ปั้นนักออกแบบรุ่นใหม่ไทยไปเวทีโลก กับเทรนด์การออกแบบโลกที่ต้องจับตา

a day มีโอกาสได้ไปร่วมงานเปิดตัวโครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ปี 2566 หรือ Designers’ Room / Talent Thai & Creative Studio Promotion 2023 โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เวทีสำคัญที่ช่วยปั้นนักออกแบบไทยให้ก้าวไกลในเวทีโลกมาอย่างยาวนาน โดยปีนี้อยู่ภายใต้แนวคิด ‘KEEP AN EYE ON: THE CREATIVE POWER OF THE NEW ERA จับตาพลังสร้างสรรค์จากนักออกแบบรุ่นใหม่และเทรนด์การออกแบบโลก’ จึงเก็บประเด็นที่น่าสนใจจากการเสวนาภายในงานมาเล่าให้ฟังกัน 

ความเป็นมาของโครงการ

กลุ่มผู้บริหารของโครงการ

โครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2545 ตลอดระยะเวลา 21 ปี ได้สร้างกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสู่เวทีในระดับประเทศและระดับสากลเป็นจำนวนมาก มีนักออกแบบที่ได้รับการพัฒนาในโครงการแล้วกว่า 744 ราย แบ่งเป็น กลุ่ม Designers’ Room นักออกแบบแฟชั่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับ จำนวน 215 แบรนด์ กลุ่ม Talent Thai นักออกแบบสินค้าไลฟ์สไตล์ เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ และของตกแต่งบ้าน จำนวน 520 แบรนด์ กลุ่ม Creative Studio ธุรกิจบริการด้านการออกแบบในสาขาต่างๆ ตั้งแต่ Ci & Branding, Character Design, Graphic Design, Illustration, Industrial Design จำนวน 9 ราย

โครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ดำเนินงานโดยสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ช่วยสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินธุรกิจ ให้รับโอกาสพัฒนาศักยภาพพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy) รวมทั้งช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภูมิภาคเอเชีย 

ในปีนี้เป็นอีกครั้งที่มีการเปิดรับสมัครนักออกแบบรุ่นใหม่จากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ โดยกรมได้เชิญคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในวงการออกแบบและการตลาดมาร่วมคัดเลือกเพื่อเฟ้นหานักออกแบบที่มีความพร้อมให้ได้รับโอกาสพัฒนาศักยภาพเติบโตไปสู่ตลาดสากล 

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้รูปแบบพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก ในฐานะนักออกแบบต้องจับตามองแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกยุคใหม่นี้ทั้ง Digital Transformation และ Sustainable Development Goals รวมถึง Digital Market ที่มีการแข่งขันสูง ทำให้ต้องเกิดการพัฒนาที่ตอบสนองถึงความต้องการของคนทั่วโลก เพื่อสร้าง The Creative Power of the New Era และที่สำคัญต้องไม่ลิดรอนความต้องการของคนรุ่นหลังอีกด้วย สิ่งเหล่านี้จึงถือว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

Keep an eye on

เก็บตกประเด็นจากเวทีเสวนา ความสำคัญของเครือข่ายนักออกแบบและประสบการณ์ในการค้าระหว่างประเทศ’ โดยพาร์ตเนอร์ของโครงการ ซึ่งเป็นนักออกแบบที่เคยเข้าร่วมโครงการในอดีต 

อนุพล อยู่ยืน จากแบรนด์ Mobella

อนุพล อยู่ยืน Founder และ Creative Director จากแบรนด์ Mobella 

“Mobella คือแบรนด์เฟอร์นิเจอร์หุ้มบุ เช่น โซฟาหรือเตียง ที่เอาความเป็นไทยเข้ามาสอดแทรก ปัจจุบันแบรนด์มีอายุ 15 ปี อยู่ในกลุ่ม Talent Thai ปี 2008 

