ครูเอลลา เดอ วิล พัฒนาการของตัวร้ายที่คนรัก ว่าด้วยกรณีศึกษาจากแอนิเมชันดัง 101 ดัลเมเชียนส์

ในบรรดาตัวละครฝ่ายร้ายที่เป็นที่รู้จักของดิสนีย์ ชื่อของ ครูเอลลา เดอ วิล เป็นตัวละครที่ถูกจดจำและพูดถึงในลำดับต้นๆ อันที่จริง American Film Institute’s list เว็บไซต์จัดอันดับของสหรัฐอเมริกา เคยจัดอันดับ 100 ฮีโร่และตัวร้ายที่ครองใจผู้ชมมากที่สุด ผลปรากฏว่าครูเอลลาไม่เพียงติด 100 อันดับแรก แต่ยังอยู่ในลำดับที่สูงกว่าจอมโหดนิ้วเขมือบอย่าง เฟรดดี้ ครูเกอร์ กับตัวตลกจิตหลุดอย่าง โจกเกอร์ ขึ้นไปเสียอีก 

ที่น่าสนใจไปมากกว่านั้น คือครูเอลลาไม่เพียงขึ้นแทนเป็นตัวร้ายเนื้อหอม แต่ยังเป็นตัวละครที่มีฐานแฟนคลับมาก กระทั่งถูกนำมาทำเป็นภาคแยกต่างหากในปี 2021 นำแสดงโดยนักแสดงหญิงชื่อดังอย่าง เอ็มมา สโตน อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ตัวร้ายจากแอนิเมชันคลาสสิกยุค 60s แปลงสภาพจากคนรวยคลั่งขนสัตว์ธรรมดา มาสู่ตัวละครโด่งดังเป็นลำดับต้นๆ ของโลก? 

101 ดัลเมเชียนส์ ผลงานช่วยดิสนีย์จากความคิดที่จะเลิกทำแอนิเมชัน

แม้ดิสนีย์จะเป็นที่รู้จักเป็นอย่างมากหลังประสบความสำเร็จกับผลงานชิ้นโบแดงอย่างสโนว์ไวท์ แต่ในเวลาต่อมา บริษัทกลับประสบปัญหาเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการสร้างแอนิเมชันเรื่องยาวที่ต้องวาดด้วยมือใช้ทั้งเวลา กำลังคน และงบในการผลิตสูงมาก 

หากเป็นการทำด้วยมือทั้งหมด เราจะไม่เห็นเส้นสีดำๆ แบบนี้ งานจะออกมาสมูทกว่า

เรื่อยมาจนถึงปี 1959 เมื่อดิสนีย์เปิดตัวแอนิเมชันเรื่องถัดมาอย่างเจ้าหญิงนิทรา ปรากฏว่าผลงานเรื่องนี้เมื่อนำรายได้มาหักลบกับรายจ่าย กลายเป็นว่าขาดทุน การขาดทุนของดิสนีย์นำไปสู่การตั้งคำถามว่าแอนิเมชันวาดมือแบบนี้น่าจะหมดอนาคต มีการเชิญชวนว่าดิสนีย์น่าจะโดดเข้าสู่ภาพยนตร์คนแสดงมากกว่าเพราะกำลังได้รับความสนใจมากในเวลานั้น 

อย่างไรก็ดี สตูดิโอของดิสนีย์ก็รอดพ้นภาวะเกือบล้มละลายมาได้อย่างหวุดหวิดเนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีซีร็อกซ์ (Xerox) มาใช้เพื่อช่วยทุ่นเวลา นักวาดสามารถนำลายเส้นของตนเองสแกนลงบนแผ่นเซลลูลอยด์ได้โดยตรง แถมยังสามารถก็อปปี้ภาพที่ซ้ำกันเพื่อเพิ่มจำนวนได้โดยไม่ต้องวาดจริง ดิสนีย์เคยนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ก่อนแล้วในบางฉากเช่น ฉากเจ้าชายฟิลิปสู้กับมังกรในเรื่องเจ้าหญิงนิทรา หรือฉากสัตว์ป่าเต้นรำในเรื่องเมาคลีลูกหมาป่า ดังนั้น เคน แอนเดอร์สัน ผู้กํากับศิลป์ของดิสนีย์ จึงได้เสนอว่าจะลองนำเทคโนโลยีนี้มาใช้จริงกับแอนิเมชันเรื่องต่อไปซึ่งปรากฏว่าสามารถทุ่นเวลาการทำงานไปได้เกือบครึ่งแถมลดต้นทุนการผลิตไปได้อย่างน่าพึงพอใจ

