นับถอยหลังสู่งาน “สถาปนิก’67” จัดยิ่งใหญ่ภายใต้แนวคิด Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์

นับถอยหลังสู่งาน “สถาปนิก’67” จัดยิ่งใหญ่ภายใต้แนวคิด Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์

ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับ “สถาปนิก’67”  งานแสดงผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมและสินค้านวัตกรรมเพื่อการก่อสร้างที่ใหญ่ระดับนานาชาติ จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งปีนี้กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้ธีม ‘Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์’ มุ่งเน้นสร้างการรับรู้ให้ผู้คนจากทั่วโลก ได้สัมผัสและเข้าใจงานสถาปัตยกรรมและการออกแบบที่ไร้ขอบเขต เช่นเดียวกับภาษาที่มีความหลากหลาย ในการนี้ ชุตยาเวศ  สินธุพันธุ์ และ กุลธิดา ทรงกิตติภักดี ประธานจัดงานสถาปนิก’67 ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงความพร้อมและไฮไลต์ความน่าสนใจที่จะเกิดขึ้น

  • จุดเริ่มต้นจนมาถึงงานสถาปนิก ’67

ชุตยาเวศ : สำหรับงานสถาปนิกได้มีการจัดขึ้นมาหลาย 10 ปีแล้ว โดยทาง สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวัตถุประสงค์จัดงานขึ้นในตอนนั้นเพื่อเผยแพร่วิชาชีพและผลงานสถาปัตยกรรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ซึ่งจุดเริ่มต้นเมื่อก่อนเริ่มจากการที่เหล่าสถาปนิก มารวมตัวกันจัดเป็นนิทรรศการก่อนตามโรงแรมต่างๆ ในการนำเสนอผลงานให้สถาปนิกมาดูกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ผลงานกันเองเท่านั้น เนื่องจากเมื่อก่อนไม่มีโซเชียลมีเดียเหมือนปัจจุบันที่จะสามารถประชาสัมพันธ์การจัดงานให้คนทั่วไปรู้จักในวงกว้างได้มาก แต่จากจุดเริ่มต้นครั้งนั้นทำให้คนเริ่มได้เห็นงานว่าจริงๆ แต่ละบริษัทสถาปนิก ทำงาน มีผลงานอะไรกัน แล้วก็มีการเชิญนักพูด อาจารย์หลายๆ ท่านระดับโลกที่เป็นสถาปนิกมาพูดในงานจำนวนมาก  จนได้เติบโตมาต่อเนื่องและถูกขยายสเกลงานจัดงานมาเป็นการจัดทำเอ็กซิบิชันที่ศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ขึ้น จนปัจจุบันงานสถาปนิกได้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปที่สนใจได้เข้ามาร่วมชมงาน และให้ได้รู้ว่าสถาปนิกมีหน้าที่อะไร ทำอะไรสำหรับสังคมต่างๆ โดยงานดังกล่าวจะเป็นงานที่แสดงเกี่ยวกับการก่อสร้าง คอนสทรัคชั่น อินทีเรีย และ แลนสเคปต่างๆ เป็นต้น ที่จะนำเทคโนโลยีที่พัฒนาใหม่ๆ พร้อมเทรนด์การออกแบบที่กำลังเป็นกระแส เป็นเทรนด์ของโลกในแต่ละปี ไม่ว่าจะของประเทศไทย และจากหลากหลายประเทศ มานำเสนอจนเป็นที่จับตาของหลายๆ ประเทศในแถบของอาเซียนที่เดินทางมาดูงานดังกล่าวในประเทศของจนหลายๆ ประเทศบอกต่อกันไป ทำให้งานสถาปนิกของไทยกลายมาเป็นฟอร์แมตในรูปแบบงานปัจจุบันที่มีสเกลใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปีนี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 36 แล้ว โดยความสำเร็จดังกล่าวทางสมาคมได้ขยายความให้ชัดเจนขึ้นให้ตรงกับบริบท ณ ปัจจุบันมากขึ้น และตรงกับความต้องการของทั้งทางวิชาชีพเองแล้วก็ทางบุคคลทั่วไปด้วย

