​Electric Neon Lamp : การกลับมาของวงดนตรีที่กล้าบอกว่า 12 ปีที่เล่นดนตรีด้วยกันมาไม่ ‘เสียเวลา (เลย) ว่ะ’

สารภาพก่อนเลยว่าเราเป็นแฟนเพลงของ Electric Neon Lamp วงดนตรีจากเชียงใหม่ที่มีเมโลดี้และซาวนด์ดนตรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตั้งแต่อัลบั้ม Bright Side ที่พวกเขาทำกันเองในปี 2008 และซิงเกิลตื๊ดๆ ที่สร้างสีสันให้กับวงการอย่าง เธอที่ร้าย ภาวินี โทรจิต และ นางรอง เพลงที่สมาชิกวงลุกขึ้นมาโชว์สเต็ปโอปป้าเกาหลีเรียกเสียงกรี๊ดได้ไม่น้อย หลังจากที่ปล่อยให้แฟนๆ รอมานานเกือบ 3 ปี วันนี้ Electric Neon Lamp ได้กลับมาพร้อมซิงเกิลใหม่ เสียเวลาว่ะ ที่หลายคนฟังแล้วประหลาดใจเล็กน้อยว่าพวกเขาดูเปลี่ยนไป

คุณอาจเข้าใจว่าเรากำลังขายของให้พวกเขา โอเค คุณคิดถูก แต่เดี๋ยวก่อน วันนี้เรามีนัดกับชาว ‘ณีอร’ (ชื่อเล่นวง Electric Neon Lamp) เจน-เจนศักดิ์ดา จาระณะ (ร้องนำ), เต้-วทัญญู สุริยวงศ์ (เบส), แทน-แทนพันธุ์ คณะเจริญ (กีตาร์), แป๊ก-รัชชา วัฒนจิตรานนท์ (กลอง) และอุน-คีตา วังขจรวุฒิศักดิ์ (กีตาร์) เพื่อคุยเรื่องสนุกๆ ในอัลบั้มใหม่แนวป๊อปยุค 90 ที่ไม่ธรรมดา และเรื่องราวในเส้นทางสายดนตรีตลอดระยะเวลา 12 ปี

นับจากที่ปล่อยซิงเกิลก่อนหน้านี้ พวกคุณหายไปไหนมาเกือบ 3 ปี

เจน: เราอยู่ด้วยกันตลอดครับ ไม่ได้หายไปไหน เรียกว่าไม่ทำอะไรดีกว่า (หัวเราะ) จริงๆ เราทำเพลงอยู่เรื่อยๆ แต่จะมีช่วงที่เราขยันบ้าง เฉื่อยบ้าง แต่ละคนมีงานประจำทำกันอยู่นอกจากการทำเพลงด้วย

รู้สึกยังไงเวลามีคนที่ฟังซิงเกิลล่าสุดบอกว่า Electric Neon Lamp เปลี่ยนไป

แทน: ในมุมของพวกเรา Electric Neon Lamp ไม่เปลี่ยนเลย เราเข้าใจคนฟังแหละ สิ่งที่มันเปลี่ยนคือดีไซน์การร้องกับเมโลดี้ แต่ว่าดนตรียังเป็นเราเต็มๆ

เจน: ดีด้วยซ้ำที่คนมองว่าเปลี่ยนไป ถ้าคนพูดว่าเพลงเหมือนเดิมเราคงรู้สึกแย่กว่านี้ เพราะว่าการทำวงดนตรีก็ควรมีพัฒนาการ เพลงล่าสุด นางรอง ที่เราปล่อยไปก็ 2 ปีกว่าแล้ว เวลาที่ผ่านมาเราได้เจอสิ่งใหม่ๆ เราก็อยากจะทำอะไรที่อัพเดตตามชีวิตของเรา ดีกว่าการทำเพลงแบบเดิมตลอดกาล

