Day/DM Cafe คาเฟ่เพศศึกษา พื้นที่ให้คำปรึกษาเรื่องความหลากหลาย และอยากให้ทุกคนกล้าพูดเรื่องเพศอย่างเปิดเผย

“เรื่องเพศ ไม่ได้มีแค่เรื่องเซ็กส์”

“เรื่องเซ็กส์ ไม่ได้มีแค่เรื่องเ_็ด”

“มันเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ทำไมดูเป็นสิ่งต้องห้าม”

เรื่องเพศ ไม่ได้จำกัดความแค่เรื่องราวใต้สะดือ แต่มันมีความหมายสุดกว้างใหญ่ไปถึงความสัมพันธ์ของคนทุกระดับ ทั้งความสัมพันธ์ของพ่อแม่ คนรักหรือคนรอบตัว ความหลากหลายทางเพศ สิทธิในร่างกาย สุขภาพ และจิตใจของเรา ฯลฯ ซึ่งแต่ก่อนจนถึงปัจจุบัน หากใครชวนคุยเรื่องเพศ หลายคนอาจจะมองเป็นเรื่องน่าเขินอายที่จะเล่าในที่แจ้ง ทั้งที่จริงๆ มันเป็นเรื่องธรรมชาติ และไม่ใช่สิ่งที่ต้องปกปิดเป็นความลับให้ดูเหมือนเป็นเรื่องความผิดร้ายแรง

เดิมทีหากมีเรื่องทุกข์ใจเกี่ยวกับเพศและต้องการคำปรึกษา เช่น รู้สึกไม่ชอบเรือนร่างตัวเอง คนในครอบครัวไม่เข้าใจเพศสภาพของเรา หรือพ่อแม่ควรปรับตัวอย่างไรกับลูกตัวเอง หากเขาคัมเอาต์บอกอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง ภาพในหัวหลายคนอาจจะต้องเดินทางไปหาคุณหมอในโรงพยาบาลเป็นเรื่องจริงจัง หรือนัดคุยกับคนใกล้ตัวในที่ลับมืดให้สมกับเป็นเรื่องต้องห้ามเข้าไปอีก

ทำไมพูดเรื่องเพศ ต้องเป็นเรื่องลับๆ มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่ทุกคนควรเข้าถึงได้หรือเปล่า?

คำถามตั้งต้นการเปิดร้าน ‘Day/DM Cafe’ ของ ‘เอช-ประติมา รักษาชนม์’ และ ‘แต๋ม-วิสุทธิ์รัตน์ รุ่งนพคุณศรี’ คู่รักนักเพศวิทยา ที่ตั้งใจสร้างคาเฟ่แห่งนี้เป็นพื้นที่โอบรับความสบายใจสำหรับทุกคน ไม่จำกัดว่าจะเป็นเพศไหน สังเกตจากชื่อร้านหากออกเสียงอีกแบบหนึ่งจะเป็นคำว่า ‘They/Them’ แปลว่า ‘พวกเขา’ คำที่ไม่ได้กำหนดเพศสภาพระบุตายตัว พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือปรึกษาเรื่องเพศได้ทุกซอกทุกมุม เพราะอยากให้เรื่องเหล่านี้เข้าถึงง่ายและกล้าพูดได้อย่างเปิดเผย

สิ่งที่เราชื่นชอบคาเฟ่นี้ คือการตกแต่งร้านด้วยบรรยากาศอบอุ่น มีเคาน์เตอร์ชงกาแฟ โซนอ่านหนังสือ และโซนภาพวาดศิลปะเล็กๆ ที่ทุกรายละเอียดพูดถึงเรื่องเพศเข้าถึงง่าย

“คาเฟ่น่ารักจังเลยค่ะ” ฉันพูดขณะเดินดูรอบๆ

เอชและแต๋มยิ้มๆ แล้วบอกว่า พวกเขาอยากตกแต่งให้เหมือนอยู่บ้าน “ก่อนหน้านี้เราเคยไปอีเวนต์ที่พูดถึงความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจัดในผับ บาร์ แล้วเปิดเพลงเสียงดังๆ เราสองคนรู้สึกไม่ค่อยสบายใจกับสถานที่แบบนั้นเท่าไหร่”

