วิชาตลก(ต้อง)ไม่ฝืนของ ศรัญญู เพียรทำดี ที่สอนว่าเป็นตัวเองให้คนรัก ดีกว่าเปลี่ยนตัวตนให้คนสนใจ

“ช่วยแนะนำตัวสักหน่อยได้ไหมคะ” ฉันถามกับผู้ถูกสัมภาษณ์ในวันนี้ เพราะเขาเป็นทั้งพิธีกรและนักพูดตลกชื่อดังในโลกออนไลน์ ที่ใครๆ ต่างต้องมอบเสียงหัวเราะให้กับเขา ถ้าวันหนึ่งเขาเป็นฝ่ายถูกสัมภาษณ์จะอธิบายตัวเองสนุกๆ อย่างไรกัน

“ได้เลย แนะนำตัวนะครับ ผมชื่อ ‘เบียร์’ หรือเรียกผมสั้นๆ ว่า สกินเฮด” ระหว่างกำลังนึกอยู่ว่า สกินเฮดมาจากไหน เบียร์รีบเอามือชี้ที่หัวแล้วบอกว่า “เรียกผมสั้นๆ ไง” (หัวเราะ)

“อ่อ……ผมสั้นๆ (หัวเราะ)” เราที่พึ่งเข้าใจมุกก็เผลอหัวเราะออกมาไม่รู้ตัว

นี่ละ มุกสไตล์ ‘เบียร์-ศรัญญู เพียรทำดี’ นักพูดตลกหน้านิ่งๆ แอบปล่อยมุกมาเงียบๆ อาจต้องใช้เวลาคิดนิดหนึ่ง แต่ถ้าเก็ตมุกเขาเมื่อไหร่ ก็แอบกวนโอ๊ยอยู่ไม่ใช่น้อย ซึ่งคนส่วนใหญ่มักรู้จักเขาในมุมพิธีกรและแอดมินเพจ ‘Buffalo Gags’ รายการทอล์กขายขำ ที่มีจุดเด่นการเล่นมุกตลกหน้านิ่งกับผู้ถูกสัมภาษณ์ ซึ่งความเป็นจริงแล้วเบียร์ยังทำธุรกิจส่วนตัว ‘น้ำพริกแคบหมูยายน้อย’ ที่มีสโลแกนแบรนด์ติดหูว่า ‘คำแรกติดใจ คำต่อไปติดคอ’ และยังเป็นแสตนด์อัปคอเมเดียนที่เคยจัดทอล์กโชว์ตลกของตัวเองด้วย

มุกที่ 1: หาตัวเองให้เจอ ถ้าไม่เจอลองส่องกระจก

ทุกวันนี้เขาทำหลากหลายอาชีพ ทั้งแอดมินเพจออนไลน์ พิธีกรรายการ หรือแสตนด์อัปคอเมเดียน ซึ่งทุกบทบาทของเขามักจะมีความเป็นเบียร์ซ่อนอยู่ นั้นคือเรื่องความตลกหน้านิ่งหรือมุกล้อเลียนเสียดสีชวนจี้เส้น เราชวนคุยเล่นๆ ว่า ทำหลายงานขนาดนี้ชอบพาร์ตไหนมากที่สุด เขารีบตอบว่า ‘แสตนด์อัปคอเมเดียน’

“เพราะการเป็นแอดมินกับทำธุรกิจส่วนตัว มันเป็นการทำคอนเทนต์ตลกผ่านออนไลน์ จะไม่ค่อยเห็นรีแอ็กของคนเจอคอนเทนต์นั้น แต่ถ้าเป็นแสตนด์อัปคอเมเดียน พอเราขึ้นไปพูดบนเวทีแล้วเห็นคนขำมันจะสนุกมาก จริงๆ เราชอบส่งเรื่องราวไปหาพวกเขา และเขาก็รีแอ็กกลับมาด้วยเสียงหัวเราะแค่นั้นเลย”

เป็นนักพูดตลกยากไหม? เราถามต่อด้วยความสงสัย

เบียร์รีบตอบ “มันไม่ง่ายเลยนะที่จะทำให้คนหัวเราะได้ ทำให้คนร้องไห้ง่ายกว่าอีก แค่ด่าเขาก็เสียใจร้องไห้แล้ว แต่จะทำให้เขาหัวเราะได้ รู้สึกว่าทำยากมากกว่า เพราะถ้าเปรียบเทียบเป็นหนัง มันคือซีนถ่ายแบบ Long Take ไม่มีการสั่งคัต ไม่มีการแก้ใหม่ด้วย มันคือการแสดงแบบด้นสดด้วยไมค์ตัวเดียว

