สัญญาใจ ≠ สัญญาจ้าง | สิทธิแรงงานสร้างสรรค์ไม่ให้เสี่ยงถูกโกงกับสหภาพแรงงานสร้างสรรค์

เพลงที่คุณฟังแล้วมีความสุข นิยายที่คุณอ่านแล้วเผลออมยิ้ม ภาพยนตร์ที่คุณดูแล้วหัวเราะ หรือจะเป็นงานเขียนหนึ่งชิ้นที่ทำให้คุณได้รับแรงบันดาลใจบางอย่าง เหล่านี้เรียกว่าผลงานสร้างสรรค์ที่ใช้ความคิดสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาให้มีมูลค่า

ผลงานแต่ละชิ้นมาจากหลากหลายฝีมือของคนทำงานแต่ละแขนง ไม่ว่าจะเป็น คนออกแบบ คนตรวจความเรียบร้อย คนประสานงานกับฝ่ายต่างๆ ให้ทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น ช่างไฟในกองถ่ายที่ควบคุมแสงให้สวยงาม หรือจะเป็นแม่บ้านที่ช่วยทำความสะอาดสถานที่ให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา ทุกคนที่อยู่ในกระบวนการผลิตนับว่าเป็น ‘แรงงานสร้างสรรค์’ ทั้งหมด ทุกหน้าที่มีความสำคัญในแต่ละขั้นตอน เพราะแต่ละคนต่างใช้ความรู้และความถนัดของตนเอง ช่วยกันรังสรรค์ผลงานออกมาสู่สายตาทุกคน

ทุกวันนี้ธุรกิจเกี่ยวกับงานสร้างสรรค์เติบโตและมีช่องทางสร้างกำไรมากกว่าในอดีต ทว่าผลตอบแทนและคุณภาพชีวิตของแรงงานสร้างสรรค์กลับสวนทางเหมือนเป็นคนละเรื่อง ทั้งโดนโกงค่าจ้าง ทำงานเกินเวลาที่กำหนด หรือไม่มีแม้แต่สวัสดิการคุ้มครองความปลอดภัย

เมื่อคนทำงานทุกคนเปรียบเสมือนฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดผลงานสร้างสรรค์ หากวันหนึ่งฟันเฟืองเหล่านี้มีปัญหา ก็ควรได้รับการตรวจสอบแก้ไข เพื่อที่จะทำงานต่อไปได้ดียิ่งขึ้น แต่ความเป็นจริงแล้ว คนส่วนใหญ่มักจะมีค่านิยมในหัวว่า ‘มีปัญหาให้เก็บไว้ แค่เขาให้งานก็เป็นบุญคุณแล้ว’

นอกจากนี้ยังไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิหรือสามารถรักษาผลประโยชน์อะไรได้บ้าง จึงทำให้ทุกวันนี้แรงงานสร้างสรรค์ถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่บ่อยครั้ง เมื่อพูดถึงประเด็นแรงงานสร้างสรรค์ เราจึงเดินทางไปพุดคุยและขอคำแนะนำจาก ‘ไนล์–เกศนคร พจนวรพงษ์ และ ‘อิง–ไชยวัฒน์ วรรณโคตร ผู้ก่อตั้ง ‘สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (Creative Workers Union Thailand: CUT)’ กลุ่มที่ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานสร้างสรรค์ไทย ช่วยอธิบายความสำคัญของการรักษาสิทธิและผลประโยชน์ ที่สามารถนำไปเป็นภูมิคุ้มกันในการทำงานชีวิตจริง

หลายเสียงย่อมดีกว่าเสียงเดียว

ก่อนจะเข้าถึงประเด็นดังกล่าว เราขอชวนคุณมาทำความรู้จักสหภาพแรงงานสร้างสรรค์กันสักหน่อย จุดเริ่มต้นก็คงหนีไม่พ้นสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อทุกอุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจงานสร้างสรรค์เองก็หยุดชะงัก เช่น นักดนตรีกลางคืน อุตสาหกรรมภาพยนตร์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ พร้อมทั้งไม่ได้รับความช่วยเหลือและการเยียวยา

