ชวนศิลปินปัตตานี อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ถอดร่างบังลีมาคลี่ความเข้าใจใหม่ต่อสามจังหวัดชายแดน ผ่านงานศิลปะแห่งสันติภาพ

ชวนศิลปินปัตตานี อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ถอดร่างบังลีมาคลี่ความเข้าใจใหม่ต่อสามจังหวัดชายแดน ผ่านงานศิลปะแห่งสันติภาพ

เราสะดุดตากับงานศิลปะในชื่อชุด BangLee’s Multiverse การรวบรวมพหุจักรวาลของบังลี (ร่างทรง) ซึ่งมาจัดแสดงที่ VS Gallery ใกล้บ้านในระยะห้านาทีมอเตอร์ไซค์ จึงทำการนัดแนะพูดคุยกับ ‘เจน-อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล’ ศิลปินจากปัตตานี เจ้าของผลงานคนนี้ 

แรกๆ ยอมรับว่าเราเกร็งอยู่ไม่น้อย แม้จะเป็นการคุยกันผ่านโปรแกรม ZOOM เพราะด้วยคำถามที่เราลิสต์รายการไว้มีประเด็นอ่อนไหว ทั้งเรื่องเพศ ศาสนา และการเมือง (ในวงการศิลปะ) เราเองจึงต้องระมัดระวังในการถาม เป็นการถามตอบการเคารพสิทธิของกันและกัน ด้วยความสนใจใคร่รู้ ไม่ได้มีเจตนาสอดรู้หรือละลาบละล้วง ซึ่งอนุวัฒน์ก็ตอบทุกข้อสงสัยของเราอย่างดี

ในครั้งนี้เราขอแบ่งร่างของเขาออกเป็นสามพาร์ต ศิลปิน ภัณฑารักษ์ และอาจารย์ศิลปะแห่งดินแดนปัตตานี หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เป็นพื้นที่กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงมาเกือบสองทศวรรษ

Part 1 

เด็กนักเรียนที่ชอบวาดรูป สู่นักศึกษาศิลปะ จนถึงวันที่เรียกตัวเองว่าเป็นศิลปิน

“ไปปัตตานีแล้วตายนะ” 

“ไปปัตตานีแล้วจะรอดเหรอ มันไม่โอกาสเลยนะ”

เป็นประโยคที่ครอบครัวและคนรอบตัวของอนุวัฒน์ทักท้วงถึงขั้นเสียน้ำตา เมื่อรู้ว่าเขาปฏิเสธโควตาที่นั่งในมหาวิทยาลัยศิลปะชื่อดังของประเทศในกรุงเทพฯ แล้วทำตามเสียงหัวใจเรียกร้องด้วยการหันหน้าจากจังหวัดนครศรีธรรมราชลงใต้สู่สามจังหวัดชายแดน เพื่อเรียนในคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พื้นที่ที่มีภาพความขัดแย้ง ความรุนแรง เสียงปืน และเสียงระเบิด

“ผมได้โควตาอันดับหนึ่งที่ศิลปากร แต่ผมเลือกไปปัตตานีแทน ซึ่งในตอนนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับวิทยาลัยช่างศิลป์ (นครศรีธรรมราช) เพราะว่าทุกคนคาดหวังตั้งเป้าหมายให้เด็กที่มาเรียนเตรียมตัวเข้าเรียนต่อที่ศิลปากร (เพลงประจำวิทยาลัยช่างศิลป์มีท่อนที่ร้องว่า ชส ย่อมาจากช่างศิลป์ เตรียมศิลปินสู่ศิลปากร) ทำให้การที่ได้โควตาไปศิลปากรแล้วไม่ไปถือเป็นการขบถอย่างรุนแรง จนมีหนังสือจากมหาวิทยาลัยส่งมาให้เขียนชี้แจงว่าทำไมถึงไม่เข้าเรียนที่ศิลปากร ปีหลังจากนั้นจึงทำการเชือดไก่ให้ลิงดูด้วยการตัดโควตานักเรียนจากวิทยาลัยช่างศิลป์ลง เราก็ประหลาดใจว่ามันส่งผลถึงขนาดนี้เลยเหรอ การที่ไม่เลือกรับโควตาไม่ใช่เพราะแอนตี้แต่เป็นเพราะเห็นว่ามีสิ่งที่น่าสนใจในปัตตานีเท่านั้น”

