“ความหลากหลายในการรับรู้ของคนไทยถูกจำกัด ศิลปะการแสดงไม่ได้มีแค่โขน หนุมาน หรือการแสดงพื้นบ้าน แต่มันยังมี Contemporary Theater-People อยู่ตรงนี้นะ”
นี่คือสิ่งที่อยู่ภายในใจของชาวเทศกาลละครกรุงเทพตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
เทศกาลละครกรุงเทพ (Bangkok Theatre Festival) คือเทศกาลที่เกิดขึ้นจากกลุ่มคนเล็กๆ ที่มีใจรักละครเวทีมารวมตัวกับสมาชิกประชาคมบางลำพู เพื่อจัดการแสดงร่วมสมัยครั้งแรกของไทยที่บริเวณสวนสันติชัยปราการและถนนพระอาทิตย์ พวกเขาตั้งใช้ชื่องานนั้นว่า ‘สีสันละครกรุงเทพ’ 2545 (Bangkok Theatre Season 2002) โดยจัดขึ้นต่อเนื่องในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกๆ ปี
ด้วยความพร้อมและปัจจัยที่แปรเปลี่ยนไปของละครร่วมสมัย นับตั้งแต่ปี 2558 จึงย้ายศูนย์กลางมาที่ได้ขยายมาที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร รวมถึงกระจายพื้นที่ของเทศกาลไปยังโรงละครใหญ่น้อยทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งล่าสุดเทศกาลนี้ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลศิลปะ Colorful Bangkok ที่จัดขึ้นโดยกรุงเทพมหานครอีกด้วย
ย้อนกลับไปในช่วงแรกเริ่ม เครือข่ายละครกรุงเทพแบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลักๆ คือกลุ่มละครสามัญและกลุ่มละครวิสามัญที่จะผลัดเปลี่ยนกันมาช่วยจัดเทศกาล นับว่าเป็นวิถีปฏิบัติของชุมชนคนละครก็ว่าได้
จนกระทั่งสองกลุ่มหลักก็ค่อยๆ สลายหายไปตามกาลเวลา จึงต้องปรับเปลี่ยนแผนเป็นตัวบุคคลที่มีความสะดวกและความเหมาะสมมารับหน้าที่ตรงนี้แทน ‘หลังจากนั้นก็เข้าลูปว่าปีนี้หวยจะออกที่ใคร’ เขาว่าอย่างนั้น
ใช่–หวยในปี 2564 จนถึงตอนนี้ตกมาอยู่ที่ ‘อิ๋ว-ปานรัตน กริชชาญชัย’ และ ‘ปั๊ม-เศรษฐ์สิริ นิรันดร’ ผู้รับหน้าที่เป็น Festival Director ในเทศกาลละครกรุงเทพ (BTF) ด้วยความที่ทั้งสองมีประสบการณ์ร่วมในเทศกาลละครกรุงเทพมาอย่างยาวนาน และคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำหน้าที่เหล่านี้ผ่านมุมมองในฐานะคนเบื้องหลังที่เคยวิ่งเล่นอยู่ในแวดวงศิลปะการแสดงหลากหลายตำแหน่ง
เล่ามาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่าในฐานะของคนทำงานศิลปะการแสดงที่เริ่มต้นก้าวใหม่ในวันที่สังคมไทยไม่ได้ให้คุณค่ากับงานศิลปะมากเท่าที่ควร พื้นที่ถูกจำกัดอย่างหนักหน่วง และโลกที่หมุนด้วยทุนนิยมกลืนกินทุกสิ่งอย่าง อะไรทำให้ละครเวทีเลือกที่จะฮึบเดินทางต่อไป พวกเขาตั้งใจอยากให้เทศกาลละครกรุงเทพไปในทิศทางไหน
นั่นคือความสงสัยที่เราพกมาถามพวกเขาในวันนี้
SCENE 01
จุดเริ่มต้นของเมล็ดพันธุ์