“เรารู้สึกว่า ทุกวันนี้เรื่องเพศมันคุยอยู่ 2 ที่ คือสถานที่ที่มีความเซ็กซี่ เช่น ผับ บาร์ตอนกลางคืน หรือไม่ก็ในโรงพยาบาล มันไม่มีจุดกึ่งกลางระหว่างนั้นเลย เราก็เลยคิดว่า มันควรมีพื้นที่ที่คุยเรื่องเพศตอนกลางวันได้นะ แล้วก็ให้บรรยากาศเฟรนด์ลี่หน่อย เพราะรู้สึกว่าตอนที่เราไปเรียนแล้วคุยกับเพื่อนเรื่องเพศในโรงอาหารหรือในห้องเรียน มันก็เป็นบรรยากาศที่โอเคเหมือนกัน และรู้สึกสบายใจมากกว่าการไปนั่งคุยที่เสียง ดังๆ มืดๆ เสียอีก”

แรงบันดาลใจในการเปิดร้าน Day/DM Cafe ต้องย้อนความไปตอนที่พวกเขามีโอกาสไปสอนความรู้เรื่องเซ็กส์ทอยในคอร์ส ‘Clinical Sexologist’ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้กับเหล่าคุณหมอ และฉุกคิดขึ้นมาว่า มันคงจะดีมาก ถ้าเนื้อหาเหล่านั้นสามารถเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้ศึกษาและเรียนรู้ด้วย จึงเป็นที่มาที่ทำให้เอชและแต๋มลงมือจริงจังเปิดคาเฟ่เพศศึกษาแห่งนี้

“เราอยากให้คาเฟ่โอบรับทุกเพศ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนด้วย” เอชพูด เมื่อถามถึงเป้าหมายการสร้างร้านนี้ เอชและแต๋มเป็น LGBTQ+ และรู้สึกว่าทุกวันนี้ไม่ค่อยมีพื้นที่ที่รองรับความหลากหลายทางเพศมากมายนัก เนื่องด้วยร้านค้าส่วนใหญ่มักจะจำกัดไปเลยว่า ร้านผู้หญิงหรือร้านผู้ชายมากกว่า

“คาเฟ่นี้จึงอยากเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนรวมไปถึงชาว LGBTQ+ เอง ก็สามารถแสดงความเป็นตัวเองได้อย่างอิสระ เราไม่ตัดสินหรือว่าตีตราคุณอย่างแน่นอน รวมถึงให้คำปรึกษาเรื่องเพศศึกษา ตั้งแต่เรื่องความสัมพันธ์ การปรับตัวอยู่ร่วมกันทั้งคนรักและคนรอบตัว เรื่องเซ็กส์ การช่วยตัวเอง ไปจนถึงเรื่องสุขภาพร่างกายก็คุยกันได้หมด มันไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย”

“อย่างถ้าคุณแบกความสับสนมาหรือมีความทุกข์ใจ อยากจะสื่อสารกับใครสักคนที่อาจจะให้คำตอบคุณได้ หรือว่าอาจจะให้อะไรบางอย่างที่ทำให้คุณกลับไปคิดได้ว่า เออจริงๆ แล้วเราอาจจะมีความคิดแบบนี้อยู่ หรือว่าคุณติดกรอบอะไรบางอย่าง ที่เราสามารถช่วยผลักคุณออกมาจากตรงนั้น หรือทำให้คุณมั่นใจในตัวเองมากยิ่งขึ้น เราก็ยินดีจะช่วยเหลือกัน”

เอชและแต๋มชวนคุยว่า คนที่มาปรึกษาในคาเฟ่นี้มีหลากหลายกลุ่มและวัยแตกต่างกันมาก ตั้งแต่รุ่นเด็กไปจนถึงผู้ใหญ่วัยกลางคน มันแสดงให้เห็นว่าเรื่องเพศศึกษาเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน และควรให้ความรู้อย่างเปิดเผยมากกว่าแต่ก่อน

แล้วส่วนใหญ่พวกเขาปรึกษาปัญหาอะไรกัน?