ซึ่งเขาก็กล่าวว่า การตัดสินใจในครั้งนั้น ไม่ทำให้เขาผิดหวังเพราะเป็นการค้นพบความพิเศษของจังหวัดปัตตานีที่เป็นความแตกต่างทั้งในด้านพื้นที่และการแสดงออกผ่านงานศิลปะที่เมื่อเห็นที่ไหนก็รู้เลยว่าศิลปินคนนี้มาจากที่ปัตตานี ผลงานที่อนุวัฒน์สัมผัสถึงชีวิตและจิตวิญญาณของศิลปินในพื้นที่ รวมทั้งสนใจในเรื่องราวที่คนในพื้นที่พยายามถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะส่งประกวดไปทั่วประเทศ 

“ผลงานจากปัตตานีไปจัดแสดงร่วมกับผลงานจากทั่วประเทศ เราดูแล้วรู้เลยว่ามาจากที่ไหน เทียบกับที่อื่นที่มีความใกล้เคียงกันหมด มีความแตกต่างทั้งในส่วนของเทคนิคและเนื้อหา ในยุคนั้นที่มีความรุนแรง มีการเอาปืน ระเบิด มาอยู่ในผลงาน ซึ่งยังไม่มีศิลปินที่อื่นๆ เอาประเด็นเหล่านี้มาพูดถึง ในขณะที่ผลงานจาก กทม. หรือทางภาคเหนือ จะถ่ายทอดเรื่องพุทธศิลป์ ประเพณี วัฒนธรรมอันดีงาม แต่ในขณะที่ปัตตานีมีเลือดสาดสีดำที่พอเราได้เห็นทำให้เหมือนโดนดูดไปในงานนั้น”

การที่มหาวิทยาลัยอยู่ในพื้นที่ มีคณะที่เปิดการเรียนการสอนศิลปะ ทำให้สร้างศิลปินขึ้นมาต่อเนื่อง เกิดการรวมกลุ่มกันเป็นเรี่ยวแรงให้สานต่อโปรเจกต์ต่อไปอย่างไม่ขาดช่วง ทำให้ปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีมูฟเมนต์ด้านศิลปะที่น่าจับตามองสำหรับทั้งคนไทยและต่างประเทศ

ศิลปิน LGBTQ+ / บังลี / ไทย-พุทธ-มุสลิม

ผู้เขียนรู้จักบังลีที่เป็นร่างทรงก่อนที่จะรู้จักศิลปินเจ้าของผลงานด้วยซ้ำ ทั้งคู่เป็นทั้งเพื่อน พี่น้อง ครอบครัว รวมถึงตัวแทนสะท้อนของกันและกันที่มีทั้งความเหมือนและความต่าง   

“ครอบครัวบังลีเป็นมุสลิมที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งในการเป็น LGBTQ+ ที่อยู่ในสามจังหวัดแน่นอนว่าก็มีปัญหากันในเรื่องนี้ ทั้งการที่เป็น LGBTQ+ และปัญหาครอบครัวส่วนตัวเอง ก็ทำให้บังลีเองต้องใช้ชีวิตตัวคนเดียว โดดเดี่ยว การใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ผมที่เป็นรุ่นพี่ก็เลยกลายเป็นที่ปรึกษา เหมือนพี่แท้ๆ ที่ไปไหนไปด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน มีเรื่องระบาย ร้องไห้ ปรับทุกข์ให้แก่กัน ก็เกิดความสัมพันธ์

