คุณโตมากับอะไร? ส่วนเราโตมากับ ‘การ์ตูน’ เหล่าตัวละครเหนือจินตนาการที่หล่อหลอมให้เด็กน้อยในวันนั้นเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยความฝันในวันนี้
แม้เสาร์-อาทิตย์ของวัยทำงาน จะไม่มีการ์ตูนให้เราเฝ้ารออีกต่อไป แต่เชื่อว่าเมื่อไหร่ที่เราได้ย้อนกลับไปดู ลิ้นชักความทรงจำวัยเด็กก็จะถูกเปิดขึ้นมาอีกครั้ง
นอกจากความสนุกที่มาพร้อมเสียงหัวเราะแล้ว หลายคนอาจไม่เคยสังเกตว่าเรื่องราวของตัวละครที่ไม่มีอยู่จริงเหล่านั้น กำลังสะท้อนชีวิตจริงที่เรากำลังเผชิญอยู่ ทั้งสุข ทุกข์ ผิดหวัง ไปจนถึงสมหวัง นี่คือ ‘ปรัชญาชีวิต’ ที่ถูกซ่อนอยู่ภายใต้ลายเส้นการ์ตูนสุดน่ารัก
ในโอกาสที่ ‘วันเด็ก’ เวียนกลับมาถึงแบบนี้ เราอยากชวนผู้ใหญ่ทุกคน ลองกลับไปดูการ์ตูนวัยเด็กดูอีกครั้ง และร่วมค้นหาคำสอนที่ซ่อนอยู่ไปด้วยกัน
โดราเอมอน : จงมองคุณค่าของคน ให้มากกว่าแค่คะแนนสอบ
โดราเอมอน (ドラえもん) คือหนึ่งในผลงานชิ้นโบแดงของ ‘ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ’ นักวาดการ์ตูนชื่อดังที่ต้องการเขียนการ์ตูนเรื่องใหม่รับปีใหม่ แทนเรื่อง เจ้าชายจอมเปิ่น และสุดท้ายจากความบังเอิญเห็นแมวจรจัดในบ้านของตัวเอง จึงนำไปสู่การสร้างหุ่นยนต์แมวผู้มีกระเป๋า 4 มิติ พร้อมเส้นเรื่องสุดตื่นเต้น อย่างการนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลามาช่วย ‘โนบิ โนบิตะ’ เด็กชายผู้ไม่เอาไหนให้อยู่รอดปลอดภัยด้วยของวิเศษจากโลกอนาคต

“โดราเอมอน ช่วยด้วยย ~”
เสียงร้องขอความช่วยเหลือของโนบิตะ คือฉากเปิดเรื่องสุดไอคอนิกที่แฟนๆ โดราเอมอน ทุกคนคุ้นเคย ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสนุกของเรื่องนี้ คือการเห็นโนบิตะเผชิญกับความผิดหวัง จนต้องร้องไห้หัวซุกหัวซุนมาหาโดราเอมอนเพื่อขอของวิเศษแก้ปัญหา
โนบิตะในเรื่องแม้จะเป็นตัวเอก แต่กลับไม่มีพลังวิเศษเหมือนเรื่องอื่นๆ เขาคือเด็กชายชั้นประถมแสนธรรมดา ที่สอบตกเป็นกิจวัตร มีงานอดิเรกคือนอนกลางวัน แอบชอบเพื่อนร่วมห้องสุดป็อปอย่าง ‘ชิซุกะ’ และโดนบูลลี่โดยแก๊งเพื่อนขาใหญ่ ‘ไจแอนท์’ และ ‘ซูเนโอะ’ ชีวิตที่ไม่ได้สวยงามเหมือนตัวเอกเรื่องอื่น ทำให้เขาถูกแปะป้ายว่า LOSER ใหญ่ๆ ที่กลางหน้าผาก

