คุยกับ ‘ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร’ จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ ทำไมองค์กรธุรกิจต้องผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชน?

คุยกับ ‘ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร’ จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ ทำไมองค์กรธุรกิจต้องผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชน?

ปัจจุบันผู้คนเริ่มตระหนักรู้ถึงสิทธิและเสรีภาพที่ตนพึงได้รับมากยิ่งขึ้น ผ่านการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมจากภาคประชาสังคมและประชาชน ทั้งในแง่ของความหลากหลาย ความเท่าเทียม ความรุนแรง คุณภาพชีวิต และอีกมากมาย 

ภาคธุรกิจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมจึงจำเป็นต้องดำเนินงานตามค่านิยมและบรรทัดฐานที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม ผู้คนต่างตั้งคำถามต่อแคมเปญการตลาดและการโฆษณาต่างๆ ว่าองค์กรธุรกิจเหล่านั้นสนับสนุนและผลักดันประเด็นทางสังคมอย่างแท้จริงหรือไม่

‘ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร’ ผู้ช่วยบริหารประธานคณะผู้บริหารและรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และเลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) เชื่อว่าการขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชน จะช่วยให้การทำงานขององค์กรธุรกิจเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในระยะยาว รวมถึงสร้างประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

คอลัมน์ Q and a day ครั้งนี้จึงชวนบุคลากรเบื้องหลังจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P. Group) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการวางแผนและกำกับดูแลการปฏิบัติงานในประเด็นสิทธิมนุษยชน มาพูดคุยเพื่อค้นหาคำตอบว่า ทำไมองค์กรธุรกิจจึงต้องให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้ รวมถึง C.P. Group มีแผนยุทธศาสตร์ กระบวนการตรวจสอบ และหลักการใดบ้างในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน

‘สิทธิมนุษยชน’ สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างไร?

“สิทธิมนุษยชนคือศักดิ์ศรีของความเป็นคน ซึ่งแบ่งแยกไม่ได้ ทุกคนเท่าเทียมกัน”

“เมื่อกล่าวถึง ‘สิทธิมนุษยชน’ คนเรามักจะนึกถึงเรื่องศีลธรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิหน้าที่ แต่จริงๆ แล้ว เราต้องมองในมิติที่ลึกขึ้น เพราะทุกคนมีสิทธิในการเดินทางไปไหนก็ได้ เลือกทํางานในสภาพแวดล้อมที่ไม่ทรมาน ไปโรงเรียนได้โดยอิสระ หรือแม้แต่สามารถหายใจและดื่มน้ําสะอาด หากทําผิดกฎหมาย ก็จำเป็นต้องมีกระบวนการยุติธรรมมาดูแลชัดเจน”

“สิทธิมนุษยชนในชีวิตประจําวัน ล้วนเกี่ยวพันกับทุกมิติของการประกอบธุรกิจ องค์กรจึงต้องแน่ใจว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับสิทธิที่กล่าวไปข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นพนักงานในองค์กร ลูกค้า คู่ค้า นักลงทุน และชุมชนรอบข้าง เช่น ประเด็น ‘น้ําสะอาด อากาศดี’ ชุมชนที่อยู่โดยรอบโรงงานควรได้รับสิทธินี้ โจทย์สำคัญคือ จะทําให้องค์กรธุรกิจเข้าใจว่า สิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจโดยตรงได้อย่างไร”

“ในมุมมองธุรกิจ สิทธิมนุษยชนจัดเป็น ‘ความเสี่ยง’ ในการดำเนินงาน ทั้งส่งผลกระทบเชิงลบ
ต่อการปฏิบัติงาน ยอดขาย ความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า ความเชื่อใจของพนักงาน และสิ่งสำคัญอย่าง ‘ชื่อเสียง’ ซึ่งเปรียบเสมือนหลอดยาสีฟัน หากบีบเนื้อยาสีฟันออกมาแล้ว จะไม่สามารถนำกลับเข้าไปในหลอดได้ดังเดิม”

