“บาร์หนังสยองขวัญในแต่ละยุคมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ของคนดูก็ถูกขยับขึ้นเรื่อยๆ เหมือนเราเป็นคนป่วยที่เคยได้รับยาโดสนี้แล้ว รู้สึกว่าแม่งไม่หายหรอก มึงเอายาแค่นี้มากูจะไปหายอะไร กูต้องการที่ไฮป์กว่านี้ สิ่งนี้มันเป็น Pain Point ของคนทำหนังสยองขวัญทั้งโลก”
หากพูดถึงรายการวิทยุสุดฮิตที่ชวนคุยเรื่องราวสยองขวัญชวนขนหัวลุก หลายคนคงรู้จักกับรายการ ‘อังคารคลุมโปง’ ของเอไทม์ (ATIME) ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ได้ถูกนำมาพัฒนาต่อเป็นซีรีส์ของ Netflix ที่รวมเรื่องราวสุดหลอน 8 เรื่อง 8 รสชาติ 8 ผู้กำกับ ชื่อว่า ‘อังคารคลุมโปง : เอ็กซ์ตรีม’
คอลัมน์ Draft Till Done ครั้งนี้จึงชวนผู้กำกับทั้ง 4 คน 4 เรื่องราว ได้แก่ ‘ท็อป-สุรพงษ์ เพลินแสง’ ตอนชุดวิวาห์อาถรรพ์, ‘ปริญญ์ กีรติรัตนลักษณ์’ ตอนสาวข้างห้อง, ‘เอก-เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์’ ตอนยายไม่ใช่ยาย, ‘เอลิซา เปียง’ ตอนคำสาปส่งต่อ มาพูดคุยเกี่ยวกับเบื้องหลังการทำงานตั้งแต่คอนเซปต์ รูปแบบการเล่าเรื่อง รวมไปถึงโปรดักชันดีไซน์
ในวันที่คนเสพหนังสยองขวัญมีบาร์ในการคาดเดาสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งพล็อตเรื่อง จังหวะ หรือแม้กระทั่งมูดแอนด์โทนตามแบบฉบับหนังสยองขวัญ ทำให้ผู้กำกับเองต้องปรับตัว และพยายามหาวิธีการเล่าแบบใหม่ๆ ในมิติที่ต่างออกไปเพื่อเล่นกับความรู้สึกของคนดูเช่นกัน
ภายใต้โจทย์ที่ท้าทายขึ้นผู้กำกับแต่ละคนจะมีวิธีการเล่าเรื่องยังไงบ้าง ไปฟังพวกเขาบอกเล่าพร้อมกันได้เลย
ที่มาที่ไปของซีรีส์เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
เอก : จากรายการอังคารคลุมโปงเล่าเรื่องผีของเอไทม์ เขาอยากเอาเรื่องผีที่น่าสนใจมาเล่าเป็นซีรีส์ตอนสั้นๆ ดึงเอาผู้กำกับแต่ละคนมารับหน้าที่กำกับแต่ละตอนที่เอ็กซ์ตรีมไปคนละทาง ใครถนัดเรื่องไหนด้านไหนก็ซัดกันไปเลยแบบไม่ต้องกั๊ก ทุกคนอิสระได้เลยเต็มที่ สำหรับเรามันหาโอกาสได้เล่นแบบนี้ยาก ถ้าเป็นหนังใหญ่การทดลองบ้าๆ ของเราก็อาจจะทำไม่ได้
