A’MAZE : เขาวงกตที่พลิกโฉมเกษตรกรรมให้กลายเป็นการท่องเที่ยวแสนสนุก

ถ้าพูดถึงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรขึ้นมา เราจะนึกถึงอะไรได้มากกว่าการเข้าสวนไปเก็บผลไม้กิน ซึ่งหลายครั้งการชมสวนเพลินๆ ก็ไม่ได้ทำให้เราเข้าใจเรื่องเกษตรมากกว่าตอนก่อนเข้าสวนสักเท่าไหร่ ทั้งที่เกษตรกรรมคืออาชีพดั้งเดิมของคนไทย เป็นไปได้ไหมที่เราจะเห็นเรื่องการเกษตรกลายร่างเป็นการท่องเที่ยวน่าสนุกของคนทุกเพศทุกวัย และได้เข้าใจเรื่องการเกษตรเป็นของฝากกลับบ้านไปด้วย

หลายคนน่าจะได้เห็นวิดีโอการ์ตูนฝีมือ ตั้ม-วิศุทธิ์ พรนิมิตร โปรโมตกิจกรรมท่องเที่ยวชื่อ A’MAZE สวนสนุกเขาวงกตสร้างจากข้าวโพดซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย เจ้าภาพผู้อยู่เบื้องหลังงานนี้คือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่อยากสร้างกิจกรรมแนว Creative Tourism ให้เกิดขึ้น โดยนำการเกษตรมาแต่งตัวให้น่าสนุกและน่าสนใจกว่าเคย

ตัวแทนจากททท. ได้แก่ บี-น้ำฝน บุณยะวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผน ด๊อง-พชรพร อมรประสิทธิ์ พนักงานวางแผน กองกลยุทธ์การตลาด ฝ่ายวางแผน และ ป๋อม-กิตติ ไชยพร ตัวแทนจากเอเจนซี่ มานะ ผู้ดูแลการสื่อสาร ได้เล่าเบื้องหลังแนวคิด ก่อนที่เขาวงกตจะพร้อมให้ทุกคนออกตะลุยในวันที่ 18-19 และ 25-26 พฤศจิกายนนี้

หาวิธีแก้ปัญหาของเกษตรกรด้วยการท่องเที่ยว

ก่อนหน้านี้ ททท. เคยจับงานสายเกษตรอยู่บ้าง แต่ไม่พ้นไปจากการสนับสนุนให้เกษตรกรเปิดสวนให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมและลิ้มรสผลผลิต มาปีนี้พวกเขาโฟกัสเรื่อง Creative Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น ต้องการลงมือทำอะไรใหม่ๆ และหาทางนำการท่องเที่ยวไปช่วยแก้ปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะในข้าวและข้าวโพด นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทั้งองค์กรต้องช่วยกันขบคิด

หากราคาผลผลิตตกต่ำลง คำถามสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ผลผลิตเหล่านั้นมีมูลค่ามากขึ้นด้วยวิธีคิดใหม่ๆ ฝ่ายแผนงานซึ่งปกติแล้วเป็นหน่วยวางกลยุทธ์เป็นหลัก ค้นคว้าข้อมูลและพบไอเดียว่าที่ต่างประเทศมีการปลูกข้าวโพดทำเป็นเขาวงกต หรือปลูกข้าวเป็นรูปภาพขนาดใหญ่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จริง หลังจากความคิดนี้ได้รับการเห็นชอบ การปลูกปั้นโปรเจกต์ใหญ่ภายในเวลาแค่ 6 เดือนจึงเริ่มต้นขึ้น

เลือกกลุ่มเป้าหมาย

ทีมงานวิเคราะห์ว่าคนที่น่าจะพากันออกเที่ยวเชิงเกษตรแบบนี้ก็คือกลุ่มครอบครัวรุ่นใหม่ (millennial family) ที่ชอบพากันออกมาทำกิจกรรม จึงโฟกัสไปที่ครอบครัวที่มีลูกเล็ก อายุ 4-10 ขวบ ซึ่งดีต่อการปลูกฝังความรู้ด้านเกษตรแก่เด็กๆ ด้วย ด๊องซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงฝั่ง ททท. ก็มีลูก จึงได้ใช้ประสบการณ์ความเป็นแม่มาออกแบบกิจกรรมนี้อย่างเต็มที่