ฉากในเรื่องนี้ก็มีกลิ่นอายต่างจากเรื่องก่อนๆ ด้วย มีความพยายามทำให้ฉากโมเดิร์น ใช้การลงสีก่อนแล้วค่อยตัดเส้น ดูเหมือนจะง่ายแต่จริงๆ ทำยากมาก

ในแอนิเมชันเรื่องนี้ยังได้ลองใช้เทคนิกการวาดใหม่ๆ อย่างการวาดฉากหลังที่มีลักษณะคล้ายการสาดสีลงไปก่อน จากนั้นจึงค่อยทำการตัดเส้นซึ่งทำให้งานศิลป์ในแอนิเมชันเรื่องนี้ดูร่วมสมัยและแปลกตา ต่างจากงานชิ้นก่อนหน้าอย่าง ปีเตอร์ แพน สโนว์ไวท์ หรือซินเดอเรลลาที่ดูโรแมนติกชวนฝัน 

การตัดสินใจเลือกเอานิยายเรื่อง 101 ดัลเมเชียนส์ ของนักเขียนชาวอังกฤษอย่าง โดดี สมิท มาใช้ก็ยังมีเหตุผลน่าสนใจ เนื่องจากเรื่องนี้มีจุดเด่นสองอย่าง คือมีลูกหมาจำนวนมาก สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลนีซีร็อกส์ได้เต็มที่ ส่วนอีกข้อหนึ่งคือสีของสุนัขพันธุ์นี้เป็นสีขาวดำ สามารถนำมาทำเป็นธีมหลักของหนังและยังกลบปัญหาของการใช้เครื่องซีร็อกส์ที่จะทิ้งรอยเส้นสีดำไว้รอบกรอบของตัวละคร (หากเป็นการวาดและตัดเส้นด้วยมือจะไม่เห็นเส้นสีดำชัดขนาดนี้) 

ข้อเสียของเทคโนโลยีซีร็อกส์ คือจะเหลือเส้นรอบตัวการ์ตูนเป็นสีดำ

อีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้ 101 ดัลเมเชียนส์ สร้างความแตกต่าง คือโครงเรื่องที่ปราศจากเวทมนตร์และตัวละครในเทพนิยาย แอนิเมชันเรื่องนี้ใช้ฉากหลังร่วมสมัย เป็นสิ่งที่สังคมยุค 60s กำลังเผชิญอยู่จริงเช่นการมีอยู่ของโทรทัศน์ และอิทธิพลของวงการโฆษณาผ่านหน้าจอ ตัวละครหลักฝั่งมนุษย์อย่างโรเจอร์และแอนิต้า เป็นคู่สามีภรรยาที่ประกอบอาชีพและใช้ชีวิตแบบชนชั้นกลางทั่วไป ในขณะที่ตัวละครฝ่ายร้ายอย่างครูเอลลาก็ไม่ได้มีเวทย์มนตร์วิเศษ เป็นแค่ผู้หญิงร่ำรวย อารมณ์ร้อนที่ค่อนข้างจะมีมุมตลกอยู่บ้าง สามารถสร้างเสียงหัวเราะให้คนดู

มีการใส่พฤติกรรมร่วมสมัยเช่นการดูทีวี อิทธิพลของโฆษณา
แอนิเมชันเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ใช้ฉากหลังแบบร่วมสมัย มีกลื่นอายสืบสวนสอบสวนเล็กๆ และไม่มีเรื่องแฟนตาซีเลย ดังนั้นจึงให้ภาพลักษณ์ที่แปลกใหม่ ตัวเอกเป็นเจ้าของสุนัขทำงานแบบชนชั้นกลาง

