พบแง่งามของความเนิบช้าใน ‘หอยทากผู้ค้นพบประโยชน์แห่งความเชื่องช้าของตน’

ชื่อหนังสือ: หอยทากผู้คนพบประโยชน์แห่งความเชื่องช้าของตน
ผู้เขียน: Luis Sepúlveda
ผู้แปล: สถาพร ทิพยศักดิ์
สำนักพิมพ์: ผีเสื้อสเปน

หลายคนคงรู้จักหลุยส์ เซปุล์เบดา
นักเขียนชาวสเปนจากผลงานมีชื่อเล่มก่อนๆ ของเขาอย่าง ‘ชายชราผู้อ่านนิยายรัก’ ‘โลกสุดขอบฟ้า’
และ ‘นางนวลกับมวลแมว ผู้สอนให้นกบิน’ ล่าสุดสำนักพิมพ์ผีเสื้อได้หยิบผลงานชั้นดีอีกชิ้นของนักเขียนคนนี้มาตีพิมพ์
ชื่อของงานดังกล่าวคือ ‘หอยทากผู้ค้นพบประโยชน์แห่งความเชื่องช้าของตน’

เซปุล์เบดากล่าวไว้ว่า หนังสือเล่มนี้มีจุดกำเนิดจากดาเนียล
หลานชายซึ่งมองหอยทากในสวนแล้วหันมาถามว่า ‘ทำไมหอยทากจึงเคลื่อนที่ช้าเสียเหลือเกิน’ จึงไม่น่าแปลกใจที่หอยทาก จะปรากฏโฉมในรูปแบบวรรณกรรมเยาวชนที่มีเนื้อเรื่องเรียบง่าย และภาษาไม่สลับซับซ้อน
ทั้งยังมีจังหวะ วรรคตอนบางอย่างคล้ายนิทานที่เราเคยอ่านตอนยังเด็ก (ฉบับภาษาไทยยังใช้ภาพประกอบแสนน่ารักฝีมือนักวาดวัยประถมต้นซึ่งเหมาะกับเด็กมากๆ
ด้วย) เรื่องราวของหนังสือเล่มนี้ว่าด้วยหอยทากตัวหนึ่งที่เกิดสงสัยขึ้นมาว่าทำไมมันถึงเป็นสัตว์เชื่องช้า
ขณะที่หอยทากตัวอื่นไม่สนใจตั้งคำถาม ท้ายสุดหอยทากตัวนี้จึงออกเดินทางค้นหาคำตอบ
นำไปสู่การผจญภัยและการค้นพบสิ่งต่างๆ มากมาย ในมุมหนึ่ง วรรณกรรมของเซปุล์เบดาเล่มนี้เป็นเรื่องที่เด็กๆ
อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน แต่ขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่อย่างเราก็อ่านดีไม่แพ้กัน
เพราะนิทานที่ดูเรียบง่ายเล่มนี้สอดแทรกไว้ด้วยประเด็นน่าสนใจ

หนึ่งในประเด็นที่โดดเด่นคือเรื่องของความเนิบช้า
ในโลกทุกวันนี้ที่หมุนเร็วจี๋และเราต่างพยายามวิ่งตามให้ทัน
เซปุล์เบดาชวนเราหันกลับมามองความงามของการค่อยๆ ก้าวเดิน
หนึ่งในแง่งามปรากฏให้เห็นเมื่อเจ้าหอยทากคืบคลานหาคำตอบไปจนพบว่าสนามหญ้าที่มันอยู่กำลังจะถูกราดยางทำเป็นที่จอดรถ
หอยทากจึงเดินทางกลับไปเพื่อเตือนเพื่อนๆ และเพราะความเชื่องช้า
ทำให้มันได้พบและเตือนสัตว์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน “ขอขอบใจความเชื่องช้าของเจ้า
เจ้าหอยทาก เพราะหากเจ้าเป็นสัตว์ที่ว่องไวเหมือนกระต่าย หรือปราดเปรียวเหมือนงูเขียว
เจ้าก็คงจะไม่เห็นพวกเราและคงมาบอกเราไม่ทัน…”
คือประโยคที่ราชินีมดกล่าวขอบคุณหอยทากก่อนอพยพย้ายรัง
ชวนให้คิดว่าเมื่อเดินช้าลงเราย่อมเห็นรายละเอียดข้างทางมากขึ้น
และที่ลึกซึ้งกว่านั้นคือการเห็นดังกล่าวอาจไม่ใช่แค่ทันเห็นดอกไม้ผลิบานหรือดวงตะวันตกดิน
แต่ยังหมายถึงการมองเห็นผู้อื่น ชีวิตอื่นในสายตา
และมีเวลาที่จะสัมพันธ์ช่วยเหลือกัน