เลือกพืชที่ตอบโจทย์

ข้าวเป็นพืชหลักที่คนไทยบริโภคและเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ จึงเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ทีมงานอยากหยิบมาใช้ แต่ถ้าพิจารณาดีๆ จะพบว่าการปลูกข้าวต้องคำนึงถึงฤดูกาล ใช้เวลานานกว่า ในข้าวก็มีความเชื่อความเคารพของคนผสมผสานอยู่ จะหยิบมาสร้างความสนุกอาจไม่เหมาะ อีกทั้งถ้าเลือกปลูกข้าว พื้นที่ที่คนจะเข้าไปวิ่งเล่นได้คือคันนา อาจไม่สะดวกและปลอดภัยเท่าที่ควร

พืชที่ทีมงานตกลงปลงใจจึงลงเอยที่ข้าวโพดซึ่งปลูกง่ายกว่า ใช้เวลาราว 2 เดือนก็กลายเป็นเขาวงกตได้ อีกทั้งนำมาปรุงเป็นอาหารต่อยอดได้มาก เช่น นำไปเป็นส่วนผสมในอาหารคาว หรือทำเป็นของหวานอย่างข้าวโพดคลุกเนย ป๊อปคอร์น

เลือกจังหวัดท่องเที่ยวในดวงใจ

ก่อนปลูกเขาวงกต ต้องเริ่มจากหาที่ปลูก ในเมื่อกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่อาศัยอยู่กรุงเทพฯ พื้นที่ที่จะสร้างเขาวงกตต้องใช้เวลาเดินทางพอประมาณ ไม่ไกลเกินไป จังหวัดกาญจนบุรีเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภาคกลาง ใช้เวลาเดินทางราว 2 ชั่วโมง ที่สำคัญคือมีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี ซึ่งนอกจากมีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีเป้าหมายในการเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตรอยู่เป็นทุนเดิม ยังมีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอสำหรับจัดกิจกรรมด้วย

รวมพลังผู้เชี่ยวชาญ

เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ใหม่มากและไม่เคยมีใครจัดมาก่อน แม้กระทั่งฝ่ายแผนงานคนริเริ่มก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญสายอีเวนต์ ท่ามกลางข้อจำกัดเรื่องความยาก เวลา และกระบวนการใต้กฎระเบียบ แต่ด้วยความตั้งใจ ฝ่ายแผนงานจึงทุ่มเทเต็มร้อย ประชุมหลังเลิกงานอย่างเข้มข้น มีอาสาสมัครข้ามฝ่ายขอมาช่วยงานหลายคน เป็นภาพที่ทีมงานฝ่ายแผนงานเองก็ชื่นใจ

แทนที่จะทำงานด้วยระบบเดิมๆ คือหาผู้มารับเหมาทำงานเจ้าเดียวไปเลย ททท. รู้ดีว่าต้องพึ่งพาความเชี่ยวชาญจากคนสายงานอื่นๆ ด้วย คนที่มาช่วยดีไซน์เขาวงกตให้น่าสนุกคือ เป็ม-พลวิทย์ เภตรา (เจ้าของคาเฟ่ไล-บรา-รี่ที่หลายคนรู้จัก) ด้วยความที่เป็มมีครอบครัวจึงดีไซน์ได้อย่างเข้าใจความสนุกของเด็ก ส่วนคนที่เข้ามาดูแลการสื่อสารคือเอเจนซี่ มานะ ที่ทำงานเพื่อสังคมอยู่ก่อนหน้า ช่วยเพิ่มเติมส่วนผสมความครีเอทีฟลงในโปรเจกต์ได้ดี

ส่วนความรู้เชิงเกษตรต้องยกให้เป็นของวิทยาลัยเกษตรฯ แม้จะไม่เคยมีประสบการณ์จัดกิจกรรมแบบนี้มาก่อน เหล่าอาจารย์ก็ลงมาลุยด้วยกันอย่างเต็มใจ จังหวัดกาญจนบุรีก็ตื่นเต้นกับกิจกรรมนี้มาก เกิดเป็นประสบการณ์การทำงานร่วมกันที่ทีมงานก็มีความสุขที่ได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน

เพิ่มสีสันให้เขาวงกตด้วยกิจกรรม

แทนที่จะให้เด็กๆ มาเดินหลงในเขาวงกตเฉยๆ หรือแค่ถ่ายรูปแล้วกลับ น้ำฝนกล่าวว่าต้องการให้คนรู้สึกรักวิถีชีวิตเกษตรกรมากขึ้น เพราะพอลงมาสัมผัสแล้วก็พบว่าเด็กรุ่นใหม่แทบไม่มีใครอยากเรียนเกษตร อยากให้คนรู้สึกถึงคุณค่าในสิ่งที่ประเทศเรามีอยู่ จึงดีไซน์ให้เกิดฐานกิจกรรม 7 ฐานซ่อนตัวอยู่ในเขาวงกต