ด้วยความสดใหม่หลายๆ อย่างทำให้ 101 ดัลเมเชียนส์ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากทั้งทางด้านรายได้และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ (แม้ว่าเจ้าของสตูดิโออย่าง วอลส์ ดิสนีย์ จะไม่ค่อยชอบผลงานเรื่องนี้เนื่องจากมันดูโมเดิร์นเกินไป ไม่ใช่งานคลาสสิก โรแมนติกแบบที่เจ้าตัวเชื่อมั่น) ผลตอบรับที่ตามมาคือตัวละครที่โด่งดังและเป็นที่จดจำ หรือจะเรียกได้ว่ามีคาแรกเตอร์ที่สุดอย่างครูเอลลากลายเป็นตัวร้ายที่ครองใจชาวอเมริกาตามไปด้วย 

ครูเอลลา เดอ วิล จากตัวร้ายบ้าขนสัตว์ สู่อัจฉริยะด้านแฟชั่น

ตัวละครครูเอลลาปรากฏเป็นครั้งแรกในนิยายเรื่อง 101 ดัลเมเชียนส์ของ โดดี สมิท นักเขียนชาวอังกฤษท่านนี้มีสุนัขดัลเมเชียนอยู่จริง และได้ไอเดียการเขียนนิยายมาจากเพื่อนคนหนึ่งซึ่งบอกว่าน้องหมาของสมิทน่าจะนำมาทำเป็นเสื้อขนสัตว์ได้สวยพอดู

โดดี สมิท นักเขียนชาวอังกฤษ เจ้าของเรื่อง 101 ดัมเมเชียนส์

ในนิยายของสมิท ครูเอลลาเป็นสาวสังคมที่ร่ำรวย แต่งงานแล้ว และดูจะแต่งกายได้อย่างจัดจ้าน เธอบรรยายลักษณะเครื่องแต่งกายของครูเอลลาว่า “สวมชุดกระโปรงผ้าซาตินรัดรูปสีมรกต สวมเสื้อขนมิงค์สีขาวตัดกับเครื่องประดับทำจากทับทิมและรองเท้าสีแดงสดเข้าคู่กัน” ครูเอลลาในเวอร์ชันของ สมิท เป็นสตรีแต่งงานแล้ว สามีของเธอเป็นเจ้าของธุรกิจขนสัตว์ที่ร่ำรวยมากและดูเหมือนว่าเธอจะแต่งงานกับเขาเพราะความรักในขนสัตว์มากกว่าสามี อย่างไรก็ดี ครูเอลลายังคงเก็บนามสกุล เดอ วิล ของเธอไว้ ให้เหตุผลว่าเธอเป็นสายเลือดคนสุดท้าย และยังมีแมนชันตกทอดของครอบครัวชื่อ Hell Hall (ก่อนหน้านี้ชื่อ Hill Hall แต่ชาวบ้านใกล้เคียงเชื่อว่าตระกูลเดอ วิล ทำเรื่องเลวร้ายในบ้านจึงเปลี่ยนคำเรียกจาก Hill ที่แปลว่าภูเขา เป็น Hell ที่แปลว่านรก – ไม่ปรากฏว่าเรื่องร้ายที่ว่าเป็นเรื่องอะไร) 

ครูเอลลารู้จักกับแอนิตา (ภรรยาของโรเจอร์) สมัยเรียนหนังสือ ซึ่งแอนิตาเล่าว่าครูเอลลาเป็นคนแปลกมาก โดนไล่ออกจากโรงเรียนเพราะกินหมึกสำหรับเติมปากกาเข้าไป ไม่ได้มีการกล่าวถึงครอบครัวของครูเอลลามากนัก แต่เธอน่าจะมีฐานะและค่อนข้างถูกตามใจเพราะมักทำอะไรไม่แคร์สื่อเช่นขับรถเสียงดังมาก ชอบทานอาหารแบบโรยพริกไทยจนเผ็ดจี๊ด เธอยังเป็นนักสะสมโค้ตขนสัตว์ตัวยงอีกด้วย

