‘พวกเราอยู่ในยูโทเปียหรือดิสโทเปียกันแน่’ เอมอัยย์ พลพิทักษ์ นักเขียนบทและผู้กำกับ Cloud Cuckoo Country

“นี่เธอยังเป็นสลิ่มอยู่ปะ”

ประโยคข้างต้นคือไดอะล็อกส่วนหนึ่งของ trailer หนังสั้นเรื่อง Cloud Cuckoo Country ที่ปล่อยเมื่อช่วงต้นปีจนกลายเป็นกระแสไวรัลในโซเชียลมีเดียอยู่พักหนึ่ง บทสนทนาของอดีตคู่รักที่เลิกรากันไป บังเอิญกลับมาเจอกัน พูดคุยเรื่องราวในชีวิตตั้งแต่การงาน ครอบครัว ชีวิตรัก ก่อนที่การสนทนาจะเปลี่ยนไปสู่เหตุผลที่พวกเขาเลิกกันในตอนแรก นั่นคือเรื่องการเมือง

ภายในคลิปเพียงไม่กี่นาทีที่เต็มไปด้วยด้วยคำพูดที่ตรงไปตรงมาของตัวละคร โดยมีฉากหลังเป็นสถานที่สำคัญเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ในย่านพระนคร มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่าเรื่องนี้จะได้ฉายในประเทศไทยหรือไม่ ยังไม่ทันไรก็มีคนบางกลุ่มออกมาฟันธงแล้วว่ายังไงเรื่องนี้ก็โดนแบน ไม่อนุญาตให้ฉายในไทยอย่างแน่นอน

สารภาพว่าตอนนั้นเราเองก็สนใจประเด็นนี้อยู่ไม่น้อย

เวลาผ่านไปถึงช่วงกลางปี หนังก็ได้เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ครั้งแรกที่ Osaka Asian Film Festival 2022 และเทศกาลอื่นๆ อีกมากมายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเกียวโต นิวยอร์ก มุมไบ ลอนดอน และโซล

จนกระทั่งล่าสุด ทางหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครก็กำลังจะนำมาฉายในไทยเป็นครั้งแรกในวันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายนนี้

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราอยากชวน เอมอัยย์เอมอัยย์ พลพิทักษ์ หญิงสาวผู้รับหน้าที่เป็นทั้งคนเขียนบทและผู้กำกับในวัยเพียง 24 ปี มาพูดคุยถึงเบื้องหลังเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบของหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศในช่วงหน้าฝน ท่ามกลางเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง พร้อมกับรถตู้คอนเทนเนอร์ที่ปิดเส้นทางตลอดเวลาจนทำให้มีระยะเวลาถ่ายทำอย่างจำกัด และบทบางส่วนของหนังที่โดนสั่งให้เอาออก อีกทั้งยังถูกนักแสดงมากมายปฏิเสธบทครั้งแล้วครั้งเล่า รวมไปถึงข้อสงสัยอื่นๆ เราจึงติดต่อหาเธอเพื่อขอสนทนาขยายความ

แน่นอน สิ่งที่เราคุยกันไม่ได้เจาะจงอยู่แค่เรื่องหนังและการเมืองเท่านั้น แต่มันครอบคลุมถึงวงการอุตสาหกรรมสื่อและความหวังของคนรุ่นใหม่ในประเทศนี้ ก่อนขยายไปไกลถึงคุณภาพชีวิตและตั้งคำถามให้ชวนคิดต่อกันอีกมากมาย

เธอมองหนังเรื่องนี้อย่างไร และได้เรียนรู้อะไรบ้าง คำตอบอยู่ในบรรทัดถัดไปแล้ว

1

เรื่องทุกอย่างมันมีรากอยู่ที่นี่

แดดร้อนในยามบ่าย เรานัดกันที่ร้านแฟแห่งหนึ่งย่านเมืองเก่าพระนคร ย่านที่เต็มไปเรื่องราวประวัติศาสตร์ หากเดินออกไปไม่ไกลนักก็จะพบสถานที่สำคัญของหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงกลาโหม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และสนามหลวง เราตั้งใจว่าเมื่ออากาศดีกว่านี้จะไปเดินถ่ายรูปเล่นกันรอบเมือง พลางพูดคุยเรื่องการเมืองท่ามกลางผู้คนที่ผ่านไปมา