ทำไมเด็กชายขี้แพ้ ถึงกลายเป็นพระเอกของการ์ตูนดังเรื่องนี้?
ถ้ามองให้ลึกลงไป โนบิตะไม่ใช่คนไม่เอาไหนเหมือนที่หลายคนคิด เขามีเรื่องที่ถนัดและเก่งมากๆ อยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นพันด้าย การละเล่นของเด็กญี่ปุ่น รวมถึงความสามารถในการยิงปืนที่แม่นเหมือนจับวาง
หลายครั้งในภาคเดอะมูฟวี่ ที่ต้องผจญภัยไปโลกอื่น โนบิตะใช้ความสามารถของตัวเอง รวมไปถึงแสดงอีกมุมที่กล้าหาญในการฝ่าฟันอุปสรรค และคว้าชัยชนะได้แบบสมศักดิ์ศรี แต่เมื่อกลับมายังโลกแห่งความเป็นจริง เขากลับกลายเป็นเด็กไม่เอาไหนในสายตาคนอื่น เพียงเพราะเลข 0 บนกระดาษข้อสอบ
แม้ในเรื่อง โดราเอมอน จะเต็มไปด้วยของวิเศษในจินตนาการแค่ไหน แต่โนบิตะ คือตัวแทนของมนุษย์ที่สมจริงที่สุด ‘ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ’ ให้ความหมายของชื่อโนบิตะไว้ว่า ‘การเติบโตที่แข็งแรง’ ซึ่งการก้าวข้ามความคาดหวังของสังคมนี่เอง คือบททดสอบที่ยิ่งใหญ่ในการเติบโต ไม่ใช่แค่ของโนบิตะ แต่รวมถึงเด็กทุกคนในยุคนี้

ในตอนเด็ก ความสนุกของการดูโดราเอมอน อาจอยู่ที่การท่องจำชื่อของวิเศษ แต่ในตอนที่เราโตขึ้น วันที่เรากลายเป็น ‘โนบิตะ’ ในชีวิตจริงที่ไม่มีอะไรโดดเด่นเหมือนคนอื่น การ์ตูนเรื่องนี้กลับเข้ามาช่วยปลอบประโลมเราอีกครั้ง และทำให้เรารู้ว่ายังมีคนที่พร้อมโอบกอดและซัปพอร์ตเราในวันที่ผิดหวัง เหมือนอย่างโดราเอมอนเสมอ
ชินจัง : จงกล้าเป็นตัวเอง แม้อยู่ใต้กรอบของสังคม
เครยอนชินจัง (クレヨンしんちゃん) หรือที่ชาวไทยรู้จักในชื่อ ‘ชินจังจอมแก่น’ การ์ตูนเด็กแสบค่อนไปทางทะลึ่งตึงตัง ฝีมือของ ‘อาจารย์โยชิโตะ อูซูอิ’ ที่ต้องการเล่าเรื่องราวของเด็กอนุบาลในรั้วโรงเรียน จนเลือกใช้คำว่า ‘เครยอน’ ที่แปลว่าสีเทียนซึ่งสื่อถึงจินตนาการของเด็กมาใช้เป็นชื่อหลัก แม้เนื้อเรื่องของ ชินจัง จะไม่มีอะไรมากไปกว่าชีวิตประจำวันของเด็กอนุบาล แต่ด้วยความเรียบง่ายที่แฝงไปด้วยมุกตลกชวนอมยิ้มนี้เอง จึงทำให้การ์ตูนเรื่องนี้กลายเป็นเพื่อนกินข้าวของเราในทุกมื้อ
“ฮัลโหล สวัสดี กระผมนี้จะบอกว่า วันนี้ผมมีความสุข”
ชินจัง กลายเป็นการ์ตูนสามัญประจำบ้านที่เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี ถึงจะมีเสียงต่อต้านถึงความไม่เหมาะสมของพฤติกรรมสุดแก่แดดของชินจังอยู่บ่อยครั้ง แต่ ‘การโชว์ก้น’ นี้เองที่เป็นจุดเด่นที่ทำให้ ชินจัง ไม่เหมือนการ์ตูนเรื่องไหนๆ แต่เราเคยสงสัยกันไหมว่า ทำไม อ.โยชิโตะ ถึงสร้างคาแรกเตอร์สุดแก่นเซี้ยวนี้ให้กับเด็กอนุบาล?

ถ้าลองสังเกตดูดีๆ นอกจากพฤติกรรมสุดแปลกของลูกชายแล้ว ครอบครัวโนะฮาร่า ก็ไม่ต่างจากครอบครัวคนญี่ปุ่นในโลกทุนนิยมสักเท่าไหร่นัก มีคุณพ่อ ‘โนะฮาร่า ฮิโรชิ’ เป็นหัวหน้าครอบครัว ควบตำแหน่งพนักงานขายในบริษัทเอกชน ใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน แถมยังมีอาการ Alcoholism ซึ่งเป็นผลมาจากความเครียดของงานออฟฟิศที่เหนื่อยล้า
ส่วนคุณแม่ ‘โนะฮาร่า มิซาเอะ’ หญิงสาววัย 29 ปีที่ลาออกจากงานมาเป็นแม่บ้านดูแลลูกทั้งสองแบบ Full-time ทุ่มเทแรงกาย แรงใจให้กับการดูแลครอบครัว จนละเลยการดูแลตัวเอง ทำให้ชินจังให้ฉายาเธอไว้ว่า ‘ปีศาจหน้าเหี่ยว ก้นใหญ่ อกเล็ก มีรอยตีนกา’

