ในยุคแห่งการวิ่งเข้าหาความติสท์ ค้นพบความอาร์ตแปลกใหม่ และส่งเสียงป่าวร้องว่า ‘ศิลปะจงเจริญ’ แน่ใจหรือเปล่าว่าเสียงนั้นดังมากพอจะช่วยขยับเขยื้อนศิลปินตัวน้อยให้เคลื่อนไปข้างหน้า และสะบัดปัญหาใต้พรมที่เกาะติดมาเนิ่นนานให้หลุดออกได้ กลุ่มผู้มีใจรักในงานสร้างสรรค์ได้แต่ผลัดกันล้ม ผลัดกันลุก ใช้ความหวังหล่อเลี้ยงตัวเอง ลึกๆ ในใจของพวกเขาเพียงอยากขอพื้นที่เล็กๆ ให้ผลงานได้มีโอกาสวิ่งเล่นบ้าง
เด็กสาวผมเปียวัยมัธยมคนหนึ่งที่ชอบเตร็ดเตร่ดูหนังคนเดียวหลังเลิกเรียน เหตุว่าไม่ค่อยมีเพื่อนที่ดูหนังแนวนี้ร่วมกันสักเท่าไหร่ จะมีก็แต่พี่ชายที่สรรหาม้วนวิดีโอหนังแปลกมาเก็บไว้ในบ้าน หล่อหลอมให้เธอเห็นเรื่องนอกกระแสตามไปด้วย ไม่มีใครคาดคิดหรอกว่างานอดิเรกเล็กๆ เช่นการดูหนังจะพัดพาเด็กหญิงในวันนั้นมาไกล ไกลเสียจนเธอได้กลายเป็นเจ้าของโรงหนังขนาดย่อมแห่งหนึ่งในอายุวัยกลางคน
เธอคือ ‘ธิดา ผลิตผลการพิมพ์’ เจ้าของโรงหนัง doc club & pub. ที่หากติดตามแวดวงหนังสารคดีหรือนอกกระแส ก็คงจะรู้ว่ามันถูกปิดตัวลงเมื่อสิ้นปี 2567 ธิดามักตั้งคำถามกับโรงหนัง และภาพยนตร์ในประเทศไทย เธอคอยเรียกร้องไม่ก็วิจารณ์อยู่เนืองๆ ในพื้นที่ของตัวเอง หากคุณเป็นคนรักภาพยนตร์ ศิลปะแหวกนอกกระแส หรือพยายามหาวิธีดิ้นรนเพื่อจะอยู่ในแวดวงนี้ให้ได้ เราอยากให้ลองอ่านดูนะ
เข้าสู่โลกของหนัง
ภาพยนตร์ 1 เรื่องที่กระแทกหัวใจจนเรายกขึ้นหิ้ง มักจะมีเหตุผลซุกซ่อนอยู่ อาจเป็นหนังที่ทำให้คิดถึงใครสักคน ได้หลบหนีจากโลกความเป็นจริง หนังบู๊ที่ทำให้ฮึดสู้ในช่วงกำลังทดท้อ หรือหนังที่ดูแล้วเข้าใจสัจธรรมชีวิตมากขึ้น
สำหรับธิดา เธอชอบหนังสารคดีมากเป็นพิเศษ เพราะทำให้ได้เห็นมิติลึกซึ้งของมนุษย์ ความจริงที่แสนเศร้า สงครามเลวร้ายเกินรับไหว หากไม่มีสารคดีถ่ายทอดออกมา ก็คงไม่ได้รู้เรื่องพวกนี้เลย
จุดเริ่มต้นที่สนใจหนังสารคดี
เราเริ่มต้นเหมือนคนดูหนังทั่วๆ ไป เรียนรู้หนังนอกกระแส แล้วหนังสารคดีก็ค่อยๆ ดูไปทีละนิด แต่ความชอบในหนังสารคดีเกิดขึ้นเพราะเราได้เห็นหนังที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับผู้คน เขตแดน อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เราอาจจะเคยเห็นข่าวความขัดแย้ง แต่เห็นในฐานะกลุ่มคนขนาดใหญ่ ไม่ใช่สตอรี่ของผู้คน
การทำสารคดีทำให้เราได้เห็นมุมมองผ่านชีวิตของคน เข้าใจบริบทของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในมุมมองของคน หลายเรื่องมันน่าทึ่งยิ่งกว่าหนัง Fiction เพราะมันทำมาจากเรื่องจริง ถ้าไม่มีหนังสารคดี หลายเรื่องบนโลกเราอาจจะไม่รู้เลยก็ได้นะ
