HAVE YOU HEARD? : กลุ่มคนตัวเล็กที่นำเข้าคอนเสิร์ตวงอินดี้ดีๆ มาให้เราดู

ยุคนี้คือยุคที่คนธรรมดาอย่างเราดูเหมือนจะมีพลังทำสิ่งต่างๆ ได้มากกว่าที่เคยคิด หนึ่งในตัวอย่างชัดเจนคือผลงานของกิ-กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร หญิงสาวตัวเล็กอดีตนักร้องวง Niece ที่เรานัดเจอในวันนี้

เมื่อ 6 ปีก่อน กิกับ พิมพ์พร เมธชนัน เพื่อนผู้ชื่นชอบดนตรี รวมตัวกันเป็นกลุ่มไซส์มินิชื่อ HAVE YOU HEARD? ทำหน้าที่เป็น Concert Promoter หรือผู้นำเข้าคอนเสิร์ตอินดี้ดีๆ เข้ามาในไทย การเกิดขึ้นของผู้นำเข้าคอนเสิร์ตรายเล็กจิ๋วอย่าง HAVE YOU HEARD? ช่วยให้สาวกวงดนตรีอินดี้ที่ใฝ่ฝันอยากเห็นการแสดงสดของวงโปรดไม่ต้องเก็บเงินรอบินไปดูต่างประเทศ หรือนั่งน้อยใจที่ผู้นำเข้าคอนเสิร์ตเจ้าใหญ่ๆ ไม่สนใจวงเหล่านี้

6 ปีผ่านมา HAVE YOU HEARD? ยังคงยืนระยะ มีพอร์ตสวยงามเป็นวงดนตรีหลากหลายที่แฟนเพลงอาจไม่เคยคิดว่าจะได้ดู และล่าสุดที่เราตื่นเต้นคือพวกเขาขยับจากคอนเสิร์ตสู่การจัดนิทรรศการของ Joan Cornellà นักวาดชาวสเปนชื่อดังเจ้าของผลงานการ์ตูนสุดแสบที่คนไทยหลายคนหลงรัก

แน่นอน ทั้งหมดนี้ยังขับเคลื่อนด้วยพลังของกิและเพื่อน ก่อนนิทรรศการจะจัดแสดง เราจึงชวนกิมานั่งพูดคุย เพื่อลองเข้าไปสำรวจโลกของ HAVE YOU HEARD? กลุ่มคนตัวเล็กที่พลังไม่เล็กตามจำนวนคน

ที่จริงเราชอบเพลงไหนก็หาฟังบนออนไลน์ได้นะ การแสดงสดของวงดนตรีมันดึงดูดขนาดที่คุณต้องลุกมาเป็น Concert Promoter เลยเหรอ
เราคิดว่าคนส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นเหมือนเราคืออยากเจอวงที่ตัวเองชอบ อยากดูเขาเล่นสดๆ และหลายคนคงรู้สึกเหมือนกันว่า เวลาได้ดูวงที่ตัวเองชอบเล่นสด มันจะมีเสน่ห์อีกแบบ เพราะแต่ละครั้งที่เขาเล่นเป็นเหมือนช่วงเวลาที่เกิดขึ้นแค่ครั้งนั้นครั้งเดียว ถึงเล่นเพลงเดิมในแต่ละโชว์ ก็ไม่มีครั้งไหนเหมือนกัน แล้วหลายวงก็มีการด้นสดหรือเล่นเวอร์ชันพิเศษด้วย รวมถึงแม้กระทั่งซาวนด์ของเพลง เวลาฟังเวอร์ชันอัดในห้องอัดก็อาจเป็นอีกแบบ แต่พอเล่นสดก็จะเหมือนมีสิ่งที่แตกต่างไป