“เรื่องราวบังลีเองก็มีความทัชกับใจเรามากเพราะเราก็เป็นแบบนี้ แต่แตกต่างกันที่เราไม่สามารถแสดงออกได้เหมือนกับบังลี เพราะเราไม่กล้า ตอนนี้เองครอบครัวก็ยังไม่รู้ว่าเราเป็น LGBTQ+ ทั้งที่พยายามจะแสดงออกผ่านผลงานบังลีและอื่นๆ แต่พอกลับไปบ้านครอบครัวก็ยังถามว่าเมื่อไหร่จะแต่งงาน เมื่อไหร่จะมีแฟน มายด์เซตก็ยังคงไม่ยอมรับอยู่เช่นเดิม” 

อนุวัฒน์เลือกใช้บังลีมาเป็นต้นแบบในการสร้างผลงานของเขามาตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่ต้องการพูดถึงเรื่องเพศสภาพ จนเมื่อไม่ได้รู้สึกอึดอัดกับเรื่องนี้แล้ว เขาจึงก้าวข้ามมาพูดเรื่องที่ใหญ่ขึ้น  

“การใช้รูปทรงของบังลีที่เป็นคนกล้าแสดงออก เวลาที่ออกงานเปิดตัวต่างๆ ให้บังลีเป็นตัวแทนของเราไปเลย บางทีคนก็เข้าใจผิดว่าบังลีเป็นศิลปิน ศิลปินที่สร้างงานคือบังลี หรือบางทีผู้ชมก็อาจสังเกตได้เองว่าไม่ใช่บังลีแต่เป็นผม เพราะมันเล่าสิ่งที่สะท้อนเรื่องของตัวเรา มีบางงานผู้จัดเองยังเอาสัญญามาให้บังลีเซ็นเพราะเข้าใจว่าบังลีคือศิลปิน”

เราสงสัยว่าชีวิตของ LGBTQ+ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีความเข้มข้นในกฎข้อบังคับทางศาสนาในแบบที่ทั้งคู่เป็นได้สร้างความหวั่นใจหรือกังวลหรือไม่ 

คำตอบของเขาทำให้เรามองเห็นความเป็นไทยในเรื่องความถ้อยทีถ้อยอาศัยได้อย่างกระจ่าง ซึ่งไม่ควรเหมารวม เพราะสุดท้ายแล้วเป็นวิจารณญาณและการรับมือที่แตกต่างกันเฉพาะครอบครัว

“ถ้าด้วยหลักการทางศาสนามันผิดอยู่แล้ว แต่มันยืดหยุ่นตรงที่ว่าทุกคนมีความเป็นมนุษย์ที่ต้องอยู่ด้วยกัน แล้วถ้าการที่เป็น LGBTQ+ เป็นสิ่งทีแปลกปลอมที่คนยอมรับไม่ได้เลยก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ มันเป็นไปได้ยาก เพราะสังคมที่อยู่กันในพื้นที่มันไม่ได้เป็นแบบสังคมมุสลิมในต่างประเทศที่มีความรุนแรงในประเด็น LGBTQ+ มากๆ เป็นเพราะว่าแต่เดิมพื้นที่ตรงนี้มีความหลากหลายอย่างมาก เดิมก่อนที่จะเป็นพื้นที่มุสลิมมีการนับถือพราหมณ์ ฮินดู พุทธศาสนามาก่อน

“การเปลี่ยนผ่านมาเป็นอิสลามคนก็ยังรักษาเรื่องจารีตเดิมอยู่ เช่น ความเชื่อเรื่องผีหรือวัฒนธรรมที่เป็นพิธีกรรมก็ยังมีอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วขัดกับหลักการสากลตามศาสนาอิสลาม แต่ว่าเวลาคนเจ็บป่วย คนก็ยังไปหาหมอผีช่วยปัดเป่าอยู่เลย ผมมองว่าไม่ใช่ความแข็งกร้าว แต่เป็นความน่ารัก

