Earthology ธุรกิจแฟชั่นที่เซฟสิ่งแวดล้อมและขอเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คน

ก่อนหน้านี้ทาง UN ได้ออกมาประกาศว่า ‘ยุคโลกร้อน’ ได้สิ้นสุดลงแล้ว ได้ยินปุ๊ปก็รู้สึกโล่งใจขึ้นมาทันที แต่ไม่ทันจะหายใจได้ทั่วท้องเขาก็ประกาศต่อว่าตอนนี้เรากำลังเข้าสู่ ‘ยุคโลกเดือด’ หรือ Global Boiling แล้ว นั่นหมายความว่าเราต้องให้ความใส่ใจกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะสำหรับคนที่กำลังอยากสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา และอยากเชื่อมโยงธุรกิจตัวเองเข้ากับการพัฒนาความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมและสังคม ลองดูวิธีการทำงานของ เชอรี่-กฤติกา ชัยวิไล ผู้ปลุกปั้น Earthology Studio ให้เป็นแบรนด์ที่เข้าใจและผลักดันให้โปรดักต์เพื่อสิ่งแวดล้อมสามารถเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนได้อย่างกลมกลืน

คุณเริ่มต้นธุรกิจด้วยการวางทิศทางของ Earthology ไว้อย่างไร

ชื่อของเรามาจากคำว่า Earth บวก Technology เราต้องการเป็นแบรนด์ที่มีความร่วมสมัย ไม่ได้เป็นแบรนด์ที่คราฟต์จ๋าๆ เราต้องการให้ Earthology มีดีไซน์ที่เข้ากับคนรุ่นใหม่ สร้างความสนใจให้พวกเขาหันมามองว่าแบรนด์นี้คืออะไร มีโปรดักต์อะไร เมื่อเขารู้ว่าเรามีอะไรแล้วก็ให้เขามาพบเรื่องของที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์ที่เราทำและความเป็นมาของแบรนด์

คุณสร้างแบรนด์ที่ยึดโยงกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมเต็มตัว ในมุมหนึ่งข้อจำกัดนี้ทำให้ Earthology ดำเนินธุรกิจยากกว่าแบรนด์แฟชั่นทั่วไปแค่ไหน

เรามีความท้าทายเยอะมากๆ เพราะเวลาทำงานเราต้องคำนึงถึงเรื่องของ Ecosystem เรื่องของกลุ่มวัตถุดิบ และทุกคนที่เราร่วมงานด้วยต้องมีความเข้าใจในจุดยืนเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับบ้านเรา และตลาดของแฟชั่นเพื่อสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้กว้างมาก ความท้าทายจึงมีทุกๆ วัน ดังนั้นภารกิจของเราจึงเป็นการทำความเข้าใจกับกลุ่มคนที่ทำงานด้วยกัน ให้เขาเห็นความสำคัญของความเป็นชุมชนท้องถิ่น เพราะเราเห็นความพิเศษนี้ที่ซ่อนอยู่ในบ้านเรา ดังนั้นเราจึงไม่รู้สึกท้อแท้ในการทำงานเลย

ตอนนี้เห็นว่าหลายแบรนด์แฟชั่นก็เริ่มมาจับเทรนด์ของสิ่งแวดล้อมกันแล้ว กระแสเหล่านี้คุณคิดว่าเกิดจากอะไร

มาจากกระแสของโลกเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Fast Fashion หรือ Slow Fashion ก็ตาม ความยั่งยืนหรือ Sustainability ได้กลายเป็นแก่นของเรื่องนี้ไปแล้ว เราไม่ทำเรื่องนี้ไม่ได้แล้วเพราะผู้บริโภคเขาก็ต้องการ เดี๋ยวนี้เวลาที่คนจะเลือกซื้อของหรือเลือกสินค้าจากแบรนด์ไหนก็ตาม เขาจะดูว่าแบรนด์นั้นมีเป้าหมายหรือมีมุมมองในการดูแลสิ่งแวดล้อมและเรื่องของสังคมควบคู่ไปกับการทำธุรกิจด้วยหรือไม่ นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนในยุคนี้

ทำไมคุณถึงเชื่อมั่นกับการทำธุรกิจที่มีความซับซ้อนแบบนี้

เราเชื่อในเรื่องของความเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าเมื่อทำงานอะไรก็ตาม ถ้ามีโอกาสเราก็อยากสร้างแรงปะทะหรือผลกระทบที่ดีให้กับผู้คน เราอาจจะไม่สามารถเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไปได้ แต่ก็อยากเป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ที่ทำให้ใครสักคนที่กำลังอยากมีธุรกิจของตัวเองได้คำนึงถึงเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อมได้บ้าง ดังนั้นเราจึงทำการสื่อสารในเรื่องของความยั่งยืนอย่างชัดเจน เพราะต้องการให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมกับเรา

ปัญหาใหญ่ๆ ของการทำธุรกิจด้านนี้มีเรื่องอะไรที่แตกต่างจากธุรกิจแฟชั่นทั่วไปบ้างไหม

คิดว่าไม่มีความแตกต่างแบบชัดเจน เพราะอุปสรรคมีอยู่ในทุกอุตสาหกรรมหรือทุกธุรกิจอยู่แล้ว ถ้าเรามีความมุ่งมั่นต่อสิ่งที่ทำ เดี๋ยวเราจะค่อยๆ หาทางออกให้กับปัญหาเหล่านั้นได้เอง ถ้าวันนี้ยังหาทางไม่ได้ก็ลองถอยกลับมาหน่อย ลองตั้งหลักใหม่ พรุ่งนี้ค่อยหาทางใหม่ด้วยวิธีการอื่น เดี๋ยวก็จะแก้ปัญหาได้แน่ๆ ค่ะ

คุณใช้การสื่อสารกับคนรุ่นใหม่อย่างไรให้ไม่น่าเบื่อ

เรื่องสำคัญเลยคือการบอกกับเขาว่า การซื้อเสื้อตัวใหม่ไม่ผิด แต่เราอยากให้เสื้อตัวนั้นสามารถอยู่กับเขาได้นาน อย่างน้อยก็สามารถหยิบมาใส่ได้ 5-10 ครั้ง หรือกระทั่งหลายๆ ปี ซึ่งเราเป็นคนที่ภูมิใจมากที่ตัวเองมีเสื้อผ้าที่อยู่กับตัวเองมานานเป็นสิบปี เราเอาชุดเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ ด้วยวิธีการมิกซ์แอนด์แมตช์ให้เป็นสไตล์ของตัวเอง Earthology จึงสื่อสารด้วยเหตุผลว่าตอนนี้ยังมีคนจำนวนน้อยที่จะดูว่าเสื้อผ้าในตู้ของตัวเองนั้นมีที่มาจากไหน ซึ่งเมื่อไหร่ที่เราที่เราให้ความสนใจในเรื่องของที่มาที่ไปตั้งแต่เรื่องของวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และการจ้างงาน สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันให้เรื่องของความยั่งยืนขยายวงกว้างมากขึ้น เพราะเราจะดูว่าเสื้อผ้านี้ใช้เส้นใยแบบไหน มีผ้าที่ทำจากขวดพลาสติกบ้างไหม แบรนด์นี้ให้ความสำคัญกับคนผลิตแค่ไหน เพราะสุดท้ายแล้วผู้บริโภคนี่แหละที่เป็นคนขับเคลื่อนตลาด และตลาดก็เป็นเรื่องของ Supply กับ Demand อยู่แล้ว

ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ดีแต่ก็มีราคาที่ต้องจ่ายเป็นค่าต้นทุนสูงกว่าปกติเหมือนกัน

ใช่ เป็นสิ่งที่เราต้องฝ่าฟันอย่างหนัก เพราะไม่เพียงแค่เราต้องประคองตัวเองให้อยู่ได้ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เราต้องทำเรื่องของสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย ดังนั้น Earthology จึงไม่ได้เป็นแบรนด์ที่มีคอลเลกชันเยอะ ซึ่งเราจะทำออกมาประมาณปีละสองคอลเลกชัน ซึ่งก็ถือว่าไม่เยอะ กำลังพอดี ทำให้เรามีเวลาในการเลือกวัตถุดิบ การจัดสรรให้เหมาะสมกับเรื่องของต้นทุน ซึ่งเรามีข้อดีตรงที่พื้นฐานของ Earthology มาจากโรงงานสิ่งทอ (บริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด) เราจึงมีวัตถุดิบที่เปิดกว้างสำหรับเราด้วย ทำให้เราอาจจะมีต้นทุนที่ดีกว่าคนอื่นๆ อยู่บ้าง