เขาวงกตเหล่านี้ทำหน้าที่เล่าเรื่องเกษตรและการท่องเที่ยวไปพร้อมกัน ช่วยให้เด็กๆ ได้ออกกำลังกาย ใช้กล้ามเนื้อมัดต่างๆ เกณฑ์ออกแบบกิจกรรมคือทุกฐานจะต้องช่วยเพิ่ม E.Q. ให้ความสนุก และสร้างการเชื่อมโยงระหว่างเด็กกับการเกษตร เด็กกับครอบครัว (เช่น ต้องช่วยกันเล่นเกม) เด็กกับแหล่งท่องเที่ยว

ตัวอย่างเช่น กิจกรรมเกสรหรรษา ให้เด็กๆ เรียนรู้ว่าก่อนจะมีผลไม้ให้เรากิน ผลไม้ต้องเกิดจากการผสมพันธุ์เกสรโดยมีผึ้งช่วยเหลือ เกมนี้จึงให้เด็กๆ หัดใช้ตะเกียบคีบเกสรตัวผู้มาใส่ดอกตัวเมียไม่ให้หล่น ในฐานกิจกรรมจะมีป้ายให้ข้อมูลด้วยว่าแหล่งท่องเที่ยวในกาญจนบุรีที่มีแปลงดอกไม้สวยๆ ให้ชมอยู่ที่ไหน เดินทางไปได้อย่างไร ถือว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว

ออกแบบของที่ระลึกโดนใจแถมมีประโยชน์

เวลาไปเที่ยวก็ต้องมีของฝากหรือของที่ระลึกกลับไป A’MAZE ก็มีของรางวัลมอบให้คนที่เข้าร่วมฐานกิจกรรมในเขาวงกต แต่ความพิเศษคือเป็นของรางวัลแนว Eco-Product ที่ผ่านการประกวดออกแบบโดยมี TCDC ช่วยดูแล มีกรรมการฝั่งครอบครัวที่มีลูกเล็กและกรรมการผู้เชี่ยวชาญงานออกแบบลงคะแนนร่วมกัน ที่สำคัญคือผ่านการโหวตโดยเด็กๆ กลุ่มเป้าหมายตัวจริงมาแล้ว เพราะทีมงานอยากให้เป็นของที่ถูกใจผู้เข้าชมงานจริงๆ

อย่างรางวัลที่ 1 เป็นเกม Pinball ที่ทำจากไม้ ขนาดเท่าไอโฟน (เพราะเด็กๆ สมัยนี้ชอบเล่นมือถือ) เมื่อเล่นแล้วจะได้ฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือ แถมยังเป็นเหมือนแบบจำลอง A’MAZE ย่อส่วน เพื่อให้คนเข้าใจเจตนารมย์ ทีมงานยังจัดนิทรรศการขึ้นมาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของรางวัลโดยเฉพาะด้วย

กันไว้ดีกว่าแก้

เนื่องจากเป็นกิจกรรมกลางแจ้งที่มีเด็กๆ มาวิ่งเล่น ทีมงานคิดเผื่อสถานการณ์น่าเป็นห่วงที่อาจเกิดขึ้นได้ 2 อย่างหลักๆ คือเด็กหลงทาง เด็กหาย และอาการแพ้หรือคัน การป้องกันปัญหาแรกคือนำข้อมูลลงทะเบียนมาใส่ในริสต์แบนด์ (wrist band) เข้างาน มีเจ้าหน้าที่ประจำตามจุดต่างๆ หากเด็กหลงทางจะได้ตรวจสอบช่องทางติดต่อผู้ปกครองได้ทันที ส่วนปัญหาที่สอง งานนี้จึงมีทีมพยาบาลประจำอยู่ตลอดเพื่อแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที

ในพื้นที่เขาวงกตยังออกแบบให้มีทางเดินเหนือระดับมองลงมาเห็นด้านล่างได้ทั่วถึง ใช้สอดส่องความเรียบร้อยได้ ทั้งยังเป็นทางลัดสำหรับเดินไปถึงจุดพักได้เลยสำหรับพ่อแม่หรือเด็กที่เดินจนเหนื่อยอ่อนแล้ว