“เวลาที่มีการแสดงงานเกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ ก็แสดงตามปกติ ยังไม่มีใครมาเผารูป หรือประกาศปิดนิทรรรศการเพราะคนในพื้นที่รับไม่ได้ ยังไม่เคยมีถึงขนาดนั้นเกิดขึ้น เราเข้าใจว่ามันมีในแง่มุมที่เราพูดได้ กับส่วนที่เป็นกาลเทศะในการพูด เพราะการอยู่ในพื้นที่ต่างศาสนา ถ้าเป็นประเด็นที่เราอยากพูดถึงก็ต้องเลือกมิติที่เป็นกลางที่สุดในความเป็นมนุษย์ พยายามให้เข้าใจในความเป็นจุดร่วมของความเป็นมนุษย์ คนมีศาสนาของตัวเอง เอาศาสนาเก็บไว้กอดไว้ที่ตัวเอง แล้วมาดูกันว่าอะไรที่เราควรทำในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ นั่นก็คือการเคารพซึ่งกันและกัน

“ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไร ใช้ชีวิตแบบไหน จึงเป็นเรื่องเขากับพระเจ้าโดยตรง ไม่เป็นเรื่องของคนอื่น อันนี้จึงเป็นวิธีคิดที่ทำให้บางคนไม่ได้มาตัดสินหรือมุ่งร้ายต่อ LGBTQ+” 

เป็นบทสนาที่เขาและเพื่อนชาวมุสลิมยกตัวอย่างให้เราได้คิดต่อ

Part 2

ภัณฑารักษ์เพื่อศิลปินปาตานีและสันติภาพ

ปาตานีเป็นชื่ออาณาจักรในอดีตที่กินพื้นที่ในจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี รวมถึงบางส่วนของสงขลาและสตูล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ Patani Artspace และอนุวัฒน์ ดูแลนำผลงานจากศิลปินท้องถิ่นผลัดเปลี่ยนกันมาจัดแสดงงาน

“ในยุคสมัยหนึ่งเป็นคำต้องห้ามสำหรับในพื้นที่เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหวในเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน การสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาเพื่อจะสู้กับอัตลักษณ์ที่เป็นไทย พอนำมาใช้ก็ถูกรัฐจับตามองในทันทีแต่พวกเราต่อสู้ด้วยงานศิลปะมาประมาณหนึ่งจนตอนนี้ก็ไม่มีใครทักท้วงในชื่อ ปาตานี อีกต่อไปแล้ว”

Patani Artspace ก่อตั้งขึ้นในปี 2555 โดย ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ซึ่งเป็นอาจารย์ของเขา อันเนื่องมาจากต้องการหาพื้นที่จัดแสดงผลงานของนักศึกษา ปัจจุบันได้รับการตอบรับและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคนในพื้นที่อันประเมินไม่ได้

“แต่เดิมคนยังมีความคิดที่ว่าศิลปะคือความสวยงามแบบขนบเดิมอยู่ การเปิดพื้นที่แบบนี้จึงเป็นการเปิดมายด์เซตของคนในพื้นที่ไปด้วย ในการที่จะสร้างแนวคิดศิลปะแบบร่วมสมัย พอเห็นจุดเริ่มต้นของนิทรรศการที่มีการต่อสู้กับภาครัฐ มีทหารเข้ามาคุย สอบถามถึงปืนที่อยู่ในผลงานนี้คืออะไร พอได้อธิบายผ่านแนวคิดทางศิลปะที่ยืนหยัดนำเสนอมาอย่างต่อเนื่อง คนท้องถิ่นเองก็เห็นว่ามันมีพลัง สุดท้ายแล้วพวกเขาก็ไม่กล้าที่จะยุ่งเลย เพราะเขาเข้าใจแล้วว่าเรากำลังพูดในสิ่งที่สนับสนุนไม่ให้ใช้ความรุนแรง ไม่ใช่สนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรง

“คนในพื้นที่เองก็สัมผัสได้ว่างานศิลปะเป็นเครื่องมือที่มีพลังที่ใช้สื่อสารความจริงได้นะ โดยที่เราไม่ถูกอุ้ม เพราะเราพูดกันในที่สว่าง ต่อสู้กันในที่สว่างพูดถึงความอัดอั้น ความเดือดร้อน การพูดในที่สว่างทำให้ภาครัฐไม่สามารถเข้ามาหาเรื่องเราได้ งานศิลปะจึงเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในแบบนี้ คนก็เริ่มมาสนใจกันมากขึ้น 

“อีกประเด็นหนึ่งก็คือในบริเวณนี้ไม่มีพิพิธภัณฑ์มาก่อนเลย ในพื้นที่ต่างจังหวัดนอกจากพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่โชว์ของเก่า ของโบราณสะสม แต่ไม่มีพิพิธภัณฑ์ของภาครัฐที่จะเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ ได้มาดูงานในเชิงศิลปวัฒนธรรมนั้นไม่มี (เสียงหนักแน่น) ก็เลยกลายเป็นว่า Patani Artspace จึงตอบโจทย์สำหรับการเป็นพื้นที่ให้โรงเรียนพาเด็กๆ ได้มาเยี่ยมชม รวมแล้วในสามปีที่ผ่านมาก็หลายหมื่นคนที่แวะเข้ามาดูงานศิลปะ กลายเป็นว่าเด็กๆ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้ดูงานศิลปะร่วมสมัยเลย” 

นอกจากนี้ อาร์ตสเปซแห่งนี้ได้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานใด ทำให้สามารถเปิดให้เข้ามาใช้งานได้โดยไม่โดนเซนเซอร์ 

“นักกิจกรรมทางการเมือง ฝ่ายทหาร หรือพลเรือน สามารถมาใช้ได้เช่นกัน อยู่ที่ว่าคุณจะพูดเรื่องอะไร พื้นที่นี้เป็น Safe Zone สำหรับนักกิจกรรมในสามจังหวัดในการพูดถึงประเด็นที่อ่อนไหวมากๆ ให้เข้ามาใช้พื้นที่นี้ในการพูดสิ่งเหล่านั้น เช่น การรำลึกเหตุการณ์ตากใบ ที่พื้นที่อื่นๆ ทั้งมหาวิทยาลัย พื้นที่รัฐอื่นๆ ไม่เปิดรับ แต่ Patani Artspace เปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุย นำเสนอประเด็น หรือในกรณีกลุ่มด้วยใจที่ต้องการสะท้อนการซ้อมทรมานร่วมกับมูลนิธิฯ จากเยอรมัน ก็ต้องมาใช้พื้นที่ของ Patani Artspace เพื่อจัดแสดงและพูดถึงประเด็นอ่อนไหวนี้ เพราะไม่มีที่อื่นเปิดรับ”

นอกจากเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ แสดงความคิดเห็น ยังรับหน้าที่เป็นห้องรับรองแขกบ้านแขกเมืองจากต่างประเทศมาแล้วนับไม่ถ้วน แน่นอนว่าการเป็นภัณฑารักษ์ตัวคนเดียวก็ยากจะสร้างแรงกระเพื่อมเป็นวงกว้างได้อย่างต่อเนื่อง การจับมือกันระหว่างศิลปินในต่างจังหวัดชื่อกลุ่ม ภูธรคอนเนค จึงเกิดขึ้น 

“จริงๆ ก็ต้องยอมรับว่ามีเรื่องของ Centralization ความเป็นศูนย์กลางนิยมอยู่ เราไม่ได้ปฏิเสธเมืองหลวงหรือ กทม. เพราะเราก็ยังต้องมาแสดงงานที่นี่อยู่ แต่เราปฏิเสธวิธีคิดที่ว่าทุกอย่างต้องมารวมอยู่ที่นี่ แม้กระทั่งงบประมาณเองก็ยังต้องมาดึงจากตรงนี้ 