สารคดีเรื่องแรกๆ ที่ดูแล้วติดใจ
The Wall Room จริงๆ เป็นสารคดีที่ไม่ค่อยสนุกนะ โคตรจะข้อมูลมากๆ เป็นเรื่องของทีมยุทธศาสตร์การเลือกตั้งประธานาธิบดีให้ความรู้สึกว่าเรื่องแบบนี้สามารถทำเป็นภาพยนตร์ได้ด้วยเหรอ คนถ่ายหนังสามารถเข้าไปในพื้นที่ลับเฉพาะมากๆ ที่สำคัญไม่มีตัวร้าย ไม่ระทึก เป็นการบันทึกคนประชุมเท่านั้น แต่ทำไมสำหรับเรามันน่าตื่นเต้นได้ขนาดนี้ รู้สึกว่าสารคดีนี้มันแปลกเนอะ เป็น Genre ที่ประหลาด
คณะที่เราเรียนเกี่ยวกับหนังไหม
ไม่เกี่ยว เราเรียนสถาปัตย์เพราะคิดว่ายังชอบศิลปะ แล้วก็ชอบวิทยาศาสตร์ด้วย แต่พอจบออกมาแล้วก็ไปทำคอนเทนต์เกี่ยวกับภาพยนตร์ทันที ทำไมก็ไม่รู้ ช่วงนั้นเราเจอนิตยสาร Starpics เขากำลังรับสมัครนักวิจารณ์สมัครเล่น มันเป็นสายที่เราสนใจ แล้วก็มีนิตยสาร Cinemax ด้วยนะ เราเลือกส่งให้ Cinemax
การได้ทำงานวิจารณ์หนังเป็นจุดเปลี่ยนให้เรามาทำงานด้านหนังเต็มตัวเลยไหม
เกือบๆ นะ ตอนนั้นคิดว่าลองส่งบทวิจารณ์หนังไปเล่นๆ ดีกว่า เพราะเราเป็นคนชอบหนัง ชอบเขียนหนังสือ ก็คิดว่าน่าจะดี ทำเป็น Job ขำๆ ไป แต่ Cinemax ก็ดันรับสมัครพนักงานประจำด้วย เขาชวนว่า ‘งั้นมาอยู่ในกองบก. Cinemax เลยสิ’
สูญเสียสิ่งหนึ่งเพื่อแลกมาซึ่งสิ่งหนึ่ง
หลังจากธิดาทำนิตยสาร Cinemax มาได้ 6 ปี โพล๊ะ! เกิดเป็นยุคฟองสบู่แตกพอดี นิตยสารหลายหัวต้องปิดตัวไป อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาท ยิ่งห่างไกลจากหนังสือ ธิดาก็ยิ่งคิดถึงมัน ‘น่ากลับมาทำนิตยสารเนอะ’ เธอพูดกับหมู-สุภาพ หริมเทพาธิป (สามี)
หลังจากนั้นทั้งสองก็เริ่มนับหนึ่งใหม่ไปด้วยกัน ใช้ทุนน้อยนิดที่มีเสกนิตยสาร Bioscope ขึ้นมา ในรูปแบบเย็บเล่มด้วยมือขนาด A5 วางแผงขายเช่นหนังสือพิมพ์ทั่วไป หากอยากสั่งซื้อหรือเป็นสมาชิก แค่ต้องพลิกไปให้ถึงหน้าสุดท้าย

นิตยสาร Bioscope เขียนเกี่ยวกับอะไร
คอนเซปต์ของมันเป็นคอนเทนต์ที่พูดถึงวิธีคิดของคนทำหนัง มันจะเป็นประเด็นที่เราคิดบ่อยๆ ว่าคนในวงการหนังไทย เวลาจะพูดถึงความสำเร็จหรือถอดบทเรียนของหนังต่างประเทศ ไม่ค่อยมีใครถอดวิธีคิด ที่มาของความสำเร็จ คนส่วนใหญ่ก็จะมองว่าเป็นหนังฟอร์มใหญ่ หนังทุนเยอะ ที่จริงต้องมีวิธีคิดก่อนถึงจะมีผลสำเร็จ
สมมติเราพูดถึงกระแสหนังเกาหลีใต้ ก็จะพูดตั้งแต่ยุคที่ยังไม่เริ่มจนมันเกิดขึ้น มีองค์ประกอบอะไรในนั้นบ้าง พยายามให้เห็นที่มาของทุกสิ่งว่ามันมีกระบวนการ ใช่ว่าเราทำหนังฟอร์มใหญ่แล้วจะสำเร็จเหมือนเขา