แต๋มตอบว่า “ส่วนใหญ่แรนดอมมาก สิ่งที่น่าสนใจคือ ‘การสื่อสาร’ เรื่องเพศศึกษากับคนใกล้ตัว ยกตัวอย่าง มีคุณแม่คนหนึ่งเดินเข้ามาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับลูกชายของเขา เพราะลูกเขาคัมเอาต์ว่าตัวเองเป็นเกย์นะ แล้วคนเป็นแม่เขาไม่รู้ว่าจะทำตัวอย่างไรกับลูกชาย และมองตัวเองยังมีชุดความคิดเก่าอยู่ว่า เกย์มีเซ็กส์กันจะเป็นโรคร้ายแรง เช่น เอดส์หรือมะเร็งไหม คือเขาก็เป็นห่วงลูกชายมาก ถึงแม้ว่าเราจะบอกว่า มันไม่จริงนะ มันไม่ได้ร้ายแรงขนาดนั้น แต่ความกังวลนี้มันยังคงติดอยู่ในจิตใต้สำนึกของเขาอยู่ดี แบบเป็นห่วงจังเลย แต่แค่ไม่รู้จะพูดอย่างไรกับลูก”

“ถ้าเราให้คำปรึกษาก็จะบอกว่า ลูกชายคุณแม่เป็นลูกคนเดิมไหม เขาเปลี่ยนไปอย่างไรไหม หลังจากที่เขาคัมเอาต์แล้ว ถ้าเขายังทำตัวเหมือนเดิม คุณแม่แสดงความรักรูปแบบไหนในก่อนหน้านี้ คุณแม่ก็สามารถแสดงความรักในรูปแบบเดิมได้เลย”

“อีกอย่างหนึ่งถ้าคุณแม่สงสัยอะไร ก็อยากให้ถามตรงๆ อย่าไปเอาคำตัดสินหรือคำกล่าวอ้างจากสิ่งอื่นที่ได้รับมาถาม ว่าลูกเป็นเอดส์เปล่า ถ้าเป็นห่วงก็บอกไปตรงๆ ว่าเป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องไหน แล้วเดี๋ยวลูกก็จะเล่าให้ฟังเอง เพราะว่าสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการรับฟัง เขามาคัมเอาต์กับคุณแม่แล้ว ก็แปลว่าเขาไว้ใจให้คุณแม่รับรู้เรื่องนี้แล้ว เพราะฉะนั้นคุณแม่ถามได้นะ ถ้าเป็นห่วงก็บอกว่าเป็นห่วง ไม่ต้องกังวลไป”

การสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการปรับตัวให้เข้าหากันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สร้างความห่างไกลได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน หากใช้คำพูดที่บั่นทอนจิตใจไม่รู้ตัว อย่างประโยคที่มักได้ยินผ่านหูว่า ‘ลูกจะเป็นอะไรก็ได้ ขอแค่ให้ลูกเป็นคนดีก็พอ’

แต๋มอธิบายประเด็นนี้ว่า “ถ้าพูดประโยคนั้นคนฟังก็จะรู้สึกว่า ทำไมต้องขอให้เป็นคนดี เพราะการเป็นคนดีมักจะถูกคาดหวังว่า เราต้องก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งถึงจะเป็นคนดี ต้องเก่งมากกว่านี้อีกเหรอ ซึ่งเราไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเดิมก่อนที่เราจะคัมเอาต์ได้ หากเราอยากปรับคำพูดที่มันอ่อนโยนต่อใจมากกว่านี้นิดหนึ่ง อาจจะพูดว่า ไม่เป็นไร อย่างไรหนูก็เป็นลูกของพ่อแม่คนเดิมอยู่ดีนะ”