“ดังนั้น เมื่อเกิดข้อพิพาทบางอย่างขึ้น ไม่ว่าหลังพิสูจน์ความจริง บริษัทจะถูกหรือผิด แต่ข้อกล่าวหานั้น จะยังคงค้างคาอยู่ในใจของผู้ประกอบการ พนักงาน รวมถึงผู้คนในโลกออนไลน์ ผู้บริโภคอาจจดจำเพียงแค่ว่า บริษัทนี้เคยถูกกล่าวหาเรื่องอะไร”

“ในทางกลับกัน สิทธิมนุษยชนคือ ‘โอกาส’ ในการทำธุรกิจเช่นเดียวกัน เนื่องด้วยปัจจัยภายนอกอย่างสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งแทรกซึมและส่งต่อข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่างรวดเร็ว หากองค์กรสร้างสรรค์
สิ่งที่ดีสู่สังคม ผู้คนจะให้การยอมรับและสนับสนุนธุรกิจนั้นมากขึ้น เช่น ประเด็น ‘สมรสเท่าเทียม’ หลายองค์กรธุรกิจใช้โอกาสนี้ในการส่งเสริมให้กลุ่ม LGBTQ+ สามารถเข้าถึงสินค้าและประกันชีวิตต่างๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือบริษัทอาจประชาสัมพันธ์ว่า บริษัทขายสินค้าที่เคารพสิทธิแรงงาน”

“ถ้าองค์กรธุรกิจสามารถระมัดระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ดี จะนำไปสู่ ‘โอกาส’ ในการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ขององค์กร พร้อมทั้งดึงดูดคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมงานกับองค์กร ไปจนถึงโอกาสในการค้นหาพันธมิตรทางการค้า และการสร้างการยอมรับต่อผู้บริโภค วงการธุรกิจในปัจจุบัน จึงแข่งขันกันเรื่อง การเปิดเผยกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้”

“ผู้ประกอบการต้องเคารพและให้ความมั่นใจกับลูกค้าได้ว่า บริษัทของตนดำเนินการธุรกิจอย่างโปร่งใส และเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน”

“ปัจจุบัน ขอบเขตเรื่องสิทธิมนุษยชนชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน และการถกเถียงในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อผู้คนเริ่มตระหนักรู้ในประเด็นเหล่านี้ จึงนำมาสู่ยุทธศาสตร์หรือแผนปฏิบัติงานฉบับใหม่ของบริษัท ซึ่งแต่ละธุรกิจมีความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนต่างกัน”

กระบวนการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นอย่างไรบ้าง?

“เครือเจริญโภคภัณฑ์ ขับเคลื่อนธุรกิจผ่านหลักการ 3 ประโยชน์ ซึ่งให้ความสำคัญกับประโยชน์ของประเทศและชุมชนที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจ ก่อนที่จะนึกถึงประโยชน์ของบริษัท”

“กระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence, HRDD) คือแกนหลักในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน เพราะกระบวนการนี้จะช่วยระบุว่า ความเสี่ยงหรือโอกาสของธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง และบริษัทดำเนินการถึงขั้นตอนใดแล้ว เพื่อวัดผลประสิทธิภาพขององค์กรธุรกิจ วิเคราะห์ค้นหาช่องว่างหรือข้อบกพร่องในปัจจุบัน (Gap Analysis) รวมถึงประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น​ (Impact Assessment) องค์กรจึงต้องพยายามปิดช่องว่างเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านั้น”

“ยกตัวอย่าง การสํารวจการจ้างพนักงานและผู้บริหารว่ามีสัดส่วนระหว่างเพศหญิง ชาย และ LGBTQ+ เท่าไหร่ หรือองค์กรสามารถคุ้มครองแรงงานในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของธุรกิจได้ดีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน คือ การประเมินได้ยาก เพราะไม่สามารถวัดค่าความเจ็บปวดของมนุษย์ออกมาเป็นตัวเลข”

ในแผนยุทธศาสตร์ที่ผ่านมา มีหลักการใดบ้างที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ให้ความสำคัญ?