Bioscope เกิดในยุคที่ฟองสบู่แตก อะไรที่ทำให้คิดว่ามันจะไปรอด
จริงๆ คิดค่อนข้างน้อย (หัวเราะ) เราไม่ค่อยได้คิดพาร์ตธุรกิจ ไม่ใช่ว่าติสท์นะแต่ไม่ค่อยมีความรู้ เพราะเป็นสายทำคอนเทนต์ ก็มีแค่ความเชื่อว่ามันจะมีคนอ่าน แม้แต่ตอนเริ่มทำเล่มแรก เราคิดพาร์ตธุรกิจมากที่สุดแค่ เออ ก่อนนิตยสาร Cinemax จะปิดตัวลง มันก็มีฐานคนอ่านนะ แค่ต้องพึ่งพิงรายได้จากโฆษณา เพราะกลไกของตลาดทำให้เป็นแบบนี้ แม้นิตยสารจะคอนเทนต์ดี คนอ่านเยอะก็เถอะ แต่เราอยากตัดตัวเองออกจากวงจรโฆษณา และพยายามอยู่ให้ได้ด้วยจำนวนคนอ่าน ใช้ระบบสมาชิกแทน แต่พอมันเป็นเล่มใหญ่ก็หนีไม่พ้นหรอกว่าต้นทุนมันสูง เราอยู่มาได้เพราะคอนเทนต์จริงๆ เราพูดเรื่องภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับสังคม การเมืองค่อนข้างจริงจัง ในที่สุด ก็ทำให้เราได้เป็นพาร์ตเนอร์กับการเมือง เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีรายได้
เจ้าของโรงหนังขนาดย่อม
อินเทอร์เน็ตเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว พฤติกรรมของคนอ่านก็เริ่มเปลี่ยนไปประกอบกับความอิ่มตัวในการทำนิตยสาร ธิดาเริ่มคลำทางมองหาสิ่งใหม่ๆ ที่เธอพอจะทำได้ และยังข้องเกี่ยวกับวงการหนัง แม้สิ่งอื่นรอบตัวจะหมุนเปลี่ยน แต่เธอก็ยังเป็นคนเด็ดเดี่ยว และแน่วแน่อย่างที่เคยเป็น ธิดาผันตัวมาเป็น Distributor นำหนังสารคดีที่สนใจเข้ามาในประเทศไทย และหาพื้นที่ให้หนังได้เฉิดฉายตามโรงใหญ่ ด้วยการเปิดบริษัท Documentary Club ก่อนจะสานต่อเป็น doc club & pub. โรงฉายหนังขนาดย่อมของตัวเองร่วมกับพี่หมู
ย้ายตัวไปทำ Doc Club ได้ยังไง
ตอนนั้นก็ดู Bioscope อยู่บ้าง มันเป็นช่วงรอยต่อและความอิ่มตัวของเราเอง ก็มาคิดกับตัวเองว่ามันมีงานพาร์ตไหนอีกนะที่เราอยากทำแต่ไม่เคยได้ทำ ก็คือพาร์ต Distribute การเป็นคนทำหนังไม่ได้เป็นความสนใจของเรา เราไม่อยากเป็นคนออกกองมันเหนื่อย เป็นคนชอบแนะนำเลยอยากเอาเข้ามาฉาย แต่ก็ต้องคิดว่าหนังแบบไหนที่เจ้าใหญ่ๆ เขาไม่ทำกัน ก็นึกถึงหนังสารคดีขึ้นมา เราแยกออกมาทำคนเดียว

ความต่างของ doc club & pub. และ Documentary Club คืออะไร
Documentary Club ทำหน้าที่เป็น Distributor เอาหนังเข้ามาโดยโฟกัสที่หนังสารคดีเป็นหลัก แต่ก็มีนอกกระแสบ้าง แล้วก็หาที่เผยแพร่ ส่วน doc club & pub. เป็นโรงหนังเล็กๆ ของเราเองที่มี 50 ที่นั่ง อาจจะมีหนังที่เรายืมมาจากฝรั่งเศส หนังอินดี้ที่คนอยากให้ฉาย
