Bridge Art Agency คือเอเจนซีที่อยากทำให้ศิลปะอยู่ใกล้ตัวผู้คนมากขึ้น จึงสร้างคอมมูนิตี้เป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมระหว่างศิลปะ ผู้คน และดนตรีเข้าด้วยกัน
เอเจนซีศิลปะแห่งนี้ที่เกิดจากการวมกันของผู้ก่อตั้งสามคนที่มาจากวงการความคิดสร้างสรรค์หลากหลายแขนง คนแรกคือ ‘ยอร์ช–มงคล รัตนภักดี’ หรือที่รู้จักในชื่อ NEV3R หนึ่งในศิลปินที่มีชื่อเสียงในวงการสตรีทอาร์ตไทย คนต่อมาคือ ‘พลอย–ชัญญา มูรามัสสึ’ ผู้มีประสบการณ์ด้านการตลาด แบรนดิ้ง และแฟชั่น และคนสุดท้ายคือ ‘อาเธอร์–กมลกร รักษ์อาจ’ ผู้มีประสบการณ์ด้านการจัดการสื่อบันเทิงเข้ามาเสริมทัพ
“เราอยากจะทำโปรเจกต์ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่กับแกลเลอรีหรือมิวเซียมเท่านั้น เราอยากจะสร้างสเปซใหม่ๆ ที่เหมาะกับงานแล้วก็สนุกได้พร้อมๆ กันได้ด้วย” อาเธอร์เอ่ยประโยคนี้ระหว่างเรานั่งคุยกัน ซึ่งเป็นสัญญาณสำคัญที่ทำให้พวกเขาทั้งสามลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างที่ทำให้ศิลปะไม่ถูกตีกรอบแค่การแสดงงานเพียงอย่างเดียว
เมื่อผู้คนพร้อม แบรนด์พร้อม และพวกเขาทั้งสามพร้อม จึงลุกขึ้นมาก่อตั้งเอเจนซีศิลปะที่รวบรวมตัวละครต่างๆ ในอุตสาหกรรมอาร์ตคัลเจอร์มาอยู่ในงานเดียว ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น ดนตรี อาหาร ศิลปินหน้าใหม่ ด้วยความหวังว่าจะช่วยยกระดับวงการศิลปะในบ้านเราให้ไปไกลถึงระดับโลก
จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นได้ยังไง
พลอย: เรากับพี่ยอร์ชรู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก ด้วยความที่พี่ยอร์ชเป็นศิลปินอยู่แล้ว เราก็ไปช่วยเป็นเมเนเจอร์ให้ในตอนแรก พอมาเจออาเธอร์ก็มีไอเดียชวนมาทำ Art Agency กัน จุดเริ่มต้นก็เกิดขึ้นในวงปาร์ตี้นี่แหละ (หัวเราะ)
ยอร์ช: เปิดเรื่องมากำลังดีๆ อยู่แล้ว ไปบอกความจริงเขาทำไมเนี่ย (หัวเราะ)
พลอย: เราแค่จะบอกว่าทุกอย่างในวงเหล้ามันเกิดขึ้นได้ หลังจากที่คุยกันพวกเราก็เริ่มทำโปรเจกต์นี้กัน บังเอิญว่าในตอนนั้นโชคดีมีผู้ใหญ่สนับสนุนก็ได้งานมา ช่วงปีแรกๆ ด้วยความที่ยังมีงานอื่นที่ทำกันอยู่แล้ว เลยไม่ได้โฟกัสกันแบบจริงจังมาก จนปีที่แล้วเราย้ายไปที่ญี่ปุ่นก็รู้สึกว่าต้องจริงจังกว่านี้ก็เริ่มหางานรับงานหลากหลายมากขึ้น และมีลูกค้าติดต่อเข้ามามากขึ้น