“และสิ่งที่ยากที่สุดของการเป็นแสตนด์อัปคอเมเดียนคือ การหาสไตล์ของตัวเราเอง เหมือนอย่างประโยคที่คนเคยพูดเลยว่า ‘หาตัวเองให้เจอ’ มันเป็นคำพูดที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ แต่ทำจริงๆ มันทำยากอยู่นะ

เมื่อเอ่ยถึงประเด็นการค้นหาตัวเอง จึงทำให้เบียร์อยากเล่าย้อนถึงที่มาที่ไปของเขา กว่าจะเป็นแสตนด์อัปคอเมเดียนทุกวันนี้ เขาเคยเป็นพนักงานประจำสายโลจิสติกส์มาก่อน ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับอาชีพในทุกวันนี้เลย และเขาใช้เวลานานกว่า 10 ปีในการตัดสินใจก้าวออกจากเซฟโซนของตัวเองมาทำงานฟรีแลนซ์เต็มตัว

“ตอนเด็กๆ เราไม่ใช่คนกล้าหรือคนออกไปพูดหน้าห้องเลยนะ อย่างตอนอยู่บ้านและที่ทำงานก็ไม่พูดไรนะ แค่เป็นคนเฮฮาเวลาอยู่กับเพื่อน มันเป็นเหมือนเซฟโซนของตัวเอง และเราเป็นตัวฮาในกลุ่ม

เอาจริงๆ ความตลกของเรา มันถูกซึมซับมาตั้งแต่เด็กแล้ว เมื่อก่อนตอนเราเด็กๆ พ่อชอบเช่าวิดีโอตลกคาเฟ่มาให้ดู แล้วเราก็ต้องดูด้วย หรือระหว่างพ่อผมขับรถเทรลเลอร์ไปต่างจังหวัดก็จะเปิดเทปตลกให้ฟัง ผมก็จะนั่งไปด้วยและได้ยินมาโดยตลอด และเอามาพูดกับเพื่อน มันก็ฮา แต่เราไม่ได้มีแบบแผนหรอกนะ ว่าต้องปู ต้องชงอะไรขนาดนั้น เราน่าจะถูกซึมซับมา มองอะไรก็เป็นเรื่องตลกหมดเลย

 “ซึ่งแต่ละคนอาจจะมีระยะเวลาการหาตัวตนไม่เท่ากันหรอก บางคนอาจจะหาเจอเร็วกว่าผมก็ได้ แต่ของผมถือว่านานนะ ถ้านับตั้งแต่ตอนที่ผมทำงานประจำมาประมาณ 14 ปีแล้วคือผมว่า ผมนานมากอะ กว่าที่จะออกมาจากเซฟโซนของตัวเอง” 

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า เราควรออกเซฟโซนตอนไหน “ผมไม่สามารถบอกคนอื่นได้ว่า ออกมาได้แล้วนะ แต่ผมว่าเจ้าตัวต้องรู้ตัวเอง เพราะอย่างผมจะไม่เป็นคนที่ปุ๊บปั๊บ เฮ้ย! พอมีเพจแล้วออกจากงานเลยดีกว่า ผมไม่ใช่แบบนั้น สำหรับผมคือดูจนแน่ใจแล้วว่า ออกไปไม่ลำบาก ไม่เดือดร้อนใครก็ตัดสินใจตอนนั้น เพราะฉะนั้นการที่เราจะหาตัวตนเจอรึเปล่า เราต้องทำมันไปเรื่อยๆ จนตัวเองรู้อะไรบางอย่างว่า จังหวะนี้คือได้ละ”

มุกที่ 2: เล่นเป็นตัวเอง อย่าเล่นเป็นคนอื่น เดี๋ยวเหนื่อย!

สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการทำงานของเบียร์ ไม่ว่าจะสวมหมวกเป็นบทบาทไหน ต่างมีองค์ประกอบร่วมกันคือ ‘การเป็นตัวของตัวเอง’ เบียร์อธิบายให้ฟังว่า ทุกสิ่งที่เขาทำคือ ความเป็นตัวเขา ไม่ฝืน ไม่พยายามจะเป็นใครแล้วเราจะไม่รู้สึกเหนื่อยที่จะทำต่อไปเรื่อยๆ 

“สไตล์หลักๆ เป็นคนพูดตลกหน้านิ่งๆ ซึ่งจริงๆ ผมก็เป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้วละ ไม่ได้พึ่งมาปรับให้เป็นแบบนี้นะ เคยมีช่วงแรกๆ ที่เริ่มเล่นแสตนด์อัปคอเมเดียน ผมพยายามที่จะเล่นเหมือนคนอื่น เพราะเราไม่เคยเล่นมาก่อนและไม่รู้จะเล่นอย่างไร พอเล่นไปคนก็ไม่ขำว่ะ ผมก็พยายามกลับไปคิดและคิดได้ว่า…

“ถ้าสมมติเราอยากเล่นเหมือน โน้ต อุดม เอาสไตล์ของเขามาเล่น คนก็ไม่ขำ เพราะว่าเขาไม่ได้อยากมาดูมุก โน้ต อุดม จากเรา เพราะฉะนั้นก็ลองปรับเอามุกที่เป็นตัวเราใส่เข้าไปบ้าง ทดลองผสมผสานกัน ให้มันเป็นสไตล์เรา ปรากฏคนก็ขำเว้ย หลังจากนั้นมันก็ปรับเป็นสไตล์ของตัวเองชัดเจนมากขึ้น

“มันจะมีช่วงปีที่แล้วที่รู้สึกว่าตัวเองโอเค เจอทางนี้แล้ว เพราะมันมีคนที่เข้ามาดูเราตั้งแต่ตอนแรกๆ จนถึงตอนนี้ เขาบอกว่าอันนี้คือโชว์ที่ดีที่สุดของผม สำหรับเราก็คิดแบบนั้นเหมือนกัน วันนั้นผมเล่นสนุกมากอะ และเป็นตัวเองเลยนะ ไม่ต้องฝืนอะไรเลย ไม่ต้องเอาสไตล์จากคนอื่นมาเล่นกับตัวเอง หลายคนก็พูดว่า มันเป็นสไตล์เบียร์ หน้าเดดๆ นิ่งๆ แต่หน้าผมก็เป็นแบบนี้อยู่แล้วไง (หัวเราะ) ผมไม่ได้ทำอะไรเลย มันคือคาแรกเตอร์เราทั้งนั้น”

เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เบียร์จับทางการพูดสไตล์ตัวเองจนเข้าที่เข้าทาง และมีคนฟังให้การยอมรับมากมาย เราแอบถามเคล็ดลับการเป็นคนพูดให้ตลกต้องทำอย่างไรบ้าง

เบียร์นั่งคิดสักพักก่อนพูดว่า “ตอนแรกผมเคยคิดว่า จะทำให้คนตลกก็ต้องทำให้คนชอบเยอะๆ ใช่ไหม หลังๆ มาผมไม่คิดแบบนั้นแล้ว คนที่จะชอบเรา ก็ต้องชอบที่เราตลกแบบนี้ มันไม่จำเป็นต้องตลกแบบแมสแค่นั้น แต่เราต้องนำเสนอตัวเองออกมา เพื่อให้คนชอบเราในทางที่เป็นเรามากกว่า

“มันก็เหมือนในวงการแสตนด์อัปคอเมเดียน พอเข้ามาสักพักจะรู้เลยว่า มันจะมีคนที่เข้าติดตามคอเมเดียนคนนี้ เพราะว่าเขาเล่นมุขแบบนี้ แต่ละคนก็จะมีฐานของเขา ซึ่งผู้ชมสามารถเลือกได้ว่าเขาชอบสไตล์การพูดแบบนี้นะ ดังนั้นเวลาที่ผมเล่น มันไม่จำเป็นต้องเล่นให้คนหมู่มากตลก แต่เราแค่นำเสนอตัวเองออกมาให้มันชัดเจนดีกว่าเพื่อดึงคนที่ชอบสไตล์แบบนี้ แล้วเราก็จะรู้สึกไม่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอะไรขนาดนั้น ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องพยายาม แล้วคนก็จะชอบในสิ่งที่เป็นเรา”

ระหว่างพูดถึงหนทางการเป็นแสตนด์อัปคอเมเดียนของเบียร์ เขาเล่าเบื้องหลังการพูดตลกบนเวทีให้ทุกคนขำ เหล่านี้ต้องผ่านการทำการบ้านอย่างหนัก ซึ่งคนทั่วไปอาจจะคิดว่า การพูดตลกคือการพูดไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยคิดอะไรมากมาย แต่ความเป็นจริงมุกตลกเหล่านี้ต้องวางแผนและเตรียมตัวมาอย่างดี เพราะใช้หลายทักษะประกอบกันมากมาย ทั้งการหยิบมุกมาใช้ให้เข้ากับจังหวะและบริบท รวมไปถึงไดนามิกการพูด ภาษากาย และการเรียงคำพูดที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม

“ตอนทำเพจ Buffalo Gags จะมีทีมช่วยกัน แต่การเป็นคอเมเดียนเราทำมันคนเดียวเลย ซึ่งบทที่นำมาพูดก็มาจากเราไปเจออะไรมา ก็ทดเก็บใส่ในสมาร์ตโฟนมาตลอด แบบเจออันนี้ เอ้ย! ตลกดี ก็จดใส่ในแอปฯ โน้ต แล้วค่อยมาขยายประเด็นต่อ หรือเผื่อบางอันเอามาผสมๆ กันได้ อย่างตอนผมทำโชว์ยืนเดี่ยวของตัวเองก็ใช้เวลาเก็บมุกและทำบทประมาณเอสี่ 14 แผ่น ตั้งใจกว่าตอนเรียนอีก (หัวเราะ)” เบียร์เล่าพร้อมหยิบสมาร์ตโฟนเปิดสิ่งที่เขาจดในโน้ตให้เราดู ซึ่งมันเป็นข้อความยาวหลายหน้าเลยทีเดียว

เขาชวนคุยต่อ “แต่แปลกดีนะ ผมเล่นแสตนด์อัปคอเมดี ผลตอบแทนที่ได้กลับมาน้อยนิดกว่าทำ Buffalo Gags เยอะเลย แต่เรารู้สึกว่า โมเมนต์หรือรีแอ็กจากคนดูของคอเมเดียนมันหาจากที่ไหนไม่ได้เลย ถ้าถามว่ามันมีความสุขมากกว่าที่เราทำอาชีพอื่นไหม ผมก็น่าจะตอบได้ว่าผมมีความสุขมากกว่า”

“ตอนเล่นแสตนด์อัปคอเมดี มันเห็นรีแอ็กทุกคนที่นั่งอยู่ แล้วเวลาเราเล่น เขาเข้ามาดูเราจริงๆ ไง ยิ่งเวลาเราเล่นปุ๊บ แล้วคนตลก ผมก็ยิ่งขยี้ ผมก็ซาดิสม์แหละ (หัวเราะ) คือผมจะเอาให้ขำตายไปเลย ก็เลยรู้สึกว่า ชอบอันนี้มาก ถึงแม้จะทำยาก ผลตอบแทนรวมกับการลงแรงที่ทำ มันไม่ได้บาลานซ์กันเลย แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือจิตใจ เหมือนมันเติมไฟให้กับเราด้วย”

มุกที่ 3: ไม่มีสาระ ไม่มีสมอง แต่มีสักมุกให้คุณขำ

เรามักจะเห็นเบียร์สร้างเสียงหัวเราะให้คนอื่นตลอด ในทางกลับกันก็อดสงสัยไม่ได้ว่า เขาเคยมีมุมไม่ตลกหรือซีเรียสกับเขาบ้างไหม

“ผมเป็นคนไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น เพราะเราเคยผ่านการทำงานประจำมาแล้ว เคยเครียดและซีเรียสมาแล้ว ก่อนหน้านี้ผมทำงานเป็นหัวหน้าต้องดูแลลูกน้องทุกคน เจอหลายเรื่องแล้วมันก็เครียด พอมาทำงานใหม่แล้ว เราก็ไม่อยากทำเรื่องเครียดมาใส่ตัวอีก รวมถึงเวลาเจอเรื่องซีเรียสมา เราก็ไม่ชอบเล่าให้ใครฟัง เพราะเราไม่อยากส่งต่อความเครียดให้กับคนอื่นด้วย

“เชื่อว่าสายคอนเทนต์ครีเอเตอร์จะเป็นกัน เวลาเครียดๆ แล้วจะคิดงานไม่ออก ผมก็เลยพยายามหาอะไรทำที่ไม่เครียดใส่ตัวไป ถ้าดูในช่องค้นหาไอจี พวกอัลกอรึทึมมันจะจับสิ่งที่เราสนใจใช่ไหม ซึ่งของผมมันจะมีอะไรที่ติ๊งต๊องอะ ไม่ค่อยมีสาระสักเท่าไหร่หรอก (หัวเราะ)” 