แล้วพี่หมูมาร่วมทำด้วยตอนไหน
จริงๆ ในแง่ของพฤตินัยคือเราทำงานด้วยกันอยู่แล้ว หารือกันตลอด พี่หมูเขามีความสนใจเรื่องสเปซ อยากทำเรื่องพื้นที่ เราเองพอมาทำงาน Distribute ก็ทะเลาะกับเครือหนังใหญ่ เรามีคำถามตลอดเหมือนเป็นปมหนึ่งในใจว่าทำไมไม่ทำสเปซแบบนั้นแบบนี้ พี่หมูเขาก็เริ่มช่วยคิดจริงจัง ช่วยกันมองหาความเป็นไปได้อยู่หลายปี จนจุดหนึ่งก็มาคุยกับ Bangkok Screening Room ตอนช่วงเขากำลังจะปิด แม้โลเคชันมันจะเดินทางยากไปนิด แต่พวกเขาเสียดายเพราะทำสเปซไว้ค่อนข้างดี เห็นแววแล้วว่าถ้าเลิกทำก็น่าจะต้องรื้อ เราเองก็สนใจเลยได้มาทำ ที่นี่มันเป็นสเปซโรงหนัง มีบาร์เล็กๆ ด้านหน้าอยู่แล้ว doc club ก็แค่เปลี่ยนไวบ์ ขยายสเปซด้านหน้าให้กว้างขึ้น
ช่วยคลายปมในใจที่มีกับการทำหนังให้ฟังหน่อยได้ไหม
หลักการของโรงหนังเมื่อก่อนก็ Stand alone ทำของใครของมัน ตั้งในที่ของตัวเอง มีหนังเป็นจุดศูนย์กลางของตลาด แต่ปัญหามันคือขณะที่โรงมันขยายตัว แทบจะมีอยู่ปากซอยบ้าน แต่พอไปถึงแล้วทำไมหนังที่ฉายมันเหมือนกับหนังอีกเป็นพันโรงของประเทศ สาขานั้นมี 10 จอ แต่ฉายเรื่องเดียวกัน 9 จอ แล้วหนังอื่นที่เราอยากดูไปเบียดในโรงเดียวที่เหลือ ฉายรอบ 9 โมงเช้ากับ 5 ทุ่ม คนทำหนังเหล่านั้นเขาจะอยู่กันยังไง เป็นที่รู้ว่าหนังต้องฉายอย่างน้อย 2 อาทิตย์ แต่หลังๆ ก็อาทิตย์เดียว ถ้าพิสูจน์เรื่องเงินไม่ได้ก็จะถูกถอดทิ้ง

พอผันตัวมาทำ Distributor เราก็ยิ่งคับข้องใจ เจอคำพูดหนึ่งว่าเขาเป็นนักธุรกิจนะ ไม่ได้มาทำการกุศล เราไม่ได้เรียกร้องให้มาทำการกุศล หรือถ้าเอาหนังสารคดี หนังอาร์ตเข้ามา แล้วต้องเทโรงให้เรา แต่จัดสรรพื้นที่ให้มันมีความยุติธรรม ช่วยให้พื้นที่กับหนังเหล่านี้อย่างเต็มที่ได้ไหม มีวิธีโปรโมตหรือทำงานร่วมกันเพื่อค่อยๆ สร้างกลุ่มคนขึ้นมาได้ไหม ปัญหาเรื่องคนดูหนังนอกกระแสเป็นส่วนน้อย มันเป็นทุกประเทศอยู่แล้ว เพราะมันไม่ใช่หนังบันเทิงหรือหนังแมสที่เราคุ้นเคย แต่มันไม่ได้หมายความว่า ‘ถ้าคุณเข้าสู่ตลาดแมส แต่สู้แมสไม่ได้ คุณก็แพ้ไปดิ’ มันไม่ควรจะง่ายแบบนั้น มันต้องมีกระบวนการค่อยๆ สร้าง เวลาเราเรียกร้องไม่ใช่เพราะเราทำค่ายหนังแล้วอยากได้เงิน เราเรียกร้องเพราะภาพรวมของวงการหนังก็ควรจะสร้างกลุ่มคนที่ยอมรับความหลากหลายขึ้นมาเรื่อยๆ แม้แต่หนังที่ดูแล้วรู้สึกว่าไม่บันเทิง แต่ก็ควรดูได้ วิธีคิดที่จะสร้างคนดูหลากหลายมันเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้โรงหนังรอดไปได้