ในตอนนั้นไนล์เป็นนักเขียนการ์ตูน อิงเป็นนักวางแผนนโยบาย ทั้งคู่มีความสนใจเรื่องแรงงานสร้างสรรค์เป็นทุนเดิม เมื่อโควิดทำให้ปัญหาของแรงงานสร้างสรรค์เห็นภาพชัดมากยิ่งขึ้น ทั้งความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน การเงินและคุณภาพชีวิต พวกเขาจึงตัดสินใจจับมือก่อตั้ง ‘สหภาพแรงงานสร้างสรรค์’ ขึ้นมา เพื่อรวมกลุ่มแรงงานสร้างสรรค์ให้มีพลังในการต่อรอง เปลี่ยนแปลงและพัฒนาคุณภาพของแรงงานสร้างสรรค์ให้ยุติธรรม

“ถ้าทุกคนร่วมมือพูดเสียงเดียวกัน
มันก็ดังและมีน้ำหนักมากกว่าเสียงเดียว”

อิงเล่าให้ฟังว่า จากเหตุการณ์โควิดทำให้เห็นว่าแรงงานสร้างสรรค์ส่วนมากเป็นฟรีแลนซ์ และได้รับผลกระทบต่อการทำงานมากในขณะนั้น ทุกคนต่างบ่นในโซเชียลมิเดีย แต่สารทั้งหมดนั้นไม่เคยถึงมือผู้รับ เพราะฉะนั้นการรวมกลุ่มสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ก็จะทำให้เสียงของทุกคนดังขึ้น

“เรื่องนี้ในต่างประเทศก็เจอเหมือนกัน คือมีฟรีแลนซ์เต็มไปหมด แต่พวกเขามีการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน เพื่อเรียกร้องสิทธิและป้องกันผลประโยชน์ต่างๆ เช่น มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยและสวัสดิการคนทำงาน เช่น ถ่ายหนังต้องใช้นั่งร้านเหล็กสูงๆ อุปกรณ์พวกนี้ได้มาตรฐานหรือไม่ เสี่ยงอันตรายหรือเปล่า ถ้าไม่ตรงตามเกณฑ์ก็สามารถร้องเรียนได้ เราก็เลยคิดว่าในไทยมันน่าจะรวมตัวได้ เพราะถ้าพวกเราแยกกันอยู่อย่างโดดเดี่ยว เสียงของเราเวลาเรียกร้องอะไรก็จะไม่ดัง ไม่มีใครเห็นตัวตนคุณ การรวมตัวจึงเป็นทางออกเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรอง หรือเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้”

“ยกตัวอย่าง ช่วงโควิดมีประเด็นระบบจ่ายเงินของบริษัท PayPal Thailand ตอนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายว่า คนที่จะใช้บริการต้องมีสถานะเป็นนิติบุคคลเท่านั้น ซึ่งแรงงานสร้างสรรค์ส่วนใหญ่เป็นฟรีแลนซ์และได้รับผลกระทบอย่างมาก เราก็รวบรวมรายชื่อแล้วยื่นเข้าคณะกรรมาธิการการแรงงานที่สภาผู้แทนราษฎร เชิญคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาประชุมและส่งสารให้ PayPal Thailand พิจารณาการเปลี่ยนนโยบายที่เหมาะสมและหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว” ไนล์พูดเสริม

สัญญาใจ ไม่สู้สัญญาจ้าง

ปัญหาของแรงงานสร้างสรรค์ ส่วนใหญ่เรามักจะได้ยินเรื่องการถูกโกงหรือขอบเขตการทำงานไม่เหมือนอย่างที่ตกลงไว้ หากให้แนะนำการปกป้องสิทธิของตนเองที่สำคัญมากที่สุดคืออะไร ไนล์ตอบอย่างมั่นใจว่าคือ การทำสัญญาที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

“ทุกวันนี้การทำงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เกินครึ่ง
ไม่มีสัญญาจ้าง มีแต่สัญญาใจ”

“ทั้งๆ ที่สัญญาจ้างจะเป็นสิ่งหนึ่งที่เราสามารถต่อรองได้ว่า จริงๆ เราควรได้รับสิทธิที่ควรจะได้นะ แต่พอเราไม่มีสัญญาจ้าง อย่างแรกเลยเราจะเสี่ยงถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะมันไม่มีหลักฐานมายืนยันว่า เฮ้ย เราเคยตกลงแบบนี้จริงๆ ที่นี้ถ้าเราจะเอาเรื่องเข้าสู่กระบวนการศาลก็ไม่น่าเชื่อถือ