  • ธีมงาน ‘Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์’

กุลธิดา :  จากการที่เราได้ระดมความคิดกันในการคิดธีมงานในปีนี้ภายใต้ชื่อ ‘Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์’ นั้นเราได้ไปดูธีมงานระดับโลกมา อาทิ งานเวนิสฟินาเล่ หรือ งานมิลานแฟร์ เป็นต้น ว่าเค้าจัดงานในรูปแบบใด จนทำให้เราได้ศึกษาและค้นพบว่าธีมที่ยังไม่เคยมีการแสดงความชัดเจนคือความเป็นภาษากลางของสถาปัตยกรรมเพราะที่ผ่านมาเราจะพูดกันถึงตัวตนความเป็นคนไทย (Thai identity) ในเรื่องของการอยู่ดีกินดี หรือมรดกตกทอดขนบธรรมเนียมทางประเพณีและวัฒนธรรม เป็นต้น ปีนี้เราเลยเริ่มมองไปสู่เทรนด์โลกมากขึ้นเพราะเราต้องการอยากให้งานออกมาเหมือนเป็นการรวมตัวของผู้คนทั่วโลก มีความเป็นโกลบอลในระดับต่างประเทศมากขึ้นเลยเกิดเป็นที่มาของธีมงาน ‘Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์’ ที่จะมีการรวมตัวของสมาคมพันธมิตรกว่า 22 ชาติ ในกลุ่มประเทศสมาชิกของสภาสถาปนิกแห่งเอเชีย (Arcasia) รวมประเทศไทยมาร่วมในงานนี้ เพื่อเป็นการนำเสนอถึงอัตลักษณ์ของการสื่อสารด้วยภาษาที่ไร้ขอบเขตของสถาปนิกและนักออกแบบ เน้นย้ำถึงความสำคัญของงานสถาปัตยกรรมและการออกแบบที่สัมผัสได้โดยผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก

ชุตยาเวศ : สำหรับธีมงาน ‘Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์’ ปีนี้ เราจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรก ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพของคนไทย โดยสมาชิกในสมาคมสถาปนิกสยามที่ทุกคน ทุกวิชาชีพสามารถจะเอาผลงานของตัวเองมาแสดงในงานได้ โดยจะจัดนิทรรศการตามธีมงานของปีนี้เลย โดยจะแบ่งเป็นคอนเทนต์หลักๆ 3 แนวคือ แนวทางการออกแบบที่มีการรวมผลงานประเทศสมาชิกของ Arcasia สมาคมวิชาชีพสถาปัตย์กว่า 20 ประเทศ ที่เราเชิญมาทุกประเทศมาร่วมงาน และ ส่วนที่ 2 ตัวอาษาฟอรั่มปีนี้ก็มีคนมาพูดจากทั่วทุกทวีป มีคนอเมริกันที่มาทำงานสิงคโปร์ มีคนบังคลาเทศที่ไปสอนอยู่อเมริกา ฮาวาร์ด มีอเมริกันใต้ที่ไปทำงานอิตาลี  ซึ่งจะมีคนต่างๆ เหล่านี้มาร่วมพูดในงาน รวมถึงจะมีการแสดงของสถาปนิกคนไทยและสถาปนิกในเอเชียด้วย