สู้เท่าที่สู้ได้
ระหว่างคุยกันเราสัมผัสได้ถึงความตั้งใจที่จะผลักดันหนังนอกกระแสของธิดา เธออยากให้คนรักในศิลปะ และภาพยนตร์ได้เห็นในสิ่งที่เธอเห็น อยากให้เหล่าคนทำหนังอาร์ตได้มีพื้นที่เฉิดฉาย แต่แล้วก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เมื่อวันหนึ่ง doc club & pub. ประกาศปิดตัวลง บรรดาแฟนคลับหนังนอกกระแสร้องระงมเสียดาย ไม่ต่างจากผู้เป็นเจ้าของอย่างธิดา
สุดท้ายแล้ว doc club & pub. ก็ถูกปิดตัวลง ด้วยสาเหตุอะไร
ก็ต้องยอมรับว่ามันเกิดจากความสะเพร่าของเราเองอันดับหนึ่งเลย เราไม่รู้หรอกว่ามันจะมีปัญหาเรื่องโยธา พูดแล้วมันเหมือนตลก บอกใครเขาก็เป็นไปได้ไงทำงานวงการนี้มาเป็น 10 ปี แต่เราบอดใบ้เรื่องนี้ไปเลยจริงๆ นะ พอเรามาทำงานในที่ที่มันเคยเป็นโรงฉายหนังอยู่แล้วก็เลยคิดว่ามันก็ทำได้นี่ เจ้าของเก่าก็บอกเขตเคยมาตรวจแล้ว เลยคิดว่ามันไม่ได้มีปัญหา แม้กระทั่งว่าเรารู้ว่าการจะทำโรงหนังต้องไปขอกระทรวงวัฒนธรรม แต่เราก็ไม่ได้ไปสำรวจมันจริงๆ ในที่นี้มันไม่ผ่านกฎหมายโยธาแหละ ไม่ปฏิเสธว่าเราผิด มันไม่สามารถให้โอกาสเราได้เลยเหรอ เราไม่รู้ว่าเราทำอะไรได้บ้างไหม ไปผ่อนผันกับใครได้ไหม ตอนนั้นก็งงเหมือนกันนะว่าต้องทำไงต่อ
เราไปดูข้อกฎหมาย เขาใช้นิยามเดียวกันในการกำหนดโรงทุกขนาด หมายความว่าทำโรง 50 ที่นั่งกับ 3,000 ที่นั่งใช้กฎเดียวกัน สเปกความกว้าง บันไดขึ้นลง ครอบคลุมภายใต้กฎหมายเดียวกัน กฎหมายปรับปรุงอาคารตรงนี้มันไม่เคยถูกสังคายนาเลย เป็นไปตามความเข้าใจของคนในยุคนั้น แค่รู้สึกว่ามันถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนกฎหมายนี้ เราไม่ได้อยากแก้เพราะว่า doc club มันผิด แค่อยากให้เห็นว่าใช้กับใครก็ผิด ใช้กับใครก็ไม่ยุติธรรม กำลังอยู่ในการแก้กฎหมายนะ แต่เป็นไปอย่างเฉื่อยช้า
ระหว่างนั้นเรามีวิธีต่อสู้ยังไงบ้าง
มันยากมากนะ เราพูดไปแล้ว ก็ได้แค่บ่น โวยวาย วิจารณ์ มีโอกาสได้พูดถึงก็พูด บางช่วงเวลาก็มีคนสนใจจนเป็นประเด็นขึ้นมา แต่สุดท้ายเราจะไปทำอะไรได้ มันมีคำถามมาว่าหนังคุณทำเงินได้เท่าไหร่ ที่บอกว่ามีคนเยอะก็เพิ่มโรงให้แล้วไง ไม่เห็นมีคนมาดูเลย เราก็ตอบคำถามเขาไม่ได้ มันเหมือนคุยกันคนละประเด็น ทุกคนที่พูดประเด็นนี้ก็จะมีกลุ่มที่ออกมาต่อต้านแบบที่บอกไปว่าเขาทำธุรกิจนะ แต่เราแค่อยากให้เขามองเห็น และมีส่วนร่วมในการสร้างวัฒนธรรมหนัง
