เมืองไทยมีศิลปินผู้สร้างงานศิลปะชั้นดีมากมาย แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างทำให้พวกเขา ผลงาน และคนดูอย่างเราอาจไม่ได้เชื่อมโยงถึงกันง่ายดายนัก จนเราได้พบกับ 1×1 WALL เว็บไซต์ของ เพชร-ธนบดี
ทองคำ ชายหนุ่มที่แม้จะไม่ได้เรียนด้านศิลปะมาโดยตรง แต่มีความสนใจในงานศิลปะอย่างล้นเหลือ และอยากให้คนทั่วไปเข้าถึงงานศิลปะได้ง่ายยิ่งขึ้น
1×1 WALL ทำอะไร? เว็บไซต์นี้คือพื้นที่ซื้อ-ขายผลงานศิลปะที่เปรียบเหมือนจุดเชื่อมต่อออนไลน์ระหว่างศิลปินทั้งไทยและต่างชาติ งานศิลปะ และผู้สนใจทั่วโลก นอกจากทำหน้าที่ตัวกลางในแพลตฟอร์มออนไลน์ 1×1 WALL ยังขยับขยายสู่ออฟไลน์ หนึ่งในก้าวสำคัญคือ การร่วมกับแกลเลอรี่ 56th studio จัดนิทรรศการเก๋ที่ชื่อว่า Innocent Insurgency ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 24 เมษายน 2560 ซึ่งถือเป็นการเปิดมุมมองใหม่ในการแสดงงานศิลปะ
เกือบ 1 ปีแล้วที่แพลตฟอร์มออนไลน์นี้ยังคงเติบโตขึ้นเป็นลำดับ ช่วยลดระยะห่างระหว่างงานศิลปะและผู้คนให้ใกล้กันขึ้นเรื่อยๆ เราจึงชวนธนบดีมานั่งพูดคุยถึงสิ่งที่เขากำลังทำ และสิ่งที่ฝันจะมอบให้วงการศิลปะในอนาคต
คุณขายงานศิลปะที่เน้นให้ผู้คนซื้อไปเป็นของแต่งบ้าน บอกหน่อยว่าการมีงานศิลปะสักชิ้นในบ้านส่งผลอะไรกับผู้อยู่อาศัย
ผมคิดว่าเรื่องนี้มันปัจเจกมาก คือผมจะชอบเปรียบเทียบงานศิลปะกับดนตรี บางเพลงที่เราฟังแล้วรู้สึกว่ามันเพราะมาก แต่เอาให้เพื่อนฟังแล้วเพื่อนอาจจะไม่ชอบก็ได้ ผมว่างานศิลปะก็เช่นเดียวกัน เราอาจจะชอบงานนี้ในขณะที่คนอื่นอาจจะไม่ชอบ เพราะฉะนั้นการที่เอางานเข้าไปอยู่ในบ้านสักชิ้น มันไม่ได้เป็นแค่ของตกแต่งที่สวยงาม ผมว่ามันสะท้อนถึงความเป็นตัวตนของคนคนนั้น มันคือความชอบเฉพาะตัว การเอางานศิลปะไปตกแต่งในบ้านคือการทำให้บ้านของเขาเป็นบ้านของเขามากยิ่งขึ้น
คนนอกวงการอย่างคุณพาตัวเองเข้าไปในวงการศิลปะจนได้ขายงานให้ศิลปินได้ยังไง
ตอนเริ่มต้น ผมกับเพื่อน ๆ ก็ค่อนข้างเหมือนคนตาบอดเหมือนกันนะ เรารู้จักศิลปินบ้างจากที่เคยไปเดินดูตามงาน แต่ไม่ได้รู้จักเยอะมาก สิ่งที่เริ่มตอนแรกเลยคือเสิร์ชเฟซบุ๊ก เดินตามนิทรรศการ แล้วเข้าไปหาศิลปินแต่ละคน ถามแบบโง่ ๆ เลย เช่น งานพี่นี่คือสไตล์อะไรครับ จริง ๆ ถามว่ามันยากไหม ยากมากเพราะผมไม่เคยอยู่ในวงการนี้ซึ่งมีความเฉพาะทางมาก แต่ข้อดีคือคนในวงการรู้จักกัน แล้วเวลาผมบอกไปว่าอยากทำอะไร ศิลปินทั้งรุ่นเด็กและผู้ใหญ่ให้การสนับสนุนดีมาก ช่วยแนะนำต่อให้ เขียนชื่อมา เอาเบอร์ติดต่อมาให้ผมหมดเลย ผมก็ไล่โทรไล่ขอไปนัดคุย ศิลปินเกือบร้อยคนที่เข้าในแพลตฟอร์มตอนนี้ ผมคุยเองทุกคน เข้าไปคุย เข้าไปถาม ผมอยากเข้าใจวิธีคิดของศิลปิน เข้าใจว่าจุดยืนของศิลปินทั้งในบ้านเราและต่างชาติจริง ๆ แล้วคืออะไร เพราะเว็บ 1×1 WALL ทำมาเพื่อสนับสนุนศิลปินจริงๆ ไม่ใช่ศิลปินไทยอย่างเดียว แต่หมายถึงกลุ่มศิลปินทั้งหมดที่มีงาน มีฝีมือที่ดี แต่ว่าไม่มีโอกาส ไม่มีช่องทาง ผมเจองานดีๆ เยอะมากที่โดนเก็บอยู่ในห้องหรือใต้ตึกคณะ แล้วนักศึกษาที่เรียนในคณะจะออกประกอบอาชีพศิลปินได้มีจำนวนน้อยมาก จุดนี้ต้องมีอะไรผิดพลาดในระบบกระบวนการการทำงานหรือว่าการเติบโตในสายงานศิลปะของบ้านเราแน่ๆ