“พื้นฐานการร่างแผนนโยบาย คือ การเคารพกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายแรงงาน กฎหมาย
สิ่งแวดล้อม และกฎหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม เพราะการจัดตั้งบริษัทต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย หรือหากส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ บริษัทจำเป็นต้องเคารพกฎหมายประเทศปลายทางด้วยเช่นกัน”

“อีกทั้ง การแข่งขันทางการตลาดยังจำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักการนานาชาติ ปฏิญญาสากล และตัวชี้วัดระหว่างประเทศ โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand หรือ UNGCNT) ซึ่งมี ‘คุณศุภชัย เจียรวนนท์’ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นนายกสมาคม ทำให้ C.P. Group ให้ความสำคัญกับการวางแผนยุทธศาสตร์ตามหลักสากล 10 ประการ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติจำนวน 17 ข้อ รวมถึงทำรายงานสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 4 แล้ว”

“กว่าจะมาถึงจุดนี้ C.P. Group ไม่ใช่แค่เคารพหลักการต่างๆ แต่นำมาปรับใช้อย่างจริงจัง โดยมีตัวชี้วัดการประเมิน การตรวจสอบ และรายงานผลอย่างชัดเจน รวมถึงรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”

“อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเรื่องกฎหมายสากลอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะบางชุมชนอาจมีประเด็นละเอียดอ่อนที่เฉพาะตัว องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องเอื้อมมือไปสำรวจหรือดําเนินการเชิงรุก เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ จ้างบริษัทที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เพื่อสํารวจความคิดเห็นของ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะแต่ละกลุ่มมีความต้องการและสภาพข้อจํากัดต่างกัน”

“เครือฯ มีธุรกิจหลากหลายตั้งแต่เกษตร การเงิน ไปจนถึงภาคผลิต เราจึงต้องวางแผน ดำเนินงาน และสื่อสารให้เหมาะสม เพราะความพึงพอใจของพนักงานภายในและคู่ค้าภายนอก คือ ความสำเร็จของบริษัท”

องค์กรมีวิธีการอย่างไรที่ทำให้พนักงานกล้าเรียกร้องเพื่อสิทธิของตนเอง?

“องค์กรต้องให้ความมั่นใจเรื่องสัญญาและกฎระเบียบต่างๆ อย่างชัดเจนว่า องค์กรห้ามละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องอะไร และพนักงานได้รับสิทธิใดบ้าง ในขณะเดียวกัน บริษัทหรือหัวหน้าต้องเปิดพื้นที่รับฟัง รวมถึงจัดหาช่องทางการร้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบจดหมาย เอกสาร อีเมล ข้อความ หรือทางโทรศัพท์ เพื่อให้พนักงานสามารถสะท้อนปัญหาในการทำงาน ซึ่งบริษัทจำเป็นต้องพิจารณาและตอบรับข้อร้องเรียนนั้น พร้อมทั้งเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้คือการตรวจสอบย้อนกลับและรอบด้าน”

“เครือเจริญโภคภัณฑ์ จึงสำรวจความคิดเห็นของพนักงานในองค์กรอย่างสม่ำเสมอ และตอบสนองต่อความคิดเห็นนั้น เช่น การจัดให้มีห้องน้ำสำหรับพนักงานกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งไม่สบายใจที่จะใช้งานห้องน้ำชาย-หญิง เพื่อให้สถานที่ทำงานกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของทุกคน นอกจากนี้ยังจ้างงานผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย ตามอัตราที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กำหนด รวมถึงจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ห้องน้ำ รถเข็น โต๊ะ และอุปกรณ์ทำงานให้เหมาะสมกับการใช้งานของพนักงานกลุ่มนี้”

ที่ผ่านมา องค์กรให้ความช่วยเหลือและรับฟังความคิดเห็นของ ‘ชุมชนและคู่ค้า SME’ อย่างไรบ้าง?

