มิวเซียมสยามมีนิทรรศการใหม่ทีไร
เราก็อดตื่นเต้นไม่ได้ว่าคราวนี้จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของไทยและเพื่อนบ้านในแง่มุมไหน
พอเห็นนิทรรศการ ‘พม่าระยะประชิด’ ที่จัดช่วง 15 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2559 เนื้อหาคือการสลายอคติฝังลึกของคนไทยที่มีต่อคนพม่าผ่านคอนเซปต์เกสต์เฮาส์เอาใจวัยรุ่นชอบเที่ยว
ก็ยิ่งอยากรู้ว่าจะมีอะไรสนุกๆ ให้เราเข้าไปเล่นกันบ้าง ทวีศักดิ์ วรฤทธิ์เรืองอุไร
นักจัดการความรู้อาวุโสจากมิวเซียมสยามจะเป็นคนเปิดประตูและพาเราเช็กอินนิทรรศการนี้ทุกซอกทุกมุม
ห้องพักหมายเลข 1
“ภารกิจของมิวเซียมสยามคือทำความรู้จักเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน
ตุลาคมปีที่แล้ว เราเปิดด้วยนิทรรศการ ‘ประสบการณ์หู สู่อาเซียน’เสียงฉันเสียงเธอ เสียงของเรา ต่อมาก็ต้องเริ่มทำความรู้จักประเทศต่างๆ
เราเลือกพม่าเพราะมีเรื่องราวเยอะและเป็นประเทศที่ต้องเคลียร์กันมากที่สุด
ซึ่งมิวเซียมสยามก็มีงานวิจัยที่ทำไว้อยู่แล้วว่าอคติที่คนไทยมีต่อคนพม่าจริงๆ
แล้วเกิดจากอะไร แต่งานวิจัยมันไม่สนุก
ก็ต้องเซอร์เวย์เพิ่มว่าคนพม่าในไทยเขาอยู่กันยังไง
นั่งรถตู้ตามกลับไปดูบ้านเขาที่หงสาวดีเพราะอยากรู้ว่าแล้วครอบครัวเขาที่พม่าเป็นยังไง”
ห้องพักหมายเลข 2
“เรามาโฟกัสกันว่านิยามของคนพม่าที่ทันสมัยสุดคืออะไร
คำที่ถูกต้องจริงๆ คือแขกที่ได้รับเชิญเพราะเราขอให้รัฐบาลพม่าส่งคนมาทำงานในไทย
เมืองไทยก็เป็นบ้าน เราเลยเอาสองคำคือ Guest กับ House มารวมกันเป็นเกสต์เฮาส์
เป็นธีมที่น่าจะทำให้เกิดบรรยากาศสบายๆ พร้อมที่จะเรียนรู้แขกคนอื่น เหมือนเวลาเราไปพักเกสต์เฮาส์จะฟังเพลงก็ต้องใส่หูฟังใช่ไหม
มันต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เราก็ต้องปฏิบัติตัวแบบนี้กับคนพม่าในไทย”
ห้องพักหมายเลข 3
“ก่อนจะได้ธีมเกสต์เฮาส์ มี 2 ธีมที่ล้มไปคืองานวัด
ซึ่งเราคิดต่อยอดด้วยว่าจะจัดงานกฐินไปที่พม่าจริงๆ เป็น Living Exhibition ให้คนได้มาเรียนรู้
มีส่วนร่วมมากกว่าแค่อ่านข้อมูล เราชอบกันมากแต่ต้องล้มไปเพราะเดี๋ยวนี้วัยรุ่นที่ไหนจะมาเดินงานวัดทำบุญล่ะ
“อีกคอนเซปต์ที่คิดได้คือ ‘ตามทองไทยไปพม่า’ อิงกับประวัติศาสตร์ที่ถูกตอกย้ำว่าพม่าเผาอยุธยาแล้วเอาทองไปสร้างเจดีย์ชเวดากอง
เราจะเล่นประเด็นนี้แต่ปรับความคิดใหม่ว่าทองใน พ.ศ. นี้คือคนพม่าเข้ามาทำงาน แล้วเก็บหอมรอมริบเงินทองกลับไปประเทศเขา
ซึ่งก็ล้มเพราะแรงไปและเข้าใจยาก คนอาจคิดว่าต้องถือดาบเข้ามาดูนิทรรศการเรา”