“ดังนั้นการทำสัญญาสำคัญมากสำหรับคนทำฟรีแลนซ์ ความเป็นจริง สัญญาจ้างมันคือการตกลงงานแบบไหนก็ได้ ถ้าพิมพ์ในแชตไลน์ก็เป็นสัญญาจ้างได้นะ แต่ที่เป็นธรรมคือผู้จ้างและลูกจ้างต้องมีส่วนร่วมในการแก้สัญญาจ้างได้เท่าเทียมกันและยอมรับข้อตกลงร่วมกัน พร้อมระบุรายละเอียดชัดเจน

“เช่น ผู้ทำสัญญาจ่ายเงินเท่าไหร่ จ่ายเงินแบบไหน รายละเอียดงานเป็นอย่างไร แล้วถ้าจ่ายเงินช้าจะโดนหักเท่าไหร่ มีค่าปรับนะ รวมถึงรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ผลงาน เอาไปใช้แบบไหนได้บ้าง หรือเราควบคุมได้ไหม ไม่งั้นเขาก็อาจจะเอาผลงานเราไปใช้ในทางแปลกๆ ที่เราไม่ได้กำหนดไว้”

ไม่เพียงเรื่องการทำสัญญาที่ต้องรอบคอบ การคำนึงถึงเรื่องสภาพแวดล้อมการทำงานก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กันในยุคนี้ อิงเล่าประสบการณ์ในการทำสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ว่า มีหลายเคสที่คนเป็นโรคซึมเศร้าหนักหลังออกจากที่ทำงาน เนื่องจากไลฟ์สไตล์การทำงานไม่เป็นอย่างที่คิดไว้

“เรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นสิ่งที่คนทำงานประจำหรือฟรีแลนซ์ควรกังวลมากๆ หลายคนโดนเจ้านายตะคอก โดนด่ารุนแรง โดนตามงานหลังเลิกงานหรือทำร้ายร่างกาย ซึ่งเวลาสัมภาษณ์ เราสามารถถามเรื่องสภาพแวดล้อมการทำงานก่อนให้ชัดเจน เช่น ปกติทำงานกันแบบไหน มีการประชุมกันบ้างไหม คุยสัปดาห์ละกี่ครั้ง หรือมีทำงานล่วงเวลาไหม ไม่ต้องเขินอายที่จะถามเลย

“ในสัญญาเราสามารถระบุได้ด้วยว่า ห้ามติดต่อหลังเลิกงานหรือในวันหยุด ห้ามใช้ความรุนแรงทางกายและวาจา เพราะมันเป็นการป้องกันการเกิด Toxic Relationship ในที่ทำงาน การตกลงคุยกันก่อนช่วยทำให้นายจ้างและลูกจ้างเข้าใจกันมากขึ้น เพราะสมมติก่อนทำงานคุณอยู่ในสภาวะซึมเศร้าในระยะเริ่มต้น พอคุณเจอความสัมพันธ์แย่ๆ คุณก็จะซึมเศร้าหนักไปอีก มันก็จะแย่กว่าเดิม”

อีกหนึ่งปัญหาที่พบเจอบ่อยๆ คือการสมัครงาน เวลาบริษัทอธิบายเนื้องานครอบจักรวาล แต่เงินเดือนเริ่มต้นน้อยนิด สิ่งเหล่านี้สามารถสะท้อนสภาพแวดล้อมการทำงานได้เช่นเดียวกัน ว่าต้องการเน้นใช้แรงงานหนักๆ หรืออยากได้งานที่มีประสิทธิภาพ

อิงกับไนล์แนะนำว่า “ถ้าเราอยากประเมินสภาพแวดล้อมการทำงานคร่าวๆ เราสามารถดูคำอธิบายเนื้องานที่ต้องทำ มันสะท้อนคุณภาพขององค์กรได้นะ หลักๆ มี 2 ประเภทคือ เน้นทำงานให้มีประสิทธิภาพไปเลย บริษัทก็จะอธิบายเนื้องานที่เหมาะสม กับเน้นลดต้นทุน ต้องการใช้แรงงานหนักๆ เราก็จะเห็นรับสมัครงานหมื่นห้าแล้วทำทุกอย่างเหมือนแมงมุม