  • ความคืบหน้า และความพร้อมในการจัดงานในงานสถาปนิก’67

ชุตยาเวศ : ตอนนี้ความพร้อม 100 % แล้วโดยเฉพาะคณะทำงานแต่ละในนิทรรศการ โดยการจัดแสดงของแต่ละสมาชิกปีนี้เราได้ทำการจัดกลุ่มให้เวลาคนเดินชมจะได้สามารถเดินชมได้ตามแต่ละโซนโดยไม่ต้องเดินไปเรื่อยๆ เราได้เปิดตัวหลายกิจกรรมออกมาแล้ว อาทิ กิจกรรมพิเศษ ASA Experimental Design Competition เชิญชวนนักออกแบบ ทั้งมืออาชีพ สมัครเล่น นักเรียน นักศึกษา บุคคลทั่วไป ร่วมส่งผลงานประกวดแบบแนวทางความคิดสร้างสรรค์ ตอบโจทย์ความรู้สึกของผู้คนกับเมืองผ่านคำจำกัดความว่า “สัมผัส” สะท้อนการออกแบบที่ไม่จำกัดพื้นที่และขนาด โดยใช้กรุงเทพเป็นกรณีศึกษาเพื่อหาความเหมือนที่แตกต่าง ถ่ายทอดออกมาผ่านการสัมผัสการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ ในสภาพแวตล้อมต่างๆ ในสังคม เช่น อัตลักษณ์ของตัวเมือง วิถีชีวิตของผู้คน และงานสถาปัตยกรรม โดยปีนี้กรรมการจะมาจากทุกมุมโลก

กุลธิดา :  : สำหรับงานปีนี้เรายังได้มีการจัดกิจกรรมให้ครอบคลุมทุกวัย ตั้งแต่เด็กที่จับดินสอได้แล้ว จนถึงเด็กโตจนถึงเรียนมหาวิทยาลัย เราก็ได้มีการจัดโซนพื้นที่ให้เด็กๆ  มาทำการเวิร์กช็อปมากมาย เพื่อให้ได้รู้เกี่ยวกับงานทางด้านสถาปนิกว่าเป็นอย่างไร เพื่อในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนได้ว่าอนาคตจะมีความชอบด้านนี้ หรืออยากเรียนหรือทำงานด้านนี้หรือไม่ในอนาคต

  • สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้ร่วมงาน และไฮไลต์งานครั้งนี้

ชุตยาเวศ :  ปีนี้เราจะต่อยอดจากปีที่แล้วด้วยการเชิญสมาคมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบ มัณฑนากร สมาคมภูมิสถาปนิก สมาคมผังเมือง รวมถึงสภาสถาปนิก ก็มารวมตัวกันในงานนี้ โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายหลักๆ ของการจัดงานครั้งนี้คือ สถาปนิก และนักออกแบบคนที่อยู่ในวงการที่เราอยากให้เขามาดู อีกทั้งปีนี้พวกเขายังจะได้ดูงานของชาติอื่นๆ ที่เราคัดสรรมา จัดแสดง และฟอรั่มดีๆ อีกด้วย นอกจากนี้ กลุ่มเป้าหมายรองลงมาคือ บุคคลทั่วไปที่กำลังสร้างบ้าน สร้างอาคาร สนใจอยากมาได้เห็นนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ โดยเราจะนำซัพพลายเออร์ใหม่ๆ จากต่างประเทศมาโชว์ในงานนี้จำนวนมาก

กุลธิดา :  ส่วนไฮไลต์งานครั้งนี้การออกแบบปีนี้ได้มีการเปลี่ยนวิธีการออกแบบพื้นที่อิมแพ็ค อารีน่า มีการนำระบบดิจิทัลเข้ามาจัดงานมากขึ้น และเราจะมีโซนพื้นพิเศษที่ให้คำปรึกษา ใครมีที่ปัญหา เจ้าของโครงการมีปัญหาอยากได้คำปรึกษา เรามีสถาปนิกอาสาให้คำปรึกษาเรื่องต่างๆ ในงานสถาปัตยกรรม ฟรี ในงานนี้ สรุปแล้วไฮไลต์ปีนี้ไม่ควรพลาดทุกอัน ในการจัดนิทรรศการทั้งหมด 6 วัน เพราะในแต่ละวันจะมีความพิเศษแตกต่างไม่เหมือนกัน  