ห้องพักหมายเลข 4
“พอได้ธีมเกสต์เฮาส์แล้ว ในเรื่องการดีไซน์
เราลดรูปเกสต์เฮาส์ลงมา ไม่ได้เป็นแบบเรียลิสติก
อย่างห้องเช่าสองกะที่คนพม่าเขาแบ่งกันอยู่ 2 ครอบครัวก็จัดแสดงเป็นห้องนอนจริงๆ
ข้าวของในชีวิตประจำวันของชาวพม่า เช่น แป้งทานาคา ใบเกิดของเด็กก็ใส่ไว้ในล็อกเกอร์เหมือนที่มีในเกสต์เฮาส์
แต่จะมีที่เราอัญเชิญยอดฉัตรจากเจดีย์ทรงพม่าที่กาญจนบุรีมาประดิษฐาน
ซึ่งหลุดจากธีมเกสต์เฮาส์ วิธีแก้ก็คือทำเหมือนว่าคนดูวาร์ปออกไปเลย”
ห้องพักหมายเลข 5
“อคติที่เรามีต่อพม่าก็เหมือนกับเลนส์อะไรบางอย่างบังตาเราไว้
เราจะแจกคีย์การ์ดให้ผู้เข้าชมทุกคน ที่การ์ดจะมีฟิล์มสีแดงซ่อนอยู่
ตลอดส่วนจัดแสดงจะมีคำที่เราพิมพ์ด้วยสีเขียวซ้อนกับสีแดง
ถ้ามองด้วยตาเปล่าจะเห็นคำหนึ่ง แต่ถ้ามองผ่านฟิล์มสีแดงก็จะเห็นอีกคำที่เราซ่อนไว้
เช่น เห็นคำว่า ตักตวง คนพม่าเข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากเมืองไทย แต่ถ้ามองผ่านฟิล์มนี้จริงๆ
มันคือคำว่า ตามฝัน เห็นคำว่า ขัดสน แต่พอส่องแล้วกลายเป็นคำว่า สะสม
ให้เห็นว่าเราลองมองชาวพม่าด้วยสายตาอีกมุมนึงดีไหม”
ห้องพักหมายเลข 6
“เราคิดไว้ว่านิทรรศการต้องมีส่วนให้คนไทยกับคนพม่าได้พูดคุยทักทายกัน
น้องนำชมนิทรรศการเลยเป็นคนพม่า เท่ากับว่าเราได้ประชิดกันตั้งแต่เดินเข้ามาแล้ว
ซึ่งนิทรรศการเราไม่ได้มีเนื้อหาอะไรให้อ่านมาก อาจมีแบบเรียนพม่าวางไว้อยู่
ถ้าอยากรู้ว่ามันเป็นยังไงก็ลองเข้าไปถามน้องนำชมสิ
“อีกส่วนที่เราตั้งใจคือผู้เข้าชมน่าจะมีได้มีส่วนร่วมทางสังคมกับชาวพม่าด้วย
ที่วัดมหามัยมุณีจะมีพิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุณีกันทุกวันตอนตี 4
ทีนี้เราก็อยากให้ชาวไทยได้มีโอกาสร่วมพิธีนี้เหมือนกัน เลยเตรียมท่อนไม้ทานาคาให้ผู้เข้าชมร่วมกันฝนแป้งสะสมไว้ในโถ
จบนิทรรศการก็จะส่งให้ทางสถานทูตพม่าไปใช้ในพิธีต่อไป”
ห้องพักหมายเลข 7
“เราไม่อยากให้คนมาดูแล้วรู้สึกสงสารชีวิตคนพม่า
เพราะเขาไม่ได้รู้สึกทุกข์ใจอะไรเลย อาจทำงานหนักแต่เขาก็อยู่กันได้ นิทรรศการนี้เลยตั้งใจชวนคนไทยมามองประวัติศาสตร์รอบด้านมากขึ้น
เพราะประวัติศาสตร์ก็เป็นแค่พล็อตที่เขียนขึ้นมาเพื่อรับใช้อะไรบางอย่างในสมัยนั้น
แต่เราหยิบมาเรียงลำดับใหม่ให้เนื้อหาตอบรับกับยุคสมัย เราไม่ได้พูดว่าจงลบอคติที่มีต่อคนพม่าไปเลยนะ
เพราะเข้ามาดูนิทรรศการแค่ 20 นาทีคงทำไม่ได้ แต่เราให้ข้อมูลที่เขาอาจไม่เคยรู้มาก่อน
ดูแล้วเราน่าจะรู้จักตัวเองมากขึ้น รู้จักชาวพม่ามากขึ้นด้วย”