น่าจะพูดได้ว่าสิ่งที่คุณทำคือธุรกิจที่มีคอนเสิร์ตเป็นสินค้า บอกหน่อยว่าจุดเด่นจุดด้อยของสินค้าตัวนี้คืออะไร
มันเป็นสินค้าที่เสี่ยงมากเพราะการยกเลิกเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกจากทางวง หรือยกเลิกเพราะปัญหาต่างๆ ในบ้านเราอย่างปัญหาการเมือง ซึ่งหลายอย่างเป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ แล้วเราก็ต้องคาดคะเนว่าคนจะมาดูกี่คน ซึ่งก็ไม่มีอะไรบอกเราได้ตายตัว แต่ถ้าพูดถึงจุดเด่นก็คงเป็นเรื่องความสนุก เพราะอย่างที่บอกว่าคอนเสิร์ตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ครั้งเดียว มันเลยเหมือนเราได้ทำสินค้าใหม่ตลอดเวลา

 

ถ้าคนธรรมดาอยากนำเข้าคอนเสิร์ตแบบนี้บ้าง ลุกขึ้นมาทำได้เลยมั้ย
ถ้าใครอยากลองทำ อาจต้องลองหาวิธีไปเกลี้ยกล่อม booking agent ของวงที่จะนำเข้าว่าเธอเชื่อใจฉันได้นะ คือตอนพวกเรารวมตัวกันแล้วคิดว่าอยากจะทำ HAVE YOU HEARD? ตอนปี 2011 ก็ใช้เวลานานเหมือนกันกว่าที่จะมีงานแรกได้ เพราะเวลาเราติดต่อไป booking agent ของวงจะไม่ค่อยตอบอีเมล ถ้าเราไม่เคยทำมาก่อน เพราะมันมีรายละเอียดยิบย่อยเยอะเหมือนกันในการจัดโชว์ agent เลยอยากทำงานกับคนที่ไว้ใจได้หรือที่เขารู้ว่าคนพวกนี้ทำได้จริงๆ โดยเฉพาะเวลาที่วงนั้นต้องเดินทางไกลแบบข้ามทวีปมา แล้วไม่เคยมาประเทศเรา ไม่เคยมาเอเชีย ตอนแรกๆ เราก็หว่านส่งไปเยอะมาก เขาก็ไม่ค่อยตอบหรอกเพราะไม่รู้ว่าเราเป็นใคร มาจากไหน จนมาถึงวงแรกของเราคือ The Pain of Being Pure at Heart ที่เหมือนเขาอยากมาเที่ยวเมืองไทยอยู่แล้ว เขาเลยตกลงยอมให้เราจัดงานให้ ซึ่งพอจัดไปเรื่อยๆ ก็คุยง่ายขึ้น

แต่ในการจัดคอนเสิร์ตในเมืองไทยก็จะมีปัจจัยอื่นด้วย เพราะเรายังต้องมีสปอนเซอร์ ไม่เหมือนต่างประเทศที่แค่ขายบัตรแล้วครอบคลุมค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นเรื่องของค่าเงินและค่าครองชีพ อย่างที่สิงคโปร์จะขายบัตรได้แพงกว่าเรา ทั้งที่เป็นวงเดียวกัน ทุกอย่างเหมือนกัน เวลาเราเสนอค่าตัวให้วงก็เป็นเรตเดียวกัน เพราะฉะนั้นก็จะมีอีกประเด็นว่า ถ้าอยากทำ คุณหาสปอนเซอร์ได้มั้ย

แล้ว HAVE YOU HEARD? ทำยังไงให้สปอนเซอร์เชื่อใจ
เขาไม่ค่อยเชื่อหรอก ยากกว่าติดต่อวงอีก เพราะแรกๆ วงที่เราเอามาค่อนข้างเฉพาะทางมาก เขาก็จะคิดว่าวงดนตรีอะไร ไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยิน รู้ได้ยังไงว่าจะมีคนมาดู ก็เป็นเรื่องยาก ตอนแรกๆ ก็ไม่ค่อยได้อะไรหรอก งานแรกๆ แทบไม่ได้อะไรเลย ก็เหมือนเราต้องทำให้เขาเห็นก่อน