ที่บอกว่าสร้างระบบหมุนเวียนให้กับแบรนด์ Earthology นั้นเป็นอย่างไร

เราพยายามหาวัตถุดิบท้องถิ่นของบ้านเรามาใช้ และสร้างเป็น Ecosystem กลับไปยังชุมชน ซึ่งตอนนี้เรามีคอลเลกชันที่ทำมาจากเส้นใยของใบสับปะรด เดิมทีของเหล่านี้จะนำไปกำจัดด้วยการเผา เราไม่อยากให้วัตถุดิบนี้ถูกทิ้งแบบนั้น เราจึงร่วมมือกับเกษตรกร ทั้งในเรื่องของการจัดระบบการเกษตร และนำวัตถุดิบที่ได้มาทำเป็นเส้นใยเพื่อผลิตเป็นผ้า และออกแบบให้สามารถใช้งานได้ เราต้องการวัตถุดิบที่ไม่ได้เกิดจากการปลูกใหม่สร้างใหม่ แต่มาจากกระบวนการเกิดของมันที่มีอยู่แล้ว

ถ้าใครสักคนอยากทำแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา แล้วเขาก็ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย แต่ระบบของเขายังไม่สมบูรณ์เขาจะสามารถพูดได้แค่ไหนว่าแบรนด์นี้ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน

ถ้าคุณวางเป้าหมายว่าจะเป็นแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความยั่งยืน แต่อาจจะยังไม่สามารถทำ Ecosystem ได้สมบูรณ์ ก็สามารถทำได้ เราคิดว่าไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลย แม้ว่าในต่างประเทศจะกำหนดว่าวัตถุดิบของคุณต้องมาจากกระบวนการเพื่อสิ่งแวดล้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะมาจากการรีไซเคิลหรืออะไรก็ตาม แต่สำหรับแบรนด์ที่ยังไม่มีความพร้อม เขาอาจจะบอกว่าแบรนด์เขามีส่วนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอยู่ด้วยก็ไม่ผิด

คุณพยายามที่จะช่วยเซฟสิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงสภาพแวดล้อมของเราเลวร้ายลงทุกวัน อย่างข่าวเรื่องเราเข้าสู่ยุคโลกเดือดแล้ว สร้างความรู้สึกบั่นทอนกำลังใจบ้างไหม

ไม่เลย เรากลับรู้สึกว่าตัวเองต้องสื่อสารให้มากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ ตอนนี้ก็มีหลายหน่วยงานและผู้คนให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น เพียงแต่คนส่วนใหญ่เขายังไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ดังนั้นเมื่อเรามีโอกาสได้ร่วมงานกับหลายๆ องค์กร เราก็จะจัดกิจกรรมให้เขาได้มีส่วนร่วมด้วย เช่น ถ้าบริษัทนี้มีแพ็กเกจจิ้งที่เป็นพลาสติก เราก็จะให้เขานำพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วเข้าระบบ และรีไซเคิลออกมาเป็นชุดฟอร์มทำงานของพนักงาน ซึ่งสิ่งนี้ก็จะเป็นการสื่อสารอีกทางกับพวกเขา

คุณเป็นคนที่คิดเร็วทำเร็วแค่ไหน

ถ้าเรื่องการคิดเร็วสำหรับเราคือส่วนที่เป็นการสื่อสารกับลูกค้า เพราะพวกเขาต้องการข้อมูลหรือความเข้าใจจากเรา ตรงนี้เราคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร็ว แต่ถ้าเป็นเรื่องของการวางแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่วนนี้ต้องใช้เวลาในการลงรายละเอียด เพราะเราอยากสื่อสารกลับไปว่า ถ้าคุณซื้อเสื้อตัวนี้ เส้นทางของเสื้อมาจากเส้นใยที่ใช้ขยะขวดพลาสติกที่มีในประเทศมารีไซเคิล และกระบวนการนี้จะลดการใช้น้ำได้เป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์เท่าไหร่ ซึ่งจะโยงไปถึงเรื่องการลดคาร์บอน ลดพลังงานการขนส่งไปเท่านี้ นี่คือการเดินทางที่เราหวังว่าวันหนึ่งคนจะให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

ในชีวิตประจำวัน คุณจัดการกับขยะที่เกิดขึ้นในบ้านอย่างไร

การแยกขยะเป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว ในส่วนของขยะเศษอาหารเราจะคุยกันก่อนเลยว่าวันนี้มีใครกินข้าวหรือไม่กินบ้าง แล้วเราจะทำอาหารให้พอดีกับจำนวนคนที่กิน เราพยายามให้เกิดขยะเศษอาหารเหลือน้อยที่สุด พอทำเป็นประจำแล้วมันก็ง่าย หรือในเรื่องการเดินทางถ้าไม่มีสิ่งของที่ต้องขน เราก็จะใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้า ซึ่งเราอยากให้ภาครัฐฯ สนับสนุนการเดินทางสาธารณะให้มากๆ เพราะคนรุ่นใหม่ก็คงไม่ค่อยอยากขับรถกันหรอก ถ้าการเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามันง่ายขึ้น มันก็คือความสะดวกสบายและคุมเวลาได้ ถ้าต้องขับรถไปไหนมาไหน การคุมเวลาจะยากขึ้นทันที ส่วนในภาคธุรกิจที่ต่างประเทศเขาจะมีสิ่งที่เรียกว่า The Green Procurement List หรือ การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว ซึ่งถ้าใครทำธุรกิจในมุมของความยั่งยืน ทางรัฐฯ ก็จะเข้ามาช่วยโอบอุ้มในด้านของการจัดซื้อจัดจ้างกับทางภาครัฐฯ ซึ่งถ้ามีแผนการนี้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเขาก็จะอยู่ได้ เพราะต้นทุนของเขาก็จะลดลงไปค่อนข้างมาก