ท็อป : จุดเริ่มต้นคือทุกคนได้ลิสต์ไปว่ามี 8 เรื่อง แล้วแต่ว่าคุณอยากทำเรื่องอะไร ความโชคดีคือแต่ละคนมีความสนใจที่ต่างกัน ซึ่งเวอร์ชันที่เราทำก็จะไม่เหมือนต้นฉบับโดยสิ้นเชิง เพราะวิธีการเล่าจากเสียงกับการเล่าจากภาพ มันใช้ภาษาคนละอย่างกัน ซึ่งคนดูจะได้ดูเรื่องที่มันถูก Develop จากเรื่องต้นทางที่ยังคงบรรยากาศและแก่นบางอย่างของเรื่องไว้อยู่ เรามองว่ามันก็น่าจะเป็นรสชาติที่ดีกว่าการฟังเรื่องซ้ำๆ ที่เขารู้อยู่แล้ว
ปริญญ์ : เราอาจจะมีประสบการณ์น้อยกว่าพี่ๆ ทุกคนหน่อย เพราะเพิ่งทำซีรีส์มาแค่เรื่องเดียว เรารู้สึกว่าโปรเจคต์นี้เปิดโอกาสให้ทำอะไรแผลงๆ ได้พอสมควร เหตุผลที่หยิบเรื่องสาวข้างห้องขึ้นมาเล่น เพราะเราก็เคยมีประสบการณ์คล้ายเรื่องนี้ เรื่องจากต้นทางคือไปพักในห้องพักแห่งหนึ่งแล้วก็เจอเหตุการณ์แปลกๆ กับผู้หญิงที่อยู่แถวนั้น ซึ่งเราก็มาผสมกับสิ่งเคยเจอมาและใส่เรื่องราวที่เราสนใจเข้าไป
เอลิซ่า : นี่เป็นโปรเจกต์เล่าเรื่องชิ้นแรกของเราเหมือนกัน เรื่องของเราก็จะเป็นดราม่าบวกกับ Horror และมีกลิ่นหนังญี่ปุ่นหน่อยๆ เป็นเรื่องเล่าของผู้หญิงคนหนึ่งที่โทรมาในรายการ หลังจากนั้นเริ่มมีเรื่องแปลกๆ เกิดขึ้นในชีวิตของเขา ซึ่งเราอยากหยิบเรื่องความสัมพันธ์กับการฟังเรื่องผีขึ้นมาเล่น
ทำไมถึงอยากหยิบเรื่องนี้มาเล่า
เอลิซ่า : นอกจากวิชวลที่เราสนใจ คือคอนเซปต์ของผีที่มันผูกกับรายการนี้เลย (ตอน คำสาปส่งต่อ) อีกหนึ่งคือมีประเด็นเรื่องแม่ลูก ด้วยความที่เราเป็นคนสนิทกับแม่ หลายๆ อย่างที่เราใส่เข้าไปมันเหมือนจดหมายรักบอกแม่ เรารู้สึกว่าเรื่องนี้ใส่ความสัมพันธ์กับ Psychology เข้าไปได้เยอะ
เอก : เราเลือกเรื่องยายไม่ใช่ยาย ด้วยคำที่มันมีความ Getsunova แค่ชื่อก็พร้อมที่จะไปต่อได้แล้ว
ท็อป : อย่างพี่เอกรู้สึกคลิกกับชื่อเรื่อง แต่ของเราเลือก (ตอน ชุดวิวาห์อาถรรพ์) เพราะ Subject มันไปคล้องกับข่าวช่วงนั้นที่อ่านพอดี ไม่ว่าจะเป็น เจ้าบ่าวเทงานแต่ง เจ้าสาวช้ำใจ งานแต่งพ่อแม่กีดกัน ขันหมากไม่พร้อม ขโมยสินสอด ฆ่าตัวตาย ก็เลยรู้สึกว่ามันลงล็อกกับเรื่องพิธีกรรม หมายความว่าความรักหรือการแต่งงานมันเป็นพิธีกรรมที่ให้คนมาชื่นชมแล้วก็ให้สังคมยอมรับ ซึ่งมันควรจะแฮปปี้เอนดิ้ง แต่สิ่งที่เราสนใจคือบางทีมันอาจจะลงเอยควรโศกนาฏกรรมก็ได้ หรือกลายเป็นความสยองส่วนตัวก็ได้ เราเลือกเอาประเด็นตรงนี้มา Develop ต่อ