เมื่อหลายปีก่อนกลุ่มละครคือศิลปะกระแสรองที่ยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่นัก สิ่งที่พวกเขาทำจึงค่อนข้างใหม่โดยเฉพาะในประเทศไทย จนกระทั่งในปี 2545 เริ่มมีความชัดเจนและมีผู้ชมเยอะมากขึ้น ทำให้แต่ละกลุ่มละครมีความคิดตรงกันว่าจะรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของละครเครือข่ายกรุงเทพ หรือ Bangkok Theatre Network (BTN) ด้วยสมาชิกสิบกว่ากลุ่มละคร และได้ขยายเป็นสี่สิบกลุ่มในวันเปิดงาน พวกเขาตั้งชื่องานครั้งนั้นว่า งานสีสันละครกรุงเทพ หรือ Bangkok Theatre Season 2002
อิ๋ว : ผลผลิตในการรวมตัวครั้งแรกคือเทศกาลละครกรุงเทพ ตอนนั้นมีว่าชื่อ Bangkok Theatre Season หรือ งานสีสันละครกรุงเทพ ทำให้เรามีคอนเนคชั่นที่ประชาคมบางลำพู เทศกาลนี้มันเป็นทั้งสร้างเครือข่าย สร้างตัวตน เชื่อมโยงกับชุมชน เกิดเป็นผลผลิตที่ทำให้รู้ว่าพวกเราอยู่ตรงนี้
จากจุดเริ่มต้นของกลุ่มคนละครตัวเล็กๆ กลุ่มหนึ่งในวันนั้น พวกเขาได้สานต่อในสิ่งที่รักและพิสูจน์ตัวตนผ่านสายตาของผู้ชมด้วยผลงานคุณภาพ หลังจากนั้นเทศกาลละครกรุงเทพก็ถูกจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกๆ ปี จนถือเป็นเทศกาลที่รวบรวมศิลปะการแสดงได้ยาวนานที่สุดของกรุงเทพฯ และต่อมาก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘เทศกาลละครกรุงเทพ’ (Bangkok Theatre Festival BTF) ที่เรารู้จักกันนั่นเอง
SCENE 02
จากบางลำพูสู่หอศิลปฯ
ในช่วง 10 ปีแรกเป็นยุคที่ละครเฟื่องฟูอย่างมาก เรียกว่าเกิดขึ้นได้ทุกหย่อมหญ้า มีศูนย์กลางการจัดงานที่สวนสันติชัยปราการและร้านรวงในย่านบางลำพู ต่อมาได้ขยายมาสู่ร้านอาหาร หอศิลป์ รวมไปถึงโรงละครขนาดเล็กในย่านต่างๆ
จนกระทั่งปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ละครเวทีร่วมสมัยเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง พวกเขาได้ขยายมาที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สิ่งที่เราสงสัยคืออะไรเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเดินทางครั้งนี้
ปั๊ม : อุปสรรคอย่างนึงของการทำงานในชุมชนคือต้องประสานหลายฝั่ง เราต้องเสียแรงไปกับการจัดการทุกอย่าง ทุกคนโหยหาความเป็นชุมชนตอนนั้น เพราะมันดีมากจริงๆ สนุกมาก แต่ว่ามันก็จะมาพร้อมกับพละกำลังที่ต้องใช้เยอะมากเช่นกัน พอเราย้ายมาที่นี่ก็เหมือน BACC หาบ้านให้เทศกาลละครกรุงเทพ มันไม่ต้อง outdoor หรือ indoor หลายที่อีกแล้ว การบริหารจัดการก็สบายขึ้นด้วย