เราจะได้เห็นอะไรในอัลบั้มใหม่

เจน: เราปรับทิศทางของวงใหม่ครับ หลังจากที่ ต้น-ณวัฒน์ จิรบุญเรือง มือกีต้าร์คนเก่าออกไป เราก็ส่งเดโมไม่ค่อยผ่าน (หัวเราะ) อัลบั้มนี้เราอยากจะเอาเนื้อและเมโลดี้ของเพลงป๊อปในยุค 90 ที่เราโตมากับมัน หรือเพลงที่เราฟังตอนเด็กๆ มาอยู่ในดนตรีสมัยใหม่ในแบบของ Electric Neon Lamp ช่วงที่ผ่านมาเราฟังเพลง Hip Hop R&B กันเยอะ อย่างแทนจะฟังเพลงจากวงญี่ปุ่นเยอะ ส่วนแป๊กจะชอบเพลงเกาหลีมาก แต่ละคนฟังเพลงไม่เหมือนกันเลย คงเป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้วที่ชอบอะไรไม่เหมือนกัน เวลาทำเพลงขึ้นมาแต่ละเพลงเราก็ต้องหาตรงกลาง ถ้าทุกคนในวงชอบ คนฟังก็น่าจะชอบ

ซิงเกิล เสียเวลาว่ะ มีที่มายังไง

เจน: เป็นเรื่องเล่าจากเพื่อนที่เคยไปเจอเหตุการณ์แบบนี้มา เราหยิบประโยค ‘ต้องการอะไรที่เธอกลับมา’ มาแต่งเป็นเพลงต่อ และกำลังจะปล่อยเอ็มวีให้ได้ดูกันวันที่ 28 มิถุนายนนี้ ส่วนอัลบั้มตอนนี้ทำเดโมเสร็จหมดแล้ว เหลือแค่อัดมาสเตอร์อีกประมาณ 4 – 5 เพลง คงวางขายประมาณต้นปีหน้าครับ

ในเอ็มวีพวกคุณจะทำอะไรสนุกๆ อีกมั้ย เพราะเอ็มวีของพวกคุณทุกตัวไม่เคยทำอะไรซ้ำกันเลย จะเต้นเป็นบอยแบนด์เหมือน นางรอง อีกรึเปล่า

เต้: เลิกเต้นแน่นอนครับอันนี้ (หัวเราะ)

แป๊ก: พอผ่านไป 2 อาทิตย์ พวกเราก็คิดได้ว่าไม่น่าเต้นเลย

เจน: เอ็มวี เสียเวลาว่ะ เราจะเรียบร้อยกว่าที่ผ่านมาครับ คงไม่ล้ำเหมือนเพลง ภาวินี หรือ เธอที่ร้าย ไม่สีสันเหมือน โทรจิต และไม่เกาหลีเหมือน นางรอง แน่ๆ (ทุกคนหัวเราะ) จริงๆ การเต้นเป็นอะไรที่เราจดจำไปทั้งชีวิต อยู่ๆ เราคงไม่ชวนกันออกไปเต้นหรอก เต้นในเอ็มวีมันก็สนุกไปอีกแบบ

พวกคุณทำวงมาเกือบ 12 ปี เคยมีช่วงเวลาไหนที่รู้สึก เสียเวลาว่ะ บ้างมั้ย

เจน: ทุกคนในวงจะให้ความสำคัญกับวงเต็มที่ ไม่เคยรู้สึกว่าทำไมต้องเอาเวลามาให้สิ่งนี้ ถ้าเป็นผม ผมไม่เคยรู้สึกเสียเวลากับวง แม้จะมีช่วงที่เราเฉื่อยชาในการทำเพลงหรือช่วงที่เราตันๆ อาจจะมีบ้างที่รู้สึกว่านี่เราทำอะไรกันอยู่ แต่วงเราค่อนข้างโชคดี จู่ๆ ก็มีงานเข้ามาให้เล่นตลอด ถ้าเราไม่มีงานตลอดระยะเวลาที่หายไป 2 ปีกว่า เราอาจจะล้มหายตายจากไปแล้ว