อาเธอร์: ซึ่งจริงๆ แล้วที่ตั้งชื่อว่า Bridge Art Agency เพราะพวกเราอยากจะเป็นเหมือน Bridge ที่เชื่อมระหว่างศิลปะกับผู้คน เราไม่อยากให้ศิลปะมันเป็นเรื่องที่ไกลตัวเกินไป อยากให้ศิลปะเป็นสะพานที่สามารถข้ามไปสู่ดนตรี แฟชั่น อาหาร หรือเรื่องอื่นๆ ได้ทุกอย่าง ไม่จำเป็นจะต้องเป็นแค่ Fine Art อย่างเดียว ซึ่งมันต้องเริ่มต้นจากตัวเรา เพื่อน คนที่เราชอบ ถ้าอนาคตเราแข็งแรงมากพอก็จะเชื่อมคนที่ไกลมากขึ้น เราเป็นกลุ่มคนเล็กๆ ที่อยากมีคอมมูนิตี้เพื่อนพี่น้องมาพบปะกัน มาสนุกด้วยกัน ก็เลยเกิดชื่อ Bridge ขึ้นมาเป็นสะพานเชื่อมคนที่รักกัน
ปกติเวลาพูดถึงนิทรรศการศิลปะคนก็จะนึกถึงแกลเลอรีกันมากกว่า แต่ทำไมคุณถึงเลือกที่จะทำเป็นเอเจนซี
อาเธอร์: ช่วงที่พี่พลอยไปเป็นเมเนเจอร์ให้พี่ยอร์ช เราก็เห็นโอกาสว่าควรทำเป็นอาร์ตเอเจนซี เพราะว่าเราไม่ได้อยากยึดติดกับคำว่าแกลเลอรี ปกติเวลาทำงานเราจะเห็นว่าศิลปินส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาร์ตแกลเลอรี แบบ Residency แต่เราอยากจะทำโปรเจกต์ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่กับแกลเลอรีหรือมิวเซียมเท่านั้น เราอยากจะสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ที่เหมาะกับงานแล้วก็สนุกได้พร้อมๆ กันได้ด้วย เรารู้สึกว่าพี่ยอร์ชเป็นคนทำงานที่มีคาแรกเตอร์ และนิทรรศการของพี่ยอร์ชเองก็ไม่ค่อยได้เข้าไปแสดงในแกลเลอรีอยู่แล้ว ก็เลยมองในมุมของเอเจนซี เพราะวิธีการทำงานมันจะกว้างกว่า ไม่จำเป็นจะต้องยึดติดแค่แสดงงานอย่างเดียว อีกอย่างคืออาร์ตเอเจนซีในไทยก็ยังไม่มี ถ้าอย่างนั้นเราก็ลองทำดูแล้วกัน
ยอร์ช: แต่ต้องบอกก่อนว่าเราก็ไม่ได้แอนตี้แกลเลอรีนะ แค่เราไม่อยากตีกรอบให้ตัวเองว่าเราจะต้องอยู่ที่ไหนมากกว่า เราต้องดูว่างานไหนเหมาะกับอะไรมันจะได้สนุก อีกอย่างคือวิธีการมองศิลปินของเรากับคนของแกลเลอรีนั้นก็มีมุมมองที่แตกต่างกันด้วย
ที่ว่าแตกต่างกันนั้นคืออะไร