ปริญญ์ : เรื่องนี้ (ตอน สาวข้างห้อง) เราเลือกเพราะมันสอดคล้องกับประสบการณ์ที่เราเคยเจอมา เราได้ใส่ Element หรือลูกเล่นบางอย่างที่สนใจเข้าไป เป็นเรื่องสยองแนว Rules of Horror คือการมีกฎบางอย่างให้ต้องทำตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสนใจอยู่พอดี
การทำซีรีส์ผีมันยากกว่าการหนังผีไหม
เอลิซ่า: ซีรีส์เป็นเหมือนรวมเรื่องสั้น คอนเซปต์ตั้งต้นมีโจทย์คือเรื่องผี แล้วมันต้องเกิดขึ้นอยู่ในสเปซเดียว ทุกคนก็ใส่รสชาติของตัวเองเข้าไป ความสนุกที่ออกมามันก็จะไม่เหมือนกันเลย
เอก : ถ้าเป็นหนังสองชั่วโมงก็จะต้องมีสามองก์ มีช่วงเริ่ม กลาง จบ มีความเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แต่พอเป็นเรื่องสั้นมันอิสระกว่านั้น ให้ความรู้สึกเหมือนกับเรื่องสยองสองนาที หรือการเล่าเรื่องผีรอบกองไฟ สำหรับเราคือฟังจบแล้วทำให้ขนลุกซู่ รู้สึกว่าน่ากลัววะ หน้าที่ของมันก็อาจจะมีแค่นั้น
ปริญญ์ : เวลาที่ทำซีรีส์มันจะต้องมีแก่นแกนอะไรบางอย่างที่ถูกร้อยเรียงออกไป พวกเราทุกคนรับผิดชอบกันแค่คนละหนึ่งตอน ซึ่งก็จะเป็นเรื่องที่เราอยากจะเล่าจริงๆ ดังนั้นก็จะมีตัวตน มีมวลสารของผู้กำกับแต่ละคนที่อยากจะเล่าอย่างชัดเจน
การหยิบโครงเรื่องจากรายการวิทยุ มาทำเป็นรูปแบบซีรีส์บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมีความท้าทายยังไงบ้าง
ปริญญ์ : เรามองว่าเรื่องเล่ามันส่งผลในแต่ละแพลตฟอร์มต่างกันไป สมมติเราอ่านหนังสือแล้วรู้สึกกลัว มันก็เป็นเพราะเราจินตนาการไปกับตัวหนังสือ ถ้าเราฟังเรื่องเล่าที่ได้ยินเสียง มันก็จะให้ความรู้สึกอีกรูปแบบหนึ่ง แต่พอมันจะต้องเห็นภาพ เราก็ต้องคิดกันใหม่เลยนะ
อย่างที่เห็นคน Parody เดอะโกสต์เรดิโอใน TikTok บ่อยๆ คุณแจ็คครับ เขาหันมา ทำท่านั่นนี่ คือจากเรื่องเล่าที่เราฟังแล้วมันน่ากลัวมากๆ กลายเป็นฮาเฉยเลย ซึ่งผู้กำกับทุกคนก็ทำการบ้านหนักมากกับสิ่งนี้ วัตถุดิบบางอย่างเราต้องมาปรับ กันอีกทีว่าอยากให้ภาพออกมาเป็นยังไง มีไอเดียหลักตั้งต้นเกี่ยวกับอะไร เพื่อทำให้มันมีความเอ็กซ์ตรีมขึ้น
เอก : ในฐานะผู้ถ่ายทอด การที่เราต้องมาเล่าเรื่องนั้นซ้ำอีกรอบแบบมีภาพประกอบ คนดูก็จะรู้สึกว่าเรื่องนี้ฉันรู้มาแล้ว ฉันเคยฟังมาแล้ว ไม่ได้มีอะไรใหม่ ดังนั้นผู้กำกับแต่ละคนก็ต้องเล่าเรื่องและทำให้มีรสชาติใหม่ๆ บางเรื่องอาจจะมีตอนจบอีกแบบ หรือมีลูกเล่นหักมุมที่ต่างออกไป