แต่การที่หอศิลป์ให้สเปซตรงนี้ ทำให้จากที่เราเคยมีเงินเก็บกลายเป็นว่าไม่มีบัดเจทว่ะ มันก็เลยต้องแปรเปลี่ยนในรูปแบบปีต่อๆ มาว่าจะทำยังไงถึงจะอยู่รอดกันได้หมดวะ ทั้งเทศกาล คนจัดงาน ศิลปิน คนดู บวกกับอยู่ในช่วงโควิดด้วย จะว่ามันเป็นอุปสรรคก็ได้ แต่มันก็เป็นโจทย์ให้เราคิดต่อว่าเราจะเฮือกกันต่อไปยังไง
อิ๋ว : การเดินทางจากสวนสันติย้ายมา BACC ก็ไม่ได้เกิดจากการที่เราไม่มีที่ไป แต่เกิดจากการเป็นพันธมิตรกัน เขาเป็นผู้โอบอุ้มมากๆ ช่วงปีน้ำท่วมหรือช่วงปีที่สวนเริ่มมีปัญหา เราก็ไม่มีพละกำลังมากพอที่จะจัดขึ้นได้ เขาก็เชื้อเชิญไปสู่บ้านเขา
และด้วยความที่ผอ.หอศิลปฯ ในตอนนั้นก็เคยเป็นคนละครมาก่อน ทำให้เขามีวิสัยทัศน์ที่เข้าใจว่าศิลปะการแสดงมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ได้มีแค่โขน หนุมาน หรือการแสดงพื้นบ้าน แต่มันยังมี Contemporary Theater-People อยู่ตรงนี้นะ การก่อตั้งหอศิลป์ที่ใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี คนละครเองก็ช่วยทำให้มันเกิดขึ้นแล้วทำไมถึงจะไม่มีสิทธิ์มาใช้ หอศิลป์ก็ไม่ได้มีแค่ศิลปะแขนงเดียว พอเขารู้ว่าเรามีปัญหาจัดเทศกาลที่สวนไม่ได้ มันก็ไม่ยากเลยที่จะเปิดประตูให้เราเข้ามาอยู่ตรงนี้
SCENE 03
การเดินทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
แน่นอนว่าการเดินทางตลอด 20 ปีของพวกเขาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เรียกได้ว่าผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านเรื่องราวและอุปสรรคมามากมาย บวกกับสถานการณ์โควิดที่ทำให้เศรษฐกิจแย่ลง และส่งผลทำให้โรงละครโรงเล็กเหลือน้อยลง พื้นที่ที่เคยเป็นศูนย์กลางของศิลปินก็หายไป
ปั๊ม : ย้อนกลับไป 5-7 ปีที่แล้วเป็นช่วงที่ละครเฟื่องฟู ในเดือนนึงเราต้องเลือกเรื่องที่ดู เพราะมีคนทำละครชนกันเยอะมาก เป็นช่วงที่มันมีสเปซ มีคนทำ มีคอนเนคชั่นเกิดขึ้น อย่างสถาบันปรีดี พนมยงค์ ถ้าจะเล่นพร้อมกันสี่เรื่องก็สามารถเล่นได้ มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นเยอะมาก จนกระทั่งมันทยอยปิดๆ กันหมด ก็ต้องไปหาซอกหาหลืบที่มันจะผุดขึ้นมา อุปสรรคใหญ่สุดในแวดวงละครเวทีคือพื้นที่ที่มีอย่างจำกัด
ในช่วงแรกของกลุ่มละครเหมือนเป็นช่วงบ่มเพาะ สร้างศิลปินเยาวชน เป็นพื้นที่ที่ทำให้เห็นว่าละครแบบไหนก็สามารถมาเล่นได้ ไม่ต้องเก่งก็สามารถมาลงเวทีตรงนี้ พอเปลี่ยนมาช่วง BACC พื้นที่ตรงนี้มันก็เล็กลง การแสดงเริ่มจริงจังมากขึ้น มีโปรดัคชั่น มีบรรยากาศที่ต่างออกไป เรียกว่าเป็นช่วงฝึกฝนสั่งสมประสบการณ์ อยู่ในสเปซที่ปิดก็สามารถสื่อสารอะไรมากขึ้น