“หลังจากเรียนจบ ตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ ผมก็ได้เข้ามาร่วมกับ Talent Thai หลังออกจาก Talent Thai ก็ได้มีโอกาสไปทำแบรนด์ เราเป็นโซฟาไทยที่ไปโตเมืองนอก เราเริ่มทำแบรนด์จากการส่งออกก่อน ก่อนที่จะมาทำแบรนด์ในประเทศ ซึ่งผมเป็นดีไซเนอร์ พอเรามาอยู่ในโครงการของ Talent Thai ตอนนั้น เราก็ได้องค์ความรู้ต่างๆ เอาเข้ามาช่วย เพราะฉะนั้น พอหลังจากที่เราส่งออกมาสักพักหนึ่งแล้ว แล้วก็เริ่มปรับกลยุทธ์ต่างๆ เอามาใช้ทำแบรนด์ในประเทศ

“ผมว่าโครงการนี้เป็นเหมือนโครงการที่ให้โอกาส สิ่งที่นักออกแบบของไทยหรือว่าตัวผมเองในช่วงเริ่มต้นทำงานต้องการก็คือเวที ซึ่งเวทีมันอาจจะไม่ได้หมายความว่าเราต้องการโชว์อย่างเดียว แต่เราต้องการเจอลูกค้า หรือว่าได้มีโอกาสให้ลูกค้าเห็นสินค้าของเรา ได้รับคำวิจารณ์แล้วนำกลับมาปรับปรุงพัฒนา ซึ่งตอนที่เราเป็นนักออกแบบตอนแรกๆ ถ้าเราไม่ได้เข้าร่วมโครงการ มันค่อนข้างจะยากมาก ที่นักออกซึ่งเพิ่งเริ่มต้นทำแบรนด์แรกๆ จะได้ไปงานแสดงสินค้า เช่น ที่อิตาลีหรือญี่ปุ่น นำสินค้าไปโชว์

“นั่นก็เป็นจุดเริ่มของแบรนด์ Mobella ก่อนที่จะเป็นแบรนด์อย่างทุกวันนี้ เราก็มีเฟอร์นิเจอร์แค่ 2-3 ชิ้น ที่หิ้วไปโชว์ต่างประเทศ ให้เขาเห็นว่ามีแบรนด์โซฟาของไทยด้วยนะที่หน้าตาเป็นแบบนี้ แตกต่างจากสินค้าเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ในโลก ก็ถือว่าได้รับโอกาสที่ดี 

“ทั้งนี้ ก่อนที่จะไปต่างประเทศ เราจะได้รับการอบรม ได้รับคำแนะนำต่างๆ จากกรมการค้าระหว่างประเทศอยู่แล้ว ว่าต้องเตรียมตัวยังไง หรือว่าถ้าเราจะไปโครงการในต่างประเทศ เราต้องทำสินค้าให้เหมาะกับตลาดยังไง เหมือนเป็นไกด์ ซึ่ง Mobella เราโตในญี่ปุ่นมาประมาณ 20 กว่าปีแล้ว”

ศรัณญ อยู่คงดี จากแบรนด์ SARRAN

ศรัณญ อยู่คงดี จากแบรนด์ SARRAN (จิวเวลรีดีไซน์)

“ถ้าถามว่าสิ่งที่ได้รับจากโครงการนี้คืออะไร สิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็คือว่า มันเป็นพื้นที่ที่เราได้ทดลองตลอดเวลา ผมยอมรับเลยว่าการที่ได้เข้าร่วม Talent Thai ตั้งแต่วันแรกจนถึงตลอดระยะเวลา 7 ปี ผมทำทุกชิ้น ไม่เคยขายได้เลยครับ ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติมาก เพราะว่าเราได้มีโอกาสทดลองสิ่งที่เราเชื่อ รวมทั้งความเป็นปัจเจกของเรา ทำให้มันถูกพิสูจน์แล้วว่า มันไม่อาจจะเป็นจริงได้ถ้าเกิดเราไม่ได้มองถึงภาพรวมหรือสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เพราะเวลาเราไปงานต่างประเทศ ทุกครั้งเราจะมองว่าเราสื่อสารเรื่องวัฒนธรรม แต่บางครั้งเราอาจจะต้องตั้งคำถามว่า การสื่อสารของเรานั้นมันถูกที่ถูกทางหรือเปล่า ปัจจุบันเราพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ แต่ซอฟต์พาวเวอร์นั้นต้องอยู่ในจุดที่เหมาะสมหรือเขาต้องการเราด้วยเช่นเดียวกัน 