ยอร์ช: เราจะมองศิลปินก่อนแล้วค่อยดูสถานที่ สมมติว่ามีแกลเลอรีแห่งหนึ่งเป็นห้องสี่เหลี่ยม เรารู้สึกว่าต่อให้เปลี่ยนศิลปินไปแล้วหลายๆ คนก็ยังเป็นห้องสี่เหลี่ยมเหมือนเดิม ต่อให้ทำหรือสร้างอะไรใหม่มันก็ยังยากที่จะปรับเปลี่ยน แต่ถ้าเป็นสถานที่ที่ศิลปินชอบ เราสามารถเล่นอะไรก็ได้ ต่อให้จะจัดแค่ไม่กี่วันมันก็ยัง happening ในมุมมองของเขา และมุมมองของคนจัดก็ทำให้เราสนุกไปด้วย
อาเธอร์: เรารู้สึกว่าอาร์ตสเปซคือที่ไหนก็ได้ เราเคยไปจัดในสวนสัตว์ที่เขาใหญ่ แล้วก็มีงานที่เอาห้องร้างๆ ห้องหนึ่งมาจัดเป็นนิทรรศการจริงจัง เอางานอาร์ตมาตั้ง มีดีเจเปิดเพลง มันก็กลายเป็นนิทรรศการที่แตกต่างจากคนอื่น หรือนิทรรศการยานที่เพิ่งจัดไป ตอนแรกคุยกับแกลเลอรีไว้ แต่พอคุยเสร็จเขาก็หายไป ไม่คอนเฟิร์มเราสักที สุดท้ายก็เลยมาจบที่โครงการ 515Victory ก็รู้สึกว่าเราก็โชคดีกับเรื่องสเปซมากเหมือนกัน เรามักจะมาเจอที่ๆ ไม่เคยคิดว่าจะได้ แล้วก็ดีมากเหมาะกับงานเรานาทีสุดท้ายตลอดเลย
ยอร์ช: ตั้งแต่ทำนิทรรศการมาทำให้เรารู้ว่าถึงจะเปิดนิทรรศการไป 2 อาทิตย์ยังไงมันก็ขายได้วันแรกกับวันสุดท้ายอยู่ดี ดังนั้นเรามีภาพเดียวกันกับศิลปินว่าวันแรกมันต้องทำให้ดีไปเลย แสดงแค่ 7-10 วันพอ เพราะวันที่เหลือมันก็เงียบ เราก็ไม่ได้อยากให้จัด 3 เดือนแล้วศิลปินมาได้บ้างไม่ได้บ้าง คนที่มาดูเขาก็ไม่ได้อะไร เรารู้สึกว่าการมาแล้วได้เจอศิลปิน ได้พูดคุยกันแบบนี้มันดีกว่า เพราะมันเป็นโมเมนต์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ
คิดว่าอะไรทำให้คนที่เคยมางานแล้วอยากกลับมาอีก
อาเธอร์: สิ่งเดียวที่เราเห็นเวลาจัดนิทรรศการทุกครั้งคือคนเมาแล้วไม่ยอมกลับบ้านกันเพราะสนุก มันคือปาร์ตี้ที่เราจะมอบให้ตอนจบนี่แหละ คอมมูนิตี้สำหรับเราไม่ใช่แค่ตัวศิลปินนะแต่มันคือทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นแสงสี ดีเจ อาหาร ผู้คน ก็เป็นคอมมูนิตี้ด้วยกันหมด อย่างการเลือกเพลงคือเรื่องสำคัญมากสำหรับพี่ยอร์ช เราต้องเลือกเพลง เลือกดีเจที่เหมาะกับนิทรรศการนั้นด้วย รวมไปถึงเรื่องอาหารเราก็ใส่ใจมาก เพราะอาร์ตสามารถเปลี่ยนไปเป็นของกินได้ เราก็เลยทำเป็น Ceremony Chocolate ซึ่งแบรนด์นี้ก็เป็นสายอาร์ตอยู่แล้ว เราคิดว่าอาร์ตไม่จำเป็นต้องอยู่บนแคนวาสอย่างเดียว แต่มันสามารถอยู่ในสิ่งที่เรากิน ดนตรีที่เราฟังได้หมดเลย