“ปกติมาแถวนี้บ่อยมั้ย” เรากล่าวทักทายและชวนคุย

“ตอนเรียนเรามาแถวนี้บ่อยมาก จริงๆ ไม่ได้นับถือศาสนาอะไรมากมาย แต่ว่าชอบไปวัด ไปโบสถ์ ดูตึก ดูสถาปัตยกรรม เรามองว่ามันสวยดี อาจจะเป็นเพราะว่าเราชอบประวัติศาสตร์อยู่แล้วด้วย”

“ทำไมถึงเลือกสถานที่ถ่ายทำเป็นย่านพระนคร” เราเริ่มต้นคำถามด้วยความสงสัย

“จริงๆ เราเคยอยากถ่ายหนังย่านนี้มานานแล้ว สถานที่ตรงนี้เป็นย่านที่มีทั้งอดีต ปัจจุบัน และมองเห็นอนาคตของประเทศเป็นยังไงได้จากที่ตรงนี้ เป็นสถานที่ที่เส้นแบ่งกั้นระหว่างดิสโทเปียและยูโทเปีย คนที่รักก็จะบอกว่าสวยเพอร์เฟกต์ คนที่เกลียดก็แสนเกลียด ส่วนเราทั้งเกลียดและรัก ถ้ามองที่นี่เราว่ามันเห็นอะไรเยอะ เห็นความเชื่อที่หนักแน่น เห็นสิ่งที่เขาพยายามจะกีดกัน พยายามจะเชิดชู เห็นว่าเมืองนี้ถูกสร้างมาให้ใคร ใครซัพพอร์ตและมันอยู่เพื่อใคร

“ความจริงแล้วชื่อเรื่อง Cloud Cuckoo Country มาจากบทละครกรีก ของ Aristophanes called The Birds cloud cuckoo land เมืองที่นกทั้งหลายอยากไปถึง เราก็เอามันมาบิดแล้วพูดถึงประเทศของเรา ให้มัน specific กว่าว่าเรากำลังพูดถึง this country สำหรับเราเขตพระนครก็เป็นนักแสดงหลักอีกคนหนึ่ง ถ้าจะพูดเรื่องปัญหาการเมืองไทยก็ต้องพูดถึงรากของมันด้วย เราว่าทุกอย่างมันมีรากอยู่ที่นี่นะ จะไม่พูดถึงคงเสียดายแย่”

“คุณเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่” เราถามให้เธอคิดต่อ

“เอาจริงๆ เราไม่รู้เลยว่าเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่ตอนไหน เพราะเราไม่เคยรู้สึกว่าการเมืองแยกออกจากชีวิตเลย”

2

เราไม่เคยรู้สึกว่าการเมืองแยกออกจากชีวิต

ด้วยความที่เอมอัยย์เป็นหญิงสาวที่เติบโตมาในครอบครัวที่เปิดกว้างทางด้านการเมือง และปลูกฝังให้เธออ่านหนังสือประวัติศาสตร์ตั้งแต่เด็ก ทำให้เธอรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องที่สามารถคุยเล่นกันได้

“บ้านเรามีคนหลายแบบอยู่แล้วตั้งแต่แรก สมัยก่อนคุณยายเคยโดนแจ้ง 112 คุณย่าเป็นนักศึกษาสมัย 14 ตุลา 6 ตุลา แล้วก็มีคนที่ชอบพระนเรศวรมากอยู่ที่พิษณุโลก พอมันมีคนหลายแบบเราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันมีความจริงชุดเดียวตั้งแต่แรก เพราะทุกคนเถียงกันมาตลอดอยู่แล้ว ไม่ได้รู้สึกว่ามันแปลก แตกต่าง หรือโลกมันเปลี่ยนไป”

“เราเติบโตมาในครอบครัวที่เปิดกว้างมากๆ เชื่ออะไรก็ได้ คิดอะไรก็ได้ มีบทสนทนาที่สนุกๆ ได้ในทุกเรื่อง คุณพ่อคุณแม่สมัยใหม่ตามโลกทัน เล่นทวิตเตอร์ และไม่ได้มีทิฐิอะไร กล้าถามในสิ่งที่เขาก็ไม่รู้ แล้วเราถูกสอนว่าอยากรู้อะไรต้องอ่านเอาเอง ต้องหาความรู้เอง จำได้ว่าตอน ม.ต้นอยากรู้เรื่องประวัติศาสตร์พ่อขับรถพาไปหอสมุดแห่งชาติให้เดินหาหนังสืออ่านเอง เป็น observer กับเรื่องราวรอบตัวมาตลอด เราเลยตั้งคำถามได้กับทุกอย่าง