“ดังนั้นพอเราเริ่มทำงานได้สักระยะหนึ่ง หลังจากที่เราอยู่ Talent Thai ผมเริ่มรู้แล้ว ผมเป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์มาก่อน ซึ่งเก้าอี้เราสวย ประกวดได้รางวัลทุกเวที แต่ไม่เคยนั่งสบาย แล้วก็ขายได้ยากมาก ในขณะเดียวกันตอนนั้นผมตั้งคำถามว่า ถ้าเราจะอยู่อย่างนี้ต่อไปโดยการที่เราจะได้โทรฟี ได้โล่มา แต่ไม่มีเงินเลย มันไม่สามารถทำธุรกิจได้จริง สิ่งที่น่าสนใจคือผู้ใหญ่ทุกคน ที่ตอนนั้นจัดการดูแลพวกเราใน Talent Thai เขาก็ตั้งคำถามกับเราตลอดเวลา เพราะฉะนั้น มันไม่ได้หมายความว่าเราผิดพลาดตลอด แต่เราเก็บความผิดพลาดทั้งหมดและคำจากคนที่เขามีประสบการณ์มากกว่าเรา ซึ่งมันผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่า ถ้าคุณจะไปแนวนี้คุณต้องทำอะไรบ้าง 

“สิ่งที่ผมชอบในการเปิดใจคือผู้ใหญ่ทุกคนพร้อมจะให้คำปรึกษา ดังนั้นความผิดพลาดมันคือประสบการณ์ พอครบ 7 ปีปุ๊ปผมรู้แล้วว่า ผมไม่สามารถอยู่ได้ด้วยวิธีนี้ ผมก็เลยต้องลองทำธุรกิจของตัวเอง เพื่อลองดูว่าถ้ามันจะเจ๊งมันต้องเจ๊งด้วยมือของเรา และด้วยแนวความคิดของเรา เพราะฉะนั้นตอนอยู่ Talent Thai จนสุดท้ายเรารู้แล้วว่าเราไม่เหมาะกับงานโปรดักดีไซน์ การไปรับออเดอร์ทีละพันชิ้นเป็นไปไม่ได้สำหรับผม แต่จุดอ่อนของเราคือจุดแข็ง งั้นเราทำทีละชิ้น เพราะฉะนั้นการปรับของผมคือมายด์เซตทั้งหมด ทั้งหมดนั้นมันเกิดขึ้นในระยะเวลาหลังจากที่เราได้ประสบการณ์จาก Talent Thai แล้วออกมาทำธุรกิจของตัวเอง หลังจากนั้นผมกล้าพูดได้เลยว่า ผมได้ประสบการณ์ทุกอย่างที่มาทำเป็นธุรกิจได้จริงๆ จากโครงการนี้ 

“สังคมเป็นสิ่งสำคัญมากที่ทำให้เราไม่ยืนอยู่ตัวคนเดียวและทำให้เราสามารถที่จะเก็บเกี่ยวทั้งประสบการณ์และคอนเนกชัน เพราะฉะนั้น พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่ทำให้คุณได้มีโอกาสเปิดตัวได้เร็วกว่าที่คุณจะยืนอยู่ตัวคนเดียว”  

จากซ้าย: สมัชชา วิราพร จากบ้านและสวน, ธีรชัย ศุภเมธีกูล จากแบรนด์ Qualy, จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ จากแบรนด์ SC Grand

เก็บตกประเด็นจากเวทีเสวนา ‘แนวโน้มที่ต้องจับตามองสำหรับธุรกิจสร้างสรรค์มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน’ โดยพาร์ตเนอร์ของโครงการ

จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ จากแบรนด์ SC Grand (แบรนด์ผ้ารีไซเคิล Sustainable Textile)