แล้วนอกจากเรื่องสปอนเซอร์ มันยังมีเรื่องความเสี่ยงในการจัดงานว่าคุณรู้จักตลาดดีพอมั้ย ประเมินคนมาดูได้ถูกหรือเปล่าว่าวงนี้จะเรียกคนมาดูได้กี่คน เราก็เล็งๆ เอา ตอนแรกก็พลาดบ่อย แต่พอทำมาสักระยะก็ค่อนข้างเดาได้แม่นขึ้น พอรู้ว่าวงไหนกำลังมา หรือตอนนี้คนชอบฟังประมาณไหน ซึ่งช่วงแรกๆ ที่เปิดเพจ HAVE YOU HEARD? นอกจากจัดคอนเสิร์ต เราก็จะโพสต์เพลงบ่อย แชร์ว่าวงนี้ออกเพลงใหม่ จนเพจเป็นเหมือนคอมมูนิตี้ของคนชอบเพลงคล้ายกัน อาจมีคนติดตามไม่เยอะมากแต่เป็นออร์แกนิก เราก็จะดูผลตอบรับจากเพจจนมั่นใจประมาณหนึ่ง การเลือกวงเลยเหมือนมาจากการใช้สัญชาตญาน การที่เราติดตามข่าว และจากความชอบของเราและเพื่อนในกลุ่มด้วย

 

เราเคยได้ยินว่าปัญหาใหญ่ที่ผู้นำเข้าหนังรายย่อยเจอคือเรื่องโรงฉาย แล้วการเป็นผู้นำเข้าคอนเสิร์ตรายย่อยต้องเจอปัญหาใหญ่ๆ บ้างมั้ย
เป็นปัญหาเรื่องสถานที่เหมือนกัน คือเราอยากเอาวงนี้มา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปเล่นที่ไหน ยิ่งในสเกลประมาณ 500 – 700 คน สถานที่มีน้อยมาก แล้วเมืองไทยยังไม่เหมือนญี่ปุ่นที่มี live house ซึ่งจะมีเครื่องเสียง มีเวทีครบ ทำให้เราคุมค่าใช้จ่ายได้ แต่ตอนนี้เวลาจัด เราต้องไปเช่าที่ที่นึง แล้วเช่าอุปกรณ์ทุกอย่างไปลง ต้นทุนมันเลยสูง ที่จริงก็เริ่มมีวงที่เราอยากนำเข้ามาแถวนี้บ่อย ซึ่ง HAVE YOU HEARD? จะเน้นนำเข้าวงแบบนี้ เพราะเราจ่ายเงินจ้างให้เขาบินตรงมาไม่ได้ เราก็อยากจะนำวงต่างๆ เข้ามาบ่อยขึ้น แต่พอไม่มีสถานที่ที่พร้อมอยู่แล้ว ทำให้ค่าใช้จ่ายในการจัดแต่ละงานค่อนข้างสูง บัตรก็ขายไม่ได้เท่าประเทศอื่น บางทีเราก็เลยสู้ไม่ไหว ที่จริงถ้ามีนักลงทุนได้อ่านก็น่าสนใจนะ เผื่อใครจะอยากเปิดไลฟ์เฮาส์ (หัวเราะ)

อะไรทำให้ปีนี้คุณเปลี่ยนจากนำเข้าคอนเสิร์ตอย่างเดียวมานำเข้านิทรรศการด้วย
ที่จริงนี่ก็เป็นเรื่องแปลกเหมือนกัน คือเอเยนต์ของ Joan Cornellà ติดต่อเรามา Joan เป็นคนที่คิดอะไรแหวกแนว เขารู้ว่าตัวเองมีแฟนคนไทยเยอะ แล้วก็สนใจกลุ่มคนที่ติดตามเราและเชื่อว่าเราทำนิทรรศการให้เขาได้
เราเองชอบงานเขาอยู่แล้ว ก็เลยลองดู สิ่งที่ต้องทำก็คล้ายกับจัดคอนเสิร์ต แต่อย่างในเรื่องพื้นที่ แทนที่จะต้องเป็นเวที มีเครื่องเสียง เราก็ต้องทำฉาก เตรียมเฟรม แล้วเดี๋ยวก็ต้องมีเชิญสื่อเป็นเรื่องเป็นราว เชิญแกลเลอรี่ ติดต่อคอลเลกเตอร์ จัดงานไพรเวท โอเพนนิ่ง มีแคเทอริ่ง เป็นงานที่เราไม่เคยทำแต่ก็สนุกดี

 