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาวารสารสนเทศและสื่อใหม่ คือก้าวต่อไปที่เธอเลือก นอกจากจะได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองหวังแล้ว เธอเล่าให้ฟังว่าตัวเองได้ทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย หนึ่งในกิจกรรมที่เธอชอบมากที่สุดคือการเขียน เธอเขียนทุกอย่างที่เราจะจินตนาการได้ไม่ว่าจะบทการแสดง หนังสือ ไปจนถึงเขียนบทพูดอภิปรายในสภาฯ ให้นักการเมือง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับตอนที่เธอกำลังเขียนบทเรื่อง Cloud Cuckoo Country

“สมัยเรียนเราทำหนังทำละครกับเพื่อนๆ มาตลอด เราทำละครนิเทศทุกปี ช่วงท้ายๆ ของการเรียนเราก็ได้ทำกิจกรรมทางการเมืองเยอะมาก เป็นช่วงเดียวกับกลุ่มของเพนกวินเพิ่งเริ่มมีม็อบ จุฬาฯ มีม็อบครั้งแรก เราก็ได้จัดกับเพื่อน ได้ทำอะไรแปลกๆ

“เราเริ่มเขียนบทเรื่องนี้ช่วงที่ไปทำงานเป็นทีมเขียนบทพูดอภิปรายในสภาฯ เขียนขึ้นมาจากการที่เรานั่งฟังอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกวัน แล้วคิดว่าคนเขาดูกันไหมเนี่ยยยยยย (ลากเสียง) มันดูห่างไกลผู้คนจังเลยพอพูดกันเรื่องนโยบาย เรื่องงบประมาณ มันไม่ใช่เรื่องที่เขาจะสนใจได้ทันที ทั้งที่เรามองว่าเมืองสร้างคน”

“ต้องเข้าสภาฯ ทุกวัน ตอนนั้นคุณรู้สึกยังไงบ้าง”

“โห รู้สึกว่าการไปสภาฯ มัน depressing มากเลย ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ใช่นักการเมืองด้วยซ้ำนะ เราเป็นนักเขียนบท เป็นฝ่ายสื่อ ทุกเช้าเข้าไปทำงานหน้าสภาฯ จะมีคนมาถือป้ายประท้วงแบบชาวนาไม่มีจะกินแล้ว แต่เราทำอะไรไม่ได้เลยนะเพราะเราตัวเล็กมากในนั้น และคนที่เขาทำอะไรได้เขาจะนั่งรถตู้ปิดม่านเข้ามา เขาไม่เคยเห็นสิ่งนี้ เรารู้สึกว่าถ้าอยู่ที่นี่ต่อไปต้องกลายเป็นคนแบบนี้แน่เลย กลายเป็นคนที่ไม่รู้สึกรู้สากับสิ่งเหล่านี้เพราะคิดว่ามันทำอะไรไม่ได้แน่เลย

“แต่ด้วยความที่ยังเด็กและยังช่างฝันได้อยู่เลยรู้สึกว่าเราสามารถทำอย่างอื่นที่มันอาจจะอิมแพ็กต์มากกว่ารึเปล่า เราไม่ได้บอกว่าการเมืองไม่มีอิมแพ็กต์อะไรกับคน มันมีอยู่แล้ว แต่เรารู้สึกว่าเรื่องความเชื่อความหวังของคนทุกอย่างมันเติบโตและปั้นได้ด้วยสื่อ แล้วเราอยากทำสื่อที่ดีเราก็เลยทำเรื่องนี้ออกมาเป็นบทสนทนาเล่าอย่างตรงไปตรงมา

“เล่าเรื่องการเมืองในมุมของความสัมพันธ์ ก็อาจจะเชื่อมโยงกับผู้คนได้มากกว่าแบบนั้นรึเปล่า” เราย้ำตามที่เข้าใจ