ผมคิดว่าคนเราควรทำในสิ่งที่ตัวเองเก่ง ศิลปินในบ้านเราตอนนี้ที่โด่งดังขึ้นมาต้องทำการตลาดเยอะมาก ถึงงานศิลปะกับการตลาดดูเป็นเส้นขนานกัน แต่บางทีก็ต้องทำ ซึ่งถ้าเขาโฟกัสการทำงานศิลปะอย่างเดียวได้ก็น่าจะดีกว่า ส่วนผมถนัดการใช้เทคโนโลยี และการทำการตลาด ช่วยแนะนำได้ เพราะฉะนั้น เราก็อยากเป็นตัวกลาง เหมือนข้อต่อที่เชื่อมระหว่างศิลปินกับคนเสพงานศิลป์ ศิลปินทำงาน เรานำมาประมวลผล จัดเรียง ตกแต่งหน้าตา เพื่อทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนเสพงานศิลปะเข้าใจและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
การที่ศิลปินขายงานทางออนไลน์ต่างจากการไปขายในแกลเลอรี่มั้ย
ผมคิดว่ามันเป็นช่องทางที่ต่างกัน หนึ่งคือเราไม่ผูกขาด ผลงานศิลปะทุกชิ้นที่ได้รับการคัดเลือกและแสดงอยู่ใน 1×1 WALL สิทธิ์ทุกอย่างในผลงานยังเป็นของศิลปิน หมายถึงถ้าเขานำงานมาแสดงกับ 1×1 WALL แล้วมีคนสนใจมาซื้องานจากช่องทางอื่นก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายอะไรให้เราเลย ถือว่าเราเป็นแค่กระดานโล่ง ๆ ที่อยากให้คนเข้ามาเชื่อมต่อกันได้ง่ายที่สุด อย่างที่สองเราเข้าถึงผู้คนในวงกว้างได้ผ่านโลกของอินเทอร์เน็ต ในขณะเดียวกันนักสะสมหลายคนที่ผมรู้จัก เขาก็ยังวางใจในออฟไลน์แกลเลอรี่ ที่ช่วยคัดงานดีๆ มาให้ ซึ่งแกลเลอรี่หลายแห่งในบ้านเราก็ทำได้ดีมาก ๆ แล้วเราก็ยินดีที่จะช่วยสนับสนุนแกลเลอรี่ต่างๆ ผ่านความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีของเราเช่นกัน หากจะถามว่าแตกต่างกันอย่างสมบูรณ์ไหม ผมคิดว่ามันเป็นบทบาทของแต่ละฟันเฟืองในวงการศิลปะมากกว่าที่ทุกฝ่ายต้องทำงานด้วยกัน และช่วยขับเคลื่อนวงการไปข้างหน้า
มีวิธีคัดงานศิลปะเข้ามาขายใน 1×1 WALL ยังไง
เรามี curator ที่ถนัดในงานแต่ละแขนง เวลาคนส่งงานเข้ามาเราก็ส่งงานให้ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในสื่อแขนงนั้น ในประเภทงานแบบนั้นดูให้ ผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้าผ่านก็เอาลงในเว็บไซต์
อะไรคืองานศิลปะที่ผ่านและไม่ผ่านสำหรับเว็บไซต์นี้