อะไรคือสิ่งยืนยันว่าเวลาที่ผ่านมาพวกคุณไม่เคยรู้สึกเสียเวลาเลย

เจน: ผมทำสิ่งที่ชื่อว่า Electric Neon Lamp มาตั้งแต่เรียนปีหนึ่ง วงเป็นสิ่งที่อยู่กับเรามายาวนานที่สุดในชีวิต อยู่กับ 3 – 4 คนนี้เยอะกว่าพ่อแม่อีก (หัวเราะ) เลยรู้สึกว่ามันไม่เสียเวลาว่ะ ต่อให้เราทำอัลบั้มแล้วมันแป้กก็ไม่เป็นไร (แทน: เป็นๆๆ) ก็ถือว่าเราทำดีที่สุดแล้ว ค่อยๆ ทำไป ไม่ได้รีบด้วย รอให้มันดีก่อนค่อยปล่อย

เต้: พอทุกคนมีงานประจำ เวลาได้รวมตัวกันไปทำอะไรในนาม Electric Neon Lamp มันเป็นสิ่งที่เราอยากจะทำ มีความสุขทุกครั้งและพร้อมจะทุ่มเวลาให้กับมัน รู้สึก 12 ปีที่ผ่านมามันไม่เสียเวลาเลย แม้ว่าเราจะยังไม่ดัง ค่าตัวแพงเป็นแสน อู้ยยยย สู้ไปรถติดอยู่กลางถนน 2 ชั่วโมง ยังรู้สึกเสียเวลากว่าอีก ฝากผู้ว่าด้วยครับ ขอบคุณครับ (หัวเราะ)

แป๊ก: ถ้าไม่มี Electric Neon Lamp ชีวิตผมก็ไม่รู้จะทำอะไร

อุน: สำหรับผมที่เพิ่งเป็นสมาชิกวงเต็มตัวได้ 2 – 3 ปี ผมดีใจมากที่จะได้มีลายเซ็นเป็นของตัวเอง วงมีโชว์เรื่อยๆ บวกกับเพลงใหม่ๆ ที่เราตั้งใจทำกันมา ผมว่ามันไม่เสียเวลาเพราะเชื่อว่าอนาคตวงจะต้องไปได้ (ทุกคน: เนี่ยยยยยยย)

แทน: ที่ผ่านมาผมว่ามันเสียเวลาว่ะ (ทุกคน: อ้าว! อุตส่าห์บิลด์มาตั้งนาน) ตอบแบบชีวิตจริงเลยว่าก็มีบ้างช่วงที่ไม่มีงานเลย พอหลังๆ วงมีงานเยอะขึ้นเลยรู้สึกว่าไม่เสียเวลาหรอก ลองนึกย้อนเวลากลับไป ถ้าเราไม่เลือกเล่นดนตรี ชีวิตอาจจะไม่เป็นแบบนี้ แต่เวลาพ่อถามว่าเดือนนี้มีงานมั้ยก็รู้สึกเสียเวลาขึ้นมานิดนึง (หัวเราะ)

ตอนทำ Bright Side อัลบั้มที่ทำกันเอง กับตอนนี้ที่ทำอัลบั้มกับ BEC-Tero วิธีคิดของพวกคุณเปลี่ยนไปมั้ย