ยอร์ช: เราถึงบอกว่าคุณต้องอยู่ให้จบงาน เพราะว่าคุณจะได้ไปครบทุกรสชาติเลย คนที่มางานพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของงานที่เราจัด เพราะฉะนั้นพอคนมาแล้วสนุก อันนั้นคือสิ่งที่มันถูกต้องแล้ว หลายๆ คนที่มาจอยกันก็เป็นคนที่เรารู้จักอยู่แล้ว ทั้งดีเจ ทีมเครื่องเสียงก็เป็นน้องที่เราทำงานมาด้วยกัน แล้วพอจบงานก็เหมือนเราได้เที่ยวตอนทำงานด้วย แม่งโคตรดี อยู่ดีๆ กูก็มีปาร์ตี้ตอนจบ คนมันจะจำงานนี้ได้ตอนจบนี่แหละ คุณลองอยู่ให้ถึงตอนจบแล้วคุณจะรู้ว่ามันสนุกจริง คุณต้องลองเปิดใจ
อาเธอร์: อย่าใช้คำว่าเชิญชวน เรียกท้าทายเลยแหละ (หัวเราะ)
ทั้งสามคนชอบศิลปะก็จริงแต่ความถนัดไม่เหมือนกันเลย แบบนี้เวลาทำงานแบ่งหน้าที่กันยังไงบ้าง
อาเธอร์: พี่ยอร์ชเป็นศิลปินแล้วก็เป็นคิวเรเตอร์หลักของงาน พี่พลอยก็จะดูพาร์ตที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งหมด ส่วนเราก็จะดูฝั่งครีเอทีฟ แล้วก็จะมีช่วยพี่ยอร์ช curate ด้วย แต่จริงๆ เราก็ไม่ได้แบ่งขนาดนั้น เพราะพวกเราก็จะแชร์ความเห็นกันตลอด หน้าที่จึงแบ่งแยกชัดเจนแต่ความรับชอบร่วมกัน ถ้าเปรียบเป็นการทำหนังเรื่องหนึ่ง พวกเราก็คือ Executive Producers
ยอร์ช: เรามีชื่อเรื่องก็โยนให้อาเธอร์บอกว่าอยากทำเรื่องนี้ อาเธอร์คิดว่ามันน่าจะเป็นมู้ดแบบไหน หน้าที่พลอยก็ไปดูงบว่าเกินไหม ถ้าเกินก็ไม่ได้ทำ ถ้ามีสปอนเซอร์เยอะก็มีโปรดักชันใหญ่หน่อย แต่ทุกอย่างก็อยู่ภายใต้การพูดคุยร่วมกัน
การปรับจูนวิธีคิดเพื่อทำงานร่วมกันจำเป็นต้องอาศัยเรื่องอะไรบ้าง
ยอร์ช: อุปสรรคสำหรับเราคือสองคนนี้นี่แหละ เพราะแม่งขัดกูตลอด (หัวเราะ) คือพอเราคิดเสร็จแล้วอธิบายเป็นแบบนี้ๆ นะ แล้วเราก็ค่อยสโคปมา สองคนนี้ก็ขัดผมอีกแล้ว มึงก็อย่าเพิ่งดิ ให้กูพูดก่อน อย่าเพิ่งรีบตัดบทขนาดนั้น จินตนาการกำลังพลุ่งพล่านเลย แต่พอพลอยบอกเรามีเงินแค่เท่านี้นะพี่ยอร์ช โถ่ อดเลย (หัวเราะ)
อาเธอร์: นี่ระบายความในใจเหรอ (หัวเราะ)
ยอร์ช: แต่การที่เราทำตามใจตัวเอง มันไม่มีอะไรยากอยู่แล้ว ข้อจำกัดน้อยมาก ตอนนี้ที่มันสนุกยังไม่เต็มที่เพราะว่าเงินไม่พอ ที่ทำมานี่คือจ่ายกันเองหมดนะ ไม่มีสปอนเซอร์เลย สปอนเซอร์เขาคงคิดในใจว่ามึงช่วยบอกเร็วหน่อยได้ไหม เพราะเราจะทำอะไรแบบ Last Minute ตลอด เราใช้เวลาคิดกันนาน พอจะทำก็ทำเลย ซึ่งทำแบบนี้มันไม่ได้เพราะต้องมีระยะเวลาให้ลูกค้าด้วย แต่ก็โชคดีที่เรายังมีเพื่อนพ้องคอยซัพพอร์ตกันตลอด