“ใช่ ตลอดชีวิตที่เราเกิดมา เราเห็นแต่บทสนทนาที่ขัดแย้งกันมาตั้งแต่เด็กเลยนะ ในสื่อโซเชียล ประเทศเราถูกแบ่งเป็นสองฝ่ายกลายๆ มาตลอด แม้มันจะมี spectrum อีกมากมายก็ตาม จะเห็นคนเถียงบนโต๊ะอาหารของพ่อกับเพื่อน เห็นในข่าว ในทวิตเตอร์ ถ้าจะพูดว่ามันเป็นบทสนทนาในตัวคนคนนึงก็พูดได้ อาจจะมีสักครั้งที่เราต้องเถียงกับตัวเองว่าเราอยู่ตรงไหนด้วยซ้ำ เราว่าคนไทยมีบทสนทนามากมายบนเรื่องการเมือง แต่มันถูกปิดไว้ ซ่อนไว้ในสัญญะต่างๆ ไม่เคยถูกบันทึกจริงจังเลย”

3

ขนมหวานต้องหวานจี๊ด

อย่างที่ทุกคนรู้กันว่า ในปัจจุบันคำว่า ‘สลิ่ม’ ไม่ใช่แค่ชื่อที่ใช้เรียกวิธีคิดทางการเมืองเท่านั้น แต่ถูกนำมาใช้ในบริบทที่กว้างขึ้นมาก ด้วยความที่หนังเรื่องนี้ตั้งใจไปฉายในเทศกาลต่างประเทศทั่วโลก เราจึงอยากรู้ว่าเธอนิยามคำนี้ว่าอะไร

“เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาของการทำศัพท์ช่วงแรกๆ เลย พอคำไหนมันแมสคนก็ช่วงชิงความหมายมันไปต่างๆ นานา บทนี้ทำตอนต้นปี 2021 ปลายปี 2022 ไปไกลกว่าเดิมแล้ว กว้างมาก จนไม่กล้าจำกัดความ ในหนังเราแปลว่า Conservative ใช่ไหม แต่หลังๆ เราแปลเป็นคำอื่น ใช้มาหลายคำมาก เพราะเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะใช้ Fascist เลยไหม แต่พวกเขาก็ไม่ใช่ Fascist มันจำกัดความได้ยากมาก สลิ่มสำหรับเราตอนนี้คือคนที่ไม่ฟังใคร ไม่เปิดใจเรียนรู้อะไรเลย สิ่งที่ฉันเชื่อต้องเป็นสิ่งที่ฉันเชื่อเท่านั้น ไม่มีข้อติ ห้ามสงสัย ขนมหวานต้องหวานจี๊ด”

“ทำไมถึงเลือกที่จะใช้คำศัพท์พวกนี้อย่างตรงไปตรงมา ในขณะที่หลายๆ เรื่องในไทยเลือกที่จะเล่าผ่านสัญลักษณ์หรือข้อความแทน” เราถาม

“ถ้าไม่มีใครพูดเราก็อยากพูด และมันก็เป็นปัจจุบันดี มันมีอยู่จริง มันมีอยู่มานานแล้ว มันแทบจะเป็นคำที่ยึดโยงไปชีวิตคนอยู่แล้วในทุกบทสนทนาตั้งแต่เลือกร้านข้าวยันคุยเรื่องผู้ชายที่เพื่อนแอบชอบ แต่หนังละครไทยมันเหมือนอยู่อีกโลกหนึ่ง ไม่ใช่โลกเดียวกับเราเลย ไม่ได้คุยกันด้วยภาษาเราคุย เหมือนอยู่ multiverse ไหนไม่รู้ โลกที่ไม่มีคำว่าสลิ่ม ไม่มีบทสนทนาทางการเมือง ไม่มีการทะเลาะกัน พอป๊อปคัลเจอร์ไม่ใช้ เราเลยอยากทำอะไรที่มันมีอยู่บ้าง

“ช่วงที่ปล่อย Trailer ไปวันสองวันแรกก็มีคนทวีตเลยว่าเรื่องนี้ถูกแบนไปแล้วในไทย น่าจะไม่ได้ฉาย ตอนนั้นไม่ได้ตั้งใจอะไรเลยนะ เพราะไม่ได้คิดว่าจะฉายที่ไทยอยู่แล้ว แต่ว่าเทศกาล Osaka Asian Film Festival เขาขอ Trailer เราก็เลยตัดส่งให้เขา ไหนๆ ตัดแล้วก็ลงสักหน่อยแล้วกัน แต่ปรากฎว่ามันแมสมาก ตอนนั้นก็เสียดาย ถ้าได้ฉายตอนนั้นคงจะขายบัตรได้เยอะมาก มีแต่คนถามว่าดูได้ที่ไหน แล้วมีคนไปเสิร์จว่า Cloud Cuckoo Country ดูฟรี ดูเถื่อน แต่มันไม่มีไง (หัวเราะ)”