ผมว่ามันมาจากตัวภัณฑารักษ์ที่เราเลือกเข้ามา อย่างแรกคือมาตรฐานของเขา แต่อย่างที่สองก็คือ เราก็บอกมาตรฐานในการคัดเลือกงานว่าไม่ได้ต้องการงานระดับ Masterpiece เท่านั้น เราไม่ได้ต้องกำหนดคาแรคเตอร์เฉพาะของ 1×1 WALL เพราะเราเชื่อว่าทุกคนมีรสนิยมในงานศิลปะที่แตกต่างกัน ถ้าเข้าไปใน 1×1 WALL จะเห็นว่างานมีหลากหลายรูปแบบมาก ตั้งแต่ราคาหลักร้อยไปจนหลักแสน ผมบอกผู้เชี่ยวชาญว่าเราแค่ต้องการให้คนที่เข้ามาดูงานใน 1×1 WALL ซื้องานกลับไปแล้วได้งานคุณภาพเหมาะสมกับสิ่งที่เขาควรได้จริงๆ มากกว่า เหมือนเราเป็นแค่ตัวกรองชั้นหนึ่งก่อน คืออย่างน้อยต้องไม่ใช่งานที่เละๆ พัง ๆ มา หรืองานที่แบบไม่ตั้งใจทำขึ้นมาแล้วเอามาวางไว้ในนี้ แล้วคนซื้อไปไม่แฮปปี้ เราไม่อยากให้เกิดขึ้น
เราลองเข้าเว็บแล้วเห็นว่าราคางานไต่ไปได้ถึงหลักแสนจริงๆ คุณไม่กลัวว่างานแพงมากๆ จะขายไม่ได้เหรอ
เราเปิดให้ศิลปินทุกคนตั้งราคางานของตัวเอง เราไม่ได้กำหนดราคางานเลย ราคาจะสูงมาจะแพงมากสุดมันกลายเป็นการตกลงกันของทั้งสองฝ่าย คุณสบายใจที่จะซื้อในราคานี้ คนขายสบายใจที่จะขายในราคานี้ ผมว่ามันก็จบ เรื่องถูกเรื่องแพงผมว่ามันไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนเรื่องราคาถูกหรือแพงในการซื้องานศิลปะ มันเป็นเรื่องของความพึงพอใจ
รู้มาว่านอกจากเผยแพร่งานศิลปะออนไลน์ คุณยังขยับขยายมาสู่รูปแบบออฟไลน์ด้วย
ผมรู้สึกว่าที่จริงแค่เข้ามาในออนไลน์เท่านั้นก็ได้ แต่ว่าพื้นฐานของคนไทยไม่ได้แวดล้อมด้วยงานศิลปะขนาดนั้น เพราะฉะนั้นเราพยายามจะช่วยสนับสนุน ช่วยให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องงานศิลปะกับคน ทำให้เข้าถึงง่ายมากยิ่งขึ้น เราเรียกสิ่งที่ทำว่า Wall โดยเราไปพูดคุยกับสถานที่ต่าง ๆ อย่างร้านกาแฟ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า เปิดให้เขาเลือกชิ้นงาน ในแพลตฟอร์มเราไปแสดงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไร แต่ก็ต้องเป็นการยอมรับกันทั้งสองฝ่ายระหว่างศิลปินและพื้นที่จัดแสดง ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะว่าศิลปินได้แสดงงานในที่ที่เขาพอใจ ร้านก็ได้งานสวย ๆ ไปแสดงทำให้ร้านเขาสวยมากยิ่งขึ้น สุดท้ายถ้ามีการขายเกิดขึ้น ทุกคนก็จะมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสม คนที่เข้ามาชมก็รู้สึกดีเพราะว่าได้เห็นงานสวยๆ แล้วเราก็พยายามจะขยายสิ่งนี้ต่อไป
นอกจากขยายไปสู่สถานที่ต่างๆ คุณยังหยิบงานศิลปะมาจัดเป็นนิทรรศการด้วย
นิทรรศการงานศิลปะนี้ชื่อ Innocent Insurgency เป็นความร่วมมือของเรากับพี่โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา แห่ง 56th studio เราเริ่มจากการตั้งคำถามว่า งานศิลปะมันเหมาะกับทุกคนจริงหรือ พอได้คำถามนี้ เราก็เริ่มเห็นถึงความแตกต่างแปลกๆ ที่เคยเชื่อกันว่า คนจะเสพงานศิลปะได้ต้องมีเงินเหลือ สมมติว่าปัจจัยสี่ยังไม่มี เสพงานศิลปะไปก็คงไม่มีประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันคนรังสรรค์งานศิลปะดี ๆ อย่างแวนโก๊ะ ยากจนเสียจนข้าวยังไม่มีกิน แล้วจริงหรือว่างานศิลปะมันผูกกับเรื่องเงิน