‘How I love MY MOTHER’ ความเจ็บปวดคือปุ๋ยของความรัก

ชื่อหนังสือ:
How I love MY MOTHER
ผู้เขียน: ภาริอร วัชรศิริ
สำนักพิมพ์: BUNBOOKS

หนังสือที่เขียนโดยวัยรุ่นเวลานี้ส่วนใหญ่
ถ้าไม่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวก็คงว่าด้วยการตามฝัน ค้นหาตัวเองหลากรูปแบบ
หากนับตามอายุ ‘พาย’ ผู้เขียน How I love MY MOTHER ก็ยังจัดว่าเข้าข่ายวัยรุ่น
แต่เรื่องที่เธอถ่ายทอดกลับไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราคาดการณ์สักนิด
เพราะสิ่งที่เธอเล่าคือการประมวลชีวิตกว่า 8 ปีที่ดูแลแม่ซึ่งป่วยเป็นอัมพฤกษ์ด้วยตัวคนเดียว

ชีวิตที่ต้องตื่นทุกชั่วโมงมาดูแม่
ชีวิตที่คล้ายจะถูกริบความสนุกของวัยรุ่นไปเกือบหมด
ชีวิตที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนหัวหน้าครอบครัวตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ
ชีวิตที่อยู่กับผู้ป่วยและปัญหาจุกจิกรายวัน
มันช่างเป็นภาพชีวิตที่วัยรุ่นน้อยคนจะต้องรับมือ …แต่ขอโทษเถอะ!
เธอหักมุมเราโดยการเขียนเรื่องพวกนี้ด้วยน้ำเสียงสดใสอุดมความฮา
จนทำเอาเราหัวเราะกลางที่สาธารณะไปหลายรอบ

พายเล่าเรื่องชีวิตประจำวันระหว่างแม่กับเธอ
สืบสาวย้อนความทรงจำแต่ละช่วงมาปะติดปะต่อให้เราเห็นภาพว่าการใช้ชีวิตและการดูแลกันระหว่างแม่กับเธอเป็นอย่างไร
เหตุการณ์แฟลชแบ็กทำให้เรารู้ว่าเธอเคยเป็นคุณหนูตัวแสบที่อาศัยอยู่กับซิงเกิลมัมซึ่งทำทุกอย่างเหมือนซูเปอร์วูแมน
จนกระทั่งวันที่แม่ป่วย บทบาทที่จำต้องสลับกันทำให้เธอได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง
ระหว่างที่หกล้มหกลุก น้ำตาและความเครียดย่อมมี
แต่เธอยังมองเห็นแง่งามและแง่น่ารักที่เกิดขึ้นแต่ละวัน

รายละเอียดบางอย่างอาจทำให้คนส่วนใหญ่อ่านแล้วแอบน้ำตาซึม
แต่เราเชื่อว่าระหว่างนั้น ‘ทุกคน’ จะยิ้มกับมัน
ไม่ว่าจะจากความเปิ่นเป๋อของแม่พาย หรือมุกที่สองแม่ลูกขยันเล่นใส่กัน (จนเราคิดว่าทั้งสองคนเอาดีด้านตลกคาเฟ่ได้สบาย)
ตัวอย่างเช่นสถานการณ์นี้

เมื่อคืนตอนตีสาม

ปู้ดดดดดดดด

แม่: นี่กลิ่นตดหรือกลิ่นศพ!

พาย: โอ๊ย
นี่แม่ตดเองนะ แล้วยังจะมาพูดอะไรน่ากลัวตอนตีสามอีก!!!

แม่: (หันหน้ามาช้าๆ แสยะยิ้ม) หรือฉันไม่ใช่คนล่ะ (หันหน้ากลับไปอย่างเยือกเย็น)

จากนั้นไม่ถึงนาทีแม่ก็หลับต่อ
ไม่เห็นใจคนที่ยังไม่หลับบ้างเลย

ชีวิตทั้งสองคือชีวิตธรรมดาคู่หนึ่งที่เจอปัญหาคลาสสิกที่โลกหยิบยื่นมาให้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ครอบครัวที่เว้าแหว่งขาดหาย ปัญหาเศรษฐกิจในบ้าน
ปัญหาของคนรักกันที่ทะเลาะและไม่เข้าใจกัน ปัญหาสุขภาพที่สั่นคลอนชีวิตไปตลอดกาล
ถึงจะไม่เคยผ่าน แค่อ่านก็จินตนาการระดับความเจ็บปวดได้ว่ามันคงมากมาย
แต่ยิ่งเจอแรงที่บีบเข้ามา
ทั้งสองกลับแปรรูปความเจ็บปวดให้เป็นพลังที่คอยเติมให้กันเสมอ
และนั่นทำให้ความรักยิ่งฉายชัดในความสัมพันธ์

เมื่อลูกขาดพ่อ
แม่ก็เป็นพ่อให้ลูก (แม้กระทั่งยอมตัดผมสั้นใส่เชิ้ตเท่ไปร่วมงานวันพ่อ)

เมื่อแม่ป่วย
ลูกก็พยายามทำทุกอย่างเหมือนที่แม่เคยดูแล (อาบน้ำ ทำอาหาร ดูแลบ้าน
กายภาพบำบัด ฯลฯ)

เราคนอ่านได้เห็นว่าพลังที่ทั้งคู่ทุ่มให้กันนั้นแม้จะต่างวาระ
แต่ที่แท้มันไม่ได้ต่างกันเลย

ระหว่างอ่าน
How
I love MY MOTHER
เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองด้วยว่า How we
love each other กับคนรอบข้าง
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่านี่เป็นหนังสือซึ้งๆ โลกสวยเกินจริง
ความสดใสที่แทรกตัวอยู่ตลอดเรื่องคือสิ่งบอกใบ้ว่าเพราะโลกและชีวิตนั้นเจ็บปวด (และหลายครั้งเราก็ทำอีกคนเจ็บปวดโดยไม่ตั้งใจ) เราจึงต้องพยายามอยู่เพื่อกันและกันให้ดีที่สุด
เหมือนข้อความนี้ที่น่าจะสรุปได้ตรงความหมาย

ชีวิตมันไม่ได้สวยงามเพียบพร้อมอย่างที่แม่พยายามจะเสนอแต่ด้านดีๆ
ให้เราเห็น ในความสุขสบายของใครหนึ่งคนก็มีความยากลำบากของใครอีกคนแฝงอยู่

ทุกวันนี้
เมื่อนึกถึงคำที่แม่เคยพูดว่า
‘ถ้ายังมีแรงจะรักก็อยากจะทำให้ดีที่สุด’
เราก็อยากบอกแม่ขึ้นมาเหมือนกันว่า ถ้างั้นแม่หายห่วงได้เลย
เพราะพายยังเด็ก ยังไม่หมดแรงง่ายๆ หรอก

ความยากง่ายในการอ่าน: อ่านง่ายสบายมาก
ถ้ารู้ตัวว่าต่อมน้ำตาตื้น โปรดเตรียมผ้าเช็ดหน้า แต่ถ้ารู้ตัวว่าเส้นตื้น
เตรียมหัวเราะดังๆ ได้เลย

AUTHOR