“ตอนเขียนบทคุณคิดอะไร รีเสิร์จยังไงบ้าง”

เธอนิ่งคิดสักครู่ก่อนตอบ

“เอาจริงๆ เราว่าคนไทยทุกคนเขียนบทเรื่องนี้ได้ มันคือเรื่องของเราทุกคนอยู่แล้ว แต่อาจจะเป็นเพราะเราคุยกับคนเยอะ หยิบจับความรู้สึก บทสนทนาของคนหลายๆ แบบมาใส่ คิดอะไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร คุยหมด อยากรู้ความคิดทุกหมู่เหล่าให้มากที่สุด เราเป็นนักเรียนข่าวด้วยมั้ง เราชอบสัมภาษณ์

“ตอนนั้นก็มีคนส่งข้อความมาด่าเราในไอจีเรื่องม็อบด้วยนะ ด่าว่าอีบ้า อีหมาโดนจูงจมูก เราก็ถามกลับแล้วเธอล่ะเป็นใคร เธอคิดยังไง มองเรื่องนี้ยังไงเหรอ คุยกันยืดยาวจนเขาเล่าปัญหาที่บ้าน ปัญหาความเศร้าในชีวิตให้ฟังเฉย จนเราต้องบอกให้ใจเย็นๆ เลยอะ (หัวเราะ)

“หลังจากเก็บข้อมูลเขียนบทเสร็จแล้ว ตอนนั้นมีอะไรอีกมั้ยที่รู้สึกว่าเป็นอุปสรรค”

“นักแสดง” เธอชั่งใจสักครู่ก่อนจะเล่าต่อ “การหานักแสดงมาเล่นบทสลิ่มยากมากเลยนะในวงการไทย เราแคสนักแสดงนานมาก เริ่มเขียนบทเสร็จตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว แต่กว่าเราจะได้ถ่ายก็กันยาแล้ว นักแสดงมากมายไม่ว่าจะผู้หญิงผู้ชายมันไม่มีใครกล้าเล่นเลยเว้ย”

“พวกเขาให้เหตุผลว่าอะไร”

“อย่างที่บอกว่าทั้งคู่มันเป็นตัวละครที่มีความเชื่อมากๆ เต็มหัวใจ มีสิ่งที่ต้องพูดเยอะเพราะหนังมันเป็นหนังพูด เขาต้องพูดสิ่งเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา เขาก็ไม่กล้าบ้างล่ะ เดี๋ยวคนจะมองเขาไม่ดีบ้างล่ะ เขาบอกเขาไม่ใช่สลิ่มนะ บทนี้มันพูดแรงไป ไม่อยากให้ใครมองว่าเขาเป็นสลิ่ม

“หมายถึงทั้งนักแสดงรุ่นเก่ารุ่นใหม่เลยเหรอ”

“นักแสดงวัยรุ่นที่ทำตัวเหมือนว่ากล้านั่นนี่ เป็นสิบคนไม่มีใครกล้าเล่นสักคน เขาบอกว่าไม่อยากพูดสิ่งเหล่านี้ ทุกคนที่บอกว่าอยากทำหนังใหม่ๆ มีบทละครที่กล้าทำอะไรใหม่ๆ บ้าง ก็ไม่มีใครกล้าเล่นเลย ดาราในทุก range ขนาดดารารุ่นใหญ่ๆ เราให้ค่าตัวเยอะๆ ไป ก็ไม่มี ค่าตัวน้อยๆ ดารารุ่นเล็กๆ ก็ไม่ค่อยกล้า พี่นัตตี้ที่ได้มาเพราะว่าเรารู้จักกัน ส่วนเฌอเอมก็เป็นเพราะเขา represent ตัวเองประมาณนี้อยู่แล้วเขาก็รับเลยทันที

“ช่วงนั้นเราก็ อ๋อออ มันเป็นแบบนี้นี่เอง วงการบันเทิงอะเนอะ (หัวเราะ) ทำไมเหรอ เล่นเป็นแม่มด เล่นเป็นฆาตกรยังกล้าเล่นกันเลย มีคนบอกว่ากลัวคนดูจะจำว่าเขาเป็นสลิ่ม เป็นสามกีบแบบนั้นตลอดไป แสดงว่าสำหรับในประเทศนี้บทฆ่าคนตายแย่น้อยกว่าบทตัวละครพวกนี้เหรอ ทั้งๆ ที่เราก็เห็นสิ่งเหล่านี้กันอยู่ทุกคนเป็นเรื่องปกติมากๆ