พลอย: สำหรับเราไม่ได้รู้สึกว่ามันยากเลย เพราะเราไม่ได้คาดหวังว่ามันจะไปทางไหนตั้งแต่แรก เราแค่รู้สึกว่าจะตั้งใจทำให้มันสนุกที่สุด อะไรที่ชอบเราก็จะทำ พออยากทำมันก็ไม่รู้สึกว่ายาก เราไม่ได้ถึงขั้นแบบต้องวิ่งหาลูกค้าหรือตามใจลูกค้าทุกอย่าง แต่ในช่วงปีแรกๆ ด้วยความที่พวกเราก็ยังมีงานอื่นที่ทำกันอยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้จริงจังมาก บังเอิญว่าในตอนแรกโชคดีมีผู้ใหญ่สนับสนุนก็ได้งานมา จนปีที่แล้วเราย้ายไปญี่ปุ่นก็รู้สึกว่าต้องจริงจังกว่านี้ ก็เริ่มหางานรับงานหลากหลายมากขึ้น มีลูกค้าติดต่อมากขึ้น พอฟีดแบ็กดีเรื่อยๆ เราก็อยากทำให้มันดี ไม่ได้อยากให้เป็นแค่งานเสริม ตอนนี้พวกเราก็โฟกัสงานนี้เป็นหลักเลย
ส่วนใหญ่งานที่คุณจัดจะมีแต่ศิลปินรุ่นใหม่ คุณมีวิธีเลือกผลงานมาแสดงอย่างไร
ยอร์ช: พาร์ตการเลือกศิลปินมาแสดงงานส่วนมากเราจะเจอเอง เช่น เรานั่งคุยกับคนหนึ่งแล้วรู้ว่าเขาวาดรูป เราก็ขอดูงาน ถ้าครั้งหน้ามีโปรเจกต์เราก็ชวนเขามาทำ ซึ่งเมื่อก่อนปกติเวลาเราไปเที่ยวมันไม่มีใครอยากคุยเรื่องการทำงานหรอก เราก็คงไม่ไปนั่งกินแล้วบอกว่ากูวาดรูปอยู่ คือเราก็คุยกันเรื่องไร้สาระทั่วไป แต่พอเราทำ Bridge Art Agency กลายเป็นว่าเรานั่งคุยเรื่องวาดรูปเยอะมาก ซึ่งเราก็คิดกับตัวเองนะว่ากูคุยเรื่องนี้เยอะเกินไปเปล่าวะ แต่บางคนเขาก็ไม่เคยคุยเรื่องแบบนี้ก็ทำให้มีโอกาสคุยกันมากขึ้น
อีกส่วนคือเราได้เจอศิลปินตอนทำนิทรรศการด้วย เพราะพอได้อยู่ในพื้นที่ศิลปะ เขาจะกล้าพูดกับเราในเรื่องที่ไม่กล้าพูดกับใคร ก็เลยกลายเป็นพื้นที่ที่เรารู้สึกว่ามันสนุกดี พอเรามีพื้นที่แบบนี้ให้คนที่ชอบแบบเดียวกันได้คุยกัน มันก็กลายเป็นคอมมูนิตี้โดยไม่รู้ตัว
อาเธอร์: มันคือไลฟ์สไตล์ของพวกเราทั้งสามคน