“เครือเจริญโภคภัณฑ์ เชื่อมโยงระหว่างกฎหมายท้องถิ่น กับการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนรอบด้าน โดยเริ่มต้นจากการทําความรู้จักกับหัวหน้าชุมชน เลือกจ้างงานผู้คนในชุมชน รวมถึงเรียนเชิญภาคประชาสังคม อาจารย์ สหประชาชาติ มาวิเคราะห์ข้อกังวลต่างๆ ส่วนสุดท้ายคือ กลไกและระบบข้อร้องเรียนที่แข็งแรง เพื่อไม่ให้ข้อร้องเรียนเงียบหายไป”

“หากเจ้าของธุรกิจ SME ยังคงประสบปัญหาเรื่องยอดขายและลูกค้า พวกเขาไม่มีทุนหรือเวลามาตรวจสอบและทำรายงานให้แก่เราแน่นอน ดังนั้น ต่อให้ธุรกิจรายใหญ่จะหวังดี แต่ควรระวังเรื่องการสร้างภาระให้ผู้ประกอบการรายย่อย หรือชุมชนรอบข้างโดยไม่ตั้งใจ”

“เครือฯ จึงขับเคลื่อนประเด็นนี้ร่วมกับ SME ผ่านสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand หรือ UNGCNT) และภาคส่วนต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อย่างจริงจัง โดยวางแผนและเชื่อมโยงเรื่องสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างทาง พร้อมทั้งให้ความสําคัญเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้สามารถดำเนินงานไปพร้อมกัน”

เครือเจริญโภคภัณฑ์ดำเนินงานเรื่อง ‘สิทธิมนุษยชน’ ต่อสังคมภายนอกอย่างไรบ้าง?

“เครือเจริญโภคภัณฑ์ สร้างความตระหนักด้านสิทธิมนุษยชนผ่านสินค้าและบริการ โดยเน้นการสื่อสารที่โปร่งใส เช่น การนำเสนอสินค้าอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยไม่โฆษณาเกินจริง นอกจากนี้ ยังหยิบยกปัญหาในสังคมไทยมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงบริการด้านการเงินและสาธารณสุข เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน พร้อมทั้งสร้างผลกระทบเชิงบวกในระยะยาว”

“เราสนับสนุนให้ผู้คนหลากหลายกลุ่มสามารถเข้าถึงสินค้าหรือบริการของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และส่งเสริมให้กลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถใช้สิทธิของตัวเองได้”

“แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) อำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางสุขภาพและโรงพยาบาลได้ง่ายขึ้น เพียงแค่มีโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตก็สามารถติดต่อนัดพูดคุยกับแพทย์โดยตรง อีกทั้งยังมีบริการส่งยาให้ถึงบ้าน โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล”

True Money Wallet คือแอปพลิเคชันที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงระบบการเงิน และสามารถใช้จ่ายกู้ยืมเงินอย่างสะดวก เนื่องจากมี Digital Wallet ที่ปลอดภัยในการทำธุรกรรมการเงิน
ข้ามประเทศ ทำให้แรงงานข้ามชาติสามารถส่งเงินกลับให้ครอบครัวตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้คือการปลูกฝังความเท่าเทียมผ่านบริการของเครือเจริญโภคภัณฑ์”

“แอปพลิเคชัน True Money Wallet ช่วยแก้ไขจุดเจ็บปวดในสังคม เพราะเมื่อผู้คนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้รายย่อย (Micro Finance) โดยไม่พึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ จะทำให้ประชาชนไม่ต้องโดนข่มขู่จากเจ้าหนี้นอกระบบ และส่งเสริมสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง”

“หลายคนมองไม่เห็นถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน จนกว่าตนเองจะมีประสบการณ์ตรง เครือเจริญโภคภัณฑ์ จึงพยายามขับเคลื่อนและสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง”

คิดว่าแผนยุทธศาสตร์เรื่อง ‘สิทธิมนุษยชน’ จะสำเร็จได้ต้องเริ่มจากอะไร?

“การขับเคลื่อนเรื่อง ‘สิทธิมนุษยชน’ ในองค์กรธุรกิจ ต้องเริ่มต้นด้วยรูปแบบ Tone from the Top หรือการปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างโดยผู้นำองค์กร เพราะเจ้าของธุรกิจสามารถเปิดประตูสวรรค์หรือนรกของธุรกิจ จึงต้องเข้าใจความสำคัญของประเด็นสิทธิมนุษยชน และแนวคิด ‘Triple Bottom Line’ ได้แก่ People, Profit และ Planet เพื่อสร้างสมดุลการทำงานด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม”

“นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ ‘คุณศุภชัย เจียรวนนท์’ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ เล็งเห็นความสำคัญของประเด็นนี้ เครือฯ จึงสามารถดำเนินงานได้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand หรือ UNGCNT) ที่นำแผนงานนั้นมาดำเนินการกับองค์กรสมาชิกกว่า 140 แห่ง ซึ่งล้วนเป็นองค์กรธุรกิจชั้นนำของไทย และขยายความร่วมมือไปยังภาคส่วนอื่นๆ ด้วย

“การพัฒนาคนรุ่นใหม่จำเป็นต้องให้การศึกษา ปลูกฝัง ย้ำเตือนความรับผิดชอบ และจิตสำนึกในประเด็นสิทธิมนุษยชน เพื่อให้คนรุ่นใหม่นำหลักการนี้ไปใช้ในการทำงานจริง ไม่ว่าจะในวงการธุรกิจหรือสายงานอื่น เพราะประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคนทุกสายอาชีพ”

“หากวันนี้องค์กรธุรกิจดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน แต่แลกมาด้วยต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น ผู้บริโภคจะพร้อมและยอมจ่ายเงินมากกว่าเดิม เพื่อสนับสนุนสินค้าที่ช่วยเหลือชุมชนหรือไม่ ในขณะเดียวกัน ภาครัฐสามารถส่งเสริมเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง เช่น จัดทำเครื่องหมาย ตรา หรือสัญลักษณ์ทางการค้าที่ระบุว่า สินค้านี้เคารพสิทธิมนุษยชน อีกทั้งสื่อมวลชนยังต้องช่วยประชาสัมพันธ์และกระจายข่าวสารให้ทั่วถึง”

คุณมองว่า ผลความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนประเด็นนี้ คืออะไร?

“เป้าหมายสูงสุดคือ การเป็นบริษัทผู้นําในเรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมทั้งเป็นแนวทางด้านนโยบายและการปฏิบัติที่ชัดเจนให้แก่บริษัทอื่นที่สนใจ อย่างไรก็ตาม การบรรลุเป้าหมายนี้ต้องกำหนด KPI ที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และสามารถวัดผลได้ในระดับผลกระทบ (Impact) ทั้งภายในองค์กร ซึ่งมีพนักงานกว่า 450,000 คนทั่วโลก รวมถึงคู่ค้าคนสำคัญใน 21 ประเทศ และเขตเศรษฐกิจ เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนนั้น มีความหลากหลาย ทั้งเพศ สัญชาติ และความต้องการที่ต่างกัน”

“วิธีการสื่อสารให้ผู้คนอยากทำงานด้านสิทธิมนุษยชน คือการสื่อสารให้ผู้คนรับรู้ในวงกว้างด้วยข้อมูลที่ละเอียด พิสูจน์ความน่าเชื่อถือผ่านการกระทำ และกล้าให้บุคคลภายนอกตรวจสอบ”

“ปีนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ พยายามผลักดันเรื่อง ความหลากหลาย (Diversity) การมีส่วนร่วม (Inclusion) และความเสมอภาค (Equity) เช่น เปิดโอกาสให้พนักงานหญิงได้ดำรงตําแหน่งผู้นำมากขึ้น จนปัจจุบัน บอร์ดบริหารมีสัดส่วนเพศหญิง 50 เปอร์เซ็นต์ เพศชาย 50 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งกว่านั้น ยังลดช่องว่างเรื่องค่าตอบแทนระหว่างพนักงานชาย-หญิงด้วย”

“โจทย์สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้พนักงานที่มีความหลากหลายเหล่านี้สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ เพราะเครือฯ เชื่อว่าความหลากหลาย การมีส่วนร่วม และความเสมอภาค คือจุดแข็งและโอกาสของบริษัท”

ผู้คนอาจมองว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) หรือการประชาสัมพันธ์ของบริษัท แต่ไม่ได้ดำเนินงานจริง คุณมีความคิดเห็นอย่างไร?