“และถ้าเรายังมองว่ามันไม่ปกติ มันก็จะไม่ปกติตลอดไป”

4

บางทีความสัมพันธ์ของผู้หญิงก็ถูกทรีตเป็นแฟนตาซี

สารภาพว่าเราไม่ค่อยเห็นหนังการเมืองไทยที่เล่าผ่านเลนส์ของผู้หญิงเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะในความสัมพันธ์คู่รักเลสเบี้ยนที่มักถูกสังคมมองข้ามเสมอมา

“พอเป็นเรื่องการเมืองที่เล่าในมุมความสัมพันธ์เลสเบี้ยน เอาจริงๆ เราไม่ค่อยเห็นในหนังไทยเท่าไหร่ เป็นความตั้งใจแต่แรกเลยรึเปล่า”

“เรามองว่าบทสนทนานี้มันจะเป็นใครก็ได้ เป็นคนเดียวกันเถียงกับตัวเองก็ยังได้ ชื่อตัวละครเรายังไม่มีเลย แล้วทำไมมันต้องเป็นคู่รักชายหญิงด้วยล่ะ”

“การเมืองกับผู้หญิงในสังคมไทยเป็นยังไงในสายตาคุณ”

“เราโตมาในโรงเรียนหญิงล้วน ในสังคมไทยชอบมองว่าผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงเนี่ยโตมาเดี๋ยวก็หาย เป็นสิ่งที่ temporary มากๆ อาจจะไม่ได้ถูกเหยียดถูกเกลียดมาก แต่เป็นกลุ่มที่ identity ถูกลบไปเลยเสียอย่างนั้น บางทีความสัมพันธ์ของผู้หญิงก็ถูกทรีตเป็นแฟนตาซี เราอยากทำให้เห็นว่าพวกเขาก็มีความรัก มีความเจ็บปวด เคยคุยกันเรื่องอนาคต เรื่องแต่งงาน มีแฟนเก่า เหมือนกันทุกคนอะ ทรีตมันแบบความสัมพันธ์คู่รักปกติทั่วไปเลย

จากการสังเกต ผลงานของเธอมักพูดถึงเรื่องราวของชีวิต การเมือง และสังคม ผ่านมุมมองของหญิงสาว นอกจาก ‘Cloud Cuckoo Country’ ที่เธอทำหน้าที่เป็นผู้กำกับเรื่องแรกในชีวิต ตอนนี้เธอกำลังพัฒนาโปรเจกต์ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกเกี่ยวกับการเติบโตของผู้หญิง ‘เจ้าหงิญเสียงเศร้าแห่งดวงดาวที่สี่’ เช่นกัน โดยโปรเจกต์นี้ได้รับคัดเลือกจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ ให้เข้าร่วมพัฒนาใน Southeast Asian Film Lab ในเดือนพฤศจิกายนอีกด้วย

“หนังหลายๆ เรื่องของคุณมักจะเล่าผ่านมุมมองผู้หญิง เพราะอะไร” ผลงานทั้งหมดทำให้เราสงสัยเกี่ยวกับจุดเริ่มต้น

“ในไทยเรามีละคร มีหนังที่ตัวเอกเป็นผู้หญิงเยอะมากๆ นะ แต่มีกี่เรื่องที่ผู้หญิงเป็นคนเขียน เป็นคนกำกับกัน? บาดแผลของผู้หญิง ชีวิตจิตใจของผู้หญิงในประเทศนี้มีแค่ไม่กี่แบบเองที่เรารู้สึกสัมผัสได้ เด็กผู้หญิงไทยโตมาด้วยสื่อที่เป็นท่วงทำนองเสียงของผู้ชายเต็มไปหมด เราอยากทำหนังทำซีรีส์ที่เสนอผ่านมุมมองผู้หญิงอีกเยอะมากๆ

“เราโชคดีที่ได้อ่าน ได้สัมผัสกับตัวละครกับเรื่องราวของผู้หญิงหลายๆ แบบในหนังสือในหนังของประเทศอื่นด้วย แต่ถ้าคนที่เขาไม่ได้เข้าถึงพวกนั้นล่ะ เท่ากับเด็กผู้หญิงไทยก็ต้องเติบโตมาด้วยแม่แบบที่ผู้ใหญ่ผู้ชายเราเป็นคนกำหนดเหรอ เป็นผู้หญิงแบบที่ผู้ชายมอง ผู้ชายคิดว่าเป็น ไม่ใช่ว่ามันผิด หรือผู้หญิงเหล่านั้นมันไม่มีนะ แต่เราว่ามันยังมีอีกมากให้เล่า อีกหลายมุมให้ได้มอง เราอยากทำงานภาพยนตร์ งานละครที่ทำให้เขามีชอยส์ มีคนให้ช้อปปิ้งตัวตนมากขึ้น”

“มีคนให้ช้อปปิ้งตัวตนมากขึ้น?”