“เราไม่สามารถของบประมาณได้เลย ถึงกับมีการใช้ชื่อเราแอบอ้างมาของบประมาณ จึงกลายเป็นว่าเราผลักดันตัวเองขึ้นไปโชว์ที่ต่างๆ ตามต่างจังหวัดเพื่อให้มีคนได้ยินเสียงของเรามากขึ้น ตอนนี้มีโปรเจกต์ที่ทำร่วมกับเพื่อนๆ ศิลปินที่เชียงใหม่และขอนแก่น กลุ่มที่ตั้งใจ Decentralization คือการกระจายอำนาจทางศิลปะออกไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ โอกาสทางศิลปะและศิลปินที่อยู่ในภูมิภาคอื่นๆ”

Part 3

ข้อความจากอาจารย์ศิลปะถึงนักศึกษาและการเมืองในวงการศิลปะ

“ผมอยากรบกวนให้ทุกคนรักษาจิตวิญญาณของตัวเองไว้ อาจจะฟังดูเชยแล้วก็เป็นคำพูดที่เก่ามาก แต่มันสำคัญมากๆ จริงๆ ในยุคที่เรามี AI ก็ยิ่งทำให้คำว่าจิตวิญญาณยิ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่พูดแบบนี้ไม่ได้ต้องการให้ยึดติดกับความเป็นไทยเท่านั้น แต่การที่เรามีราก มีส่วนที่เป็นจิตวิญญาณของความเป็นศิลปะที่สะท้อนออกมาให้เห็นมันจะทำให้ภาพของศิลปะเป็นจริงมากขึ้นจะทำให้คนเชื่อมากขึ้น

“งานศิลปะของผม (BangLee’s Multiverse) ที่จะพยายามเป็น แวนโก๊ะ หรือศิลปินคนอื่นๆ ก็เพื่อจะพูดถึงเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน คือการที่พยายามให้เห็นแล้วนะว่าได้ลองเป็นคนอื่นมาแล้ว สุดท้ายเราก็ไม่ได้เป็นใครเลย ก็เป็นสิ่งที่อยากจะฝากไว้ โดยศิลปินไทยที่ประสบความสำเร็จเติบโตไปไกลในระดับสากลมันจะมีสิ่งนี้อยู่ ผลงานของ กรกฤต อรุณานนท์ชัย, ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช มีจิตวิญญาณของเอเชีย หรือผลงานของ นที อุตฤทธิ์ ก็ตามมีจิตวิญญาณของตัวเองอยู่ในนั้น

พอเราเห็นก็สามารถจินตนาการต่อไปได้ว่าเขากินอะไร โตมาสังคมแบบไหน สภาพแวดล้อมอยู่อย่างไร แต่ถ้าเราไม่ได้มีเลย ก็จะทำให้ผลงานลอยอยู่กลางอวกาศ แม้เป็นสากลก็จริงแต่ก็เคว้งอยู่ในจักรวาลไม่รู้ว่าสิ่งที่เราพูดนี้มาจากไหน อันนี้คือประเด็นสำคัญที่อยากจะสื่อสารกับนักศึกษาศิลปะ ซึ่งเป็นสิ่งที่พยายามปลูกฝังให้กับนักศึกษาในชั้นเรียน

สิ่งที่เขาพูดได้แสดงออกมาเป็นรูปธรรมผ่านโปรเจกต์ทีสิสของนักศึกษารุ่นโควิดที่ไม่สามารถเข้าห้องเรียนศิลปะเหมือนปกติ แต่กลายเป็นการก่อเกิดรูปแบบการจัดแสดงงานที่ยังไม่เคยมีที่ไหนในไทยและอาจจะที่ใดในโลกมาก่อน คือ การออนทัวร์ผลงานทีสิส ที่เป็นการให้นักศึกษากลับมาจัดแสดงงานที่บ้านในชุมชนของตัวเอง

