Bram Stoker’s Dracula วิธีปลุกผีให้โลกหลอน

ไม่ทราบว่า Dracula นิยายสยองขวัญคลาสสิกของ บราม สโตกเกอร์ นักเขียนชาวไอริช มีฉบับแปลไทยครั้งแรกเมื่อใด แต่ฉบับเก่าแก่สุดเท่าที่เคยเห็น คือเล่มที่ใช้ชื่อว่า ‘ล่าผีดิบแดร็กคิวล่า’ แปลโดย ‘กรกฎ’ ตีพิมพ์เมื่อปี 2489 แต่ถึงจะเก่าแก่ขนาดนั้นก็ยังห่างจากต้นฉบับอยู่หลายสิบปี เพราะนิยายสยองขวัญเรื่องนี้ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2440 โดยผู้เขียนนำ ‘แวมไพร์’ ปีศาจจากเรื่องเล่าโบราณมาเป็นต้นไอเดีย

แต่คนไทยกับ ‘แดรกคูลา’ หรือบางครั้งก็เรียก ‘ผีดิบดูดเลือด’ น่าจะคุ้นกับปีศาจตนนี้ผ่านทางหนังฝรั่งเสียมากกว่า โดยเฉพาะฉบับของ คริสโตเฟอร์ ลี นักแสดงอังกฤษที่สวมบทท่านเคาต์แดรกคูลาในหนังสยองของแฮมเมอร์ฟิล์มส์ระหว่างปี 2500-2516 เอาไว้ตั้ง 7 เรื่อง 

แต่ถ้าย้อนไปก่อนหน้าในยุคหนังขาวดำ นักแสดงที่ทำให้แดรกคูลาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และสร้างภาพลักษณ์มาตรฐานให้กับตัวละครนี้ในเวลาต่อมา คือฉบับของยูนิเวอร์แซลเมื่อปี 2474 ที่สวมบทโดย เบลา ลูโกซี เขารับบทแดรกคูลามาตั้งแต่ยังเป็นละครเวที และก็กลายเป็นบทบาทติดตัวไปทั้งชีวิต ทั้งที่ลูโกซีแสดงเป็นแดรกคูลาในหนังเอาไว้แค่ 2 เรื่อง  

ส่วนหนังไทยถึงจะไม่ได้มีอะไรเกี่ยวพันกันทางวัฒนธรรมแห่งความกลัว เมื่อคราวนิยาย ‘แก้วขนเหล็ก’ กับ ‘จอมเมฆินทร์’ ของ ตรี อภิรุม ถูกนำมาดัดแปลงเป็นหนังจอเงิน ปีศาจในเรื่องไม่ว่าจะเป็นฉบับของ สอาด เปี่ยมพงษ์สานต์ (2514) สมบัติ เมทะนี (2516) หรือ ฤทธิ์ ลือชา (2526) ล้วนแต่มีต้นแบบคือแดรกคูลาจากหนังฝรั่งเหล่านั้น  และแคแรกเตอร์แดรกคูลาเองก็ยังเคยมีฉบับสัญชาติไทย แต่มาในรูปหนังตลกชื่อ ‘แดร๊กคูล่าต๊อก’ (2522) ที่นำแสดงโดยดาวตลกชื่อเดียวกับชื่อเรื่องในยุคที่ล้อต๊อกกำลังพีก ก่อนจะกลายมาเป็นต้นแบบตัวการ์ตูนให้กับ บอยด์ โกสิยพงศ์ ในเวลาต่อมา 

อย่างไรก็ตาม ภาพติดตาของแดรกคูลาที่ต้องหวีผมเรียบแปร้มาในชุดคลุมยาว สามารถแปลงกายเป็นค้างคาวบินไปไล่งับคอสาวๆ ก็ไม่ใช่ภาพจำแบบเดียวของแดรกคูลา เมื่อเริ่มต้นที่ถูกนำมาดัดแปลงในยุคหนังเงียบ ‘Nosferatu: A Symphony of Horror’ หนังเยอรมันที่ออกฉายเมื่อ 100 ปีก่อน คือแดรกคูลาที่ผิดไปจากภาพเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิง ในเรื่องนี้ที่ดัดแปลงมาจากนิยายของสโตกเกอร์แบบไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ ‘เคาท์ออร์ล็อค’ หรือแดรกคูลา มีรูปลักษณ์แลดูสยอง แสดงลักษณะปีศาจหรือผีดิบในทุกมุมมอง 

แต่แดรกคูลาที่ผิดแปลกกว่าทุกฉบับที่เคยมี คงต้องยกให้ฉบับของ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ผู้กำกับ ‘The Godfather’ ทั้ง 3 ภาค และมีชื่อเรื่องอย่างเป็นทางการไม่ต่างกัน ด้วยเพราะตั้งใจจะเคารพบทประพันธ์ ชื่อเต็มๆ ของ The Godfather จึงมีคำว่า ‘ของ มาริโอ พูโซ’ ส่วนแดรกคูลาที่เข้าฉายบ้านเราเมื่อต้นปี 2536 ก็มีคำว่า ‘ของ บราม สโตกเกอร์’ หรือ ‘Bram Stoker’s Dracula’   

