มาถึงตอนนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเสียงดนตรีมีส่วนเชื่อมโยงกับมนุษย์ทั้งกายและใจ เป็นดั่งยาแก้ปวด หรือแม้กระทั่งเป็นตัวช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้เราได้มีแรงเดินหน้าต่อ
และนี่คงเป็นยิ่งกว่าพรสวรรค์ด้านความบันเทิงของมนุษย์ ในยามวิกฤตโรคระบาด มีข่าวให้เครียดกันรายวัน แต่ท่ามกลางข้อมูลตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อเหล่านั้น เราได้เห็นคนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกสร้างพื้นที่รื่นรมย์ให้หัวใจไม่เครียดและตื่นตระหนกกันจนเกินไป
ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ ในประวัติศาสตร์นักดนตรีและเหล่าคนสร้างสรรค์งานเพลงล้วนแล้วแต่ใช้เครื่องดนตรีปลอบประโลมหัวจิตหัวใจกันมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นช่วง 9/11 ที่นักร้อง-นักแต่งเพลงคันทรีชาวอเมริกันอย่าง Alan Jackson ปล่อยเพลง Where Were You (When the World Stopped Turning) ออกมาหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปเดือนกว่าๆ หรือเพลงเกี่ยวกับการระบาดของโรคเอดส์ อย่าง That’s What Friends Are For ที่แต่งโดย Burt Bacharach และ Carole Bayer Sager ตั้งแต่ปี 1982 และกลับมาโด่งดังในเวอร์ชั่นคัฟเวอร์โดย Dionne Warwick จนได้รับรางวัล Song of the Year บทเวที Grammy ในปี 1986
แต่สำหรับยุคนี้ที่แพลตฟอร์มมากมายเติบโตขึ้น ทำให้มีนักดนตรีมือสมัครเล่นวาดลวดลายโชว์ความครีเอทีฟให้พวกเราได้เห็นกันมากมาย ยืนยันได้จากจำนวนเพลงในเพลย์ลิสต์ The Sound of the Virus ในสตรีมมิงมิวสิกอย่าง Spotify ที่มีคนปล่อยเพลงเกี่ยวกับโควิด-19 ออกมาแล้วกว่า 1,896 เพลง
ว่าแต่คนทั่วโลกแต่งเพลงเกี่ยวกับโควิด-19 ไว้ยังไงบ้าง พวกเขาอยากสื่อสารอะไรผ่านเสียงเพลง หากนี่คือการบันทึกประวัติศาสตร์วิถีชีวิตของคนทั่วทุกมุมโลก โปรดเตรียมหูฟังหรือกดเพิ่มเสียงของลำโพงให้พร้อม เพราะต่อไปนี้คือความบันเทิงผ่านเมโลดี้ที่เรารวบรวมมาให้ฟัง
เพลงเพื่อการป้องกันโรค
การนำเพลงมาประกอบให้เข้ากับความรู้เรื่องอาการของโรค วิธีการป้องกัน โดยเฉพาะเพลงประกอบการล้างมือ ทำให้คนเข้าถึงและเข้าใจเกี่ยวกับโรคได้ง่าย
เริ่มกันตั้งแต่แถบแอฟริกาใต้ กลุ่มนักร้องประสานเสียงชื่อว่า Ndlovu Youth Choir ซึ่งเคยแสดงในรายการ America’s Got Talent เมื่อปีที่แล้ว พวกเขาแต่งเพลงเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองในช่วงโควิด-19 ระบาดออกเผยแพร่ โดยเนื้อหาว่าด้วยเรื่องการล้างมือและ social distancing ด้วยความยาวนาทีนิดๆ
เพลงมีเนื้อหาทั้งภาษาอังกฤษและซูลูเพื่อบอกทุกคนว่าอย่าตื่นตระหนก เพราะข่าวสารทุกวันนี้อาจมีเฟคนิวส์ ทำให้คนเข้าใจผิดกันมาก พวกเขาจึงตั้งใจมาบอกวิธีการป้องกันตัวที่ถูกต้อง และอย่าลืมล้างมือ เลี่ยงการสัมผัสใบหน้า คลิปการแสดงพร้อมชุดประจำชาติสีสันสดใสของพวกเขาปล่อยในทวิตเตอร์ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
There are already many dangerous myths and misunderstandings about the Coronavirus/COVID-19. We would like to assist by sharing a short video where we explain some basic guidelines. @HealthZA @ndlovucaregroup @WHO #coronavirus pic.twitter.com/NRlng90hNS
— Ndlovu Youth Choir (@ChoirAfrica) March 10, 2020
ถ้ายังจำเพลง PPAP (Pen Pineapple Apple Pen) ของ PIKATARO ได้ รอบนี้เขากลับมากับทำนองสนุกๆ เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเนื้อเพลงที่สนับสนุนให้ป้องกันตัวเองด้วยการ wash, wash, wash พร้อมมีท่าล้างมืออย่างถูกวิธีเป็นการเต้นประกอบด้วย