เอลิซ่า : เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องคาแรกเตอร์ เพราะเขาโทรมาเล่าในรายการ ซึ่งมันเป็นเหตุการณ์เดียวในชีวิตเขา แต่เราก็ไม่รู้จักว่าเขาเป็นใคร เขาทำอะไร สภาวะชีวิตเขาเป็นยังไง ซึ่งพอเราต้องทำเป็นหนัง เราจะต้องถามคำถามกลับไปว่าเขาต้องเป็นคนยังไง ทำอาชีพอะไรวะ เราทุกคนพยายามดีไซน์คาแรกเตอร์เพื่อให้เข้ากับสตอรีได้มากที่สุด ดังนั้นอาชีพและคาแรกเตอร์คือเรื่องที่เราใส่เข้าไปใหม่หมด
แต่ละคนใส่ลายเซ็นของตัวเองลงไปในซีรีส์ยังไงบ้าง
เอลิซ่า : พอเราไม่ใช่คนที่มาเป็นฌอง (Genre) Horror ตั้งแต่แรก เราก็เลยต้องใช้อย่างอื่นเข้ามาจับด้วย ไม่ว่าจะเป็น ความรู้สึกของตัวละคร คาแรกเตอร์ ปัญหาชีวิต ด้วยความที่เราเป็นคนที่พร่ำเพ้อพรรณา เป็นคนชอบวิชวลสวยๆ เราก็พยายามใส่สิ่งเหล่านี้เข้ามาด้วย
ปริญญ์ : ส่วนของผมคือสายเนิร์ด เราก็เลยใส่ความเป็น Rules of Horror เข้าไป เป็นการเล่าเรื่องผีจากกฎอะไรบางอย่าง และต้องทำตามกฎนั้น ซึ่งฟังก์ชันการเล่าเรื่องแบบนี้ทำให้ต้องคิดเยอะ และนำไปสู่การตีความด้วยว่าผีแบบไหนที่จะทำให้มันเกิดกฎแบบนี้ หรือจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ผีวะ เราแนะนำให้ดูหลายๆ รอบจะเห็นว่าเรื่องมันจะเนิร์ดขึ้นเรื่อยๆ
ท็อป : แน่นอนว่าผู้กำกับทุกคนต้องมีสไตล์ส่วนตัวอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่เราอาจจะเติบโตมาจากการทำโฆษณา เราก็เลยตั้งธงไว้ก่อนเลยว่าเรื่องนี้อยากให้มันพูดอะไร ซึ่งโจทย์หลักในครั้งนี้คือทำยังไงก็ได้ให้ภายใน 40 นาทีนี้คนดูรู้สึกว่ามันคือซีรีส์สยองขวัญร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้กระทั่งการตีความด้านภาพด้านเสียง มันก็เป็น Execution อย่างหนึ่งในการถ่ายทอดไอเดีย ซึ่งต่อให้มันจะมีพาร์ตดราม่า หรือพาร์ตอื่นๆ ก็ตาม แต่ทุกอย่างมันจะต้องลงเอยด้วยความสยองขวัญเท่านั้น
เอก : ด้วยความที่เรามาจากสายการ์ตูน วาดการ์ตูนสยองขวัญมาก่อน อย่างเรื่อง 13 เกมสยอง, สี่แพร่ง, ยันต์สั่งตาย ซึ่งพอโจทย์ครั้งนี้เป็นเรื่องสั้น เรารู้สึกเหมือนได้รับคำอนุญาตว่า วิ่งเล่นได้ ไม่ต้องห่วงใคร ถ้าใครเป็นแฟนหนังหรือแฟนการ์ตูนเห็นก็จะจำลายเซ็นได้เลย เพราะเราใส่เต็มที่มากๆ