“เราไม่อยากให้ไทยซื้อบทประเทศอื่นมาทำตลอดไป การเขียนให้บทมันมีรากมีเลือดเนื้อจากคนในประเทศตัวเองมันดีกว่าเป็นไหนๆ เราว่าคนไทยก็อยากดู การเขียนบทเป็นสิ่งที่พัฒนาในราคาถูกที่สุดเลย ไม่ต้องซื้ออุปกรณ์อะไร แค่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาคน ให้อิสระให้เวลากับเขา มีโปรแกรม มี artist residency มี film screenplay lab มีโอกาส มีช่องทางรับเรื่องใหม่ๆ บ้าง อยากให้วงการเขียนบทประเทศเราได้พัฒนา มีพื้นที่ให้คนหลายรูปแบบ เพื่อให้มีเรื่องเล่าที่หลากหลาย อย่างเราก็อาจจะเป็นความคิดแบบเมืองไปหน่อย เราก็อยากให้วงการมันขยายใหญ่ไปอีก เจอความคิดแบบใหม่ๆ มุมมองที่กว้างกว่าเดิม ให้คนได้พบเจอกับคนที่เหมือนเขา มีเรื่องราว มีความกลัว มีเป้าหมายแบบเขา มีเพื่อนที่จะพาไปในชีวิตเพิ่มขึ้น”

สิ้นประโยคนั้น เราเริ่มรู้สึกได้ว่าจากแดดจ้ายามบ่ายเริ่มเบาบางลง เราจึงชักชวนเธอออกไปเดินพูดคุยรอบเมืองตามที่ตกลงกันไว้

5

เราไม่ควรบอกเมืองนอกว่าคนไทยทะเลาะกันอยู่

หลังจากเดินออกมาจากร้านไม่กี่นาทีก็ถึงกระทรวงกลาโหม ในวันหยุดถนนเต็มไปด้วยรถ และมีผู้คนพลุกพล่านตามที่คาดการณ์ไว้

“ทำไมใน trailer ถ่ายไม่ติดคนเลย” เราถามด้วยความสงสัย

“จริงๆ เป็นความตั้งใจนะ เราอยากทำให้มันเหมือนโรงละคร เป็น art direction ที่ตั้งใจอยู่แล้ว แต่การขอโลเคชั่นเนี่ยยากมากกกกก (ลากเสียง) เราสามารถทำหนังได้อีกหนึ่งเรื่องกับการทะเลาะกับทุกคน”

“เวลานานมั้ยกว่าจะขอสถานที่ได้ครบทั้งหมด”

“ใช้เวลาหลายเดือนเพราะต้องขอแยกกันหมดเลย อย่างถนนเป็นของ กทม. เดินข้างถนนต้องขอ สน.พระราชวัง แต่ถ้าฟุตปาทต้องขอเทศกิจ ทุกคนก็ขอสินบนเราก็บอกว่าเราไม่ให้ (หัวเราะ) พอยิ่งขอถ่ายมิวเซียม มีกรมศิลป์จะขอดูบท ขอดูบทยันกระทรวงวัฒนธรรม

“เราก็บอกว่าหนังเราตั้งใจส่งต่างประเทศ เราอาจจะไม่ได้ฉายในไทยด้วยซ้ำ คือตอนแรกเขากังวลเพราะเราไม่รู้ว่าจะฉายในไทยได้รึเปล่า ‘นั่นยิ่งเป็นปัญหาเลย ไม่ควรบอกต่างประเทศที่ไหนว่าคนไทยทะเลาะกัน’ ประโยคนี้เราจำได้แม่นเลย ถึงขั้นนี้แล้วเหรอประเทศนี้ สุดท้ายแล้วก็มีเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนรุ่นใหม่ในพิพิธภัณฑ์ช่วยๆ กันจนได้ถ่ายทำ แล้วก็มีเนื้อหาบางส่วนที่เขาอยากให้เราเซ็นเซอร์”