“ตอนนี้เทรนด์ Circular Economy กำลังเป็นเทรนด์ของโลก เขาบอกว่า การที่จะเป็นเทรนด์โลกได้ ประกอบไปด้วยปัจจัย 3 อย่าง หนึ่ง คือเป็นนโยบายที่ทั่วโลกพูดถึง, สอง รัฐบาลในประเทศนั้นๆ เอาไหม และ สาม ถ้าบริษัทเอกชนใหญ่ๆ เล่นเรื่องนี้ด้วย เราก็จะเห็นว่ามันเป็นเทรนด์ของโลก ตอนนี้เราก็น่าจะเห็นว่า Sustainable หรือ Circular มันเป็นสิ่งที่อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเราอาจจะนำบางส่วนมาปรับใช้กับการออกแบบได้

“ยกตัวอย่างที่เกี่ยวกับธุรกิจของเรา ตอนนี้เราเริ่มมีลูกค้าโรงแรม เวลาเราไปพักโรงแรม เขาจะมีการรีโนเวตทุก 5 ปี เขาก็จะมีขยะ อย่างเช่น ผ้าปูเตียงหรือว่าผ้าเช็ดตัว ซึ่งเขาจะมีอายุในการเปลี่ยน เมื่อก่อนของพวกนี้มันถูกทิ้งไว้เฉยๆ แต่ตอนนี้เขาเริ่มมีการทำงานกับทาง SC Grand ในการส่งของพวกนั้นมารีไซเคิลเป็น New Textile ไม่ว่าจะเป็นผ้าใหม่หรือว่าเสื้อผ้าใหม่ เป็นต้น”

ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ จากแบรนด์ Qualy (สินค้าไลฟ์สไตล์ที่เน้นความคิดสร้างสรรค์และความยั่งยืน)

“หลายคนอาจจะมองเรื่องการออกแบบเป็นเรื่องที่ว่ามาจากแพสชัน แต่เทรนด์ด้านความยั่งยืน ถึงเราจะชอบหรือไม่ชอบมันมาแน่นอน และก็มันเป็นเรื่องของความรับผิดชอบที่พวกเราจะต้องใส่เอาไว้ในปัจจัยของการสร้างสรรค์ คือตอนนี้บริษัทส่วนใหญ่ทั่วโลก ไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจแต่เป็นทุกภาคส่วนมาเวย์นี้หมด เพราะว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตอนนี้มันเริ่มทวีคูณความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แล้วจะเป็นตัวเร่งให้เกิดความรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง ต้องเกิดความรับผิดชอบ โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ ถูกถามหาความรับผิดชอบแน่ๆ เรียกว่าตลอดสายของซัพพลายเชน จะต้อง Sustain หมดเลย และเราทำงาน เราก็ต้องมีลูกค้า ถ้าสมมุติว่าเราทำงานให้บริษัทใหญ่ๆ หรือทำงานที่มีลูกค้าเป็นภาคธุรกิจ แน่นอนภาคธุรกิจใหญ่เขาถูกบังคับให้ต้องทำเรื่องของความยั่งยืน เราอยู่ในสายงานที่ตอบโจทย์เขา เราก็ต้องยั่งยืน 

“ในภาคของลูกค้าที่เป็นคอนซูเมอร์ ตอนนี้การรับรู้มันอยู่ในวงกว้างว่าทุกคนพูดเรื่องนี้ แล้วแบรนด์ที่พวกเราทำก็จะถูกตั้งคำถามเหมือนกันว่าเราได้รับผิดชอบกับสิ่งที่เราทำแค่ไหน มันก็จะเป็นมาตรฐานในสังคมในอนาคต ซึ่งวันนี้อาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะเริ่มต้น ที่เราจะสร้างภาวะผู้นำในมุมของความยั่งยืน ยังสามารถทำได้เพราะว่าเป็นช่วงที่ทุกคนกำลังมึนๆ กันอยู่ แต่ในอนาคตอันไม่ไกล มันจะเริ่มกลายเป็นมาตรฐานที่ทุกคนทำ แล้วก็จะไม่ใช่ข้อได้เปรียบ แต่กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ถ้าไม่มีจะลำบาก 