เบื้องหลังในส่วนของ Production Design เป็นยังไงบ้าง
เอลิซ่า: อีกหนึ่งสไตล์การทำงานของเราคือ Art Direction ด้วยความที่หนังผีมันจะต้องมีความเรียล เราก็เลยดีไซน์สเปซให้เป็นตึกแถว เราเคยไปถ่ายสารคดีตามซอย ตามชุมชนตึกแถว รู้สึกว่าบ้านทุกหลังสีแม่งปรี๊ดมากเลย ซึ่งก็เริ่มตั้งต้นจากตรงนั้นและดีไซน์สีทั้งหมด
พอคอนเซปต์ของเราเป็นตึกแถว ตอนแรกก็คิดว่าหาตึกแถวไม่ยากหรอก แต่ในความเป็นจริงคือตึกแถวที่ถ่ายได้มันหายากมากเลย เพราะการเล่าเรื่องผีก็ต้องมีผลกระทบตามมา คนก็จะไม่ค่อยยอมให้ไปถล่มบ้านใคร แต่สุดท้ายเราก็ได้โลเคชันที่อยากได้มา ซึ่งความจริงแล้วตัวบ้านเอง เราใช้เทคนิคภาพยนตร์ในการถ่ายหลายโลเคชัน แต่ทำให้มันเป็นสถานที่เดียว การที่จะทำให้มันสมจริงมากที่สุดก็ต้องพึ่งพาทีมเยอะในการสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา ส่วนในพาร์ตของเสื้อผ้าทางทีมก็เต็มที่มาก จะเห็นว่าเสื้อผ้ามันจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามอารมณ์ด้วย
ปริญญ์ : ของเอลิซ่าหลายโลเคชัน แต่ของเราคือโลเคชันเดียวเลย ซึ่งเป็นโจทย์ที่โหดที่สุด เพราะห้องมันเหมือนเป็นหนึ่งตัวละคร ต้องมีบุคคลิกและบอกเล่าอะไรบางอย่างด้วยตัวมันเองได้ ตอนแรกคุยกันว่าจะเซ็ตขึ้นมา เพราะจะได้เปิดผนัง วางกล้องได้ แต่จากที่เราไปสเกาต์ (Scout Location) มาหลายๆ ที่ ตอนเห็นห้องนี้ก็รู้สึกว่ามันใช่ เพราะผังห้องมันมีความแปลกประหลาดอะไรบางอย่าง ตั้งแต่ประตูหน้าห้องที่ไม่ได้หันปกติ เรารู้สึกว่าห้องมันอุตส่าห์มีคาแรกเตอร์ขนาดนี้ เราก็ต้องเลือกแล้วล่ะ แต่เวลาทำงานก็ต้องแลกมาด้วยความยากลำบากเหมือนกัน
ท็อป : เรามองว่าโปรดักชันดีไซน์มันจะต้องครอบคลุมในทุกองค์ประกอบ ทั้งโลเคชัน การถ่ายภาพ เสื้อผ้าหน้าผม หรือแม้กระทั่งเอฟเฟกต์ เพราะว่าสุดท้ายแล้วเราต้องการสร้างให้คนรู้สึกหวาดผวา หวาดกลัว เรามองว่าไดเรกเตอร์ทุกคนก็พยายามไปถึงจุดนั้นแหละ