อิ๋ว : ทั้งพิษเศรษฐกิจต่างๆ ก็เป็นอุปสรรคทำให้การเดินทางสองช่วงเวลาเกิดการแปรรูป ในช่วงปัจจุบันนี้มันเหมือนเป็นยุคของการสร้างวัฒนธรรมในการชมมหรสพอย่างนึง มันไม่ใช่แค่มหรสพที่เทิดเทิงอยู่กลางแจ้ง จากพื้นที่ open air ไม่ต้องเสียเงินดูได้ในชุมชน จนกระทั่งเข้าตึกเข้าโรงจ่ายเงิน
SCENE 04
การรับรู้ศิลปะของคนไทยถูกจำกัด
หากพูดถึงละครเวทีจะนึกถึงอะไรเป็นสิ่งแรก ? อาจจะนึกถึงโรงละครรัชดาลัยหรือการแสดงโขน แต่ความจริงแล้วละครเวทีมีความหลากหลายกว่านั้นมาก ซึ่งค่านิยมผิดๆ เหล่านี้ส่งผลให้ศิลปะการแสดงในประเทศไทยเป็นกระแสรอง และทำให้ผู้คนไม่นิยมเทียบเท่าต่างประเทศ
อิ๋ว : ถามว่าตอนเราเด็กๆ เวลาไปทัศนศึกษาจะได้ไปชมอะไรกันบ้าง ภาพยนตร์สุริโยไทหรือโขนอะไรอย่างนี้ใช่มั้ย เรารู้สึกว่าความหลากหลายในการรับรู้ศิลปะการแสดงของคนไทยถูกจำกัดมากเลย คนไทยเติบโตมาแบบรู้น้อยมากว่ามีศิลปะการแสดงแบบไหนบ้าง ดูแค่ประเทศใกล้ๆ อย่างสิงคโปร์ เราเห็นเด็กอนุบาลไปดูละครหุ่น ไปดูละคร modern theatre กันในชั่วโมงเรียน เด็กๆ พวกนี้เขาก็ได้รับการ educate ว่ามันมีการแสดงแบบนี้ มันไม่ได้มีแค่งิ้วนะ
เรารู้สึกว่ามันต้องมาจากกรอบพื้นฐานบวกกับวิสัยทัศน์ของผู้นำ ผู้สร้างหลักสูตรต่างๆ ที่ต้องเข้าใจว่า power ของ comtemporary art มันมีอะไรบ้าง โรงละครเมืองนอกมีเป็นดอกเห็ดเลย คนไปดูละครกันแบบเป็นวัฒนธรรม แล้วก็มีการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นด้วยนะ เป็นวิสัยทัศน์ที่ต่างคนต่างเข้าใจตรงกันว่าศิลปะการแสดงมันมีหลากหลาย
คำถามคือการที่เราเกิดมาในประเทศนี้แล้วเราได้รับรู้อะไรบ้าง ถ้าเราไม่ใช่เป็นเด็กนานาชาติ หรือไม่เคยได้ไปเยี่ยมเยียนเมืองนอก เราอาจจะอยู่ในโลกกะลารับรู้แค่นี้ แต่ถึงแม้ว่าเราจะขวนขวายออกไปเห็นโลกภายนอก แต่พอกลับมาบ้านเราแล้วถ้าอำนาจหลักมันไม่ได้เอื้อหรือไม่ได้สอดคล้อง ทุกอย่างมันก็อาจจะแช่แข็งเหมือนเดิม เราก็ยังชื่นชมภาพยนตร์โขน หนุมานกันต่อไป
SCENE 05
วิถีทางเลือก
ถึงแม้ว่าละครเวทีล้มลุกคลุกคลานมาหลายครั้ง แต่ทุกครั้งก็จะมีกระแสใหม่ๆ เข้ามาเสมอ โดยเฉพาะในเทศกาล Colourful Bangkok ที่จัดโดยทางกรุงเทพฯ ยิ่งเห็นได้ชัดว่าผู้คนอยากจะรับรู้สิ่งที่อยู่นอกเหนือกระแสหลักมากขึ้น เพราะนอกจากความจรรโลงใจแล้ว พื้นที่ตรงนี้ก็ยังเป็นที่ที่ผู้คนสามารถมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันได้ด้วย
อิ๋ว : พอมันเปลี่ยนชุดผู้บริหาร กทม. ด้วยความที่เขามีวิสัยทัศน์ที่เข้าใจศิลปะ เวลาไปพูดคุยกับเขามันตัดตอนไปเลย ไม่ต้องไปนั่งอธิบายแล้วว่าศิลปะการแสดงคืออะไร แต่มันอยู่ในขั้นตอนที่ว่าจะเดินทางด้วยกันยังไง ล่าสุดที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือเขารับพวกเราเข้าไปอยู่ในร่มของ Colorful Bangkok เขามีพื้นที่สื่อแล้วก็พาพวกเราไปอยู่ในอีเวนต์นั้นด้วยกัน หอศิลป์ก็เช่นกัน เขาไม่ได้มีอะไรนอกจากพื้นที่ในการซัพพอร์ตเรา คือมันเหมือนเป็นเพื่อนกันเดินจูงมือกันไป ก็ยังดีกว่าทิ้งเราไว้ข้างหลังไม่สนใจเราเลย