ครูเอลลาในเวอร์ชันของดิสนีย์เป็นผู้หญิงผอม ร่างสูง ที่ชื่นชอบขนสัตว์

ต่อมาเมื่อดิสนีย์นำนิยายเรื่องนี้มาผลิตเป็นแอนิเมชัน มีการตัดสินใจว่าครูเอลลาจะต้องนำเสนอภาพลักษณ์ของสาวสมัยใหม่แบบที่สามารถพบเห็นได้ในสังคมยุคนั้น มาร์ค เดวิส ผู้ออกแบบตัวละครครูเอลลา กล่าวว่าเขามีต้นแบบในใจจากสตรีหลายคนยกตัวอย่างเช่น ทาลูลาห์ แบงก์เฮด – นักแสดงหญิงชื่อดัง และสตรีอีกท่านที่เดวิสรู้จัก (แต่ไม่ออกนาม) เขากล่าวว่าผู้หญิงคนนี้ร้ายกาจมาก “เธอตัวสูง รูปร่างผอม พูดอยู่ตลอดเวลา แม้คุณจะไม่เข้าใจว่าเธอกำลังพูดถึงอะไร ผมอยากสร้างตัวละครให้มีลักษณะเหมือนบุคคลจริงๆ ซึ่งคุณจะไม่ชอบหน้า” อันที่จริงนิสัยขับรถเสียงดังน่าหวาดเสียวของครูเอลลา ก็น่าจะมีที่มาจากตัวนักแสดงสาว ทาลูลาห์ แบงก์เฮด ด้วยเช่นกัน

หนึ่งในต้นแบบครูเอลลาคือนักแสดงชื่อดัง ทาลูลาห์ แบงก์เฮด

ครูเอลลาในเวอร์ชันของดิสนีย์มีจุดเด่นอีกอย่างคือการขยับตัวไปมาที่ไม่หยุดนิ่งเหมือนปลาฉลาม การออกแบบมูฟเม้นของครูเอลลา ถอดแบบมาจากนักแสดงอีกท่านคือ แมรี วิกส์ จุดเด่นคือการบิดร่างกายที่ผอมบางได้อย่างอิสระ มีปฏิกิริยากับสิ่งรอบข้างอย่างเกินจริง และแสดงสีหน้าทั้งตกใจและขบขันได้อย่างตรงไปตรงมา 

เนื่องจาก 101 ดัลเมเชียส์ประสบความสำเร็จถล่มถลาย จึงมีการหยิบเอาแอนิเมชันเรื่องนี้มาทำใหม่ในรูปแบบไลฟ์แอ็กชัน ซึ่งผู้รับบทครูเอลลาในคราวนี้คือนักแสดงมากฝีมืออย่าง เกล็น โคลส ในภาพยนต์เรื่องนี้เอง เป็นครั้งแรกที่มีการนำเสนออย่างชัดเจนว่าครูเอลลาทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่น เธอมีบริษัทของตัวเองชื่อ House of DeVil ซึ่งน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ครูเอลลาในเวอร์ชันของ เอ็มมา สโตน ในอีกหลายปีให้หลัง 

ครูเอลลาในปี 1996 นำแสดงโดย เกล็น โคลส
ในเวอร์ชันของ เกล็น โคลส ครูเอลลามีอาชีพชัดเจนว่าเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นแถมยังแต่งกายหรูหราสวยงาม กลายเป็นภาพจำของหนังไปเลย

ครูเอลลาในเวอร์ชันของ เกล็น โคลส ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ซึ่งน่าจะมีที่มาจากการแสดงของเธอ บวกกับการออกแบบชุดของครูเอลลาให้ดูหรูหราวิจิตรบรรจงจนถึงขั้นนักแสดงบอกว่าตัวเธอจะลุกนั่งในชุดก็ยังทำได้ยาก ตัวตนของครูเอลลาในเวอร์ชันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แฟนๆ หลายคนมองครูเอลลาเป็นไอดอลด้านการใช้ชีวิต เธอเป็นสตรีที่ประสบความสำเร็จ ไม่แต่งงาน ไม่มีลูก แต่มีชีวิตหรูหราด้วยเงินที่หามาได้ด้วยตัวเอง 

เกล็น โคลส ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับตัวละครครูเอลลาของเธอว่า “ครูเอลลาอาจจะไม่ค่อยมีความเป็นมนุษย์เท่าไหร่ แต่ก็เป็นตัวร้ายที่มีอารมณ์ขัน แม้จะเป็นอารมณ์ขันแบบตลกร้ายก็ตาม ครูเอลลาเป็นตัวละครที่ยอดเยี่ยม เนื่องจากเธอมีความสุขกับสิ่งที่เธอเป็น นั่นหมายถึง เธอมีความสุขกับความชั่วร้ายของตัวเอง และมันมีบางอย่างที่น่าสนใจในเรื่องนี้” 