เรียกว่าแทบจะเป็นสูตรสำเร็จของคนญี่ปุ่นที่เพิ่งเริ่มสร้างครอบครัวเลยก็ว่าได้ นอกจากครอบครัวชินจังแล้ว ตัวละครอื่นๆ ภายในเรื่อง ก็เป็นเหมือนกระจกสะท้อนปัญหาของสังคมญี่ปุ่นที่ถูกฝังกลบไว้ ไม่ว่าจะ ‘คุณครูมัตสึซากะ’ ครูอนุบาลห้องกุหลาบที่โดนสังคมตราหน้าว่าเป็นสาวทึนทึกที่ไม่แต่งงานสักที ทำให้เธอต้องใช้เวลาว่างไปกับการแอบนัดเดตอยู่บ่อยครั้ง หรือแม้กระทั่ง ‘เนเน่’ เพื่อนร่วมห้องชินจัง ที่ต้องแสดงมุมน่ารักอ่อนหวานเพื่อให้คนอื่นถูกใจ ทั้งๆ ที่เธอก็เป็นสาวห้าวอารมณ์ร้อนที่ใช้ตุ๊กตากระต่ายเป็นที่ระบายอารมณ์

ภายใต้ความตลกที่เราขำท้องแข็ง กลับซ่อนความขมของตัวละครที่ถูกกรอบของสังคมบีบให้เดินตามเส้นที่ขีดไว้ แต่ท่ามกลางระบบระเบียบที่หลายคนมองว่าเป็นความถูกต้อง กลับมีเด็กชายคนหนึ่ง ที่ออกมาตั้งคำถามถึงกฎเกณฑ์ไร้สาระพวกนั้น และแสดงความเป็นตัวเองออกมาอย่างเต็มที่โดยที่ไม่สนใจสายตาใคร เด็กคนนั้นคือ ‘โนะฮาร่า ชินโนะสึเกะ’
ดังนั้นคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมชินจังต้องโชว์ก้น เรามองว่าเป็นความตั้งใจของผู้แต่ง ที่ต้องการใช้เด็กวัยอนุบาลที่เหมือนผ้าขาว สะท้อนตัวตนที่ซ่อนอยู่ในตัวทุกคน ปลุกความกล้าในการยืนหยัดทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ
อาราเล่ : จงยอมรับและโอบกอดความไม่สมบูรณ์แบบ
ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่ (Dr. (ドクター) スランプ) หุ่นยนต์เด็กหญิงผมม่วงที่มาพร้อมหมวกเบสบอลติดปีก และไม้จิ้มอุนจิที่เป็นเอกลักษณ์ นี่คือผลงานหลุดโลกของ ‘อาจารย์อากิระ โทริยามะ’ นักวาดการ์ตูนชื่อดังที่เคยฝากผลงานสร้างชื่อไว้อย่าง ‘ดรากอนบอล’ ซึ่งแม้จะมีลายเส้นที่คล้ายกัน แต่เรื่องราวของ 2 เรื่องนี้กลับแตกต่างชนิดหน้ามือกับหลังมือ!