การปรากฏตัวแต่ละครั้งของแดรกคูลาในเรื่องนี้แตกต่างกันจนหาภาพตัวตนที่แท้จริงแทบไม่ได้ โดยสิ่งที่บทหนังของ เจมส์ วี.ฮาร์ต เพิ่มเติมลงไปคือความลึกของเรื่องราวสยองขวัญที่ผู้คนรู้จักกันดี และคอปโปลาก็ครอบทั้งหมดไว้ด้วยความทะมึนมืดสไตล์โกธิคไปจนถึงอาร์ตนูโว แถมยังเป็นแดรกคูลาที่แสดงความเคารพในศาสตร์ภาพยนตร์ กลไกซึ่งใช้ภาพลวงตาสะกดให้เกิดความรู้สึกหลากหลาย รวมทั้งความกลัวเพื่อสร้างความบันเทิงมาตั้งแต่เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว 

ใน Nosferatu ตั้งใจใช้การเคลื่อนที่ของแสงกับเงาสร้างความรู้สึกแบบนั้น เท่าที่ ‘หนังเรื่อง’ ในช่วง 20 ปีแรกจะทำกันได้ และคอปโปลาก็พาผู้ชมย้อนไปยังสมัยเดียวกับที่นิยายเรื่องนี้ถูกตีพิมพ์และภาพยนตร์เพิ่งเกิดขึ้นบนโลก เขาแสดงความเคารพศาสตร์นี้ด้วยการนำบางช็อตจากเรื่องนั้นมาทำขึ้นใหม่ รวมทั้งจงใจใช้วิธีสร้างภาพพิเศษเช่นหนังยุคโบราณจะสร้างสรรค์กันเพื่อตบตาผู้ชม     

สำหรับ ‘ความลึก’ ที่กล่าวถึงเมื่อ 2 ย่อหน้าก่อน ก็หมายถึงการเพิ่มเติมความสมจริงด้วยการนำประวัติบางส่วนของเจ้าชายวลาดที่ 3 หรือ วลาด แดรกคูลา (Vlad Dracula) บุคคลในประวัติศาสตร์โรมาเนียเมื่อกว่า 500 ปีก่อน ซึ่งลือกันว่าเป็นต้นแบบของแดรกคูลา มาเพิ่มความสมจริงสมจังให้ตัวละคร แล้วขยายเรื่องราวที่คอปโปลาต้องการถ่ายทอดสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘ฝันร้ายอีโรติก’ ด้วยความโรแมนติกกับโศกนาฏกรรมแบบเดียวกับ ‘โรมิโอกับจูเลียต’

เพียงแต่เจ้าชายวลาดกับ ‘มีนา’ คนรักของเขาในเรื่องนี้ เป็นความรักของ ‘โรมิโอและจูเลียต’ ในโลกหลังความตายหรือภพต่อมาหลังจากตอนจบของ วิลเลียม เชกสเปียร์

“ข้าข้ามมหาสมุทรแห่งกาลเวลาเพื่อมาพบเจ้า” นอกจากโอกาสที่จะได้ร่วมงานกับผู้กำกับอเมริกันฝีมือดี แกรี โอลด์แมนเคยกล่าวว่า เพียงแค่ได้กล่าวประโยคนี้ก็คุ้มแล้วที่จะแสดงเป็นแดรกคูลา 

Bram Stoker’s Dracula เป็นหนึ่งในผลงานไม่กี่เรื่องของคอปโปลาที่ได้รับทั้งคำชมและทำเงิน กลายเป็นบทที่ดีที่สุดบทหนึ่งของโอลด์แมนในยุคสร้างชื่อ รวมทั้ง วิโนนา ไรเดอร์ อดีตนักแสดงสาววัย 19 ในขณะนั้นที่นำบทเรื่องนี้ไปให้คอปโปลาอ่าน และ ‘มีนา’ ก็เป็นอีกบทที่น่าจดจำในยุครุ่งเรืองของเธอ

ส่วนในจอหนังบ้านเรา ภายหลังจากออกฉายในสมัยมินิเธียเตอร์ อีก 6 ปีต่อมาในยุคที่หนังไทยเลิกทำหนังผีเน้นความน่ากลัวมาเป็นสิบปี เพราะนายทุนเชื่อว่ามันจะไม่ทำเงินเท่าหนังผีตลก นนทรีย์ นิมิบุตร กลับปลุกผีที่คนไทยรู้จักกันดีอย่าง ‘แม่นาคพระโขนง’ ขึ้นมาด้วยวิธีคล้ายกันกับคอปโปลาใช้ปลุกผีแดรกคูลา 

‘นางนาก’ เมื่อปี 2542 ของนนทรีย์เติมความลึกด้วยความจริงจังตามแบบเรียลิสติก จากงานสร้างกับเครื่องแต่งกายให้ตรงตามสมัยที่คาดว่าเป็นต้นตอของตำนานแม่นาค และบทหนังก็ขับเน้นประเด็นความรักที่หมายถึงตัณหาราคะในโลกของคนเป็น แต่คือความห่วงหาอาวรณ์ในโลกของคนตายหรือผีให้ผู้ชมได้สัมผัส คล้ายกันกับ Dracula ฉบับนี้ 

แต่ก็เป็นแค่ความบังเอิญเท่านั้น นนทรีย์ยืนยันถึงสิ่งที่นำเสนอ เป็นความต้องการส่วนตัวที่จะค้นหาตำนานผีตนนี้ในมุมมองอย่างที่ค้นพบ และด้วยความแปลกใหม่ ทำให้กวาดรายได้ในระดับปรากฏการณ์ นับแต่นั้นมาหนังผีไทยก็เลิกเอาแต่ตลกเข้าว่ากันอีกต่อไป

ไม่ต่างกันทั้ง นางนาก และ Bram Stoker’s Dracula เป็นความสำเร็จแบบผีๆ ด้วยวิธีปลุกผีที่น่าจดจำ

AUTHOR