เต้: เปลี่ยนแน่ๆ ครับ ตอนนั้นเป็นช่วงวัยรุ่น เจออะไร คิดอะไร เราก็พ่นหมดอ่ะ (แป๊ก: เด็กๆ ชอบโชว์ของ ร้อนวิชา) เหมือนเด็กวัยรุ่นที่เจออะไรมาก็ขึ้นสเตตัสบ่น แต่ตอนนั้นเราทำเพลงโดยเอาตัวเองเป็นหลัก เข้าใจไปเองว่ามันสนุกและคนก็น่าจะสนุกกับเราด้วย แต่พอเวลาที่เรามาอยู่ค่าย BEC-Tero ได้เจอคนที่หลากหลายกว่าเดิม เราได้เรียนรู้ว่าต้องทำเพลงให้คนอื่นฟังด้วย เลยมีการปรับแนวคิดในการทำเพลงใหม่ หาจุดกึ่งกลางระหว่างตัวเองกับคนฟัง

แล้วพวกคุณหาจุดกึ่งกลางนั้นยังไง

แป๊ก: เราลองทำเพลงป๊อปที่ยังเป็นตัวของตัวเราอยู่ สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่ค่ายบังคับให้พวกเราทำ มันเป็นสิ่งที่พวกเราเลือกเอง แต่จริงๆ ทำเพลงป๊อปนี่ยากมากเลยนะครับ

เจน: ใช่ครับ เราพยายามทำเพลงให้ป๊อปมากๆ อย่างตอนแรกที่ทำ นางรอง เรารู้สึกจั๊กจี้มากๆ ที่จะเล่นมันออกมา รู้สึกว่าเพลงมันเลี่ยนไปหน่อย ไม่มั่นใจเลยว่าเราจะไปไหว แต่มันเป็นจุดเปลี่ยนของวงเลยครับ อย่างเนื้อเพลงก็ใช้ภาษาตรงไปตรงมากว่าเพลงที่เคยทำมาเยอะ ‘เกลียดตัวฉันเองที่ยอมเธอตลอดมา เกลียดที่ต้องเป็นอย่างนี้’ ฟังแล้วดูอ้อนมากๆ ผมเขินที่ร้องอะไรแบบนี้ออกไป และกลัวว่าการที่เราทำเพลงป๊อปขนาดนี้ออกมา เราจะเสียแฟนเพลงไปรึเปล่า เขาจะยี้เรามั้ย แต่พอเราปล่อยออกมาจริงๆ มันกลับไม่มีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น แถมทำให้เรามีคนรู้จักเยอะขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แฟนเพลงกลุ่มเดิมก็ไม่ได้หายไปไหนเลย เราก็เลยได้เห็นว่าสุดท้ายแล้วคนฟังเขาชอบเพลงป๊อปกันจริงๆ แหละ

มีเสียงบอกว่าวงพวกคุณเพลงดี เล่นสดก็ดี แต่ทำไมไม่ดังสักที พวกคุณเคยรู้สึกแบบนั้นมั้ย

แทน: จริงๆ บ้านเรามีวงที่เล่นดีแต่ไม่ดังเยอะมาก ผมว่าเป็นเรื่องของธุรกิจมากกว่า ไม่ใช่เรื่องฝีมือของวงหรอก อย่างเพื่อนบอกว่า Electric Neon Lamp มีคนฟังเยอะนะ แต่ถ้าเทียบทั้งประเทศคงมีไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เราตีตลาดได้แค่หัวเมืองแต่ละภาค ต่างจังหวัดคงมีคนมาดูไม่กี่คน บางงานที่เล่นในกรุงเทพฯ คนก็ยังเหวอๆ เลย

เต้: เรารู้สึกว่ามันสมเหตุสมผลที่เป็นแบบนี้ ถามว่าอยากดังมากกว่านี้มั้ย อยากนะ แต่เราเห็นวงที่เขาดังเปรี้ยงปร้าง คือเบื้องหลังเขาขยันทำเพลงกันมาก ลืมตาตื่นขึ้นมาก็คุยเรื่องเพลงอย่างเดียว ชีวิตพวกเรายังทำแบบนั้นไม่ได้ แต่ละคนมีงานประจำอยู่ เวลานัดเจอกันยังต้องมาดูคิวกันเลย เทียบกับความทุ่มเทแบบนั้นแล้ว เราสู้คนกลุ่มนั้นไม่ได้หรอกครับ เลยรู้สึกว่าที่มาจนถึงทุกวันนี้ได้ก็โคตรดีแล้ว มีความสุขแล้ว