“ดีจ้าาาาา…โอ๊ะโยะโหยว”
ใครจะคิดว่านักวาดที่สร้างซูเปอร์ไซย่าสุดเท่ จะเคยเขียนการ์ตูนแฟนตาซีที่ไม่มีอะไรสมเหตุสมผลสักอย่างแบบ ‘อาราเล่’ ความงงของเรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่หมู่บ้านเพนกวิน ที่ไม่ได้อยู่ในขั้วโลกเหนือ แถมไม่มีเพนกวินสักตัวบนเกาะ ไปจนถึงลูกบ้านทุกคนที่มีคาแรกเตอร์เฉพาะตัวแบบสุดขั้ว ทั้งตัวเอกอย่าง ‘ดร.โนริมากิ เซมเบ้’ ที่ได้แรงบันดาลใจชื่อมาจากขนมห่อสาหร่ายของญี่ปุ่น แม้จะเป็นนักประดิษฐ์ แต่กลับไม่เคยสร้างอะไรสำเร็จเลยสักอย่าง โดยเฉพาะผลงานชิ้นเอกอย่าง ‘อาราเล่’ ที่เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าตัว ที่อยากจะสร้างหุ่นยนต์เมดสาวสวย แต่กลับได้เด็กน้อยวัย 13 ปีมาแทน จึงเป็นที่มาของฉายา Dr. Slump ที่แปลว่าไม่เอาไหน
แม้อาราเล่จะเป็นหุ่นยนต์ทรงพลัง สามารถวิ่งรอบเกาะได้ในเวลาไม่กี่วินาที ยิงปืนใหญ่ทำลายภูเขาได้อย่างง่ายดาย แต่กลับมีจุดอ่อนที่สายตาสั้น ต้องพึ่งแว่นตาตลอดเวลา แถมยังมีนิสัยเป็นเด็กไร้เดียงสา โดนหลอกง่าย และชื่นชอบอุนจิเป็นชีวิตจิตใจ ยังไม่รวมถึง ‘คาราเมลแมนหมายเลข 4’ หรือ ‘โอโบจามะ’ หุ่นยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกำจัดอาราเล่ แต่กลับตกหลุมรักสาวน้อยคนนี้ซะเอง ‘ราชานิโคจัง’ มนุษย์ต่างดาวตกอับที่ต้องขายมันเผาเพื่อหาเงินซ่อมยานอวกาศ ‘ซูเปอร์แมน’ ที่ต้องกินบ๊วยเค็มถึงจะแปลงร่างได้ ‘ซาราดะ คิโนโกะ’ เด็กสาวผมสั้นสุดแก่แดดที่คิดว่าตัวเองสวยสุดในหมู่บ้าน และอีกสารพัดคาแรกเตอร์สุดจับฉ่ายที่ไม่น่าจะมารวมอยู่ในเรื่องเดียวกันได้

นอกจากตัวละครที่ไปคนละทิศคนละทางแล้ว เนื้อเรื่องก็คาดเดาอะไรไม่ได้ทั้งนั้น วันดีคืนดี เราอาจเห็นอาราเล่เอามือทุบพื้นจนเกาะแยกเป็น 2 ส่วน หรือมีตัวละครจาก ดรากอนบอล แวะมาเยี่ยมเยียนก็เป็นได้ เรียกได้ว่าใครที่ดูการ์ตูนเรื่องนี้ต้องเตรียมรับมือกับความเซอร์ไพรส์ในทุกๆ วินาทีกันไปเลย
แต่แม้จะดูไปเรื่อยไปเปื่อยแค่ไหน แต่ถ้าลองมานั่งดูกันดีๆ จะเห็นว่าภายใต้ความมั่วซั่วของตัวละคร พวกเขามีบางอย่างที่เหมือนกันอยู่ นั่นก็คือ ‘ความไม่สมบูรณ์แบบ’ ทุกคนในเรื่องล้วนมีความผิดพลาดบางอย่างติดตัว แต่แทนที่จะนั่งเศร้าไม่มูฟออน พวกเขาเลือกที่จะก้าวไปข้างหน้า และมองหาข้อดีจากความผิดในครั้งนั้น อย่าง ดร.เซมเบ้ แม้จะไม่ได้หุ่นยนต์สาวสวยมาปรนนิบัติ แต่อาราเล่ ก็เข้ามาเติมสีสันในชีวิตให้สดใสขึ้นอีกครั้ง

สุดท้ายแล้ว แม้บางคนอาจจะมองว่า อาราเล่ เป็นการ์ตูนที่ดูบ้าบอที่สุดเรื่องหนึ่ง แต่มันกลับเป็นเรื่องสร้างชื่อให้กับ อ.โทริยามะ โด่งดังถึงขนาดถูกซื้อลิขสิทธิ์จากนิตยสารการ์ตูน ไปสร้างเป็นอนิเมะที่เราคุ้นเคยในทุกวันนี้ ส่วนสาเหตุความฮอตก็เป็นเพราะเนื้อเรื่องย่อยง่าย แต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ อาราเล่สอนให้เราปล่อยวางกับความเครียดที่เผชิญ แล้วมาหัวเราะกับเหล่าคนบ้าในหมู่บ้านเพนกวินแทน
ย้อนกลับไปในสมัยเรียน การ์ตูนคือเพื่อนสนิทที่เราเจอทุกเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ พอโตขึ้นในวัยทำงาน ตัวละครเหล่านี้ก็ยังคงเป็นเซฟโซนที่เรานึกถึงเวลาเหนื่อยล้าอยู่เสมอ เพราะการได้ท่องไปในโลกที่ปราศจากความจริงนี้ เหมือนเราได้โยนภาระที่แบกไว้ทิ้งไป แล้วกลายเป็นเด็กน้อยที่นั่งตาแป๋วหน้าทีวี เหมือนที่คนบอกว่า ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ‘การ์ตูน’ คือยาวิเศษที่ช่วยสร้างความสุขให้เราเสมอและตลอดมา