แต่คราวนี้ก็จะต่างกันในเชิงรายละเอียดของสถานที่ตามเรื่องโดยรวม อย่างของเราอยากได้ร้านชุดแต่งงาน ความเจาะจงคือต้องการร้านชุดแต่งงานระดับไหน เป็นร้านแต่งงานที่อยู่ตรงทองหล่อ ลาดพร้าว สมุทรปราการ หรืออะไร แล้วมันตอบสนองปัญหาของตัวละครในชั้นนั้นอย่างไรบ้าง เราต้องการสร้างผลกระทบในเชิงโครงสร้าง ฉาก การถ่ายภาพ การปรากฏตัวของผีภายใต้สภาวะแวดล้อมแบบไหน เพราะฉะนั้นสภาพแวดล้อมทุกอย่างสัมพันธ์กัน ไม่ว่าจะเป็นสไตล์ของร้าน แสงในร้านทั้งหมด ไฟทุกดวงต้องถูกเปลี่ยนให้แมตช์กับอุปกรณ์ต่างๆ เสื้อผ้าทุกอย่างก็ควรเรียลลิสติก
เอก : ด้วยความที่เราแก่สุด เกิดทันในช่วงหนังผีในยุค 90 เรารู้สึกว่าหนังผีในช่วงนั้นมันน่ากลัว มันดิบ มันเพี้ยน มันบ้าบอ ซึ่งก็เป็นเสน่ห์ของหนังผีในยุคนั้น การดูหนังผีที่บ้านที่จะอยู่กันเป็นมวลหมู่ เราตกใจไปด้วยกัน กรี๊ดไปด้วยกัน จิกหลังกันไปมา เราก็อยากได้ฟิลนั้นมานำเสนอให้เด็กยุคนี้ได้เห็นกัน ซึ่งเราก็จะไม่ได้เล่าตั้งแต่ทีแรก แต่จะค่อยๆ เปลี่ยนฌอง (Genre) จากเกรนภาพปกติค่อยๆ ไหลไปจนถึงจุดนึงก็เปลี่ยนเกรนภาพให้กลายเป็นยุค 90 หลังจากนั้นมันก็จะบ้าคลั่งพีคไปเรื่อยๆ รู้สึกว่าค่อนข้างบันเทิงมาก
วิธีการเล่าหนังผีในแต่ละยุคมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะคนดูจะเริ่มคาดเดาได้ คนทำก็ต้องหาท่าเล่าใหม่ให้รู้สึกตื่นเต้นหรือสดใหม่อยู่ตลอด แล้วซีรีย์เรื่องนี้พวกคุณมีวิธีการเล่าที่ต่างเดิมยังไงบ้าง
เอก: จริงๆ แล้วมันก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ด้วยความที่คนรู้แล้ว คนดูเยอะแล้ว ดังนั้นเราก็ต้องเล่นกับความรู้แล้วของคนนั่นแหละ อย่างเช่น คนดูคิดว่าจังหวะนี้ผีจะโผล่มาแน่ๆ เรารู้ว่าเขาจะเดาอย่างนี้ เราก็จะทวิสต์ไปอีกทางนึง ซึ่งเรารู้สึกว่าคนดูน่าจะบันเทิง คุณคิดว่าอย่างนี้ใช่ไหมล่ะ งั้นเราก็ทวิสต์ดักอีกสองสามชั้น แล้วสุดท้ายก็ปล่อยสุด เราก็เล่นกับความรู้แล้วของเขานี่แหละ
ปริญญ์ : พอเราพูดถึงหนังสยองขวัญ แน่นอนคนดูสารพัดเดากันไปคนละทิศคนละทาง ซึ่งมันจะมีคนที่เดาถูกอยู่แล้ว แต่เราก็ต้องตั้งมั่นว่าจริงๆ แล้วอยากเล่าเรื่องอะไร เราถอดตัวเองออกมาจากคำว่าผีได้ไหม ถ้ากลับไปตั้งต้นกับคำว่าความกลัว จักรวาลมันก็จะกว้างขึ้น แล้วมนุษย์เรากลัวอะไรบ้าง เราก็หยิบสิ่งนั้นมาทำงาน ในอีกมุมหนึ่งก็คือการตีความเรื่องผี เรื่องสิ่งคุกคาม หรือความอันตรายที่กำลังจะมาถึง มันสามารถเป็นอะไรได้บ้าง ก็อาจจะทำให้คนดูเดายากขึ้นอีกนิดหนึ่ง