หากให้เบียร์เล่าว่า มีเหตุการณ์ไหนที่โมโหมากๆ ก็แทบจะนึกไม่ออก (และใช้เวลานั่งนึกนานพอสมควร) แถมยังบอกอีกว่า ถ้าจะทำให้เขาโกรธก็เป็นเรื่องยากมาก จึงทำให้นึกถึงช่วงเวลาที่เขาเคยทำงานเป็นหัวหน้าที่ต้องควบคุมลูกน้อง เคยมีสถานการณ์ต้องดุใครไหม 

“ผมน่าจะเป็นหัวหน้าที่ไม่ค่อยดุใคร ลูกน้องเลยเสียหลายคนเลย ก็ไม่ค่อยมีใครมาทำงานเลยทีนี้ (หัวเราะ) เออ มันมีนะ ลูกน้องเห็นผมใจดี ในมุมผมให้พูดก็พูดได้นะ แต่ผมจะไม่พูดซ้ำหลายรอบ เพราะรู้สึกว่า มึงคิดไม่ได้หรอ (หัวเราะ) แล้วถ้าคิดไม่ได้ ผมก็จะคิดว่า เออ ลำบากใจจังวะ ลาออกดีกว่า (หัวเราะ)”

เป็นคนตลกอารมณ์ดีขนาดนี้ ถ้าให้เลือกระหว่างเป็นคนตลกร้าย ตลกเฮฮา หรือตลกไม่ตลอด ตัวตนเบียร์ใกล้เคียงกับคำไหนมากที่สุด

เบียร์คิดหนักก่อนจะตอบอย่างมั่นใจว่า “จริงๆ เป็นทุกคำเลย ตลกร้ายส่วนใหญ่เล่นในแสตนด์อัปคอเมดี ถ้าตอนนี้อยากตลกเฮฮาเฉยๆ เพราะผมแค่รู้สึกว่า ยุคนี้คนไทยอยากจะฟังเรื่องตลกหรืออะไรที่สนุกๆ เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองคลายเครียด คนไทยน่าจะต้องการแบบนี้มากกว่า และเราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำอะไรสักอย่างให้คนคลายเครียด แค่เขาได้หัวเราะ ผมรู้สึกว่าตัวเองมีความสุขแล้วอะ

“เพราะตอนนี้มันมีหลายเรื่องให้เครียด เปิดไทม์ไลน์ในมือถือแป๊บเดียวก็เจอเรื่องเครียดแล้ว ขนาดผมเองก็พยายามหาเรื่องติ๊งต๊องดู คือบางคนอาจจะบอกว่า มันไม่มีสาระ แต่ชีวิตเราไม่ต้องมีสาระก็ได้ (หัวเราะ) พอหัวเราะแล้วมันก็ผ่อนคลาย อยากจะทำอะไรต่อได้อีกเยอะ”

เรามักได้ยินหลายคนพูดว่า ชีวิตเรามันต้องโปรดักทีฟนะ

“ก็ดูอย่างผมสิ แต่ละอย่างมีสาระไหม (หัวเราะ) ไม่ค่อยเลย (หัวเราะ)” เบียร์พูดไปพลางหัวเราะไป

มุกที่ 4: ไม่ลอง แล้วใครจะไปรู้ละ

ตลอดบทสนทนาเขามักจะพูดย้ำอยู่เสมอว่า แต่ละบทบาทในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นแอดมิน พิธีกรหรือแสตนด์อัปคอเมดี ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เขาชอบและเป็นตัวของตัวเองมาโดยตลอด ซึ่งกว่าจะค้นหาตัวเองว่าชอบอะไร หรือไม่ชอบอะไรจนเป็นเขาทุกวันนี้ มันเริ่มต้นมาจากคำว่า ‘ลอง’

“เคยมีคนถามหลายคน ถ้าเราสนใจแล้วอยากทำอะไรสักอย่าง ผมก็จะแนะนำว่า ‘ให้ลองเลย’ คือ ถ้าคุณไม่ทำ คุณก็ไม่รู้หรอกว่าได้หรือไม่ได้ ถ้าทำแล้วได้ก็ถือว่าลุยต่อเลย แต่ถ้าไม่ได้ก็เลิกแค่นั้นเอง เราก็ไปหาอะไรทำต่อไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเจอจุดที่ตัวเองชอบเอง”

