Anne’s Tree : เมื่อต้นไม้เขียนบันทึกถึงแอนน์ แฟร้งค์

Anne’s Tree เป็นนิยายภาพความยาว 40 หน้า มีเนื้อหาแสนจะกินใจ แต่ก่อนจะเล่าถึงหนังสือเล่มนี้ เราต้องเริ่มเรื่องกันที่ Anne Frank’s the Diary of a Young Girl หนังสือที่โด่งดังที่สุดเล่มหนึ่งของโลก แปลไปแล้ว 67 ภาษา มียอดขายรวมกันกว่า 30 ล้านเล่ม ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด มันน่าจะเป็นบันทึกประจำวันที่มีคนอ่านมากที่สุดในโลก

อันเน่อ ฟรังค์ (ออกเสียงแบบเยอรมัน) หรือ แอนน์ แฟร้งค์ (ออกเสียงแบบอังกฤษ) เป็นเด็กหญิงเชื้อสายยิวที่เกิดในเยอรมนีเมื่อปี 1929 ครอบครัวของเธอย้ายมาอยู่ในเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี 1931 เด็กน้อยคนนี้รักการอ่านและมีความฝันว่าอยากเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ เธอเริ่มเขียนหนังสืออย่างจริงจังครั้งแรกตอนอายุ 12 ปี ในวันเกิดครบ 13 ปี เธอได้รับสมุดบันทึกปกผ้าลายสกอตสีแดงสลับขาวเป็นของขวัญ นั่นคือจุดเริ่มต้นของงานวรรณกรรมเล่มดังที่บันทึกเรื่องราวชีวิตผู้คนในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

ทีแรกเธอตั้งใจจะเขียนบันทึกไว้อ่านคนเดียว แต่วันหนึ่งเธอได้ฟังข้าราชการชาวดัตช์ที่ลี้ภัยสงครามไปต่างประเทศ พูดผ่านวิทยุกระจายเสียงจากลอนดอนว่า เมื่อสงครามสิ้นสุดแล้ว เขาอยากรวบรวมเรื่องราว พยานหลักฐานเกี่ยวกับความเดือดร้อนทุกข์ยากของชาวดัตช์ผู้อยู่ภายใต้การปกครองของเยอรมนี เพื่อนำออกเผยแพร่ทั่วโลก โดยเฉพาะจดหมายหรือบันทึกที่มีคนเขียนไว้ แอนน์จึงคิดว่าหลังสงครามเธอจะพิมพ์หนังสือสักเรื่องจากข้อความในสมุดบันทึกของเธอ เด็กน้อยวัย 13 ปี จึงเริ่มลงมือเขียนอย่างตั้งใจ และพยายามพัฒนางานเขียนของเธอให้ดี เนื้อหาก็เลยไม่ได้เป็นแค่บันทึกประจำวันธรรมดาๆ

เมื่อกองทัพของฮิตเลอร์เข้ามายึดเนเธอร์แลนด์ ก็ออกมาตรการควบคุมชาวยิว ออกกวาดล้างจับชาวยิวไปไว้ที่ค่ายกักกัน แอนน์และครอบครัวจึงต้องหลบซ่อนไปใช้ชีวิตในห้องลับใต้หลังคาบนอาคารสำนักงานของอ๊อตโต้ ฟรังค์ พ่อของเธอ

ช่วงเวลา 2 ปีที่แอนน์อยู่ในห้องลับ ช่องทางที่เธอเชื่อมต่อกับโลกภายนอกมีเพียงหน้าต่างกระจกที่มองออกไปเห็นท้องฟ้า นก และต้นเกาลัด ที่ปลูกอยู่บนสนามข้างตึก ว่ากันว่า ต้นเกาลัดต้นนี้คือสิ่งที่ทำให้แอนน์ผ่อนคลายจากความเครียด และเป็นแรงบันดาลใจให้เธอมีกำลังใจต่อสู้กับปัญหาในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้

แต่สุดท้ายเธอก็ถูกจับไปที่ค่ายกักกันและเสียชีวิตด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ที่นั่นในวัยเพียง 15 ปี เมื่อสงครามสิ้นสุด พ่อของเธอคือคนเดียวในครอบครัวที่รอดพ้นจากความตายมาได้ เขากลับมาที่ห้องลับและเห็นบันทึกของแอนน์ ที่พูดถึงความโหดร้ายของสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างยากลำบากในช่วงสงคราม จึงเอาไปเสนอสำนักพิมพ์ ซึ่งส่วนใหญ่ปฏิเสธเพราะไม่อยากย้อนกลับไปเล่าถึงความหดหู่จากสงครามที่ผ่านไปแล้ว แต่สุดท้ายก็มีสำนักพิมพ์ที่ยอมพิมพ์ และมันก็กลายเป็นวรรณกรรมที่ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ ด้วยความรวดเร็ว

เมื่อหนังสือเล่มนี้กลายเป็นวรรณกรรณดัตช์ที่โด่งดังที่สุดในโลก ห้องลับในอาคารหมายเลข 236 ถนนพริ้นเซิ่นกรัคต์ ที่เธอใช้ซ่อนตัวจึงกลายเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ ได้รับการอนุรักษ์ และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองอัมสเตอร์ดัม ส่วนแอนน์ แฟร้งค์ ก็กลายเป็นคนดังที่สุดคนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ไปโดยปริยาย มีการบอกเล่าถึงเรื่องราวของเธอในหลายรูปแบบผ่านหลายสื่อ แต่ที่ทำได้ประทับใจผมที่สุดคือ หนังสือเรื่อง Anne’s Tree ซึ่งเขียนโดยนักเขียนชาวฝรั่งเศส Irène Cohen-Janca และวาดภาพประกอบโดยนักวาดภาพประกอบหนังสือเด็กมือรางวัลชาวอิตาลี Maurizio A. C. Quarello