พอเราคิดว่ามันไม่น่าใช่แบบนั้น เราจึงฉีกแนวศิลปะออกมา 2 ขั้ว ส่วนแรกคือ The Insurgents เป็นงานศิลปะที่ดูรุนแรง ฟุ้งเฟ้อ ดูยุ่งเหยิง ส่วนที่ 2 ชื่อ The Innocents ซึ่งเหมือนงานสำหรับเด็ก น่ารัก ใส ๆ หวาน ๆ เราอยากให้คนที่เข้าไปในนิทรรศการได้เห็นงาน 2 ประเภท ที่ฉีกตัวต้นทางกับปลายทางไว้ เพื่อให้เขาหาจุดสมดุลของตัวเอง งานทั้ง 2 ส่วนจะจัดไม่พร้อมกัน เพราะผมอยากให้คนตกผลึกกับความคิดตัวเอง พอตกผลึกจากส่วนแรกแล้ว พอมาดูส่วนที่สอง อาจจะแบบ เฮ้ย! มันไม่เหมือนกับที่คิดตอนแรก แล้วมาปรับสมดุลความคิดของตัวเอง สุดท้ายนิทรรศการนี้อาจไม่ได้ให้คำตอบที่ตายตัวสำหรับทุกคนว่า สุดท้ายแล้วศิลปะมันใช่เรื่องของเงิน หรือเหมาะกับทุกคนจริงหรือเปล่า แต่เราเชื่อว่าคนที่เข้ามาดูอย่างน้อยน่าจะได้เจอกับมุมมองทางงานศิลปะในแบบของตัวเองกลับไป
หลังจากเปิดมาเกือบ 1 ปี 1x1 WALL มีลูกค้าเยอะหรือยัง
ที่จริงถามว่าตัวเลขมันใหญ่มากไหม ผมว่าไม่นะ แต่ถ้าเทียบกับสิ่งที่คาดหวังไว้ตั้งแต่เริ่มกับสิ่งที่มาตอนนี้ มันสูงกว่าที่เราคิดไว้มาก นึกภาพง่าย ๆ แค่คิดว่าคนไทยซื้องานศิลปะมันก็ยากแล้ว เห็นของจริงยังยากเลย อยู่ออนไลน์มันจะขายได้เหรอ จะมีคนเข้ามาสนใจจริง ๆ เหรอ แต่ทำจริงแล้วมันมี เยอะด้วย ผมเรียกว่าเป็นหลักร้อยเลยที่ผ่านเข้ามาซื้อขายในแพลตฟอร์มของเรา ส่วนคนที่มาสนใจ สอบถาม พูดคุย รวม ๆ แล้วเป็นพันนะ ถ้ามองเรื่องการทำให้คนเข้ามาสนใจ ผมถือว่าประสบความสำเร็จเลยแหละ
มองภาพในอนาคตของสิ่งนี้ไว้ยังไง
เราอยากสร้างให้ 1×1 WALL เป็นชุมชนของงานศิลปะจริงๆ ในส่วนเว็บไซต์ เราอยากให้คนที่เข้ามาดูในอนาคตรู้สึกเหมือนเข้าเฟซบุ๊ก แต่เป็นเฟซบุ๊กของโลกศิลปะ คนที่มีความชอบความสนใจในศิลปะเข้ามาพูด มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ตอนนี้เราเตรียมแผนแล้ว ตัวแพลตฟอร์มเต็มจะลงภายในไม่กี่เดือนนี้ ก็จะมีช่องทางการนำเสนองานศิลปะในรูปแบบที่น่าจะเข้าถึงคนได้ค่อนข้างง่าย แล้วก็ได้ความรู้ ได้ความสนุกไปพร้อมๆ กัน
จากมุมมองของ ‘คนกลาง’ ในวงการศิลปะ คุณมองเห็นอะไรในวงการนี้บ้าง
ปัญหามีในทุกวงการอยู่แล้ว แต่ผมมองว่ามีโอกาสที่ดีเยอะมาก เนื่องจากคนรุ่นใหม่มีสื่อออนไลน์เข้ามา ผมว่าคนสนใจและเริ่มตื่นตัวกับงานศิลปะมากยิ่งขึ้น เด็ก ๆ หลายคน ไม่ว่าจะตอนเรียนหรือเพิ่งจบมหาวิทยาลัยหันมาสนใจศิลปะเยอะขึ้น มีนิทรรศการเกิดขึ้นเยอะมาก มีคนมาเริ่มทำแกลเลอรี่หรืออื่นๆ เพิ่มขึ้นในสไตล์ใหม่ ซึ่งไม่ใช่เพราะ 1×1 WALLแต่หลายส่วนช่วยกัน ผมว่าตอนนี้อาจไม่ใช่จุดสูงสุด แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เราเห็นบันไดที่จะก้าวไปอย่างชัดเจน ซึ่งถ้ามองไป 5 – 10 ปีที่แล้วอาจไม่เห็นเลย มันอาจเหมือนมีแม่น้ำที่กั้นขว้างทางไว้เลย
ภาพ ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล