Zero Decibel : ตัวตนที่เติบโตขึ้นจากความเหงาและการใช้ชีวิตในนิวยอร์กของ SUNTUR

ซันเต๋อ-ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล คือศิลปินนักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่วัย 28 ปี ผู้โดดเด่นเรื่องการวาดรูปตัวการ์ตูนคาแรกเตอร์สดใสน่ารักในลายเส้นมินิมอล เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่เผชิญหน้ากับความเหงาจนหยิบสิ่งนี้ขึ้นมาและรังสรรค์เป็นผลงานศิลปะทั้ง 33 ชิ้น ภายใต้ชื่อนิทรรศการ ‘Zero Decibel’

สิ่งแรกที่เราเห็นก็คือผลงานชุดนี้ของซันเต๋อดูแตกต่างจากงานชิ้นก่อนๆ เป็นชิ้นงานที่นิ่งเงียบและเหงามากขึ้น เราเลยอยากชวนเขามาเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปและเบื้องหลังของความเงียบเหงาที่สะสมในตัวเขานานถึง 2 ปี ก่อนจะกลั่นกรองออกมาเป็นนิทรรศการผลงานเดี่ยวครั้งนี้ให้เราได้ชมกัน

01 ความเหงาเกิดในสรรพเสียงของนิวยอร์ก

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซันเต๋อตัดสินใจออกจากงานบริษัทโฆษณาที่ทำอยู่ แพ็คเสื้อผ้าลงกระเป๋าแล้วเดินทางออกไปพักผ่อนและใช้ชีวิตในมหานครนิวยอร์กเพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่สนใจ แต่ท่ามกลางสีสันและเสียงที่ดังระงมตลอด 24 ชั่วโมงของมหานครแห่งนี้ กลับทำให้เขารู้สึกถึงความโดดเดี่ยวอ้างว้าง เขาเล่าว่าเคยรู้สึกเฟลอยู่หลายครั้ง เหมือนเป็นลูสเซอร์ที่ทำอะไรไม่ค่อยได้ ไม่เก่งสักอย่างเหมือนตอนอยู่ที่ประเทศไทย

“ช่วงนั้นเราเริ่มเปลี่ยนจากการวาดสีน้ำมาเป็นสีอะคริลิก เริ่มวาดรูปลงแคนวาสเล่นๆ แล้วรู้สึกดีขึ้น กลับมาคิดได้ว่าการวาดรูปคือสิ่งที่เราชอบและเราทำได้ดีที่สุด ช่วงนั้นก็จะระบายความเหงาออกมาผ่านงานศิลปะอยู่บ้างบางที มีประมาณ 3 รูป หนึ่งในนั้นจะเป็นเสี้ยวนึงของเทพีเสรีภาพในนิวยอร์กที่เราอยากจะสื่อว่าความอิสระที่ได้อยู่ตัวคนเดียว ทำอะไรก็ได้เนี่ย พอเราได้มาครอบครองก็ใช่ว่ามันจะดีเสมอไป บางครั้งมันก็ทำให้เราเหงาได้เหมือนกัน”

02 แมวเหมียวผู้เปิดประตูให้เห็นทางออก

ปลายปี 2017 YELO House ได้ยื่นข้อเสนอให้ซันเต๋อทำนิทรรศการศิลปะของตัวเองซึ่งเป็นความปรารถนาที่เขาสะสมมานาน แต่ไม่เคยมีโอกาสเพราะคิดว่าฝีมือยังไม่ดีพอ แต่ครั้งนี้ต่างออกไป ซันเต๋อเลือกที่จะกระโดดรับข้อเสนอในครั้งนี้และเจรจาต่อรองขอยืดระยะเวลารังสรรค์ผลงานเพิ่มขึ้นอีก 4 เดือน

“ตอนตกลงรับงานนี้ ไม่รู้ว่าจะนำเสนอคอนเซปต์อะไรที่จะใหญ่พอให้แตกออกมาเป็นหลายๆ รูปและคุมงานเก่ากับงานใหม่ได้ จนวันนึงเราวาดรูปแมวค่อยๆ เดินอยู่ในห้อง เราคิดว่าบางทีการหาทางออกไม่ต้องเร่งวิ่งเสมอไป แค่ค่อยๆ เดินไปเรื่อยๆ ก็เจอทางออกได้”