พลอย: ซึ่งในพาร์ตของ Business Plan เราจะมีสองข้อง่ายๆ คือ Exhibition กับ Non-exhibition พาร์ต Exhibition คือเราจะจัดนิทรรศการให้กับศิลปิน พี่ยอร์ชก็จะเป็นคน curate เอง หรืออีกกรณีคือมีคนสนใจอยากให้เราไป curate ให้ศิลปินของเขา ส่วนพาร์ต Non-exhibition คือการที่มีองค์กรหนึ่งอยากให้เราหาศิลปินมาทำผลงานให้เขา พอเราตีโจทย์คอนเซ็ปต์เสร็จแล้วพี่ยอร์ชก็จะ curate ให้ศิลปินมาทำ หรือการที่มีแบรนด์หนึ่งอยากให้ศิลปินมาดีไซน์โปรดักต์ เราก็มีหน้าที่ไปหาศิลปินให้มันเหมาะกับแบรนดิ้งของเขา
เมื่อก่อนศิลปินมักจะนิยมจัดนิทรรศการเดี่ยวของตัวเอง แต่ตอนนี้มีนิทรรศการศิลปินรวมกลุ่มกันเยอะมาก ในฐานะที่ทำงานอยู่ในแวดวงอาร์ตคัลเจอร์ คุณคิดว่าเพราะอะไร
อาเธอร์: การที่เราทำอะไรคนเดียวมันก็สนุกประมาณหนึ่ง แต่ถ้ามีคนที่เราสนใจแล้วไปสร้างสรรค์งานด้วยกันมันสนุกกว่าเยอะ แล้วตอนนี้สิ่งที่เราทำมันเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่ามีคนที่อยากมาทำงานด้วยกับเรา ไม่ว่าจะเป็นตัวศิลปินหรือลูกค้าเองก็ตาม พอเราเชื่อมระหว่างศิลปะกับผู้คนแล้วเราก็อยากสร้างคอมมูนิตี้ในแบบที่มีอาร์ตเป็นพื้นฐาน เพราะอาร์ตคือคัลเจอร์ ถ้าอาร์ตบ้านเราแข็งแรงมันก็สามารถสร้างอะไรใหม่ๆ ได้
สิ่งหนึ่งที่พี่ยอร์ชตั้งใจที่จะทำคือการสนับสนุนศิลปินใหม่ สิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราทำนิทรรศการจริงจัง อย่างงานแรกของเราก็คือนิทรรศการ My Way ซึ่งจริงๆ เป็นนิทรรศการเดี่ยวของพี่ยอร์ช แต่พี่ยอร์ชก็เห็นว่ามันมีศิลปินคนหนึ่งที่น่าสนใจคือน้องแม็กซ์ ก็เลยไปชวนมาทำด้วยกัน มันคือการหาคนใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เพราะจริงๆ แล้วตัวแม็กซ์เองก็ไม่ได้เป็นศิลปิน
ยอร์ช: เราไม่ได้ชวนมาเป็น Guest ให้เรานะ แต่เราชวนมาร่วมแสดงด้วยกันเลย หลังจากนั้นถ้าเขายังสนุกกับสิ่งที่ทำอยู่เราก็ซัพพอร์ต เรารู้สึกแฮปปี้ที่เราได้เห็นสิ่งนี้ บางคนไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียงหรือต้องวาดรูปเก่งมาก แค่เขาชอบในสิ่งที่เขาทำเราก็อยากจะทำงานด้วย เรารู้สึกว่าถ้าได้ร่วมงานกันมันน่าจะเกิดอะไรใหม่ๆ
บางทีการอยู่คนเดียวก็อาจจะไม่มั่นใจ แต่ถ้ามีเพื่อนที่ไม่มั่นใจสามสี่คนมาอยู่ด้วยกัน มันก็จะมีความมั่นใจโดยไม่รู้ตัว การทำคนเดียว โซโล่เดี่ยวมันยากนะ มันต้องเวลา ต้องอยู่กับตัวเองสักพักหนึ่งเลย แต่พอเป็นงานกลุ่มมันเหมือนเขาคิดแล้วเขาได้ทำเลย พองานกลุ่มจำนวนหนึ่งมันก็จะแข็งแรงพอที่จะทำงานโซโล่ในอนาคตด้วย