“ผมก็ไม่มีสิทธิไปบอกคุณว่าไม่ให้ทำงาน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมบอกได้และเป็นสิ่งที่คุณต้องรู้คือ ถ้าคุณเข้าไปบริษัทแบบนั้น ที่เขาตั้งใจตั้งแต่แรกแล้วว่าจะลดต้นทุน โดยการใช้งานคุณหนักเกินไป คุณก็จะเจองานหนักแบบนั้นแน่นอน และคุณไม่ได้ทำงานในสิ่งที่คุณอยากทำหรอก เช่น อยากมุ่งมั่นเป็นนักเขียน ถ้าเน้นทำงานเขียนและค้นหาข้อมูลตามหน้าที่มันจะดีมากๆ แต่ถ้าทำกราฟิก ตัดวิดีโอ ติดต่อลูกค้า ถ่ายรูปด้วย ประสิทธิภาพของคุณก็จะต่ำลงชัดเจน” อิงขยายเสริม

เมื่อพูดถึงความไม่เท่าเทียมของเนื้องานกับผลตอบแทนที่ได้รับ อิงและไนล์ชวนเราคิดต่อถึงที่มาของ ‘การกดราคา’ ในตลาดของแรงงานสร้างสรรค์ ที่มักจะมีเรตค่าจ้างต่ำมาก สาเหตุไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นแรงงานสร้างสรรค์ด้วยกันเอง

“ปัญหาราคางานสร้างสรรค์มีเรตต่ำเกินไป จริงๆ แล้วราคาไม่ได้ต่ำ แต่ที่มันน้อยเพราะเราแยกกันอยู่ ต้องย้อนไปที่ต้นกำเนิดระบบฟรีแลนซ์ ซึ่งจุดประสงค์ของมันคือช่วยลดต้นทุนของบริษัท และช่วยลดต้นทุนของผู้จ้างรายใหม่ด้วย

“ยิ่งพวกคุณแยกกันอยู่มากเท่าไหร่
คนจ้างก็ยิ่งกดราคาได้มากเท่านั้น”

“เช่น ผมขอจ้างคนนี้เขียนงานราคา 1,500 แต่มีน้องคนหนึ่งคิดแค่ 500 พอ แล้วบอกด้วยว่า เขียนแบบเดียวกันได้เลย นี่แหละมันคือการตัดราคา แรงงานฟาดฟันกันเองและผลประโยชน์ตกเป็นของคนจ้าง ซึ่งเราโทษใครไม่ได้ด้วยนะ ทุกคนต่างก็ต้องเอาตัวรอด คนจ้างก็ต้องกดราคาเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด มันจึงเป็นเหตุผลที่เราควรรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ มีระบบกลางและทำข้อตกลงร่วมกันเป็นฉันทามติว่า ราคากลางควรเท่าไหร่กันแน่ จะได้มีเกณฑ์อ้างอิงต่อรองกับนายจ้างได้” อิงยกตัวอย่างสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานสร้างสรรค์

ความคุ้มครองที่ไม่เคยครอบคลุม

ระหว่างพูดคุยไนล์และอิงยังเล่าให้ฟังต่ออีกว่า อุปสรรคของแรงงานสร้างสรรค์ไทยที่สำคัญที่สุดคือความไม่มั่นคงในการทำอาชีพและการใช้ชีวิต เนื่องจากระบบฟรีแลนซ์ในไทยไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างทั่วถึง

“ปัญหาหนึ่งในระบบฟรีแลนซ์ที่เจอเหมือนกันคือ ส่วนใหญ่พวกเขาไม่ได้รับการคุ้มครองอะไรเลย สมมติว่าคุณเป็นลูกจ้างในบริษัท เวลานายจ้างทำไม่ดีกับคุณ เขาโกงคุณ คุณสามารถไปพึ่งพากฎหมายแรงงานได้ แม้ว่ากระบวนการอาจจะช้าหน่อยแต่มันยังมีที่ให้ไปนะ แต่ถ้าเป็นฟรีแลนซ์สิ่งที่คุณร้องเรียนได้คือ ศาลแพ่ง ฟ้องเอาเงินได้อย่างเดียว ไม่สามารถเรียกร้องเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย ถึงเราฟ้องศาลก็ต้องมีค่าทนาย มีเวลา มีต้นทุนไปต่อสู้ทางคดีในอำนาจทางกฎหมาย ซึ่งบริษัทใหญ่ๆ เขาก็มีทีมทนายเป็นสิบๆ คน มีเงิน เราก็จะเสียเปรียบ”