‘ความน่าสนใจ’ ที่เกล็น โคลส กล่าวถึงดูจะตรงกับทีมบริหารดิสนีย์เพราะในปี 2021 ก็ได้มีการปล่อยไลฟ์แอ็กชันที่บอกเล่าที่มาของตัวละครครูเอลลา รวมไปถึงปมในวัยเด็กของครูเอลลาที่ต้องสูญเสียผู้เป็นแม่ไปต่อหน้าต่อตา (หนังสือพิมพ์ The Washington Post กล่าวว่าเป็นเหมือนปมเข้าสู่ด้านมืดของแบทแมน เพียงแต่แบทแมนเลือกที่จะช่วยเหลือผู้อื่น แต่ครูเอลลามองหาผลประโยชน์ของตัวเอง) 

ฌอน เบลีย์ ประธานฝ่ายการผลิตภาพยนตร์ของดิสนีย์สตูดิโอกล่าวถึงความตั้งใจในการหยิบเอาเรื่องของครูเอลลามาสร้างใหม่ว่า “ถ้าไอรอนแมน ธอร์ และกัปตันอเมริกา เป็นซูเปอร์ฮีโร่ของมาร์เวล อลิซ ซินเดอเรลลา เมาคลี และเบลล์ อาจเป็นฮีโร่ของเรา ส่วนครูเอลลาและมาเลฟิเซนต์ ก็คือสุดยอดวายร้าย หากเราสามารถหาวิธีที่จะเชื่อมโยงตัวละครเหล่านี้เข้ากับเรื่องราวความเป็นจริงในชีวิตของผู้คน ดีสนีย์ก็อาจจะได้เปรียบในการแข่งขัน” 

แน่นอนว่าครูเอลลาในเวอร์ชันปี 2021 นำแสดงโดย เอ็มมา สโตน ยังคงโฟกัสไปที่โลกแฟชั่น หยิบเอาสีขาว ดำ เทา และแดงซึ่งเป็นสีหลักของครูเอลลาตั้งแต่ภาคแอนิเมชันมาปัดฝุ่นเป็นดีไซน์แบบใหม่ อย่างไรก็ดีสิ่งที่หายไปในเวอร์ชัน 2021 คือความหลงใหลในขนสัตว์ซึ่งเป็นแกนหลักของตัวละครตั้งแต่เวอร์ชันนิยาย จากเครื่องแต่งกายกว่า 40 ชุดของครูเอลลา ไม่มีชุดไหนที่ใช้ผ้าขนสัตว์เลย และในขณะที่มีสุนัขตัวอื่นๆ อยู่ในเรื่องนี้ ครูเอลลาในเวอร์ชัน เอ็มมา สโตน ก็ไม่แสดงท่าทางมุ่งร้าย เกี่ยวกับเรื่องนี้ดิสนีย์ได้เขียนย้ำไว้ตั้งในในช่วงการผลิต “ตัวละครครูเอลลาในภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ทำร้ายสัตว์ ไม่ว่าจะในด้านใด” 

ในบรรดาชุดมากมายของครูเอลลาไม่มีชุดไหนทำจากขนสัตว์แต่ยังใช้สีหลักคือดำ ขาว เทา และแดง
ในเวอร์ชันของ เอ็มม่า สโตน ครูเอลลาก็ยังโฟกัสเรื่องแฟชั่นแต่ตัดเอาความหมกหมุ่นเรื่องขนสัตว์ออกไป

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นิตยสาร TIME ได้ให้ข้อสังเกตว่า ดิสนีย์อาจไม่ต้องการเสี่ยงกับเสียงต่อต้านจากองค์กรพิทักษ์สัตว์ และอาจพบว่าผู้ชมคงไม่สามารถเอาใจช่วยครูเอลลา หากเธอแสดงพฤติกรรมร้ายกาจกับสุนัข กระทั่งมีความคิดที่จะถลกหนังพวกมันเพื่อมาทำเป็นชุด สเตฟานี ซาคาเร็ก นักวิจารณ์จาก TIME กล่าวถึงข้อเสียของการนำเสนอในรูปแบบนี้ ว่าเป็นการทำให้ตัวร้ายขาดเสน่ห์ “หากต้องคอยมองหาเหตุผลรองรับการกระทำของทุกตัวละคร และต้องขอให้ผู้ชมเห็นใจการกระทำที่เกินเลยไปของพวกเขา” 