  • คาดหวังผลสำเร็จของการจัดงานปีนี้

ชุตยาเวศ :  เรามั่นใจว่างานสถาปนิกมันเป็นงานระดับ Reginal ไปแล้ว เพราะมีคนจากหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศแถบอาเซียนต้องการมางานนี้จำนวนมาก ทั้งซัพพลายเออร์ และบุคคลที่อยู่ในสายอาชีพดังกล่าว อีกทั้งบุคคลทั่วไป เพราะตั้งแต่เราจัดงานมาจนถึงปีนี้ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีมาโดยตลอด แต่สำหรับปีนี้เราคาดหวังอยากให้การจัดงานครั้งนี้ก้าวสู่รีจีนอล เอ็กซิบิชั่น เอ็กโปร อย่างเต็มรูปแบบ

กุลธิดา :  สำหรับความตั้งใจของงานสถาปนิกปีนี้เราก็อยากให้สถาปนิกไทยได้เห็นมุมมองอะไรใหม่ๆ นอกจากมองตัวเอง ให้ได้เห็นมุมมอง ไอเดียจากสถาปนิกของคนอื่นๆ ประเทศอื่นๆ  เพื่อเอากลับมาทบทวน สิ่งที่ตัวเองทำอยู่ว่าของเราอยู่ในระดับไหน ก็หวังว่างานนี้จะให้ประโยชน์กับสถาปนิกไทยมากที่สุด

  • เชิญชวน ผู้ที่สนใจมาร่วมงาน

ชุตยาเวศ :  ผมอยากบอกว่ามันเป็นงานที่สำคัญสำหรับสถาปนิก และนักเรียนสถาปัตย์ ควรจะมางานครั้งนี้ มาฟังฟอรั่ม ดูนิทรรศการ เพื่อไปพัฒนาความรู้ตัวเองได้อย่างเต็มที่  ส่วนคนทั่วไป ผมอยากให้มาชม มาทดลองกิจกรรมในงาน มาเห็นของจริงด้วยตาตัวเองอย่างเต็มที่คุณจะได้ประโยชน์จากตรงนั้นอย่างมาก และสำหรับคนที่กำลังอยากจะสร้างบ้าน สร้างตึก ให้คุณได้มาเห็น มาดูงานที่คุณชอบ แล้วก็ไปพัฒนาต่อยอดในสิ่งที่คุณกำลังอยากจะทำซึ่งจะทำให้คุณได้ไอเดียอะไรใหม่ๆ น่าสนใจกลับไปอย่างแน่นอน

กุลธิดา :  ปีนี้เราได้จัดงานเป็นหมวดหมู่ ทำให้เดินชมง่าย สะดวกตามความสนใจ ดังนั้นเราจึงอยากเชิญชวนกลุ่มนักศึกษาให้มางานนี้ เพื่อที่คุณจะได้มีความรู้ แล้วพวกเขาจะได้รู้ว่า สิ่งที่เขาเรียนมาในคณะ มันมีเรื่องที่เขาต้องเรียนอีกเยอะมากนอกคณะ มันมีงานนิทรรศการมหาวิทยาลัยด้วย มันครอบคลุมทุกอย่าง เขาจะได้เห็นความรู้ เรียนรู้เพิ่มเติม เขายังได้เห็นเพื่อนมหาวิทยาลัยอื่น ก็ทำให้แวดวงการศึกษาเมืองไทยมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นด้วย อีกทั้งยังอยากเชิญชวนครอบครัวมาได้ทั้งหมด สามารถเอาลูกมาในงานนี้ได้เลยเพราะเราจะมีโซนพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรม ส่วนคุณพ่อแม่มาก็สามารถไปเดินดูนิทรรศการ กิจกรรมในงานได้อย่างสบายใจได้เลย   

AUTHOR