“อีกอย่างคือเรื่องประกันสังคมก็ไม่ได้ดูแลครอบคลุมคนทำงานฟรีแลนซ์มากนัก ถ้าเราลองมาเช็กประกันสังคมในไทย มันคือสวัสดิการประกันสังคมมาตรา 40 สิทธิประโยชน์น้อยมาก ไปหาหมอก็ไม่ได้ ประกันการว่างงานก็ไม่ได้ กองทุนการเปลี่ยนงานก็ไม่มี นี่คือระบบประกันสังคมในวัยทำงาน”

“เทียบกับสวัสดิการของต่างกลุ่มประเทศนอร์ดิก เช่น ฟินแลนด์ สวีเดน หรือเดนมาร์ก มันจะเข้าระบบประกันสังคมถ้วนหน้า คุณมีเงินออมในวัยเกษียณ เขาจะหักเงินจากที่คุณจ่ายสมทบ มีประกันว่างงาน คุณมีกองทุนเปลี่ยนงาน ระบบบำนาญ และมีรีสกิลความรู้ด้วย แต่ว่าไทยยังไม่มี ซึ่งในช่วงวัยทำงานมันควรจะมีสิ่งนี้ แม้ว่าบ้านเราจะมีระบบบำนาญถ้วนหน้าแค่ 600 บาท ซึ่งมันทำอะไรไม่ได้หรอก ตอนนี้มันควรจะ 3000 บวกแล้ว”

หลังจากพวกเขาได้เข้ามาทำสหภาพแรงงานสร้างสรรค์และเห็นประเด็นมากมาย เราชวนถามต่อ หากมีอำนาจเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมอะไร 1 ข้อ คุณอยากจะทำอะไรเป็นอย่างแรก อิงรีบตอบว่าแก้ไขเรื่องรัฐสวัสดิการ

“การเปลี่ยนรัฐสวัสดิการ มันแก้ภาพรวมทั้งสังคม แก้ได้ทุกอย่างเลย ทั้งความไม่มั่นคงทางอาชีพ ชีวิต การเงิน และการคุ้มครองหลังเกษียณในระยะยาว แล้วไม่ใช่แค่แรงงานสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียวที่ได้ แต่แรงงานทุกคนก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงมีโอกาสการเข้าถึงงานสร้างสรรค์และงานศิลปะมากยิ่งขึ้น”

สำหรับไนล์ทำหน้าครุ่นคิดสักพัก ก่อนจะตอบอย่างมั่นใจว่า การเปลี่ยนค่านิยมในไทย “เดิมทีเรามักจะได้ยินค่านิยมประหลาดๆ ในไทย เช่น เขาให้งานเราก็เป็นหนี้บุญคุณแล้ว หรือเขาให้เงินเราก็ดีแค่ไหนแล้ว ความคิดเหล่านี้เป็นผลมาจากโครงสร้างทางสังคมชุดเก่า

“การมีโครงสร้างทางสังคมที่ดีคือ เราสามารถพูดคุย มีอำนาจต่อรอง หรือเรียกร้องสิทธิต่างๆ ในที่ทำงานได้ไหม มันไม่ใช่การทะเลาะกันนะ การคุยกับนายจ้างตรงๆ คือการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นและความเข้าใจทั้งสองฝ่ายให้สามารถทำงานร่วมกันในระยะยาว”

หลังจบบทสนทนา ตลอดการสัมภาษณ์เราเห็นถึงความมุ่งมั่นของอิงและไนล์ในการก่อตั้งสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับแรงงานสร้างสรรค์ นอกจากนี้พวกเขายังมีแพลนต่อไป นั้นคือการรวมกลุ่มแรงงานสร้างสรรค์ให้มากขึ้นในหลากหลายพื้นที่ ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงขยายโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงศิลปะตามพื้นที่ต่างๆ โดยการเชื่อมต่อพื้นที่ศิลปะที่มีอยู่ให้กับคนในท้องถิ่นรู้จักมากยิ่งขึ้น เพราะงานสร้างสรรค์ไม่ได้ตีกรอบแค่ว่าต้องเป็นของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ศิลปะและการทำงานสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่ใครก็ควรทำได้

ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ


ขอบคุณ XXXYYY Cafe เอื้อเฟื้อสถานที่

AUTHOR