พลอย: เรามองว่างานกลุ่มมันเป็นอีเวนต์เปิดตัว แนะนำให้คนเข้ามาทำความรู้จักศิลปินแต่ละคน
ยอร์ช: เหมือนวงดนตรีออกมาเป็นกลุ่ม สุดท้ายก็แยกออกมาเป็นศิลปินเดี่ยว มันต้องสร้างให้เห็นภาพรวมก่อนว่ามีคนไหนทำอะไรบ้าง แนะนำตัวพร้อมกัน แล้วคุณเลือกที่จะทำงานกับใครก็ได้ หรือคนไหนจะออกมาโซโล่เดี่ยวก็ได้ ทำงานกลุ่มมันก็ไม่เขิน ไม่เหงาด้วย
อาเธอร์: อีกหนึ่งอย่างที่ Bridge Art Agency ทำ เราเหมือนเป็นหน้าต่างทำให้คนเห็นงานของพวกเขามากขึ้น กลับมาที่ศิลปินหน้าใหม่ พอเค้าเห็นเพื่อนในวัยเดียวกันสร้างงานขึ้นมา ก็จะรู้สึกว่ากูก็สามารถทำได้ ลองโชว์ดูซิ กล้าที่จะแสดงออกและเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น
ยอร์ช: อย่างแก๊งเชียงใหม่เขาก็มีกลุ่มชัดเจน เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่งานโคตรมัน เรายังอยากไปทำงานกับเขา ตอนนี้ก็เป็นยุคของพวกเขาแล้วเหมือนกัน เราชอบที่ได้ทำงานกับคนใหม่ๆ เป็นการแลกเปลี่ยน คอมมูนิตี้มันก็ใหญ่ขึ้นโดยไม่รู้ตัว
จริงๆ Bridge Art Agency ก็เพิ่งมีได้ไม่กี่ปี ช่วงแรกเริ่มมีอุปสรรคเยอะไหม
อาเธอร์: ถ้ามีความสนุกกับความสุขที่เราได้ทำงานก็ถือว่าประสบความสำเร็จ
ยอร์ช: แต่ถ้าจะให้ประสบความสำเร็จจริงๆ ต้องมีสปอนเซอร์ที่ให้เงินเรามาทำ นั่นก็คือประสบความสำเร็จแน่
อาเธอร์: ความตั้งใจที่เราอยากจะมีโปรเจกต์ที่เราสามารถซัพพอร์ตน้องศิลปินได้มากขึ้น ซึ่งมันก็ต้องใช้เวลา คือตอนนี้มันเป็นสเต็ปแรกๆ ถ้าพูดในเชิงของ Art Market เองเราก็ใหม่มาก
ยอร์ช: เราแค่มองว่าถ้าใช้คำนั้นมันจะมองในแง่การทำงานจะง่ายขึ้น แต่ถ้าถามส่วนตัวเราทั้งสามคนยังไม่ได้ถึงขนาดเอเจนซี เราเป็นเหมือนแค่การทำงานร่วมกันกับเพื่อน กับศิลปิน เราเริ่มจากการทำงานเล็กๆ ก่อน ทุกวันนี้มันก็ยังเป็นการทำงานแบบเล็กๆอยู่ เพียงแต่เรามีคนซัพพอร์ต มีลูกค้า มีคนเข้าใจการทำงานเรามากขึ้น มันก็เลยค่อยๆ ขยายออกไป
อาเธอร์: เราเพิ่งเริ่ม เพิ่งหัดเดิน เราอาจจะเดินได้ไม่แข็งแรงแต่เราเต้นเก่ง
ยอร์ช: วิ่งแล้วเดี๋ยวล้มไม่เอาดีกว่า เต้นดีกว่า เต้นสนุกกว่า (หัวเราะ)