อีกหนึ่งเพลงที่กลายเป็นไวรัลในวงการเพลงคือการรีมิกซ์เสียง Cardi B แรปเปอร์สาวที่ออกมาเตือนเรื่องไวรัสในช่วงที่ชาวอเมริกันยังไม่ตื่นตัวมากผ่านอินสตาแกรมตัวเอง เมื่อ DJ iMarkkeyz ได้ดูคลิปนั้นจึงเกิดแรงบันดาลใจเอาเสียงพูดของแรปเปอร์สาวในช่วงท้ายมารีมิกซ์เป็นเพลงแรปจังหวะมันๆ
หลังจากปล่อยเพลงผ่านแอพฯ สตรีมมิงมิวสิก เพลง Coronavirus (Feat. Cardi B) ก็ทะยานสู่อันดับ 1 ในชาร์ต iTunes และ Cardi B ได้ให้ดีเจเจ้าของผลงานใช้ชื่อเธอในเพลงเพื่อแชร์ในสตรีมมิงมิวสิกได้ ทั้งสองยังนำเงินรายได้จากเพลงนี้บริจาคให้กับคนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย

เพลงแห่งกำลังใจ
กำลังใจพร้อมเสียงเพลงนับเป็นความชุ่มชื่นหัวใจอีกทาง เหล่านักดนตรีทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นจึงปล่อยเพลงเพื่อให้กำลังใจกันและกัน ไม่ว่าจะฮิปฮอปหรือลูกทุ่งก็มีให้ฟังกันทั้งนั้น
อย่าง CoronaVirus Rap song เพลงแรปภาษาจีนของ Percy Akuetteh นักศึกษาแพทย์ชาวกานาซึ่งกำลังเรียนที่ Wenzhou Medical University ประเทศจีน งานอดิเรกของเขาคือการแต่งเพลงกับเพื่อนๆ ในวง เขาเลยแต่งเพลงแรปด้วยภาษาจีนเพื่อให้กำลังใจประชากรโลกให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ เพลงนี้ปล่อยออกมาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากให้กำลังใจแล้วเขายังให้คำแนะนำและบอกอาการของโรคในเนื้อเพลงด้วย

ลองกลับมาดูฝั่งของไทย เหล่าศิลปินลูกทุ่งก็ออกเพลงมาให้กำลังใจคนไทยในช่วงต่อสู้ไวรัสนี้เช่นกัน โดยเฉพาะจินตหรา พูนลาภ ที่ปล่อยออกมาแล้ว 2 เพลง ทั้ง โควิดมาน้ำตาไหล และ ใส่แมสคอยอ้าย นอกจากนี้ยังมียิ่งยง ยอดบัวงาม กับผลงานเพลง ห่วงเธอเจอโควิด19 มาอีกด้วย


Parody of Virus
ไม่ใช่แค่การแต่งเพลงขึ้นมาเอง แต่ยังรวมถึงความสร้างสรรค์ของเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในโซเชียลมีเดียที่นำเพลงระดับตำนานมาแปลงเนื้อให้เข้ากับสถานการณ์และร่ายร้องจนเหมือน (และฮา) ยิ่งกว่าต้นฉบับ
เริ่มกันตั้งแต่เพลงดังในตำนานของ Queen อย่าง Bohemian Rhapsody ที่มียูทูบเบอร์ชื่อ Adrian Grimes มาแต่งเนื้อร้องใหม่ ทำให้คนสนใจจนมียอดวิวถึง 4 ล้าน

