กลางดึกสงัด เสียงกระเส่าเร่าร้อนดังในห้องนอน สองร่างขยับเคลื่อนไหวตามจังหวะที่ดูคล้ายว่าจะเข้ากันได้ดี แรงกระเพื่อมกระชั้นถี่ ไม่นานเขาก็ถึงจุดสุดยอด เธอก็ดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้น
แต่ไม่กี่นาทีต่อมา เมื่อแน่ใจว่าสามีของเธอจมลงสู่ห้วงนิทรา หญิงสาวก็ก้าวขาลงจากเตียงไปอีกห้อง เปิดแล็ปท็อปและส่องหาคลิปที่ดู ‘เข้าทาง’ คลิปประเภทที่ฝ่ายหนึ่งออกคำสั่งกับอีกฝ่ายหนึ่ง ทำตามสั่งอย่างเต็มใจ ผู้หญิงในคลิปครวญคราง เธอเองก็ไม่ต่างกัน
แค่ 5 นาทีแรก เราอาจจะเดาได้ว่า Babygirl กำลังเล่าเรื่องผู้หญิงคนหนึ่งผู้มีความต้องการลับๆ ที่ไม่ตรงกับผู้เป็นสามี เขาอาจไม่เคยรู้เรื่องนี้ และเธอก็ไม่เคยปริปากบอก แต่เมื่อดูไปสักพัก เราพบว่ามันเล่าเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น
นี่คือเรื่องของอิสระ อำนาจ และความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้หญิงที่มีทั้งความแข็งแกร่งและเปราะบาง มีทั้งความชัดเจนและสับสน มีทั้งนางฟ้าและสัตว์ร้ายในตัวเอง

หนังของผู้หญิงปลดแอก
Halina Reijn นักเขียนบทและผู้กำกับวัย 49 ปี จากเนเธอร์แลนด์ นิยามว่า Babygirl คือหนังอีโรติก-ทริลเลอร์ เกี่ยวกับผู้หญิงที่ ‘พยายามจะปลดแอกตัวเอง’
Romy (รับบทโดย Nicole Kidman) คือผู้ก่อตั้งบริษัทหุ่นยนต์ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีชีวิตรักและครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ นับได้ว่าเป็นโรลโมเดลของแม่ เมีย และผู้หญิงยุคใหม่ที่ใครๆ ต่างก็นับถือ แต่ลึกลงไปในใจของเธอ โรมีกลับรู้สึกว่ามีความต้องการบางอย่างที่ไม่ถูกเติมเต็ม มีบางตัวตนของเธอติดค้างอยู่ข้างใน และพยายามตะกุยทางออกมาสู่ภายนอก คล้ายสัตว์ที่ติดอยู่ในหุบเหวลึกและพยายามปีนป่ายขึ้นมา
กระทั่งเธอได้เจอกับ Samuel (รับบทโดย Harris Dickinson) เด็กฝึกงานหนุ่มที่สมัครมาเป็นเด็กในสังกัดของเธอ ในความสัมพันธ์ฉันเพื่อนร่วมงาน สายตาและคำพูดของเขามีคุณสมบัติพิเศษบางอย่างทำให้โรมีรู้สึกอยากศิโรราบ นำไปสู่การนัดพบนอกออฟฟิศที่ทำให้โรมีค้นพบตัวตนใหม่
บนโต๊ะทำงาน เธอคือคนชี้นิ้วสั่ง แต่ในห้องแคบๆ ในโรงแรม เธอเหมือนหมาที่อยากคลานเข่า ปฏิบัติตามคำสั่งเขาแล้วแต่ว่าเด็กหนุ่มอยากให้ทำอะไร แปลกดีเหมือนกันที่สำหรับคนที่อยู่เหนือคนอื่นมาตลอด การอยู่ใต้อาณัติทำให้ใจเธอเต้นเหมือนลิงโลด