วายร้ายที่คนรัก ทำไมครูเอลลาจึงได้รับความนิยมมาก ต่างจากตัวร้ายทั่วไปของดิสนีย์

“หากเรามองข้ามแผนการชั่วร้ายในการลักพาตัวลูกสุนัขเพื่อนำมาถลกหนังออกไป ครูเอลลาของดิสนีย์ก็เป็นแฟนตาซีของแนวคิดสตรีนิยม ตัวละครหญิงที่ร่ำรวย อิสระ ประสบความสำเร็จในชีวิต และที่สำคัญ ยังไม่แต่งงาน ครูเอลลายังมีลูกน้องสองคนที่สามารถกวักมือเรียกได้อยู่เสมอ เธอมั่นใจในตัวเอง ไม่ยอมให้อะไรมาขวางทาง เป็นสิ่งที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากผู้หญิงทั่วไปในยุคนั้น” หนังสือพิมพ์ The New York Times กล่าวถึงคาแรกเตอร์ของครูเอลลาที่สามารถดึงดูดผู้ชมให้ตกอยู่ใต้มนต์สะกดของเธออย่างง่ายดาย 

ริชาร์ด คีน ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก Converse University กล่าวเอาไว้ในงานวิจัยเรื่อง The American Western Mythology of “Breaking Bad” ว่า ผู้คนมักมีความเห็นอกเห็นใจกับตัวร้ายที่หน้าตาดี ครูเอลลาต่างจากตัวร้ายดิสนีย์ส่วนมาก ไม่ว่าจะเป็นเออร์ซูลา หรือร่างแปลงอัปลักษณ์ของราชินีใจร้ายในเรื่องสโนว์ไวท์ เนื่องจากเธอถูกนำเสนอในฐานะสตรีมีฐานะ ไฮแฟชั่น (โดยเฉพาะในเวอร์ชันของ เกล็น โคลส นอกจากครูเอลลาจะประสบความสำเร็จในชีวิต เธอยังมีมุมที่ดูตลกอีกด้วย) 

ริชาร์ด คีน กล่าวต่อไปว่า การตกหลุมรักวายร้ายหน้าตาดีเป็นกลไกธรรมดาของมนุษย์ ยิ่งตัวละครถูกชี้ว่าเราควรเกลียดมากเท่าไหร่ จิตใจก็จะยิ่งเกิดการต่อต้านมากเท่านั้น กลับมองว่าการกระทำที่ไม่ปกติ ไม่แคร์สังคม กลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดให้สนใจ ในทางกลับกัน หากตัวร้ายมีรูปลักษณ์ไม่สวยงาม บวกเขากับการกระทำที่เลวร้าย ผู้ชมจะไม่เกิดความชื่นชม แต่จะรู้สึกไม่ชอบ ขยะแขยง และไม่อยากเอาใจช่วย 

ในเวอร์ชันของ เอ็มมา สโตน ครูเอลลาอายุน้อยและอยู่ในรูปลักษณ์ที่สวยงามมากที่สุด แน่นอนว่าเธอทำเรื่องผิดอย่างการโกหก หรือลักขโมย แต่การกระทำของเธอมีเหตุผลรองรับและมีแรงจูงใจที่ชัดเจนคือความต้องการที่จะแก้แค้น  ในฐานะเด็กหญิงที่ตะเกียกตะกายจนกลายมาเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงของวงการแฟชั่น ยิ่งภาพยนตร์มีการตัดประเด็นที่น่าถกเถียงอย่างการหลงใหลในเสื้อขนสัตว์ออกไป ยิ่งทำให้ครูเอลลาในเวอร์ชันล่าสุด เปลี่ยนจากตัวร้ายหญิงหยิ่งยโส เสียงดัง สูบบุหรี่จัด ไม่แคร์ใคร ไปสู่ตัวละครที่ผู้ชมทางบ้านเกือบจะสามารถเทใจให้ได้เต็ม 100% 

References:

Redefining the Line: The Making of 101 Dalmatians

How ‘One Hundred and One Dalmatians’ Saved Disney

The Making and Impact of One Hundred and One Dalmatians

The Surprising Evolution of Cruella De Vil

Everything to Know About the Origins of Cruella de Vil Before Watching the New Disney Movie

‘Cruella’ is about a puppy killer. Has the origin-story trend gone far enough?

AUTHOR