ทุกวันนี้ก็เห็นผลว่าตลาดมันเปลี่ยน รายได้โรงหนังเองก็วูบ ทำไมตอนนั้นไม่สร้างวัฒนธรรมการดูหนังให้คนดูรู้สึกว่าจ่ายค่าบัตรสมเหตุสมผล แลกกับการได้ดูคอนเทนต์หลากหลาย ไปถึงโรงหนังมันมีทั้งหนังที่บันเทิงสุดๆ กับหนังที่ต้องใช้ความคิดมากๆ มันมีทุกแบบ แค่ถ้าอยากดูหนังก็นึกถึงโรงหนัง มันต้องสร้างไว้ตั้งแต่ตอนที่ยังมีโอกาส
แต่ในอีกมุมหนึ่งที่โพสต์แจ้งปิด Doc club มันก็ทำให้เห็นว่ามีคนรักที่นี่เยอะเหมือนกันเนอะ
ใช่ เราขอบคุณมากๆ เลย ตอนนั้นเจตนาที่โพสต์ก็พยายามไม่ให้มีอารมณ์ เราอธิบายเท่าที่จะบอกได้ ไม่นึกเหมือนกันว่าจะมีฟีดแบ็คที่มาให้กำลังใจ มีสมาพันธ์ภาพยนตร์ สมาคมผู้กำกับที่เขาออกมาช่วยเรียกร้อง
เช้าวันใหม่ของธิดา
ถึงทางที่ธิดาเลือกเดินจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เพราะเธอไม่เคยยอมแพ้ เก็บเอาบทเรียนมาเป็นประสบการณ์ เก็บเอาน้ำตามาเป็นแรงผลักดัน ยืนหยัดจะยังทำสิ่งที่รักต่อไป พยายามปรับตัวไปตามยุคสมัย และหาทางดิ้นรนให้อยู่รอด เราถามถึงนิยามที่เธอมีให้ตัวเอง เธอบอกเพียงว่าเธอก็เป็น Distributor คนหนึ่ง แต่เราเห็นมากกว่านั้น เธอกลายเป็นธิดายอดนักสู้ในสายตาเราไปเสียแล้ว
หน้าตาของ doc club ในอนาคตที่เราคิดเป็นยังไง
มันก็ยังมีความก้ำๆ กึ่งๆ อยู่ เราอาจจะผันตัวไปเป็น Film club ฉายหนังให้คนดูไปเรื่อยๆ ให้คนรักหนังเข้ามาพูดคุยกันบางครั้งบางคราว แต่มันไม่ได้มีลักษณะเป็นโรงหนังเท่าไหร่ เราก็ไม่แน่ใจ
พฤติกรรมคนดูหนังสารคดีเปลี่ยนไปยังไงบ้างจากวันแรกที่เริ่มมาทำงานในวงการหนังจนถึงวันนี้
มันมีช่วงที่สารคดีเริ่มได้รับความสนใจ และมีชื่อเสียงระดับโลก แบบเริ่มได้รับรางวัลแล้ว เทคโนโลยีมันก็เอื้อให้คนทำหนังง่ายขึ้น ฉับไวต่อเหตุการณ์ มีกล้องตามถ่ายแบบดิบสุดๆ เลย มันเลยทำให้ตลาดสารคดีฮือฮาขึ้น แต่ความสนใจมันก็ไม่ได้ยั่งยืนหรอกถ้าเทียบกับตอนนี้ คนไม่ค่อยสนใจกันแล้ว เหตุผลหนึ่งที่มันน่าตื่นเต้นน้อยลงเพราะเรามีช่องทางอื่นให้ดู มันก็เป็นช่องทางที่ทำให้เราเห็นเรื่องราวของผู้คนโดยไม่ต้องมีสารคดีเป็นสื่อกลางก็ได้ สารคดีมันเลยดูเร้าใจน้อยลง
ภูมิใจกับ doc club & pub. ไหม
โห! ภูมิใจมากๆ มันเป็นที่ที่เราได้ทดลองว่าเรื่องนี้ไม่มีคนดูนะ เรื่องนี้มีคนดู มันน่าภูมิใจในแง่ที่ว่าเราทำโปรแกรมไหนแล้วมีคนดู เปิดจองแล้วที่นั่งเต็ม เราก็ใจฟู

หลังจบบทสนทนา เราก็ยังได้รับยิ้มอบอุ่นจากเธอกลับมา ไม่ต่างจากครั้งแรกที่ได้เจอหน้ากัน ขณะช่างภาพพาเดินถ่ายรูปไปทั่วตึกใหญ่ตึกน้อย ‘ห้องนี้น่าทำโรงหนังเนอะ’ ธิดาชี้นิ้ว และพยักหน้ากับตัวเอง