เล่ามาแค่นี้ ฟังดูเหมือน Babygirl จะเป็นหนังเกี่ยวกับคู่ BDSM ที่มีพลวัตรของอำนาจ หรือเล่าความสัมพันธ์แบบนาย-ทาสแบบขายเสียว แต่ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสียทีเดียว ฉากเซ็กซ์ในเรื่องมีการเปิดเผยเนื้อตัวแบบอล่างฉ่างก็จริง แต่มันไม่ได้เป็นเซ็กซ์ที่สมบูรณ์แบบ อย่างตอนแรกที่โรมีกับซามูเอลนัดเจอกัน เราจะเห็นความสับสนของเธอที่แสดงออกว่าอยากทำ แต่แล้วก็โบยตีตัวเองว่าสิ่งที่ทำมันผิด วินาทีต่อมาก็ห้ามตัวเองไม่ไหว
ความซับซ้อนเหล่านั้นคือสิ่งที่ทำให้เริ่มเห็นอกเห็นใจโรมี และอินกับตัวละครนี้มากขึ้นทีละนิด โดยเฉพาะคนที่มีความต้องการที่คนอื่นมองว่าหน้าอายอยู่ข้างใน ซึ่งหนังเรื่องนี้บอกว่าไม่ คุณไม่ควรจะกดมันไว้หรอก
“หนังของฉันคือสัญญาณเตือน” ฮาลินาบอกกับ W Magazine “มันเตือนว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากผู้หญิงพูดกับตัวเองว่า ‘ไม่ ฉันสมบูรณ์แบบ ฉันไม่มีมลทินในจิตใจ ฉันไม่แก่ลงด้วยซ้ำ เพราะฉันดูสมบูรณ์ดีแม้จะอายุ 55 ปี’ ฉันอยากบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ขังสัตว์ร้ายในตัวเธอไว้ แล้ววันหนึ่งมันก็ตื่นขึ้นมา”

นี่หรือคือนิยามของหญิงสมบูรณ์แบบ?
ที่น่าสนใจกว่านั้น คือหนังตั้งคำถามกับคำว่า ‘ผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบ’
ในโลกที่ทุกคนพร้อมจะเอมเพาว์เออร์ให้ผู้หญิงทำงานเก่ง กล้าพูด และแข็งแกร่ง โรมีคือตัวอย่างที่บอกว่าผู้หญิงเราไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นก็ได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในโหมดนั้นตลอดเวลา
มีฉากหนึ่งที่น่าสนใจมากสำหรับเรา คือฉากที่ลูกน้องของโรมีซึ่งเป็นผู้หญิง บอกเธอว่ารู้เรื่องที่เธอแอบคบชู้กับซามูเอล ลูกน้องแบล็กเมลผู้เป็นเจ้านายว่าเธอจะไม่บอกใคร หากโรมีกลับมาทำตัวแบบโรลโมเดลที่สมบูรณ์แบบเหมือนเดิม เพราะเจ้านายผู้หญิงแบบเธอหาได้ยากจริงๆ แม้ในยุคที่ทุกคนอยากส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศก็ตาม
จะว่าถูกก็ถูก จะว่าท็อกซิกก็ใช่ หนังทำให้เห็นว่าบางครั้ง การเป็นแบบอย่างของผู้หญิงที่ดี (ในสายตาของสังคม) ก็กดทับผู้หญิงกันเองเช่นกัน มากกว่านั้น หนังทำให้เราตั้งคำถามต่อว่า จะเป็นไปได้ไหมถ้าแบบอย่างที่เพียบพร้อมจะมีจุดด่างพร้อยในตัวเอง แล้วถ้าเธอทำดีมาตลอด แต่ความชอบบางอย่างของเธอไม่ตรงกับบรรทัดฐานทางสังคม เธอจะกลายเป็นผู้หญิงที่แย่หรือเปล่า นี่อาจเป็นสิ่งที่เราต้องขบคิดกันต่อไป