อีกประเด็นหนักแน่นที่เซปุล์เบดานำเสนอคือ จิตวิญญานแห่งความขบถ
เจ้าหอยทากในเรื่องนี้เป็นหอยทากรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามว่าทำไมมันจึงเชื่องช้า อีกทั้งยังนึกอยากมีชื่อเรียกที่ไม่ใช่การเรียกรวมๆ
ว่า ‘หอยทาก’
ขณะที่หอยทากตัวอื่นๆ ไม่สนใจและพอใจจะใช้ชีวิตแบบเดิม
ท้ายที่สุดมันจึงต้องออกจากฝูงและเดินทางหาคำตอบ ซึ่งระหว่างทาง
มันได้พบอดีตเต่าเลี้ยงตัวหนึ่งซึ่งเล่าให้มันฟังว่า เวลามนุษย์คนหนึ่งถามคำถามซึ่งยากที่จะตอบทำนองว่า
‘ความเร็วเป็นเรื่องจำเป็นหรือไม่’ หรือ
‘จริงหรือที่เราต้องมีอะไรมากมายเพื่อจะมีความสุข’ พวกเขาเรียกมนุษย์นั้นว่า เป็นคนนอกคอก หอยทากจึงเรียกตัวเองว่า ‘นอกคอก’ ตั้งแต่นั้น

ภาพหอยทากที่แปลกแยกจากเพื่อนพ้อง
คล้ายซ้อนทับกับภาพคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่แปลกแยกจากสังคมส่วนใหญ่
พวกเขาที่ตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ขณะคนอื่นเดินหน้าไปด้วยความเคยชิน และถูกต่อต้าน
ไม่ยอมรับ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นราคาที่คน ‘นอกคอก’ ต้องจ่าย แต่เซปุล์เบดาสนับสนุนให้จิตวิญญานขบถนั้นคงอยู่
เพราะเจ้าหอยทากนอกคอก มันจึงได้ออกหาคำตอบ ค้นพบและเรียนรู้
เต่าตัวนั้นยังบอกไว้ด้วยว่าคนนอกคอกที่แท้จริงจะรู้สึกกลัว
แต่ก็จะเอาชนะความกลัวนั้นจนได้ ซึ่งเจ้าหอยทากก็ได้สัมผัสสิ่งนี้ขณะต้องพาเพื่อนๆ อพยพ
โดยที่ไม่รู้ว่าจะได้เจอดินแดนใหม่จริงๆ ไหม แต่มันก็เดินหน้าต่อไป
เช่นเดียวกับหลายคนบนโลกนี้ลุกขึ้นสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมุ่งมั่น
แม้ไม่รู้ว่ามีอนาคตแบบไหนรออยู่ข้างหน้า และเพราะหอยทากแบบนี้
เพราะผู้คนนอกคอกเหล่านี้เอง หลายการเปลี่ยนแปลงบนโลกเราจึงเกิดขึ้น

มากกว่าความเชื่องช้าและความขบถ
เซปุล์เบดายังชวนคนอ่านขบคิดในอีกหลายประเด็นระหว่างทางอักษร เช่น
เรื่องราวของเจ้านกฮูกที่หอยทากไปพบซึ่งบินได้แต่ไม่อาจบิน
เพราะความทรงจำที่แบกไว้ทำให้เป็นทุกข์หนักอึ้งจนบินไม่ไหว เมื่อเราเปิดอ่าน ‘หอยทากผู้ค้นพบประโยชน์แห่งความเชื่องช้าของตน’
จึงจะได้พบเรื่องราว
แง่คิดอีกมากมายกว่าแค่ประโยชน์แห่งความเชื่องช้าตามชื่อเรื่อง

นับเป็นหนังสือน่าอ่านอีกเล่มที่น่าลองลิ้มรสระหว่างใช้ชีวิตในโลกอันวุ่นวายใบนี้

ความยากง่ายในการอ่าน: อ่านทำความเข้าใจเนื้อเรื่องได้ง่าย
แต่ต้องอาศัยทักษะการตีความเพื่อค้นหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดด้วย

AUTHOR