ในการทำงานกับทางชุมชน คุณพบว่าคนต่างจังหวัดเขาให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมแค่ไหน

ต้องยอมรับเลยว่าการรับรู้ในเรื่องนี้กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองจริงๆ เราต้องกระจายความรู้เรื่องนี้ออกไป นั่นคือพัฒนาในเรื่องการศึกษาแก่เยาวชน ซึ่งเป็นแผนงานระดับอภิมหาประเทศที่ต้องแก้ไข รัฐบาลต้องมาช่วยเรื่องนี้ ส่วนภาคธุรกิจทุกคนต่างก็พยายามทำกันเต็มที่แล้ว ซึ่งเราเชื่อว่าใครๆ ก็อยากทำอะไรที่ดีให้กับทุกอย่างในประเทศเราอยู่แล้ว

Earthology เข้ามาร่วมงานกับร้าน Good Goods เซ็นทรัลเวิลด์ ได้อย่างไร

เราชอบแนวคิดของร้าน Good Goods ที่พยายามชูภูมิปัญญาของชาวบ้านหรือชุมชน แล้วพัฒนาด้วยการใส่ดีไซน์ที่ทันสมัยเข้าไป ทำให้โปรดักต์ดูไม่เชย แล้ววันหนึ่งร้าน Good Goods ก็ชวนเรามาทำอะไรร่วมกัน เราก็ตกลงเลย เพราะอยากให้โปรดักต์ของ Earthology มาเป็นส่วนหนึ่งกับร้าน Good Goods ด้วยเหมือนกัน ซึ่งนอกจากโปรดักต์ที่เราออกแบบให้กับทางร้านแล้ว เราก็คิดโปรเจกต์สนุกๆ ขึ้นมา นั่นคือ การทำกางเกงมวย เป็นกางเกงมวยสาย Sustain (หัวเราะ) ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเองก็ไม่เคยทำ และก็ยังไม่มีใครทำ เพราะเวลาคนต่างชาติคิดถึงประเทศไทย นอกจากเรื่องอาหารก็คือมวยไทยและกางเกงช้างนี่แหละ แต่กางเกงช้างก็ทำออกมาแล้ว เราเลยลองทำกางเกงมวยขึ้นมาโดยใช้เส้นใยจากขวดพลาสติก และปักลาย Good Goods กับ Earthology ลงไป ตอนออกแบบก็สนุกมาก และสามารถใช้ต่อยมวยได้ด้วยนะ เพราะโรงงานของเราเป็นคนที่ทำซัพพลายให้กับแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาอยู่แล้ว การดีไซน์ให้กางเกงมวยที่ใช้เส้นใยเพื่อสิ่งแวดล้อมแต่ยังคงเอกลักษณ์และความเป็นกางเกงมวยยังคงอยู่เหมือนเดิม

การได้คุยกันครั้งนี้ทำให้เรารู้สึกว่าคุณพยายามทำให้เรื่องของการเอาใจใส่สิ่งแวดล้อมค่อยๆ เข้ามาอยู่ในความคุ้นเคยของผู้คนทีละนิดจริงๆ

ใช่ เราไม่ผิดหรอกที่ชีวิตประจำวันทำให้เราต้องสร้างขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ออกมา แต่ถ้าเราช่วยกันเล็กๆ น้อยๆ เช่น ไปซื้อข้าวกล่องก็ไม่ต้องให้เขาใส่ถุงพลาสติก แต่เราเอาถุงผ้าไปใส่ก็ได้ อะไรที่เปลี่ยนได้ก็ค่อยๆ เปลี่ยน ค่อยๆ หามุมที่เราสามารถเปลี่ยนแล้วทำได้ต่อไปนานๆ อย่างมีความสุขไปก่อน มันไม่สำคัญหรอกว่าเราจะต้องเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ทันทีทันใด


ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ

AUTHOR