“ตราบใดที่เราผลิตสินค้าคุณภาพดีและมีประโยชน์ ผู้คนจะรับรู้และเข้าใจเอง”

“เมื่อ 10 ปีที่แล้ว หลายคนยังมองว่า การขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม คืองานการกุศล คล้ายกับการช่วยเหลือผู้สูงวัย หรือแจกถุงยังชีพ แต่เมื่อกฎระเบียบและมาตรฐานเรื่องสิทธิมนุษยชนได้รับการสื่อสารมากขึ้น ทําให้ผู้คนเห็นว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมไม่ใช่เรื่องของการกุศลอีกต่อไป ซึ่งต้องเริ่มต้นจากภายในองค์กร และสื่อสารออกไปย้ําเตือนผู้คนภายนอกอยู่เสมอ”

“หน้าที่ขององค์กรธุรกิจคือ การผลักดันให้ประเด็นสิทธิมนุษยชนกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กร แบบแผนปฏิบัติของพนักงาน และตัวชี้วัดสำคัญในการคัดเลือกคู่ค้า ขณะที่ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกับผู้ถือหุ้นว่า การลงทุนเรื่องนี้อาจเพิ่มค่าใช้จ่าย และลดผลกำไรในระยะสั้น แต่ถือเป็นการสร้างมูลค่าในระยะยาวให้องค์กรและสังคมอย่างแท้จริง”

“เราจะเห็นจุดด้อยของตัวเองน้อยกว่าคนอื่น จึงจำเป็นต้องพิจารณาว่า สังคมสงสัยประเด็นใดจากองค์กร และตอบคำถามเหล่านั้นให้กระจ่าง”

ก้าวต่อไปในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของเครือเจริญโภคภัณฑ์จะเป็นอย่างไร?

“ปัจจุบัน บรรทัดฐานทางสังคมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี เช่น ผู้คนตระหนักรู้และให้ความสำคัญเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม องค์กรธุรกิจจึงต้องเดินตามโลกให้ทัน อีกทั้ง การเติบโตที่มากขึ้นของบริษัท มักพ่วงมาด้วยความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ทั้งพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า และชุมชน เครือฯ ยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการและแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน”

“แม้วันนี้เราจะมีความก้าวหน้าในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจวัดผลได้จาก ผลคะแนนการจัดลำดับสำนักต่างๆ เช่น DJSI หรือ WBCSD ที่เครือฯ มีคะแนนมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นที่น่าพอใจ แต่เราจะยังทำหน้าที่ของเราต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับห่วงโซ่อุปทานของบริษัท ที่มีความหลากหลายและซับซ้อน เนื่องจากขนาดธุรกิจของคู่ค้า มีตั้งแต่กลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดย่อย ขนาดย่อม และขนาดกลาง หรือ MSME ไปจนถึงขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ MSME”

“ทุกวันนี้เรามีการอบรม การประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน การจัดทำแผนการจัดการความเสี่ยงให้กับคู่ค้า เช่นเดียวกับที่เครือฯ ดำเนินการภายใน แต่ต้องยอมรับว่า บริษัทยังเผชิญข้อท้าทายต่างๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนและการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายชาติ รวมถึงนโยบายระหว่างประเทศ ซึ่งเราทุกคนต้องร่วมมือกัน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก”

“เครือฯ จะใช้พลังและศักยภาพที่มี สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ทั้งการเข้าร่วมผลักดันกับ UNGCNT เพื่อให้มีนโยบายโอบอุ้มคนตัวเล็กที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนมาทำธุรกิจที่ยั่งยืน เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือการเข้าถึงการลงทุนด้านความยั่งยืน”

“เราพร้อมจะขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านต่างๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายอันไม่จำเป็นในการจ้างงานแรงงานข้ามชาติ โดยนำเทคโนโลยีมาแทนที่ เพื่อลดกระบวนการที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และไม่จำเป็น รวมทั้งจะผลักดันให้การทำธุรกิจในประเทศไทย กลายเป็นธุรกิจที่ทุกฝ่ายต่างมีส่วนร่วม และได้รับประโยชน์ในทางสังคมเศรษฐกิจที่ยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน หรือที่เรียกว่า Inclusive Business เพื่อร่วมสร้างสังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืน”

อ่านรายงานสิทธิมนุษยชนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ที่ https://www.cpgroupglobal.com/storage/document/additional-topic-specific-reports/2023/human-rights-report-full-2023-th.pdf

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

Cozy Cream

ไม่ใช่โซดา อย่ามาซ่ากับพี่