“ท้ายที่สุดแล้วคุณยอมมั้ย”

“เราคิดเสมอว่าเราไม่ควรเซ็นเซอร์ตัวเองก่อนที่จะมีใครมาเซ็นเซอร์เรา เราก็เลยไม่ได้เซ็นเซอร์อะไรเลย เรื่องนี้ก็ไม่ได้ผ่านการเซ็นเซอร์ เพราะเราฉายในหอศิลป์ฐานะงานศิลปะ”

ตลอดทางเธอเล่าให้ฟังว่าระหว่างการถ่ายทำมีม็อบเกิดขึ้นมากมาย พื้นที่เต็มไปด้วยตำรวจและรถตู้คอนเทนเนอร์ที่กั้นถนนอยู่ตลอดเวลา

“อย่างถ่ายที่กระทรวงกลาโหมตรงเนี้ย ก็มีทหารมาเฝ้าเลยนะ มีทหารหลายยศมาก พอคนนี้มา ยศที่สูงกว่าก็จะต้องมาบ้างตลอดเวลา

เธอชี้ไปยังบริเวณฟุตปาทข้างกำแพงเหลืองของกระทรวงกลาโหมก่อนจะเล่าต่อ

“ช่วงนั้นมีม็อบเยอะ มีคอนเทนเนอร์ปิดทางตลอดเวลา เรามีเวลาถ่ายแค่ช่วงเช้าถึงเย็นห้ามเกิน ตอนนั้นโควิดด้วยออกกองได้แค่ 20 คน เราก็เลยต้องเป๊ะมากๆ มาถึงต้องถ่ายๆ ในเวลาไม่กี่วัน ช่วงนั้นไม่ให้มาอยู่นาน ตอนนั้นสนามหลวงก็ปิดหมดเลย มีแค่พวกเราที่เข้าไปถ่ายได้ เพราะเขาก็กลัวว่าคนจะคิดว่าเป็นม็อบแล้ววิ่งเข้ามา ก็เป็นความคิดที่แปลกๆ ดี (หัวเราะ)”

“ถามตรงๆ ตอนนั้นกลัวมั้ย”

“ไม่เลย พวกเรารู้สึกว่าทำไปก่อนเลย เพราะเรายังเป็นรุ่นใหม่ๆ อยู่ด้วย เราก็คิดกันกับเพื่อนว่า ยังไม่มีใครมาบอกห้ามเราเลย เราห้ามตัวเองแล้ว เราต้องกล้าทำสิ เราอยากให้คนอื่นกล้าไม่ใช่เหรอ”

“คุณมองภาพรวมของประเทศไทยตอนนี้เป็นยังไง”

“คนไทยกับประวัติศาสตร์เหมือน Toxic Relationship เหมือนความสัมพันธ์ที่เรารู้ว่าเขาไม่ได้ดี เขาไม่ได้รักเรามากขนาดนั้น แต่เราก็ยังรักเขามากอยู่ ภาพรวมการเมือง ครอบครัว และความสัมพันธ์ของประเทศเรามันแย่มากเลย มันเลยทำให้เราคิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา เราคิดว่ามีความสัมพันธ์หลายความสัมพันธ์มากที่แหลกสลายไปเพราะความเชื่อที่สัมผัสไม่ได้ด้วยซ้ำ มันเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงเลย อย่าไป reaching for the stars กับความฝันวิมานที่เรากำลังนึกถึงมากมายนัก แล้วกลับมามองชีวิตจริงตรงนี้”

เราเดินคุยกันไปเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีก็มาถึงสนามหลวงแล้ว จากสีฟ้าสดใสตอนนี้ท้องฟ้าค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีส้ม หลังจากฟังเรื่องราวทั้งหมดของเธอ เราตัดสินใจถามคำถามสุดท้าย

“ที่นี่มียูโทเปียมั้ย”

“ในโลกนี้ไม่มีทางเป็นยูโทเปีย ทุกที่เป็นดิสโทเปียในแบบของตัวเอง อยู่ที่ว่าเลือกที่จะบิดเบี้ยวกันแบบไหนเท่านั้นเอง”

สามารถดูตัวอย่างหนังและซื้อบัตรได้ที่ https://www.ticketmelon.com/aortabkk/cloudcuckoocountry