แต่คนที่ดูจะประสบความสำเร็จไม่แพ้กันคือ Chris Mann นักร้อง-นักแต่งเพลงชาวอเมริกันที่หยิบเอาเพลงสุดฮิตมาแปลงเนื้อร้องพร้อมทำเอ็มวีอยู่บ้านเองได้อินสุดๆ ไม่ว่าจะเป็น Hello (from the Inside) ที่หยิบเอาเพลง Hello ของ Adele มาทำล้อเลียนที่ตัวเองต้องกักตัวในบ้าน หรือการล้อเลียนเพลงของ Lizzo จนมาเป็น Bored as Hell


The Sound of COVID-19
มาลองคิดเล่นๆ กันดูว่า ถ้าหากไวรัสส่งเสียงได้ เราจะได้ยินท่วงทำนองแบบไหน หากคุณไม่อาจจินตนาการได้ (หรือไม่อยากจะจินตนาการถึงสักเท่าไหร่) ศิลปินจากเว็บไซต์ shardcore อย่าง Eric Drass เอางานศึกษาโครงสร้างโควิด-19 ของ National Center for Biotechnology Information มาใส่โน้ตดนตรีที่น่าจะสอดคล้องกับโครงสร้างรหัสไวรัสจนกลายมาเป็น The sound of COVID-19
ว่ากันว่าเมื่อได้ฟังดนตรีที่เอริกจินตนาการเสียงของโควิด-19 ออกมาแล้ว ฟังดูเหมือนเพลงประกอบฉากโจรกรรมข้อมูลในภาพยนตร์ยุค 80s แล้วคุณคิดว่าเหมือนดนตรีประเภทไหน ต้องลองฟัง

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะมีนักวิทยาศาสตร์อีกคนที่สร้างสรรค์ซาวนด์จากไวรัสอย่างจริงจัง นั่นคือ Markus J Buehler เขามองว่าเซลล์โปรตีนและเซลล์ขนาดเล็กไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เขาจึงใช้เทคโนโลยีคำนวณโครงสร้างกรดอะมิโนและโปรตีนอื่นๆ ในเชื้อ 2019-nCoV แล้วสร้างเป็นดนตรีขึ้นมา
มาร์คัสบอกว่าสิ่งที่เราได้ยินจากเพลงนี้คือ องค์ประกอบของอัลกอริทึมหลายชั้นที่มีการสั่นสะเทือนสเปกตรัมของโปรตีนทั้งหมด ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นองค์ประกอบของจังหวะและดนตรีนั่นเอง ดังนั้นจะเรียกว่าเรากำลังฟังเสียงของโปรตีนอยู่ก็ไม่ผิดนัก
เสียงเพลงคือยาแก้พิษแห่งความกังวล
กระแสการใช้เพลงเป็นเครื่องปลอบประโลมใจในช่วงไวรัสระบาดดูเหมือนจะกลายเป็นป๊อปคัลเจอร์ได้ไม่ยาก ถึงขั้นที่ Jody Rosen นักเขียนชาวอเมริกัน เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า pandemic pop กันเลย
แล้วทำไมทุกคนถึงใช้เสียงเพลงในช่วงที่มีวิกฤตโรคระบาดมากขนาดนี้?
World Economic Forum บอกว่า เพลงทำให้คนรู้สึกมีส่วนร่วม เป็นเหมือนยาแก้พิษในยามที่เราต้องกักตัวที่บ้าน ลดการพบเจอกับคนอื่นๆ ในสังคม เมื่อผู้คนเผชิญกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์และความตื่นตระหนกต่างๆ เสียงเพลงจึงเป็นยารักษาใจอีกทางเลือกหนึ่งของใครหลายคนนั่นเอง
อ้างอิง