เอลิซ่า : การทำหนังผีในยุคนี้ เรามองว่ามันไม่ใช่แค่ผีหรือวิญญาณแล้ว แต่ผีมันต้องสามารถนำเสนอบางอย่างได้ เป็นตัวแทนบางอย่างได้ ซึ่งถูกย่อยออกมาเป็นหนึ่งร่าง มันอาจจะเป็นความรัก ความเศร้า ความกลัวในใจของเรา หนังผียุคนี้ถ้าจะมีอะไรที่ทำให้พิเศษขึ้นได้ นอกจากฟอร์มแล้วก็คือแมสเสจที่อยากจะสื่อออกไป
ท็อป : หนังสยองขวัญในแต่ละยุคมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บาร์ของคนดูก็ถูกขยับขึ้นเรื่อยๆ เหมือนเราเป็นคนป่วยที่เคยได้รับยาโดสนี้แล้ว รู้สึกว่าแม่งไม่หายหรอก มึงเอายาแค่นี้มากูจะไปหายอะไร กูต้องการที่ไฮป์กว่านี้ ยารสนี้มันน่าเบื่อมาก สิ่งนี้มันเป็น Pain Point ของคนทำหนังสยองขวัญทั้งโลก ที่ต้องพยายามจะหาท่าทีใหม่ๆ มานำเสนอ
ความสยองขวัญมันอาจจะไม่ต้องโฉ่งฉ่างก็ได้ ไม่ต้องจัมพ์สแกร์ก็ได้ ความสยองขวัญอาจจะเป็นแค่บรรยากาศแบบเยือกเย็นมาก คุณอาจจะเห็นผีน้อยมากหรือไม่เห็นเลยก็ได้ แต่ทั้งหมดทั้งมวลคือไม่ว่าคุณจะชอบรสชาติแบบไหน มันจะมีคนไม่ชอบรสชาตินั้นเช่นเดียวกัน คนบางคนบอกว่าอยากได้รสชาติคลาสสิกเดิมๆ จัมพ์สแกร์ไม่ติด ตราบใดที่มันทำให้เขากลัว คนบางคนบอกว่าน่าเบื่อมาก ไร้รสนิยม ต้องการบรรยากาศชิลลิ่งหรือไม่เห็นผี แต่ถ้าคุณไปดูตัวเลข หนังประเภทหลังรายได้ต่ำมาก
แต่แน่นอนว่าไม่ว่าคุณเลือกวิธีการแบบไหนมันก็ไม่ได้ผิด คนทำหนังก็มีอิสระที่จะพลิกแพลงหรือสำรวจท่าทีใหม่ๆ ของความสยองขวัญ ข้อดีของการที่เรื่องนี้มันมี 8 ผู้กำกับ คุณก็จะเห็นว่าแต่ละคนมีความคราฟต์ หรือไดเรกชันของตัวเองต่อเรื่องที่อยากจะเล่าแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งผมไม่ได้คิดว่าต้องทำให้คนดูชอบสไตล์นี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผมแค่อยากนำเสนอด้วยวิธีการแบบนี้ ซึ่งจะถูกจริตใครหรือไม่ก็เป็นเรื่องปกติของภาพยนตร์ คนทำหนังสยองขวัญรู้ในตัวเองอยู่แล้วว่าคนดูด่าแน่ถ้ามึงทำแบบนี้ ขนาดพวกเราก็ยังด่ากันเองเลย เราเชื่อว่าคนทำหนังจะไม่ทำอะไรชุ่ยๆ เพียงแต่ว่าเขาอาจจะชอบรสนิยมแบบนี้ เขาปรุงมาเป็นรสชาติแบบนี้ ซึ่งคุณจะชอบไม่ชอบก็ไม่เป็นไร เพราะมันก็เป็นประสบการณ์ของผู้กำกับและคนดูด้วยเช่นกัน