ในหนังสือเรื่อง Anne Frank’s the Diary of a Young Girl แอนน์เขียนถึงต้น Horse Chestnut หรือเกาลัดข้างตึกไว้ 3 ครั้ง สำนวนแปลของอาจารย์สังวรณ์ ไกรฤกษ์ ในหนังสือเรื่อง บันทึกลับ ของ แอนน์ แฟร้งค์ โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เขียนไว้แบบนี้

…ทุกเช้า ฉันขึ้นไปที่ห้องเพดานซึ่งปีเต้อร์ทำงานอยู่ เพื่อขับอากาศเสียที่อัดแน่นออกจากปอด ณ สถานที่โปรดของฉันนั้น มองไปยังท้องฟ้าสีน้ำเงินสด เห็นต้นเกาลัดแทบไม่มีใบ มีแต่หยดน้ำฝนบนกิ่งก้านเต็มไปหมด ทำให้เกิดแสงแวววาวเหมือนเงินเมื่อต้องแสงอาทิตย์… – 23 กุมภาพันธ์ 1944

…เมษายนเป็นเดือนที่สดใสที่สุด อากาศกำลังสบาย ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป มีฝนตกประปราย ต้นเกาลัดดูเขียวสด มองเห็นดอกตูมกระจัดกระจายอยู่ทั่วต้น… – 18 เมษายน 1944

…ต้นเกาลัดออกดอกเต็มต้น ใบดกหนา ดูสวยกว่าปีที่แล้ว… – 13 พฤษภาคม 1944

ต้นไม้วัยกว่า 150 ปีต้นนี้ เป็นเกาลัดที่มีอายุมากที่สุดในอัมสเตอร์ดัม เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่เคียงข้างแอนน์ แฟร้งค์ ในวันนั้น และยังคงมีลมหายใจ จนกลายเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในปี 2007 เกาลัดต้นนี้โดนทำร้ายจากโรค แมลง และความชรา จนเทศบาลเมืองอัมสเตอร์ดัมกลัวว่าจะล้มลงมาสร้างความเสียหายได้ทุกเมื่อ จึงประกาศว่าจะโค่น แต่วันถัดมาก็หยุดคำสั่งนั้น แล้วหันมาทำงานร่วมกับชุมชนเพื่ออนุรักษ์มันเอาไว้แทน ถึงขนาดตั้งมูลนิธิ Foundation Support Anne Frank Tree มาเพื่อดูแลโดยเฉพาะ

Anne’s Tree เป็นหนังสือที่พูดถึงชีวิตของแอนน์ แฟร้งค์ และบ้านเมืองในยุคนั้น ผ่านสายตาของต้นเกาลัดต้นนี้

ต้นเกาลัดข้างหน้าต่างของแอน แฟร้งค์ มีสถานะราวกับสัญลักษณ์ของสันติภาพ เมล็ดของมันที่ร่วงหล่นจนกลายเป็นต้นอ่อน ถูกส่งไปปลูกในสถานที่สำคัญหลายแห่งอย่างสวนพฤกษศาสตร์ในอัมสเตอร์ดัม แล้วก็ส่งไปปลูกที่ทำเนียบขาว พิพิธภัณฑ์ โรงเรียน และสวนสาธารณะ ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงในอังกฤษด้วย เมล็ดพันธุ์ของมันจึงทำหน้าที่ไม่ต่างจากข้อความของแอนน์ แฟร้งค์

Anne’s Tree พิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาฝรั่งเศสเมื่อปี 2009 ในวันนั้นมันคงเป็นเพียงหนังสือสำหรับเด็กที่น่ารักและช่างคิด แต่ตอนนี้มันไม่ได้มีความหมายเพียงแค่นั้น เพราะวันที่ 23 สิงหาคม 2010 พายุลูกใหญ่กรรโชกเข้าใส่อัมสเตอร์ดัม และซัดต้นเกาลัดประวัติศาสตร์ซึ่งมีโครงเหล็กค้ำอยู่โดยรอบหักจนเหลือเพียงโคนต้นที่สูงจากพื้นราวเมตรเดียว หนังสือเล่มนี้แปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 2012 หน้าสุดท้ายมีการเขียนเพิ่มเติมถึงการจากไปของมัน และพูดถึงกล้าไม้ที่กำลังเติบโตขึ้นมาแทนที่

หนังสือเรื่อง Anne’s Tree คล้าย บันทึกลับ ของ แอนน์ แฟร้งค์ ตรงที่ไม่ได้บันทึกแค่เหตุการณ์ แต่ยังบันทึกถึงการมีตัวตนของสิ่งที่ครั้งหนึ่ง ‘เคยมีอยู่’

ชื่อหนังสือ: Anne’s Tree
ผู้เขียน: Irène Cohen-Janca
ผู้วาดภาพประกอบ: Maurizio A.C. Quarello
ภาษา: อังกฤษ
พิมพ์ครั้งแรก: 2009 (ชื่อ Les arbres pleurent aussi เป็นภาษาฝรั่งเศส)

AUTHOR