“พอวาดรูปนั้นเสร็จ เราก็นั่งมองและคุยกับงานตัวเองประมาณครึ่งชั่วโมง คิดว่าถ้างานเราเป็นคน จะเป็นคนแบบไหน แล้วรู้สึกว่าจริงๆ แล้วมันเป็นคนที่นิ่งและเงียบ พูดไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ แต่ความรู้สึกมันล้นอยู่ในใจ เราเลยหยิบคำว่า ‘เงียบ’ มาใช้ในงานเซ็ตนี้ บวกกับงานเก่าที่เราเคยทำตอนปี 2016 มันเข้าคอนเซปต์ได้ด้วย กลายเป็นธีม ‘Zero Decibel’ มันไม่ใช่ความเงียบที่ไม่มีเสียง แต่เป็นความเงียบในใจเรามากกว่า”

03 เบื้องหลังฉากแห่งความเหงา

หลังจากได้คอนเซปต์งาน เขาตัดสินใจทำงานเซ็ตนี้ด้วยสีอะคริลิกบนแคนวาส เพราะสนุกกับการเลือกและผสมสีได้อย่างอิสระ เขาเล่าให้ฟังว่าช่วงแรกๆ ยังรู้สึกว่างานนี้ยากและใช้แรงกายเยอะมากกับผลงานแต่ละชิ้น ไม่ใช่เพราะเหตุผลที่เขาไม่มีรถยนต์ส่วนตัวทำให้ต้องแบกเฟรมจากสตูดิโอในเขตแมนฮัตตันกลับมาที่บ้านในเขตควีนส์ แต่เป็นเพราะโจทย์ของงานที่แตกต่างออกไปด้วย

“เราใช้พลังในงานนี้เยอะมาก ตั้งใจยิ่งกว่าทำทีสิสร้อยเท่า งานนี้เราเอาศิลปะทุกอย่างที่มีในตัวออกมาใส่หมด ประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาทำให้เรามีภาพในหัวหรือเป็นภาพถ่ายที่เราไปเห็นแล้วชอบ จะมีความเป็นตัวเราอยู่ในนั้น เราสเกตช์ด้วยมือออกมาก่อนแล้วค่อยๆ ตัดทอนให้แต่ละรูปมีองค์ประกอบที่ง่ายและน้อยที่สุดเพราะโจทย์มันคือความเงียบ ถ้ามีองค์ประกอบเยอะจะมารบกวนงานทำให้มันดูแล้วไม่เงียบ”

ถึงแม้แกนหลักอย่างความเงียบจะชวนให้หลายคนคิดไปถึงความเหงาที่มักตามมา แต่จริงๆ แล้วซันเต๋อเล่าว่าผลงานชุดนี้ของเขาไม่ได้มีความเงียบที่มาจากความเหงาอย่างเดียว

“แกนหลักของงานคือความเงียบซึ่งเราเอามาคิดต่อว่ามีความเงียบแบบไหนบ้าง ความเงียบแบบเหงา ความเงียบแบบเศร้าจากการจากลา ความเงียบแบบมีความสุข หรือแม้แต่เงียบแบบหนังอวกาศ เราเปรียบตัวเองเป็นผู้กำกับหนัง เพราะหนังเรื่องนึงมีมากกว่าความรู้สึกเดียว เราคิดว่าฉากนี้จะมีใครเป็นพระเอกนางเอก สถานที่เกิดเหตุคือที่ไหน แล้วค่อยวาดออกมา เหมือนเป็นซีนในหนังเรื่องหนึ่ง”

04 ตัวตนที่เติบโต

นิทรรศการนี้เป็นงานแสดงผลงานเดี่ยวครั้งแรกของซันเต๋อ เขายอมรับว่ามีความรู้สึกหลายอย่างถาโถมเข้าหาเขาเมื่อตกลงรับงานแสดงครั้งนี้ ด้วยความต้องการให้งานที่ออกมามีคุณภาพและสมบูรณ์แบบมากที่สุด ความกังวลเลยรุมล้อมอยู่บ่อยครั้งเพราะกลัวว่าจะวาดออกมาได้ไม่เหมือนที่คิดไว้

