพียงรอให้เวลาพาความหมางเมินมึนตึงดำเนินไปสู่จุดที่แต่ละคน ‘ช่างมัน’ ได้
เราอาจจะกลับมากินข้าวโต๊ะเดียวกัน นั่งดูละครหลังข่าวด้วยกัน หรือแชร์คลิปตลกๆ ในไลน์กลุ่มครอบครัวให้คู่กรณีส่งสติ๊กเกอร์หรือพิมพ์ 555 กลับมา นี่เป็นวิธีที่ง่ายกว่า ประนีประนอมกว่า เพราะเราถูกทำให้เชื่อว่า ยังไงครอบครัวก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม เหมือนที่ตอนเด็กๆ เราเห็นแม่ทะเลาะกับน้า ยายไม่พูดกับตา ป้าโกรธกับพ่อเรา ฯลฯ แล้วพวกเขาก็กลับมายิ้มให้กัน
แต่เมื่อไหร่ที่เราเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ใจของเราก็หลุดหายไปไหนแล้วก็ไม่รู้