“การกลับบ้านเป็นการต่อสู้ปะทะกับความคิดของคนในครอบครัว ในการทำความเข้าใจว่างานศิลปะที่ทำอยู่ที่มีความร่วมสมัยมากๆ เนี่ย ทำอะไรกันวะ อันนี้เรียนศิลปะจริงๆ ไหม งานนี้จะเอาไปทำอะไรต่อ จบแล้วจะทำงานอะไร กลายเป็นว่าเมื่อทำไปเรื่อยๆ ช่องว่างเหล่านี้ลดลง ครอบครัวเริ่มเข้าใจมากขึ้น ถ้าทำงานอยู่แม่เรียกให้ไปล้างจานพวกเขาก็วิ่งไปล้างแล้วกลับมาทำงานศิลปะต่อ จนเกิดความคุ้นชินในครอบครัว ขยายไปสู่ชุมชน พอคนในชุมชนเห็นนักศึกษามาติดตั้งผลงานศิลปะ ก็เกิดความสนใจ ไถ่ถามว่ากำลังทำอะไรกัน ซึ่งเป็นการปรับมายด์เซตของคนในชุมชนไปในตัวด้วยเช่นกัน 

“สำหรับการกลับบ้านเป็นการทำให้คนอื่นๆ โดยเฉพาะครอบครัวเห็นและเป็นการยืนหยัดในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ แล้วทำให้มันเกิดแรงกระเพื่อมโดยที่ไม่ต้องไปกระจุกรวมกันอยู่ในที่ๆ มีแกลเลอรีดีๆ ไม่จำเป็นแล้ว โลกศิลปะเปิดโอกาสให้คุณได้แสดงงานศิลปะบนดินก็ได้ ทำให้ในรุ่นนี้จึงเกิดเป็นงานศิลปะที่ไม่ใช้เงินเลย ใช้สิ่งที่อยู่รอบข้าง เอาดิน หิน ทราย ใช้สิ่งที่เราคิดว่ามันไม่มีคุณค่ามากพอในโลกศิลปะขึ้นมาทำงานศิลปะ เพราะว่าการทำงานศิลปะมันไม่ได้จำกัดอยู่แค่วัสดุ ก็เลยเกิดการปลูกฝังใหม่” 

ถ้าในกรุงเทพฯ ที่มีทั้งหอศิลป์รัฐฯ และเอกชนให้เดินได้ไม่ซ้ำวัน แล้วในต่างจังหวัดใครกันที่จะไปเดินตามพิพิธภัณฑ์หรือเข้าไปในอาร์ตสเปซ เราก็แอบสงสัยเหมือนกับคำพูดที่เราคุ้นหูอย่าง ‘ท้องต้องอิ่มก่อนคนถึงจะเสพงานศิลปะ’ อนุวัฒน์ก็มองทางออกเรื่องนี้ไว้แล้วเช่นกัน 

“ถ้าทุกคนกลับไปทำงานที่บ้าน คนในชุมชนเริ่มสนใจในศิลปะ พอเข้าใจมากขึ้นก็น่าสนุกแล้วทีนี้คนในชุมชนก็จะรู้สึกถึงความสำคัญและผลกระทบกับชีวิตของเขา ยิ่งทำให้อยากดูมากขึ้นๆ กลายเป็นแรงกระเพื่อมอย่างอื่นตามมา คนที่เป็นศิลปินนั่นแหละต้องออกไปทำให้คนเดินดินกินข้าวแกงเห็นว่าศิลปะมันดียังไง สำคัญยังไง และมีประโยชน์ต่อชีวิตของพวกเขาอย่างไร นี่ก็ถือได้ว่าเป็นหน้าที่ของศิลปินด้วยเช่นกัน การจะบอกว่ารัฐไม่สนับสนุนอย่างเดียวก็เป็นไปไม่ได้ ในแง่หนึ่งก็จริงที่ว่ายังไม่มีมายด์เซตงานศิลปะแบบนี้กับองค์กรของรัฐ แต่ยังไงก็แล้วแต่การหาวิธีการศิลปินสามารถร่วมกันทำให้เกิดขึ้นการเปลี่ยนแปลงได้” 