“ซึ่งก่อนหน้านั้น หลังจากออกจากงานประจำมา 14 ปี หากถามว่า ออกจากเซฟโซนของตัวอย่างไร อย่างแรกเราต้องชอบก่อน อย่างผมชอบดูแสตนด์อัปคอเมดี เรารู้สึกว่ามันเจ๋งมากอะ ที่ต่างประเทศมีไมค์แค่ตัวเดียว มีคนดูหลายหมื่นคนมาฟัง เราก็เลยคิดว่า ถ้าเราทำแบบนี้ได้ มันน่าจะเจ๋งมากนะ” 

“เมื่อมีโอกาสเข้ามาก็ลองทำ ตอนเป็นแสตนด์อัปคอเมเดียนก็ใช้เวลาปีกว่าๆ ในการหาสไตล์ตัวเองให้เจอ ผมก็เล่นตั้งแต่ยืนเดี่ยวช่วงแรกๆ ตอนนั้นเราเตรียมมุกอะไรมาก็แป้กหมดเลย แต่พอเราลองเล่นๆ มาก็ถูกปรับเรื่อยๆ ยิ่งขึ้นเล่นบนเวทีบ่อยๆ ก็จะยิ่งหาตัวเองได้ จนพึ่งมาเข้าที่เข้าทางเมื่อปลายปีที่แล้วเอง”

จากที่เบียร์ทำงานในวงการแสตนด์อัปคอเมดี และเจอกับคอเมเดียนหลากหลาย หากให้นิยามคนตลกในสไตล์เบียร์ต้องเป็นอย่างไร

“นักเล่าเรื่องที่ดีต้องรู้ก่อนเลยว่า ก่อนที่คุณจะทำให้คนอื่นขำคุณต้องทำให้ตัวเองขำก่อน โดยสิ่งที่คุณพูดมา คุณต้องชอบก่อนด้วยนะ เพราะสิ่งที่คุณจะสื่อสารให้คนฟังแล้วคุณดันไม่ชอบ มันก็ผิดตั้งแต่แรกแล้ว อย่างอื่นก็ตามมาไม่ได้

“แต่ถ้าคุณทำได้ มันก็คือคำนั้นแหละ ‘หาตัวเองให้เจอ’ หาว่าคุณเป็นคนยังไง บุคคลิกคุณเป็นคนแบบไหน แล้วคนที่มาดูคุณ เขาก็จะชอบคุณที่เป็นแบบนั้น เราไม่ต้องตลกพยายาม ไม่งั้นมันจะไปทางฝืนไง มันยากแหละ แต่ถ้าถามว่าไปทางพยายามได้ไหม มันก็ไปได้แหละ แต่ไปได้ไม่นานหรอก

“เพราะฉะนั้นอย่างแรกเลย เราต้องชอบในสิ่งที่ตัวเองชอบก่อน แล้วมันก็จะดึงคนที่ชอบเข้ามา อาจจะไม่ต้องแมสก็ได้ แต่อย่างน้อยให้คนที่เข้ามาดู เขาชอบในผลงานคุณก็พอ”

หากมองย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้น ตั้งแต่ช่วงที่เขาออกจากงานประจำมาจนถึงเป็นฟรีแลนซ์และเป็นที่รู้จักของใครหลายคน สำหรับเบียร์คิดว่ามาถึงวันนี้ตัวเองเปลี่ยนแปลงมากน้อยขนาดไหน เราถามคำถามสุดท้ายก่อนจบบทสนทนา

“ถ้าในมุมตัวเองคือไม่เปลี่ยนเลย เหมือนเดิมตั้งแต่แรกแหละ แค่คนไม่ค่อยเห็นเท่านั้นเอง แต่ถ้าถามในมุมการทำงานเปลี่ยนเยอะอยู่แล้ว ง่ายๆ จากงานประจำมาทำฟรีแลนซ์ แต่สำหรับผมยังรู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนช้าอยู่ เอาจริงๆ ผมเป็นคนที่เปลี่ยนช้าที่สุดเลยนะ จาก 14 ปีทำงานประจำแล้วพึ่งมาเปลี่ยน แต่มันก็ถือว่าเป็นเวลาที่ดีนะที่ได้ลองทำ ไม่งั้นคงไม่มีอะไรหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นที่มันถึงจุดที่พอดีของตัวเองในตอนนี้” เบียร์กล่าวทิ้งท้ายพร้อมกับรอยยิ้ม


ขอขอบคุณสถานที่: PRIDI

AUTHOR