ปลูกฝังความรู้การเกษตรไปในตัว

พื้นที่นี้ไม่ได้ปลูกแต่ข้าวโพด แต่ยังมีปอเทืองที่นำมาปลูกร่วมกันด้วยเหตุผล 2 ข้อคือเพื่อความสวยงามเหลืองอร่าม เหมาะแก่การถ่ายรูป และเพื่อบำรุงดินหลังจบกิจกรรมแล้ว สิ่งเหล่านี้ผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้ระหว่างอยู่ในงาน นอกจากนี้ยังมีส่วนพื้นที่เรียนรู้การเกษตร (Farm Pavilion) ที่วิทยาลัยเกษตรฯ และเกษตรกรตัวจริงจะมาให้ความรู้เบื้องต้นในการทำเกษตร ซึ่งทีมงานหวังว่าคนเมืองจะได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ได้ถามตอบสิ่งที่ข้องใจสงสัย อาจจะเป็นเรื่องพื้นฐานสุดๆ เช่นว่าทำอย่างไรให้ปลูกต้นไม้รอด ไม่ตาย เมื่อเขาเกิดความภาคภูมิใจ ความรู้สึกต่อการเกษตรก็จะเปลี่ยนไป และความรู้พื้นฐานที่ได้ในวันนี้อาจถูกต่อยอดในอนาคตได้

มอบประโยชน์ให้ชุมชนท้องถิ่น

ในพื้นที่กว้างขวางของงานยังมีโซนตลาดจากชุมชนท้องถิ่นมาเปิดให้อุดหนุน โดยมีความตั้งใจที่จะให้รายได้กระจายสู่คนท้องที่โดยตรง สินค้าที่จำหน่ายมีทั้งของใช้ ของฝากประจำจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดข้างเคียง (ส่วนของกินนั้นในงานมีเสิร์ฟอยู่แล้ว เป็นอาหารเด่นๆ ในท้องถิ่นที่เด็กกินง่ายด้วย)

ก่อนโปรโมต ขั้นตอนที่ทีมงานขบคิดอยู่นานคือการตัดสินใจว่าจะให้นักท่องเที่ยวเข้างานฟรีหรือเก็บค่าเข้า และถ้าเก็บต้อง จะเก็บเท่าไหร่ สุดท้ายแล้วราคาที่เคาะออกมาไม่ได้ทำให้โปรเจกต์นี้ได้กำไร แต่การต้องซื้อบัตรเข้างานเป็นสัญลักษณ์ให้เกษตรกรรู้ว่าผู้บริโภคยินดีสนับสนุน ไอเดียการท่องเที่ยวเชิงเกษตรลักษณะนี้มีมูลค่า สร้างรายได้ ทำเป็นอาชีพเสริมควบคู่ไปกับการทำเกษตรที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างได้ ไม่จำเป็นต้องรอมูลค่าจากการจำหน่ายผลผลิตเพียงอย่างเดียว

สร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกร

ททท. ทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมาด้วยความหวังว่าจะเป็นโครงการต้นแบบเพื่อจุดประกายไอเดียใหม่ๆ ให้เกษตรกรได้แรงบันดาลใจ พวกเขาไม่ได้อยากบอกว่าทุกคนต้องลุกขึ้นมาปลูกข้าวโพด ไม่จำเป็นต้องทำเขาวงกต แต่ขอให้มองหาสิ่งที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเอง เติมไอเดียใหม่ๆ ลงไป แล้วลองลงมือทำ

“งานนี้ทำให้เรากลับมาดูจุดแข็งของเราเอง การเกษตรคืออู่ข้าวอู่น้ำ เราเป็นประเทศส่งออกของเหล่านี้ ทำไมเกษตรกรยังจนที่สุด มันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น ถ้าเรามาทำงานกับภาคเกษตรและทำได้มากกว่าการพาคนไปชมสวน มันก็น่าสนใจ เราอยากให้ทุกอย่างที่ทำไปคุ้มค่า งานนี้ไม่ใช่หนึ่งในงานประชาสัมพันธ์ แต่เป็นงานเริ่มต้นสร้างแรงบันดาลใจทางการท่องเที่ยวให้เกษตรกรจริงๆ เราเองก็ได้มีส่วนในการพลิกฟื้นตัวตนของประเทศเรา ให้คนหันกลับมามองสิ่งที่มีคุณค่าอีกที” น้ำฝนกล่าว

ถ้าอยากไปตะลุยในเขาวงกต ดูรายละเอียดที่
www.amazinggreenthailand.comได้เลย


ภาพ
Amazing Green Thailand

AUTHOR