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เรารู้สึกว่าคนไทยไปดูงานอาร์ตเยอะขึ้นกว่าเดิมมาก สำหรับคนจัดงานรู้สึกยังไงบ้าง
พลอย: เรารู้สึกว่าคนไทยบางคนยังไม่เข้าใจอาร์ตขนาดนั้น เราขอพูดในการจัดงานว่าเวลาไปดูศิลปะอย่าจับ อย่าพิง คือเราแฮปปี้นะที่มีคนเดินนิทรรศการเยอะขึ้น เพียงแต่ว่าต้องเรียนรู้มากขึ้นในเรื่องของ Manner ในการดูอาร์ต เราอยากให้ Appreciate อาร์ตมากขึ้น ไม่ใช่แค่รู้สึกว่าสวยจัง คนถ่ายลงไอจีฉันจะต้องไปถ่ายบ้าง
อาเธอร์: เราก็หวังว่าอนาคตคนที่เข้ามาดูนิทรรศการ เขาจะมาโดยที่อยากรู้จักว่าศิลปินคนนี้คือใคร ทำงานอะไรมาก่อน ไม่อยากให้มันเป็นแค่เทรนด์ อยากให้มันอยู่กับเราไปนานๆ แล้วก็ดีขึ้นเรื่อยๆ พอมันมีอาร์ตที่ดีแล้วมันก็ค่อยๆ ปลูกฝังความเข้าใจวัฒนธรรมการดูงานศิลปะด้วย
เราอยากให้มีคนสนใจอาร์ตเยอะๆ เด็กรุ่นใหม่โตขึ้นก็อยากให้เขาเป็นคอลเลกเตอร์ในอนาคต สนับสนุนงานที่ตัวเองชอบ ไม่อยากให้ซื้อตามเทรนด์ อยากให้ซื้อเพราะว่าชอบงานของคนๆ นั้น ศิลปินเหล่านั้นจะได้โตไปพร้อมๆ กัน ซึ่งคนที่จะทำให้วงการอาร์ตไปต่อได้โดยที่ไม่ใช่แค่เทรนด์ เราว่าก็คือคนที่เป็นอาร์ตเลิฟเวอร์ที่จะผันตัวมาเป็นคอลเลกเตอร์นี่แหละ เป็นตัวบอกที่ว่ามันจะไปต่อได้ดี
เมื่อก่อนคนที่ทำงานศิลปะมักจะถูกมองว่าไส้แห้ง คุณคิดว่าปัจจุบันแนวคิดนี้เปลี่ยนไปบ้างไหม
ยอร์ช: ต้องย้อนไปว่าเขาเคยทำอะไรมาก่อน เราว่าทุกอาชีพมันไม่ง่าย เพียงแต่ว่าทุกคนมันจะมีจังหวะของตัวเอง เมื่อก่อนมันไม่มีอินเตอร์เน็ตไม่มีสื่อเยอะขนาดนี้ ตอนนี้มันก็มีเยอะขึ้นมาก แต่มันก็มีทั้งข้อดีและไม่ดี พอมันเยอะเกินไปก็เห็นบ่อยแล้ว งานแบบนี้เบื่อแล้ว มันก็อยู่ที่คนมอง
สิ่งที่เราอยากบอกคือเราอยากให้คุณชอบมันจริงๆ อย่างประเทศอื่นทำไมเขาถึงใส่เสื้อผ้าแบบนี้ได้กันทั้งปีทั้งชาติ ก็เพราะเขามีคนที่ซัพพอร์ตแบรนด์นี้อยู่ มีคนที่ใช้จริง ส่วนในไทยบางทีก็มองแบบฉาบฉวย พอมันฉาบฉวยเราก็จะไม่รู้ตัวเองแล้ว คราวนี้ก็ไม่มีอะไรที่เราอยากอยู่กับมันจริงๆ เพราะเราไม่ได้ไปโฟกัสอยู่กับมัน จริงๆ เราก็ไม่เคยรู้ว่าวันหนึ่งตัวเองจะมาทำ Bridge Art Agency ได้ เพราะเราก็วาดรูปของเราอย่างเดียว อย่างที่บอกว่าอยากทำอะไรก็ทำ ถูกผิดให้คนอื่นเป็นคนบอก แต่ว่าถ้าเราทำแล้วเราสนุกก็ทำไปเถอะ