“เราตั้งใจและใส่พลังเต็มที่ตลอดเวลาที่ทำงานเซ็ตนี้ กลัวว่าจะวาดไม่สวยแล้วออกมาไม่ดี กดดันถึงขนาดที่บางภาพเราต้องยกมือไหว้พระพิฆเนศให้ช่วยเราก่อนจะลงมือวาดงานชิ้นนั้น ขอให้ออกมาสวยเหมือนที่คิดไว้ บางทีก็คิดมากจนเก็บเอาไปฝัน งงตัวเองเหมือนกันว่าทำไมตั้งใจจริงจังขนาดนี้” ศิลปินหนุ่มเล่าแล้วบอกว่าระยะเวลา 2 ปีที่เขาได้ไปใช้ชีวิตในนิวยอร์กส่งผลต่องานของเขาที่เปลี่ยนไปจนหลายคนก็ทักว่างานนี้ไม่ใช่ ‘ซันเต๋อ’ เลย

“เราเห็นอะไรมากขึ้นในเวลา 2 ปี มันทำให้เรานิ่งขึ้น เพื่อนเราไม่ได้เยอะเหมือนตอนอยู่ไทย ทำให้มีเวลากับตัวเองมากขึ้น พอคิดอะไรได้มากขึ้นงานก็เลยเปลี่ยนแนว จากที่เมื่อก่อนเราวาดรูปตาจมูกปากหรือตัวการ์ตูนน่ารักสดใส แต่งานตอนนี้หลายคนอาจจะบอกว่าไม่ใช่ซันเต๋อเลย”

“เราไม่ได้รังเกียจงานเซ็ตเก่าของเรานะ เพียงแต่เรารู้สึกว่าเราโตขึ้น งานก็โตขึ้นตามเรา กลายเป็นงานแบบใหม่ที่สัมพันธ์กับสิ่งที่เราชอบและตัวเราในตอนนี้ เราอยากบอกให้คนอื่นรู้ด้วยว่าซันเต๋อไม่ได้ทำเป็นแค่งานน่ารักๆ แต่เราทำงานแนวนิ่งๆ ได้เช่นกัน”

หลังจากงานทุกชิ้นเสร็จสิ้น เขาแพ็คกระเป๋าเตรียมกลับไทยอีกครั้งพร้อมผลงานความเงียบ 32 ชิ้น ที่โหลดอยู่ใต้ท้องเครื่องบิน และอีกหนึ่งชิ้นที่ต้องกลับมาวาดที่ไทยเพราะขนาดใหญ่เกินกว่าจะขนย้ายข้ามประเทศมาได้


นิทรรศการ Zero Decibel จะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ยาวไปจนถึง 8 เมษายนที่ YELO House ภายในงานยังมีการเปิดประมูลชิ้นงานของซันเต๋อหนึ่งภาพ โดยรายได้จากการประมูลส่วนหนึ่งจะนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์

“รูปที่เปิดประมูลเป็นรูปคนกระโดดน้ำสีฟ้า เราวาดขึ้นช่วงใกล้เสร็จสิ้นงานเซ็ตนี้แล้ว รูปนี้เป็นรูปต่อจากรูปคนกระโดดน้ำลงบ่อน้ำสีดำที่เราวาดขึ้นมาช่วงที่เริ่มทำเซ็ตนี้ ตอนแรกเราไม่รู้ว่าสิ่งที่เรากำลังกระโจนลงไปมันดีหรือไม่ดี มองไม่เห็นอนาคต เลยเป็นน้ำสีดำ แต่หลังจากที่เรากระโดดลงไปและวาดไปเรื่อยๆ มันก็ได้ตอบคำถามที่คาในใจ เราได้รู้ว่าความมืดมนที่เราเห็นตอนแรก มันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่กลับมีความสดใสเหมือนน้ำสีฟ้า”

“เราชอบงานเซ็ต Zero Decibel ที่สุดตั้งแต่เกิดมา อีกสิบปีเราอาจจะมีงานที่ดีกว่าเซ็ตนี้ก็ได้ แต่ว่า ณ ตอนนี้ อายุ 28 นี่เป็นงานเซ็ตที่เราชอบมากที่สุด เพราะเราทำทุกอย่างเต็มที่ ถ้ามันจะออกมาไม่ดีหรือขายไม่ได้ก็ไม่เสียใจแล้ว”

Facebook | SUNTUR

ภาพ ธนวัฒน์ อัศวชุติพงศ์

AUTHOR