“มีผู้หญิงเยอะมากที่ใช้ชีวิตด้วยเงื่อนไขบางอย่างเพื่อเอาใจ ส่งเสริม และเพื่อให้พวกเธอสามารถมองตัวเองจากมุมมองของคนข้างนอกที่มองว่าภรรยาที่สมบูรณ์แบบ หัวหน้าที่สมบูรณ์แบบ ลูกสาวที่สมบูรณ์แบบ และทุกอย่างที่สมบูรณ์แบบเป็นอย่างไร แต่บางครั้ง พวกเธอก็ลืมถามตัวเองว่า เธอต้องการอะไร” ผู้กำกับอย่างฮาลินาชี้ในสัมภาษณ์ของ NPR

ฉันจะยอมกับคนที่ฉันพอใจจะยอมเท่านั้น
สุดท้ายแล้วสำหรับเรา Babygirl คือหนังที่พูดเรื่องอำนาจและพลวัตรของมัน ตลอดเรื่อง เราจึงได้เห็นการสลับขั้วทางอำนาจ ไม่ใช่แค่โรมีกับซามูเอลที่สลับกันเป็นใหญ่บนโต๊ะทำงานและเตียงนอน แต่รวมไปถึงอำนาจระหว่างโรมีกับสามี ลูกสาว ลูกน้อง และเจ้านายของเธอด้วย
แน่นอนว่าในสถานการณ์จนตรอก โรมีถูกบีบบังคับให้อ่อนข้อเพราะเธอไร้อำนาจในมือ อย่างตอนที่ลูกน้องจับได้ว่าเธอแอบเป็นชู้กับเด็กฝึกงาน และแบล็กเมลโรมีเพื่อเลื่อนตำแหน่ง
แต่ในเวลาส่วนใหญ่ ในสถานการณ์ที่เธอคล้ายอยู่ใต้อาณัติ อย่างตอนอยู่บนเตียงกับซามูเอล หรือตอนที่บอร์ดบริหารมาขู่แบบสกปรกกับเธอ โรมีก็ยืนหยัดให้เขา ‘ไสหัวไป’ เพราะรู้ว่าบริษัทขาดเธอไม่ได้
ใช่ เธอรู้ดีว่าตัวเองมีอำนาจแบบไหนในมือ จะใช้มันกับใคร และเมื่อไหร่ที่ควรศิโรราบ สิ่งสำคัญคือเธอเป็นคนเลือกเอง
ในแง่หนึ่ง Babygirl ก็ไม่ต่างอะไรจากตัวโรมี เพราะสำหรับผู้กำกับอย่างฮาลินา การทำหนังเรื่องนี้ก็เป็นความพยายามในการสร้างหนังอีโรติกทริลเลอร์แบบใหม่ (Reinvent) ที่แทบจะไม่มีมุมกล้องแบบ Male Gaze ที่โลมเลียร่างกายของนักแสดง หรือฉากเซ็กซ์ที่เอิกเกริก
“เราพยายามสร้างสิ่งใหม่ให้กับหนังแนวนี้ และดูกันว่ามันจะเป็นยังไง และยังสงสัยกับคำที่หลายคนบอกว่าเราใช้ Female Gaze (มุมกล้องแทนสายตาแบบผู้หญิง) อยู่ เพราะมันจะเป็นไปได้ไหม ถ้าเราใช้ Female Gaze ในขณะที่ตัวเองยังเป็นผลผลิตของระบบชายเป็นใหญ่” ฮาลินาบอก
“ก่อนหน้านี้ ฉันมักรู้สึกหยึยๆ อยู่เสมอตอนดูหนังอีโรติกทริลเลอร์ที่สร้างโดยผู้ชาย ด้วยการเล่าเรื่องของพวกเขา แต่ฉันก็เคารพในการเลือกแนวทางนั้นของพวกเขา และฉันก็เอนจอยมันนะ แต่การเล่าเรื่องใน Babygirl ของเรามันอบอุ่นและเปิดกว้างมากกว่า มันเริ่มต้นจากความรัก และนั่นคือวิธีที่ฉันจะทำกับมัน
“ฉันจะแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่ในช่วงไพร์มไทม์ของชีวิต มีพลังอำนาจมาก แต่ก็สามารถคลานไปบนพื้นตอนอยู่กับคนรักของเธอได้เช่นกัน ฉันพยายามจะทำทุกอย่างให้ดูใหญ่เพื่อกระตุ้นบทสนทนาที่ว่า เฟมินิสต์คืออะไรกันแน่ เฟมินิสต์ที่แท้จริงคือการที่ผู้หญิงคนหนึ่งสามารถปลดแอก สามารถเป็นได้ทุกอย่างที่อยากเป็น ในทุกเวลาที่เธอต้องการหรือเปล่า?”
อ้างอิง