นี่อาจเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดที่ทำได้ด้วยตัวเอง ที่ไม่ต้องรอรัฐฯ เข้ามาช่วย – เราสรุปในใจ

ทิ้งท้ายด้วยเรื่องการบ้านการเมืองในช่วงเวลาที่รัฐบาลใหม่กำลังตั้งไข่กันอยู่ สำหรับมุมมองของศิลปินจากแดนใต้แบบเขาได้ฝากฝังแบบไม่ตั้งความหวังไว้ให้เราฟังแบบแอบถอนหายใจกันบ้าง 

“ประเทศเราตอนนี้มันไม่ได้พร้อมที่จะไปข้างหน้า มันกำลังย้อนกลับไปด้วยซ้ำ เพราะเรายังไม่รู้เลยว่าปัญหาที่แท้จริงมันคืออะไร การเรียกประชุมรับฟังความเห็นส่วนใหญ่เป็นเหมือนกับการที่เราเข้าไปฟังนายพรานมากกว่าคนหลงทาง เพราะนายพรานที่เป็นคนบอกว่าเราจะไปทางไหนที่จะดีที่สุด

“แต่ถ้าเราฟังคนหลงทางจะบอกได้ว่าทางที่เขาไปผิดเขาเจออะไร ทำไมถึงไม่ควรไปทางนั้นอีก ถ้าไปแล้วจะไปเจอสิ่งที่ดีกว่าไหม ผมคิดว่าเราก็ควรปรับความคิดที่จะฟังคนหลงทางด้วยว่าทำไมถึงไม่ประสบความเร็จ ทำไมถึงเลิกทำงานศิลปะ เจอปัญหาอะไรมาทำไมถึงแขวนพู่กัน คนประสบความสำเร็จแล้วเขาเจอวิธีที่ประสบความสำเร็จของเขาแล้ว แต่ไม่รู้ว่าปัญหาของคนที่ทำงานศิลปะคืออะไร” 

แน่นอนว่ามนุษย์เป็นสังคมและการเมือง ในวงการศิลปะจึงหนีไม่พ้นเช่นกัน ซึ่ง เจน อนุวัฒน์ ก็ชวนให้เรามองเห็นภาพความจริงที่ยังไม่ได้สะสางให้เกิดความเท่าเทียม

“ตอนนี้เรามีกลุ่มคนไม่กี่กลุ่มที่มีอำนาจในการเข้าถึงพื้นที่ทางศิลปะ งบประมาณ แหล่งข้อมูลหรือคอนเนกชันต่างๆ จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในวงการศิลปะ ผมเองก็อยากเป็นศิลปิน ไม่ได้อยากทำงานภัณฑารักษ์แบบนี้ ได้ทำงานศิลปะที่อยากทำอย่างเดียว แต่ประเด็นเหล่านี้ทำให้ต้องแบ่งเวลามาช่วยขับเคลื่อนด้วยวิธีการที่เรารู้ ศิลปินปัตตานีเรารู้ลึกว่าพวกเขาเป็นคนยังไง ซึ่งวิธีการก็คือการที่เราหยิบยกผลงานศิลปินเหล่านี้ไปส่งเสียงให้คนอื่นได้ยิน ซึ่งผมไม่มีรายได้จากตรงนี้ แต่เราต้องการนำเสนอออกไปเพื่อต้องการหาที่จัดแสดงผลงานซึ่งจะทำให้เสียงของเราดังขึ้น”


ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ

AUTHOR