“อีกเทรนด์หนึ่งที่น่าสนใจ คือเรื่องของการ Collaboration คือบางทีธุรกิจเดิมๆ คนก็จะคุ้นเคยและไม่ตื่นเต้นอีกต่อไป การนำจุดแข็งของแบรนด์ที่แตกต่างกัน หรือว่าจากสายงานสายอาชีพที่หลุดจากกันไปมากๆ ยิ่งต่างมากยิ่งสร้างความน่าสนใจ และจะสร้างโอกาสใหม่ๆ สามารถที่จะเอาลูกค้าของทั้งสองที่สามที่แล้วแต่ ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจด้วย แล้วก็เกิดความว้าว เกิดอินโนเวชัน เกิดความสร้างสรรค์ที่ทำให้ก้าวไปข้างหน้า”

โครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ปี 2566 

สำหรับ ‘โครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก’ ในปี 2566 นี้ แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 

ส่วนแรก สำหรับนักออกแบบที่เคยเข้าร่วมโครงการในอดีต จะได้รับโอกาสในการเข้าร่วมการเจรจาการค้า การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์แบรนด์ ในงานแสดงสินค้าและเวทีการออกแบบในต่างประเทศ  เช่น 

  • งานแสดงสินค้า Bangkok Gems and Jewelry Fair ระหว่างวันที่ 6-10 กันยายน 2566 
  • งานแสดงสินค้า MAISON & OBJET ณ กรุงปารีส ระหว่างวันที่ 7-11 กันยายน 2566 และเจรจาการค้าผ่านแพลตฟอร์ม m.o.m. 
  • งานแสดงสินค้า COTERIE New York ระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 2566
  • งานแสดงสินค้า STYLE Bangkok 2024 ระหว่างวันที่ 20-24 มีนาคม 2567 
  • การเข้าร่วมงาน Milan Design Week ระหว่างวันที่ 13-18 เมษายน 2567 
  • และงาน Creative Expo Taiwan ช่วงเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งจะเป็นเวทีสร้างชื่อเสียงและเพิ่มช่องทางทางการค้าสู่ตลาดสากลได้ 
นักออกแบบรุ่นใหม่กลุ่มสินค้ากลุ่ม Alumni Team

ส่วนที่ 2 สำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่ที่จะเปิดรับสมัครในปี 2566 ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ดำเนินการภายใต้แนวคิด “Keep an eye on: The Creative Power Of The New Era” นักออกแบบรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับเศรษฐกิจยุคใหม่และแนวโน้มเมกะเทรนด์โลก โดยแบ่งเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่ 

  1. หลักสูตรแรก ความรู้พื้นฐานการเป็นนักออกแบบระดับสากล อาทิ การสร้างแบรนด์ การตลาดดิจิทัล การค้าออนไลน์ และการพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับแนวโน้มเมกะเทรนด์โลก อาทิ กระบวนการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) และ การพัฒนาธุรกิจมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและมุ่งสู่ความยั่งยืน (SDGs) โดยวิทยากรจากหน่วยงานชั้นนำ อาทิ Amazon.com และ CIRCO HUB Thailand
  1. หลักสูตรที่ 2 ค่ายบ่มเพาะนักออกแบบไทยสู่สากล โดยแลกเปลี่ยนประสบการณ์จาก Mentor รุ่นพี่และรับโจทย์การพัฒนาสินค้าและธุรกิจ จากเครือข่ายพันธมิตรของโครงการ ได้แก่ เครือบ้านและสวน/SC Grand และองค์กร LIMITED EDUCATION และจากแบรนด์รุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ Qualy/ Mobella/SARRAN และ Q Design and Play พร้อม Alumni Team จะมาเป็นพี่เลี้ยงตลอดทั้งโครงการและกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ต่อยอดความคิดในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือกันต่อ

สำหรับนักออกแบบที่สนใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ปี 2566 สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้ – 16 มิถุนายน ติดตามรายละเอียดการรับสมัครเพิ่มเติมได้ที่เฟสบุ๊ก Talent Thai & Designers’ Room และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169 

AUTHOR