“หากมองอีกมุมหนึ่ง เราก็เข้าใจในมุมมองพ่อแม่พูดนะว่า ไม่เป็นไรหรอก ขอแค่เป็นคนดีก็พอ อาจจะไม่ได้หมายความว่า เขาต้องการให้เราเป็นคนดีจนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เขาก็โอเคที่ลูกเป็นคนดีคนเดิมของพ่อแม่นี่แหละ แต่ว่าคำที่เขาเลือกใช้มันไม่ใช่คนดีคนเดิมไง มันเป็นแค่คนดีอย่างเดียว มันก็เลยส่งผลกระทบให้คนฟังรู้สึกอีกแบบหนึ่ง ซึ่งบางทีคนพูดก็อาจจะไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้นก็ได้”

หลังแต๋มพูดจบ เอชแชร์เรื่องราวของตนเองที่เคยคัมเอาต์มาก่อน “มีประโยคหนึ่งที่แม่พูดกับเราว่า จริงๆ แม่ยังไงก็ได้ ขอแค่ให้เรามีความสุข คือเขาไม่ได้โยนความคาดหวังมาให้เราหรอก เขาก็มองว่า สิ่งที่ลูกมีความสุข เขาก็มีความสุข คำพูดนั้นมันทำให้เรารู้สึกสบายใจมาก”

“ความเป็นจริงแล้ว เรื่องเพศเป็นไม่จำเป็นต้องแจ้งใคร เพราะมันเป็นเรื่องของเรา แต่การที่เขาแจ้งให้ทราบ นั่นเพราะเรายอมรับตัวเองว่าจะเป็นแบบนี้ เพื่อให้คนที่เกี่ยวข้องรับทราบว่าเราปลอดภัย สบายใจ และจะใช้ชีวิตแบนี้ รวมถึงเขาให้ความสำคัญกับคุณมากๆ ด้วยเช่นกันที่บอกตัวตนของเขาให้คุณรู้”

หลังสัมภาษณ์จบ พวกเราแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องเพศนานหลายชั่วโมง คุยมากกว่าตอนเรียนวิชาสุขศึกษาในโรงเรียนเสียอีก ขอสารภาพว่าบรรยากาศในร้านชิลมาก จนทำให้เรื่องเพศกลายเป็นหัวข้อบทสนทนาทั่วไป เหมือนเมาท์มอยขิงข่าเรื่องราวชีวิตประจำวันอื่นๆ

เอชเล่าทิ้งท้าย เรื่องเพศเป็นเรื่องปกติมากๆ ที่ทุกคนสามารถเล่าได้อย่างเปิดเผย แต่คนมักจะไม่กล้าพูดออกมา หรือรู้สึกเขินอายที่จะเล่าความรู้สึกในใจให้ฟัง เหล่านี้อาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่เพราะการไม่ได้พูดสื่อสารให้เข้าใจกัน มันจึงกลายเป็นต้นตอสำคัญ ที่ทำให้เกิดปัญหาและความทุกข์ใจ ทั้งเรื่องสุขภาพจิตใจ ร่างกาย และความสัมพันธ์กับคนรอบข้างตามมา

“เราอยากให้คาเฟ่แห่งนี้ปลอดภัยสำหรับทุกคน และเป็นพื้นที่เรียนรู้เรื่องเพศ เพื่อให้คุณได้มีโอกาสส่งต่อความรู้ หรือสิ่งที่เราสื่อสารออกไปกับคนใกล้ตัวของคุณ ให้เขารู้ว่าเรื่องที่คุณเผชิญหน้าอยู่ มันไม่ได้โดดเดี่ยวนะ คุณยังมีเพื่อน และคุณก็ยังมีพื้นที่ที่พร้อมปลอบประโลมใจเมื่อเข้ามาที่นี่”

ร้าน Day/DM Cafe  

  • ตั้งอยู่บนถนนพลับพลาไชย
  • สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีวัดมังกร และเดินประมาณ 100 เมตร
  • วันพุธ-พฤหัสบดี เปิดเวลา 12.00-18.00 น.
  • วันศุกร์-อาทิตย์ เปิดเวลา 12.00-20.00 น.
  • ปิดทุกวันจันทร์-อังคาร

AUTHOR