เรารู้สึกว่า 7-8 ปีมานี้กระแสรองมาแรง กระแสหลักบางทีมันน่าถีบ มันน่าขยี้อะ (หัวเราะ) มองย้อนกลับไปเราเรียนหนังสือในโรงเรียน เราเจอกระแสหลักอะไรบ้าง ทำไมข้อมูลที่เราได้รับเป็นแบบนี้ พอเริ่มมีคำว่ากระแสรอง เรารู้สึกว่าละครเวทีมอบอะไรแบบนี้ได้ คนอาจจะอยากที่จะได้รับรู้นอกเหนือในสิ่งที่เราโดนหล่อหลอมมา แล้วมันไม่ได้ดูถูกคนดู ไม่ได้ทำเพื่อให้มันเสพง่าย ทุกอย่างมันยังดำเนินแปรเปลี่ยนไปตามสภาพ บริบทสังคมเป็นยังไงละครเวทีจะเป็นอย่างนั้น ถ้าเบื่อความ one way communication แล้วก็เดินทางมาเจอมนุษย์ซึ่งกันและกัน
ปั๊ม : มีกลุ่มละครหลายกลุ่มที่มีอายุเกินสิบปียี่สิบปีที่ยังคงผลิตงานตอนนี้ เราก็คิดว่าเขาก็คงมาไกลของเขานะ ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะมองคำว่าไกลไปทางไหน ถ้าในทางทุนนิยมคงไม่ใช่เพราะเป้าหมายเขาไม่ใช่สิ่งนั้น แต่ถ้าหมายถึงการที่เขายังคงสามารถพูดในสิ่งที่เขาอยากพูดได้ เราคิดว่ามันก็อาจจะไกลสำหรับเขาแล้ว หรือจริงๆ แล้วเขาอาจจะไม่อยากไปไกล แต่แค่อยากไปได้เรื่อยๆ ก็ได้ ตราบใดที่มันยังมีกระแสหลักอยู่ พวกเราก็จะยังอยู่เพราะว่าเราเป็นทางเลือก
SCENE 06
ความฝันและความหวัง
ในโลกที่หมุนด้วยทุนนิยมและกลืนกินทุกอย่าง แน่นอนว่าศิลปะก็เป็นหนึ่งในนั้น เราสงสัยว่าในประเทศไทยมีคนที่สามารถหล่อเลี้ยงตัวเองด้วยอาชีพนี้ได้จริงมั้ย
อิ๋ว : มีศิลปินบางส่วนที่สามารถอยู่ได้ แต่เขาต้องแข็งแรงมากๆ และไม่ใช่ศิลปินทุกคนที่สามารถทำแบบนั้นได้ นับคนได้เลย เราคิดว่ามันขึ้นอยู่กับโฟกัสของแต่ละคนว่าชัดเจนแค่ไหน อย่าง ‘พิเชษฐ กลั่นชื่น’ หรือ ‘เจ้ย อภิชาติพงศ์’ เขามีโฟกัสที่รุนแรง มีฝีมือ แต่แรงสนับสนุนเขาคือต่างประเทศ สำหรับเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะอยู่ได้ไหมถ้าไม่มีอาชีพหลัก หรือไม่มีพ่อแม่เลี้ยง ก็ไม่แน่ใจว่าเราจะมีแรงพลังหรือมีฝีมือเท่าพวกเขารึเปล่า
เราคิดว่าในโลกของทุนนิยม สุดท้ายยังไงมนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ ต้องการเรื่องเล่า ต้องการพูดคุย ต้องการสิ่งจรรโลงใจที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่าต่อไป จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ละครหรือการแสดงออกผ่านศิลปะเป็นสิ่งที่ยังจำเป็นอยู่ เพราะมันตีเป็นมูลค่าเป็นตัวเงินไม่ได้ เรารู้สึกว่าจุดมุ่งหมายสูงสุดของศิลปะการแสดงไม่ใช่ commercial จุดมุ่งหมายในแง่คนทำงานศิลปะ เราแค่อยากมีพื้นที่ให้เราสามารถแสดงต่อไป