ช่วงนี้เราเห็นคนตัวเล็กๆ ลุกขึ้นมานำเข้าคอนเสิร์ต นำเข้าหนัง จัดอีเวนต์ใหญ่ๆ กันเองได้ คุณคิดว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้เพราะอะไร
เราคิดว่าโลกเปลี่ยนไป พอทุกอย่างอยู่ออนไลน์ มันก็ทำให้คนสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น เข้าถึงกันได้มากขึ้น เหมือนแต่ก่อนถ้าคนคนนึงจะลุกขึ้นมาทำธุรกิจ เขาต้องมีเงินค่อนข้างมาก หรือกว่าจะโปรโมตให้คนรู้จักธุรกิจของตัวเอง ก็ต้องใช้เงินค่อนข้างเยอะสำหรับซื้อสื่อต่างๆ แต่ตอนนี้มันค่อนข้างง่าย เรามีเว็บไซต์ เราโปรโมตออนไลน์ มันก็ไปถึงคนในจำนวนมากได้ แล้วก็เป็นเรื่องวิถีชีวิตของคนยุคนี้ด้วย เหมือนเราใช้เวลาบนมือถือเยอะ ในนั้นมีทุกอย่าง เราอยากรู้เรื่องอะไรหรือกำลังต้องการสินค้าหรือบริการแบบไหนก็หาได้ง่าย แล้วพอมีดีมานด์ที่ค่อนข้างจับต้องได้ง่ายขึ้นตรงนั้น ก็มีคนที่อยากลุกขึ้นมาแล้วบอกว่าฉันจัดหาตรงนี้ให้ได้ มันเป็นเรื่องของดีมานด์-ซัพพลาย คนก็เลยทำสตาร์ทอัพ ทำธุรกิจของตัวเองกันเยอะขึ้น

แล้วหลังจากนี้คุณมองอนาคตของ HAVE YOU HEARD? ไว้ยังไง
เราอยากทำให้ HAVE YOU HEARD? เป็นที่รู้จักมากขึ้นในแง่ของการเป็นชุมชน อยากให้คนชอบฟังเพลง ชอบดูคอนเสิร์ตมารวมตัวกัน เพราะตอนนี้เรารู้สึกว่ามันกระจัดกระจาย หรือเหมือนกับมีกลุ่มแฟนเพลงลึกลับที่เราอาจไม่รู้ว่ามีเขาอยู่ เราคิดว่าถ้าสร้างชุมชนนี้ขึ้นมาได้ คนมารวมตัวกันเยอะมากพอ ก็จะทำให้เราเอาวงเข้ามาได้บ่อยขึ้น เพราะจะรู้ว่าวงนี้มีคนฟังอยู่แค่ไหน หรือในแง่การทำงาน เราอาจไม่ต้องโปรโมตอะไรเยอะก็เข้าถึงคนได้ง่าย

 

ตลอด 6 ปีที่ผ่านมาคุณมีความสุขกับอะไรที่สุดในการทำสิ่งนี้
เรามีความสุขกับวันคอนเสิร์ตที่สุด ลองนึกภาพว่าเราพยายามทำสิ่งนึงมา 6 เดือน อีเมลทุกวัน โทรๆๆ พอถึงวันที่มันเกิดขึ้นจริงๆ เราก็รู้สึกว่าโอเค หายเหนื่อย มันก็คงยังเป็นความรู้สึกนั้นที่ทำให้พวกเรายังทำกันต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ถึงแม้บางครั้งจะขาดทุนมาก บางครั้งจะปวดหัว

แล้วจากนี้ถ้าอยากดูวงอะไร เรารีเควสต์กับ HAVE YOU HEARD? ได้มั้ย
ได้เลย คือตอนนี้เราก็มีการให้คนสมัครรับ newsletter ที่ในนั้นจะมีให้กรอกว่าคุณอยากดูวงอะไรบ้าง แล้วเราก็เก็บเป็นข้อมูลไว้ จริงๆ ก็อยากรู้เหมือนกันเพราะบางทีเราก็อยากเอาบางวงมา แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีคนดูกี่คน เพราะฉะนั้นแสดงตัวได้ (หัวเราะ)

Facebook l HAVE YOU HEARD?

ภาพ ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

AUTHOR