จากเด็กที่ชอบโชว์ของกับณีอรในวันนี้ พวกคุณเป็นผู้ใหญ่แบบไหนแล้ว

เจน: เรายังมองว่าตัวเองเป็นเด็กอยู่ดี ไม่เคยรู้สึกเลยว่าเป็นรุ่นใหญ่ ถึงทุกวันนี้มีวงรุ่นน้องๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่วิธีคิดในการทำเพลง ทัศนคติ ก็โตขึ้นไปตามอายุครับ อย่างเมื่อก่อนเราไม่ชอบให้ใครมาแตะเพลงของเรา พอเวลาผ่านไปอีโก้มันน้อยลง สิ่งที่เขาพูดมาเราก็รับฟังหมด เหมือนที่แฟนเพลงมาคอมเมนต์บอกว่าฟังเพลงเราแล้วไม่เห็นรู้สึกเหมือนเดิมเลย เรามองว่ามันเป็นเรื่องที่ดีครับ ไม่รู้สึกแย่เลย

เต้: ที่ผ่านมาเราก็เจออะไรมาไม่น้อยเหมือนกัน ทุกครั้งที่วงเดินทางไปไหนหรือเจออะไร เรายังตื่นเต้นกับมันเสมอ เพลงล่าสุดที่ปล่อยเราก็ยังตื่นเต้นกับมันมากๆ เหมือนตอนที่เราปล่อย เธอที่ร้าย ซิงเกิลแรกที่ปล่อยตอนเข้ามาอยู่ในค่ายเมื่อ 6 ปีที่แล้ว

เจน: ทุกวันนี้ไม่ว่าเราจะไปเล่นคอนเสิร์ตที่ไหนก็ตาม เรายังลุ้นอยู่เสมอว่าวันนี้จะรอดมั้ย ตื่นเต้นเหมือนเมื่อตอนที่เริ่มเล่นดนตรีใหม่ๆ เลย

สัมผัสได้เลยว่าพวกคุณรักอาชีพศิลปินมาก ดนตรีได้เติมเต็มอะไรให้ชีวิตพวกคุณบ้าง

เต้: ชีวิตผมมาไกลขนาดนี้เพราะเพื่อนฝูงและมิตรภาพจากดนตรี อุ้ย ดูหล่อเนอะ เมื่อก่อนผมทำงานประจำเป็น customer service ย้ายไปบริษัทโน้นบริษัทนี้ ดนตรีทำให้ผมมาอยู่ที่บริษัทล่าสุดคือ Fungjai เปิดโลกกว้างให้เราได้เจอศิลปินเก่งๆ หลายคน ถ้าไม่ได้เล่นดนตรี ผมคงเป็นเด็กแว้นอยู่ลำปางครับ

แทน: ดนตรีเป็นสิ่งที่คอนโทรลคนได้ เวลาเล่นบนเวทีแล้วมีคนเต้นตาม มันเหมือนเราควบคุมอะไรบางอย่างอยู่ ในชีวิตหนึ่งจะมีสักกี่คนที่ได้มาทำแบบนี้ ก็เติมเต็มในแง่ของประสบการณ์ชีวิต แล้วก็เติมเต็มเรื่องเงินด้วย ต้องไม่ลืม (หัวเราะ)

อุน: ได้เจอผู้คนมากมายครับ เติมเต็มเรื่องมิตรภาพ (ทุกคน: โอ้โหหหห)

แทน: มิตรภาพระหว่างชายกับหญิง (หัวเราะ)

เจน: ถ้าไม่ได้เล่นดนตรีผมคงไม่ได้เจอเพื่อนเยอะขนาดนี้ ตอนนี้เพื่อนสนิทหลายคนเป็นเพื่อนที่เล่นดนตรีด้วยกัน ผมชอบไปเที่ยวและดนตรีก็พาผมไปในหลายๆ ที่ตามจังหวัดต่างๆ ที่ผมคงไม่มีโอกาสได้ไปเอง ได้อยู่ในงานเทศกาลสนุกๆ ออกไปเจออะไรใหม่ๆ

แป๊ก: ความเครียด เหมือนเราต้องเครียดก่อนถึงจะมีความสุข ในแง่ที่ได้ทำเพลงกับวงนะครับ แต่ในแง่ของคนที่ชอบดนตรี เหมือนเราได้เจอกลุ่มคนที่ชอบอะไรเหมือนกันหรือเจอเพื่อนใหม่ๆ แต่อาจจะเจอไม่เยอะเท่าอุน (หัวเราะ)

แล้วความฝันของพวกคุณคืออะไร

อุน: อยากให้วงมีชื่อเสียงโด่งดัง (หัวเราะ) เราจะได้เลี้ยงตัวเองได้ อยากมีความสุขกับตัวเองมากๆ

เต้: เราเล่นดนตรีเป็นอาชีพได้ มีชีวิตที่จริงจังกับดนตรีกว่านี้ เหมือนที่วงดังๆ เขาเป็นกัน

อุน: ก็อยากดังแหละ (หัวเราะ)

เต้: ไม่ๆ คือกูตอบดีกว่ามึง คือตื่นขึ้นมา ล้างหน้าแปรงฟันแล้วคุยกันเรื่องเพลง หายใจเป็นเพลง เราอยากเป็นแบบนั้น และสิ่งที่ใกล้ความฝันอีกระดับหนึ่งคือมีคนเอาเพลงเราไปคัฟเวอร์ เล่นถูกเล่นผิดไม่เป็นไร แค่เอาเพลงเราไปเล่นก็ดีใจแล้ว

เจน: เราอยากทำเพลงให้เป็นอาชีพอย่างเดียวจริงๆ ถึงมันจะเป็นสิ่งที่ทำแล้วเครียด กดดัน หรือการที่ออกไปเล่นแต่ละที่คาดเดาอะไรไม่ได้เลย การทัวร์คอนเสิร์ตใช้ร่างกายเยอะก็จริง แต่ไม่เคยรู้สึกเหนื่อยที่จะทำ อีกอย่างเราอยากมีบ้านอยู่ในหมู่บ้านเดียวกับเพื่อนๆ ในวง คงสนุกดี แล้วก็อยากไปเล่นที่ Glastonbury

แป๊ก: เหมือนกันครับ อยากไปเล่นต่างประเทศ หวังว่าสักวันจะมีอัลบั้มภาษาอังกฤษบ้าง

แทน: ไม่ได้ฝันว่าทำวงแล้วจะต้องดัง เพราะตอนแรกอยู่กับไอ้พวก Electric Neon Lamp ทำเพลงกันก็รู้ละ เฮ้ย เพลงแบบนี้จะดังเหรอวะ (หัวเราะ) แต่ฝันจริงๆ ที่ตั้งใจไว้คืออยากเป็นศิลปินที่มีสังกัดดู ตอนนี้ถือว่าได้ทำตามฝันแล้ว

เจน: ผมกล้าพูดแทนวงเลยว่า ความฝันของพวกเราคือได้เล่นงาน Fat Festival สุดท้ายก็ออดิชันผ่าน ได้เข้าไปเล่น Fat Festival ครั้งที่ 7 จริงๆ หลังจากนั้นแทบไม่คิดเลยว่าวงจะมาถึงวันนี้ วันที่มีค่ายเข้ามาติดต่อ เลยจุดที่ฝันไว้แล้วครับ

ภาพ กฤต วิเศษเขตการณ์

AUTHOR