ปั๊ม : ถ้าถามว่าเทศกาลนี้มันเกิดขึ้นมาเพื่ออะไร เราว่ามันเป็นพื้นที่ให้ศิลปินได้แสดงออก พวกเขาพูดในวิธีที่เขาถนัดคือผ่านละคร เพราะฉะนั้นมันเหมือนเปิดเวทีให้คนมาพูด แล้วมันเปิดเวทีให้คนมาฟัง เปิดเวทีให้คนมาพูดคุยกัน พื้นที่ตรงนี้มันเหมือนเราได้หายใจในที่เดียวกัน เราได้หัวเราะด้วยกัน ถกเถียงกันก็ได้ ทะเลาะกันก็ได้นะ มันมนุษย์มากเลย แล้วมันสำคัญมากในปัจจุบันที่โลกเทคโนโลยีมากๆ แต่พอเข้าละครเวทีดูมือถือไม่ได้มันก็ตัดขาด สุดท้ายคือต่อให้มันไม่คอมเมอเชียลแต่มันคอมมูนิตี้
ละครเวทีเป็นหนึ่งในระบบนิเวศ ซึ่งระบบนิเวศมันขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้ ในฐานะคนสร้างงานละครเวทีเองก็ได้กระบวนการคิด การซ้อม การถกเถียง มีคอมเมนต์ก็ปรับๆ จนออกมาเป็นโปรดักชั่น แล้วละครเวทีมันไม่ได้มีอยู่แค่ในโรงละคร คนทำละครเวทีมีความรู้ก็เอาไปพัฒนาเยาวชน มันเป็นเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์กับมนุษย์ได้มองกันแล้วใช้เครื่องมือนั้นในการพัฒนาอะไรบางอย่าง ส่วนในฝั่งของคนดูก็ได้ตั้งคำถามกับสังคม ได้ตั้งคำถามกับตัวเอง ได้คอนเนกชั่นกับมนุษย์ด้วยกันรู้จักกัน การเกิดมาเป็นคนคนนึงอะไรมันจะสำคัญมากไปกว่านี้อีก
‘ทำไมต้องเป็นเทศกาลละครกรุงเทพ ทำไมไม่เป็นเทศกาลละครประเทศไทย’ เราถามคำถามสุดท้าย
ปั๊ม : ที่ตั้งชื่อว่าเทศกาลละครกรุงเทพเพราะมันเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ถ้าเราตั้งเทศกาลละครประเทศไทย แล้วเราเป็นคนกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้รู้จักอีก 75 จังหวัด อาจจะมีจังหวัดใดจังหวัดนึงบอกกูไม่เห็นจะได้มีส่วนร่วมเลย ไม่เห็นจะอยากอยู่กับมึงเลย กลายเป็นว่าเราไป centralized เขาอีก เราเป็นคนกรุงเทพฯ พื้นที่เราอยู่ตรงนี้ เราถนัดตรงนี้
เราเชื่อว่าถ้าคิดจะทำเทศกาลละครในจังหวัดตัวเอง มันจะมีคนที่เก่งและเป็นคนในพื้นที่ ที่พร้อมจะทำและควรจะให้เขาทำ ไม่ใช่ให้เราไปทำในพื้นที่ตรงนั้น มันเป็นเรื่อง respect ในพื้นที่นะ เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะไปครอบอะไร แม้ว่าจะเครือข่ายละครกรุงเทพ แต่จริงๆ ในทางปฏิบัติก็มาจากหลายที่เลยมีครบทุกภาค
อิ๋ว : อย่างเมืองนอกแต่ละจังหวัดเขาก็มีเฟสติวัลของตัวเอง ยึดโยงกับคนในชุมชนกระจายออกไป เพราะเขาก็รู้ดีกว่าจริงๆ ถ้าเสกมนตร์ได้เราอยากให้มันมีละครของแต่ละจังหวัด ภูเก็ต ขอนแก่น เชียงใหม่ เราใฝ่ฝันอะไรแบบนั้นมากกว่าที่จะมีแค่เทศกาลละครประเทศไทยในกรุงเทพฯ เราคิดว่ามันคงจะบานฉ่ำมาก
>ภาพละครเวทีโดย เครือข่ายละครกรุงเทพ